top of page

ความลับของจิ๋นซีฮ่องเต้ (秦始皇的秘密)


ความลับของจิ๋นซีฮ่องเต้

แปลจากต้นฉบับภาษาจีน 秦始皇的秘密 (2009)

เขียนโดย 李开元 (หลี่ไคหยวน Li Kaiyuan) แปลโดยสุนทร ลีวงศ์เจริญ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2555 จำนวน 512 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740208778

พลิกปูมประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฉิน สู่การไขปริศนาลับของมหาจักรพรรดิแผ่นดินมังกร จิ๋นซีฮ่องเต้ มหาบุรุษผู้ซุกซ่อนปริศนาอันลึกลับมากมายในประวัติศาสตร์จีนตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์นับตั้งแต่ประสูติไปจนถึงสิ้นพระชนม์ล้วนถูกปกคลุมอยู่ภายใต้ไอหมอกสลัวมืดมัวหลายซับหลายซ้อน เรื่องราวของพระองค์กลายเป็นประเด็นร้อนที่บรรดานักวิจัยประวัติศาสตร์และผู้ชื่นชอบเรื่องลี้ลับจำนวนมากต่างพากันถกหารืออย่างสืบเนื่องไม่ขาดสาย

พระบิดาผู้ให้กำเนิดโดยแท้จริงของพระองค์คือใคร? จิ๋นซีฮ่องเต้แท้จริงแล้วทรงมีจิ๋นซีฮองเฮาหรือไม่? บรรดานางสนมกำนัลในประจำพระราชวังหลังของพระองค์ ทำไมจึงปลาสนาการไปจนหมดสิ้น ไม่เหลือร่องรอยใดๆ ในเอกสารประวัติศาสตร์เลยแม้แต่พระนางเดียว?

ศาสตราจารย์หลี่ไคหยวน ผู้ได้รับสมญานามว่า 'เชอร์ล็อก โฮล์มส์ แห่งโลกวิชาการประวัติศาสตร์' อาศัยกลเม็ดอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สืบสวนกรณีที่เคยเกิดขึ้นเมื่อสองพันกว่าปีก่อน พาคุณเล็ดลอดเข้าสู่อุโมงค์ประวัติศาสตร์อันเร้นลับทะลุผ่านไปค้นพบภาพจริงแท้ที่ไม่เคยบันทึกไว้ ขอเชิญมาสัมผัสรับรู้ร่วมกันถึงพลานุภาพแห่งขุมพลังสติปัญญา แหวกฝ่าม่านหมอกไอสลัว เพื่อเพลิดเพลินกับประสบการณ์ในการอ่านที่แตกต่างดูบ้างเถิด

คำนำสำนักพิมพ์

จิ๋นซีฮ่องเต้เป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์จีน มหาราชาผู้พลิกหน้าประวัติศาสตร์แห่งประเทศมหาอำนาจทางวัฒนธรรมตะวันออกด้วยการรวมแผ่นดินที่แตกแยกเป็น 7 แคว้นกลับมาเป็นหนึ่ง สถาปนาราชวงศ์แรกของจีนขึ้น แล้วทิ้งร่องรอยแห่งอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่อย่างกำแพงขนาดยักษ์ไว้บนแผ่นดินมังกร ทว่าประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งจารึกว่าจักรพรรดิจิ๋นซีเป็นทรราช วีรกรรมโหดร้ายป่าเถื่อนเลื่องชื่อยังคงถูกกล่าวขานในหมู่ชนรุ่นหลังอย่างต่อเนื่อง การเผาทำลายเอกสารตำราของนักคิดนักปราชญ์ในยุคราชวงศ์ฉินส่งผลกระทบต่อวงการวรรณกรรมยุคหลังของจีนเป็นอย่างมาก นับเป็นความเสียหายที่ไม่อาจลืมเลือนได้ แม้มหาบุรุษผู้นี้จะมีชื่อจารึกอยู่ในตำราประวัติศาสตร์จำนวนมากมาย หากแต่ยังมีรายละเอียดซ่อนเร้นอีกหลายประการที่ยังคงคลุมเครืออยู่ในม่านหมอกของประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเรื่องบิดาที่แท้จริงของจิ๋นซีฮ่องเต้ หรือบรรดาพระสนมวังหลังที่ไม่เคยปรากฏหลักฐานอยู่ในตำราใดเลย

