top of page

ครอบครัวในความหมายใหม่: การค้นหาวิถีชีวิตแบบใหม่ (Reinventing the Family: In Search of New Lifestyle


ครอบครัวในความหมายใหม่: การค้นหาวิถีชีวิตแบบใหม่

แปลจาก Reinventing the Family: In Search of New Lifestyles (2000) ต้นฉบับภาษาเยอรมัน Was kommt nach der Familie?: Einblicke in neue Lebensformen

เขียนโดย Elisabeth Beck-Gernsheim ฉบับแปลจากภาษาเยอรมันโดย Patrick Camiller แปลโดยวารุณี ภูริสินสิทธิ์ โครงการจัดพิมพ์คบไฟ พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง เมษายน 2550 จำนวน 256 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789749435052

คำนำผู้แปล

ผู้แปลเลืือกแปลหนังสือเล่มนี้ด้วยเหตุผลหลักๆ 3 ประการคือ อ่านแล้วเพลินดี ผู้เขียนเป็นนักสังคมวิทยาชาวเยอรมันซึ่งทำให้ได้มุมมอง รวมทั้งข้อมูลใหม่ๆ ของสังคมที่ไม่ค่อยได้มีโอกาสรับรู้นัก และสุดท้ายเป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวซึ่งในสังคมไทยยังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจัง แม้ว่าจะตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่บ้าง ผู้เขียนได้สะท้อนการมองครอบครัวในหลายแง่มุมครอบคลุมในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหย่าร้าง การใช้เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์และผลที่ตามมา การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุและปัญหาของสังคมในการดูแล และการแต่งงานข้ามชนชาติ เป็นต้น

สิ่งต่างๆ ที่ถูกเสนอในหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นในสังคมไทยเช่นกัน แม้อาจจะไม่แพร่หลายมากเท่าที่เกิดในประเทศอุตสาหกรรมอย่างสูง ในสังคมไทยการหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเขตเมือง ในเวลานี้มันสะท้อนออกมาให้เห็นจากการมีกลุ่มครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวของพ่อหรือแม่ที่เลี้ยงลูกเพียงคนเดียวที่กรุงเทพฯ ซึ่งบางส่วนอาจเป็นผลจากการเสียชีวิตของคู่ แต่ก็มีส่วนที่เป็นผลของการหย่าร้างอยู่อย่างแน่นอน และยังมีเด็กๆ ในชนบทที่ถูกทิ้งให้อยู่กับปู่ย่าตายายเพราะพ่อแม่เลิกกัน ไปทำงานต่างจังหวัด หรือขายแรงงานต่างประเทศ ภาพเช่นนี้มิใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ภาพที่หมู่บ้านมีแต่เด็กและคนแก่มีมาแล้วนับสิบปี ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นได้ว่าในหลายส่วนของสังคม ครอบครัวพร้อมหน้าพ่อแม่ลูกที่อบอุ่นในอุดมคติไม่ได้มีอยู่และจะไม่มีมากขึ้นอีกในสภาวะที่สังคมเป็นอยู่ในปัจจุบัน สังคมและรัฐตระหนักถึงสิ่งนี้และดำเนินการแก้ไขอย่างไรหรือไม่ การรณรงค์ต่างๆ ที่มีออกมาอาจเป็นความพยายาม เช่น การให้อยู่กับครอบครัวในวันอาทิตย์ แต่ถ้าเทียบกับปัญหาที่เกิดมันไม่เพียงพออย่างแน่นอน ในบางกรณีอาจส่งผลในทางตรงกันข้าม เช่นการที่โรงเรียนต่างๆ ให้พ่อแม่ไปแสดงตัวเพื่อรับความเคารพจากลูกซึ่งเป็นนักเรียนในวันพ่อวันแม่ การทำเช่นนั้นกลับทำให้เด็กที่ไม่มีพ่อหรือไม่มีแม่หรือไม่มีทั้งพ่อและแม่ซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกสะเทือนใจเพราะตระหนักเพิ่มขึ้นว่าตนเองไม่มีเหมือนคนอื่น สิ่งที่ได้คุ้มหรือเสียหรือไม่ถ้าเราคำนึงถึงเด็กเป็นหลัก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะสังคมที่มีความซับซ้อนและมีความแตกต่างหลากหลายของคนในสังคม การกระทำใดที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมากจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบมากขึ้น

การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในการเจริญพันธุ์เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ดูเหมือนเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ได้ใช้มาเกือบ 2 ทศวรรษแล้วในสังคมตะวันตก ในขณะที่สังคมไทยเปิดรับกับเทคโนโลยีใหม่นี้อย่างเปิดเผย ประเทศตะวันตกในเวลานี้เริ่มตั้งคำถามต่อมันแล้ว คำถามหลักคือมนุษย์กำลังแทรกแซงและควบคุมธรรมชาติของการมีลูกอยู่ใช่ไหม การเพิ่มจำนวนขึ้นของผู้สูงอายุในสังคมไทยก็เป็นอีกประเด็นที่สำคัญ เมื่อไม่นานมานี้ได้มีตัวเลขทางประชากรระบุว่าอีกไม่นานสังคมไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ สิ่งนี้ไม่สำคัญเท่ากับว่าใครจะเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุที่ร่างกายเสื่อมถอยและไม่แข็งแรงพอที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง จริงๆ แล้วภาพของคนแก่ที่มีโรคภัยต่างๆ และถูกทิ้งให้อยู่คนเดียวปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อโทรทัศน์อยู่เป็นประจำ แต่สารที่ส่งออกมายังคงเป็นการขอบริจาคและประณามลูกหลานอกตัญญูทั้งหลาย ซึ่งแน่นอนย่อมไม่ทำให้สภาวการณ์ดีขึ้น ในสภาวะที่ครอบครัวโดยรวมขาดความเข้มแข็ง การดูแลเด็กและคนแก่ในครอบครัวย่อมเป็นไปได้ยาก

หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงปัญหาเหล่านี้อย่างค่อนข้างละเอียด แต่พยายามผูกโยงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ใช่เป็นเรื่องของความผิดพลาดบกพร่องของปัจเจกคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นผลของการเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมสมัยใหม่ ซึ่งสังคมไทยก็กำลังเปลี่ยนไปในทิศทางนั้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน ผู้แปลจึงหวังว่าบทเรียนอันเจ็บปวดจากสังคมสมัยใหม่ตามที่ผู้เขียนเสนอจะทำให้คนไทยได้เรียนรู้และใช้มันให้เป็นประโยชน์กับสังคมของเราในวิถีทางของเราเอง

คำนำ ฉบับพิมพ์ภาษาอังกฤษ

จากการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่สั่นสะเทือนโลกในทุกวันนี้ ไม่มีอะไรสำคัญสำหรับเรามากไปกว่าสิ่งที่กระทบต่อแก่นแกนชีวิตส่วนตัวของเรา อันได้แก่ กามารมณ์ ความรักและการแต่งงาน ความสัมพันธ์และความเป็นพ่อแม่ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เรามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ณ แก่นแกนของชีวิตส่วนตัว การปฏิวัติที่ได้เปลี่ยนรากฐานและตัวแบบของชีวิตประจำวันปรากฏอย่างชัดเจน ที่สำคัญได้เกิดการก่อรูปของการต่อต้านมันอย่างต่อเนื่องในส่วนต่างๆ ของโลก เราสามารถเห็นได้ถึงการถกเถียงที่ร้อนแรงเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศสภาพ สิทธิของผู้หญิง และอนาคตของครอบครัว ความจริงแล้วคำว่าการถกเถียงอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิด เพราะมันลดทอนความจริงที่ว่าพวกเขาบางครั้งเป็นเสมือนศัตรูในสงคราม ต่อสู้กันโดยต่างก็เชื่อว่าตนเองถูก การเปลี่ยนแปลงอะไรที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงเช่นนี้ วัฏจักรทางวัฒนธรรมใดที่ถูกกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ขอให้เรากล่าวเพียงสองสามจุดที่สำคัญซึ่งจะถูกพัฒนาอย่างเป็นระบบมากขึ้นในบทต่างๆ ของหนังสือเล่มนี้

  • ครอบครัวก่อนยุคอุตสาหกรรมเป็นชุมชนที่มีศูนย์กลางอยู่ที่งานและเศรษฐกิจ

  • หนึ่งในลักษณะสำคัญต่างๆ ของมันคือ ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างสามีและภรรยา รวมถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทางเพศของพวกเขา ซึ่งมาตรฐานสองแบบถูกใช้เพื่อสนับสนุนบรรทัดฐานที่สร้างขึ้นบนความเป็นเจ้าของและการสืบทอดของทรัพย์สิน

  • ผู้หญิงและเด็กเกือบจะไม่มีสิทธิใดๆ เป็นของตนเองเลย

  • ความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันถูกพิจารณาว่าผิดธรรมชาติและถูกปฏิบัติในฐานะเป็นความวิปริต

