top of page

โลกภายในของมาดามคูรี: อัจฉริยสตรีผู้พลิกโลกวิทยาศาสตร์ (Obsessive Genius: The Inner World of Marie C


หนังสือชุดอภิปัญญาแห่งการค้นพบ

โลกภายในของมาดามคูรี: อัจฉริยสตรีผู้พลิกโลกวิทยาศาสตร์

แปลจาก Obsessive Genius: The Inner World of Marie Curie (2005)

เขียนโดย Barbara Goldsmith แปลโดยประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล บรรณาธิการโดยอุทัย วงศ์ไวศยวรรณ โครงการจัดพิมพ์คบไฟ พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม พ.ศ. 2549 จำนวน 248 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789747799899

โลกรู้จักมาดามคูรี อัจฉริยสตรีนักวิทยาศาสตร์ผู้ต่อสู้บากบั่นกับความยากลำบากและความอัตคัดขัดสน จนค้นพบธาตุเรเดียม โอสถเรืองแสงที่รักษาได้สารพัดโรค รวมทั้งมะเร็งร้าย ทว่าเบื้องหลังตำนานการค้นพบอันยิ่งใหญ่นี้ยังมีความจริงที่สำคัญซ่อนอยู่ด้วย เธอสามารถหยั่งเห็นได้ด้วยสติปัญญาอันเฉียบคมและไม่หวั่นไหวต่อเสียงขัดแย้งว่ากัมมันตภาพรังสีคือคุณสมบัติทางอะตอม จนนำไปสู่การค้นพบธาตุใหม่ๆ แต่ถึงกระนั้นผลงานของเธอที่ได้รับรางวัลโนเบลถึงสองครั้งและสามารถพลิกเปลี่ยนโฉมหน้าโลกก็มิอาจช่วยให้เธอหลุดพ้นจากอคติของสังคมและแวดวงวิทยาศาสตร์ที่ผู้ชายผูกขาดความเป็นใหญ่ได้

ใน Obsessive Genius: The Inner World of Marie Curie เล่มนี้ Barbara Goldsmith นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ชื่อดังได้เผยถึงตัวตนของผู้หญิงคนหนึ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังภาพของมาดามคูรีที่เราเคยรู้จักและยกย่อง นั่นคือผู้หญิงธรรมดาๆ ที่พยายามสู้กับแรงเสียดทานในงานอาชีพวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นภาระหน้าที่ในครอบครัว อคติของสังคม การต้องวิ่งหาทุนสำหรับงานวิจัย และการต่อสู้เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ

โดยอาศัยการค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลชั้นต้น (อนุทิน จดหมาย และการสัมภาษณ์บุคคลในครอบครัว) Goldsmith สามารถลอกเปลือกที่ห่อหุ้มตำนานออกและสะท้อนภาพเหมือนจริงของมารี คูรี ได้อย่างแจ่มชัด รวมทั้งการค้นพบอันน่าอัศจรรย์และราคาที่เธอต้องจ่ายสำหรับเกียรติยศชื่อเสียง

คำนำ

ปารีส (Paris) วันที่ 20 เมษายน 1995 ตลอดแนวถนนซุฟโฟลต์ (Soufflot) ถูกปูลาดด้วยพรมสีขาวทอดยาวผ่านแยกต่างๆ จนไปสิ้นสุดอยู่ที่หน้าปองเตอ็อง (Pantheon สุสานของบุคคลสำคัญของฝรั่งเศส) ที่ซึ่งประดับประดาด้วยธงสามสีตั้งแต่ยอดโดมจรดพื้นบาทวิถี ขบวนพิทักษ์สาธารณรัฐ (Republican Guardmen) ก้าวย่างไปบนพื้นพรมขาวตามท่วงทำนองเพลง Marseillaiise ผู้คนนับพันที่ยืนเรียงรายอยู่สองข้างถนนตกอยู่ในภวังค์เงียบผิดปกติ บางคนโยนดอกไม้ให้เมื่อขบวนแห่เคลื่อนผ่าน ขบวนนักเรียนมัธยมในปารีสที่ตามหลังคณาจารย์จากสถาบันคูรี (Curie Institute) ชูอักขระกรีกสีน้ำเงิน ขาว และแดงขนาด 4 ฟุต อันเป็นสัญลักษณ์แทนรังสีแอลฟา เบตา และแกมมา (alpha, beta and gamma rays)