ช่วงชีวิตของจิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ได้ซุกซ่อนปริศนาและเงื่อนงำไว้มากมาย หนังสือ "ความลับของจิ๋นซีฮ่องเต้" เล่มนี้คือกุญแจดอกหนึ่งที่จะนำทุกคนไขประตูไปสู่ความลับที่อยู่เบื้องหลังตัวอักษรบนหน้ากระดาษและเศษซากกระดูกผุพังในสุสานโบราณ การสืบหาความจริงด้วยวิธีการแบบนักสืบปูพื้นฐานของเรื่อง เปิดปมประเด็น ตั้งสันนิษฐาน จินตนาการถึงเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ วิเคราะห์เรื่องราวเชิงลึกอย่างมีเหตุมีผล นำไปสู่ข้อสรุปที่น่าเชื่อถือ ไขความแคลงใจเกี่ยวกับปมปริศนาต่างๆ ของจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ของจีนผู้นี้ให้กระจ่าง

ด้วยการดำเนินเรื่องที่สนุกสนาน เข้มข้น อรรถรสใกล้เคียงกับนิยายสืบสวนสอบสวนเรื่องหนึ่ง จะทำให้ทุกคนได้ฉงน สงสัย ตื่นเต้น เข้าใจ และกระจ่างไปกับทุกบททุกตอน พร้อมๆ กับความรู้ทางประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ฉินที่เต็มไปด้วยเหตุเรื่องราวมากมายอันเป็นจุดหักเหสำคัญของประวัติศาสตร์จีน ขอเชิญนักสืบประวัติศาสตร์ทุกคนมาร่วมไขปริศนาชีวประวัติลับของมหาจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ด้วยกัน ณ บัดนี้

คำนำผู้แปล

เมื่อหวนนึกถึงชีวิตช่วงวัยเรียนชั้นประถมปลายและมัธยมต้น มีวิชาประวัติศาสตร์ทั่วไปที่สอนในโรงเรียนสมัยนั้นกล่าวถึงประวัติศาสตร์จีนยุคโบราณในส่วนที่เกี่ยวกับจิ๋นซีฮ่องเต้ สรุปเพียงสั้นๆ ว่าเป็นผู้รวบรวมแคว้นก๊กต่างๆ ในแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียว ใช้ระบอบเผด็จการทรราชปกครองบ้านเมืองอย่างเหี้ยมโหด เผาตำรา ฝังสานุศิษย์ขงจื้อ เกณฑ์แรงงานไพร่พลไปสร้างกำแพงเมืองจีนล้มตายเป็นจำนวนมาก ครูผู้สอนได้เล่าเพิ่มเติมว่าจิ๋นซีฮ่องเต้นับเป็นฮ่องเต้พระองค์แรกที่รวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นปึกแผ่นได้สำเร็จ และถือเป็นแบบอย่างให้ฮ่องเต้ในราชวงศ์จีนยุคหลังปฏิบัติสืบทอดต่อเนื่องกันมา

