top of page

ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills: Rethinking How Students Learn)


ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21

แปลจาก 21st Century Skills: Rethinking How Students Learn (2010)

บรรณาธิการโดย James Bellanca และ Ron Brandt แปลโดยวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง และอธิป จิตตฤกษ์ สำนักพิมพ์โอเพ่นเวิลด์ส พิมพ์ครั้งที่สอง ตุลาคม 2554 (พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม 2556) จำนวน 496 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9786169070771

คำนิยม ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม และรองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล

ในฐานะที่เป็นผู้คลั่งไคล้หนังสือ 21st Century Skills: Rethinking How Students Learn และเป็นผู้เผยแพร่ให้นักการศึกษาไทยและผู้ห่วงใยคุณภาพการศึกษาไทยอ่านหนังสือเล่มนี้ รวมทั้งแนะนำแก่นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ สองมูลนิธิคู่แฝดที่อยู่ในตึกเดียวกันและทำงานเพื่อสังคมในลักษณะสร้างสรรค์การพัฒนาวิชาการเช่นเดียวกัน โดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติเน้นด้านการพัฒนาสุขภาพและมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์เน้นด้านพัฒนาการศึกษาหรือการเรียนรู้ ผมได้เสนอคุณหมอทั้งสองว่าน่าจะหาทางแปลหนังสือเล่มนี้ออกเผยแพร่สู่สังคมไทย ผมจึงมีความยินดีเป็นพิเศษที่มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์และสำนักพิมพ์ openworlds ดำเนินการแปลและเผยแพร่หนังสือเล่มนี้ ยิ่งได้อ่านต้นฉบับแปลโดยคุณวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ผู้แปลหลัก และคุณอธิป จิตตฤกษ์ ก็พบว่าแปลได้อย่างมีฝีมือ ทำให้อ่านเข้าใจง่ายและลื่นไหล ผมยิ่งชื่นใจที่ผู้คนในสังคมไทยจะได้มีหนังสือดีซึ่งสื่อสาระสำคัญยิ่งของการศึกษายุคใหม่ที่แตกต่างไปจากแนวคิดเดิมๆ โดยสิ้นเชิง นักการศึกษา ครู พ่อแม่ผู้ปกครอง นักเรียน และผู้สนใจคุณภาพของการศึกษาทุกคนควรได้อ่านหนังสือเล่มนี้เพื่อจะได้ช่วยกันขับเคลื่อนการศึกษาไทยออกไปจากความเชื่อหรือวิธีคิดเก่าๆ ให้การเรียนรู้ในสังคมไทยบรรลุการเรียนรู้ทักษะสำหรับมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ให้จงได้

หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้ (ภาคภาษาอังกฤษ) ผมเกิดแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าที่จะเขียนข้อตีความหรือข้อสรุปของผมออกเผยแพร่ในบล็อก gotoknow.org โดยใส่คำหลักว่า 21st Century Skills ดังนั้นหากท่านผู้สนใจเข้าไปค้นที่ http://gotoknow.org/blog/thaikm/tag/21centuryskills ท่านจะได้อ่านบันทึกความเข้าใจและความรู้สึกของผมเกี่ยวกับสาระสำคัญของการเรียนรู้เพื่อเตรียมเยาวชนออกไปดำรงชีวิตในโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งแตกต่างไปจากศตวรรษที่ 20 และ 19 โดยสิ้นเชิง ทั้งที่เป็นบันทึกจากการอ่านหนังสือเล่มนี้และจากแรงบันดาลใจที่ได้จากกิจกรรมอื่นๆ แต่บันทึกในบล็อกเหล่านั้นเขียนอย่างย่นย่อ เน้นจุดประทับใจ เป็นแบบตีความ ไม่เน้นความครบถ้วน และไม่เป็นระบบอย่างหนังสือเล่มนี้ การอ่านบันทึกในบล็อกเหล่านั้นจึงไม่อาจทดแทนการอ่านหนังสือเล่มนี้ทั้งเล่มหรือทีละบท แต่อาจช่วยให้อ่านหนังสือสนุกขึ้น ที่จริงผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้ในภาคภาษาอังกฤษมาแล้ว 2 เที่ยว และได้อ่านหนังสือทำนองเดียวกันเล่มอื่น รวมทั้งอ่านจากเว็บไซต์และดูวิดีโอจาก YouTube แต่เมื่อได้อ่านฉบับแปลเป็นภาษาไทย ผมยังรู้สึกสนุกตื่นเต้นและได้สาระเพิ่มขึ้นอีก

หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยบทนำรับเชิญ บทนำของบรรณาธิการ และบทความอีก 14 บท แต่ละบทเขียนโดยนักการศึกษาผู้คว่ำหวอดและเป็นที่นับถือทั่วโลกทั้งสิ้น อาทิ เฮาเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Earl Gardner: 1943-) เจ้าของทฤษฎี Multiple Intelligences เขียนเรื่อง Five Minds for the Future (2005) ริชาร์ด ดูโฟร์ (Richard DuFour: 1947-2017) และรีเบกกา ดูโฟร์ (Rebecca DuFour) ผู้ริเริ่มและพัฒนาศาสตร์และศิลป์ว่าด้วย Professional Learning Communities (PLC) เขียนเรื่อง The Role of Professional Learning Communities in Advancing 21st Century Skills (2010) ลินดา ดาร์ลิง-แฮมมอนด์ (Linda Darling-Hammond: 1951-) ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดซึ่งเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาครูให้สัมภาษณ์เจมส์ เบลลันกา (James Bellanca) ในบทที่ 2 เรื่อง New Policies for 21st Century Demands (2010) เป็นต้น

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วท่านจะยิ่งตระหนักว่าระบบการศึกษาไทยจะต้องพัฒนาไปมากกว่าที่ระบุในแผนปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติทศวรรษที่ 2 อย่างมากมาย เป็นเรื่องที่คนไทยทั้งชาติจะต้องช่วยกันผลักดันให้มีการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ หากเราไม่ทำหรือทำไม่สำเร็จ คนไทยยุคต่อไปจะเป็นคนที่ล้าหลังคนในประเทศอื่นๆ อย่างน่าตกใจ ผมจึงขอขอบคุณสำนักพิมพ์ openworlds และคณะผู้แปล รวมทั้งมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ที่ร่วมกันแปลและจัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือดีเล่มนี้ให้แก่สังคมไทย และขอบคุณที่ให้เกียรติผมเขียนคำนิยมนี้

คำนำ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ก่อตั้งขึ้นในปี 2537 ตามเจตนารมณ์ของพลตรี นายแพทย์สฤษดิ์วงศ์ วงศ์ถ้วยทอง และคุณหญิงสดศรี วงศ์ถ้วยทอง ที่จะสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และนวัตกรรมทางการศึกษา ในตอนแรกมูลนิธิฯ ได้ผลิตวารสารสานปฏิรูปให้แก่วงการศึกษาไทย ในเวลาต่อมาจึงได้ศึกษาและทำงานขับเคลื่อนประเด็นสุขภาวะทางจิตวิญญาณซึ่งรวมความถึงจิตวิญญาณความเป็นครูด้วย

ปี 2554 การศึกษาไทยอยู่ในภาวะวิกฤตด้านคุณภาพ ดังจะเห็นได้จากตัวชี้วัดด้านการศึกษาและการสอบหลายครั้ง ที่สำคัญกว่าตัวชี้วัดคือนักเรียนนักศึกษาซึ่งเป็นผลผลิตของการศึกษาไม่มีศักยภาพที่จะเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของโลกและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มูลนิธิฯ เชื่อว่าการปฏิรูปการศึกษาที่แท้ควรปฏิรูปกระบวนทัศน์ด้วย จากกระบวนทัศน์เดิมที่ครูเป็นผู้มอบความรู้แก่นักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ เปลี่ยนเป็นช่วยกันออกแบบกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูกับเด็กและเยาวชนทุกคนในสังคม นั่นคือกระบวนการเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้และครูมิใช่ผู้มอบความรู้ แต่เป็นผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้โดยเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันกับเด็กและเยาวชน

