top of page

เมื่อโลกไร้น้ำแข็ง (A World Without Ice)


เมื่อโลกไร้น้ำแข็ง

แปลจาก A World Without Ice (2009)

เขียนโดย Henry Pollack แปลโดยพลอยแสง เอกญาติ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2554 จำนวน 344 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740207283

อีกไม่ช้าก็มาถึง แล้วมนุษย์โลกจะทำอย่างไร

คำนำสำนักพิมพ์

สำนักพิมพ์มติชนยังคงมุ่งมั่นนำเสนอหนังสือที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมออกมาอย่างสม่ำเสมอ "เมื่อโลกไร้น้ำแข็ง (A World Without Ice)" เป็นอีกหนึ่งในชุดสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นเตือนให้เรารับรู้ถึงปัญหาเดิมคือปัญหาโลกร้อนที่เป็นวาระร่วมของโลก แต่มองจากแง่มุมของผลึกน้ำแข็งที่เริ่มน้อยลงเรื่อยๆ จากจุดยืนของนักวิทยาศาสตร์ที่คลุกคลีกับเรื่องน้ำแข็งของโลกมายาวนาน

การเพิกเฉยต่อภาวะโลกร้อนในระดับโลกส่งผลสะท้อนชี้ชัดออกมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ฝนแล้งหนักขึ้น พายุใหญ่รุนแรงขึ้น โรคระบาดแพร่กระจายไปไกล พืชผลเสียหายจำนวนมาก สัตว์ป่าหายไป และคลื่นผู้อพยพลี้ภัยภูมิอากาศ ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเมือง การไม่ยอมตื่นมารับมืออย่างทันท่วงทีอาจจะทำให้เราสูญเสียโอกาสที่จะรักษาโลกใบนี้ไว้ให้คนรุ่นต่อจากเราไปก็ได้

หนึ่งในจุดพลิกผันระดับโลกที่เป็นหัวใจของหนังสือเล่มนี้ก็คือการสูญเสียน้ำแข็งบนโลก ซึ่งปัจจุบันกำลังละลายด้วยอัตราเร็วอันน่าตกใจ ธารน้ำแข็งที่คนนับเป็นพันล้านพึ่งพาเป็นน้ำดื่มกำลังจะหายไปจากโลกนี้หรือเพียงอีกสิบปีข้างหน้า อาร์กติก (Arctic) อาจจะได้น้ำแข็งในบางช่วงของปี ทว่าบทบาทของน้ำแข็งบนโลกที่กำลังสูญหายไปอย่างรวดเร็วนั้นยิ่งกว่าการเป็นน้ำดื่มน้ำกินให้คนมากมายมหาศาล เพราะน้ำแข็งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดอุณหภูมิของโลกและมหาสมุทร มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตบนพื้นโลกในทุกแง่ทุกมุม ไม่เว้นแม้กระทั่งด้านภูมิรัฐศาสตร์

ข้อเท็จจริงที่นำมาตีแผ่ในหนังสือเล่มนี้ด้วยการอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย อาจจะเป็นหนทางหนึ่งในการกระตุ้นเตือนเราช่วยกันร่วมมือผลักดันให้การรับมือกับวิกฤตโลกที่น่ากลัวเกิดเป็นจริงขึ้นได้ทันเวลา เหมือนดังที่อัล กอร์ (Albert Arnold "Al" Gore Jr.: 1948-) กล่าวอย่างมีความหวังว่า "ผมหวังว่าหนังสือ A World Without Ice จะสาดแสงให้เห็นปัญหาใหญ่ด้านความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศผ่านผลึกน้ำแข็ง และช่วยจุดประกายให้ผู้คนชักชวนเพื่อน ครอบครัว ชุมชน กลุ่มศาสนา บริษัท และประเทศให้ร่วมสู้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่เกื้อกูลเราตลอดมา"

"การเขียนหนังสือให้มีสาระ เจาะลึก และอ่านง่ายอย่าง A World Without Ice จำเป็นต้องมีผู้เขียนที่เพียบพร้อมด้วยประสบการณ์งานวิจัยด้านธรณีฟิสิกส์ ภูมิอากาศ และน้ำแข็งมานานกว่า 40 ปี อีกทั้งต้องมีความสามารถในด้านการเขียนดั่ง Henry Pollack ผู้นี้" - ดร.ราล์ฟ ซิเซรอน (Ralph John Cicerone: 1943-2016) ประธานสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา

"เรื่องราวเกี่ยวกับแอนตาร์กติกาและอาร์กติกที่เขียนได้ยอดเยี่ยมและเข้าใจง่าย อีกทั้งยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับธรรมชาติของน้ำแข็งที่สำคัญยิ่งต่อชีวิต และความเร่งด่วนในการใช้มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก่อนโลกจะถึงจุดพลิกผันในอีกไม่นาน" ดร.กิลเบิร์ต โอเมนน์ (Gilbert S. Omenn: 1941-) นายแพทย์และศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) และอดีตประธานสมาคมเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา

คำนำผู้แปล

โลกเป็นชีวมณฑลที่มีสมดุลอยู่เสมอ มีแสงสว่างและความมืด มีแดดและฝน มีชื้นและแห้งแล้ง มีทะเลทรายและทุ่งน้ำแข็ง ความเหมาะเจาะและถ่วงดุลกันเองของทุกสรรพสิ่งสร้างให้โลกมีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเกิดชีวิตและเป็นบ้านที่อุดมสมบูรณ์สำหรับมนุษย์ แต่การเปลี่ยนแปลงในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมาหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมกำลังทำให้สมดุลนี้สูญเสียไป ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดมากคือการค่อยๆ หายไปของน้ำแข็งธรรมชาติ ปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดกันว่าอีกไม่ถึง 10 ปี น้ำแข็งทั่วโลกจะละลายหายไปหมด

เรามาลองจินตนาการโลกที่ปราศจากน้ำแข็งกันสักนิด เมื่อน้ำแข็งละลายไปจากขั้วโลก เราจะไม่มีทวีปสีขาวสว่างไสว ไม่มีบ้านของหมีขั้วโลก เพนกวิน และแมวน้ำ ไม่มีปราการน้ำแข็งมหึมา ไม่มีลำธารน้ำแข็งที่เคลื่อนช้าๆ สู่มหาสมุทร ฤดูหนาวทั่วโลกจะสั้นลงเรื่อยๆ โลกร้อนขึ้นเพราะไม่มีน้ำแข็งไว้สะท้อนแสงอาทิตย์ ปริมาณน้ำเค็มในมหาสมุทรจะเพิ่มขึ้นจากน้ำแข็งที่ละลายลงทะเล หลายทวีปจมน้ำ หิมะตกน้อยลง แหล่งน้ำจากหิมะและธารน้ำแข็งจะเหือดแห้ง แม่น้ำสายใหญ่ๆ เช่น พรหมบุตร คงคา สินธุ เหลือง โขง อิรวดี และแยงซี จะมีน้ำน้อยลงและแห้งขอดเป็นช่วงๆ ผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกขาดแคลนน้ำสะอาด เกิดการอพยพย้ายถิ่นครั้งใหญ่ ตามมาด้วยสงครามชิงน้ำ และปัญหาอีกมากมายที่ยากจะคิดฝันถึง นี่คือสิ่งที่ยืนยันว่าน้ำแข็งไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่หลายคนคิด ทุกสิ่งในโลกธรรมชาติล้วนเชื่อมโยงถึงกันทั้งสิ้น

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่งเมื่อ ดร.เฮนรี่ พอลแล็ก (Henry Pollack) เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2007 และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมคนสำคัญของโลกได้ลุกขึ้นมาอธิบายถึงความสำคัญของน้ำแข็งให้ชาวโลกได้รับรู้ ข้อมูลในหนังสือ "เมื่อโลกไร้น้ำแข็ง (A World Without Ice)" ไม่เพียงแจกแจงถึงความสำคัญในแง่วิทยาศาสตร์ที่น้ำแข็งมีต่อการกำหนดอุณหภูมิโลกและมหาสมุทร การควบคุมรูปแบบภูมิอากาศ และการปรับระดับน้ำทะเลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับน้ำแข็ง และอิทธิพลของน้ำแข็งที่มีต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี เกษตรกรรม การคมนาคม การค้า และแม้แต่ภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศอีกด้วย

นี่คือหนังสือที่เปิดพรมแดนใหม่ของความรู้เกี่ยวกับโลกได้อย่างน่าสนใจยิ่ง ไม่ซ้ำทางกับหนังสือโลกร้อนเล่มอื่นๆ ที่คุณอาจเคยผ่านตา ข้อมูลที่เจาะลึกและการนำเสนอที่น่าสนใจสร้างความโดดเด่น ขอให้เชื่อมั่นเถิดว่าหากได้อ่านแล้วจะไม่รู้สึกเสียเวลาอย่างแน่นอน

คำนำเสนอ (Foreword by Al Gore)

มนุษยชาติเดินทางมาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ โลกที่เป็นบ้านของเราตกอยู่ในอันตรายใหญ่หลวง สิ่งที่ตกอยู่ในความเสี่ยงไม่ใช่ตัวดาวเคราะห์เอง แต่เป็นสภาพอากาศพิเศษเฉพาะที่เอื้อต่อชีวิตมนุษย์และช่วยให้เกิดอารยธรรมดังที่เราคุ้นเคยกันมา หลายสิบปีแล้วที่นักวิทยาศาสตร์เฝ้าศึกษาภูมิอากาศโลก ค้นหาสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้น รวมถึงผลกระทบจากอุณหภูมิที่พุ่งสูงต่อโลกและวิถีชีวิตของเราทั้งในปัจจุบันและอนาคต เมื่อพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ บ่งชี้ว่ากิจกรรมของมนุษย์เองคือสาเหตุหลักของปัญหาโลกร้อนที่รุนแรงและหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ นี้ หลายคนในแวดวงวิทยาศาสตร์จึงเริ่มออกมาเตือนภัย

พวกเขาให้ข้อมูลต่อสมาชิกรัฐสภาและผู้วางนโยบายให้ความร่วมมือกับงานวิจัยระดับนานาชาติ ทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC: Intergovernmental Panel on Climate Change) ปรึกษาผู้นำธุรกิจ และเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อ นักวิทยาศาสตร์รอบโลกทำงานหนักเพื่อถ่ายทอดความรุนแรงและเร่งด่วนของปัญหาที่ท้าทายเราอยู่นี้ มันเกิดจากการกระทำโดยประมาทของเราเอง และจำต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างเร่งด่วนและจริงจัง

ผลกระทบจากการนิ่งเฉยไม่ดูดำดูดีเริ่มเห็นได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ทั้งระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ฝนแล้งหนักขึ้น พายุใหญ่รุนแรงขึ้น โรคระบาดแพร่กระจายไปไกล พืชผลเสียหายจำนวนมาก สัตว์ป่าหายไป และคลื่นผู้อพยพลี้ภัย ภูมิอากาศทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเมือง กระนั้นยังมีคนกลุ่มน้อยที่ดึงดันปฏิเสธไม่เชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ บางคนทำไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการเงินของตนเองที่มีสูงมาก และคนอื่นๆ คัดค้านในหลักการด้วยไม่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามามีบทบาทใดๆ ในการแก้วิกฤตนี้ พวกเขาโหมโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนัก ขั้นแรกก็พยายามปฏิเสธความจริงที่ไม่มีใครอยากฟังเรื่องโลกร้อน ขั้นที่สองตั้งคำถามว่าอะไรกันแน่คือสาเหตุของมัน ขั้นที่สามกลบเกลื่อนผลกระทบจากโลกร้อน และสุดท้ายคือกุตัวเลขค่าใช้จ่ายสูงลิ่วที่ต้องใช้ในการเปลี่ยนแหล่งพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นอย่างอื่นที่ยั่งยืนกว่าและนำกลับมาใช้ได้ไม่สิ้นสุด การบ่อนทำลายและขัดขวางดังกล่าวได้ส่งผลร้ายต่อโลกแล้ว กว่า 15 ปีที่ผ่านมา ขณะที่สหรัฐอเมริกาไม่ยอมรับบทผู้นำในการผลักดันต่อสู้กับภาวะโลกร้อนในระดับโลก วิกฤตก็รุนแรงมากขึ้นอีกหลายเท่า ตอนนี้เรากำลังจะเผชิญกับจุดพลิกผันระดับโลกในหลายๆ ด้าน ซึ่งหากไม่รับมือกับมันอย่างแข็งขันและทันท่วงทีก็อาจทำให้ชนรุ่นหลังต้องเผชิญชะตากรรมเลวร้ายเป็นเวลาหลายพันปีทีเดียว

หนึ่งในจุดพลิกผันดังกล่าวคือการสูญเสียน้ำแข็งบนโลก น้ำแข็งเหล่านี้สะสมตัวมากว่าหลายล้านปี แต่ปัจจุบันกำลังละลายด้วยความเร็วน่าตกใจ ธารน้ำแข็งทั่วโลกที่ป้อนน้ำดื่มน้ำใช้ให้คนกว่าหนึ่งพันล้านคนมาหลายศตวรรษกำลังหายไปอย่างรวดเร็ว หิ้งน้ำแข็งโบราณที่แอนตาร์กติกาหลายแห่ง บางแห่งมีขนาดเท่าประเทศเบลเยียม สกอตแลนด์ หรือฝรั่งเศสด้วยซ้ำ กำลังเริ่มแตกตัว ทำให้เกิดก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ลอยออกสู่มหาสมุทรทางใต้ ธารน้ำแข็งนับร้อยแห่งที่กรีนแลนด์เคลื่อนลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกเร็วขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้นนักวิจัยยังค้นพบว่าในมหาสมุทรอาร์กติกที่มีแผ่นน้ำแข็งปกคลุมทะเลขั้วโลกมาตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติและเกือบตลอด 3 ล้านปีก่อนหน้านั้น เริ่มมีปริมาณลดลงและบางลงอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คาดว่าภายในสิบปีข้างหน้า มหาสมุทรอาร์กติกอาจไร้น้ำแข็งในช่วงฤดูร้อน