ตั้งแต่ยุคสมัยเหล่านั้น เงื่อนไขพื้นฐานเกี่ยวกับการอยู่รอดด้วยกันของผู้คนหรือการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้เปลี่ยนไปอย่างมาก

  • การแพทย์สมัยใหม่ได้ให้วิถีทางต่างๆ เพิ่มขึ้น ทำให้กามารมณ์และการเจริญพันธุ์ถูกแยกออกจากกัน ดังนั้นพื้นที่ของการทดลองด้านเพศได้เปิดออกพร้อมกับความเป็นพ่อแม่ทางชีวภาพและทางสังคมประเภทที่แตกต่างแบบใหม่ๆ

  • ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 ผู้หญิงในประเทศตะวันตกจำนวนมากประสบความสำเร็จในเรื่องความเท่าเทียมกับผู้ชายด้านการศึกษาหรือแม้แต่ล้ำหน้าพวกเขาในบางส่วน และผู้หญิงมีส่วนร่วมในการทำงานที่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นด้วย แม้จะยังไม่อยู่ในสัดส่วนเดียวกัน ผลที่ตามมาก็คือครอบครัวได้สูญเสียความสำคัญในฐานะที่่เป็นชุมชนทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ

  • ผลประโยชน์ด้านวัตถุเคยเป็นปัจจัยในการตัดสินใจนำผู้คนเข้าสู่การแต่งงาน แต่ทว่าาเดี๋ยวนี้ความรักแบบโรแมนติกเป็นหลักคิดพื้นฐาน

  • ผลอย่างหนึ่งที่สำคัญตามมาคือการเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของอัตราการหย่าร้างซึ่งเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ จำนวนไม่น้อย

  • ในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม ผู้คนอาศัยอยู่ในครอบครัวแบบที่เคยถูกพิจารณาว่าปกติในทศวรรษที่ 1950 น้อยลงเรื่อยๆ ครอบครัวที่ว่าคือหน่วยที่เกี่ยวข้องกับความผูกพันตลอดชีวิตที่ได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นทางการระหว่างสามีที่เป็นหลักทางเศรษฐกิจ และภรรยาที่ไม่ได้เป็นหลักทางเศรษฐกิจและลูกๆ ที่พวกเขามีด้วยกัน

  • ความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันยังประสบกับการกีดกันอย่างกว้างขวาง แต่มันกำลังได้รับการยอมรับทางสังคม ทางกฎหมาย และอย่างเป็นทางการมากขึ้น

ทั้งหมดนี้นำไปสู่การดำรงอยู่ร่วมกันของรูปแบบต่างๆ ของชีวิตครอบครัว ถ้าคติของฮิปปี้ให้ร้อยดอกไม้เบ่งบานใช้ได้ในทุกๆ ที่ก็ต้องเป็นที่นี่ ในที่ซึ่งมีความหลากหลายเพิ่มขึ้นของครอบครัวหลังครอบครัว

ทฤษฎีของความเป็นปัจเจกนิยม

ขณะที่ภาพโดยรวมของครอบครัวได้เพิ่มความซับซ้อนมากขึ้น งานด้านวิจัยก็มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นด้วย ในบริบทสองด้านนี้ ความเป็นหนึ่งเดียวของความคิดรวบยอดของครอบครัวในตัวมันเองจึงกลายเป็นปัญหา หนังสือเล่มนี้จะเสนอทฤษฎีระดับกลางคือทฤษฎีของความเป็นปัจเจกนิยมที่สามารถทำให้เราเชื่อมโยงทฤษฎีหลายทฤษฎีที่แตกต่างกัน รวมเข้ากับข้อมูลเชิงประจักษ์และข้อมูลทางประวัติศาสตร์

เมื่อเราพูดถึงความเป็นปัจเจกนิยม เรามีแนวโน้มทางความคิดในสองด้านอยู่เสมอ ด้านหนึ่งคือความสัมพันธ์ทางสังคมตามประเพณี พันธะ และระบบความเชื่อซึ่งเคยกำหนดชีวิตของผู้คนในรายละเอียดปลีกย่อยที่สุดที่ได้สูญเสียความหมายของมันมากขึ้นเรื่อยๆ จากหน่วยของครอบครัวและชุมชนหมู่บ้านไปยังภูมิภาค และศาสนาไปสู่ชนชั้นหมู่คณะและบทบาทของเพศสภาพซึ่งเคยให้กรอบความคิดและกฎเกณฑ์สำหรับชีวิตประจำวันของผู้คนเปราะบางมากขึ้น ด้วยเหตุนี้พื้นที่และทางเลือกใหม่ๆ ได้เปิดออกสำหรับปัจเจก เวลานี้ผู้ชายและผู้หญิงสามารถและควร อาจและต้อง ตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะสร้างชีวิตของพวกเขาอย่างไร อย่างน้อยภายในขีดจำกัดหนึ่ง

