top of page

กาย่า โลกที่มีชีวิต: วิทยาศาสตร์และการหยั่งรู้ (Animate Earth: Science, Intuition, and Earth)


กาย่า โลกที่มีชีวิต: วิทยาศาสตร์และการหยั่งรู้

แปลจาก Animate Earth: Science, Intuition, and Earth (2006)

เขียนโดย Stephan Harding แปลโดยเขมลักขณ์ ดีประวัติ บรรณาธิการโดยพจนา จันทรสันติ สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา พิมพ์ครั้งแรก 2556 จำนวน 392 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9786167368306

สเตฟาน ฮาร์ดิ้ง เปลี่ยนภาษาทางวิทยาศาสตร์ที่เย็นชาให้กลายเป็นภาษาที่มีชีวิต เพื่อบอกเล่าถึงดาวเคราะห์ดวงนี้ว่ามีความรู้สึกนึกคิด ไม่ใช่ระบบกลไกที่แห้งแล้ง เฉื่อยชา เช่นการเล่าถึงปฏิกิริยาทางเคมีต่างๆ โดยเปรียบเทียบกับชีวิตมนุษย์ เพื่อให้เกิดมีบุคลิกภาพขึ้นในโลกของหิน อากาศ น้ำ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ จากแง่มุมดังกล่าว หนังสือเล่มนี้จึงเป็นความพยายามร่วมสมัยที่จะค้นหาจิตวิญญาณแห่งผืนโลก (anima mundi) อีกครั้งหนึ่งผ่านศาสตร์แห่งกาย่า โดยผู้อ่านไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็สามารถเข้าใจเนื้อหาสาระได้อย่างดี

เพื่อช่วยให้ระบบนิเวศดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน เราต้องช่วยกันบ่มเพาะโลกทัศน์ใหม่ ต้องเลิกวัดคุณค่าของสิ่งต่างๆ รอบตัว จากการพิจารณาว่าเราได้อะไรจากสิ่งนั้นบ้าง แต่ต้องตระหนักว่าทุกชีวิตล้วนมีคุณค่าในตัวของมันเอง ไม่ว่าจะมีประโยชน์กับเราหรือไม่ก็ตาม ข้อโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ที่เราได้พิจารณามาทั้งหมดก็อาจช่วยได้มาก แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอ เราต้องเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องฟื้นฟูมุมมองอันเก่าแก่ที่ว่ากาย่าคือชีวิตที่เป็นองค์รวมของสรรพสิ่ง เธอประกอบขึ้นจากชีวิตทุกๆ รูปแบบ อากาศ ก้อนหิน มหาสมุทร แม่น้ำ และทะเลสาบ หากเราต้องการจะหยุดการสูญพันธุ์ครั้งสุดท้ายที่อาจเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดลง

จากสำนักพิมพ์

ในบรรดาหนังสือที่ว่าด้วยความรู้และข้อค้นพบใหม่ หรือหากให้เฉพาะเจาะจงคือกระบวนทัศน์ใหม่ทางวิทยาศาสตร์ที่ได้ผ่านการพิมพ์เผยแพร่ในบ้านเรา ต้องนับว่างานเขียนเล่มนี้ของสเตฟาน ฮาร์ดิ้ง มีความพิเศษ แม้หนังสือแนวกระบวนทัศน์ใหม่ที่มาจากสาขาความรู้ทางฟิสิกส์ควอนตัมจะมีให้พบเห็นอยู่บ้าง แต่ก็ยังสามารถพูดได้ว่า "กาย่า โลกที่มีชีวิต" เล่มนี้ได้ช่วยเสริมความรู้ความเข้าใจเราในเรื่องกระบวนทัศน์ใหม่จากแง่มุมของชีววิทยา เคมีวิทยา และเป็นไปในทางธรรมชาติวิทยาและนิเวศวิทยา ทั้งยังช่วยเสริมความเข้าใจในเรื่องวิทยาศาสตร์องค์รวมให้หนักแน่นมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้เขียนยังสามารถถ่ายทอดประเด็นความซับซ้อนของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติให้ผู้อ่านทั่วไปสามารถเข้าใจได้อย่างเพลิดเพลิน ชวนอ่าน แม้ผู้ที่ไม่มีพื้นทางวิทยาศาสตร์ก็สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก จึงเหมาะสำหรับบุคคลทั่วไป นักเรียน นักศึกษา ตั้งแต่ระดับโรงเรียนจนถึงมหาวิทยาลัยที่จะนำไปใช้ประกอบวิชาเรียนได้ โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์ สังคม และสิ่งแวดล้อม

