top of page

รัฐศาสตร์ไม่ฆ่า (Nonkilling Global Political Sciences)


รัฐศาสตร์ไม่ฆ่า

แปลจาก Nonkilling Global Political Sciences (2002) เขียนโดย Glenn Durland Paige แปลโดยศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ โครงการจัดพิมพ์คบไฟ พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2552 จำนวน 288 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789742364236

"ศิลปวิทยาที่รีรอไม่ยอมลืมผู้ก่อตั้งวิชาของตน จะหลงทาง (A science which hesitates to forget its founders is lost.)" - อัลเฟรด นอร์ท ไวท์เฮด (Alfred North Whitehead: 1861-1947)

สู่การไม่ฆ่า: คำท้าทายเพื่อการเปลี่ยนแปลงโลก

เมื่อปี 2007 Stephen M. Younger เขียนหนังสือชื่อ 'Endangered Species: How We Can Avoid Mass Destruction and Build a Lasting Peace' ขณะที่เป็นนักวิจัยรับเชิญที่ Woodrow Wilson International Center for Scholars หน้าปกหนังสือเล่มนี้มีคำนิยมซึ่งเขียนโดยประธานของศูนย์ดังกล่าวคือ Lee Herbert Hamilton (1931-) ว่าเป็น "พิมพ์เขียวสำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21 (A provocative, challenging, engaging and ultimately important blueprint for the 21st century.)" หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยมหันตภัยที่โลกกำลังจะเผชิญและหนทางสร้างสันติภาพถาวร ที่จริงในในสองสามปีที่ผ่านมา หนังสือทำนองนี้มีออกมามาก แต่เล่มนี้แปลกและสำคัญเพราะภูมิหลังของผู้เขียน

Younger ไม่ใช่นักรัฐศาสตร์หรือนักสังคมศาสตร์ แต่เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เคยเป็นผู้อำนวยการหน่วยงานลดภัยคุกคามความมั่นคงของกระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ (Defense Threat Reduction Agency) ตั้งแต่ปี 2001-2004 และก่อนจะมาประจำที่ Woodrow Wilson Center เขาเพิ่งเกษียณจากงานที่ Los Alamos National Laboratory ในฐานะนักวิจัยอาวุโส ดูแลการวิจัยและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก่อนจะมาเขียนหนังสือ Endangered Species ที่ไม่มีเชิงอรรถใดๆ เล่มนี้ เขามีหน้าที่ออกแบบอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ

แต่ Younger เกี่ยวอะไรกับงานของงานเขียนของ Glenn Durland Paige เรื่อง Nonkilling Global Political Science เล่มนี้? เมื่อ Younger พิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลประชาธิปไตยกับการลดความรุนแรง เขากล่าวถึงความจำเป็นในการออกแบบหนทางลดความน่าจะเป็นของความรุนแรงระดับใหญ่ในอนาคต เขาเห็นว่าไม่สู้มีผู้สนใจออกแบบในลักษณะนี้อย่างจริงจัง เว้นแต่หนังสือของ Paige เล่มนี้ ซึ่งเมื่อแรกไม่มีสำนักพิมพ์ใดใส่ใจ จนเขาเห็นว่าประวัติการพิมพ์หนังสือเล่มนี้นั้นเองก็น่าสนใจขนาดเขียนเป็นเรื่องได้ต่างหาก แต่บัดนี้หนังสือ Nonkilling Global Political Science กลายเป็นหนังสือที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษทั้งในสหรัฐฯ อินเดีย และฟิลิปปินส์ นอกจากนั้นกำลังถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ อีก 26 ภาษา รวมทั้งภาษาไทยเล่มนี้ด้วย Younger เชื่อว่า Paige เป็นนักอุดมคติ แต่เพราะเคยผ่านสงครามเกาหลีมาด้วยตนเอง Paige จึงเข้าใจความรุนแรงได้ชัดเจน และในบรรดาคำถามต่างๆ ที่ Paige ตั้ง คือคำถามว่าเพราะเหตุใดสงครามจึงกลายเป็นสถาบันทางสังคมซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป และทำไมการทำงานเพื่อขจัดความรุนแรงให้สิ้นไปจากโลกจึงได้รับความสนใจให้ความสำคัญน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการทำงานเพื่อขจัดทุกข์อื่นๆ ของมนุษย์ อย่างเช่น ปัญหาความยากจนของคนในโลก

