top of page

ร่างกายใต้บงการ: ปฐมบทแห่งอำนาจในวิถีสมัยใหม่ (The Chapter 'Les Corps Dociles' from Surveill


ร่างกายใต้บงการ: ปฐมบทแห่งอำนาจในวิถีสมัยใหม่

แปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส The Chapter 'Les Corps Dociles' from Surveiller et Punir (1975) เขียนโดย Michel Foucault แปลโดยทองกร โภคธรรม โครงการจัดพิมพ์คบไฟ พิมพ์ครั้งที่ 3 พฤศจิกายน 2558 (พิมพ์ครั้งแรก 2547) จำนวน 112 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9786167150611

ระเบียบวินัยได้อุบัติอย่างเเท้จริงในประวัติศาสตร์เมื่อเทคนิคเกี่ยวกับกายมนุษย์ได้ก่อกำเนิดขึ้น เทคนิคดังกล่าวมิได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อเพิ่มทักษะของร่างกายหรือเพียงเพื่อให้ร่างกายถูกควบคุมได้มากขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง เเต่เป็นการก่อรูปความสัมพันธ์ชนิดหนึ่งที่ซึ่งยิ่งร่างกายเชื่อฟังการควบคุมได้มากเท่าใดก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ได้มากเท่านั้น รวมถึงในทิศทางกลับกันด้วย จึงได้เกิดเเนวการใช้อำนาจแบบบังคับซึ่งมุ่งจัดการกับร่างกายมนุษย์ เป็นการเชิดชักส่วนประกอบต่างๆ ของร่างกาย อากัปกิริยาพฤติกรรมทั้งหลายของร่างกายนั้น กายมนุษย์ถูกต้อนเข้าไปในเครื่องจักรกลเเห่งอำนาจที่ทำการคุ้ยค้น รื้อแยก เเล้วประกอบมันขึ้นมาใหม่

บรรณาธิการแปลและบทคำนำเสนอโดยรองศาสตราจารย์นพพร ประชากุล

ฟูโกต์กับการสืบสาวความเป็นมาของสมัยใหม่

มิแช็ล ฟูโกต์ (Paul-Michel Foucault: 1926-1984) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดผู้หนึ่งในความเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาและวิชาการที่เรียกอย่างกว้างๆ ในประเทศฝรั่งเศสว่าโครงสร้างนิยม (le structuralisme) ซึ่งได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวงการสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในระดับสากลอย่างใหญ่หลวงในช่วง 3 ทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 จวบจนปัจจุบัน อิทธิพลจากความคิดของเขาได้แผ่ซ่านเข้าไปในสาขาวิชาต่างๆ ของการศึกษามนุษย์และสังคมทั้งในส่วนของรัฐศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา จิตวิทยา ปรัชญา ประวัติศาสตร์ วรรณกรรมศึกษา สื่อสารมวลชนศึกษา สตรีนิยม การวิเคราะห์ในแนวหลังอาณานิคมและวัฒนธรรมศึกษาด้านอื่นๆ โดยเปิดประเด็นใหม่ๆ ที่แหลมคมและลึกซึ้ง อีกทั้งก่อให้เกิดพลวัตขึ้นอย่างมากมายในสาขาวิชาเหล่านี้

ฟูโกต์มักได้รับการโจษขานว่าเป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญความเป็นชายขอบสังคม (la marginalité sociale) หากเรากวาดตาดูหัวข้อเนื้อหาที่หนังสือหลายเล่มของเขาครอบคลุมถึง เช่น เรื่องราวเกี่ยวกับคนจิตวิปลาส คนป่วย อาชญากร การจองจำ วิถีทางเพศ ฯลฯ ก็ชวนให้เข้าใจไปในแนวทางดังกล่าว ซึ่งความเข้าใจเช่นนี้ก็นับว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ดึงดูดให้นักสังคมศาสตร์ทั่วทุกภูมิภาคของโลกสนใจผลงานของเขาซึ่งผ่านการแปลเป็นภาษาต่างๆ หลายสิบภาษา อันที่จริงนั้น ฟูโกต์มิได้สืบค้นปรากฏการณ์ชายขอบเหล่านี้เพียงในตัวของมันเอง แต่มุ่งใช้เป็นเครื่องเผยแสดงถึงกลไกการทำงานด้านที่เป็นกระแสหลักของสังคม โดยสาธิตให้เห็นอย่างละเอียดลออว่าสังคมสมัยใหม่ซึ่งอิงอยู่กับความเป็นเหตุเป็นผล ระเบียบวินัย และประโยชน์สุข ได้สถาปนาตัวตนขึ้นมาด้วยอาศัยปฏิบัติการกลบเกลื่อนสิ่งรกหูรกตาอันมากมาย และปฏิบัติการดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นปฏิบัติการเชิงอำนาจ ทว่าก็ปรากฏออกมาในรูปของการทำตามหลักวิชาเกือบทั้งสิ้น

