top of page

กำเนิดสปีชีส์ (On the Origin of Species)


กำเนิดสปีชีส์

แปลจาก On the Origin of Species by Means of Natural Selection, or the Preservation of Favoured Races in the Struggle for Life (1859)

เขียนโดย Charles Robert Darwin แปลโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ดร.อุบลศรี เลิศสกุลพาณิช ดร.จันทร์เพ็ญ จันทร์เจ้า ดร.ต่อศักดิ์ สีลานันท์ ดร.ณัฐพล อ่อนปาน ดร.ศศิวิมล แสวงผล และ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ สำนักพิมพ์สารคดี พิมพ์ครั้งที่สอง พฤษภาคม 2558 (พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2558) จำนวน 512 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9786167767505

หนังสือขายดีระดับโลกที่เสนอแนวคิดอันทรงพลังที่สุดทางวิทยาศาสตร์ซึ่งยังคงก่อให้เกิดความเห็นต่างมานานกว่า 150 ปี

จากสำนักพิมพ์

หากถามว่าเหตุใดเราถึงต้องอ่าน 'กำเนิดสปีชีส์ (On the Origin of Species)' ที่เขียนโดยชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Robert Darwin: 1809-1882) นอกเสียจากชื่อเสียงที่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลกว่าคือหนังสือวิทยาศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมตลอดกาลและสร้างความสั่นสะเทือนอย่างใหญ่หลวงต่อทั้งวงการวิทยาศาสตร์ ศาสนา หรือแม้กระทั่งสังคมและการเมือง คำตอบหนึ่งอาจเป็นว่าผลงานชิ้นนี้แสดงถึงพลังอำนาจสูงสุดในการพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ เป็นธรรมชาติที่มีกฎซึ่งควบคุมให้ทุกสิ่งดำเนินไปอย่างสอดคล้อง มิใช่เพราะถูกควบคุมด้วยอำนาจพิเศษที่อยู่นอกเหนือเหตุและผล และด้วยสติปัญญาของมนุษย์ เราก็อาจเข้าถึงกฎนั้นได้

ในหนังสือเล่มนี้เราจะได้เห็นการแสดงหลักฐาน พร้อมด้วยข้อเท็จจริง และตัวอย่างอันมากมายที่ดาร์วินยำขึ้นมานำเสนอ และที่สำคัญยิ่งยวดคือคำอธิบายอย่างรอบคอบต่อทุกข้อโต้แย้งรุนแรงที่มีต่อทฤษฎีของเขา ในแต่ละบทครอบคลุมทุกประเด็นจากข้อเท็จจริงทั่วโลกเท่าที่พบในยุคสมัยนั้น โดยดาร์วินได้ตรวจสอบข้อมูลต่างๆ และบรรดาความเชื่อกับความยึดมั่นซึ่งครอบงำมานาน และยังทำการทดลองแปลกๆ เพื่อพิสูจน์ความจริงและค้นหาความเป็นไปได้ในทุกวิถีทาง หากใครก็ตามที่ต้องการเข้าใจว่าวิทยาศาสตร์ทำงานอย่างไร สิ่งที่ดาร์วินแสดงไว้ในหนังสือเล่มนี้คือตัวอย่างอันยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยมีบันทึกมา

กำเนิดสปีชีส์ได้ตั้งคำถามต่อความเชื่อที่ครอบงำมานาน แม้ในปัจจุบันว่าเราอยู่ภายใต้ความพึงพอใจของอำนาจพิเศษที่อยู่เหนือคำอธิบายใดๆ หรืออยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติที่มีหลักการ อธิบายได้ด้วยเหตุและผล ไม่สำคัญว่าทฤษฎีในหนังสือเล่มนี้ถูกต้องอย่างสมบูรณ์หรือไม่ แต่สิ่งสำคัญกว่าที่กำเนิดสปีชีส์ได้มอบไว้แก่มนุษยชาติโดยชาร์ลส์ ดาร์วิน ผู้เป็นตัวแทนอันโดดเด่นของมนุษย์ คือความตระหนักในพลังแห่งสติปัญญาที่ก่อรูปขึ้นจากการรวบรวมข้อเท็จจริงมากมายมหาศาลและความอุตสาหะอย่างยิ่งยวดในการพิจารณาถึงกฎหรือหลักการที่เชื่อมโยงข้อเท็จจริงเหล่านั้นอย่างมีเหตุและผล นี่อาจเป็นลักษณะและนิสัยอันเด่นชัดที่สุดที่ทำให้มนุษย์วิวัฒน์มาจนถึงทุกวันนี้ มิใช่การยอมจำนนให้แก่การกระทำของอำนาจพิเศษที่มิอาจเข้าใจได้แต่อย่างใด