สเตฟาน ฮาร์ดิ้ง เป็นนักนิเวศวิทยาแนวลึก (deep ecologist) ที่มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้และแรงบันดาลใจในเรื่องธรรมชาติวิทยา และยังสามารถชี้ชวนให้ผู้คนออกไปสำรวจธรรมชาติ ป่าเขา ลำธาร หรือท้องทะเลได้ดียิ่งกว่าการเรียนรู้ธรรมชาติอยู่ในห้องเรียน ฮาร์ดิ้งมีประสบการณ์อันรุ่มรวยกับการศึกษาธรรมชาติตามแบบนิเวศวิทยาแนวลึก ในพื้นที่ป่าหลากหลายประเภทในหลายภูมิภาคของโลก และได้นำมาประกอบอยู่ในหนังสือแทบทุกบทเพื่อให้คนอ่านมีมโนภาพประกอบ ที่สำคัญคือสามารถนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติได้ เพราะการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและนิเวศที่เสื่อมสลายควรเริ่มจากความรู้ ความตระหนัก และในที่สุดจะนำมาซึ่งความรักความห่วงใย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการได้สัมผัสธรรมชาติ ยิ่งสัมผัสแห่งธรรมชาติลึกซึ้งก็ยิ่งเพิ่มพูนความรักที่มีต่อโลกให้ลึกซึ้งตามไปด้วย ประสบการณ์ตรงจากการสัมผัสธรรมชาติที่สเตฟานกล่าวถึง อาทิ การสัมผัสถึงรายละเอียด การมองอย่างใส่ใจ การหยั่งเห็นจากการมอง (exact sensing, active looking, seeing in beholding) คือกระบวนการเรียนรู้เพื่อเชื่อมโยงมนุษย์กับธรรมชาติ และตระหนักว่าธรรมชาติคือชีวิต ไม่แต่ทางกายภาพเท่านั้น หากรวมถึงชีวิตในทางจิตสำนึกและการตระหนักรู้ เฉกเช่นผู้คนพื้นถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั่วทุกหนแห่งเชื่อและเคารพจิตวิญญาณที่มีอยู่ในธรรมชาติที่สิงสถิตอยู่ในต้นไม้ รุกขชาติ รุกขเทวา บูชาเคารพต้นไม้ เคารพยำเกรงวิญญาณที่สถิตอยู่ในป่าเขาและท้องทะเล

การค้นพบและค้นหาจิตวิญญาณธรรมชาติของมนุษย์ครั้งใหม่นี้อาจเป็นทางรอดจากวิกฤตสิ่งแวดล้อมและนิเวศที่กำลังเสื่อมสลาย ผู้ที่มุ่งหาคำตอบจากเทคโนโลยีก็ยังคงมุ่งที่จะค้นหาคำตอบจากโลกภายนอกตัว และไม่ให้ความสำคัญกับการค้นหาโลกภายใน โลกแห่งจิตวิญญาณ ชะตากรรมของโลกจะอยู่รอดอย่างไรคงจะเป็นความท้าทายของโลกในสหัสวรรษนี้ ไม่ว่าฐานความเข้าใจว่าโลกเป็นเพียงวัตถุ มนุษย์ผู้อาศัยอยู่บนโลกก็คงตระหนักและเห็นถึงข้อจำกัดของการนำทรัพยากรจากโลกมาใช้ หรือผู้ที่เชื่อว่าโลกนั้นมีชีวิตทั้งทางกายภาพและจิตวิญญาณ มนุษย์ผู้อาศัยอยู่ในโลกก็จะอาทรร้อนใจที่จะรักษาเยียวยา โดยเริ่มตั้งแต่รูปแบบชีวิต การดำเนินธุรกิจบริการ และการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่

