top of page

ศาลรัฐประหาร: ตุลาการ ระบอบเผด็จการ และนิติรัฐประหาร


ศาลรัฐประหาร: ตุลาการ ระบอบเผด็จการ และนิติรัฐประหาร

เขียนโดยปิยบุตร แสงกนกกุล สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ครั้งที่ 1/2560

ข้อมูลจาก: sameskybooks.net

บทนำ: จากตุลาการ­ภิวัตน์ถึงศาลรัฐประหาร

บทที่ 1 ศาลกับระบอบรัฐประหาร

บทที่ 2 เมื่อศาลเผชิญหน้ากับรัฐประหาร

บทที่ 3 ศาลไทยกับรัฐประหาร

บทที่ 4 ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลรัฐประหาร

คำนำสำนักพิมพ์

'ศาลรัฐประหาร: ตุลาการ ระบอบเผด็จการ และนิติรัฐประหาร' (2560) ของปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นผลงานลำดับที่ต่อจาก 'รัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนผ่าน' (2559) เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ส่วนใหญ่พัฒนามาจากบทความของผู้เขียนที่เคยตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ระหว่างช่วงปลายปี 2558 ถึงสิ้นปี 2559 ยกเว้นบทนำซึ่งเขียนขึ้นมาใหม่สำหรับการตีพิมพ์ครั้งนี้

เช่นเดียวกับเล่ม 'รัฐธรรมนูญ' งานที่รวมอยู่ใน 'ศาลรัฐประหาร' เป็นความพยายามของผู้เขียนที่จะเสนอประเด็นในเชิงโครงสร้าง-อุดมการณ์ เพื่อทดลองกำหนดวาระใหม่ของฝ่ายประชาธิปไตยให้แก่สังคมไทย มากกว่าจะเป็นการอภิปรายถกเถียงในประเด็นเชิงเทคนิควิธีทางกฎหมาย

ข้อเขียนของปิยบุตร แสงกนกกุล ทั้งหมดในที่นี้มีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่การสำรวจเชิงเปรียบเทียบถึงบทบาทของฝ่ายตุลาการในประเทศต่างๆ เมื่อเผชิญกับการรัฐประหารและระบอบเผด็จการ เชื่อมโยงไปถึงแนวความคิดและข้อถกเถียงเกี่ยวกับองค์กรตุลาการในระบอบการเมืองสมัยใหม่ โดยมีปรากฏการณ์ตุลาการภิวัตน์กับการรัฐประหารปี 2549 และ 2557 ของประเทศไทยเป็นฉากหลังและจุดตั้งต้นในการขบคิด

กล่าวสำหรับตุลาการภิวัตน์นั้นเป็นกระแสใหญ่ในสังคมไทยหลังจากมีพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ต่อตุลาการศาลปกครองสูงสุดและผู้พิพากษาศาลยุติธรรมเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ซึ่งนำไปสู่ปฏิบัติการของฝ่ายตุลาการในการเพิกถอนการเลือกตั้ง วันที่ 2 เมษายน 2549 และถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้งในขณะนั้น ก่อนจะเกิดการรัฐประหารตามมา

กรณีดังกล่าวนับเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองอันสะท้อนลักษณะพิเศษยิ่งของอำนาจตุลาการในระบอบการเมืองของไทย ดังที่ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกาในขณะนั้นทำหนังสือถึงประธานวุฒิสภาระบุว่า

ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น… หากมีเหตุจำเป็นเรื่องด่วนที่จะต้องสงวนรักษาระบอบการปกครองและความสงบสุขแห่งราชอาณาจักรไว้ พระมหากษัตริย์ย่อมทรงใช้อำนาจอธิปไตยโดยผ่านทางศาลได้ตามรัฐธรรมนูญ [2540] มาตรา 3 ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสแก่ประธานศาลปกครองสูงสุดและประธานศาลฎีกาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ดังนั้นการปฏิบัติภารกิจของศาลตามที่ได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อมมา จึงเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ขณะที่มีชัย ฤชุพันธุ์ ก็ให้สัมภาษณ์ในช่วงเวลาเดียวกันว่า