เมื่อมาถึง ขบวนก็ตีวงโอบรอบปองเตอ็อง ทุกคนจับจ้องไปยังปะรำพิธีใต้โดมใหญ่อันเป็นที่นั่งของบุคคลสำคัญ อาทิ ฟรองซัวส์ มิตเตอรองด์ (François Maurice Adrien Marie Mitterrand: 1916-1996) ผู้ซึ่งกำลังป่วยด้วยโรงมะเร็งและอยู่ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสอันยาวนานถึง 14 ปี เขาไม่เพียงตัดสินใจอุทิศสุนทรพจน์ครั้งสุดท้ายให้แด่สตรีฝรั่งเศส แต่ยังจัดพิธีตระการตาเพื่อเชิญอัฐิของมาดามคูรี (Marie Skłodowska Curie or Marya Salomee Sklodowska: 1867-1934) และสามี ปีแอร์ (Pierre Curie: 1859-1906) สู่ปองเตอ็อง เป็นผลให้มารี คูรีกลายเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับการบรรจุอัฐิ ณ สถานที่แห่งนี้จากผลงานความสามารถของเธอเอง อัฐิของสามีภรรยาคูรีถูกย้ายจากสุสานชานเมืองโซซ์ (Sceaux) เพื่อมาสถิตอยู่ร่วมกับอมตะบุคคลของฝรั่งเศส อย่างโอโนเร-กาเบรียล รีเกอตี (Honoré Gabriel Riqueti: 1749-1791) ฌอง-ฌาคส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau: 1712-1778) เอมิล โซลา (Émile Édouard Charles Antoine Zola: 1840-1902) วิกเตอร์ อูโก (Victor Marie Hugo: 1802-1885) วอลแตร์หรือฟรองซัวส์-มารี อารูเอ (Voltaire or François-Marie Arouet: 1694-1778) ฌอง-บัปติสต์ เปแรง (Jean Baptiste Perrin: 1870-1942) และปอล ลองเชอแวง (Paul Langévin: 1872-1946)

ผู้ที่นั่งเคียงข้างประธานาธิบดีมิตเตอรองด์คือ เลค วาเว็นซา (Lech Wałęsa: 1943-) ประธานาธิบดีแห่งโปแลนด์ (Poland) อันเป็นถิ่นกำเนิดของมาดามคูรี และสุดท้ายก็ยังมีเลือดเนื้อเชื้อไขของสองนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังได้รับการประดับเกียรติ เริ่มจากอีฟ (Ève Denise Curie Labouisse: 1904-2007) ลูกสาว ถัดมาคือทายาทของอีแรน (Irène Joliot-Curie: 1897-1956) กับเฟรเดริก โชลิโยต์-คูรี (Jean Frédéric Joliot-Curie: 1900-1958) ผู้ล่วงลับ เอแลน ลองเชอแวง-โชลิโยต์ (Hélène Langevin-Joliot: 1927-) กับปีแอร์ โชลิโยต์ (Pierre Joliot-Curie: 1932-) ซึ่งต่างก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงทั้งคู่