หากจะต้องสังเขปความคิดของฟูโกต์อย่างรวบรัดที่สุดก็อาจกล่าวได้ว่าคุณูปการหลักของเขาอยู่ที่การเปิดมิติใหม่ให้แก่การศึกษาเรื่องของอำนาจ นั่นคือด้านที่อำนาจดำเนินการอย่างแนบเนียนและแทรกซึมในแนวนอนไปทั่วทั้งองค์สังคม การวิเคราะห์ในมิติใหม่นี้เลื่อนจากระดับมหภาค เช่น อำนาจปกครองของรัฐ มาสู่ระดับจุลภาค เช่น อำนาจในโรงเรียน โรงงาน โรงพยาบาล และพื้นที่ประเภทอื่นๆ ทำให้แลเห็นความซับซ้อนยอกย้อนของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในเสี้ยวส่วนต่างๆ ของสังคม ยิ่งไปกว่านั้น จุลมิติของอำนาจดังกล่าวยังเชื่อมโยงกับกรอบความรู้ความคิดของสังคมแต่ละยุคสมัยด้วยปฏิสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นผ่านสิ่งที่ฟูโกต์เรียกว่าวาทกรรม (le discours) หรือบรรดาคำพูดข้อเขียนทั้งปวงที่ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ผลิตขึ้นและเผยแพร่ออกไปภายในกรอบความรู้เหล่านั้น ซึ่งแนวคิดเรื่องวาทกรรมนี้เองเป็นเสมือนกุญแจที่ไขสู่ความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ฟูโกต์ยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่าปัจเจกชนซึ่งสังคมสมัยใหม่ทำให้เข้าใจว่ามีอิสระเสรีเป็นนายของตัวเองหรือที่เรียกว่าอัตบุคคล (le sujet) นั้น แท้จริงแล้วเป็นมายาภาพที่ประกอบสร้างขึ้นด้วยเครือข่ายของอำนาจทางสังคมและวาทกรรม กล่าวให้ถึงที่สุด อัตบุคคลเป็นเพียงการสวมบทบาทในตำแหน่งแห่งที่ต่างๆ ในเครือข่ายดังกล่าว แม้ว่าในชั้นหลัง ฟูโกต์จะชี้แนวทางความเป็นไปได้ที่เราแต่ละคนจะตั้งตนขึ้นเป็นตัวของตัวเองในท่ามกลางโครงสร้างที่กำหนดเราไว้ก็ตาม จากหลายแง่มุมที่กล่าวมา ฟูโกต์จึงได้ชื่อว่ามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนวิชาการด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ให้ก้าวไปในแนวทางซึ่งเรียกอย่างลำลองในปัจจุบันว่าแนวหลังสมัยใหม่ (le post-modernisme)

มิแช็ล ฟูโกต์ เกิดเมื่อปี 1926 ที่เมืองปัวติเยร์ (Poitiers) ในครอบครัวคหบดีซึ่งเคร่งครัดกับวัฒนธรรมกระฎุมพีค่อนข้างมาก โดยตระกูลทั้งฝ่ายมารดาและบิดารักษาประเพณีการประกอบอาชีพแพทย์มาหลายชั่วคน บิดาของมิแช็ลเองก็เป็นศัลยแพทย์ผู้มีชื่อเสียงและเป็นอาจารย์แพทย์ในมหาวิทยาลัยของเมืองดังกล่าว จึงคาดหวังให้บุตรชายสืบทอดวิชาชีพนี้ต่อไป แต่ฟูโกต์กลับฝักใฝ่ในวิชาความรู้ด้านมนุษย์และสังคมมากกว่า หลังจบชั้นมัธยมศึกษาจากปัวติเยร์ เขาได้ย้ายมาเรียนต่อในเมืองหลวง โดยสอบแข่งขันเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาพิเศษที่เข้มงวดกับคุณภาพการเรียนการสอนอันมีชื่อว่าโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง (École normale supérieure) เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาปรัชญาจากโรงเรียนดังกล่าว รวมถึงปริญญาตรีสาขาจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (Sorbonne Université) ซึ่งเรียนไปพร้อมกันแล้ว เขาได้ผ่านการสอบบรรจุเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในปี 1951 และต่อมาด้วยความสนใจอย่างแรงกล้าในด้านจิตเวช เขายังศึกษาเพิ่มเติมที่สถาบันจิตวิทยาแห่งกรุงปารีส (Institut de psychologie de Paris) จนได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงด้านจิตวิทยาเชิงทดลองและพยาธิวิทยาทางจิต

อนึ่ง ควรตั้งข้อสังเกตด้วยว่าระหว่างที่เรียนในระดับอุดมศึกษานั้น ฟูโกต์มีศรัทธาในแนวคิดสังคมนิยมของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Heinrich Marx: 1818-1883) ถึงกับเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศฝรั่งเศส แต่อยู่ได้เพียง 2-3 ปีก็ลาออกมาด้วยเหตุผลว่าเขาอึดอัดใจกับโครงสร้างของพรรคที่มีลักษณะกดขี่ไม่ต่างจากระบบทุนนิยมของกระฎุมพี ในแง่การต่อต้านสิ่งทั้งหลายที่มีความเป็นระบบเคร่งครัด เห็นได้ว่าในภายหลัง ฟูโกต์ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากความคิดของฟริดริค นิตเช (Friedrich Wilhelm Nietzsche: 1844-1900) นักปรัชญาผู้วิพากษ์พื้นฐานความคิดทางอภิปรัชญาที่มุ่งแสวงหาสัจธรรมสูงสุด และยังเป็นผู้ปฏิเสธความคิดที่ว่าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเป็นการเดินทางสู่แสงสว่างอีกด้วย

ฟูโกต์เริ่มเส้นทางอาชีพนักวิชาการในตำแหน่งอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งเมืองลิลล์ (Université de Lille) ทางตอนเหนือสุดของประเทศ หลังจากนั้นระยะหนึ่ง เขาได้รับการทาบทามจากฌอร์ฌส์ ดูเมซิล (Georges Dumézil: 1898-1986) นักวิชาการแนวโครงสร้างนิยมรุ่นแรกๆ อดีตศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยแห่งฝรั่งเศสในสาขาอินโดยุโรปศึกษา ให้ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันฝรั่งเศสที่มหาวิทยาลัยอุปซาลา (Uppsala Universitetet) ประเทศสวีเดน ฟูโกต์จะคบหากับปรมาจารย์ผู้สูงอายุกว่าเขาถึง 30 ปีผู้นี้ต่อไปอีกยาวนาน และได้รับแรงบันดาลใจในด้านวิธีคิดมาไม่น้อย ดังที่เขากล่าวในภายหลังว่า "จากแนวคิดเรื่องโครงสร้างที่ดูเมซิลใช้วิเคราะห์ ผมได้พยายามค้นหารูปแบบโครงสร้างของประสบการณ์ในอดีต ซึ่งแบบแผนของมันนั้นสามารถพบได้ในสภาพที่แปรรูปไปในระดับต่างๆ กัน ความพยายามนี้เป็นไปในทำนองเดียวกับที่ดูเมซิลกระทำกับตำนานอินโดยุโรเปียน"