คำปรารภจากคณะผู้แปล

หนังสือ On the Origin of Species เป็นหนึ่งในหนังสือสำคัญของโลกที่ทุกคนควรจะได้อ่านอย่างน้อยสักครั้งในชีวิต! เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น มีผู้คนและหน่วยงานจำนวนมากทั่วโลกกล่าวถึงความสำคัญและความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้ รวมถึงแนวคิดที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ เช่น นิตยสาร Discover ฉบับเดือนธันวาคม 2006 ยกย่องให้หนังสือเล่มนี้เป็น 1 ใน 25 หนังสือวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ขณะที่เว็บไซต์ Online College Course บรรจุหนังสือนี้ไว้ในรายชื่อหนังสือ 100 เล่มสำคัญที่ควรอ่านขณะอยู่มหาวิทยาลัย รวมอยู่กับหนังสือสำคัญเล่มอื่นๆ ทั้งแนววิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ เช่นเดียวกับที่เว็บไซต์ OEDB (Open Educational Database) ที่จัดให้เป็น 1 ใน 100 หนังสือวิทยาศาสตร์ยอดนิยมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล

นักอ่าน นักเขียน และนักคิดคนสำคัญหลายๆ คนต่างก็ยกย่องให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือสำคัญที่มีผลต่อรากฐานการคิดของชาวตะวันตกและเป็นหนังสือที่เปลี่ยนโลก แน่นอนว่านิตยสารวิทยาศาสตร์ย่อมต้องยกย่องหนังสือและแนวคิดด้านวิวัฒนาการอย่างยิ่ง ดังเห็นได้จากนิตยสาร Scientific American ฉบับพิเศษฉลองครบ 2 ศตวรรษปีเกิดของดาร์วินเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2009 ระบุว่า "เรื่องวิวัฒนาการเป็นแนวคิดที่ทรงพลังที่สุดทางวิทยาศาสตร์" ในทำนองเดียวกัน ชาร์ลส์ ดาร์วิน ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็ได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูง

ช่องเคเบิลและดาวเทียมในเครือข่าย A&E ของสหรัฐอเมริกาเลือกดาร์วินให้เป็น 1 ใน 100 คนที่ทรงอิทธิพลที่สุดในรอบสหัสวรรษสำหรับชุดสารคดีชีวประวัติบุคคลสำคัญของทางช่อง ทำนองเดียวกันวารสาร Nature ของอังกฤษก็ยกย่องดาร์วินไว้ว่า "ในช่วงสองศตวรรษ ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดเลยที่เทียบกับดาร์วินได้ หากพิจารณาในแง่ผลกระทบต่อวิทยาศาสตร์ การเมือง ศาสนา ปรัชญา และศิลปะ"

มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) ที่ดาร์วินเคยเข้าศึกษาถึงกับมีโครงการรวบรวมผลงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับดาร์วินไว้ให้ครบถ้วนในเว็บไซต์ดาร์วินออนไลน์ (Darwin Online) เว็บไซต์นี้ยกย่องดาร์วินไว้ว่า "น่าจะไม่มีใครที่มีอิทธิพลเรื่องความรู้เกี่ยวกับชีวิตบนโลกมากเท่ากับชาร์ลส์ ดาร์วินอีกแล้ว"