สำนักพิมพ์สวนเงินมีมาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทสวนเงินมีมาเชื่อว่าความรักที่มีต่อโลกของเราจะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกและธรรมชาติได้ ดังหัวเรื่องที่ใช้ในการจัดงานกรีนแฟร์ (งานแสดงผลิตภัณฑ์อินทรีย์และผลผลิตตลาดสีเขียวชุมชน) ครั้งที่ 5 เมื่อต้นปีนี้ว่า "ความรักเปลี่ยนแปลงโลกได้" โดยบริษัทสวนเงินมีมาได้ริเริ่มการจัดงานกรีนแฟร์ขึ้นตั้งแต่ปี 2550 ในโอกาสที่มีการประชุมนานาชาติเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติครั้งที่ 3 ขึ้นในประเทศไทย โดยร่วมกับองค์กรต่างๆ ทั้งจากภาคสังคม ภาครัฐและภาคธุรกิจ เพื่อเผยแพร่แนวคิดเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติในสังคมไทยมาตั้งแต่ปี 2547 ด้วยโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความไม่ยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่เร่งการเติบโตของจีดีพีบนฐานทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังจะหมดไป ทั้งพลังงานฟอสซิลที่กำลังจะหมดลง ปัญหาแหล่งน้ำและน้ำสะอาดที่จะไม่พอเพียงต่อประชากรทั้งโลก อุณหภูมิที่สูงขึ้น และภูมิอากาศที่แปรปรวนมากขึ้นเรื่อยๆ

หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่กำลังมองหาวิธีการและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (learning to transform) ซึ่งเป็นหัวใจของการศึกษาเรียนรู้ที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อการกอบกู้วิกฤตธรรมชาติ และเป็นการศึกษาในความหมายกว้าง ที่มิได้จำกัดอยู่แต่การเรียนรู้ในห้องเรียน หากนำพาเราไปสู่โลกธรรมชาติ และใส่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับโลกในฐานะที่เป็นบ้านของเรา หากความเป็นปัญญาชนสาธารณะในต้นศตวรรษนี้คือผู้เดือดเนื้อร้อนใจต่อความไม่เป็นธรรมทางสังคม ขณะนี้วิกฤตธรรมชาติกำลังต้องการ ไม่แต่ปัญญาชนสาธารณะที่สามารถชี้แนะให้สังคมเข้าใจวิกฤตทางนิเวศเท่านั้น หากยังต้องการนักนิเวศศึกษาที่เราทุกคนสามารถเริ่มต้นจากหนังสือเล่มนี้ได้ และในแง่นี้ต้องนับว่าสเตฟานเป็นปัญญาชนสาธารณะทางนิเวศที่วิถีปฏิบัติจากหนังสือเล่มนี้ของเขาสามารถสร้างแรงบันดาลใจและสั่นสะเทือนความเป็นไปของสังคมสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ

คำนิยม

"ในหนังสือที่โดดเด่นเล่มนี้ สเตฟาน ฮาร์ดิ้ง ผู้ที่เคยทำงานใกล้ชิดกับเจมส์ เลิฟล็อค (James Ephraim Lovelock) เล่าเรื่องราวของกาย่าในรูปแบบที่มีความซับซ้อนทางวิทยาศาสตร์ แต่เข้าใจได้ง่ายและน่าติดตาม ฮาร์ดิ้งเล่าเรื่องของกาย่าด้วยความรักที่ยิ่งใหญ่เเละอภิปรายอย่างมีวาทศิลป์เกี่ยวกับเเง่มุมในด้านปรัชญา สังคม เเละการเมืองที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีนี้ ผมขอเเนะนำหนังสือ 'กาย่า โลกที่มีชีวิต' ให้กับทุกคนที่ใส่ใจกับชะตากรรมของดาวเคราะห์ดวงนี้" - ดร.ฟริตจ็อฟ คาปร้า (Fritjof Capra: 1939-) ผู้เขียน จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ (The Turning Point, 1982) ข่ายใยชีวิต (The Web of Life, 1996) และโยงใยที่ซ่อนเร้น (The Hidden Connection, 2002)