ในหอสมุดอันเก่าแก่ของมหาวิทยาลัยอุปซาลา ฟูโกต์ได้พบหนังสือตำราและเอกสารทางการแพทย์รวมทั้งจิตเวชในศตวรรษที่ 17 และ 18 จำนวนมหาศาลซึ่งตามสำนวนเมดูซิลนับเป็นขุมทรัพย์เก่าแก่ที่หลับไหลระหว่างรอคอยฟูโกต์ การคร่ำเคร่งวิจัยเอกสารเหล่านี้เป็นเวลาหลายปีได้สำเร็จออกมาเป็นผลงานสำคัญเล่มแรกซึ่งแสดงถึงเอกลักษณ์ในแนวคิดของเขาอย่างชัดเจน นั่นคือ Folie et déraison: Histoire de la folie à l'âge classique (Madness and Civilization: A History of Insanity in the Age of Reason (1964) จิตวิปลาสกับภาวะเสียสติ: ประวัติศาสตร์จิตวิปลาสในยุคคลาสสิก) ในหนังสือเล่มนี้ ฟูโกต์สาธิตให้เห็นว่าสิ่งที่เรียกว่าจิตวิปลาสมิใช่สภาวะที่มีลักษณะแน่นอนตายตัวตามธรรมชาติ แต่เป็นสภาวะที่ถูกนิยามขึ้นด้วยปฏิบัติการทางสังคมและเป็นที่รับรู้ในสถานะต่างๆ กันไปในแต่ละยุคสมัยของประวัติศาสตร์ เขาได้ใช้ข้อมูลชั้นต้นจำนวนมหาศาลตั้งแต่ทะเบียนประวัติคนไข้ พระราชโองการต่างๆ ตำราแพทย์ในหลายยุคสมัย จนถึงผลงานของนักปราชญ์และนักประพันธ์มากมายเพื่อสืบค้นดูว่าสังคมแต่ละยุคพูดถึงคนบ้าอย่างไรและปฏิบัติอย่างไรต่อคนบ้า ฟูโกต์ชี้ว่าในสมัยกลางคนบ้าสามารถอยู่ร่วมกับชุมชน มิได้ถูกกีดกันออกไปให้พ้นจากสายตาของผู้คน ในสมัยกลางมีแต่คนป่วยด้วยโรคเรื้อนเท่านั้นที่ถูกนำไปกักขัง บางครั้งบางคราว คนบ้าก็ถูกยกย่องว่าเป็นผู้มีญาณทัศน์พิเศษ สามารถเล็งเห็นสิ่งที่คนทั่วไปมองไม่เห็น แต่แล้วเมื่อถึงกลางศตวรรษที่ 17 อันเป็นช่วงของการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางสังคมมาสู่หลักของเหตุผลก็มีการกวาดต้อนคนบ้าไปคุมขังไว้ร่วมกับคนจรจัดและอาชญากร จวบจนปลายศตวรรษที่ 18 จึงได้มีการแยกเอาคนบ้าออกมาต่างหากเพื่อทำการบำบัดรักษาด้วยวิชาจิตเวชให้กลับคืนเป็นคนปกติ โดยกักกันคนเหล่านี้ไว้ในสถานที่ประเภทใหม่ นั่นคือโรงพยาบาลโรคจิต สรุปได้ว่า "ประวัติศาสตร์จิตวิปลาส" เล่มนี้ศึกษาขั้นตอนต่างๆ ที่สถาบันทางสังคมในยุโรปศตวรรษที่ 17-18 ค่อยๆ เปลี่ยนสถานะของภาวะความเป็นบ้าไปสู่อาการป่วยทางจิต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ดำเนินควบคู่ไปกับการเชิดชูหลักวิชาเพื่อสถาปนาสังคมสมัยใหม่

เมื่อกลับมาฝรั่งเศส ฟูโกต์นำผลงานนี้มาเสนอเป็นวิทยานิพนธ์ต่อมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ในปี 1961 เพื่อรับปริญญาเอกของรัฐ (doctorat d'État) อันเป็นเงื่อนไขของการเข้าสู่ตำแหน่งศาสตราจารย์ ในปีต่อมาฟูโกต์เข้ารับตำแหน่งดังกล่าวที่มหาวิทยาลัยแคลร์มงต์-แฟร์ร็องด์ (Université Clermont Auvergne, Clermont-Ferrand) นอกเหนือจากงานศึกษาเกี่ยวกับกำเนิดของระบบโรงพยาบาลในแนวทางที่ต่อเนื่องจากผลงานสำคัญชิ้นแรกแล้ว เขาก็หันมาสนใจศึกษาวรรณกรรมร่วมสมัย โดยเฉพาะผลงานของนักเขียนหัวก้าวหน้าประเภทล้ำยุค (avant-garde) หลายคน ขณะเดียวกันเขาก็เริ่มคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับความเป็นมาของศาสตร์เกี่ยวกับมนุษย์ โดยได้รับอิทธิพลจากฌอร์ฌส์ ก็องกีแย็ม (Georges Canguilhem: 1904-1995) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเสนอแนวคิดเรื่องความไม่ต่อเนื่องในพัฒนาการของวิทยาศาสตร์ รวมถึงความไม่ตายตัวของมโนทัศน์ (concept) ต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ที่เลื่อนไหลไปตามกาลเวลา ในปี 1966 Les mots et les choses: Une archéologie des sciences humaines (The Order of Things: An Archaeology of the Human Sciences - ถ้อยคำกับสรรพสิ่ง: โบราณคดีแห่งศาสตร์ว่าด้วยมนุษย์) หนังสือสำคัญอีกเล่มหนึ่งของฟูโกต์ก็ได้ตีพิมพ์ออกมาและก่อให้เกิดวิวาทะอย่างกว้างขวางใหญ่โตในหมู่ปัญญาชนฝรั่งเศส