หนังสือ On the Origin of Species จึงถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญที่คนทั่วไปอาจอ่านทำความเข้าใจได้ไม่ยากนัก หากเทียบกับผลงานของนักวิทยาศาสตร์ที่โด่งดังและผู้คนรู้จักกันอย่างกว้างขวางระดับใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็น กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei: 1564-1642) ไอแซก นิวตัน (Isaac Newton: 1643-1727) หรืออัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein: 1879-1955) ฯลฯ ซึ่งมักจะมีเนื้อหาเฉพาะทาง บางครั้งก็เต็มไปด้วยสูตรและสมการจนคนทั่วไปไม่อาจเข้าใจได้เองโดยง่าย จึงไม่น่าแปลกใจที่จะกล่าวว่าทุกคนควรจะได้อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างน้อยสักครั้งในชีวิต!

น่าเสียดายว่าแม้จะผ่านกาลเวลามานานกว่าศตวรรษกึ่งแล้วก็ยังไม่มีผู้แปลหนังสือ On the Origin of Species ของชาร์ลส์ ดาร์วิน นี้ออกมาเป็นภาษาไทยเลย เมื่อถึงวาระครบรอบปีสองศตวรรษปีเกิดของดาร์วิน ในปี 2009 ซึ่งก็ตรงกับการครบรอบศตวรรษกึ่งของหนังสือนี้ด้วย ทางคณะผู้แปลจึงเห็นพ้องต้องกันว่าควรหาทางแปลหนังสือสำคัญเล่มนี้ออกเป็นภาษาไทยเสียที แรกเริ่มเมื่อคณะผู้แปลหนังสือ On the Origin of Species มาประชุมปรึกษาหารือแนวทางในการแปลร่วมกัน พวกเราตระหนักถึงความยากลำบากในการแปลหนังสือคลาสสิกซึ่งทรงคุณค่าทั้งต่อวงการวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์เล่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสำนวนหรือสไตล์การเขียนภาษาอังกฤษในบริบทยุควิกตอเรีย (Victorian era: 1837-1901) กว่า 150 ปีก่อน และความลึกซึ้งของเนื้อหาใจความ เมื่อเริ่มลงมือแปลและได้หารือกันเป็นระยะๆ นั้นก็พบว่ามีอุปสรรคอื่นๆ เพิ่มเติมมาอีกมาก โดยเฉพาะหลักภาษาไทยที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคำศัพท์เชิงวิชาการต่างๆ ด้วยความตั้งใจอย่างเต็มที่ว่าจะทำให้ฉบับแปลภาษาไทยของหนังสือเปลี่ยนโลกเล่มนี้มีความถูกต้องทางวิชาการ โดยที่ยังคงไว้ซึ่งอรรถรสและความเฉียบคมในการใช้ภาษาของดาร์วินให้มากที่สุด คณะผู้แปลจึงขอแจ้งโดยย่อๆ ให้ผู้อ่านได้รับทราบถึงข้อสรุปร่วม และขอชี้แจงประเด็นสำคัญต่างๆ บางประการของการแปลดังต่อไปนี้

ต้นฉบับที่ใช้ในการแปล

หนังสือ On the Origin of Species by Means of Natural Selection, or the Preservation of Favoured Races in the Struggle for Life ที่ใช้ในการแปลครั้งนี้เป็นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกที่ 1 ในปี 1859 ซึ่งดึงมาโดยครบถ้วนทุกคำจากเว็บไซต์ darwin-online.org.uk การที่คณะผู้แปลตัดสินใจเลือกใช้ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกนี้ ถึงแม้ว่าชาร์ลส์ ดาร์วินได้ปรับปรุงแก้ไขหนังสือ On the Origin of Species ของเขาใหม่ทุกครั้งที่ตีพิมพ์ รวมแล้วถึง 6 ครั้งด้วยกัน เหตุผลสำคัญคือ นอกจากเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของช่วงเวลาที่มีการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมาเป็นครั้งแรกในโลกแล้ว ยังเป็นการเลือกใช้ต้นฉบับที่สะท้อนถึงความนึกคิดที่แท้จริงของดาร์วินไว้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด มีงานวิจัยภายหลังที่ยืนยันว่าในการตีพิมพ์ครั้งหลังๆ นั้น ดาร์วินไม่ได้แค่ปรับแก้สำนวนและถ้อยคำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นมากเท่านั้น แต่เขายังได้แก้ไขเนื้อหาในหลายส่วน (มีทั้งการตัดออกบางส่วนและการเพิ่มเติมบางส่วน) โดยเฉพาะส่วนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าขัดแย้งกับความเชื่อทางศาสนาในขณะนั้นจนมีความเข้มข้นน้อยลงไปด้วย

