top of page

ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475


ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475

เขียนโดยนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ครั้งที่ 3/2560

ข้อมูลจาก: sameskybooks.net

บทที่ 1 การปฏิวัติสยาม 2475: พรมแดนแห่งความรู้

บทที่ 2 วาทกรรมการเมืองว่าด้วยประชาธิปไตยของไทย

บทที่ 3 อิทธิพลของความคิดฝรั่งเศสที่มีต่อการเมืองไทยสมัยใหม่

บทที่ 4 สองกระแสของภูมิปัญญาในการปฏิวัติสยามทศวรรษ 2470

บทที่ 5 ความนึกคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจของราษฎรในสมัยของการปฏิวัติทศวรรษ

บทที่ 6 พระยามโนปกรณ์นิติธาดากับการเมืองสยามในปี 2475

บทที่ 7 กบฏบวรเดช: การเมืองของประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ของการเมือง

บทที่ 8 การแสวงหาระบบเศรษฐกิจใหม่ในช่วงหนึ่งทศวรรษภายหลังการปฏิวัติสยาม 2475

บทที่ 9 ระบอบรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม: การก่อรูปของแนวความคิดและความหมายทางการเมือง

บทส่งท้าย: ความคิดในการศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติสยาม

ภาคผนวก: เหตุแห่งการปฏิวัติสยาม 2475 (วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ สัมภาษณ์)

คำนำสำนักพิมพ์

ไพร่เป็นพื้นยืนเห็นประเด็นชอบ

ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ

แม้นนิ่งช้าล้าหลังมิยังทำ

จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย

บทกวีข้างต้น 'เทียนวรรณ' หรือ 'ต.ว.ส. วัณณาโภ' (2385-2458) ได้รจนาขึ้นในปี 2448 ในยุคสมัยที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังเป็นสุดเขตแดนของจินตนาการรูปแบบการปกครองที่เป็นไปได้ของชนชั้นนำสยามในขณะนั้น แน่นอนที่สุดผู้ที่บังอาจคิดถึงรูปแบบการปกครองที่ดีกว่า ถ้าหากไม่ถูกทำให้กลายเป็น 'คนบ้า' ในสายตาของผู้ปกครองก็จะถูกโซ่ตรวนมาพันธนาการ โชคร้ายเป็นของเทียนวรรณที่ท่านได้รับโทษทัณฑ์ทั้ง 2 ประการ แต่ก็ใช่ว่าความพยายามของเทียนวรรณจะไร้ค่าก็หาไม่ ในบั้นปลายของชีวิตภายหลังจากพ้นโทษ เทียนวรรณขณะนั้นอายุเกือบจะ 70 ปีแล้ว ได้สนทนาวิสาสะกับเด็กมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยคนหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านั้นได้รับการบอกเล่าจากครูประจำชั้นถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศจีนจากระบอบสมบูรณาญา­สิทธิราชย์มาเป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐในปี 2454 โดยมีซุน ยัดเซ็น (Sun Yat-sen: 2409-2468) เป็นหัวหน้า เด็กเรียนมัธยมผู้นี้่มีความประทับใจในข้อเขียนของเทียนวรรณ เขาได้เดินทางไปหาเทียนวรรณ ที่อาศัยอยู่ที่ตึกแถวบริเวณวัดบวรนิเวศฯ บทสนทนาระหว่างคนต่างรุ่นที่สนใจการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นอย่างไรบ้าง ยังเป็นปริศนามาจนถึงปัจจุบัน

16 ปีหลังจากนั้น

24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ฟ้าได้ผ่าเปรี้ยงลงกลางพระนคร เมื่อนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (2430-2490) หัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ได้อ่านประกาศของคณะราษฎรประณามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างรุนแรง พร้อมทั้งเสนอรูปแบบการปกครองใหม่ที่ให้กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินและให้มีสภาที่จะเป็นที่ปรึกษาหารือกัน โดยผู้เขียนคำประกาศคณะราษฎรฉบับดังกล่าวคือคนเดียวกันกับเด็กมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยคนนั้นซึ่งก็คือ ปรีดี พนมยงค์ (2443-2526)

บ่ายโมงเศษของวันเดียวกัน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมที่คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ใช้เป็นกองบัญชาการ นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ได้กล่าวต่อร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์ (2425-2502) หัวหน้าคณะพรรค ร.ศ.130 ผู้ที่ล้มเหลวในความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครอง 20 ปีก่อนหน้านั้นว่า "ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม!"

กระแสความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ที่หลอมรวมมาเป็น 'เหตุการณ์ 24 มิถุนา' นั้นได้ชี้ให้เห็นเป็นอย่างดีว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมิได้เป็นเพียงละครการเมืองที่เริ่มและจบภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงของเช้าวันนั้น หากแต่เหตุการณ์ 24 มิถุนา เป็นความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งกระบวนการ แต่อย่างที่รับรู้กันในปัจจุบันว่าความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ 24 มิถุนา เป็นไปอย่างหลากหลาย ซึ่งในความหลากหลายนั้นมีอำนาจการเมืองในแต่ละยุคมาเป็นโครงครอบ

ดังนั้นการที่ะทำความเข้าใจ 'ความคิด' ที่จะนำไปสู่ 'เหตุการณ์ 24 มิถุนา' จนเป็น 'ความรู้' ที่สั่งสมมาในปัจจุบันนั้น ต้องเข้าใจด้วยว่ามี 'อำนาจการเมือง' ใดบ้างมากำหนด การจัดพิมพ์ 'ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475' ซึ่งเป็นการรวบรวมงานเขียนของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ 'เหตุการณ์ 24 มิถุนา' ในแง่มุมต่างๆ ในระหว่างปี 2525-2533 ขึ้นใหม่หลังจากที่สถาบันสยามศึกษา สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2533 นั้น สำหรับการพิมพ์ในครั้งนี้ทางผู้เขียนและสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้ปรับปรุงและแก้ไขข้อผิดพลาดบางส่วนจากการจัดพิมพ์ในครั้งแรก นอกจากนี้ยังได้นำบทสัมภาษณ์เรื่อง 'เหตุแห่งการปฏิวัติสยาม 2475' ของนครินทร์มาเป็นภาคผนวกของหนังสือเล่มนี้ พร้อมกับทำดรรชนีและบรรณานุกรมรวมด้วย

สำหรับมูลเหตุของการจัดพิมพ์ 'ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475' เป็นครั้งที่ 2 เนื่องจากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเห็นว่างานชิ้นนี้มิได้เป็นเพียงหนังสือรวมบทความเท่านั้น หากแต่งานชิ้นนี้เป็นการนำเสนอการศึกษา 'เหตุการณ์ 24 มิถุนา' โดยมีจุดมุ่งหมายและวิธีการศึกษาที่แน่ชัด คือการเผยให้เห็นว่า 'ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองที่ควบคุมความรับรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ 24 มิถุนา' นั้นมีอะไรบ้าง ทำงานอย่างไร ส่วนการตีความ/ช่วงชิงความหมายเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้คงจะเป็นหน้าที่ของผู้อ่าน ดังที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กล่าวไว้ว่า "ผมขอยืนยันว่าในชั่วชีวิตเรา บางทีลูกเราด้วย จะต้องรบกันไปอีก และแย่งกันในระบอบเก่ากับระบอบใหม่นี้…"

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน 2546

 

คำนำผู้เขียน พิมพ์ครั้งที่ 1

ในระหว่างปี 2525 จนถึง 2532 ผู้เขียนได้เขียนบทความไว้จำนวนหนึ่งซึ่งมีเนื้อหาโดยส่วนรวมเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติสยาม 2475 ในแง่มุมต่างๆ บทความส่วนใหญ่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ไปแล้ว แต่เข้าใจว่าอยู่ในแวดวงที่จำกัด และมีบางบทความได้พิมพ์เผยแพร่ไปในที่ประชุมเล็กๆ ในรูปเอกสารอัดสำเนา ซึ่งทั้งหมดมีความเป็นมาดังต่อไปนี้ คือ

