top of page

ความต่างและความเหมือนระหว่าง Undergraduate, Bachelor’s Degree และ Higher Education


ความต่างและความเหมือนระหว่าง Undergraduate, Bachelor’s Degree และ Higher Education

ข้อมูลจาก http://www.aims.co.th

โดยทั่วไปแล้วคำทั้งสามคำนี้มีความหมายใกล้เคียงกันมาก ความหมายโดยรวมแล้วหมายถึง การศึกษาในระดับหลังจากมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นต้นไปซึ่งมักจะหมายถึงการศึกษาในระดับปริญญาตรีนั่นเอง

Undergraduate

คำๆ นี้มาจากคำ 2 คำมาผสมกันคือคำว่า Under ที่แปลว่า “ใต้หรือด้านล่าง” กับคำว่า Graduate ที่แปลว่า “จบการศึกษา” พอนำทั้งสองคำมารวมกันจึงได้ความหายว่า “การศึกษาในระดับที่ต่ำกว่าบัณฑิตศึกษา” ซึ่งหมายถึงการศึกษาในระดับที่นักศึกษายังไม่เคยได้รับปริญญาใบแรกหรือปริญญาตรีมาก่อน ในหมู่นักศึกษามักเรียกย่อๆ ว่า Undergrate (อันเดอร์แกร็ด) ส่วนการศึกษาในระดับปริญญาโทหรือเอกจะถูกเรียกรวมๆ ว่า Graduate Study หรือการเรียนในระดับบัณฑิตศึกษา คณะหรือที่เรียนก็จะถูกยกระดับไปเป็น Graduate School ไปโดยปริยาย

Bachelor’s Degree

คำว่า Bachelor ในภาษาอังกฤษนั้นหมายถึง “ผู้ชายที่ไม่ได้เป็นผู้เยาว์แต่ยังไม่เคยแต่งงาน” จึงมีการนำความหมายนี้มาใช้แทนผู้เรียนที่มีช่วงอายุดังกล่าว ในบางประเทศนั้นคำว่า Bachelor’s Degree มีความหมายเช่นเดียวกับ Baccalaureate Degree ที่มีรากศัพท์มาจากภาษาเยอรมันอันเป็นดินแดนที่มีการให้ปริญญาเป็นแห่งแรก

กล่าวโดยสรุป Bachelor’s Degree คือปริญญาใบแรกที่นักศึกษาได้รับจากการเรียน โดยทั่วไปหมายถึงการเรียนที่ใช้ระยะเวลา 4-5 ปี จึงไม่นับรวมปริญญาที่ได้มาจากการเรียนที่ใช้ระยะเวลาน้อยกว่านั้นซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น อนุปริญญา (Associate’s Degree)

Higher Education

คือการศึกษาในระดับหลังมัธยมปลาย เช่น การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยหรือการศึกษาระดับวิชาชีพขั้นสูง (Vocational School)

นอกจากนี้ยังมีคำอื่นๆ ที่อาจทำให้สับสนได้ง่าย เช่น Post-Secondary Education ซึ่งคำว่า Post นั้นมีความหมายตรงข้ามกับคำว่า Pre และคำว่า Secondary Education นั้นคือการศึกษาในระดับมัธยม (ส่วนประถมคือ Elementary หรือ Primary Education) ดังนั้น Post-Secondary Education จึงแปลว่า “การศึกษาในระดับหลังจากมัธยมศึกษา” ซึ่งหมายความถึงระดับ ปวส. หรือปริญญาตรีก็ได้

ใบปริญญา…

รางวัลสำหรับผู้ที่สอบผ่านหลักสูตรในระดับปริญญาตรีก็คือ “ใบปริญญา” นี่เอง แต่ละสาขาวิชาก็จะมีการให้ปริญญาประเภทต่างกันออกไป โดยแต่ละประเภทก็จะมีชื่อย่อของวุฒิที่แตกต่างกัน ส่วนที่ทำให้เกิดความสับสนได้บ่อยก็คือ การที่นักศึกษาที่เรียนอยู่คนละมหาวิทยาลัย แต่เรียนในสาขาวิชาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน กลับได้รับวุฒิที่ระบุสาขาวิชาแตกต่างกันก็มี