"สิ่งที่ฮาร์ดิ้งให้เราไว้ในหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แค่เพียงความเข้าใจว่าเรามีส่วนร่วมในวิวัฒนาการของโลกที่มีชีวิตอย่างไร แต่รวมถึงความตระหนักรู้อย่างแจ่มชัดว่าเราจะสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายอย่างลึกซึ้งและสร้างสรรค์กับโลก โดยเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างเต็มที่ได้อย่างไร หนังสือเล่มนี้คือของขวัญอันสุดพิเศษซึ่งยากยิ่งที่จะหาได้จากที่อื่น" - ดร.ไบรอัน กู๊ดวิน (Brian Carey Goodwin: 1931-2009) ศาสตราจารย์สาขาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเปิด (Open University)

"กาย่า โลกที่มีชีวิต นำเสนอวิทยาศาสตร์แห่งระบบได้อย่างดีที่สุด ผมขอท้าเลยว่าคุณจะต้องเคลิบเคลิ้มไปกับวิธีการที่สเตฟาน ฮาร์ดิ้ง เล่าเรื่องราวของระบบต่างๆ ตามธรรมชาติของโลกเรา โดยเฉพาะวงจรคาร์บอน ว่ามันวิวัฒนาการมาอย่างไร และมนุษย์เรามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร และในกระบวนการนั้น เขาก็ทำให้คำว่า 'กาย่า' มีชีวิตขึ้นมา ไม่ใช่ในแง่ของวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ในแง่ของปรัชญาและต่อเราโดยตรงด้วย และยังทำให้คำว่า 'เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม' เกิดความหมายในมิติใหม่ขึ้นมาอีกด้วย" - โจนาธาน พอร์ริท (Jonathon Espie Porritt: 1950-) ประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งอังกฤษ (UK Sustainable Development Commission)

"ในเรื่องความเข้าใจระดับลึกเกี่ยวกับการทำงานของโลกเรา และบทบาทของมนุษย์ที่มีต่อกระบวนการนั้น 'กาย่า โลกที่มีชีวิต' ของสเตฟาน ฮาร์ดิ้ง เป็นผลงานวิจัยร่วมสมัยที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือที่ควรอ่าน คิดพิจารณา และนำมาปรับใช้เป็นแนวทางว่ามนุษย์ควรปฏิบัติอย่างไรต่อไปเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะแห่งความล่มสลายทางนิเวศของสิ่งมีชีวิตบนโลก" - ดร.โธมัส เบอร์รี่ (Thomas Berry: 1914-2009) ผู้เขียน The Great Work: Our Way Into the Future (1999) และ The Dream of the Earth (1988)

"กาย่า โลกที่มีชีวิต คือการสังเคราะห์อย่างยอดเยี่ยมระหว่างศาสตร์แห่งกาย่าและทฤษฎีสังคมแบบมองการณ์ไกล นี่คือการคิดแบบมองภาพรวมทั้งหมดซึ่งจะสามารถช่วยรักษาเยียวยาโลกของเราได้" - ดร.เฮเลน่า นอร์เบิร์ก-ฮอดจ์ (Helena Norberg-Hodge: 1946-) ผู้อำนวยการสมาคมนิเวศวิทยาและวัฒนธรรมนานาชาติ (International Society of Ecology and Culture: ISEC)

"สเตฟาน ฮาร์ดิ้ง คือหนึ่งในไม่กี่คนที่รู้ว่าจะเชื่อมโยงศาสตร์แห่งกาย่าเข้ากับจิตวิญญาณของกาย่าอย่างไร เขาทำให้เราเห็นว่าเราต้องเข้าใจกาย่า ไม่ใช่แค่เป็นแนวคิดหนึ่งในสมองเท่านั้น แต่ต้องสัมผัสถึงการที่ตัวเราเป็นส่วนหนึ่งในตัวตนที่มีชีวิตของเธอ ผู้เขียนกล้าที่จะเสนอว่าการจะทำเช่นนี้ได้เราต้องเชื่อมโยงความเข้าใจจากวิทยาศาสตร์ระบบสุริยะเข้ากับมุมมองแบบจิตวิญญาณธรรมชาติ เขาได้ให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พร้อมด้วยเรื่องเล่าและแบบฝึกหัดสำหรับฝึกการสร้างประสบการณ์เพื่อให้เราสามารถเข้าใจโลกในฐานะสิ่งมีชีวิตได้อย่างลึกซึ้ง เป็นหนังสือที่กล้าหาญและอาจทำให้ผู้คนทั้งสองกลุ่มที่เขาพยายามจะสร้างสะพานเชื่อมโยงกันไม่พอใจก็ได้ จึงยิ่งทำให้เป็นหนังสือที่จำเป็นต้องอ่านอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่พยายามรับมือกับความท้าทายในยุคสมัยของเรา" - ดร.ปีเตอร์ รีสัน (Peter Reason) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยบาธ (University of Bath)