บางคนอาจถามว่า แล้วไงเล่า ทำไมเราต้องใส่ใจการหายไปของธารน้ำแข็งและชั้นน้ำแข็งที่ปกคลุมขั้วโลกอันห่างไกล การที่น้ำแข็งไกลโพ้นพวกนั้นหายไปสำคัญอย่างไรต่อชาวนาที่เนบราสกา วิศวกรที่ริโอเดอจาเนโร ที่ปรึกษาทางการเงินในนิวยอร์ก พนักงานขายที่ซินซินเนติ คนขับรถประจำทางที่ลอนดอน ผู้นำทัวร์ที่แทนซาเนีย เด็กในบังกลาเทศ หรือนักธุรกิจในปักกิ่ง คำตอบคือในระดับโลกนั้นน้ำแข็งมีบทบาทสำคัญและใหญ่หลวงในการกำหนดอุณหภูมิของบรรยากาศและมหาสมุทรทั่วโลก ควบคุมรูปแบบภูมิอากาศ ปรับระดับน้ำทะเล และมีผลกระทบอย่างมากต่อเกษตรกรรม การคมนาคม การค้า และแม้แต่ภูมิรัฐศาสตร์ก็หนีไม่พ้น แม้มนุษย์จะเรียนรู้ความสำคัญของมันได้ค่อนข้างช้า แต่อดีตและอนาคตของเราเกี่ยวโยงอยู่กับน้ำแข็งบนโลกอย่างแยกกันไม่ออก หากเราไม่ขยับตัวเสียตั้งแต่ตอนนี้ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคล ชุมชน ธุรกิจ และประเทศชาติ เพื่อชะลอและหยุดการละลายของน้ำแข็งให้ได้ในที่สุด เราก็จะเสี่ยงต่อการทำลายระบบสำคัญของโลกที่ช่วยให้มนุษย์แพร่พันธุ์และเจริญก้าวหน้า

ใน "เมื่อโลกไร้น้ำแข็ง (A World Without Ice)" หนังสือเล่มใหม่ที่เจาะลึก อ่านง่าย และมีความสำคัญยิ่งนี้ ดร.เฮนรี่ พอลแล็ก ได้สำรวจบทบาทสำคัญที่น้ำแข็งมีต่อกลไกการทำงานของโลก ผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ การกระทำของมนุษย์ที่กระทบต่อน้ำแข็ง และสาเหตุที่การตัดสินใจของเราในวันนี้ ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลและสังคมโดยรวมจะส่งผลสำคัญยิ่งต่อโลกและสังคมมนุษย์ในอีกหลายพันปีข้างหน้า หนังสือเล่มนี้อธิบายระบบอันซับซ้อนของโลกด้วยถ้อยคำเรียบง่าย ไม่ยัดเยียดข้อมูล นำเสนอความเกี่ยวโยงที่แท้จริงกับประชาชนและโลก โดยไม่ฟูมฟายหรือพูดจาเกินจริง ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ผู้อ่านในวงกว้างได้เข้าใจปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่และความเสี่ยงสูงที่มาพร้อมการโต้เถียงเรื่องโลกร้อน ผู้อ่านจะได้รู้ข้อมูลจริงว่ามนุษย์ไม่ใช่ผู้นั่งมองการเปลี่ยนแปลงในระบบภูมิอากาศโลกอยู่เฉยๆ อีกต่อไปแล้ว แต่เราคือตัวผลักดันสำคัญของการเปลี่ยนแปลงมากมายที่ปรากฏให้เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ

ผมรู้จัก ดร.พอลแล็ก และติดตามงานเรื่องวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกของเขามาตั้งแต่ปี 1992 นั่นคือตอนที่ผมขอให้เขาขึ้นให้ข้อมูลกับวุฒิสภาสหรัฐฯ และต่อมาผมยังเคยเชิญเขามาที่ทำเนียบขาวเพื่อขอความรู้อีกด้วย ดร.พอลแล็กเป็นนักธรณีฟิสิกส์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนตั้งแต่ปี 1960 เขาเป็นผู้นำนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกในการจำลองอุณหภูมิพื้นผิวโลกในช่วงหนึ่งพันปีที่ผ่านมา ผ่านนวัตกรรมการเจาะรูแผ่นหินเปลือกโลกเพื่อวัดอุณหภูมิ เขาเคยให้คำแนะนำมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ให้ข้อมูลกับสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติและคณะกรรมการของสภาคองเกรส เป็นผู้สนับสนุนและสมาชิกคณะกรรมการรระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นสถาบันที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2007 ร่วมกับผม

นอกเหนือจากชื่อเสียงในด้านวิทยาศาสตร์อันน่าเชื่อถือแล้ว ผมยังรู้จักและนับถือ ดร.พอลแล็กในฐานะนักสื่อสารผู้เก่งกาจและดึงดูดใจผู้ฟังได้ดี เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้มีความสามารถอันหาได้ยากยิ่งในการสื่อสารกับคนธรรมดาและสามารถแปลความคิดวิทยาศาสตร์ให้เป็นถ้อยคำพื้นๆ เข้าใจง่าย ดร.พอลแล็กเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาของผมในโครงการโลกร้อน ผมจึงได้ฟังเขาพูดกับผู้คนหลายร้อยในห้องประชุมเพื่อถ่ายทอดความซับซ้อนและปัญหาในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และเมื่อจบการบรรยาย ผู้ฟังไม่เพียงมีความรู้มากขึ้น แต่ยังรู้สึกอิ่มเอมไปกับความรู้ที่ได้รับอีกด้วย ดร.พอลแล็กใช้สัญชาตญาณสัมผัสได้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์และมนุษยนิยม และเชื่อมโยงมันเข้าหากันด้วยเหตุผลและความดีงาม เขานำวิธีที่ตรงไปตรงมาและเป็นมิตรนี้มาใช้ในหน้าหนังสือเล่มนี้ด้วย นี่คือหนังสือที่ผมเชื่อว่าจะช่วยให้ผู้อ่านจำนวนมากมายได้เข้าใจและรับรู้ถึงความท้าทายครั้งใหญ่หลวงในช่วงชีวิตของเรา หลายปีแล้วที่ความพยายามในการรับมือกับวิกฤตภูมิอากาศที่เพิ่มความรุนแรงขึ้นนี้ถูกกัดกร่อนด้วยความคิดที่ว่าเราต้องเลือกระหว่างโลกกับวิถีชีวิตส่วนตัว ระหว่างหน้าที่โดยมโนธรรมและความอยู่ดีกินดีทางเศรษฐกิจ นี่เป็นความเข้าใจผิด แท้จริงแล้ววิธีแก้ปัญหาวิกฤตสภาพอากาศมีความสำคัญยิ่งต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติด้วย

แม้หวาดหวั่นกับวิกฤตที่ต้องรับมือ แต่โดยธรรมชาตติแล้วผมเป็นคนมองโลกในแง่ดี ผมเคยเห็นศักยภาพของคนที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญมาแล้ว เมื่อพวกเขาได้รับรู้ข้อมูลและมีแรงบันดาลใจ ผมจึงหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะสาดแสงให้เห็นปัญหาใหญ่ด้านความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศผ่านผลึกน้ำแข็งและช่วยจุดประกายให้ผู้คนชักชวนเพื่อน ครอบครัว ชุมชน กลุ่มศาสนา บริษัท และประเทศ ให้ร่วมสู้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่เกื้อกูลเราตลอดมา เราอยู่บนแกะแห่งความเป็นไปได้ที่เล็กจนแทบไม่น่าเชื่อ ในทะเลแห่งอวกาศที่กว้างไกลไร้ขอบเขต และเราทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อรักษาบ้านของเราไว้ ก่อนจะสายเกินไป

[con·tin·ue]

บทนำ

บทที่ 1 ค้นพบน้ำแข็ง (Discovering Ice)

บทที่ 2 น้ำแข็งและชีวิต: บนโลกและไกลกว่านั้น (Ice and Life: On Earth and Beyond)

บทที่ 3 เมื่อน้ำแข็งครองโลก (When Ice Ruled the World)

บทที่ 4 อุ่นเครื่อง (Warming Up)

บทที่ 5 ธรรมชาติทำงาน (Nature at Work)

บทที่ 6 รอยเท้ามนุษย์ (Human Footprints)

บทที่ 7 น้ำแข็งละลาย น้ำทะเลสูงขึ้น (Melting Ice, Rising Seas)

บทที่ 8 ทางเลือกท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง (Choices Amid Change)

กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgments)

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page