พระเจ้าอยู่หัวท่านครองราชย์มานาน พระองค์เห็นการเมืองมาโดยตลอด รัฐธรรมนูญก็หลายฉบับ และพระองค์ท่านก็เชี่ยวชาญในด้านรัฐธรรมนูญไม่น้อย ที่ท่านแก้ปัญหา [วิกฤตการเมืองปี 2549] ด้วยการให้ตุลาการเข้ามาแก้ ถือเป็นพระอัจฉริยภาพจริงๆ ที่คนธรรมดานึกไม่ออก

ข้อความข้างต้นแสดงถึงลักษณะของระบอบการเมืองไทยยุคหลัง ซึ่งเกษียร เตชะพีระ เสนอว่านักนิติศาสตร์ไทยมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นช่างเทคนิคด้านอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ นำเสนอคำอธิบายที่ประสานหลักนิติธรรมให้เข้ากับพระราชอำนาจนำแห่งพระราชา และคอยเกลี่ยเชื่อมรอยต่อระหว่างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกับระบอบอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแต่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยรักษาพระราชอำนาจและประคับประคองสถานะความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์

งานของปิยบุตร แสงกนกกุล เล่มนี้ จะยิ่งคลี่ให้เห็นแจ่มชัดขึ้นถึงแนวความคิด อุดมการณ์ และปฏิบัติการทางการเมืองในนามของกฎหมายของนิติศาสตร์และตุลาการไทย โดยเฉพาะสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่านิติรัฐประหารและศาลรัฐประหาร

ในแง่หนึ่ง 'ศาลรัฐประหาร: ตุลาการ ระบอบเผด็จการ และนิติรัฐประหาร' จึงเป็นความรู้สึกนึกคิดแห่งยุคสมัยของนักนิติศาสตร์รุ่นใหม่ที่วิพากษ์และตอบโต้ต่อนิติรัฐประหารและศาลรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่นิติรัฐ-ประชาธิปไตย

ทว่าในอีกแง่หนึ่ง แม้ว่าตัวเขาเองจะเป็นนักนิติศาสตร์ แต่ปิยบุตร แสงกนกกุล กลับก้าวข้ามความเป็นนักนิติศาสตร์แบบที่เราคุ้นเคยกัน ด้วยการท้าทาย-ถอดรื้อความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดทางกฎหมาย นักกฎหมาย ไปจนถึงองค์กรตุลาการ

กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่าข้อเขียนใน 'ศาลรัฐประหาร' เล่มนี้ได้คืนความเป็นการเมืองให้แก่กฎหมาย เปลี่ยนสนามของกฎหมายที่เคยถูกทำให้เชื่อว่ามีความเป็นกลาง เป็นอิสระ มีความสมเหตุสมผล เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์แบบภาววิสัย ให้กลายเป็นสนามการต่อสู้ทางการเมืองที่ไม่อนุญาตให้ผูกขาดอยู่แต่ในมือของนักกฎหมายและคนใส่ชุดครุยบนบัลลังก์อีกต่อไป

 

คำนำผู้เขียน

หลักการแบ่งแยกอำนาจเรียกร้องว่าอำนาจในการตรากฎหมาย (อำนาจนิติบัญญัติ) อำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย (อำนาจบริหาร) และอำนาจในการชี้ขาดข้อพิพาท (อำนาจตุลาการ) ต้องไม่รวมอยู่ที่องค์กรใดองค์กรหนึ่ง องค์กรนิติบัญญัติ องค์กรที่ใช้อำนาจบริหาร และองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการต้องตรวจสอบและถ่วงดุลกัน จากหลักการแบ่งแยกอำนาจนี้เอง เรามักเชื่อต่อกันมาว่าการเมืองอยู่ในแดนขององค์กรนิติบัญญัติและองค์กรบริหาร การเมืองเป็นเรื่องของประชาชนเลือกสมาชิกรัฐสภาและรัฐบาล จากนั้นรัฐสภาก็ตรากฎหมาย และรัฐบาลก็บริหารประเทศไป ฝักฝ่ายทางการเมืองต่างๆ ก็ต่อสู้กดดันกันไปผ่านรัฐสภา รัฐบาล และภาคสังคม ส่วนองค์กรตุลาการใช้อำนาจในแดนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เป็นองค์กรที่ตรวจสอบว่าองค์กรอื่นๆ เคารพกฎหมายหรือไม่ ดังนั้นศาลทั้งหลายจึงชี้ขาดเรื่องกฎหมาย ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเมือง

ความเชื่อเช่นว่านี้ทำให้ศาลกลายเป็นองค์กรที่เป็นกลาง ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ศาลใช้อำนาจในนามของกฎหมาย ส่วนเรื่องของการเมืองก็ให้รัฐบาล รัฐสภา ประชาชน และภาคสังคมต่อสู้แย่งชิงกันไป นานวันเข้า ศาลจึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นองค์กรที่ชี้ถูกชี้ผิดดัง the Last Say

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญคือการทำให้การเมืองกลายเป็นกฎหมาย การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยศาลก็คือการตรวจสอบเรื่องการเมืองที่ถูกทำให้กลายเป็นการตรวจสอบโดยใช้กฎหมายเป็นเกณฑ์ กฎหมายปกครองและกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินทำให้การใช้อำนาจของรัฐในชีวิตประจำวันกลายเป็นเรื่องกฎหมาย การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจขององค์กรเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองโดยศาลก็คือการตรวจสอบเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินที่ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องกฎหมาย

การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) การแพร่หลายของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร การจัดทำรัฐธรรมนูญให้ได้มาตรฐานตามแบบนิติรัฐ-เสรีประชาธิปไตย การเกิดขึ้นของศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง การเกิดขึ้นของระบบการตรวจสอบกฎหมายมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญและระบบการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง รวมถึงการเกิดขึ้นและพัฒนาการของวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญและวิชากฎหมายปกครอง ทั้งหลายทั้งปวงคงเป็นประจักษ์พยานได้ดีว่าเรื่องเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการต่อสู้กันทางการเมืองทั้งสิ้น สิ่งที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันไม่ใช่หลักการแบบ Dogmatic แต่เป็นผลผลิตของการต่อสู้ช่วงชิงระหว่างความคิดต่างๆ อย่างยาวนาน

เมื่อเรื่องการเมือง เรื่องอำนาจ ถูกแปลงให้กลายเป็นกรอบกติกา เป็นกฎเกณฑ์ ที่อยู่ในรูปของกฎหมาย ยามใดที่ศาลใช้อำนาจในนามกฎหมาย ศาลจึงไม่อาจหลีกหนีการเมืองได้พ้น ไม่ว่าศาลจะพยายามหลีกหนีการเมืองเพื่อให้กฎหมายบริสุทธิ์ผุดผ่องก็ดี ไม่ว่าศาลประสงค์เล่นการเมือง แต่เอากฎหมายบังหน้าเพื่อสร้างความชอบธรรมก็ดี ทั้งหลายทั้งปวงนี้ทำให้ศาลเกี่ยวข้องกับการเมือง มีบทบาทในทางการเมืองโดยผ่านการตัดสินคดีอยู่เสมอ ดังนั้น ศาลจึงเป็นผู้เล่นทางการเมือง (Political Actor) ตัวหนึ่งในระบบแห่งอำนาจที่ตีกรอบไว้ในชื่อของรัฐธรรมนูญ

กล่าวโดยเฉพาะกรณีประเทศไทย ศาลเข้ามามีบทบาททางการเมืองเป็นที่ประจักษ์ชัดมากขึ้นนับตั้งแต่การกำเนิดขึ้นของตุลาการภิวัตน์ ซึ่งธีรยุทธ บุญมี สร้างคำนี้ขึ้นมาภายหลังมีพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 แรกเริ่มเดิมที สังคมไทยคาดหวังว่าตุลาการภิวัตน์จะเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขวิกฤตการเมืองไทย แต่จนวันนี้ นอกจากจะแก้ไขวิกฤตไม่ได้แล้ว ตุลาการภิวัตน์ยังกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้วิกฤตการเมืองไทยหยั่งรากลึกลงไปอีกด้วย

