top of page

วิญญาณในอะตอม (The Ghost in the Atom): บทสนทนาเรื่องความลี้ลับของฟิสิกส์ควอนตัม (A Discussion of the


หนังสือชุด World Science Series

วิญญาณในอะตอม: บทสนทนาเรื่องความลี้ลับของฟิสิกส์ควอนตัม

แปลจาก The Ghost in the Atom: A Discussion of the Mysteries of Quantum Physics (1986, 1999)

บรรณาธิการโดย Paul Charles William Davies และ Julian R. Brown แปลโดย ดร.สิรพัฒน์ ประโทนเทพ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2556 จำนวน 240 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740211853

คำนำสำนักพิมพ์

วิญญาณในอะตอม (The Ghost in the Atom) เป็นหนังสือรวบรวมบทสัมภาษณ์จากสารคดีที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุ BBC ในอังกฤษ นักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียง 8 คนได้มาประชันความคิดและร่วมพิสูจน์ทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์ ก่อนจะเข้าสู่บทสัมภาษณ์ หนังสือเล่มนี้เปิดเรื่องด้วยบท 'โลกควอนตัมอันน่าพิศวง' ความยาวกว่า 50 หน้า เพื่อสรุปสิ่งที่เรารู้และยังไม่รู้เกี่ยวกับโลกระดับเล็กกว่าอะตอมอันแสนมหัศจรรย์ และปัญหาที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตีความทฤษฎีที่คลาดเคลื่อน จากนั้นจึงตามด้วยบทสัมภาษณ์ของนักฟิสิกส์ชื่อดัง 8 ท่านจากหลายสถาบัน พูดถึงมุมมองของพวกเขาเองที่มีต่อทฤษฎีควอนตัม มุมมองที่ได้ก็หลากหลายคละเคล้ากันไป ทั้งสนับสนุนและโต้แย้ง ผู้สัมภาษณ์นักฟิสิกส์คือ Paul Davies ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ นักจักรวาลวิทยา และนักดาราศาสตร์ชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต (Arizona State University, USA) เขาได้รับรางวัลทางวิทยาศาสตร์มากมาย รวมถึงรางวัล Templeton Prize สำหรับงานด้านวิทยาศาสตร์และศาสนา มีผลงานเขียนหนังสือมากกว่า 20 เล่ม

สำนวนการเขียนและลีลาการสัมภาษณ์ของ Paul Davies ช่วยย่อยเนื้อหาอันแสนสับสนงุงงงของควอนตัมฟิสิกส์ให้อ่านง่ายและน่าสนใจ แม้ว่าหนังสือจะไม่ได้บอกเฉลยของคำถามที่เราสงสัยไว้หมด แต่ก็ได้แนะแนวทางการค้นหาคำตอบไว้เพื่อให้ผู้อ่านต่อยอดการค้นคว้าเพิ่มเติมหรือคิดต่อได้เอง วิญญาณในอะตอมเป็นหนังสือแปลชุดวิทยาศาสตร์เปี่ยมคุณภาพอีกเล่มหนึ่งของสำนักพิมพ์มติชนที่ผู้สนใจไม่ควรพลาด