บทที่หนึ่ง เรื่อง 'การปฏิวัติสยาม 2475: พรมแดนแห่งความรู้' ได้จัดพิมพ์เป็นเอกสารวิชาการหมายเลขที่ 25 โดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2525 และพิมพ์ซ้ำพร้อมคำวิจารณ์ในวารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 มิถุนายน 2525 บทความที่นำมาพิมพ์ใหม่ในครั้งนี้เป็นการปรับปรุงขึ้นใหม่จากฐานข้อมูลเก่า มีการตัดทอนและเปลี่ยนแปลงคำอธิบายไปในบางตอนเพื่อให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

บทความที่สอง เรื่อง 'วาทกรรมการเมืองว่าด้วยประชาธิปไตยของไทย' เขียนขึ้นเพื่อการสัมมนาเรื่อง 'ความคิดทางสังคมกับรัฐประชาธิปไตย' จัดโดยมูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา ที่โรงแรมหมู่บ้านแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี ในระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2531 ถัดมาได้ปรับปรุงเสนอเป็นเอกสารประกอบการบรรยายที่ห้องประชุมสุนทรพิพิธ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรม­ศาสตร์ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2531 และปรับปรุงพิมพ์เป็นเอกสารประกอบการประชุมประจำปีของสมาคมประวัติศาสตร์ จัดที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก วันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ 2533 รวมทั้งได้จัดพิมพ์ในสมุดสังคมศาสตร์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 1/2533 ของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยด้วย

บทความเรื่องที่สาม คือ 'อิทธิพลของความคิดฝรั่งเศสที่มีต่อการเมืองไทยสมัยใหม่' เป็นเอกสารประกอบการบรรยายในหัวข้อเดียวกัน จัดโดยภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส เนื่องในงาน 'สัปดาห์ฝรั่งเศส' วันที่ 17 ธันวาคม 2529 ที่ห้องสารนิเทศ ตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทความที่สี่ เรื่อง 'สองกระแสของภูมิปัญญาในการปฏิวัติสยามทศวรรษ 2470' เสนอในที่ประชุมทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยของนิสิตบัณฑิตศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 8-9 สิงหาคม 2529 จัดที่ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความถัดมาคือเรื่อง 'ความนึกคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจของราษฎรในสมัยของการปฏิวัติทศวรรษ 2470' ซึ่งก็คือบทที่ 5 ของวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของผู้เขียนเรื่อง 'ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองสยามระหว่างปี 2470-2480' ที่เสนอต่อภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2528 และพิมพ์เผยแพร่ในวารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 14 ฉบับที่ 3 กันยายน 2528

บทความที่หก เรื่อง 'พระยามโนปกรณ์นิติธาดากับการเมืองสยามในปี 2475' พิมพ์รวมกับบทความของผู้อื่นเป็นเอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง 'จากรากถึงกิ่งของการเมืองไทย' เอกสารวิชาการหมายเลขที่ 2 คณะมนุษยศาสตร์ มหา­วิทยาลัยเชียงใหม่ ปี 2530

บทความที่เจ็ด เรื่อง 'กบฏบวรเดช: การเมืองของประวัติศาสตร์และประวัติ­ศาสตร์ของการเมือง' พิมพ์ครั้งแรกในวารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 มีนาคม 2527

บทความที่แปด เรื่อง 'การแสวงหาระบบเศรษฐกิจใหม่ในช่วงหนึ่งทศวรรษภายหลังการปฏิวัติสยาม 2475' ได้เสนอในที่สัมมนาทางวิชาการ จัดโดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่ห้องประชุมชั้น 9 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2531 รวมทั้งได้จัดพิมพ์เผยแพร่ในจดหมายข่าวสังคมศาสตร์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 4 พฤษภาคม-กรกฎาคม 2532

บทความสุดท้าย เรื่อง 'ระบอบรัฐนิยมของจอมพล ป.พิบูลสงคราม: การก่อรูปของแนวความคิดและความหมายทางการเมือง” พิมพ์เป็นครั้งแรกใน รัฐศาสตร์สาร ฉบับ 50 ปีประเทศไทย กันยายน 2531 ถึงเมษายน 2532