ที่จริง Paige เดินทางไปทั่วโลกทั้งในสหรัฐฯ สวีเดน รัสเซีย จอร์แดน ญี่ปุ่น เกาหลี ลิทัวเนีย แคนาดา และโคลอมเบีย เพื่อพบกับนักรัฐศาสตร์และและผู้คนกลุ่มต่างๆ รวมทั้งคนที่เป็นฆาตกรเคยฆ่าคนมาแล้วด้วย เพื่อตั้งคำถามว่าสังคมที่ปลอดจากการฆ่าเป็นไปได้หรือไม่? ถ้าไม่ได้เป็นเพราะเหตุใด? และถ้าเป็นไปได้เพราะเหตุใด? หลังจากความพยายามศึกษา เก็บข้อมูล และไตร่ตรองกว่าสองทศวรรษ เขามีบทสรุปที่เด็ดขาดชัดเจนว่าเป็นไปได้ และดังนั้นต้องยุติและไม่ให้มีการฆ่าฟันกันต่อไป (No More Killing)

สำหรับบางคน ข้อสรุปเช่นนี้ละม้ายเหมือนคำเทศนาทางศาสนา และดังนั้นจึงไม่น่าสนใจกระไรนัก กระทั่งไม่น่าจะมีความเชื่อมโยงใดๆ กับวิชารัฐศาสตร์ซึ่งดำรงอยู่ด้วยการศึกษาเชิงวิพากษ์ว่าด้วยอำนาจ การใช้อำนาจ และบ่อยครั้งเชื่อมโยงการใช้อำนาจเข้ากับความรุนแรง กระทั่งหลายคนถือว่าอำนาจในการเอาชีวิตมนุษย์เป็นพื้นฐานสำคัญของอำนาจรัฐ และเพราะมนุษย์เอาชีวิตฆ่าฟันกันจึงจำเป็นต้องมีสังคมการเมือง และถ้าแม้จะเชื่อมโยงกับวิชารัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์อื่นๆ ได้ การมุ่งมั่นสนใจแต่กับประเด็นฆ่า-ไม่ฆ่าก็เป็นการเข้าใจปัญหาความรุนแรงอย่างคับแคบ ไม่ใส่ใจกับความรุนแรงชนิดอื่นๆ เช่นความรุนแรงทางเศรษฐกิจหรือทางวัฒนธรรมที่กลุ้มรุมทำร้ายการดำรงอยู่ ชีวิต ศักดิ์ศรี และอัตลักษณ์ของผู้คนส่วนใหญ่ในโลกในรูปต่างๆ อย่างสลับซับซ้อน

สำหรับบางคน เพราะข้อสรุปดังกล่าวละม้ายเหมือนคำเทศนาทางศาสนา โดยเฉพาะศีลข้อปาณาติบาตฯ อันเป็นศีลข้อแรกของพุทธศาสนา ข้อห้ามเอาชีวิตทุกชนิดในศาสนาเชน และข้อห้ามสังหารชีวิตมนุษย์ในคริสต์ศาสนา ดังนั้นจึงน่าสนใจเพราะเป็นการตอกย้ำคำสอนทางศาสนาที่เก่าแก่กว่าสองสหัสวรรษ ขณะเดียวกันก็อาจไม่มีอะไรมากกว่ายืนยันคำสอนทางศาสนาที่มีมาแต่โบราณ