คำนำผู้แปล

คำว่าควอนตัมโดยทั่วไปมักถูกใช้ไปในความหมายที่ไม่ต่างจากไสยศาสตร์นัก ไม่มีใครเข้าใจว่ามันคืออะไร แต่ดูเหมือนจะเป็นฟิสิกส์ล้ำยุคและเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าถึงได้ โดยพื้นฐานแล้วควอนตัมเป็นคำบรรยายธรรมชาติที่เราไม่คุ้นเคยกันนัก เพราะเกี่ยวกับโลกที่เล็กลงไปในระดับอะตอม ธรรมชาติที่สมบัติของคลื่นและอนุภาคมีความเสมอเหมือนกัน พลังงาน เช่น แสง ก็มีสมบัติความเป็นก้อนอนุภาคแฝงอยู่ ส่วนอนุภาค เช่น อิเล็กตรอน ก็มีความเป็นคลื่นแฝงอยู่ แสดงสมบัติการแทรกสอดเลี้ยวเบนได้เหมือนแสง ปัญหาหนักอยู่ที่ว่าทฤษฎีทั้งหมดของกลศาสตร์เป็นคณิตศาสตร์ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับคำอธิบายเรื่องคลื่นและอนุภาคของธรรมชาตินั้น ฟังก์ชั่นคลื่นเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาใช้อธิบายระบบควอนตัมใดๆ สามารถคำนวณโอกาสที่จะพบอนุภาค พลังงาน ตำแหน่ง และสมบัติอื่นๆ จนกระทั่งปัจจุบันสามารถใช้ทำนายผลของปฏิกิริยาเคมี โครงสร้างวัสดุ รวมไปถึงการใช้งานเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมาย เช่น เลเซอร์ (laser) และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (hard disk drive) ทั้งหมดนี้เราไม่เคยรู้ว่าฟังก์ชั่นคลื่นคืออะไร ที่ว่าอิเล็กตรอนแสดงสมบัติเป็นคลื่นนั้นคือคลื่นอะไร คำกล่าวว่า "ถ้าใครไม่อึ้งกับทฤษฎีควอนตัม ก็แสดงว่ายังไม่เข้าใจมัน" จึงมีนัยที่ลึกซึ้งเกินบรรยาย

วิญญาณในอะตอมมีความหมายถึงสถานะฟังก์ชั่นคลื่นที่ไม่มีใครรู้ว่าคืออะไร แต่กลับกลายเป็นสิ่งมีตัวตนขึ้นมาได้เมื่อเราตรวจวัด หนังสือเล่มนี้นับเป็นผลงานชิ้นสำคัญทั้งในเชิงวิชาการ ปรัชญา และประวัติศาสตร์ นักฟิสิกส์และนักคณิตศาสตร์ทีให้สัมภาษณ์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนารากฐานของกลศาสตร์ควอนตัมในยุคที่ต่อเนื่องจากโบห์รและไอน์สไตน์ และล้วนแต่พยายามสร้างทางเลือกของคำอธิบายว่าควอนตัมคืออะไร แม้บทสัมภาษณ์นี้จะไม่มีข้อสรุปชัดเจนสำหรับทางเลือกนี้ แต่ให้ทั้งมุมมองและแง่คิดเชิงลึกที่จะช่วยเสริมความเข้าใจในกลศาสตร์ควอนตัม และยังชี้แนะหนทางที่จะก้าวพัฒนาสร้างทฤษฎี รวมทั้งนวัตกรรมเทคโนโลยีต่อไปในอนาคต

เนื่องจากความซับซ้อนของทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง การแปลหนังสือเล่มนี้จึงมีความท้าทายในการถ่ายทอดเป็นภาษาง่ายต่อการเข้าใจ เนื้อหาบางส่วนในหนังสือเกี่ยวข้องกับปรัชญาและคำศัพท์ซึ่งไม่คุ้นเคยกันนัก ผู้แปลได้พยายามเสริมคำอธิบายแทรกไว้ในเนื้อความ หวังอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะมีประโยชน์และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจในศาสตร์น่าพิศวงของควอนตัม

บทนำ

นีลส์ โบห์ร (Niels Henrik David Bohr: 1885-1962) ปรารภไว้ว่า "ใครไม่อึ้งกับทฤษฎีควอนตัม แสดงว่าเขาไม่เข้าใจมัน" ที่แน่ๆ กระแสความรู้สึกฉงนและประหลาดใจได้แพร่กระจายไปทั่วสังคมในยุคของเขา ซึ่งก็คือทศวรรษ 1920 อันเป็นช่วงที่ความหมายของทฤษฎีควอนตัมเริ่มปรากฏให้เห็นกันเต็มรูปแบบ ทฤษฎีควอนตัมไม่เพียงเผชิญหน้าท้าทายฟิสิกส์ดั้งเดิมของศตวรรษที่ 19 โดยตรง แต่มันยังปฏิวัติแนวคิดของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโลกสสารอีกด้วย จากการตีความทฤษฎีนี้ตามแนวทางของโบห์ร ความมีอยู่ของโลกภายนอกไม่ใช่สิ่งที่อยู่อย่างอิสระโดยตัวมันเอง ทว่ามันเกี่ยวข้องอย่างมากกับการที่เรารับรู้ถึงตัวมัน