ปีแอร์-กีย์ เดอ แชน (Pierre-Gilles de Gennes: 1932-2007) ผู้อำนวยการสถาบันฟิสิกส์และเคมีอุตสาหกรรมแห่งกรุงปารีส (School of Industrial Physics and Chemistry of the City of Paris or École Supérieure de Physique et de Chimie Industrielles de la Ville de Paris: EPCI) อันเป็นสถานที่ที่มารีและปีแอร์ค้นพบกัมมันตภาพรังสี (radioactivity) ธาตุเรเดียม (radium: Ra) และธาตุพอโลเนียม (polonium: Po) ขึ้นกล่าวเป็นคนแรก เขากล่าวว่าสามีภรรยาคูรีคือตัวแทนความทรงจำร่วมกันของประชาชนชาวฝรั่งเศสและความงดงามของการอุทิศตนเพื่อส่วนรวม ส่วนเลค วาเว็นซา กล่าวถึงรากเหง้าการเป็นชาวโปแลนด์ของมารี คูรี และเรียกเธอว่าเป็นผู้รักชาติของทั้งโปแลนด์และฝรั่งเศส จากนั้นประธานาธิบดีฟรองซัวส์ มิตเตอรองด์ ก็ขึ้นกล่าว

การย้ายอัฐิของปีแอร์และมารี คูรี มาสู่สถานพำนักอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้มิใช่เป็นเพียงกิจกรรมเพื่อการรำลึกถึงเท่านั้น ทว่ายังเป็นคำประกาศของฝรั่งเศสเพื่อยืนยันความศรัทธาของชาติที่มีต่อวิทยาศาสตร์และการค้นคว้าวิจัย และยังเป็นการยืนยันความเคารพของเราต่อบุคคลเหล่านั้นที่เรามาชุมนุมสักการะในขณะนี้ และต่อพลังและชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นอีกด้วย พิธีการในวันนี้เป็นความตั้งใจที่จะยื่นมือของพวกเราออกไปจากปองเตอ็องนี้ไปสู่สตรีคนแรกในประวัติศาสตร์อันน่าภาคภูมิใจของเรา นี่เป็นอีกสัญลักษณ์ที่สามารถยึดกุมความสนใจของคนทั้งชาติและเป็นตัวอย่างแห่งการต่อสู้ของผู้หญิงคนหนึ่งผู้ตัดสินใจใช้ความสามารถของตนเบียดแทรกเข้าในสังคมที่งานค้นคว้าทางปัญญา ภาระหน้าที่ต่อส่วนรวม และความสามารถต่างๆ ล้วนถูกกันไว้สำหรับผู้ชาย

เหนือศีรษะของมิตเตอรองด์มีคำจารึกที่สลักไว้บนด้านหน้าของอาคารปองเตอ็อง ใครที่ได้ฟังมิตเตอรองด์กล่าวถึงตรงนี้แล้วเงยหน้าขึ้นอ่านคำจารึก "แด่มหาบุรุษ จากประเทศชาติผู้สำนึกในบุญคุณ (To Great Men from a Grateful Country)" ก็คงอดที่จะถูกถ้อยคำยั่วล้อนั้นเสียดแทงใจไม่ได้

จบสุนทรพจน์ เสียงปรบมือดังกึกก้องไปทั่วท้องถนน ปีแอร์ คูรี ผู้ถ่อมตนซึ่งต้องการให้ฝังศพตนไว้ที่โซซ์ เนื่องจากชิงชังเสียงอึกทึกและพิธีการ คงไม่ชอบใจฉากนี้เป็นแน่ แต่จะชอบหรือไม่ก็ตาม บัดนี้คูรีทั้งสองโดยเฉพาะมารีก็ได้กลายเป็นปูชนียบุคคลไปแล้ว มาดามคูรียังเป็นสัญลักษณ์แห่งยุคสมัยและเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงทั้งปวงที่มองเห็นความสำเร็จของเธอคือตัวแทนความหวังความฝันที่จะเจริญรอยตาม แม้หนทางจะริบหรี่เพียงใด ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในผู้หญิงเหล่านั้น