คำนำ โดยประมวล เพ็งจันทร์

'กาย่า โลกที่มีชีวิต' ของสเตฟาน ฮาร์ดิ้ง ทำให้ระลึกนึกย้อนไปสู่ชีวิตวัยเด็กของตนเอง ผมเกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ที่เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี ในครอบครัวเกษตรกรที่มีความผูกพันและเคารพในธรรมชาติรอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินอันเป็นปัจจัยสำคัญในการทำการเกษตร ถูกเคารพในชื่อของพระแม่ธรณี อีกทั้งพืชพรรณต่างๆ ซึ่งถูกปลูกขึ้นมาบนแผ่นดิน เช่น ข้าว ก็ถูกเคารพในชื่อของพระแม่โพสพ

ความทรงจำวัยเด็กที่ยังหลงเหลืออยู่แม้กระทั่งปัจจุบันนี้คือ ความสนุกสนานในวันผูกขวัญข้าวซึ่งเป็นวันเริ่มการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ในวันนั้น อาหารคาวหวานอันเลิศรสนานาชนิดถูกปรุงขึ้นมาอย่างพิถีพิถันเพื่อใช้เป็นเครื่องสังเวยบูชาพระแม่โพสพที่ได้ประทานอาหารมาให้หล่อเลี้ยงชีวิต ความเคารพในธรรมชาติรอบๆ ตัวนี้ได้ถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษสู่ตัวผมโดยมิรู้เนื้อรู้ตัว เป็นความเคารพซึ่งทำให้มีความรู้สึกได้ถึงความเป็นชีวิตของสิ่งต่างๆ รอบตัวผม ต่อมาเมื่อเติบโตสู่วัยหนุ่มได้บวชเรียนตามจารีตของชาวพุทธ การศึกษาอบรมตามจารีตของนักบวชในพุทธศาสนา ยิ่งตอกย้ำให้ความเคารพในโลกที่มีชีวิตรอบตัวเพิ่มพูนหนักแน่นขึ้นทุกๆ ช่วงขณะของการดำเนินชีวิตถูกกำกับให้ระลึกนึกรู้ถึงบุญคุณของสรรพชีวิตซึ่งเกื้อหนุนจุนเจือให้ชีวิตของตนเองดำเนินไปได้ ความสำนึกในบุญคุณของชีวิตอื่นด้วยความเคารพนี้มิได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่ชีวิตมนุษย์และสัตว์เท่านั้น แต่หากรวมถึงชีวิตอื่นทั้งหมดทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นพืช แผ่นดิน น้ำ อากาศ ซึ่งเรียกชื่อรวมๆ กันว่า 'ภูตคาม' อันแปลความได้ว่า 'บ้านที่มีชีวิต'

ในหมวดของการฝึกฝนเรียนรู้ที่ว่าด้วยบ้านที่มีชีวิตนี้ (ภูตคามวรรค) ความรู้จักเคารพในแผ่นดิน สายน้ำ อากาศและธรรมชาติอื่นๆ ทั้งปวงได้ทำให้เกิดการสำรวมระวังที่จะไม่เบียดเบียนทำร้ายชีวิตอื่น ไม่ว่าจะมองเห็นหรือมองไม่เห็นด้วยตา ความรู้สึกเคารพนี้ปรากฏชัดเมื่อยามต้องจาริกไปตามภูเขาลำเนาไพรเพื่อการบ่มเพาะภาวนามยปัญญา ในช่วงขณะแห่งการจาริกแบบนั้น ยามจะหลับนอนบนผื่นแผ่นดินก็จำต้องแสดงความเคารพและขออนุญาตต่อภูมิเทวดา เมื่อจะต้องหยุดอาศัยใต้ร่มไม้ก็ต้องแสดงความเคารพต่อรุกขเทวดา ความรู้สึกผูกพันกับสรรพชีวิตนี้ยิ่งปรากฏชัดเมื่อจะมีการสวดบรรยายพระพุทธวจนะก็จะต้องป่าวประกาศเชิญชวนเหล่าสรรพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตแห่งฟ้า อากาศ แผ่นดิน แม่น้ำ ภูเขา ฯลฯ ให้มาร่วมรับฟัง หลังจากประกอบกิจกรรมอันดีงามใดๆ สำเร็จแล้ว กิจอันสำคัญสุดที่ต้องกระทำคือ ประกาศยกความดีงามแห่งการกระทำนั้นให้เป็นความดีงามของสรรพชีวิตทั้งหลาย นับตั้งแต่พ่อ-แม่-ครู-อาจารย์-ญาติ-มิตร-ตลอดทั้งมวลมนุษย์ สรรพชีวิตทั้งปวง