ผลงานของตุลาการภิวัตน์ชี้ชวนให้เห็นว่าศาลเป็นผู้เล่นทางการเมือง การตัดสินคดีของศาลคือการกระทำที่เกี่ยวข้องกับแดนทางการเมือง และการนำกฎหมายมาใช้จัดการวิกฤตการเมืองไม่มีวันสำเร็จได้อย่างถาวร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากนำมันมาใช้อย่างไม่ได้มาตรฐาน ไม่เสมอภาค เพื่อรับใช้วัตถุประสงค์ทางการเมือง

หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมข้อเขียนต่างๆ ที่เกี่ยวกับบทบาทของศาลในทางการเมือง บทบาทของศาลในระบอบเผด็จการ ทัศนคติของศาลที่มีต่อรัฐประหาร อุดมการณ์และความคิดของศาล ซึ่งตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ คอลัมน์นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ระหว่างเดือนตุลาคม 2558 ถึงธันวาคม 2559 ตั้งใจเขียนบทความชุดนี้เพื่อต้องการกระตุ้นเตือนให้เห็นความเป็นการเมืองของศาล นักกฎหมายอาจวิจารณ์คำพิพากษาของศาล แต่นักกฎหมายโดยทั่วไปก็ไปไม่ถึงการถอดรื้อศาล พวกเขาหมกมุ่นอยู่กับการวิจารณ์คำพิพากษาโดยใช้นิติวิธีตรวจสอบตรรกะและความสมเหตุสมผลของการวินิจฉัยในคำพิพากษา แต่ถ้าให้วิจารณ์และตรวจสอบจนนำไปสู่การถอดรื้อกฎหมายและศาลนั้น พวกเขาจะปฏิเสธทันที ดังที่ปรากฏให้เห็นจากกรณีที่แวดวงนิติศาสตร์ไม่ยอมรับการศึกษาตามแนวทางสำนักนิติศาสตร์เชิงวิพากษ์ (Critical Legal Studies)

งานเชิงวิพากษ์ศาลในลักษณะถอดรื้อจึงตกไปอยู่ในมือของนักรัฐศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ และนักสังคมศาสตร์มากกว่า ทั้งนี้ก็เพราะว่าหากนักกฎหมายถอดรื้อความคิดหรือโครงสร้างของความเป็นศาลและความเป็นกฎหมายแล้ว ก็เท่ากับเป็นการทำลายวิชานิติศาสตร์ไป หากวิชานิติศาสตร์สั่นคลอน ถูกท้าทาย จนมีผู้คนตั้งข้อสงสัย แล้วต่อไปพวกเขาจะผูกขาดอำนาจในนามกฎหมายหรือผูกขาดอำนาจผ่านความรู้ทางนิติศาสตร์ได้อย่างไร ฉะนั้น นักกฎหมายจึงอาจเถียงกัน แต่การถกเถียงกันของพวกเขาคงไม่มีทางนำไปสู่การทำลายแหล่งทรัพยากรในการทำมาหากิน ความขัดแย้งในหมู่นักกฎหมายคงไม่มีวันไปถึงการทุบหม้อข้าวของตนเองเป็นแน่

การศึกษาความเป็นการเมืองของศาลและความเป็นการเมืองของกฎหมายยังเป็นการแข่งขันกันระหว่างนิติศาสตร์กับศาสตร์อื่นๆ ด้วย ยามใดที่นักรัฐศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ หรือนักสังคมศาสตร์ วิเคราะห์ความเป็นการเมืองของศาล พวกนักกฎหมายจะละเลยไม่ให้ความสนใจ หรือหากให้ความสนใจ พวกเขาก็พร้อมตอบโต้กลับไปว่า “พวกคุณไม่ใช่นักกฎหมาย คุณไม่เข้าใจวิชานิติศาสตร์ ไม่รู้จักนิติวิธี วิธีการศึกษาของพวกคุณไม่ใช่นิติศาสตร์”