รูปแบบประโยคและการอ้างถึงเนื้อหาอื่น

ถึงแม้ว่าหนังสือ On the Origin of Species นี้จะประสบความสำเร็จอย่างสูงในการจัดจำหน่ายทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบันในต่างประเทศ อันเนื่องมาจากการเขียนด้วยภาษาอังกฤษทั่วไป ไม่ใช่ภาษาวิชาการที่เต็มไปด้วยศัพท์แสงเข้าใจยากหรือเต็มไปด้วยสูตรและสมการ แต่หลายครั้งที่ผู้อ่านอาจจะพบว่า แม้ว่าชาร์ลส์ ดาร์วิน จะอธิบายความได้อย่างจับใจมาก แต่ก็มีลักษณะเฉพาะตัวสูง คือมักอธิบายความเพิ่มเติมเนื้อหาส่วนสำคัญที่ต้องการเน้นย้ำโดยการเขียนซ้อนกันเป็นชั้นๆ อย่างยืดยาว แม้เพียงประโยคเดียวก็อาจยาวถึง 3-4 บรรทัด หรือแม้แต่เกือบทั้งย่อหน้าก็มี! โดยเขาอาศัยเครื่องหมายจุลภาค ( , ) เชื่อมต่อส่วนต่างๆ ของประโยคเข้าด้วยกัน ทำให้การแปลให้คงรูปประโยคแบบเดียวกับในภาษาอังกฤษออกมาเป็นภาษาไทยนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในบางกรณี จึงต้องอาศัยการจัดเรียงแบ่งรูปประโยคใหม่ออกเป็นส่วนย่อยหลายประโยคเพื่อให้อ่านเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น สำหรับผู้อ่านที่มีข้อสงสัยในเนื้อหาหรือวิธีการแปลจึงควรลองอ่านเปรียบเทียบกับต้นฉบับหนังสือนี้ในภาษาอังกฤษ โดยสามารถเปิดอ่านหรือดาวน์โหลดได้โดยตรงจากเว็บไซต์ดาร์วินออนไลน์ หรืออ่านจากหนังสือนี้ฉบับที่สำนักพิมพ์ต่างๆ ตีพิมพ์ออกจำหน่ายก็จะได้ความชัดเจนและมีส่วนช่วยเพิ่มอรรถรสยิ่งขึ้นด้วย

ความสำเร็จอีกประการหนึ่งของหนังสือ On the Origin of Species ยังเกิดขึ้นจากความอุตสาหะอย่างยิ่งยวดของชาร์ลส์ ดาร์วิน ในการรวบรวมหลักฐานและผลการทดลองมากมายอย่างน่าอัศจรรย์ใจจากทั่วโลกเพื่อใช้สนับสนุนแนวคิดและทฤษฎีของเขาจนชวนให้ผู้อ่านคิดเห็นคล้อยตามได้ไม่ยาก แต่หลายครั้งเช่นกันที่ผู้อ่านจะพบว่าดาร์วินกล่าวอ้างถึงข้อสังเกต หลักฐาน และงานวิจัยของบุคคลอื่นโดยไม่ระบุเอกสารอ้างอิงไว้อย่างรัดกุมดังเอกสารงานวิจัยทั่วไปทั้งในยุคนั้นและยุคปัจจุบันพึงกระทำ สาเหตุสำคัญอาจเป็นว่าดาร์วินตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้ให้เป็นเพียงบันทึกสั้นๆ ดังปรากฏว่าเขาตั้งใจจะใส่คำว่าบทคัดย่อ (abstract) ไว้ในชื่อหนังสือด้วย แต่ John Murray ผู้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้เกลี้ยกล่อมจนเขายอมเปลี่ยนใจในที่สุด เพราะหนังสือมีความยาวหลายร้อยหน้า ดาร์วินตั้งใจเขียนให้หนังสือเล่มนี้เป็นฉบับย่อที่รวบรวมความนึกคิดและหลักฐานต่างๆ ของเขาจากงานวิจัยลับๆ ส่วนตัวที่ทำต่อเนื่องมาราว 20 ปี และตั้งใจจะทำหนังสือเล่มใหญ่ที่สมบูรณ์กว่าออกมาในภายหลังเพื่ออธิบายประเด็นต่างๆ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น น่าเสียดายว่าสุดท้ายแล้วดาร์วินก็ไม่ได้มีโอกาสเขียนหนังสือเล่มสมบูรณ์ดังกล่าวออกมา