ในอีกด้านหนึ่ง ความเป็นปัจเจกนิยมหมายถึงผู้คนได้ถูกเชื่อมเข้าสู่สถาบันต่างๆ ของตลาดแรงงานและรัฐสวัสดิการ ระบบการศึกษา ระบบกฎหมาย ระบบราชการของรัฐ และอื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมกับรัฐสมัยใหม่ สถาบันเหล่านี้ผลิตกฎระเบียบต่างๆ ข้อเรียกร้อง ข้อแนะนำ กำหนดสิทธิต่างๆ ซึ่งถูกเสนอเป็นแบบฉบับต่อปัจเจกบุคคลมากกว่าครอบครัวในส่วนทั้งหมด ลักษณะสำคัญของกฎระเบียบใหม่ๆ เหล่านี้คือมันได้กำหนดปัจเจกให้มีชีวิตเป็นของเขาหรือเธอเอง นอกเหนือจากสายสัมพันธ์ใดๆ ที่มีต่อครอบครัวหรือกลุ่มอื่นๆ หรือบางครั้งแม้แต่สลัดทิ้งสายสัมพันธ์เหล่านั้นและกระทำการโดยไม่อิงอยู่กับมัน ทาลก็อต พาร์สันส์ (Talcott Parsons: 1902-1979) เรียกปัจเจกนิยมทางสถาบันนี้ว่าปรากฏการณ์ทางโครงสร้างที่ชี้นำและก่อรูปชีวิตผู้คนในสังคมตะวันตกสมัยใหม่ ปัจเจกบุคคลต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับกฎระเบียบชุดต่างๆ ซึ่งมีพลังภายใต้เงื่อนไขของปัจเจกนิยมทางสถาบัน ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วพวกเขาต้องรับกับผลที่ตามมาและคำติเตียน เพราะมันคือหลักการสำคัญที่สุดของสถาบันใหม่ซึ่งเรียกร้องและสนับสนุนให้คนกำหนดชีวิตของพวกเขาเองอย่างเต็มที่ หลักการพื้นฐานของระบบการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดแรงงานคือไปตามเส้นทางของตนเอง เคลื่อนไปข้างหน้า อย่าอยู่กับที่ วิถีทางเดียวที่ไปสู่ความสำเร็จคือยืนหยัดด้วยตัวเอง

มีเพียงคำถามเล็กๆ แต่สำคัญคือ อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อความเป็นปัจเจกนิยมที่พุ่งไปอย่างไม่หยุดยั้งได้สะสมแรงกดดันและแรงจูงใจเพื่อมีชีวิตที่เป็นของตัวเองขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดจะเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัว

อะไรเป็นผลของความยืดหยุ่นและการลดทอนกฎระเบียบ

ขอให้เราใช้ประเทศอังกฤษเป็นตัวอย่าง ประเทศซึ่งรูปแบบของชีวิตส่วนตัวได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษตามการอ้างของรายงานสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในพื้นที่ของคนรุ่นเดียว จำนวนการแต่งงานได้ลดลงเหลือครึ่งเดียว ขณะที่จำนวนการหย่าร้างเพิ่มขึ้น 3 เท่า และสัดส่วนของเด็กนอกสมรสเพิ่ม 4 เท่า มีความห่วงใยเพิ่มขึ้นในหมู่นักการเมืองและสาธารณชนทั่วไปเกี่ยวกับแนวโน้มเหล่านี้ รัฐบาลพรรคแรงงานโดยมีโทนี่ แบลร์ (Anthony Charles Lynton Blair: 1953-) เองอยู่ในแถวหน้าได้สนับสนุนการให้ความสำคัญใหม่กับครอบครัว ยกย่องคุณค่าครอบครัวให้เป็นวิถีทางของการหลุดพ้นมากกว่าจะหมายถึงความจืดชืดและจิตใจที่คับแคบ โดยกล่าวว่าเราต้องการการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ และต้องการวัฒนธรรมการแต่งงานแบบใหม่เพื่อที่คู่แต่งงานจะได้เรียนรู้ที่จะมีชีวิตด้วยกันและสร้างสายสัมพันธ์ที่พึ่งพากันและกันมากขึ้น ในตลาดแรงงานต้องมีความพยายามทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของจิตสำนึกเพื่อให้การอยู่ร่วมกันของงานนอกบ้านกับครอบครัวเป็นไปได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียใจที่มีเพียงสองสามมาตรการที่ชัดเจนที่เสนอออกมาจนถึงเวลานี้ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะตราบเท่าที่คนยังอยู่ที่ระดับของค่านิยม วัฒนธรรม และจิตสำนึก จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องรับมือกับความเป็นจริงของตลาดแรงงานที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ไร้ความมั่นคงและไม่เท่าเทียมเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในอังกฤษ และไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าคุณค่าครอบครัวที่สรรเสริญกันอย่างมากนั้นสัมพันธ์กับโฆษณาชวนเชื่อของการใช้แรงงานแบบใหม่ที่เกี่ยวกับการยืดหยุ่นและการลดทอนกฎระเบียบของงานอย่างไร ทุกคนควรจะเป็นผู้ประกอบการเล็กๆ ของตัวเอง ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นเรียกมาได้ทันที ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นพร้อมที่จะทำงาน เพียงพยายามทำต่อไป แล้วคุณจะได้รับรางวัล

