top of page

คู่มือเข้าใจชนชั้น วรรณะ ความเหลื่อมล้ำ (The No-Nonsense Guide to Class, Caste and Hierarchies)


คู่มือเข้าใจชนชั้น วรรณะ ความเหลื่อมล้ำ

แปลจาก The No-Nonsense Guide to Class, Caste and Hierarchies (2002) เขียนโดย Jeremy Seabrook แปลโดยทองสุก เกตุโรจน์ และสายพิณ ศุพุทธมงคล โครงการจัดพิมพ์คบไฟ พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง มิถุนายน 2554 จำนวน 168 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9786167150130

สำหรับทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ยากจนของโลกที่ให้บทเรียนอันลึกซึ้งเรื่องความอยุติธรรม ขณะเดียวกันก็สอนให้มีความหวังในโลกนี้

คุณเป็นคนชนชั้นสูง กลาง หรือต่ำ? คุณอาจไม่คิดว่าในโลกนี้ยังมีชนชั้นอยู่ แต่เจรามี ซีบรุก (Jeremy Seabrook) แย้งเต็มที่ว่าชนชั้นยังมีอยู่จริง เพียงแต่มันเหมือนกับที่วรรณะยังคงมีอยู่ในประเทศอินเดียได้ทั้งๆ ที่ผิดกฎหมาย การจัดช่วงชั้นและลำดับสูงต่ำของคนในสังคมนั้นมีมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของมนุษย์ อีกทั้งยังไม่มีทีท่าว่าจะอันตรธานไปไหน เพราะคนชั้นสูงสุดของสังคมไม่มีทางยอมเสียผลประโยชน์ของตน และอย่าคิดว่าชนชั้นมีเพียงในอังกฤษเท่านั้น เพราะเราพบชนชั้นอยู่ทุกหนแห่งบนโลก แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา ทุกคนยังบอกว่าตนเป็นชนชั้นกลาง ข้อยกเว้นจะมีอยู่ก็แต่ในพวกชนต่ำชั้นซึ่งประสบชะตากรรมเลวร้ายเกือบยิ่งกว่าตายเสียอีก 'คู่มือเข้าใจชนชั้น วรรณะ ความเหลื่อมล้ำ (The No-Nonsense Guide to Class, Caste and Hierarchies)' วิเคราะห์ให้เห็นภาพว่าชนชั้นงอกออกมาจากการจัดจำแนกประเภทของคนในสมัยก่อนได้อย่างไร ทำไมชนชั้นจึงมีและยังคงมีผลกระทบต่อชีวิตผู้คนเรื่อยมาจนถึงยุคโลกาภิวัตน์

คำนิยม โดยจอห์น พิลเจอร์ (John Richard Pilger: 1939) นักเขียนและนักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์

'คู่มือเข้าใจชนชั้น วรรณะ ความเหลื่อมล้ำ (The No-Nonsense Guide to Class, Caste and Hierarchies)' ของเจรามี ซีบรุก (Jeremy Seabrook) เป็นหนังสือดี และเป็นหนังสือที่ทำให้ผมและผู้อ่านคนอื่นๆ รู้สึกขอบคุณผู้เขียน สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าเป็นพิเศษก็คือการเปิดตัวชนชั้นเศรษฐีใหม่ คนดัง และบุคคลอื่นที่แสดงบทบาทสำคัญในการทำให้คนจนยอมรับสถานภาพของพวกเขาโดยไม่ลุกขึ้นมาต่อต้านหรือโต้แย้ง

การไร้ชนชั้นแบบจอมปลอมของคนกลุ่มนี้ได้รับการส่งเสริมในช่วงทศวรรษ 1960 และเท่าที่ผมทราบ หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรกที่วิเคราะห์ภาพลวงที่เกิดขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์แห่งความเหลื่อมล้ำนี้ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือการเปลี่ยนของอำนาจระหว่างทุนกับแรงงาน และซีบรุกก็ใช้ความเชี่ยวชาญของเขาทำให้เราเห็นภาพอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็ชี้ชัดทำให้เราไม่ต้องเคลือบแคลงว่าระบบอำนาจเก่าที่ดำรงอยู่อย่างมั่นคงยาวนานยังคงอยู่ดี และให้หลักประกันว่ากระทั่งวัฒนธรรมและการแต่งกายสมัยใหม่ที่วาววับก็จะไม่นำไปสู่การขยับเขยื้อนเลื่อนชนชั้น เขายังวิเคราะห์รากเหง้าของอาชญากรรมซึ่งพรรคแรงงานใหม่ของโทนี แบลร์ (Anthony Charles Lynton Blair: 1953-) มักอ้างถึงบ่อยๆ ว่าเป็นผลพวงของอุดมการณ์เชิดชูความสามารถและประณามการไร้ความสามารถ และวาดภูมิทัศน์แห่งความยากจนที่มักถูกปฏิเสธโดยผู้ที่หากินโดยอ้างอุดมการณ์อันสูงส่ง หนังสือยอดเยี่ยมเล่มนี้เขียนขึ้นในวาระที่ต้องมีคนพูดถึงเรื่องนี้เสียที และเป็นงานเขียนที่ทรงพลังเป็นอย่างยิ่ง