ศัพท์บัญญัติทางวิทยาศาสตร์และคำทับศัพท์

ในการแปลหนังสือ On the Origin of Species หรือกำเนิดสปีชีส์ในภาคภาษาไทยนี้ คณะผู้แปลถือหลักในการใช้คำศัพท์วิชาการตามที่ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติไว้ให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นคำศัพท์วิทยาศาสตร์ทั่วไปหรือคำศัพท์เฉพาะทาง เช่น ศัพท์พฤกษศาสตร์ หรือศัพท์ธรณีวิทยา เป็นต้น เพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกันกับเอกสารแปลทางวิชาการอื่นๆ โดยจะเขียนคำภาษาอังกฤษกำกับไว้ในวงเล็ เมื่อแรกปรากฏคำศัพท์นั้นๆ เพื่อให้ผู้อ่านทราบถึงที่มาต้นเค้าที่มาของคำศัพท์คำนั้นๆ ในภาษาอังกฤษ กระนั้นก็ตามอาจมีบางครั้งที่คณะผู้แปลมีความจำเป็นที่จะต้องใช้คำศัพท์ที่ไม่ใช่ศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน หรืออาจจะต้องเขียนคำทับศัพท์เป็นภาษาไทยโดยตรงโดยอาศัยหลักการทับศัพท์ตามแนวทางของราชบัณฑิตยสถาน เพื่อให้ผู้อ่านมีความเข้าใจในเนื้อหาของหนังสือได้ชัดเจนขึ้นและตรงตามความหมายที่ดาร์วินต้องการจะสื่ออีกด้วย

ตัวอย่างสำคัญในกรณีนี้คือ การใช้คำว่า 'สปีชีส์' แทนคำว่า 'species' แทนที่จะใช้คำว่า 'ชนิดพันธุ์' หรือ 'ชนิด' ตามที่ปรากฏในศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน เนื่องจากคณะผู้แปลมีความเห็นร่วมกันว่า คำว่า 'สปีชีส์' เป็นคำสำคัญและเป็นหัวใจหลักของการอภิปรายในทุกบทของหนังสือเล่มนี้ รวมไปจนถึงในการโต้แย้งเกี่ยวกับประเด็นวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่ยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน และไม่มีที่ใดในหนังสือนี้อ้างถึงนิยามที่ชัดเจนครอบคลุมไว้เลย จึงจำเป็นที่จะต้องนำเสนอให้ผู้อ่านได้คุ้นเคยจนเห็นความสำคัญและเข้าใจนัยยะของคำนี้จากตัวอย่างต่างๆ ที่ดาร์วินยกขึ้นมาอภิปรายไว้ตลอดทั่วทั้งเล่ม และเพื่อไม่ให้สับสนกับการใช้คำว่า 'ชนิด' ในกรณีอื่นๆ ในเนื้อหาส่วนต่างๆ ของหนังสือนี้