นี่เป็นความขัดแย้งที่การใช้แรงงานแบบใหม่ติดกับของตนเอง ในด้านหนึ่งมันต้องการฝึกฝนให้ทุกคนยืนหยัดด้วยตัวเอง มีการริเริ่มของตัวเอง และเรียกร้องการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ ในอีกด้านหนึ่งมันพยายามสร้างภาพวัฒนธรรมการแต่งงานแบบใหม่และคาดหวังผู้คนให้คิดถึงครอบครัวมากขึ้นและยินดีที่จะมีลูก ทั้งสองสิ่งนี้รวมกันไม่ได้ การใช้แรงงานแบบใหม่ลืมไปว่าตลาดแรงงานเป็นอย่างไร และการยืดหยุ่นและการลดทอนกฎระเบียบส่งผลอะไรต่อชีวิตส่วนตัว ไม่เพียงเด็กๆ แต่คู่สามีภรรยาด้วยที่ทนทุกข์กับงานที่ยืดออกไปเรื่อยๆ ติดต่อกันทั้งวันทั้งคืนและไปรอบโลก 7 วันใน 1 สัปดาห์และ 24 ชั่วโมงใน 1 วัน งานเป็นกะและการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ปกติของชั่วโมงการทำงาน การอบรมในเมืองต่างๆ สัมมนาช่วงสุดสัปดาห์ การเดินทางทางธุรกิจ และการประชุมตอนเย็น จังหวะชีวิตเช่นนี้สามารถอดทนไปได้ถ้าคุณยังอายุน้อย สุขภาพแข็งแรง และเป็นโสด แต่ถ้าเป็นคนสองคนล่ะ นานสักเท่าใดที่รายการตามหน้าที่จะสามารถเข้าได้กับที่อยู่ของกันและกัน เมื่อไรที่ทั้งหมดนี้จะเป็นความพยายามที่มากเกินไป ใครจะเป็นผู้พบว่ามันเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะรับได้ มีความสัมพันธ์จำนวนเท่าไรแล้วที่แตกหักไปภายใต้ความตึงเครียดนี้

มันเป็นความจริงที่การยืดหยุ่นได้รับการดำเนินการในอังกฤษมากกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรป แต่ความขัดแย้งพื้นฐานโดยทั่วไปมากพอๆ กัน เพราะว่าไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างง่ายๆ ที่มองเห็น อีกทั้งนักการเมืองที่ไหนๆ ก็ไม่ต้องการจะรู้ความเป็นจริงที่ไม่น่าสบายใจนักว่าความสามารถ ทัศนคติ และการกระทำที่ถูกเรียกร้องโดยตลาดแรงงานแบบใหม่ไม่ทำให้ผู้คนเหมาะสมขึ้นกับชีวิตของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและพึ่งพาอาศัยกันในระยะยาว ณ ที่ทำงาน ตลาดมีมากขึ้น การแข่งขันมากขึ้น ความรวดเร็วมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในชีวิตส่วนตัว มีความเป็นชุมชนมากขึ้น และการนึกถึงคนอื่นๆ มากขึ้น นั่นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ความสัมพันธ์ใหม่ของความตึงเครียด