บทนำ (Introduction)

นิยายที่ว่าชนชั้นตายไปแล้วแพร่สะพัดไปทั่วโลกในยามที่โลกไม่เคยมีความเหลื่อมล้ำมากมายเช่นนี้มาก่อน เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ นี่คือคำถามที่หนังสือเล่มนี้พยายามหาคำตอบ

การเกิดมาในครอบครัวช่างทำเครื่องหนังในเมืองเล็กๆ ของอังกฤษ ทำให้ผมไม่สนใจเรื่องชนชั้นไม่ได้ เมืองที่เราอยู่เต็มไปด้วยเรื่องของคนยากจนและการเอารัดเอาเปรียบ เรื่องของความพยายามของผู้คนที่พยายามจะคัดง้างความไม่เป็นธรรมผ่านสหภาพแรงงานและองค์กรของผู้ใช้แรงงาน การเป็นสมาชิกคนแรกของครอบครัวที่ได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย คงพอจะทำให้เห็นได้ว่าผมมาจากไหนและกำลังมุ่งหน้าไปทางไหน ความรู้สึกต่อต้านความอยุติธรรมที่บังเกิดแก่ชีวิตที่ต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบกับชีวิตที่มีอภิสิทธิ์ปรากฏอยู่ในงานทุกชิ้นที่ผมเขียนมาตลอด

ผมไม่เคยเชื่อใครที่พูดถึงการรื้อสังคมชนชั้น ความไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ของผมเป็นหนึ่งในมรดกที่ผมรับมาจากพวกช่างทำรองเท้ารุ่นเก่าที่ผมรู้จักสมัยที่ผมเติบโตขึ้นมา คนเหล่านี้ปฏิบัติต่อผู้อื่นในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ไม่เห่อผู้ที่มียศถาบรรดาศักดิ์ ไม่เห็นด้วยกับความเชื่อหรือหลักปฏิบัติเดิมๆ ในยุคสมัยของพวกเขา

แน่นอนว่าความแตกต่างระหว่างชนชั้นแรงงานอุตสาหกรรมที่กำลังหมดสภาพกับชนชั้นกลางที่กำลังโตขึ้นในประเทศของผมกำลังเลือนหายไป ทั้งนี้ก็เพราะในยุคโลกาภิวัตน์ ทั้งโลกได้มีการจัดโครงสร้างของชนชั้นเสียใหม่ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอังกฤษประสบผลสำเร็จได้ก็ด้วยการที่คนอีกหลานล้านคนถูกบูรณาการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก แบบเดียวกับที่เราเคยถูกดึงเข้าสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรมในช่วงต้นของยุคอุตสาหกรรม การตระหนักว่ากระบวนการนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วจะช่วยให้เราไม่ลืมว่าสิ่งที่กำลังเกิดกับกรรมกรโรงงานในบังกลาเทศหรืออินโดนีเซีย และที่เกิดกับหญิงรับใช้ในบ้านที่กรุงมะนิลาหรือมุมไบ (บอมเบย์) ไม่ได้ทำให้พวกเขาเป็นเหยื่อของกระบวนการที่ใกล้ตัวและไม่มีที่มาที่ไป คนเหล่านี้ล้วนเป็นญาติของเราที่แยกจากกันเพราะยุคสมัยที่ต่างกัน เพราะวัฒนธรรมและภูมิอากาศที่ต่างกันเท่านั้น

หากเราเชื่อว่าการสร้างความมั่งคั่งจะทำให้ความเหลื่อมล้ำหมดไป เราก็ถูกหลอกเสียแล้ว ถ้าเรามีจินตภาพว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนรวยกับคนจนสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องทำอะไรกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เราก็กำลังหลงผิด เบื้องหลังหน้าฉากอันฉูดฉาดและอึกทึกของโลกาภิวัตน์คือแบบแผนการครอบงำและบัญชาการที่ดำรงอยู่มายาวนานและพันธนาการเราไว้ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริง

สังคมตะวันตกที่ร่ำรวยประกาศตัวว่าพวกเขาทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อสร้างความเสมอภาคทางโอกาสแก่ผู้หญิง แก่ชนกลุ่มน้อย แก่ผู้มีรสนิยมทางเพศที่แตกต่าง และแก่ผู้พิการ ความพยายามสร้างความเสมอภาคเหล่านี้เป็นไปทั้งเพื่อทดแทนและเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่หนักหนายิ่งกว่า นั่นก็คือปัญหาช่องว่างที่ถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างคนรวยกับคนจนทั้งภายในประเทศเองและระหว่างประเทศ หากเราไม่ตระหนักถึงความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างระหว่างความมั่งมีกับความยากจน ความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ของคนสองกลุ่มที่เกิดขึ้นในโลกที่มีทรัพยากรอันจำกัด ความหวังที่จะเปลี่ยนให้โลกดีขึ้นก็เหลือน้อยนิดเดียว

ในขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ วิญญาณของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Heinrich Marx: 1818-1883) ยังเวียนว่ายอยู่ในการถกเถียงอภิปรายเรื่องความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในสังคม ความล้มเหลวของลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ได้นำไปสู่ข้อสรุปว่าการวิเคราะห์จุดยืนของผู้ที่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่นกับผู้ที่ถูกเอาเปรียบของมาร์กซ์ผิด โลกยังรอคอยการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นโลกที่สูงวัยขึ้น ฝันเฟื่องน้อยลง เต็มไปด้วยรอยแผลและการบาดเจ็บมากกว่าที่นักต่อสู้เพื่อชนชั้นในยุคแรกๆ เคยคาดคิดไว้

[con·tin·ue]

บทที่ 1 ชนชั้นและความไม่เสมอภาคคืออะไร? (What are Class and Inequality?)

บริบททางประวัติศาสตร์ของชนชั้นแสดงให้่เห็นว่าชนชั้นถูกนิยามโดยระบบอุตสาหกรรม และต่อมาได้ถูกแทนที่และนิยามเสียใหม่ว่าหมายถึงความเหลื่อมล้ำ

บทที่ 2 ความสำคัญของชนชั้นแรงงาน (The Importance of a Working Class)

เหตุใดการปรากฏตัวของชนชั้นแรงงานจึงกลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมอุตสาหกรรม ทำไมในบางสังคม เช่น สหรัฐอเมริกา ชนชั้นจึงเป็นเรื่องไม่ค่อยมีความสำคัญ ในขณะที่ในสังคมอื่น โดยเฉพาะในรัสเซีย ชนชั้นกลับเป็นเรื่องหลักของสังคม สำนึกทางชนชั้น อะไรทำให้คนตระหนักถึงหรือไม่เคยคิดว่าตนเป็นคนชนชั้นใด?

บทที่ 3 ชนชั้น: ยังอยู่ดีและมีชีวิตชีวา (Class: Alive and Kicking)

เหตุใดในสังคมตะวันตกที่มีความเจริญทางวัตถุ ชนชั้นจึงไม่เป็นปัญหาสำคัญเท่าความเหลื่อมล้ำอันมีที่มาจากเชื้อชาติ เพศสถานะ และเพศสภาวะ และรากฐานทางประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและความรู้สึกของผู้คน

บทที่ 4 ความคงเส้นคงวาของการเปลี่ยนแปลง (The Consistency of Change)

เหตุที่การเปลี่ยนแปลงเป็นคุณลักษณะของสังคมอุตสาหกรรม และชนชั้นเกิดขึ้นและเกิดใหม่อยู่ตลอดเวลา ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ต่อชนชั้นและต่อการก่อตัวของโครงสร้างชนชั้นระดับชาติในระบบที่ใหญ่และซับซ้อนกว่า

บทที่ 5 ชนชั้นและโลกาภิวัตน์ (Class and Globalization)

ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ต่อสำนึกทางชนชั้น อิทธิพลของอุดมการณ์ที่มากับความมั่งคั่งในสังคมตะวันตก สัมพันธภาพใหม่ระหว่างชนชั้นแรงงานเก่าในตะวันตกกับชนชั้นแรงงานใหม่ในประเทศกำลังพัฒนา

บทที่ 6 ลาทีชนชั้นแรงงาน (Goodbye to the Working Class?)