ไม่น่าแปลกใจว่านักฟิสิกส์บางคนคิดว่าแนวคิดเช่นนี้ยากที่จะกล้ำกลืนฝืนรับได้ แต่ที่น่าขันคือ หลังจากไอน์สไตน์เคยเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาทฤษฎีควอนตัมยุคแรก เขากลับกลายเป็นฝ่ายค้านแถวหน้าที่มุ่งโจมตีมันตลอดช่วงเวลาจนกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี 1955 เขายังมั่นใจเสมอว่าส่วนประกอบหลักสำคัญบางอย่างยังขาดหายไปจากการกำหนดแบบแผนของทฤษฎีควอนตัม เขาให้เหตุผลว่าถ้าปราศจากส่วนประกอบนี้ คำอธิบายเกี่ยวกับสสารในระดับอะตอมของเราจะยังคงแฝงความไม่แน่นอนไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้มันขาดความสมบูรณ์ ตลอดช่วงเวลาแห่งมิตรภาพอันยาวนานกับโบห์ร ไอน์สไตน์พยายามหลายครั้งที่จะแสดงให้เห็นความไม่สมบูรณ์ของทฤษฎีควอนตัม เขาได้เสนอข้อโต้แย้งที่แยบคายลึกซึ่งจำนวนมาก บางเรื่องสร้างกระแสพอสมควรในหมู่นักวิทยาศาสตร์ แต่ทุกครั้งโบห์รก็สามารถหาเหตุผลหักล้างที่สง่างามและน่าเชื่อถือได้อย่างรวดเร็ว จนเริ่มรู้สึกกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าความตั้งใจของไอน์สไตน์ที่จะปัดเป่าไล่วิญญาณในอะตอมต้องประสบความล้มเหลว แต่ทุกวันนี้การถกเถียงโต้แย้งในเรืองควอนตัมไม่ได้จืดจางลงไปเลย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการทดลองหลายเรื่องต่อเนื่องกัน ถึงที่สุดด้วยการทดลองของอาแลง อาสเป (Alain Aspect) และทีมงานในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการทดสอบที่ส่อแววว่าจะเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับข้อโต้เถียงระหว่างโบห์รและไอน์สไตน์

การหวนกลับมาของกระแสความสนใจในเรื่องการตีความของทฤษฎีควอนตัมกระตุ้นผม (Julian Brown) คิดที่จะจัดรายการวิทยุเชิงสารคดีในเรื่องนี้ ผมปรึกษาแนวคิดนี้กับศาสตราจารย์ Paul Davies ซึ่งตอบตกลงที่จะดำเนินรายการให้วิทยุบีบีซีช่อง 3 (BBC Radio 3) เราได้สัมภาษณ์นักฟิสิกส์ชั้นนำหลายต่อหลายท่านที่มีความสนใจพิเศษในเรื่องการวางรากฐานหลักการของกลศาสตร์ควอนตัม เพื่อค้นหาว่าพวกเขาเหล่านั้นคิดอย่างไรกับผลการทดลองของ Alain Aspect และความก้าวหน้าล่าสุดด้านอื่นๆ ของทฤษฎีควอนตัม

เนื่องด้วยธรรมชาติของรายการสารคดีที่มีเวลาจำกัด รายการที่ออกอากาศครั้งสุดท้ายจึงใช้เพียงเนื้อหาสั้นๆ ของการสัมภาษณ์เท่านั้น อย่างไรก็ดี การออกอากาศของวิทยุบีบีซีช่อง 3 เรื่อง 'วิญญาณในอะตอม (The Ghost in the Atom)' ได้ปลุกเร้ากระแสความสนใจอย่างมาก และเราจึงรู้สึกว่าน่าจะเป็นประโยชน์มากหากเผยแพร่บทสัมภาษณ์ออกมาอย่างเต็มรูปแบบและในแบบฉบับที่ถาวรขึ้น