ผู้เขียนมีความตั้งใจรวมบทความต่างๆ เข้าด้วยกัน ก็เพราะว่าในประการสำคัญต้องการพิจารณาทบทวนตัวเองในสิ่งที่ได้คิดและได้เขียนไปแล้ว เนื่องจากบทความต่างๆ เหล่านี้เขียนขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เร่งรัดแบบไทย คือเขียนขึ้นและพิมพ์อย่างรวดเร็วตามคำชักชวนของผู้ที่ผู้เขียนให้ความเคารพนับถือในวาระโอกาสต่างๆ (ยกเว้นบทที่ 5 ซึ่งตัดตอนออกมาจากวิทยานิพนธ์ของผู้เขียนโดยตรง)

ในการรวบรวมและแก้ไขบทความต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันในที่นี้ ผู้เขียนมีความคิดสรุปรวบยอดว่าเนื้อหาส่วนใหญ่แสดงให้เห็นลักษณะและการเคลื่อนไหวของความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้ จึงได้ตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ไว้ตามความคิดรวบยอดดังกล่าวนั้น รวมทั้งได้เขียนคำอธิบายแสดงความเห็นเพิ่มเติมไว้เป็นบทส่งท้ายของหนังสือเล่มนี้

แรงกระตุ้นจากครูและมิตรสนิทผู้วางแนวทางการศึกษาไห้แก่สถาบันจักรวาลวิทยาทุกท่าน นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาของผู้เขียนในตลอดระยะเวลาเกือบสิบปีที่ผ่านมา และผู้เขียนขอแสดงความขอบคุณอย่างลึกซึ้งไว้ ณ ที่นี้ด้วย

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ กันยายน 2533

 

คำนำผู้เขียน พิมพ์ครั้งที่ 2

'ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475' นี้เป็นหนังสือรวบรวมบทความของผู้เขียนในระหว่างปี 2525 จนถึง 2532 จากบทความที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติสยาม 2475 ในแง่มุมต่างๆ ทั้งนี้บทความที่นำมารวบรวมพิมพ์ในครั้งกระนั้นก็มีการตัดทอนและเปลี่ยนแปลงเนื้อหาไปจากต้นฉบับเดิมบ้าง เหตุก็เพราะต้องการจัดเนื้อเรื่องให้มีความเหมาะสมและทำให้โครงเรื่องมีความชัดเจนสำหรับผู้อ่าน รวมทั้งผู้เขียนได้เขียนบทความเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งบทเป็นการเฉพาะสำหรับการพิมพ์ครั้งแรกในปี 2533 ด้วย โดยมุ่งแสดงความคิดรวบยอดของผู้เขียนเองในสมัยนั้นว่าผู้เขียนมีความคิดอย่างไร จึงได้รวบรวมบทความทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน

ตราบจนถึงปี 2546 ซึ่งครบวาระ 71 ปี ภายหลังการปฏิวัติสยามปี 2475 ได้พบว่าหนังสือตำรับตำรา บทความ เอกสารทางวิชาการ และการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเหตุการณ์ดังกล่าวมีปรากฏอยู่น้อยมาก (ดูตัวอย่างการประมวลเรื่องราว รวมทั้งการสะท้อนข้อคิดที่น่าสนใจของธนาพล อิ๋วสกุล ใน '70 ปี 24 มิถุนายน: ความหลงลืมทางประวัติศาสตร์' กรุงเทพธุรกิจ 24 มิถุนายน 2545)

ในบรรยากาศเช่นนี้ เมื่อมีผู้ปรารถนาจะจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นใหม่อีกวาระหนึ่ง และนับเป็นการพิมพ์ครั้งที่สองภายหลังจากการพิมพ์ครั้งแรกผ่านพ้นมา 13 ปี นับว่าเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความปลื้มปีติแก่ผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง เมื่อผู้เขียนเองได้มีโอกาสทบทวนความคิดและงานเขียนของตนเองชุดนี้อีกครั้งหนึ่ง แม้นว่าจะใช้เวลาไม่นานนัก โดยนำไปพิจารณาเปรียบเทียบกับความก้าวหน้าของการศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติสยาม 2475 โดยรวมแล้วพบว่าการศึกษาในระยะต่อมามีการนำหลักฐานใหม่ๆ ใช้เพิ่มเติมอยู่บ้าง แต่ก็เป็นจำนวนหรือมีปริมาณที่น้อยมากอย่างไม่น่าเชื่อ