ครั้นเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เนื่องเพราะผู้แปลมีความสนใจในภาษาจีนนับแต่วัยเยาว์และยังศึกษาด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง จึงเลือกเรียนภาษาจีนที่เพิ่งเปิดสอนในมหาวิทยาลัยในยุคบุกเบิกหลังรัฐบาลไทยเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนเมื่อปี 2518 พร้อมกับเรียนประวัติศาสตร์จีนเป็นวิชาเลือก สิ่งที่ได้รับรู้เกี่ยวกับจิ๋นซีฮ่องแต้โดยสาระแล้วยังไม่แตกต่างไปจากที่ได้รู้มาเพียงเล็กน้อยในวัยเยาว์ เมื่อมาอ่านหนังสือจีนเรื่อง "ความลับของจิ๋นซีฮ่องเต้" ของศาสตราจารย์หลี่ไคหยวนเล่มนี้จึงรู้สึกทึ่งและตะลึงที่ทราบว่าแท้จริงแล้วจิ๋นซีฮ่องเต้นั้นช่างมีอะไรลึกซึ้งลึกลับทิ้งค้างเป็นปริศนาน่าติดตามศึกษาสืบค้น แตกต่างจากที่เคยได้รับรู้มามากมายนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหลี่ว์ปู้เหวยพระบิดาบุญธรรม หรือเคยอยู่กับพระบิดาซึ่งเป็นตัวประกัน (ราชทูต) ของรัฐฉินในรัฐจ้าวบ้านเกิดของพระมารดา ต้องตกทุกข์ได้ยากกับพระมารดาอีกหลายปีที่รัฐจ้าว ก่อนจะเสด็จนิวัติไปอยู่กับพระบิดาที่รัฐฉิน ได้ขึ้นครองบัลลังก์ภายใต้ไทเฮาอุปถัมภ์พร้อมกันสามนาง และเสริมฐานอำนาจทางการเมืองของพระองค์โดยขจัดพระบิดาเลี้ยง (เล่าไอ่) พระอนุชาร่วมพระมารดาอีกสองพระองค์ รวมถึงทรงเนรเทศหลี่ว์ปู้เหวย (พระบิดาบุญธรรม) ออกนอกนครหลวงจนต้องดื่มยาพิษฆ่าตัวตายในที่สุด ทรงบรรลุมหาราชภารกิจรวบรวมดินแดนใต้ฟ้าทั้งหกรัฐให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งนักประวัติศาสตร์จีนใช้คำนิยามว่าเป็นลิขิตฟ้า (เทียนอี้) ทรงผ่านการศึกสงครามรบพุ่งยืดเยื้อยาวนานมิหยุดหย่อนที่เรียกกันว่ายุครณยุทธ์ (จ้านกว๋อ) และใช้พระสมัญญานามเรียกพระองค์เองว่าจักรพรรดิหรือฮ่องเต้ (หวงตี้) เป็นปฐมฮ่องเต้ในประวัติศาสตร์จีน เป็นต้น

นอกจากสารัตถะน่าสนใจด้านพระประวัติและพระราชกรณียกิจของจิ๋นซีฮ่องเต้แล้ว เรื่องมรรควิธีแห่งประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือวิธีการเขียนประวัติศาสตร์ของศาสตราจารย์หลี่ไคหยวนนั้นยังนับเป็นการบุกเบิกแนวการเขียนประวัติศาสตร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน ซึ่งเขาใช้วิธีการมุ่งหาเหตุผลและตรรกะไปตีความสภาพความเป็นจริงหรือเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้วโดยอิงพื้นฐานการตรวจสอบพิสูจน์หลักฐานความแน่ชัดซึ่งมีอยู่น้อยให้มากที่สุด แล้วค่อยอนุมานคาดการณ์สรุปออกมาเป็นเรื่องราวที่สมเหตุสมผล เขาเรียกแนววิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของตนว่าเป็นประวัติศาสตร์เชิงเหตุผลแนวสืบสวนที่ประยุกต์มาจากวิชาการสืบสวนของตำรวจคดีอาญาหรือแนวอาชญนิยายที่อิงการพิสูจน์ชี้ชัดด้วยหลักฐาน "แท้จริงแล้ววิชาประวัติศาสตร์ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาศาสตร์ได้ด้วยการพึ่งพาอาศัยการพิสูจน์ชี้ชัดด้านหลักฐานนั่นเอง อีกทั้งแนวการเขียนวิเคราะห์ประวัติศาสตร์สืบสวนสอบสวนในลักษณะเช่นนี้ยังชวนตื่นเต้นน่าสนใจให้ติดตามอย่างไม่เบื่อหน่าย"

อีกวิธีการหนึ่งในการเขียนประวัติศาสตร์แนวศาสตราจารย์หลี่ไคหยวนก็คือ ใช้วรรณศิลป์เฉพาะตัว เขียนให้เห็นภาพประวัติศาสตร์เคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวา ซึ่งเขาเรียกว่าการฟื้นคืนชีพทางประวัติศาสตร์ ผู้แปลเข้าใจว่านักประวัติศาสตร์ที่เขียนถึงขั้นนี้ได้ต้องทำความเข้าใจเหตุการณ์อย่างน้อยก็ในช่วงระยะเวลาประวัติศาสตร์นั้นจนซึมซับชนิดที่พอจะเรียกได้ว่าเข้าถึงจิตวิญญาณผู้คนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น ดังคำกล่าวของเขาที่สรุปถึงความหมายอันเป็นคติเตือนใจในวิชาประวัติศาสตร์ว่า "ประวัติศาสตร์เป็นปริศนานิรันดร์ เนื่องเพราะเราไม่สามารถหวนกลับไปได้อีก หากผมไม่สามารถให้ข้อเท็จจริงประวัติศาสตร์ที่แน่ชัดถูกต้องที่สุดแก่ท่าน ผมก็จะให้การอนุมานคาดการณ์ที่สมเหตุสมผลที่สุดแก่ท่านได้ ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องแน่ชัดที่สุดนั้นย่อมเข้าใกล้สัจจะที่งดงาม การอนุมานคาดการณ์ที่สมเหตุสมผลที่สุดย่อมเข้าใกล้ความงดงามที่เป็นสัจจะที่ต่างก็มีคุณค่าไม่อาจทดแทนกันได้" ผู้แปลหวังอย่างยิ่งว่าหนังสือ "ความลับของจิ๋นซีฮ่องเต้" เล่มนี้คงไม่ทำให้ผู้อ่านผิดหวัง และนักวิชาการในแวดวงประวัติศาสตร์ของไทยต้องส่ายหน้าสั่นศีรษะดังที่ผู้เขียนได้ปรารภตั้งปณิธานเอาไว้