แต่การสรุปเช่นนี้มีปัญหาอยู่บ้าง เพราะคล้ายกับการด่วนสรุปคำสอนทางศาสนาทั้งหลายที่เมื่อฟังแต่แรกอาจเห็นว่าคับแคบไม่น่าสนใจ ต่อเมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเห็นนัยที่แฝงอยู่ในคำสอนนั้น เช่น ในพระคัมภีร์ไบเบิล พระเยซูสอนมนุษย์ว่า "ถ้าผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน ก็จงหันแก้มซ้ายให้เขาด้วย" มักเข้าใจกันทั่วไปว่าเป็นคำสอนให้คนยอมพ่ายแพ้ ยอมจำนน ไม่ต่อต้านความไม่เป็นธรรมใดๆ แต่ในทัศนะของนักวิชาการด้านพระคัมภีร์สายสันติวิธีบางคน เช่น Walter Wink (1935-2012) เห็นว่าคำสอนนี้ควรต้องใคร่ครวญให้ละเอียด เพราะคำสอนไม่ได้สอนว่า "ถ้าผู้ใดตบแก้มซ้ายของท่าน ก็จงหันแก้มขวาให้เขาตบด้วย" ปัญหาอยู่ที่ว่าแก้มขวาต่างจากแก้มซ้ายอย่างไร?

การตบแก้มขวาโดยคนที่อยู่ตรงหน้ากระทำได้ยาก เว้นแต่จะใช้หลังมือตบ และในยุคสมัยของพระเยซู การใช้หลังมือตบเช่นนี้มีนัยทางวัฒนธรรม เพราะเป็นการใช้ให้รู้ว่าใครเป็นนายเป็นบ่าว คือนายจะใช้หลังมือขวาของตนตบแก้มขวาของบ่าว (ไม่ใช้มือซ้ายเพราะถือว่าไม่สะอาด) คำสอนให้หันแก้มซ้ายให้ตบจึงไม่ใช่การยอมจำนนแบบชืดชา แต่เป็นการเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจอย่างสำคัญ เพราะเปลี่ยนสถานะการเป็นบ่าวเป็นนายให้เป็นสัมพันธภาพระหว่างคนสามัญซึ่งเท่ากันเผชิญหน้ากัน ที่ถ้าจะตบแก้มซ้ายของอีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องทำด้วยการใช้ฝ่ามือข้างขวาของผู้ตบเท่านั้น (ไม่ใช่หลังมือ)

ข้อเสนอของ Paige ให้ยุติการฆ่าฟันทั้งมวลก็มีลักษณะเช่นนี้ เพราะแฝงนัยที่สลับซับซ้อนไว้ ด้วยเหตุนี้คงต้องตั้งคำถามว่าสังคมที่ปลอดจากการฆ่าเป็นเช่นไร? Paige อธิบายไว้ในหน้าแรกของหนังสือว่า สังคมที่ปลอดจากการฆ่าเป็นสังคมที่ปราศจากการฆ่าฟันมนุษย์ ปราศจากการขู่คุกคามว่าจะฆ่า (Threats to Kill) ปราศจากอาวุธที่ออกแบบมาให้ฆ่าฟันผู้คน ปราศจากเหตุผลรองรับให้กับการฆ่า (Justifications) และปราศจากเงื่อนไขในสังคมที่มุ่งจะรักษาหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งไรได้ด้วยการฆ่าฟันหรือขู่คุกคามว่าจะฆ่าฟัน

เมื่อเข้าใจว่าสังคมที่ปลอดการฆ่าเป็นเช่นนี้ คำถามที่ว่าสังคมมนุษย์ที่ปลอดจากการฆ่าฟันกันเป็นไปได้หรือไม่? จึงสลับซับซ้อนมิได้เรียบง่ายไร้เหลี่ยมคมทางปัญญา เช่นสังคมการเมืองที่ไม่ต้องสละทรัพยากรไปคิดค้น ทดลอง ผลิต ค้าขาย และใช้อาวุธ อาจมีหน้าตาทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยพบเห็นกันในศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21 มาก ในแง่นี้คำถามของ Paige มีสภาพเป็นดังเทียบเชิญให้นักสังคมศาสตร์และผู้คนทั่วไปได้สอบทานลึกเข้าไปในจิตใจส่วนรวมของสังคมมนุษย์ที่โดดเด่นด้วยลักษณะขัดกันอยู่ในที ระหว่างจิตวิญญาณที่ตะโกนเงียบๆ ว่าให้ยุติการฆ่าฟันกันได้แล้ว และเสียงกระซิบก้องฟ้าของการเมืองที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของสังคม ซึ่งมักถือว่าการฆ่าฟันเป็นเรื่องปกติสามัญ