นอกจากนี้ หากจะพิจารณาถึงวิธีการศึกษาทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเมื่อกาลเวลาผ่านไป โดยหลักการแล้วก็ควรจะมีแนวทางการศึกษาและมีแนวการวิเคราะห์แบบใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นกว่าในสมัยก่อน เช่น ควรจะมีการวิเคราะห์ทางอำนาจชนิดใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดความรู้เพิ่มเติมจากสถานะความรู้เดิม เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เมื่อประเมินทั้งความก้าวหน้าในระยะสิบปีเศษที่ผ่านมา ผู้เขียนมีความเห็นว่ามีพัฒนาการที่ไม่มากมายอะไรนัก และข้อสำคัญก็คือ มีลักษณะและทิศทางที่เป็นส่วนขยายของแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยแบบจารีต คือเน้นอธิบายความเปลี่ยนแปลงจากการกระทำของบุคคล โดยเฉพาะบุคคลที่มีอำนาจทางการเมืองเสียมากกว่าจะเป็นการศึกษาในเชิงที่เป็นระบบสังคมการเมือง กระบวนการทางการเมือง หรือในเชิงของโครงสร้างอำนาจทางการเมืองทั้งระบบ

หากพิจารณาย้อนหลังกลับไปถึงช่วงสมัยเวลาที่ผู้เขียนได้เขียนบทความต่างๆ ใน 'ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475' ผู้เขียนยังคงระลึกได้เสมอว่าในช่วงเวลานั้น สังคมการเมืองและกลุ่มศึกษาทางวิชาการของไทยล้วนมีความพยายามอย่างเอาจริงเอาจังที่จะแสวงหาช่องทางการอธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับการปฏิวัติสยาม 2475 รวมทั้งประวัติศาสตร์ไทยโดยรวมในแง่มุมใหม่ๆ ตัวอย่างเช่นที่ผู้เขียนได้เสนอว่าการศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวกับการปฏิวัติสยาม 2475 ควรเน้นภาพการเคลื่อนไหวของสังคมการเมืองโดยรวมมากกว่าจะเน้นบทบาทของบุคคลเพียง 2-3 คน ทั้งนี้ควรจะศึกษาการเคลื่อนของกลุ่มบุคคลนับตั้งแต่ชนชั้นสูง ชนชั้นนำผู้มีอำนาจทางการเมือง ระบบราชการ ปัญญาชน พ่อค้าชนชั้นกลาง นักหนังสือพิมพ์ และอื่นๆ เรื่อยลงมาจนถึงราษฎร ชาวนาที่อยู่เบื้องล่าง

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้เขียนกล่าวว่าการศึกษาการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอื่นๆ นอกเหนือไปจากพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์นั้นมีความสำคัญต่อการเข้าใจสถานะและความหมายของการปฏิวัติสยาม 2475 ก็เพราะผู้เขียนคิดคล้อยไปตามวิธีการคิดของยุคสมัยนั้นเองว่าเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญ แต่ครั้นเมื่อกาลเวลาได้ผ่านพ้นไปสิบปีเศษแล้ว ปรากฏว่าความคิดในการศึกษาทางประวัติศาสตร์ของไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังคงวนเวียนอยู่กับกรอบความคิดแบบเดิมๆ ที่จะตอกย้ำถึงความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ว่าเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์และผู้นำเพียง 2-3 คนเป็นการเฉพาะ และเรื่องนี้เป็นปัญหาของการตอกย้ำในความคิดแบบเดิมๆ คือเป็นปัญหาของผู้ศึกษาเสียมากกว่าจะเป็นปัญหาของเอกสารและหลักฐานซึ่งถูกละทิ้งไว้เฉยๆ อย่างไม่มีความหมายต่อผู้ศึกษา