[con·tin·ue]

อารัมภบท: สนุกกับการใช้เหตุผลสืบสวนกรณีประวัติศาสตร์

บทที่ 1 ใครคือพระบิดาของจิ๋นซีฮ่องเต้

หลี่ว์ปู้เหวยเป็นพระบิดาโดยแท้จริงของจิ๋นซีฮ่องเต้ใช่หรือไม่?

1. ภัยที่ซือหม่าเชียนก่อขึ้นเอง

2. รายนามผู้ต้องสงสัย

3. ค้นพบสินค้าพิสดาร

4. มูลค่าของสินค้าพิสดาร

5. เคล็ดลับการค้าระดับสูงสุด

6. พระตระกูลเครือญาติผู้สูงศักดิ์

7. งานประชาสัมพันธ์ก้าวแรก

8. น้ำพระเนตรฮว๋าหยางฮูหยิน

9. ข้อคิดเห็นจากผลการสืบสวนในชั้นแรก

การตรวจสอบชี้ชัดและพิสูจน์หลักฐาน

1. การชี้ชัดทางกฎหมาย

2. การชี้ชัดทางการแพทย์

3. ไท่สื่อกง (บิดาแห่งประวัติศาสตร์) ชอบหยอกล้อคนเล่น

4. พยานหลักฐานทางที่สาม

บทที่ 2 เรื่องราวเกี่ยวกับพระอนุชาและพระบิดาเลี้ยง

ทำไมพระอนุชาถึงทรงเป็นกบฏไปเข้ากับฝ่ายศัตรู?

1. พระอนุชาเสด็จถึงแนวหน้า แล้วหันไปเข้ากับฝ่ายศัตรู

2. หนทางหลบหนีจากหานตาน

3. พระชนม์ชีพของเฉิงเจียว

4. การเล่นหมากล้อมของกลุ่มอิทธิพลพระตระกูลเครือญาติฝ่ายนอกสามกลุ่ม

5. อิ๋งเจิ้งทรงพึ่งพางานการเมืองจากผู้ใด?

6. ผลสะเทือนจากการสิ้นพระชนม์ของเซี่ยไทเฮา

7. ตี้ไทเฮาผู้ทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่อย่างโดดเดี่ยว

8. การอุทิศตัวเมี่ยนโส่วเล่าไอ่

9. ทำไมเล่าไอ่จึงได้รับบรรดาศักดิ์แต่งตั้งเป็นฉางซินโหว?

พระบิดาเลี้ยงแท้จริงแล้วคิดจะโจมตีใคร?

1. เหตุจลาจลเล่าไอ่

2. ข้อสงสัยใหญ่สี่ข้อ

3. เล่าไอ่คิดโจมตีใครกันแน่?

4. ระลอกกระเพื่อม (อาฟเตอร์ช็อก) จากเหตุจลาจล

5. ความหมายเชิงประวัติศาสตร์ในเรื่องเหมาเจียวกราบทูลเตือนฉินอ๋อง

บทที่ 3 ค้นหาพระปิตุลา (พระเจ้าอา) ของจิ๋นซีฮ่องเต้

ใครเป็นอัครมหาเสนาบดีสืบแทนหลี่ว์ปู้เหวย

1. ชางผิงจวินผู้ลึกลับ

2. เป็นกรณีเรื่องตัวประกันอีกแล้ว

3. พระมารดาและพระบุตรผู้ถูกทอดทิ้ง

4. การสำรวจขุดค้น (เจาะลึก) ทางประวัติศาสตร์

5. ชางผิงจวินเป็นตำแหน่งขุนนางระดับไหน?