"ถ้อยคำกับสรรพสิ่ง" มุ่งหมายที่จะสืบค้นดูความเป็นมาของการสถาปนาศาสตร์ที่หันมาจัดวางมนุษย์ให้เป็นวัตถุแห่งการศึกษา ในขั้นนี้ฟูโกต์เรียกวิธีการศึกษาของเขาว่าการขุดค้นหรือโบราณคดี (l'archéologue) ซึ่งเป็นการสำรวจลงไปในเอกสารชั้นต่างๆ เพื่อค้นหาโครงสร้างทางความคิดของแต่ละยุคสมัย โครงสร้างที่ว่านี้เรียกว่ากรอบความรู้ (épistémè) อันหมายถึงกรอบที่กำกับเครือข่ายของความรู้ ความเชื่อ วิธีคิด วิธีเข้าใจสิ่งต่างๆ ในยุคหนึ่งๆ เป็นเบ้าหลอมคำพูดและข้อเขียนในเรื่องต่างๆ ที่ไหลเวียนไปมาในสังคมซึ่งเรียกว่าวาทกรรมและเป็นแหล่งอ้างอิงของผู้คนในยุคนั้นๆ ที่จะหยิบยื่นความหมายและคุณค่าแก่สรรพสิ่ง ในการขุดค้นดังกล่าว ฟูโกต์พาเราย้อนกลับไปยังยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการเพื่อชี้ว่ากรอบความรู้ในยุคนั้นอิงอยู่กับการเล็งเห็นความคล้ายคลึง (la ressemblance) ระหว่างสิ่งต่างๆ เช่น ท้องฟ้ามีความคล้ายคลึงกับใบหน้าของคนเรา มีดวงตาอันได้แก่ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ฯลฯ ความรู้ของคนในยุคนั้นจึงเป็นการรู้ว่าอะไรเหมือนกับอะไร แต่เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 17 และ 18 ก็เกิดการตัดขาดขึ้นในโลกของความรู้ กรอบความรู้แบบใหม่ที่ผุดบังเกิดขึ้นหันมาเน้นการแยกแยะความแตกต่างระหว่างสรรพสิ่ง โดยอาศัยการชั่ง ตวง วัด และการจัดประเภทสิ่งต่างๆ ตามคุณสมบัติเฉพาะ อัตลักษณ์และความแตกต่างเหล่านี้สามารถแสดงแทนได้ด้วยภาษาซึ่งเชื่อกันว่าสามารถสะท้อนทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างโปร่งใส

ครั้นถึงศตวรรษที่ 19 อันเป็นยุคที่สังคมตะวันตกก้าวเข้าสู่สมัยใหม่ กรอบความรู้ได้เปลี่ยนมาให้ความสำคัญต่อสาเหตุ (la cause) ของสรรพสิ่ง บัดนี้อะไรจะเหมือนหรือแตกต่างกับอะไรก็ไม่สำคัญเท่าอะไรกำหนดให้เกิดอะไร ผลสืบเนื่องประการแรกคือ ประวัติศาสตร์กลายเป็นกรอบแม่บทของความรู้ทั้งปวงในฐานะคำอธิบายเกี่ยวกับสาเหตุ ประการต่อมา มโนทัศน์เกี่ยวกับมนุษย์ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นเป็นวัตถุแห่งการศึกษา ในฐานะเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดโภคทรัพย์ สังคม และภาษา และนี่คือที่มาของศาสตร์ว่าด้วยมนุษย์ (les sciences humaines) ซึ่งมนุษย์ดำรงฐานะเป็นทั้งอัตบุคคลผู้กระทำและวัตถุที่ถูกกระทำ ในตอนจบของหนังสือ ฟูโกต์เน้นย้ำว่ามนุษย์อย่างที่เราเข้าใจกันในปัจจุบันนั้นเป็นสิ่งที่เพิ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นมาได้ไม่นาน และก็อาจจะปลาสนาการไปในไม่ช้าเมื่อกรอบความรู้แบบสมัยใหม่ปิดตัวลง แนวคิดเช่นนี้สร้างความขุ่นเคืองแก่นักวิชาการทั้งสายมนุษยนิยม สายอัตถิภาวนิยม และสายมาร์กซิสต์เป็นอย่างมาก