ผู้เขียนยังคงจดจำได้ว่าบรรยากาศทางวิชาการและสังคมของต้นทศวรรษ 2520 ซึ่งแวดล้อมและเป็นแรงบันดาลใจต่อการทำงานของผู้เขียนในทางใดทางหนึ่ง นับว่ามีส่วนสำคัญยิ่งทำให้เกิดมีความรู้สึกว่าสมัยนั้นเป็นยุคสมัยของการวิพากษ์วิจารณ์แนวทางการศึกษาแบบจารีตอย่างเอาจริงเอาจัง โดยที่ผู้นำของการศึกษาทางวิชาการในแบบวิพากษ์วิจารณ์ในสมัยนั้นมีด้วยกันหลายคน และภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดการเปรียบเทียบแนวทางการศึกษาแบบต่างๆ ว่าแนวทางใดมีความเหมาะสมต่อการศึกษาเรื่องสยาม/ไทยมากกว่ากัน เพราะเหตุใด อย่างไร ฯลฯ โดยจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ เพื่อก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

บรรยากาศทางวิชาการในช่วงทศวรรษ 2530 ถึงทศวรรษ 2540 เป็นช่วงเวลาที่มีการขยายแนวทางการศึกษาแบบต่างๆ ให้กว้างขวางครอบคลุมแง่มุมและประเด็นต่างๆ กระนั้นก็ตาม แนวทางการศึกษาทางประวัติศาสตร์ที่เน้นบทบาทของพระมหา­กษัตริย์และผู้นำทางการเมืองก็ยังคงดำรงอยู่ และมีบทบาทสำคัญในการศึกษาการปฏิวัติสยาม 2475 ตัวอย่างเช่น ในช่วงต้นทศวรรษ 2540 ได้มีการจัดงานครบรอบร้อยปีชาตกาลของผู้นำสำคัญบางคนในเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม 2475 เช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม (2540) และปรีดี พนมยงค์ (2543) เป็นต้น

ในโอกาสเช่นนี้ ทำให้มีการตรวจสอบข้อมูล มีการเปิดเผยข้อมูลและเอกสารต่างๆ และมีการแสดงทัศนะเกี่ยวกับการศึกษาการปฏิวัติสยาม 2475 เพิ่มเติมขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแนวการศึกษาแบบจารีตที่เน้นบทบาทของผู้นำซึ่งฝังรากลึกอยู่ในบริบทสังคมการเมืองไทย

งานวิชาการในระยะต่อมาที่น่าสนใจบางเล่ม อาทิ 'การเมืองไทยยุคสัญลักษณ์รัฐไทย' ซึ่งเป็นการนำวิทยานิพนธ์ในปี 2533 ของ 'มานิตย์ นวลละออ' มาปรับปรุงพิมพ์เผยแพร่ในปี 2540 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปรากฏว่ามีลักษณะเด่นคือ มีการใช้แนวทางการวิเคราะห์เชิงสัญลักษณ์มาอธิบายประวัติ­ศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการนำแนวคิดใหม่ๆ มาใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองของไทย

แต่กระนั้นก็ตาม โดยวิธีคิดแล้วก็ยังคงเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองที่เน้นเรื่องราวของตัวท่านผู้นำ คือจอมพล ป. พิบูลสงคราม ว่ามีบทบาทสูงเด่นในการนำการเปลี่ยนแปลงระบอบใหม่ในทศวรรษ 2470 ต่อเนื่องจนถึงทศวรรษ 2480