เป้าหมายของการเรียนรู้จะมิใช่ตัวความรู้อีกต่อไป เพราะตัวความรู้นั้นมีมากมายมหาศาลเกินกว่าที่จะมอบให้นักเรียนแต่ละชั้นปีได้ อีกทั้งนักเรียนในศตวรรษใหม่มีหนทางค้นหาความรู้ด้วยตนเองจากทุกหนแห่งทั้งในสิ่งแวดล้อมและในอินเทอร์เน็ต หากการศึกษาไทยยังย่ำอยู่กับกระบวนทัศน์เดิมคือมอบความรู้เป็นรายวิชาก็จะไม่ทันสถานการณ์โลก ที่ควรทำคือมีกระบวนทัศน์ใหม้ที่จะพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต เด็กและเยาวชนจะเรียนรู้อะไรบ้างขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละคน แต่ที่ทุกคนควรมีคือความสามารถในการเรียนรู้ตลอดเวลา ตลอดชีวิต และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

มูลนิธิฯ ได้ขับเคลื่อนประเด็นจิตวิญญาณความเป็นครูด้วยการจัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูที่มีความสามารถในการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มาแล้ว มูลนิธิฯ มีความตั้งใจขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นการปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยการจัดการความรู้ระหว่างครูที่มีประสบการณ์ตรงในการจัดการเรียนการสอนแบบ Problem-based Learning (PBL) แล้วสร้างชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ที่เรียกว่า Professional Learning Community (PLC) ทั้งนี้เพื่อให้ชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ในท้องถิ่นต่างๆ สามารถพัฒนาตนเองและการศึกษาของชาติอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างความเข้าใจเรื่องการปฏิรูปการศึกษาด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ดังที่บรรยายมา มูลนิธิฯ ขอขอบคุณมูลนิธิสยามกัมมาจลซึ่งเป็นภาคีความร่วมมือในการปฏิรูปการศึกษาด้วยกระบวนทัศน์ใหม่นี้ ขอขอบคุณศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช และนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ที่ได้ให้หลักคิดและปรัชญาการศึกษาอันมีค่ายิ่งแก่มูลนิธิฯ รวมทั้งขอบคุณสำนักพิมพ์ openworlds ที่ช่วยเหลือด้านการแปลและจัดพิมพ์หนังสือที่มีคุณค่าเล่มนี้อย่างมีคุณภาพเป็นที่เรียบร้อย

[con·tin·ue]

คำนำ โดย ดร.รอน แบรนต์ (Ron Brandt, Ed.D.)

บทนำ โดยเจมส์ เบลลันกา (James Bellanca, M.A.) และ ดร.รอน แบรนต์ (Ron Brandt, Ed.D.)

บทเกริ่นนำ: ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 สำคัญอย่างไร คืออะไร และจะทำสำเร็จได้อย่างไร (21st Century Skills: Why They Matter, What They Are, and How We Get There) โดย ดร.เคน เคย์ (Ken Kay, J.D.) ประธานภาคีเพื่อทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เขาใช้เวลา 25 ปีที่ผ่านมาสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนด้านการศึกษา ธุรกิจ และนโยบายเพื่อปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐอเมริกา เขาเป็นประธานภาคีเพื่อทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (Partnership for 21st Century Skills) ซึ่งเป็นองค์กรระดับแนวหน้าของประเทศที่ผลักดันให้บรรจุทักษะแห่งอนาคตเข้าไปในระบบการศึกษา รวมถึงเตรียมความพร้อมให้เด็กทุกคนประสบความสำเร็จภายใต้ระบบเศรษฐกิจโลกใหม่ เขายังเป็นผู้บริหารสูงสุดและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านการศึกษาชื่อ e-Luminate Group