ความลับของโล่ทองเหลือง

1. การพบโล่ทองเหลือง

2. ท่านซื้อบัตรโดยสารลงสถานีไหน?

3. ไขปมปริศนาอัครมหาเสนาบดีจ้วง

4. เติมช่องว่างทางประวัติศาสตร์

กบฏของอัครมหาเสนาบดี

1. ขุดค้นประวัติศาสตร์ออกมา

2. ภูเขาxxx อยู่ที่ไหนกันแน่?

3. ล้างไพ่สับไพ่

4. เรียงไพ่สามใบหลัง

5. แผลงศรหนเดียวได้นกสองตัว

6. ประวัติศาสตร์ที่ถูกปิดบังซ่อนเร้น

7. หวางเจี่ยนหวนคืนนำทัพ

8. สาส์นสั่งเสียจากสนามรบสองฉบับ

9. สงครามที่ไม่ได้บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์

10. การสิ้นพระชนม์ของชางผิงจวิน

บทที่ 4 กลุ่มปริศนาในพระราชวังหลังของจิ๋นซีฮ่องเต้

ฉินรัชกาลที่ 2 กับพระมารดาของพระองค์

1. ในโลกนี้มีจิ๋นซีฮองเฮาหรือไม่?

2. เบาะแสเพียงประการเดียว

3. บรรดาพระบุตรพระธิดาผู้เคราะห์ร้าย

4. ขุดค้นหลุมฝังพระศพองค์ชายและองค์หญิง

5. วางแผนปลดพระบุตรองค์โตและแต่งตั้งพระบุตรองค์เล็ก

6. จิ๋นซีฮ่องเต้ทำไมจึงโปรดปรานหูไฮ่?

7. การอ่านนิสัยคนจากกรณีชี้กวางเป็นม้า

8. พระมารดาของหูไฮ่คือใคร?

ฝูซูกับพระมารดาของพระองค์

1. จิ๋นซีฮ่องเต้ทำไมจึงไม่ทรงแต่งตั้งองค์รัชทายาท

2. ความเป็นมาและเป็นไปของกรณีฝังปราชญ์หยู

3. จิ๋นซีฮ่องเต้ทรงเคยฝังปราชญ์หยูอย่างไร?

4. เตือนภัยด้วยใบเหลือง

5. ทรงเรียกฝูซูหวนคืนนครหลวง

6. เล่นหมาก เสี่ยงทุ่มทั้งกระดาน

7. การปลิดพระชนม์ชีพด้วยพระองค์เองที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้

8. การฟื้นคืนพระชนม์ชีพของฝูซู

9. การอนุมานของศาสตราจารย์ฟูจิตะ

10. ใครเป็นฮองเฮา?

บทที่ 5 ฝ่าผ่านม่านหมอกประวัติศาสตร์

เรื่องที่ซือหม่าเชียนเชื่ออย่างผิดๆ

1. ผู้ต้องสงสัยรายใหม่

2. บันทึกประวัติศาสตร์คือโลกที่สามของวิชาประวัติศาสตร์

3. เรื่องเล่าฉบับเต็มว่าด้วยการถวายตัวหญิงมีครรภ์

4. ภาพจำลองสตรีเพศเมื่อเข้าสู่สถานที่จริงทางประวัติศาสตร์

5. ภาพจำลองบุรุษเพศเมื่อเข้าสู่สถานที่จริงทางประวัติศาสตร์

6. เงื่อนไขนำที่ล้มเหลวในเรื่องการถวายตัวหญิงมีครรภ์

7. โปรดจงใช้ค้อนทุบพิสูจน์โบราณวัตถุอันล้ำค่า

8. ใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากของปลอม?

9. เบาะแสปมปริศนาย้ายดอกเสียบต้น

10. กรณีปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรมในยุคสมัยโบราณ

11. อย่าเป็นคนใช้หูกินต่างปาก

ประวัติศาสตร์ที่บันทึกประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกเอาไว้

1. เป็นความผิดของซือหม่าเชียนอีกแล้วหรือ?