ยกเว้นแต่ในบทที่ 1 เนื้อหาส่วนอื่นของหนังสือเล่มนี้มาจากการถอดบทสัมภาษณ์วิทยุ ในการเรียบเรียงบทสัมภาษณ์เราจำเป็นต้องแก้ไขบางส่วนเพื่อปรับให้คำพูดเหมาะสมกับการตีพิมพ์เป็นหนังสือมากขึ้น แต่เราพยายามเต็มที่เพื่อไม่ให้เสียอรรถรสของการสนทนาไปมากนัก หนังสือเล่มนี้มุ่งเน้นที่ผู้อ่านทั่วไป เราจึงเขียนบทที่ 1 ขึ้นเพื่อเป็นบทแนะนำถึงแนวคิดต่างๆ ที่อยู่ในบทสัมภาษณ์ ถ้าคุณคุ้นเคยกับเรื่องราวทั้งหลายเหล่านี้แล้ว คุณอาจจะข้ามไปอ่านบทที่ 2 เลยก็ได้ และเปิดดัชนีหรืออภิธานศัพท์ถ้าต้องการหาคำอธิบายศัพท์เทคนิคหรือข้อคิดเห็นต่างๆ

ขอฝากข้อคิดสุดท้ายและคำเตือนไว้ เมื่อเราได้รับอนุญาตให้สัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลายท่าน (ซึ่งขอสงวนนาม) แสดงความเห็นว่าตอนนี้ไม่เหลือข้อสงสัยอะไรจริงจังว่าควรจะตีความทฤษฎีควอนตัมอย่างไร อย่างน้อยที่สุด เราก็หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะแสดงให้เห็นว่าความรู้สึกย่ามใจเช่นนี้ไม่ได้มีเหตุผลสมควรเลย เรารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณผู้ที่มีส่วนช่วยเหลือทุกท่านอย่างมาก โดยเฉพาะรูดอล์ฟ เพิร์ลส์ (Rudolf Ernst Peierls: 1907-1995) ที่ช่วยอ่านบทที่ 1 พร้อมวิพากษ์วิจารณ์ เรายังต้องขอบคุณแมนดี ยูสเตส (Mandy Eustace) ที่ช่วยถอดเนื้อความจากเทปเสียงต้นฉบับอย่างยากลำบาก

[con·tin·ue]

บทที่ 1 โลกควอนตัมอันน่าพิศวง

ทฤษฎีควอนตัมคืออะไร ต้นกำเนิด คลื่นหรืออนุภาค ทั้งหมดนี้หมายถึงอะไรกัน การทดลองไอน์สไตน์-โปดอลสกี้-โรเซน (Einstein-Podolsky-Rosen: EPR) ทฤษฎีบทของเบลล์ การทดลองของอาสเป ธรรมชาติของความเป็นจริง ปฏิทรรศน์ของการวัด ปฏิทรรศน์เรื่องแมวของชเรอดิงเงอร์และที่แย่ไปกว่านั้น แนวคิดแบบปฏิบัตินิยม จิตเหนือวัตถุ การตีความแบบพหุภพ การตีความเชิงสถิติ ศักย์ควอนตัม

บทที่ 2 บทสัมภาษณ์ของอาแลง อาสเป

อาแลง อาสเป (Alain Aspect: 1947-) นักฟิสิกส์ทดลองแห่งสถาบันทัศนศาสตร์ทฤษฎีและการประยุกต์ (the Institut d'Optique Theorique et Appliquee; L’Institut d'Optique Graduate School, University of Paris-Saclay) ที่ออร์เซ (Orsay) ในประเทศฝรั่งเศส ในช่วงเวลาหลายปี เขาและทีมงานพัฒนาเทคนิคสำหรับทำการทดลองเพื่อทดสอบอสมการของเบลล์โดยตรง การทดลองนี้ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1982 ในวารสาร Physical Review Letters ฉบับที่ 49 หน้าที่ 91 และ 1804 ได้รับการยกย่องว่าเป็นวิธีทดสอบทางปฏิบัติที่ตัดสินได้เด็ดขาดที่สุดเท่าที่เคยมีมาเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของกลศาสตร์ควอนตัม และมันได้กระตุ้นให้เกิดความสนใจอย่างมากในหมู่นักทฤษฎี