สมัยที่ยังเป็นวัยรุ่น บนกระดานติดข่าวสารที่แสนจะรก ตรงกลางระหว่างภาพพิมพ์ Starry Night ของแวน โก๊ะห์ (Vincent Willem van Gogh: 1853-1890) กับบัตรโบว์ลิ่งคืนวันศุกร์ ผู้เขียนได้ใช้หมุดติดรูปถ่ายของมารี คูรีเอาไว้ ในรูปเธอนั่งอยู่ใต้ต้นเอล์ม (elm) แขนทั้งสองยื่นโอบเอวของอีฟ ลูกสาววัยสองขวบ กับอีแรนวัยเก้าขวบ ผู้เขียนไม่รู้ว่าเหตุใดจึงได้สนใจรูปถ่ายนี้ แต่ที่แน่ๆ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ มาดามคูรีเป็นขวัญใจของผู้เขียน ซึ่งก็คงเหมือนกับบุคคลที่เป็นขวัญใจของผู้คนทั้งหลายนั่นแหละ คุณไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเขาทำอะไมา แต่คุณก็ยกย่องบูชาเขา บางที่ผู้เขียนอาจจะรู้สึกสบายใจที่ได้เห็นและเข้าใจว่าอ้อมกอดของมารีดูอบอุ่นและพึ่งพิงได้ เนื่องจากในเวลานั้น แม่ซึ่งอยู่แสนไกลจากผู้เขียนกำลังนอนอยู่ที่โรงพยาบาลเนื่องจากบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุรถยนต์ ความจริงจะเป็นอย่างไรใครจะไปรู้ได้

ในรูปถ่ายไม่มีใบหน้าไหนที่มีรอยยิ้มอย่างที่มักเห็นในรูปเลย ทั้งสามแลดูเศร้าสร้อยเกินบรรยาย ในตอนนั้นผู้เขียนไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด แต่บัดนี้ผู้เขียนรู้แล้ว ใต้รูปนั้นผู้เขียนติดวาทะของมาดามคูรีไว้สองวลีว่า "ไม่มีอะไรในชีวิตที่ต้องกลัว มีเพียงแต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ (Nothing in life is to be feared. It is only to be understood)" กับ "เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสร้างความฝันแห่งชีวิตและความฝันแห่งความฝันให้เป็นจริง (It is important to make a dream of life and of a dream reality)" คำกล่าวอันหลังนี้ ผู้เขียนมารู้เอาเมื่อตอนค้นคว้าข้อมูลเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้ว่าเป็นของปีแอร์ คูรี มิใช่ของมารี

อย่างไรก็ดีไม่มีข้อสงสัยใดว่าชีวิตของมารี คูรีสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างแท้จริง เธอเป็นบุคคลที่หาได้ยากยิ่ง ประหนึ่งตัวยูนิคอร์น (unicorn) แห่งวงการวิทยาศาสตร์ เธอมาจากครอบครัวชาวโปแลนด์ที่ยากจนข้นแค้น ต้องทำงานอดออมอยู่ 8 ปี กว่าจะมีเงินพอที่จะไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (Sorbonne) แต่เอาชนะความยากลำบากนานัปการได้อย่างไม่น่าเชื่อ ในปี 1893 มารี คูรีกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับปริญญาในสาขาฟิสิกส์ที่ซอร์บอนน์ ปีถัดมาเธอได้รับปริญญาอีกใบในสาขาคณิตศาสตร์ เธอได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์หญิงคนแรกแห่งมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ และเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Prize) และมิใช่เพียงครั้งเดียว แต่ได้รับรางวัลโนเบลถึงสองครั้งสองครา ครั้งแรกในสาขาฟิสิกส์ร่วมกับปีแอร์สามีของเธอและอองรี แบ็กเกอแรล (Antoine Henri Becquerel: 1852-1908) จากผลงานการค้นพบกัมมันตภาพรังสี (radioactivity) ครั้งที่สองอีก 8 ปีต่อมาในสาขาเคมีจากผลงานการแยกธาตุพอโลเนียมและเรเดียม (isolation of the elements polonium and radium) เธอเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งสู่บัณฑิตยสภาแพทยศาสตร์ฝรั่งเศส (French Academy of Medicine or Académie Nationale de Médecine (National Academy of Medicine)) อันเป็นสถาบันเก่าแก่ 224 ปี นอกจากอาชีพการงานอันน่าทึ่งแล้ว มารียังรับบทเป็นทั้งพ่อและแม่ในการเลี้ยงดูบุตรสาวทั้งสอง จนกระทั่งพวกเธอได้รับการศึกษาที่ดี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและช่วยเหลือตัวเองได้อีกด้วย