ส่วนผู้เขียนเองถูกฝึกมาทางนิติศาสตร์และถูกแปะป้ายให้เป็นนักกฎหมาย เมื่อนักกฎหมายมาวิเคราะห์ความเป็นการเมืองของศาลก็น่าจะช่วยลดทอนข้อจำกัดนี้ได้บ้างไม่มากก็น้อย

สำหรับการตีพิมพ์ครั้งนี้ ผู้เขียนขอขอบคุณ 'ฐากูร บุนปาน' และกองบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์ที่ให้โอกาสเขียนคอลัมน์ รวมทั้งอดทนรอต้นฉบับที่ส่งอย่างล่าช้าและไม่สม่ำเสมอ ขอขอบคุณ 'ธนาพล อิ๋วสกุล' 'ชัยธวัช ตุลาธน' 'สังคม จิรชูสกุล' และกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ที่ช่วยกันเรียบเรียงและปรับปรุงบทความต่างๆ จนออกมาเป็นหนังสือได้อย่างสมบูรณ์

ในจดหมายที่ Franz Kafka (1883-1924) เขียนถึง Oskar Pollak (1883-1915) ลงวันที่ 27 มกราคม 1904 มีข้อความตอนหนึ่งว่า "เราต้องการหนังสือที่ทำให้รู้สึกทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสจากโชคร้าย ดังความตายของคนที่เรารัก เฉกเช่นเราถูกปล่อยทิ้งไว้กลางป่าร้างไกลผู้คน เสมือนเราปรารถนาฆ่าตัวตาย หนังสือต้องเป็นดังขวานที่ฟาดน้ำแข็งที่ห่อหุ้มกายเรา"

หวังว่าหนังสือเล่มนี้พอจะเป็น 'ขวานที่ฟาดน้ำแข็งที่ห่อหุ้มกายเรา' ได้บ้าง ช่วยทำให้คนไทยได้ตื่นรู้และมีมุมมองใหม่ต่อศาล ว่าศาลไม่ใช่องค์กรที่เป็นกลางและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ศาลเป็นผู้เล่นทางการเมือง มีบทบาททางการเมืองผ่านการตัดสินคดี การตรวจสอบถ่วงดุลกับศาลจึงต้องเริ่มต้นจากการถอดรื้อความศักดิ์สิทธิ์ของศาล ทำให้ศาลลงมาอยู่ในระนาบเดียวกับองค์กรทางการเมืองอื่นๆ การวิจารณ์ การใช้อำนาจตอบโต้ และการประท้วงศาลนั้นเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตยที่แต่ละองค์สามารถใช้อำนาจตอบโต้ถ่วงดุลกันเพื่อหาจุดดุลยภาพแห่งอำนาจ หากศาลยังคงถืออำนาจ (Authority) บังคับให้บุคคลต้องเชื่อผ่านกลไกทางกฎหมาย วัฒนธรรม และอุดมการณ์ดังเช่นทุกวันนี้โดยไม่ถูกตรวจสอบถ่วงดุล เราก็ไม่มีทางที่จะเหนี่ยวรั้งกระบวนการตุลาการภิวัตน์ได้เลย

การทำงานทางความคิดและการปลูกฝังความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking; La Pensée Critique) ต่อศาลย่อมกระแทกเข้ากล่องดวงใจของศาล เสมือนเป็นรัฐประหารศาล เพื่อไม่ให้ศาลเป็นศาลรัฐประหาร และเพื่อเปลี่ยนให้ศาลเป็นศาลประชาธิปไตย

ปิยบุตร แสงกนกกุล 19 กันยายน 2560

ครบรอบ 11 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

กรุงเทพฯ–นนทบุรี–ปารีส

 

bottom of page