"รัฐศาสตร์ไม่ฆ่า (Nonkilling Global Political Science)" เผชิญหน้ากับคำถามดังกล่าวด้วยวิชาความรู้อันหนักแน่นที่ผสมผสานสามัญสำนึกเข้ากับธรรมชาติ ศรัทธาในศาสนา พลังทางวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ซึ่งสะท้อนชัดจากสัญลักษณ์ของ Center for Global Non-violence (ที่กำลังเปลี่ยนเป็น Center for Global Nonkilling) ดังที่ปรากฏอยู่บนปกหนังสือเล่มนี้ด้วย อันเป็นส่วนผสมระหว่างสัญลักษณ์หยิน-หยาง (Yin and Yang) ของเอเชียโบราณ เข้ากับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสมองมนุษย์ ที่ค้นพบว่าการกระตุ้นช่องทางระหว่างระบบในสมองที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก (Pathways) อาจเปลี่ยนพฤติกรรมรุนแรงของมนุษย์ให้กลายเป็นพฤติกรรมสันติได้ ในวงกลมแห่งจักรวาลจึงประกอบด้วยแถบ 3 สีคือ ริ้วสีน้ำเงินแทนความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงขับเคลื่อนโลก (Transformational Initiatives) โดยอาศัยความสามารถในการไม่ฆ่าของมนุษย์อันเป็นแถบสีขาว เพื่อทำการให้โลกก้าวไปสู่การยุติความรุนแรงซึ่งสะท้อนด้วยแถบสีแดง

"Nonkilling Global Political Science" เล่มนี้ คบไฟได้รับเกียรติจากศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักรัฐศาสตร์-ปัญญาชนสาธารณะรุ่นใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอประเด็นถกเถียงต่างๆ ในแวดวงนักคิดและภาคประชาสังคมของไทย แปลหนังสือนี้เป็นภาษาไทยด้วยความตั้งใจและความรู้กว้างขวางในวิชาสังคมศาสตร์ โดยมีเนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์ แห่งคบไฟช่วยดูแลการผลิตให้ แต่ชื่อหนังสือเล่มนี้ในภาษาไทยต่างจากชื่อหนังสือในภาษาอังกฤษอยู่บ้าง คบไฟตัดสินใจใช้ชื่อ "รัฐศาสตร์ไม่ฆ่า" นอกจากเพราะคำว่า "ไม่ฆ่า" จะถอดจากคำว่า "Nonkilling" ของ Paige มาโดยตรงแล้ว ยังเพราะชื่อหนังสือนี้อาจถือว่าเป็นประโยคที่ประกอบด้วยประธาน คือคำว่า "รัฐศาสตร์" และกริยาคือคำว่า "ไม่ฆ่า" ได้ด้วย เป็นการเรียกร้องความรับผิดชอบจากวิชาและผู้คนที่เกี่ยวข้องกับรัฐศาสตร์ ทั้งนี้เพราะวิชารัฐศาสตร์เป็นแขนงวิชาที่ผู้ศึกษาอุทิศชีวิตให้กับการสอน งานวิจัย และการให้บริการสังคมที่เกี่ยวพันกับฐานะของความรุนแรงในการเมือง ถ้าผู้คนเหล่านี้ไม่ลุกขึ้นตั้งคำถามกับสมมุติฐานการดำรงอยู่ของการฆ่าว่าเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ในทางการเมืองเสียแล้วก็ไม่ต่างอะไรจากแพทย์ที่ทำงานรักษาคนไข้ไปวันๆ บนสมมุติฐานว่าโรคภัยที่คนไข้เผชิญอยู่นั้นรักษาให้หายไม่ได้