การจัดพิมพ์พระนิพนธ์เรื่อง 'สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น: ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475' ของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ที่ได้ทรงนิพนธ์ไว้จบสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2486 แต่นำมาพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2542 และพิมพ์ต่อมาอีกหลายครั้ง กล่าวได้ว่าเป็นการเปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนตลอดรัชกาลจากมุมมองของพระราชวงศ์พระองค์หนึ่งที่ใกล้ชิดศูนย์กลางการปกครองในช่วงการปฏิวัติสยามปี 2475 แม้ไม่ทราบเหตุผลที่หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ไม่ทรงพิมพ์เผยแพร่ก่อนหน้าเวลานั้นเป็นเวลาหลายสิบปี แต่ครั้นเมื่อตีพิมพ์แล้วก็มีการเว้นช่องว่าง (พระ) นามของบุคคลต่างๆ ตลอดทั้งเรื่อง พระนิพนธ์เรื่องนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างไม่ต้องสงสัย ในขณะเดียวกันก็เป็นการตอกย้ำแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์แบบเดิมที่เน้นบทบาทของผู้นำเป็นสำคัญอีกวาระหนึ่ง

นอกจากนี้ ได้แก่การจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง 'ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง: รวมบทความเกี่ยวกับกรณี 14 ตุลา และ 6 ตุลา' โดย 'สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล' ในปี 2544 โดยที่บทความในส่วนแรกมุ่งอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการปฏิวัติสยาม 2475 กับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยชี้ให้เห็นจุดเด่นและข้อขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมหรือปรีดี พนมยงค์ เป็นสำคัญ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีพระราชวิจารณ์ว่าเป็นแนวคิดของคอมมิวนิสต์ และเรื่องนี้เป็นสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังความขัดแย้งที่สำคัญประการหนึ่งของเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ในช่วงระหว่างปี 2476 จนถึง 2477 โดยที่ความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ของสถาบันกษัตริย์ได้ฝังรากลึกอยู่ในสังคมการเมืองไทยนับจากช่วงเวลานี้ ต่อเนื่องมาจนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ความพลิกผันอีกประการหนึ่งของการเมืองการปกครองของไทยคือ ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัชกาลที่ 7 กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมนั้น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อธิบายว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้การขู่ว่าจะทรงสละราชย์เป็นเครื่องมือต่อรองที่มีประสิทธิภาพกับคณะราษฎรมาโดยตลอด จนในท้ายที่สุด เมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชย์จริงๆ ปรากฏว่าพระราชหัตถเลขาสละราชย์ของรัชกาลที่ 7 ได้กลับพลิกผันและพลิกฟื้นขึ้นมามีความสำคัญในภายหลัง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นข้อความสำคัญที่สุดที่ขบวนการ 14 ตุลาคม 2516 ได้ใช้รณรงค์ต่อต้านรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ในภาพลักษณ์ว่าเป็นทายาทของรัฐบาลคณะราษฎร

การศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติสยาม 2475 ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายอธิบายการปฏิวัติสยาม 2475 ทั้งหมดว่าเป็นอย่างไร หากจำกัดความสนใจอยู่ที่ผลกระทบและความเกี่ยวพันที่การปฏิวัติสยาม 2475 ส่งผลต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในภายหลังว่าเป็นไปในลักษณะใด อย่างไรก็ตามในโครงเรื่องดังกล่าว เห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์และผู้นำมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ของไทยในความคิดและการรับรู้ของนักประวัติศาสตร์ไทยในยุคปัจจุบัน เสียยิ่งกว่าจะเน้นการศึกษาถึงปัจจัยและบุคคลที่ไม่มีความสำคัญคนอื่นๆ

กล่าวได้ว่าในห้วงเวลา 10-20 ปีที่ผ่านมานี้มีความก้าวหน้าในการศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติสยาม 2475 ทั้งในเรื่องการเผยแพร่หลักฐานใหม่และใช้แนวคิดใหม่ในการอธิบายเรื่องการปฏิวัติ 2475 อยู่บ้าง แต่แนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติสยาม 2475 โดยรวมยังคงมีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก หากจะเปรียบเทียบกับการศึกษาเรื่องเดียวกันนี้ในช่วงทศวรรษที่ 2520 รวมกระทั่งในยุคสมัยก่อนหน้านั้น