ส่วนคำศัพท์อื่นๆ ในภาษาอังกฤษที่ใช้ในการบอกระดับของหมวดหมู่ในระบบอนุกรมวิธานของสิ่งมีชีวิตนั้น คณะผู้แปลเลือกใช้ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถานให้มากที่สุด เช่น ใช้ 'วงศ์' แทน 'family' ใช้ 'สกุล' แทน 'genus' และใช้ 'สกุลย่อย' แทน 'subgenus' รวมไปถึงใช้ 'พันธุ์' แทน 'variety' เหตุที่ไม่ใช้การเขียนทับศัพท์ 'variety' ทั้งที่เป็นหนึ่งในคำศัพท์สำคัญของเนื้อหาซึ่งเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับคำว่า 'สปีชีส์' เนื่องจากว่าคำศัพท์นี้เป็นคำศัพท์ที่ไม่คุ้นเคยกันนักสำหรับคนไทย นอกจากนี้คำศัพท์นี้ยังมีความหมายอื่นที่คุ้นเคยกันมากกว่าในภาษาไทย คือหมายถึงรายการบันเทิงทางโทรทัศน์ที่มีรูปแบบหลากหลาย

ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสกุล และชื่อสามัญของสิ่งมีชีวิต

สำหรับการเรียกชื่อสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ในหนังสือ 'กำเนิดสปีชีส์' ดาร์วินไม่ได้เขียนชื่อวิทยาศาสตร์ (scientific name) ตามระบบสากลของการตั้งชื่อสัตว์และพืช กล่าวคือแทนที่จะเขียนชื่อสปีชีส์ของ 'นกพิราบป่า' ด้วยตัวอักษรตัวเอียงเป็น Columba livia หรือเป็นตัวอักษรตัวตรงมีเส้นใต้กำกับแยกชื่อสกุลและชื่อสปีชีส์ออกจากกันเป็น Columba livia แต่เขากลับใช้เป็น Columba livia (ตัวอักษรตัวตรงไม่มีเส้นใต้กำกับ) ดังนั้นเพื่อที่ไม่ให้ผู้อ่านเกิดสับสนในการเรียกชื่อสิ่งมีชีวิตในหนังสือฉบับภาษาไทยนี้ ทางคณะผู้แปลจึงเลือกใช้วิธีการเขียนชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสกุลเป็นตัวอักษรตัวเอียงไม่ขีดเส้นใต้ตามแบบที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เช่น Columba livia ดังตัวอย่างข้างต้น

ส่วนชื่อสามัญ (common name) รวมไปจนถึงชื่อวงศ์และชื่อสกุลของสิ่งมีชีวิตในหนังสือเล่มนี้ ถ้าหากสิ่งมีชีวิตนั้นมีอยู่ในประเทศไทยหรือมีตัวแทนของกลุ่มสิ่งมีชีวิตนั้นที่รู้จักกันดีในหมู่คนไทย คณะผู้แปลจะใช้ชื่อในภาษาไทยนั้น แทนที่จะเขียนคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ เช่นคำว่า 'Leguminosae' จะใช้ว่า 'พืชวงศ์ถั่ว' แทนที่จะเขียนว่า 'พืชวงศ์เลกูมิโนซี' หรือ 'พืชวงศ์เลกูม' เป็นต้น

ชื่อบุคคลและสถานที่

อุปสรรคสำคัญหนึ่งในการแปลหนังสือเล่มนี้ คือชื่อของบุคคลและสถานที่ต่างๆ ที่ดาร์วินได้อ้างถึงหรือหยิบยกขึ้นมาประกอบในเนื้อหาในหนังสือ ซึ่งมีหลายคำที่ไม่ได้เป็นเพียงชื่อบุคคลหรือสถานที่ที่เป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ยังมีภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน หรือแม้แต่ภาษาละตินอีกด้วย คณะผู้แปลพยายามหาเสียงอ่านชื่อบุคคลและสถานที่ดังกล่าวโดยใช้ทั้งการสอบถามผู้รู้หรือเจ้าของภาษา และใช้การค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเอกสารอ้างอิงหรือเว็บไซต์มาตรฐานต่างๆ แต่คณะผู้แปลเองมีความตระหนักเช่นกันถึงความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ จึงขออภัยมาล่วงหน้าด้วย