การศึกษาอบรมแห่งจารีตตามพระพุทธศาสนาทำให้ชีวิตของผมแนบสนิทอยู่กับโลกที่มีชีวิตอย่างแนบแน่น และความเคารพอย่างหนักแน่นนี้ได้เพิ่มพูนยิ่งขึ้นเมื่อได้เดินทางไปศึกษาเรียนรู้ที่อินเดีย บรรยากาศสภาพแวดล้อมแบบฮินดูในสังคมอินเดีย ทำให้ผมได้ซึมซับรับเอาความหมายแห่งชีวิตหนึ่งที่ต้องยึดโยงอยู่กับชีวิตอื่นๆ อย่างแยกจากกันไม่ได้ สรรพชีวิตต่างเกื้อกูลอิงอาศัยในการดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกัน ความสำนึกในบุญคุณของสรรพสิ่งที่เกื้อหนุนให้ชีวิตเราดำรงอยู่ ทำให้ชาวฮินดูมีความเคารพต่อธรรมชาติทั้งมวลที่ปรากฏให้พวกเขาได้รับรู้ ยามเช้าตรู่เมื่อแสงสีทองปรากฏที่ขอบฟ้าทางทิศตะวันออก พวกเขาต่างสวดสดุดีขอบพระคุณอุษาเทวีที่นำความงดงามมามอบให้แก่โลกนี้ ยามเมื่อดวงตะวันปรากฏขึ้น พวกเขาต่างสวดสดุดีขอบพระคุณสุริยเทพที่นำความอบอุ่น ความสว่างมาให้แก่ปวงชีวิต ยามเมื่อสายลมเย็นพัดมาต้องกาย ทำให้รู้สึกสบาย พวกเขาสวดสดุดีขอบพระคุณวายุเทพ ยามเมื่อสายฝนโปรยปรายลงมา พวกเขาสวดสดุดีขอบพระคุณพระวรุณเทพที่มอบความชุ่มชื่นมาให้แก่โลก

ไม่ว่าธรรมชาติรอบตัวจะมีความสัมพันธ์กับเขาอย่างไร ชาวฮินดูต่างน้อมใจไปเคารพธรรมชาตินั้นๆ ด้วยสำนึกรู้ในบุญคุณที่ธรรมชาตินั้นเกื้อหนุนให้สรรพชีวิตดำรงอยู่ ด้วยการเรียนรู้แบบฮินดูทำให้ผมตระหนักรู้ถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่ร่วมกันกับสรรพสิ่ง เราอยู่ด้วยกัน มีความหมายร่วมกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน ช่วงขณะที่อ่าน 'กาย่า โลกที่มีชีวิต' ทำให้รู้สึกได้ถึงความหมายที่มีอยู่ภายในตนเอง เป็นความหมายที่ยากต่อการบอกเล่าสื่อสารกับเพื่อนร่วมสังคม เรามีชีวิตอยู่ในสังคมที่ถูกทำให้มองเห็นโลกใบนี้ที่เป็นระบบจักรกลที่ไร้ชีวิต ชีวิตเล็กๆ แต่ละชีวิตถูกทำให้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของระบบจักรกลใหญ่ แม้แต่ขณะที่เรามีชีวิตอยู่นี้ก็เป็นแต่เพียงแค่ช่วงสั้นๆ ของช่วงเวลาอันยาวนานของโลกจักรกลนี้ 'กาย่า โลกที่มีชีวิต' บอกให้ผมรู้ถึงความหมายที่ยากต่อการสื่อสารกันในสังคมร่วมสมัย ทั้งๆ ที่ในอดีตเราเคยสื่อสารกันโดยง่าย ความยากในการสื่อสารนี้มิใช่เกิดขึ้นเฉพาะกับสังคมเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการยากในการสื่อสารความหมายในตัวเอง เกิดคำถามอันเป็นความสงสัยในชีวิตมากมาย "เกิดมาทำไม?" "อยู่ไปเพื่ออะไร?" การสูญเสียความสามารถที่จะสื่อสารกับตนเองกลายเป็นปัญหาในความหมายของการมีชีวิตอยู่