บทที่ 3 บทสัมภาษณ์ของจอห์น เบลล์

จอห์น เบลล์ (John Stewart Bell: 1928-1990) นักฟิสิกส์ทฤษฎีแห่งศูนย์วิจัยเซิร์น (CERN: Conseil Européen pour la Recherche Nucléaire; European Council for Nuclear Research; European Organization for Nuclear Research) ใกล้กับกรุงเจนีวา (Geneva, Switzerland) ทฤษฎีบทหลักสำคัญของเขาซึ่งพิสูจน์ไว้ในปี 1964 ได้เป็นรากฐานให้กับการทดสอบด้วยการทดลองทางปฏิบัติโดยอาแลง อาสเป และคณะเมื่อไม่นานมานี้ในเรื่องพื้นฐานเชิงหลักการของกลศาสตร์ควอนตัม เฮนรี่ สแตปป์ (Henry Pierce Stapp: 1928-) นักฟิสิกส์อนุภาคที่เบิร์กเลย์ (University of California at Berkeley) กล่าวถึงทฤษฎีบทของเบลล์ไว้ว่าเป็น "การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่ล้ำลึกที่สุด"

บทที่ 4 บทสัมภาษณ์ของจอห์น วีเลอร์

จอห์น วีเลอร์ (John Archibald Wheeler: 1911-2008) อดีตศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Joseph Henry Professor at Princeton University) และผู้อำนวยการของศูนย์ฟิสิกส์ทฤษฎีที่มหาวิทยาลัยเท็กซัสที่ออสติน (the Center for Theoretical Physics, University of Texas at Austin) งานวิจัยของเขาครอบคลุมสาขาต่างๆ ของฟิสิกส์นิวเคลียร์ซึ่งเขาได้ทำงานร่วมกับนีลส์ โบห์ร รวมทั้งสภาพโน้มถ่วง ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ จักรวาลวิทยา และฟิสิกส์ควอนตัม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเขาได้เสนอข้อโต้แย้งหลายประการที่มีความเด่นชัดและสร้างกระแสตื่นตัวเกี่ยวกับหน้าที่หลักของผู้สังเกตในกลศาสตร์ควอนตัม

บทที่ 5 บทสัมภาษณ์ของรูดอล์ฟ เพิร์ลส์

รูดอล์ฟ เพิร์ลส์ (Rudolf Ernst Peierls: 1907-1995) ได้เกษียณอายุจากตำแหน่งศาสตราจารย์ไวค์แฮมของฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Wykeham Professor of Physics, University of Oxford) ในปี 1974 ความสนใจของเขาในกลศาสตร์ควอนตัมย้อนกลับไปที่การศึกษาในช่วงต้นภายใต้การดูแลของซัมเมอร์ฟิลด์ (Arnold Johannes Wilhelm Sommerfeld: 1868-1951) ไฮเซนเบิร์ก (Werner Karl Heisenberg: 1901-1976) และเพาลี (Wolfgang Ernst Pauli: 1900-1958) และการแวะเวียนไปบ่อยครั้งที่สถาบันของโบห์รในโคเปนเฮเกน (the Niels Bohr Institute, University of Copenhagen, Denmark) เขาจึงคุ้นเคยดีกับการตีความหมายแบบโคเปนเฮเกนมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว และเขายังพบว่ามันเป็นที่น่าพอใจเพียงพอ

บทที่ 6 บทสัมภาษณ์ของเดวิด ดอยทช์

เดวิด ดอยทช์ (David Elieser Deutsch: 1953-) เป็นนักวิจัยกิตติมศักดิ์ที่ภาควิชาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และที่มหาวิทยาลัยเท็กซัสที่ออสติน เขามีความสนใจต่อเนื่องยาวนานในรากฐานหลักการของฟิสิกส์ทั่วไปและโดยเฉพาะกลศาสตร์ควอนตัม ในที่นี้เขาจะอธิบายเรื่องการตีความแบบพหุภพ

บทที่ 7 บทสัมภาษณ์ของจอห์น เทย์เลอร์

จอห์น เทย์เลอร์ (John Gerald Taylor: 1931-2012) เป็นศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ที่คิงส์คอลเลจ (King's College) แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London) และเป็นผู้เขียนหนังสือหลายเล่มทั้งในเชิงวิชาการและสำหรับอ่านทั่วไป ความสนใจหลักด้านการวิจัยของเขาคือสภาพโน้มถ่วงแบบควอนตัม แต่เขาก็ยังสนใจเรื่องฟิสิกส์ของสมองอีกด้วย ในการสัมภาษณ์นี้เขาได้ใช้แนวทางที่แข็งกร้าวกับแนวคิดของกลศาสตร์ควอนตัมที่หลุดโลกกว่า และเลือกข้างการตีความเชิงสถิติอย่างเต็มที่