อาจเพราะเช่นนี้ Paige จึงใช้ข้อความของนักปรัชญาคนสำคัญคือ อัลเฟรด นอร์ท ไวท์เฮด (Alfred North Whitehead: 1861-1947) ที่ว่า "ศิลปวิทยาที่รีรอไม่ยอมลืมผู้ก่อตั้งวิชาของตนจะหลงทาง (A science which hesitates to forget its founders is lost)" และชวาหะร์ลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru: 1889-1964) รัฐบุรุษของโลกผู้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียยุคใหม่ที่ว่า "คำถามที่ประเทศชาติเลือกจะตั้ง เป็นมาตรวัดการพัฒนาการเมืองของประเทศนั้นๆ บ่อยครั้งที่ความล้มเหลวของประเทศเป็นผลมาจากการไม่ตั้งคำถามให้ถูกต้อง" มาเป็นนิเทศพจน์นำหนังสือและนำบทที่ 1 ตามลำดับ คบไฟเชื่อว่าการพยายามตั้งคำถามที่มีความหมายต่อชีวิตและสังคม ผสานกับการใช้ทัศนะเชิงวิพากษ์อย่างสร้างสรรค์ต่อรากฐานทางปัญญาของตนนั้นเปรียบเสมือนคบไฟที่จุดขึ้นเพื่อช่วยให้สังคมปลอดพ้นจากแมลงร้ายและความมืด คบไฟมั่นใจว่าในยุคสมัยที่สังคมไทยมีความแตกต่างขัดแย้งกันสูงและมีเงาทะมึนแห่งความรุนแรงทาบทับสังคมอยู่เช่นนี้ "รัฐศาสตร์ไม่ฆ่า" เป็นหนังสือเล่มสำคัญที่เราเชื่อว่าดีมีคุณค่าในทางสร้างสรรค์สังคมไทยให้เข้มแข็งมีพลังบนหนทางสันติวิธีจนอาจก้าวไปในอนาคตได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น

[con·tin·ue]

คำนำจากผู้เขียน

กิตติกรรมประกาศ

บทนำ (Introduction: The Policy Sciences of Nonkilling)

บทที่ 1 สังคมที่ปราศจากการฆ่านั้นเป็นไปได้หรือ? (Is a Nonkilling Society Possible?)

"ปรัชญาเริ่มต้นเมื่อคนตั้งคำถามที่ดูเป็นเรื่องทั่วไป วิทยาศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน (Philosophy begins when someone asks a general question, and so does science.)" - เบอร์ทรันด์ รัสเซล (Bertrand Arthur William Russell: 1872-1970)

"คำถามที่ประเทศชาติเลือกจะตั้ง เป็นมาตรวัดการพัฒนาการเมืองของประเทศนั้นๆ บ่อยครั้งที่ความล้มเหลวของประเทศเป็นผลมาจากการไม่ตั้งคำถามให้ถูกต้อง (The questions that a country puts are a measure of that country’s political development. Often the failure of that country is due to the fact that it has not put the right question to itself.)" - ชวาหะร์ลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru: 1889-1964)

บทที่ 2 ความสามารถเกิดสังคมปลอดการฆ่า (Capabilities for a Nonkilling Society)

"เราน่าจะรู้พอแล้วว่ามนุษย์สามารถปิดฉากยุคสมัยแห่งความรุนแรงได้ หากพวกเขามุ่งมั่นสร้างทางเลือกนั้นขึ้นมา (Already we may know enough for man to close his era of violence if we determine to pursue alternatives.)" - เดวิด แดเนียลส์ (David N. Daniels) และมาร์แชล กิลูลา (Marshall F. Gilula)

บทที่ 3 ความหมายต่อวิชารัฐศาสตร์ (Implications for Political Science)