ผมกลับมาทบทวนความหมายในชีวิตและวิธีคิดที่ก่อให้เกิดปัญหา แล้วพบว่าด้วยระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นการคิดเชิงระบบจักรกลทำให้สรรพชีวิตถูกแยกออกเป็นส่วนๆ ความหมายอันเป็นองค์รวมถูกซอยย่อยออกเป็นความหมายที่แยกส่วน และด้วยความสำนึกถึงความหมายที่เคยตระหนักรู้มาแต่เยาว์วัยทำให้ผมตระหนักได้ว่าควรถอยออกมาจากความคิดแบบจักรกล แล้วกลับคืนมาสู่ความสำนึกรู้ในความหมายแห่งชีวิตแบบองค์รวม

การได้อ่าน 'กาย่า โลกที่มีชีวิต' ทำให้ได้มองเห็นหนทางแห่งการหวนคืนสู่ความหมายร่วมกันของสรรพชีวิตบนโลกใบนี้ที่เรามีชีวิตร่วมกัน ความหมายแห่งชีวิตที่สรรพสิ่งมีร่วมกันไม่สามารถปรากฏได้ภายใต้ระบบคิดแบบวิทยาศาสตร์จักรกล แต่สามารถปรากฏชัดได้ภายใต้ความรู้สึกสำนึกว่าสรรพสิ่งเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นชีวิตเดียวกัน ผมปรารถนาให้ทุกท่านได้อ่าน 'กาย่า โลกที่มีชีวิต' เล่มนี้ เพื่อที่เราจะได้สำนึกร่วมกันว่าเราเป็นชีวิตเดียวกัน สรรพสิ่งคือตัวเรา และตัวเราคือสรรพสิ่ง

[con·tin·ue]

กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgements)

บทนำ (Introduction)

บทที่ 1 จิตวิญญาณแห่งผืนโลก (Anima Mundi)

บทที่ 2 รู้จักกาย่า (Encountering Gaia)

บทที่ 3 จากสมมุติฐานกาย่าถึงทฤษฎีกาย่า (From Gaia Hypothesis to Gaia Theory)

บทที่ 4 ชีวิตและธาตุประกอบ (Life and the Elements)

บทที่ 5 การเดินทางของคาร์บอน (Carbon Journeys)

บทที่ 6 ชีวิต เมฆหมอก และกาย่า (Life, Clouds and Gaia)

บทที่ 7 จากจุลินทรีย์ถึงไจแอนท์เซลล์ (From Microbes to Cell Giants)

บทที่ 8 โลกในภาวะวิกฤต (Desperate Earth)

บทที่ 9 กาย่าและความหลากหลายทางชีวภาพ (Gaia and Biodiversity)

บทที่ 10 ปฏิบัติหน้าที่ต่อกาย่า (In Service to Gaia)

บรรณานุกรม (Bibliography)

เกี่ยวกับผู้เขียน

ดร.สเตฟาน ฮาร์ดิ้ง (Stephan Harding: 1953-) จบปริญญาเอกสาขานิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) และเป็นผู้ประสานงานปริญญาโทสาขาวิทยาศาสตร์องค์รวมที่วิทยาลัยชูมัคเกอร์ (Schumacher College) ที่ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งนักนิเวศวิทยาและอาจารย์ผู้สอนหลักสูตรระยะสั้น เขาอาศัยอยู่ในเมืองดาร์ททิงตัน (Dartington) มณฑลเดวอน (Devon) ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยแห่งนี้

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page