ฉะนั้น การนำหนังสือ 'ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475' กลับมาพิมพ์เผยแพร่เพื่อให้มีการอ่านกันอีกครั้งหนึ่งในกลางทศวรรษ 2540 เช่นนี้จึงยังมีความนำสนใจอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจการศึกษาในแนวทางใหม่ๆ การตีความใหม่ๆ และการแสวงหาเรื่องใหม่ๆ ที่พ้นไปจากกรอบความคิดที่ว่าด้วยการเผชิญหน้ากันระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและคณะเจ้านายกับฝ่ายคณะราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำของคณะราษฎรที่กล่าวกันว่า บางคนมีความใฝ่อยากได้อำนาจทางการเมืองมากกว่าคนอื่นๆ

ทั้งนี้เหตุผลคงจะเป็นเพราะบทความต่างๆ ของผู้เขียนในช่วงเวลานั้น ซึ่งรวบรวมมาเป็นหนังสือเล่มนี้ได้ตกอยู่ภายใต้กระแสความคิดที่ต้องการจะก้าวไปให้พ้นจากกรอบของการพิจารณาพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์และของผู้นำการเมืองบางคน ซึ่งเรื่องนี้ควรจะเป็นฐานคิดของสังคมไทยสมัยใหม่ที่สอดรับกับการเข้าใจสังคมไทยในปัจจุบัน และเข้าใจอดีตอย่างมีความหมาย โดยเชื่อมโยงอดีตเข้ากับปัจจุบัน และเชื่อมปัจจุบันกับโลกในอนาคตได้มากกว่าการศึกษาที่เน้นผู้นำเป็นศูนย์กลางเพียงประการเดียว

เนื่องด้วยจุดเน้นของการศึกษาในที่นี้ไม่ได้อยู่ที่ผู้นำที่เชื่อว่ามีความสำคัญบางคน ฉะนั้น ชื่อของผู้นำ ตลอดจนบุคคลทั้งที่สำคัญและไม่สำคัญจึงถูกกล่าวถึงมากเป็นพิเศษ เรื่องนี้แน่นอนว่าคงจะสร้างความกระอักกระอ่วนให้แก่ท่านผู้อ่านที่ผูกติดความเข้าใจของตนเองไว้กับคำอธิบายในแบบจารีตและคงจะทำให้เรื่องราวต่างๆ มีความซับซ้อนเกินกว่าความเข้าใจที่เป็นพื้นๆ ทั่วไปจะทำความเข้าใจได้โดยง่าย แต่นี่ก็เป็นเรื่องของความรู้ ความคิด และอำนาจการเมือง ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กันอย่างซับช้อนเป็นธรรมชาติของเรื่องราวในตัวเองแล้ว

ผู้เขียนยอมรับว่าเรื่องราวต่างๆ ที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ยังคงมีความบกพร่องอยู่ด้วย ซึ่งคงต้องการเวลาและคงต้องการแรงงานของผู้ศึกษาวิจัยใหม่ๆ ที่จะอุทิศตนและช่วยกันคนละไม้คนละมือทำให้เรื่องราวต่างๆ มีความสมบูรณ์มากขึ้น และมีความเที่ยงตรงมากขึ้นเท่าที่ข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ จะเอื้ออำนวยให้มีการศึกษาวิจัยได้ในทางปฏิบัติ

ในที่นี้ ผู้เขียนขอขอบคุณในความปรารถนาดีของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่ช่วยเป็นธุระในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มขึ้นนี้เป็นครั้งที่สอง และดำเนินการพิมพ์เป็นอย่างดี มีการทำดรรชนีค้นคำ รวมทั้งไดันำบทสัมภาษณ์ของผู้เขียนเองที่ได้เคยจัดพิมพ์ไว้ในนิตยสารสารคดี มารวมพิมพ์เพิ่มเติมด้วยอีกบทหนึ่ง

นอกจากนี้ ผู้เขียนขอขอบคุณ 'สุวัสดี โภชน์พันธุ์' ที่ช่วยดูแลเตรียมต้นฉบับการพิมพ์ครั้งที่สองนี้ใหม่ โดยทำอย่างเรียบร้อยและถูกต้องสมบูรณ์กว่าการจัดพิมพ์ครั้งแรกเป็นอันมาก

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ มิถุนายน 2546

 

bottom of page