ในประเทศทางตะวันตก เช่น สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกานั้น หลายๆ สถาบันการศึกษามักจะถือว่าการศึกษาในระดับปริญญาตรีเป็นการศึกษาในแนวกว้างมากกว่าแนวลึก กล่าวคือเป็นการเรียนรู้ในหลายๆ สาขาเพื่อให้นักศึกษาได้เห็นสิ่งต่างๆ ในหลายแง่มุม แต่ไม่ลงรายละเอียดในแต่ละสาขามากนัก วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้นักศึกษาได้ค้นพบว่าตนเองชอบหรือมีความถนัดในเรื่องใดเป็นพิเศษที่จะได้นำทักษะไปประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ส่วนใครอยากเป็นผู้เชี่ยวชาญ (Master) ก็ไปเรียนปริญญาโทหรือปริญญาเอกต่อได้

โดยทั่วไปแล้ว การศึกษาในระดับปริญญาตรีมักแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ สายสังคม (Arts) และสายวิทยาศาตร์ (Science) ดังนั้นเวลานักศึกษาเรียนจบและได้รับปริญญาก็จะได้รับเป็น Bachelor of Arts (BA บางครั้งเรียกว่า AB) สำหรับสายสังคม เช่น อักษรศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ และได้รับเป็น Bachelor of Science (BS หรือ BSc บางครั้งเรียกว่า SB) สำหรับสายวิทยาศาสตร์ เช่น วิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ หรือแม้แต่สาขาด้านการบริหารธุรกิจ เป็นต้น

BA Fast Fact: ในอดีต ผู้ทีเรียนจบปริญญาตรีจาก Oxford และ Cambridge ทุกคนจะได้รับปริญญาเป็น BA เสมอ เนื่องจากถือว่าปริญญาตรีทุกสาขานั้นอยู่ภายใต้การสอนของคณะอักษรศาสตร์/ศิลปศาสตร์ (Faculty of Arts) เท่านั้น

BS Fast Fact: ในทางกลับกัน ผู้ที่เรียนจบการศึกษาจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ในระดับปริญญาตรีนั้นจะได้รับปริญญาเป็น BS เสมอ ไม่ว่าจบจากคณะอะไรก็ตาม เนื่องจาก MIT เป็นสถาบันที่มุ่งเน้นการศึกษาทางด้านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีเป็นหลัก

ส่วนการที่นักศึกษาจะได้ “เกียรตินิยม” หรือไม่นั้น นอกจากจะต้องเรียนดีแล้ว ยังต้องลงทะเบียนเรียนแบบ Honours Degree ในระบบอังกฤษ โดยจะได้คำว่า “Hons” ต่อท้ายชื่อปริญญา ส่วนระบบอเมริกานั้นมักให้นักเรียนลงทะเบียนแบบ “Honors” หรือ “Scholars” ซึ่งมักต้องทำวิจัยไปด้วยนอกจากเรียนในระบบปกติแล้ว ส่วนอีกคำที่น่าสนใจคือ Dean’s List ซึ่งไม่ได้หมายถึง “รายชื่อคณบดี” แต่เป็นรายชื่อนักศึกษาที่เรียนได้เกรดดี (เช่น เกิน 3.60) ในเทอมนั้นๆ แต่ก็ยังไม่ได้เกียรตินิยมอยู่ดี ถ้าไม่ได้ทำตามเงื่อนไขที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนนักศึกษาที่ได้เกียรตินิยมจะมี “ลำดับชั้น” แบ่งออกเป็นขั้นๆ คือ cum laude, magna cum laude, maxima cum laude และ summa cum laude ตามลำดับจากต่ำไปสูง

เกร็ดเล็กน้อย

- MIT นั้นแปลกกว่าสถาบันอื่นๆ เพราะไม่มี Dean’s List และ Honors Degree

- Harvard College คือส่วนที่รับผิดชอบการศึกษาในระดับ Undergraduate ของ Harvard University โดย Harvard College นั้นอยู่ภายใต้คณะ Arts and Sciences

- นักศึกษาที่มีรายชื่อใน Dean’s List จะได้รับการยกย่องโดยการติดชื่อประกาศตามสถานที่ต่างๆ เช่น อาคารเรียน ในบางมหาวิทยาลัยถึงขั้นลงชื่อ Dean’s List กันบนหนังสือพิมพ์

 

Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page