ตลอดชีวิตการทำงาน เคย์คือเสียงสนับสนุนหลักและเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มทำงานที่จับประเด็นเรื่องความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะนโยบายและแนวปฏิบัติที่สนับสนุนนวัตกรรมและความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี ในฐานะกรรมการบริหารของเวทีผู้บริหารด้านการศึกษาและเทคโนโลยี (CEO Forum on Education and Technology) เขาเป็นผู้นำในการพัฒนาแผนผังแนวทางการใช้เทคโนโลยีและการเตรียมความพร้อมในโรงเรียน (School Technology and Readiness Guide หรือ StaR Chart) ที่โรงเรียนทั่วประเทศนำไปปฏิบัติเพื่อปรับปรุงการใช้เทคโนโลยีในชั้นเรียนระดับ K-12 (ระดับอนุบาลจนถึงเกรด 12) นอกจากนี้ในฐานะนักกฎหมายและผู้สร้างกลุ่มทำงานระดับชาติ เขายังช่วยสนับสนุนโครงการที่เสนอโดยมหาวิทยาลัยและผู้นำด้านเทคโนโลยีในการพัฒนางานวิจัยและนโยบายให้เกิดความก้าวหน้า รวมทั้งโครงการที่เสนอโดยผู้บริหารสูงสุดในภาคอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนานโยบายด้านการค้าและเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา

บทที่ 1 จิตห้าลักษณะสำหรับอนาคต (Five Minds for the Future) โดย ดร.เฮาเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Earl Gardner, Ph.D.)

บทที่ 2 นโยบายใหม่ที่สนองความต้องการในศตวรรษที่ 21 (New Policies for 21st Century Demands) โดย ดร.ลินดา ดาร์ลิง-แฮมมอนด์ (Linda Darling-Hammond, Ph.D.) สัมภาษณ์โดยเจมส์ เบลลันกา (James A. Bellanca)

บทที่ 3 การเปรียบเทียบกรอบความคิดสำหรับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (Comparing Frameworks for 21st Century Skills) โดย ดร.คริส ดีดี้ (Chris Dede, Ed.D.)

บทที่ 4 บทบาทของชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพต่อความก้าวหน้าของทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (The Role of Professional Learning Communities in Advancing 21st Century Skills) โดยริชาร์ด ดูโฟร์ (Richard DuFour) และรีเบกกา ดูโฟร์ (Rebecca DuFour)

บทที่ 5 วิสัยทัศน์ของสิงคโปร์: สอนให้น้อยลง เรียนรู้ให้มากขึ้น (The Singapore Vision: Teach Less, Learn More) โดยโรบิน โฟการ์ตี (Robin Fogarty) และไบรอัน พีท (Brian M. Pete)

บทที่ 6 การออกแบบสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้แบบใหม่เพื่อสนับสนุนทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (Designing New Learning Environments to Support 21st Century Skills) โดยบ็อบ เพิร์ลแมน (Bob Pearlman)

บทที่ 7 กรอบความคิดในการนำไปปฏิบัติเพื่อสนับสนุนทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (An Implementation Framework to Support 21st Century Skills) โดยเจย์ แมคไท (Jay McTighe) และเอลเลียตต์ ซีฟ (Elliott Seif)

บทที่ 8 การเรียนรู้จากปัญหา: รากฐานสำหรับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (Problem-based Learning: The Foundation for 21st Century Skills) โดยจอห์น แบเรลล์ (John Barell)

บทที่ 9 การเรียนรู้แบบร่วมมือและการแก้ไขความขัดแย้ง: ทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 (Cooperative Learning and Conflict Resolution: Essential 21st Century Skills) โดยเดวิด จอห์นสัน (David W. Johnson) และโรเจอร์ จอห์นสัน (Roger T. Johnson)

บทที่ 10 การเตรียมนักเรียนให้เชี่ยวชาญทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (Preparing Students for Mastery of 21st Century Skills) โดยดักลาส ฟิชเชอร์ (Douglas Fisher) และแนนซี เฟรย์ (Nancy Frey)

บทที่ 11 นวัตกรรมจากเทคโนโลยี (Innovation Through Technology) โดยเชอริล เลมเก (Cheryl Lemke)

บทที่ 12 เทคโนโลยีล้ำหน้า ข้อมูลล้าหลัง (Technology Rich, Information Poor) โดยอลัน โนเวมเบอร์ (Alan November)

บทที่ 13 ท่องไปในเครือข่ายสังคมในฐานะเครื่องมือการเรียนรู้ (Navigating Social Networks as Learning Tools) โดยวิลล์ ริชาร์ดสัน (Will Richardson)