ต่อมาภายหลังในปี 1969 ฟูโกต์จะขยายความแนวคิดเรื่องกรอบความรู้และวาทกรรมอย่างละเอียดในหนังสือชื่อ L'Archéologie du savoir (The Archaeology of Knowledge - โบราณคดีแห่งความรู้) โดยเน้นย้ำว่ากรอบความรู้ในประเด็นใดประเด็นหนึ่งในยุคหนึ่งๆ เป็นเสมือนขอบฟ้าทางความคิดที่ครอบผู้คนในยุคนั้นๆ ไว้ โดยทำหน้าที่กำกับว่าสิ่งใดบ้างที่พูดออกมาแล้วจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม บางครั้งข้อความที่คนกลุ่มต่างๆ ผลิตขึ้นมาอาจจะมีเนื้อหาขัดแย้งกัน แต่เมื่อวิเคราะห์ให้ถึงที่สุดในแง่วาทกรรมจะเห็นว่าแท้ที่จริงก็อิงอยู่กับฐานคิดหรือกรอบความรู้เดียวกัน ขอยกตัวอย่างในประเด็นโสเภณี องค์กรสตรีแห่งหนึ่งประกาศว่า "ที่นี่ไม่ต้อนรับโสเภณี" ขณะที่องค์กรสตรีอีกแห่งหนึ่งกล่าวว่า "ที่นี่เราต้อนรับทุกคนแม้แต่โสเภณี" ในแง่เนื้อหาของคำพูด เราอาจจะเห็นว่าองค์กรหลังมีความเป็นเสรีนิยมและเคารพสิทธิมนุษยชนมากกว่าองค์กรแรก ทว่าการใช้คำว่า "แม้แต่" ก็แสดงถึงการยอมรับทั้งๆ ที่ถือว่าไม่คู่ควร คำพูดทั้งสองที่ขัดแย้งกันในระดับพื้นผิวจึงแชร์วาทกรรมเดียวกันเกี่ยวกับโสเภณีเมื่อพิจารณาในระดับลึก นั่นคือโสเภณีเป็นผู้หญิงไม่ดี

ในยุคหนึ่งๆ วาทกรรมในประเด็นต่างๆ มีจุดกำเนิดจากกลุ่มคนที่สังคมเชื่อว่าสามารถเข้าถึงสัจธรรม ทำให้คำพูดของคนกลุ่มดังกล่าวเป็นที่เชื่อถือ ในสังคมก่อนสมัยใหม่ เช่น ในยุคกลางของยุโรป คนเหล่านี้อาจจะเป็นนักบวชหรือเจ้าศักดินา แต่เมื่อถึงสมัยใหม่นับจากศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา อำนาจประกาศิตดังกล่าวได้มาตกแก่กลุ่มผู้ศึกษาในเรื่องนั้นๆ จนมีความเชี่ยวชาญ อันได้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ จากจุดกำเนิดดังกล่าววาทกรรมจะไหลเวียนเผยแพร่ออกไปและถูกฉกฉวยด้วยอำนาจประเภทต่างๆ รวมทั้งผู้คนจำนวนมากมาย กลายเป็นวัตถุนิรนาม (objet anonyme) ที่ใช้เป็นแหล่งอ้างอิงสาธารณะ ซึ่งนั่นก็คือกรอบของสัจธรรมในยุคนั้นๆ การที่ฟูโกต์ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของความคิดหลังสมัยใหม่ผู้หนึ่งก็เป็นเพราะเขาได้มีบทบาทสั่นคลอนมโนทัศน์เรื่องสัจธรรม (la vérité) อย่างถึงรากถึงโคน โดยเน้นย้ำให้เราตระหนักว่าสังคมแต่ละยุคสมัยล้วนแต่อุปโลกน์ชุดความรู้ของตัวมันเองขึ้นเป็นสัจธรรมทั้งสิ้น สัจธรรมอันเป็นสากลและอกาลิโกนั้นไม่มี

จากแคลร์มงต์-แฟร์ร็องด์ ฟูโกต์ได้ย้ายไปสอนที่มหาวิทยาลัยในประเทศตูนีเซีย (Tunisia) ระยะหนึ่ง แล้วจึงกลับมาบุกเบิกภาควิชาปรัชญา ณ มหาวิทยาลัยแว็งแซ็นส์ (Vincennes University) ที่กรุงปารีสซึ่งก่อตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ของนักศึกษาประชาชนในเดือนพฤษภาคม 1968 เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาแนวคิดก้าวหน้าล้ำยุคต่างๆ ในสมัยนั้น ต่อมาในปี 1970 เขาก็ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยแห่งฝรั่งเศส (Collège de France) ซึ่งถือเป็นเกียรติยศสูงสุดทางวิชาการของประเทศ โดยรับผิดชอบสอนสาขาวิชาที่เขาได้สถาปนาขึ้นด้วยตนเอง นั่นคือประวัติศาสตร์ระบบความคิด (Histoire des systèmes de pensée)

นับจากนั้นเป็นต้นมา ฟูโกต์เริ่มแสดงบทบาททางการเมืองที่จริงจังชัดเจนขึ้น โดยชักชวนปัญญาชนจำนวนหนึ่งเข้าร่วมต่อสู้อย่างแข็งขันเพื่อสิทธิของคนชายขอบสังคมกลุ่มต่างๆ นับเป็นการริเริ่มกิจกรรมการเมืองแนวใหม่ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาในชีวิตประจำวันของผู้คน (les problèmes du quotidien) มากกว่าประเด็นใหญ่ๆ ระดับชาติ โดยไม่ยี่หระต่ออุดมการณ์ที่ผ่านพรรคการเมืองในระบบไม่ว่าซ้ายหรือขวา ในขณะเดียวกัน งานทางวิชาการของฟูโกต์ก็ยังดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น