"หลักการใช้ความรุนแรงไม่ได้เป็นเพียงประเด็นทางศาสนา หลักการไร้ความรุนแรงหาใช่เป็นเพียงประเด็นทางสังคม หลักการไร้ความรุนแรงคือศาสตร์แห่งอำนาจ (Nonviolence is not only a matter of religion. Nonviolence is not only a matter of society. Nonviolence is the science of power.)" - รามจันทรัน (G. Ramachandran)

บทที่ 4 ผลต่อการแก้ปัญหา (Problem-Solving Implications)

"คนทั้งผองผู้บริภาษและต่อสู้กับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ล้วนเห็นพ้องกันว่าปฐมเหตุของโศกนาฏกรรมนี้คือการเมือง (All of those who denounce and combat this holocaust [of tens of millions of deaths from malnutrition and economic deprivation] are unanimous in maintaining that the causes of this tragedy are political.)" - คำแถลงของผู้ได้รับรางวัลโนเบล 53 คนในปี 1981 (Manifesto of Fifty-three Nobel Laureates, 1981)

บทที่ 5 ความเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบัน (Institutional Implications)

"บ่อยครั้งที่เหล่าสถาบันที่เราถือว่าคือสถาบันซึ่งจำเป็นนั้น เป็นแค่สถาบันที่เราคุ้นเคยเพราะเติบโตมากับมัน พรมแดนของสถาบันสังคมที่เป็นไปได้นั้นกว้างใหญ่จนเกินกว่าที่มนุษย์ในสังคมทั้งหลายจะจินตนาการถึง (That which we call necessary institutions are often no more than institutions to which we have grown accustomed, and… in matters of social constitution the field of possibilities is much more extensive than men living in their various societies are ready to imagine.)" - อเล็กซิส เดอ ต็อกเกอวิลล์ (Alexis Charles Henri Clérel, Viscount de Tocqueville: 1805-1859)

"เราล้วนสร้างนานาปัญหาที่อันตรายต่อชีวิตบนพื้นพิภพ ภัยนี้กระทบเราทุกคน เราจึงต้องร่วมมือเพื่อเปลี่ยนมัน (The problems that threaten life on Earth were produced collectively, they affect us collectively, and we must act collectively to change them.)" - เพตรา เคลลี (Petra Karin Kelly: 1947-1992)

บทที่ 6 รัฐศาสตร์โลกไม่ฆ่า (Nonkilling Global Political Science)

"เราอยู่ในศักราชใหม่ ศักราชซึ่งวิธีการและข้อสรุปเก่าๆ ใช้ไม่ได้อีกต่อไป เราต้องมีปัญญาแบบใหม่ มีความคิดใหม่ และมีมโนทัศน์แบบใหม่ด้วย เราต้องปลดแอกตัวเองจากความคับแคบของอดีต (We are in a new era. The old methods and solutions no longer suffice. We must have new thoughts, new ideas, new concepts…. We must break out of the strait-jacket of the past.)" - นายพลดักลาส แมคอาร์เธอร์ (General Douglas MacArthur: 1880-1964)

"มนุษย์ต้องมีสติสัมปชัญญะและเข้าใจยุทธศาสตร์พอที่จะสะบั้นห่วงโซ่แห่งความรุนแรงและการทำลายล้างในประวัติศาสตร์ (Someone has to have sense enough and even strategy to cut off the chains of violence and destruction in history.)" - มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.: 1929-1968)

"ประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ทั้งหมดล้วนยืนยันอย่างชัดแจ้งถึงความจริงที่ว่า ตราบใดที่มนุษย์ไม่พยายามไขว่คว้าหาสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มนุษย์ก็ไม่มีวันบรรลุเป้าหมายที่เป็นไปได้จริง (Certainly all historical experience confirms the truth— that man would not have attained the possible unless time and time again he had reached out for the impossible.)" - แมกซ์ เวเบอร์ (Maximilian Karl Emil Weber: 1864-1920)

"พวกเรากำลังเผชิญกับปรากฎการณ์ที่ความเป็นไปไม่ได้ของวันวาน กลายเป็นความเป็นไปได้ในวันนี้ (We are daily witnessing the phenomenon of the impossible of yesterday becoming the possible of today.)" - มหาตมะ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi: 1869-1948)