บทที่ 8 บทสัมภาษณ์ของเดวิด โบห์ม

เดวิด โบห์ม (David Joseph Bohm: 1917-1992) ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ทฤษฎีที่วิทยาลัยเบิร์กเบ็กแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน (Birkbeck College, University of London) ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เขาได้รับการยอมรับให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิระดับโลกในด้านกลศาสตร์ควอนตัม เขาเป็นแรงสำคัญในการปรับโฉมการทดลองไอน์สไตน์-โปดอลสกี้-โรเซน (Einstein-Podolsky-Rosen: EPR) ไปเป็นรูปแบบยุคใหม่ ตลอดชีวิตงานวิจัยของเขา โบห์มเป็นแกนนำของกลุ่มแนวคิดเรื่องตัวแปรซ่อน และได้เขียนบทความวิจัยมากมายในความพยายามที่จะสร้างแบบแผนทฤษฎีโดยละเอียด เมื่อเร็วๆ นี้เขากับแบซิล ฮีลีย์ (Basil Hiley) ผู้ร่วมวิจัยของเขา ได้คิดค้นทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัมแบบไม่จำกัดบริเวณโดยอาศัยแนวคิดพื้นฐานเรื่องศักย์ควอนตัม โบห์มยังเป็นที่รู้จักอีกด้วยในด้านการวิเคราะห์เชิงปรัชญาเกี่ยวกับฟิสิกส์ยุคใหม่

บทที่ 9 บทสัมภาษณ์ของแบซิล ฮีลีย์

แบซิล ฮีลีย์ (Basil J. Hiley: 1935-) เป็นอาจารย์สอนฟิสิกส์ที่วิทยาลัยเบิร์กเบ็กแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ความสนใจของเขาคือฟิสิกส์ของแข็ง ฟิสิกส์ของไหล และพอลิเมอร์ฟิสิกส์ รวมทั้งหลักการพื้นฐานของกลศาสตร์ควอนตัม การร่วมวิจัยของเขากับเดวิด โบห์ม ได้ปฏิเสธการตีความกลศาสตร์ควอนตัมแบบดั้งเดิมมาเป็นเวลายาวนาน และได้พยายามสร้างทฤษฎีที่เข้ากันได้กับความเป็นจริงตามสามัญสำนึกมากกว่า งานวิจัยล่าสุดของเขากับโบห์มในเรื่องศักย์ควอนตัมแบบไม่จำกัดบริเวณเป็นสิ่งที่ท้าชนกับแนวคิดดั้งเดิมโดยตรง

อภิธานศัพท์ (Glossary)

เกี่ยวกับบรรณาธิการ

Paul Charles William Davies ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์และฟิสิกส์คณิตศาสตร์ งานวิจัยของเขาเน้นเรื่องคำถามสำคัญของการดำรงอยู่ ตั้งแต่ต้นกำเนิดของจักรวาลและชีวิต รวมถึงธรรมชาติของเวลา และคำถามพื้นฐานสำคัญในควอนตัมฟิสิกส์

Julian R. Brown ผู้จัดรายการวิทยุฝ่ายงานวิทยาศาสตร์ของบีบีซี (BBC: British Broadcasting Corporation)

เกี่ยวกับผู้แปล

ดร.สิรพัฒน์ ประโทนเทพ นักวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีของไทยในยุคเริ่มต้นคนหนึ่ง จบปริญญาเอกทางด้านนาโนสเกลฟิสิกส์ที่ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีงานวิจัยในด้านวัสดุนาโนและอุปกรณ์นาโนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะทางด้านเซ็นเซอร์สำหรับตรวจวัดสารเคมี เช่น จมูกอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้งานด้านการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเขตอุตสาหกรรม มีผลงานเขียนและแปลหนังสือมาแล้วหลายเล่ม

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page