Surveiller et punir: Naissance de la prison (Discipline and Punish: The Birth of the Prison - เฝ้าดูและลงโทษ: กำเนิดของคุก) ตีพิมพ์ออกมาในปี 1975 ชื่อของหนังสือเล่มนี้มักชวนให้เข้าใจผิดว่าเนื้อหาจำกัดอยู่กับประวัติศาสตร์การจองจำ แต่ที่จริงแล้ว การวิเคราะห์ของฟูโกต์ครอบคลุมสถาบันทางสังคมในโลกสมัยใหม่เกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นคุก โรงเรียน โรงงาน โรงพยาบาล หรือกองทัพ เสมือนหนึ่งว่าขณะกำลังสืบค้นการก่อรูปของคุกอยู่ เขาได้ไปพบเข้ากับคำอธิบายที่ประยุกต์ใช้ได้กว้างใหญ่กว่านั้นมาก คำอธิบายดังกล่าวเชื่อมโยงการขุดค้นวาทกรรมเข้ากับการวิเคราะห์ปฏิบัติการทางสังคมในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสอบสวนความสัมพันธ์ระหว่างความรู้กับอำนาจตามวิธีการที่ฟูโกต์เรียกว่าการสืบสาวหรือวงศาวิทยา (la généalogie) ใน "เฝ้าดูและลงโทษ" เขาเสนอมุมมองที่แปลกใหม่ยิ่งเกี่ยวกับอำนาจซึ่งมิใช่อำนาจแบบกดขี่หรืออำนาจแบบมอมเมาอย่างที่ศึกษากันอยู่ทั่วไป แต่เป็นอำนาจควบคุมผ่านกระบวนการสร้างบรรทัดฐาน (la normalisation) อันเป็นลักษณะเด่นของสังคมสมัยใหม่ ระเบียบวินัย (la discipline) คืออุปกรณ์สำคัญของอำนาจในอันที่จะกำกับผู้คนให้อยู่ในบรรทัดฐานเดียวกัน โดยการควบคุมนี้เป็นไปในระดับรายละเอียดของชีวิตประจำวันหรือระดับจุลภาคจนถึงขั้นแผ่ซึมเข้าไปในวัตรปฏิบัติของร่างกายมนุษย์ เห็นได้ว่าฟูโกต์มิได้ใช้คำว่าระเบียบวินัยในความหมายที่ชวนให้นึกถึงเรื่องดีงาม เช่น การเข้าคิวซื้อตั๋วหรือรอลิฟต์ซึ่งเป็นระเบียบกฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นในขอบเขตของการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเสมอหน้ากัน แต่ใช้คำคำนี้กับกระบวนการฝึกฝนมนุษย์ขนานใหญ่เพื่อให้รับใช้ผลประโยชน์ของผู้ได้เปรียบจากระบบสังคม จุลฟิสิกส์แห่งอำนาจ (la microphysique du pouvoir) ที่กล่าวมาผุดบังเกิดขึ้นในช่วงประมาณศตวรรษที่ 18 จากความตระหนักของรัฐว่าสิ่งที่ตนต้องบริหารอย่างแท้จริงนั้นมิใช่ดินแดน หากแต่เป็นประชากร ผู้คนจึงกลายสถานะมาเป็นทรัพยากรประเภทหนึ่งที่รัฐต้องเข้าควบคุมเพื่อใช้ประโยชน์ การเมืองหันมาจัดการบริหารชีวิตของผู้คนอย่างเอาจริงเอาจังภายใต้อำนาจที่ฟูโกต์เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าชีวอำนาจ (le biopouvoir)

ในส่วนที่เกี่ยวกับระบบเรือนจำโดยเฉพาะนั้น ฟูโกต์ได้สาธิตให้เห็นว่าการละเลิกทัณฑ์ทรมานที่กระทำต่อร่างกายนักโทษมาสู่การจองจำเพื่อแก้ไขฟื้นฟูซึ่งเริ่มขึ้นในปลายศตวรรษที่ 18 นั้นมิได้เป็นผลจากความก้าวหน้าด้านมนุษยธรรมดังเช่นที่นักอาชญวิทยาทั้งหลายกล่าวอ้างแต่ประการใด หากแต่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของอำนาจตามที่กล่าวมาข้างหน้า นั่นคือเป็นการเข้าไปกำกับควบคุมพฤติกรรมและร่างกายของนักโทษอย่างละเอียดยิบเพื่อปลูกฝังบรรทัดฐานทางสังคมในนามของการดัดสันดาน ฟูโกต์เอ่ยอ้างถึงสถาปัตยกรรมที่มีผู้คิดค้นขึ้นสำหรับเรือนจำสมัยใหม่ เรียกว่า Panopticon (สรรพทัศน์) ซึ่งประกอบด้วยหอสูงอยู่ตรงกลางสำหรับให้ผู้คุมเฝ้าดู สอดส่อง และตรวจตราความเป็นไปของนักโทษในห้องขังที่เรียงรายล้อมหอนั้นอยู่ โดยชี้ว่าเป็นตัวอย่างโดดเด่นของกลไกอำนาจสมัยใหม่ที่มุ่งควบคุมมนุษย์ในทุกย่างก้าวและทุกลมหายใจเข้าออก

"เฝ้าดูและลงโทษ" กลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญยิ่งในวงวิชาการสังคมศาสตร์ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีผู้วิเคราะห์เทคนิควิธีการอันลึกซึ้งแยบยลของอำนาจได้อย่างเท่าทัน กล่าวกันว่ามโนทัศน์ว่าด้วยจุลฟิสิกส์แห่งอำนาจที่ฟูโกต์นำเสนอในหนังสือเล่มนี้มีคุณูปการต่อความเข้าใจสังคมสมัยใหม่เทียบเท่ากับมโนทัศน์ว่าด้วยการขูดรีด (l'exploitation) ที่นายทุนกระทำต่อผู้ใช้แรงงานตามที่มาร์กซ์ได้เคยวิเคราะห์ไว้ในศตวรรษก่อนหน้าเลยทีเดียว