ภาคผนวก หมายเหตุท้ายเล่ม บรรณานุกรม และดัชนี

เกี่ยวกับผู้เขียน

"แต่เกล็นไม่สู้จะมีความสุขนักกับสภาพของโลกที่มีความรุนแรงให้เห็นอยู่ทั่วไป เขาเอาจริงเอาจังกับสันติวิธีจนผู้คนที่ไม่คุ้นเคยกับความจริงจังออกจะรู้สึกลำบากใจ ในฐานะนักสังคมศาสตร์ เขามองเห็นเงาของความรุนแรงที่แพร่เข้าครอบงำกระบวนสังคมทั้งมวลเข้าไว้ จนแม้ภาษาที่ใช่ก็แฝงความรุนแรงอยู่ในตัว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แต่หมายถึงกระบวนทัศน์แห่งความรุนแรงที่ครอบงำโลกอยู่ การเปลี่ยนแปลงวิถีไปสู่แนวทางสันติวิธีจึงเป็นเรื่องยากเย็น"

"ห้ามเรียกฉันว่า ดร.เพจ ให้เลือกเอาว่าจะเรียกฉันว่าศาสตราจารย์เพจ หรือเกล็นเฉยๆ"

ชายกลางคนหน้าตาหล่อเหลา รูปร่างสันทัด ไม่สูงโปร่งอย่างอเมริกันทั่วไป กล่าวเป็นประโยคแรกๆ ในวิชาเรียน "ทางเลือกแห่งการไม่ใช้ความรุนแรงทางการเมือง (Non-violent Political Alternatives)" เมื่อเดือนมกราคม 1978 กลุ่มคนฟังเป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตจากประเทศต่างๆ ที่เดินทางไกลกันมาร่ำเรียนสรรพวิชา ณ มหาวิทยาลัยฮาวาย (University of Hawaii) เมืองโฮโนลูลู (Honolulu) สหรัฐอเมริกา คนฟังที่เป็นเด็กหนุ่มอายุ 23 ปีจากกรุงเทพฯ ขมวดคิ้วด้วยความงุนงง ไม่ใช่เพราะไม่คุ้นเคยกับการที่ครูบาอาจารย์ขอให้ศิษย์เรียกชื่อต้นชนิดไม่มีคำนำหน้า เพราะนี่ดูจะเป็นจารีตที่ปฏิบัติกันอยู่ในคณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งนั้น ด้วยเหตุนี้ที่นั่นจึงไม่สู้ได้ยินเสียงเรียกหากันว่า "ศาสตราจารย์เฮนนิงเสน (Henningsen)" ได้ยินแต่ชื่อ "ไมค์" หรือ "แมนเฟร็ด (Manfred)" ยิ่งกว่า ที่แปลกใจเห็นจะเป็นเพราะการเสนอทางเลือกให้ต่างหาก และเป็นทางเลือกที่ออกจะแตกต่างกันสุดขั้ว เพราะทางหนึ่งคือวิถีทางการซึ่งตอกย้ำฐานภาพอันสูงส่งของผู้เป็นอาจารย์ด้านตำแหน่งทางวิชาการนำหน้าชื่อสกุล ขณะที่อีกทางหนึ่งคือวิถีสามัญอันผลักให้ทุกคนอยู่ในฐานะมิตร เรียกหากันด้วยชื่อต้นอันคุ้นเคย