พิเคราะห์การหายตัวไปของชนชั้นแรงงานและการปรากฏใหม่ในรูปของชนชั้นกลางและชนต่ำชั้น โลกาภิวัตน์สร้างมายาภาพนี่อย่างไร

บทที่ 7 บาดแผลของชนชั้น (The Enduring Injuries of Class)

การที่ชนชั้นไม่ได้หายไป แม้จะไม่ปรากฏให้เห็นในภาษาทางการและจิตสำนึกของผู้คน การที่ผลระยะยาวและความเสียหายยังคงอยู่ในรูปแบบอื่น

บทที่ 8 วรรณะกับชนชั้น (Caste and Class)

ว่าด้วยวรรณะ โดยใช้ระบบวรรณะของอินเดียเป็นตัวแบบ พิจารณาผลกระทบของโลกไร้พรมแดนต่อการจัดช่วงชั้นทางสังคมแบบเก่า จากนั้นกล่าวถึงอุบัติการณ์ใหม่ของระบบทาสและการสถาปนาความไม่เป็นธรรมทางสังคมในระดับโลก

บทสรุป (Conclusion)

ชนชั้นในฐานะฐานการต่อสู้เพื่อเสรีภาพกำลังถูกโลกาภิวัตน์ยึดครอง จากจุดนี้ กระบวนการใหม่เพื่อปลดปล่อยมวลชนกำลังก่อตัวขึ้น

ในรายงานเกี่ยวกับความยากจนเกือบทุกฉบับที่นำเสนอข้อวินิจฉัยและการวิเคราะห์ คำสรรพนามที่ใช้ในรายงานมักเป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 ที่เป็นพหูพจน์ สิ่งที่เรารู้ สิ่งที่เราทำได้ สิ่งที่เราต้องทำเพื่อจะหลีกเลี่ยงภัยพิบัติ (นอกเหนือไปจากภัยพิบัติที่ได้ทำลายชีวิตไปแล้วนับไม่ถ้วน ตั้งแต่เราเริ่มเก็บข้อมูลเรื่องนี้) สรรพนามที่ไม่น่าไว้ใจนี้บ่งถึงสิ่งที่มันพยายามบอก นั่นคือการดำรงอยู่ของชุมชนนานาชาติ ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นชุมชนที่รายงานของออกซ์แฟม (Oxfam) พยายามสร้างขึ้น การสร้างนิยายในลักษณะนี้อาจมองได้ว่าเป็นความพยายามทำให้ทุกฝ่ายให้คำมั่นและร่วมกันรับผิดชอบต่อมนุษยชาติ ความยุติธรรม และเสรีภาพ

แต่อนิจจา นิยายเป็นเพียงนิยาย สิ่งที่ชุมชนนานาชาติให้คำมั่นคืออุดมการณ์ และเป็นอุดมการณ์ที่ทำลายผู้ที่จะเป็นพลังหลักของการเปลี่ยนแปลง ผู้ที่ได้ประโยชน์ ผู้ควบคุมและบริหารเศรษฐกิจโลกไร้พรมแดน ต่างอุทิศตนให้กับการเผยแพร่อุดมการณ์แห่งการเติบโตและการขยายตัวต่อไป และต่อไป และนี่เป็นเงื่อนไขสำคัญของโลกาภิวัตน์ที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนราวกับว่านี่เป็นพลังตามธรรมชาติที่ไม่ว่าใครก็ไม่มีทางหนีหรือสร้างทางเลือกใหม่ในโครงสร้างที่วางอยู่บนสมมุติฐานนี้ แน่นอนว่าการที่ทั้งโลกยึดถืออุดมการณ์อย่างเดียวกันย่อมช่วยลดความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ ได้ แต่นี่หมายความว่าเราต้องสามารถทำให้ทั้งโลกสมัครใจสมาทานอุดมการณ์นี้ แต่อุดมการณ์นี้เป็นอุดมการณ์ของผู้มีอำนาจ ซึ่งในทศวรรษที่ผ่านมาหลังจากมรณกรรมของสิ่งเดียวที่จะคุกคามมันได้คืออุดมการณ์ที่ก่อกำเนิดสหภาพโซเวียต (Soviet Union: 1922-1991) ผู้มีอำนาจเหล่านี้ก็ได้สะสมความมั่งคั่งไว้อย่างล้นเหลือ

บรรณานุกรม (Bibliography)

เกี่ยวกับผู้เขียน

เจรามี ซีบรุก (Jeremy Seabrook: 1939-) เขียนหนังสือมากว่า 30 เล่ม รวมทั้ง 'Children from Other Worlds: Exploitation in the Global Market (2001)' ซึ่งเปรียบเทียบแรงงานเด็กในประเทศอังกฤษช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 กับบังกลาเทศ (Bangladesh) ในปัจจุบัน 'Love in a Different Climate: Men Who Have Sex with Men in India (1999)' และ 'Colonies of the Heart (1998)' ซีบรุกเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ครูและอาจารย์มหาวิทยาลัย เขาเขียนบทละคร บทโทรทัศน์และวิทยุ ทั้งยังเขียนบทความให้วารสารและหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับ อาทิ New Internationalist, Third World Network, New Statesman และ The Ecologist ปัจจุบันเขาเขียนบทความให้แก่ The Statesman ในเมืองกัลกัตตา (Kolkata, India)

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page