เหล่านี้คือข้อเท็จจริงของชีวิตมาดามคูรี แต่ข้อเท็จจริงเหล่านี้ก็ถูกคลุกเคล้าด้วยมายาคติที่แสนโรแมนติกที่ถูกตกแต่งขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อและความชื่นชอบของคนส่วนใหญ่ ทั้งนักหนังสือพิมพ์ นักวิทยาศาสตร์ ผู้ประกอบการ แพทย์ นักสิทธิสตรี นักธุรกิจ เจ้าของอุตสาหกรรม และกระทั่งตัวของมาดามคูรีเอง เธอถูกจดจำว่าเป็นโจนออฟอาร์ก (Joan of Arc) ทางด้านวิทยาศาสตร์ ถนนในปารีสได้รับการตั้งชื่อตามชื่อของมาดามคูรีและสามีของเธอ ปีแอร์ ใบหน้าของเธอกับห้องทดลองที่ถูกเรียกว่าเพิงอันน่าสังเวช (miserable shed) พร้อมด้วยอีกหลายฉากในชีวิตของเธอปรากฎอยู่บนธนบัตร 500 ฟรังก์ฝรั่งเศส (French 500-franc note ปัจจุบันกลายเป็นของสะสมไปแล้ว) แสตมป์และเหรียญก็มีรูปของเธอ รถยนต์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ถูกปรับเปลี่ยนเพื่อให้บรรจุเครื่องเอกซเรย์ (x-ray equipment) เข้าไปได้ ก็เรียกกันว่าคูรีตัวน้อย (Les Petites Curie) รายการสารคดีและภาพยนตร์จอเงินช่วยเสริมสร้างเธอให้กลายเป็นตำนาน สมัยเป็นเด็ก ผู้เขียนรู้สึกประทับใจเกรียร์ การ์สัน (Eileen Evelyn Greer Garson: 1904-1996) ในบทบาทของมารี และวอลเตอร์ พิดเจียน (Walter Davis Pidgeon: 1897-1984) ผู้แสดงเป็นปีแอร์ ในภาพยนตร์ปี 1943 เรื่องมาดามคูรี (Madame Curie) ผู้เขียนจำได้ถึงใบหน้าของผู้แสดงเป็นมารีที่มีเม็ดเหงื่อผุดพราวขณะกำลังเคี่ยวสินแร่ที่กำลังเดือดในถัง ผู้เขียนไม่เคยลืมฉากกลางดึกที่มารีกับปีแอร์เข้าไปในห้องทดลอง และเห็นหยดของเหลวจับตัวเป็นลิ่มส่องแสงเรืองรองอยู่ในจาน "โอ้ ปีแอร์ ใช่หรือเปล่าเนี่ย? นี่ใช่มันรีเนี่ย?" มารีอุทาน น้ำตาไหลอาบแก้ม ใช่แล้ว ใช่สิ่งนั้นแน่นอน ธาตุเรเดียมแน่ๆ!