สามชั่วโมงถัดจากนั้น ชายหนุ่มจากสยามนั่งฟังวาจาที่ผ่านริมฝีปากบางเฉียบ บอกความเจ้าระเบียบ นั่งมองด้วยสายตาเจิดจ้า แต่บางครั้งนิ่มนวล ที่สะท้อนผ่านแว่นกรอบเงิน รับกับสีผมของผู้พูดที่เริ่มมีสีเงินแซมสีดำขึ้นมาให้เห็น คนทั้งสองถูกดึงดูดเข้าหากันด้วยเหตุผลที่ต่างกัน แต่ด้วยเหตุการณ์ที่คล้ายกัน คนหนุ่มจากบ้านนา เหตุผลหนึ่งก็เพราะเวลานั้นบ้านไม่น่าอยู่อีกต่อไป มหาวิทยาลัยริมฝั่งเจ้าพระยาที่เขาร่ำเรียนมาถูกบุกรุกทำลาย ผู้คนในมหาวิทยาลัยถูกทำทารุณและฆาตกรรมอย่างโหดร้ายผิดมนุษย์ จนคนหนุ่มสาวมากหลายทิ้งเมืองไปสู่ป่า จับอาวุธขึ้นต่อต้านรัฐบาลอธรรมยุคนั้น เขาไม่ได้เลือกเส้นทางสู่ป่าเพราะไม่เห็นด้วยกับวิธีการอันรุนแรงอยู่แต่เดิม แต่ก็ไม่ทราบว่าจะทำเช่นไร เมื่อโอกาสได้รับทุน East-West Center ผ่านมา เขาจึงเดินทางออกนอกประเทศ ลึกๆ เพื่อมุ่งหาคำตอบต่อปัญหาความโหดร้ายรุนแรงที่เกิดขึ้นกับบ้านเกิด

อาจารย์ผู้อาวุโสมองชายหนุ่มด้วยความสนใจยิ่ง เมื่อได้ทราบว่านักศึกษาผู้เคยทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยที่ตกเป็นเหยื่อแห่งความรุนแรงอย่างฉกรรจ์ในดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาผู้นี้เป็นชาวมุสลิมที่ได้รับการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียนคาทอลิก ก็ยิ่งมองมาด้วยประกายตายินดีระคนประหลาดใจ หลายปีจากนั้น ผู้เป็นศิษย์จึงทราบว่าเหตุหนึ่งที่อาจารย์ของตนยินดี เพราะการพบชายหนุ่มคือการยืนยันแนวคิดทฤษฎีสันติวิธีที่ท่านเชื่ออยู่ ด้วยฝ่ายหลังเป็นมุสลิมที่ใฝ่ใจสันติวิธี

เกล็น เพจ (Glenn Durland Paige: 1929-2017) เกิดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1929 ที่เมืองบรอคตัน (Brockton) ในรัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) เขาเข้าเรียนวิชารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) ตั้งแต่ปี 1947 แต่ไปจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแห่งนั้นเมื่อปี 1954 เพราะเกิดสงครามเกาหลี และเขาเข้าเป็นทหารในกองทัพสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1948 ถึง 1952 จากนั้นก็ไปร่ำเรียนวิชาด้านเอเชียตะวันออกศึกษาจนจบเป็นมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) เมื่อปี 1957 โดยเป็นผู้ชำนาญพิเศษในเรื่องเกาหลี แต่ไปจบการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น (Northwestern University) เมื่อปี 1959 อันเป็นยุคที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีชื่อเสียงโดดเด่นด้านการศึกษาสังคมศาสตร์แนวประจักษ์เน้นเชิงปริมาณ มีปรมาจารย์ด้านแบบทดลองทางสังคมศาสตร์ที่โด่งดังอย่าง Donald Thomas Campbell (1916-1996) เป็นคนสอนอยู่ด้วย และเกล็นก็ประทับใจกับ Campbell ตลอดมา

เกล็นเขียนวิทยานิพนธ์เล่มสำคัญที่ชื่อ The Korean Decision กับปรมาจารย์ทางด้านทฤษฎีการตัดสินใจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือ ริชาร์ด สไนเดอร์ (Richard C. Snyder: 1916-1997) ท่านผู้นี้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาแนวคิดด้านนโยบายต่างประเทศที่เน้นศาสตร์แห่งการตัดสินใจ ดังปรากฏในงานเขียนที่ท่านร่วมงานกับคนอื่นเรื่อง Foreign Policy Decision Making ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1962

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 

bottom of page