ในปี 1976 ถัดมา ฟูโกต์ได้ตีพิมพ์หนังสือสำคัญอีกเล่มหนึ่งคือ Histoire de la sexualité, tome 1: La Volonté de savoir (The History of Sexuality Vol. 1: The Will to Knowledge - ประวัติศาสตร์แห่งเพศวิถี เล่ม 1 เจตจำนงในความรู้) คราวนี้การพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้กับอำนาจจะเลื่อนจากพื้นที่สาธารณะมาสู่พื้นที่ส่วนตัวของมนุษย์ ในหนังสือเล่มดังกล่าว เขานำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับเพศวิถีของสังคมตะวันตกในยุคศตวรรษาที่ 19 ในลักษณะที่แปลกแยกแตกต่างไปจากนักวิชาการส่วนใหญ่ ขณะที่วิลเฮล์ม ไรช์ (Wilhelm Reich: 1897-1957) รวมถึงนักประวัติศาสตร์คนอื่นๆ อีกมากเน้นย้ำว่าเพศวิถีในยุคนั้นเป็นสิ่งที่ถูกกดปรามตามค่านิยมแบบวิกตอเรียน (Victorian) จนกลายเป็นเรื่องซ่อนเร้นที่ไม่มีการพูดถึง ฟูโกต์ชี้ให้เห็นด้านกลับของสมมุติฐานดังกล่าว นั่นคือตลอดช่วงศตวรรษที่ 19 สังคมตะวันตกได้กระตุ้นให้เกิดวาทกรรมเกี่ยวกับเรื่องทางเพศอย่างมากมายมหาศาล ทั้งในวงการแพทย์ จิตวิทยา จริยศาสตร์ ประชากรศาสตร์ และวิชาด้านการศึกษา ทั้งนี้ด้วยเจตจำนงของสถาบันต่างๆ ทางสังคมที่จะเข้าถึงความจริงเกี่ยวกับเพศ อันที่จริงเจตจำนงในลักษณะนี้ดำรงอยู่มาตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ เพียงแต่จำกัดขอบเขตอยู่กับพื้นที่ทางศาสนาโดยอาศัยกลไกของพิธีกรรมสารภาพบาปของศาสนิกชน ฟูโกต์เชื่อมโยงการกระตุ้นให้เกิดวาทกรรมเกี่ยวกับเรื่องเพศที่เพิ่มขึ้นอย่างล้นหลามในช่วงศตวรรษที่ 19 เข้ากับเจตจำนงของอำนาจสังคมที่จะเข้าไปควบคุมประชากรถึงในส่วนที่ลึกเร้นเป็นส่วนตัวที่สุด จากตรรกะดังกล่าว ฟูโกต์เปิดโปงให้เห็นว่ากระบวนการปลดปล่อยทางเพศ (la libération sexuelle) ในโลกตะวันตกนับจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ซึ่งอิงความชอบธรรมกับบรรดาวาทกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องเพศอันมีต้นตอมาจากเจตจำนงที่จะเข้าถึงความจริงแห่งเพศวิถีเป็นเพียงมายาของเสรีภาพ แท้ที่จริงแล้วการปลดปล่อยดังกล่าวเป็นการตกลงไปในกับดักของอำนาจที่แสวงหาวิธีสอดส่องพฤติกรรมของผู้คนโดยหลอกให้คนเหล่านั้นหลงนึกไปว่าตนเองเป็นอิสระ

สำหรับ "ประวัติศาสตร์แห่งเพศวิถี" เล่มต่อๆ มานั้น ฟูโกต์มิได้เดินตามแนวที่วางไว้แต่เดิมซึ่งกำหนดไว้ว่าจะศึกษาสิ่งที่อำนาจปฏิบัติต่อคนกลุ่มต่างๆ ในแง่มุมเรื่องเพศ ได้แก่ เยาวชน สตรี และกลุ่มคนที่ถูกจัดว่าวิปริตทางเพศ หากแต่เขาหันเหความสนใจมาสู่ประเด็นเรื่องอัตบุคคล (le sujet) ในแนวทางที่ต่างไปจากที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นฟูโกต์แสดงให้เราเห็นมาโดยตลอดว่าอัตบุคคลเป็นเพียงภาพลวงตา ผู้กระทำแท้จริงแล้วเป็นเพียงผู้ถูกกระทำ เพราะอัตบุคคลนั้นก่อรูปขึ้นด้วยวาทกรรมและปฏิบัติการทางสังคมต่างๆ แต่มาในช่วงหลังๆ เขาหันมาสนใจศึกษาวิธีการที่ปักเจกบุคคลพยายามสร้างตัวตนของตนเองด้วยตนเอง โดยเริ่มพิจารณาเรื่องนี้ในยุคกรีกและโรมันโบราณ

ในช่วงหัวเลี้ยวระหว่างทศวรรษ 1970 กับ 1980 ฟูโกต์กลายเป็นขวัญใจของนักวิชาการหนุ่มสาวในหลายภูมิภาคของโลก เขาได้รับเชิญไปบรรยายตามมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในทวีปต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ฟูโกต์เสียชีวิตในปี 1984

แม้แนวคิดของฟูโกต์จะเป็นที่สนใจอย่างแพร่หลายในวงการสังคมศาสตร์ปัจจุบัน แต่ก็มีผู้สังเกตอยู่เนืองๆ ว่าการอ่านผลงานของเขานั้นมักจะสร้างความงุนงงแก่ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับวิชาการแนวโครงสร้างนิยม จากข้อสังเกตนี้สมควรที่เราจะย้อนไปพิจารณาบริบททางภูมิปัญญาที่แวดล้อมการอุบัติขึ้นของผลงานของฟูโกต์เพื่อสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับหลักคิดของเขาเท่าที่จะทำได้