หลายปีผ่านไป นับแต่เด็กหญิงผู้โง่เขลาคนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากนางเอกฮอลลีวูด (Hollywood) มาบัดนี้เฉพาะเรื่องของผู้หญิง ธรรมเนียมปฏิบัติ และประวัติศาสตร์ในห้วงเวลาที่พวกเธอมีชีวิตอยู่ที่ได้กลายมาเป็นแกนหลักในงานเขียนของผู้เขียน ไฉนผู้หญิงบางคนจึงติดอยู่กับกับดักสภาพแวดล้อม ในขณะที่บางคนหนี หรือไม่ก็หาหนทางหลบเลี่ยง หรือไม่ก็ไม่แยแสต่ออุปสรรคเหล่านี้? สังคมและครอบครัวมีผลต่อความมุ่งมาดปรารถนาของพวกเธออย่างไร? ไฉนผู้หญิงบางคนจึงแสวงหาความเป็นอิสระ ในขณะที่บางคนต้องการเพียงเดินไปตามเส้นทางที่ถูกวางไว้? และเคล็ดลับใดของมารี คูรี ที่ทำให้สามารถพิชิตใจผู้คนได้ โดยเฉพาะสตรี? เหล่านี้คือคำถามบางข้อที่กระตุ้นความอยากรู้ของผู้เขียน

สิ่งที่ฝังแน่นในใจที่ผู้เขียนต้องตรวจหาคำตอบคือ ความแตกต่างอันมหาศาลระหว่างภาพลักษณ์ที่ปรากฎกับความเป็นจริง ตัวตนของมาดามคูรีในมายาคติยังคงเป็นนักวิทยาศาสตร์หญิงที่อาจกล่าวได้ว่ามีชื่อเสียงที่สุดในโลก และธาตุเรเดียมก็ยังถือเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่และถูกยกย่องให้มีความสำคัญอเนกอนันต์ต่อการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีรังสีบำบัด ทว่าในความเป็นจริงมันเป็นเช่นนั้นรึ และนี่คือคุณูปการหลักของเธอต่อวงการวิทยาศาสตร์หรือ? ไม่ต้องสงสัยเลยว่าตลอดศตวรรษที่ผ่านมา ชีวิตของมาดามคูรีได้วิวัฒน์ไปสู่ภาพลักษณ์ของความสมบูรณ์แบบสูงสุด ทว่าเบื้องหลังภาพลักษณ์นี้ยังมีผู้หญิงแท้ๆ อยู่คนหนึ่ง และผู้หญิงคนนี้แหละคือตัวตนที่ผู้เขียนต้องการใฝ่หา

[con·tin·ue]

บทที่ 1 อิทธิพลในวัยเยาว์ (Early Influences)

บทที่ 2 ฉันผ่านพ้นมาด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ (I Came Through It All Honestly)

บทที่ 3 ปารีส (Paris)

บทที่ 4 ปีแอร์ (Pierre)

บทที่ 5 เหตุบังเอิญที่สำคัญ (Remarkable Accidents)

บทที่ 6 โจทย์ข้อนี้ล้วนเป็นเรื่องใหม่ (The Question Was Entirely New)

บทที่ 7 นักวิ่งฝีเท้าดีที่สุด (The Best Sprinters)

บทที่ 8 สีสันอันงดงาม (A Beautiful Color)

บทที่ 9 อะไรคือแหล่งกำเนิดพลังงาน (What Is the Source of the Energy?)

บทที่ 10 เราจะสร้างคู่อุปถัมภ์ที่สมกับเขาขึ้น (I Will Make Him an Help Meet for Him)

บทที่ 11 หายนะของชีวิตเรา (The Disaster of Our Lives)

บทที่ 12 เรามีความสุข (We Were Happy)

บทที่ 13 กลายร่าง (The Metamorphosis)

บทที่ 14 ลูกๆ มิอาจปลุกชีวิตในตัวฉันได้ (My Children Cannot Awaken Life in Me)

บทที่ 15 ศาสตร์เคมีของสิ่งที่มองไม่เห็น (The Chemistry of the Invisible)

บทที่ 16 เกียรติยศและอัปยศ (Honor and Dishonor)

บทที่ 17 หล่อนดื้อชะมัดยาด (She Is Very Obstinate)

บทที่ 18 ด้วยกำลังทั้งหมดของฉัน (All My Strength)

บทที่ 19 เบื้องหลังตำนาน (The Mking of a Myth)

บทที่ 20 ส่งต่อคบไฟ (To Pass the Torch)

บทที่ 21 มรดกมารี (Marie's Legacy)

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page