บทต่างๆ ที่ตามมาไม่ได้เสนอการแก้ไขที่ชัดแจ้ง แต่เป็นไปได้ด้วยความหวังว่ามันอาจช่วยให้เกิดการวิเคราะห์ที่แม่นยำขึ้นและภาพที่ชัดเจนมากขึ้นของพลังที่แสดงออกในความสัมพันธ์ระหว่างเพศและระหว่างวัย ทุกวันนี้อะไรที่ขับเคลื่อนให้ผู้คนค้นหาแนวทางใหม่ในการดำรงชีวิตและความหวังอะไรที่สัมพันธ์กับการค้นหานั้น อะไรคือทางออกของปัญหาที่เป็นไปได้ ข้อเรียกร้องและข้อจำกัดที่พวกเขาพบในระหว่างทาง และเมื่อผู้คนในวันนี้ถูกดึงโดยความคาดหวังที่แตกต่างและไปด้วยกันไม่ได้ อะไรคือความไม่แน่นอนและความขัดแย้งที่ตามมาระหว่างผู้ชายและผู้หญิง ระหว่างลูกๆ และพ่อแม่ และในความสัมพันธ์ระหว่างคนสูงวัยและคนหนุ่มสาว สิ่งต่างๆ จะพัฒนาไปอย่างไรในอนาคต เหล่านี้จะเป็นคำถามครอบคลุมในหนังสือเล่มนี้

[con·tin·ue]

บทที่ 1 ความสับสนใหม่เกี่ยวกับครอบครัว (The New Confusion about the Family)

บทที่ 2 เมื่อการหย่าร้างกลายเป็นเรื่องปกติ (When Divorce Becomes Normal)

ความมั่นคงของครอบครัว: เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย (Stability of the family - for and against) พลวัตของพัฒนาการครอบครัว (The dynamic of family development) ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของครอบครัวที่หย่าร้าง (The complex relations of a divorced family) และจากชีวประวัติปกติไปสู่ชีวประวัติทำมันด้วยตัวเอง (From the normal biography to the do-it-yourself biography)

บทที่ 3 ชีวิตเสมือนโครงการที่วางแผน (Life as a Planning Project)

การเกิดขึ้นของแนวคิดเรื่องการวางแผน (The rise of the idea of planning) การระมัดระวังไว้ก่อนในความสัมพันธ์ส่วนตัว (Precautions in personal relationships) และผลตามมาที่ไม่ได้วางแผนของโครงการที่วางแผน (Unplanned consequences of the planning project)

บทที่ 4 ข้อตกลงระหว่างวัยและความสัมพันธ์ระหว่างเพศสภาพ (Generational Contract and Gender Relations)

ความคาดหวังตามประเพณี: ผู้หญิงในฐานะทรัพยากรที่ซ่อนเร้นในความสัมพันธ์ระหว่างวัย (Traditional expectations: women as a hidden resource in relations between the generations) สภาพการณ์กำลังเปลี่ยนแปลง: ผู้หญิงเป็นเสมือนทรัพยากรที่หายากในความสัมพันธ์ระหว่างวัย (The times are changing: women as a scarce resource in relations between the generations) และการค้นหาต้นแบบใหม่ (The search for new models)

บทที่ 5 เราต้องการเด็กพิเศษ (We Want a Special Child)

ความเป็นพ่อแม่ในความสมัยใหม่: คติพจน์ของการสนับสนุนที่ดีที่สุด (Parenthood in modernity: the precept of optimum support) การจัดให้ของการวินิจฉัยก่อนคลอดและการวินิจฉัยทางพันธุกรรม (The supply of prenatal and genetic diagnosis) ความมีอนาคตของเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ (The promises of reproductive medicine) และอนาคตคืออะไร (What future?)

บทที่ 6 มุ่งสู่ครอบครัวพหุวัฒนธรรม (Towards the Multicultural Family)

ปัญหาของระเบียบทางสังคม (A problem of social order) ตัวอย่างของประเทศสหรัฐ: ใครคือคนผิวดำ (The example of the United States: who is a black?) จากประวัติศาสตร์ของสังคมนิยมแห่งชาติ: ใครคือคนยิว (From the history of National Socialism: who is a Jew?) ความคิดรวบยอดต่างๆ ที่ยุ่งยาก: ภาระทางประวัติศาสตร์ (Difficult concepts: the burden of history) ใครคือคนเยอรมันในวันนี้ (Who is a German today?) และมีชีวิตอยู่ระหว่างวัฒนธรรมต่างๆ (Living between cultures)

บรรณานุกรม (References)

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page