ทศวรรษ 1960 เป็นช่วงเวลาที่นักวิชาการด้านมนุษย์และสังคมจำนวนหนึ่งพากันตระหนักถึงจุดอับที่เกิดขึ้นกับวิชาการทั้งในแนวปฏิฐานนิยม (le positivisme) และในแนวมาร์กซิสต์ (le marxisme) ซึ่งล้วนเป็นมรดกทางภูมิปัญญาจากศตวรรษที่ 19 แนวปฏิฐานนิยมนั้นอาจจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ได้ว่าแนวแก่นสารนิยม เพราะมุ่งค้นหาแก่นสารในปรากฏการณ์สังคมผ่านการแยกย่อยปรากฏการณ์ออกเป็นหน่วยๆ และอาศัยการจัดแบ่งประเภทตามวิธีการที่เลียนแบบจากวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ส่วนวิชาการในแนวมาร์กซิสต์ก็มุ่งอธิบายปรากฏการณ์ของมนุษย์และสังคม เช่น ระบบการเมือง กฎหมาย สถาบันทางสังคม และศิลปวิทยาการ ว่าเป็นผลลัพธ์ส่วนพื้นผิวที่ถูกกำหนดจากความสัมพันธ์เชิงชนชั้นในวิถีการผลิตซึ่งถือเป็นปัจจัยส่วนพื้นฐาน แม้จะมีความแตกต่างกันในแง่ญานวิทยาเช่นที่กล่าวมา รวมถึงในแง่อุดมการณ์ทางการเมือง แต่ในแง่ของโลกทัศน์แล้ว วิชาการทั้งสองสายต่างก็เชื่อมั่นในแนวคิดว่าด้วยสารัตถะสากล (l'essence universelle) ของมนุษย์ และประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็นพัฒนาการของการปลดปล่อยมนุษยชาติ (l'émancipation de l'humanité) วิชาการที่กล่าวมาแต่ละแนวเป็นเสมือนคำสัญญาอันยิ่งใหญ่ที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจสังคมตามที่เป็นจริงและนำพามนุษย์ไปสู่ความผาสุกอันเที่ยงแท้ ทว่าปฏิฐานนิยมซึ่งหล่อเลี้ยงด้วยแนวคิดเสรีนิยมจากยุคแห่งความรู้แจ้งก็ได้มีส่วนผลักดันให้เกิดสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมซึ่งมอมเมาเอาเปรียบมวลชน รวมไปถึงระบบอาณานิคมและความขัดแย้งอันรุนแรงในระดับโลก ส่วนแนวคิดมาร์กซิสต์ซึ่งอิงกับหลักการสังคมนิยมและประกาศตนเป็นปฏิปักษ์ต่อทุนนิยมนั้นก็ได้ส่งผลให้เกิดระบอบเผด็จการอันมืดบอด การเข่นฆ่าผู้คน ค่ายกักกัน และกระบวนการปิดกั้นสติปัญญาของมนุษย์

วิกฤตศรัทธาต่อวิชาการแม่บททั้งสองแนวได้ผลักดันนักคิดจำนวนหนึ่งให้หันมาสนใจญาณวิทยาอีกแบบหนึ่งซึ่งเรียกกันว่าโครงสร้างนิยม ในที่นี้เราจะไม่เจริญรอยตามวงวิชาการอเมริกันชั้นหลังที่แยกแยะระหว่างโครงสร้างนิยมกับหลังโครงสร้างนิยม การแยกแยะเช่นนี้เป็นผลจากการลดทอนโครงสร้างนิยมให้เหลือเพียงการมุ่งหาความสัมพันธ์อันหยุดนิ่งตายตัวที่ละเลยพลวัตของการเลื่อนไหลในปรากฏการณ์และการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ในวงวิชาการฝรั่งเศสนั้น การใช้คำว่าโครงสร้างนิยมเป็นการเน้นย้ำถึงวิธีคิดที่แตกต่างไปจากแนวปฏิฐานนิยมและแนวมาร์กซิสต์เป็นสำคัญ นั่นคือการปฏิเสธหลักการเรื่องสารัตถะ โดยที่พลวัตและการเปลี่ยนแปลงถือเป็นปัจจัยที่รวมอยู่ในโครงสร้างนิยมอยู่แล้ว หากพิจารณาเช่นนี้ เราจะพบจุดร่วมระหว่างหลักคิดของฟูโกต์กับนักโครงสร้างนิยมคนอื่นๆ หลายประการ ประการแรก เมื่อพิจารณาปรากฏการณ์หนึ่งๆ ฟูโกต์มักให้ความสำคัญกับปัจจัยกำหนดจากภายใน (immanence) มากกว่าปัจจัยกำหนดจากภายนอกซึ่งเป็นการยืนยันว่าเราต้องทำความเข้าใจตรรกะที่ดำรงอยู่ในปรากฏการณ์นั้นล้วนๆ เสียก่อน แล้วจึงค่อยหันไปมองหาสาเหตุภายนอก ประการที่สองอันอาจถือเป็นหัวใจของแนวโครงสร้างนิยมก็คือ ฟูโกต์ใส่ใจกับความสัมพันธ์ (rapport) ระหว่างปัจจัยต่างๆ ในปรากฏการณ์ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของแรงกระทำ (les rapports de force) ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ มากกว่าความเป็นแก่นสาร (la positivité) ขององค์ประกอบแต่ละตัว ประการที่สามซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา หรืออีกนัยหนึ่ง ประวัติศาสตร์ ฟูโกต์มักมองการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ว่าเป็นกระบวนการแปรรูป (la transformation) อันเป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับความไม่ต่อเนื่อง (la discontinuité) แทนที่จะมองการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ว่าเป็นพัฒนาการ (le développement) ซึ่งอิงอยู่กับภาพของการสั่งสมหรือก้าวหน้าที่ต่อเนื่องเป็นสายโซ่

ด้วยเหตุที่กล่าวมา ในอันที่จะอ่านงานของฟูโกต์ได้อย่างราบรื่น ผู้อ่านจึงควรละเลิกแนวคิดเกี่ยวกับปัจจัยกำหนดจากภายนอกปรากฏการณ์ความเป็นแก่นสารที่เชื่อว่าดำรงอยู่ในสิ่งต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคุ้นเคยกับภาพของพัฒนาการอันต่อเนื่องในประวัติศาสตร์ อย่างน้อยก็ละเลิกเป็นการชั่วคราว มิฉะนั้นจะเกิดความรู้สึกว่าข้อเสนอต่างๆ ของฟูโกต์มีลักษณะจับต้นชนปลายไม่ค่อยได้

[con·tin·ue]

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page