2. เปิดเผยบันทึกตอนที่ว่าด้วยรวบรวมชีวประวัติหยางโหว

3. ปริศนาแห่งพระชนม์ชีพเว่ยหย่าน

4. เซวียนไทเฮาผู้เกรี้ยวกราดพิสดาร

5. พบศิลาจารึกโองการแช่งฉู่

6. อธิบายความพันธมิตรร่วมสาบาน 18 รัชกาล สัมพันธภาพฉินฉู่

7. สัมพันธภาพลักษณะมิตรร่วมรบระหว่างรัฐฉินกับรัฐฉู่

8. ประวัติศาสตร์ลับแห่งการเป็นพันธมิตรผ่านการสมรสยาวนานถึง 21 รัชกาล

9. ข้อห้ามในช่วงครึ่งหลังแห่งพระชนม์ชีพของจิ๋นซีฮ่องเต้

10. พระตระกูลเครือญาติฉู่ฝ่ายนอกที่เปรียบเสมือนพงหนามบนแผ่นหลัง

ฉินผนวกดินแดนเป็นเอกภาพในลักษณะลิขิตฟ้าฝ่าประชาราษฎร์

1. ประวัติศาสตร์ทั้งปวงล้วนเป็นการคิดเชิงเหตุผล

2. หวนค้นหาจิ๋นซีฮ่องเต้ใหม่อีกครั้ง

3. ภารกิจทุบสลายและฟื้นฟูขึ้นมาใหม่

4. เจ้าครองรัฐผู้รุ่งโรจน์เกรียงไกรบนเวทีรับรางวัล

5. ลิขิตฟ้ายากหยั่งคะเน เจตนาประชาย่อมหนักหน่วง

บทส่งท้าย: ทำไมผมจึงเขียนประวัติศาสตร์เชิงเหตุผล (แนวสืบสวน)

คำขอบคุณ

เกี่ยวกับผู้เขียน

หลี่ไคหยวน จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และอยู่เป็นอาจารย์ช่วยสอนของนักประวัติศาสตร์ชื่อดังเทียนอวี๋ชิ่ง และจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Shujitsu ประเทศญี่ปุ่น ควบตำแหน่งนักวิจัยของศูนย์วิจัยประวัติศาสตร์โบราณแห่งชาติจีน มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มีผลงานประพันธ์ ได้แก่ "กองทัพหลิวปังกับการสถาปนาราชวงศ์ฮั่น" "การล่มสลายของจักรวรรดิจีน" และ "ความลับของจิ๋นซีฮ่องเต้"

เกี่ยวกับผู้แปล

สุนทร ลีวงศ์เจริญ เป็นคนจังหวัดสงขลาโดยกำเนิด เติบโตและเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนประชาบาลประจำหมู่บ้านชาวสวนยาง โดยเรียนภาษาจีนจากครูจีนในหมู่บ้านภายใต้การกำกับแนะนำของก๋ง (ปู่) ควบคู่กันไปด้วย ก่อนที่จะย้ายตามไปอยู่กับบิดาผู้ทำสวนยางอยู่ที่จังหวัดระยอง และเริ่มเรียนภาษาอังกฤษในชั้นประถมศึกษาตอนปลายต่อเนื่องมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง จบมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แผนกวิทยาศาสตร์ แล้วศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบปริญญาตรีสาขาวิชาการปกครองและปริญญาโทหลักสูตรภาคค่ำสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูต ระหว่างศึกษาได้ทำกิจกรรมวิชาการขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการจัดนิทรรศการ "โฉมหน้าจีนใหม่" ในช่วงปีที่รัฐบาลไทยประกาศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปี 2518 เริ่มรับราชการที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ก่อนที่จะสอบเข้ารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยผ่านงานเลขานุการทูตที่กองการเจ้าหน้าที่และฝึกอบรม กรมการเมือง กรมพิธีการทูต กองนโยบายและวางแผน สลับกับการไปประจำการต่างประเทศที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในบังกลาเทศ อังกฤษ ศรีลังกา และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย (ไทเป) รวมเวลา 28 ปี แล้วลาออกมาทำงานส่วนตัวและงานแปลหนังสือจากภาษาจีนเป็นภาษาไทย มุ่งเน้นด้านประวัติศาสตร์ ปรัชญา ความคิด วรรณกรรมและอารยธรรมจีน ด้วยทัศนะส่วนตัวที่ว่าอารยธรรมตะวันออกกำลังก่อกระแสเอื้อความผสานรวมเพื่อพัฒนาการที่ยั่งยืนระหว่างธรรมชาติกับนวัตกรรมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของโลกในยุคศตวรรษที่ 21

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page