บทที่ 14 กรอบการประเมินทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (A Framework for Assessing 21st Century Skills) โดยดักลาส รีฟส์ (Douglas Reeves)

บทส่งท้าย: ภาวะผู้นำ การเปลี่ยนแปลง และอนาคตของวาระทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (Leadership, Change, and Beyond the 21st Century Skills Agenda) โดยแอนดี ฮาร์กรีฟส์ (Andy Hargreaves)

เกี่ยวกับบรรณาธิการ

เจมส์ เบลลันกา (James A. Bellanca: 1937-) เป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดของสถาบันคิดใหม่การเรียนรู้นานาชาติ (International Renewal Institute) และรักษาการผู้อำนวยการกลุ่มความร่วมมือในรัฐอิลลินอยส์เพื่อทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (Illinois Consortium for 21st Century Skills) เขายังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Skylight Professional Development ในปี 1982 ในฐานะประธาน เขาได้ฝึกสอนที่ปรึกษานักเขียนกว่า 20 คน ในช่วงที่บุกเบิกการใช้วิธีสอนเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาทางวิชาชีพแบบครบถ้วนให้ Skylight เขาร่วมเขียนหนังสือมากกว่า 20 เล่ม ซึ่งสนับสนุนการประยุกต์ใช้วิธีคิดและความร่วมมือข้ามหลักสูตร ภายใต้แนวคิดสำคัญที่ว่า "ไม่ใช่เพียงเพื่อการสอบ แต่เพื่อการเรียนรู้ทั้งชีวิต (Not just for the test, but for a lifetime of learning.)" ปัจจุบันเขาพยายามต่อยอดทฤษฎีของโรเวิน ฟอยเออร์สไตน์ (Reuven Feuerstein: 1921-2014) นักจิตวิทยาด้านการรับรู้เพื่อพัฒนาวิธีการสอนที่ตอบสนองความต้องการเรียนรู้ของเด็กที่เรียนช้าอย่างได้ผล เขามีผลงานได้รับการตีพิมพ์มากมายในฐานะผู้สนับสนุนการสอนที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีในการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อาทิ Designing Professional Development for Change: A Guide for Improving Classroom Instruction, Enriched Learning Projects: A Practical Pathway to 21st Century Skills, Collaboration and Cooperation in 21st Century Schools, 200+ Active Learning Strategies and Projects for Engaging Students' Multiple Intelligences และ A Guide to Graphic Organizers: Helping Students Organize and Process Content for Deeper Learning

ดร.รอน แบรนต์ (Ron Brandt) เป็นบรรณาธิการสิ่งพิมพ์ให้แก่สมาคมกำกับดูแลและพัฒนาหลักสูตร (Association for Supervision and Curriculum Development หรือ ASCD) เมืองอเล็กซานเดรีย รัฐเวอร์จิเนีย (Alexandria, Virginia) เป็นเวลาเกือบ 20 ปีก่อนเกษียณในปี 1997 ในระหว่างทำงานที่ ASCD เขาเป็นที่รู้จักในฐานะบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Educational Leadership ในช่วงทศวรรษ 1980 เขาส่งเสริมการสอนให้รู้จักคิดในระดับประถมและมัธยมศึกษา โดยร่วมกับโรเบิร์ต มาร์ซาโน (Robert J. Marzano: 1946-) และทีมนักการศึกษา ทำหนังสือ Dimensions of Thinking: A Framework for Curriculum and Instruction (1988) และตำราฝึกอบรมครู Dimensions of Learning นอกจากนี้แบรนต์ยังเป็นผู้เขียนหรือบรรณาธิการหนังสือจำนวนมาก ก่อนร่วมงานกับ ASCD เขาเคยเป็นครูและครูใหญ่ที่เมืองราซีน รัฐวิสคอนซิน (Racine, Wisconsin) เป็นผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาบุคลากรที่เมืองมินนีแอโพลิส รัฐมินนิโซตา (Minneapolis, Minnesota) และเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตการศึกษาที่เมืองลิงคอล์น รัฐเนแบรสกา (Lincoln, Nebraska)

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page