คณะผู้แปลหวังว่าการมีหนังสือ 'กำเนิดสปีชีส์' ที่เป็นภาคภาษาไทยของ 'On the Origin of Species' ของชาร์ลส์ ดาร์วินนี้จะช่วยเติมเต็มช่องว่างทางด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของคนไทย ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงผลงานระดับมาสเตอร์พีซด้านวิทยาศาสตร์ของโลกด้วยตัวเองได้มากยิ่งขึ้น ช่วยให้สามารถซาบซึ้งกับแนวคิดด้านวิวัฒนาการในหนังสือนี้ และพิสูจน์ได้ด้วยตาตัวเองว่าเหตุใดหนังสือนี้จึงได้สมญาว่าเป็น 'หนังสือที่เปลี่ยนโลก' และเหตุใด ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักวิทยาศาสตร์ผู้ประพันธ์หนังสือเล่มนี้จึงได้สมญาว่าเป็น "นักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในรอบสองศตวรรษ"

[con·tin·ue]

คำนิยม โดยศาสตราจารย์ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้

บทนำ

บทที่ 1 ความผันแปรภายใต้การเพาะเลี้ยงให้เป็นพันธุ์พื้นเมือง (Variation under Domestication)

สาเหตุของความผันแปร ผลกระทบของพฤติกรรม ความสัมพันธ์ร่วมกันของการเติบโต การสืบทอดลักษณะ ลักษณะของพันธุ์เลี้ยง ความยากลำบากของการแยกแยะพันธุ์ต่างๆ ออกจากกัน กำเนิดของพันธุ์เลี้ยงจากหนึ่งสปีชีส์หรือมากกว่า ความแตกต่างและต้นกำเนิดของนกพิราบเลี้ยง หลักของการคัดเลือกในสมัยโบราณและผลกระทบ การคัดเลือกแบบตามกระบวนการและแบบไม่ได้ตั้งใจ กำเนิดที่ยังไม่เป็นที่ทราบกันของผลิตผลจากการเพาะเลี้ยงของเรา สภาพต่างๆ ซึ่งเหมาะกับอำนาจในการคัดเลือกของมนุษย์

บทที่ 2 ความผันแปรภายใต้ธรรมชาติ (Variation under Nature)

ความผันแปร ความแตกต่างรายตัว สปีชีส์ที่น่าข้องใจ สปีชีส์สามัญที่แพร่กระจายมากและอย่างกว้างขวางจะผันแปรได้มากที่สุด สปีชีส์ในสกุลใหญ่กว่าในพืนที่แห่งหนึ่งผันแปรมากกว่าสปีชีส์ในสกุลเล็กกว่า สปีชีส์จำนวนมากของสกุลใหญ่กว่าคล้ายกับพันธุ์ในแง่ที่แต่ละสปีชีส์มีความสัมพันธ์กันใกล้ชิดมากในระดับแตกต่างกันไป และในแง่ที่อาศัยอยู่ในขอบเขตจำกัด

บทที่ 3 การดิ้นรนเพื่อความดำรงอยู่ (Struggle for Existence)

ว่าด้วยการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ความหมายทั่วไปของศัพท์ การเพิ่มจำนวนแบบยกกำลังเรขาคณิต การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสัตว์และพืชที่ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้แล้ว ธรรมชาติของตัวควบคุมการเพิ่มจำนวน ความเป็นสากลของการแข่งขัน ผลกระทบของภูมิอากาศ การปกป้องด้วยการมีจำนวนตัวมาก ความสัมพันธ์อันซับซ้อนของสัตว์และพืชทั้งมวลในธรรมชาติ การดิ้นรนเพื่อชีวิตมีความรุนแรงที่สุดระหว่างสิ่งมีชีวิตแต่ละตัวและระหว่างพันธุ์ในสปีชีส์เดียวกันและมีความรุนแรงบ่อยครั้งระหว่างสปีชีส์ในสกุลเดียวกัน ความสัมพันธ์ของชีวิตหนึ่งกับอีกชีวิตหนึ่งมีความสำคัญที่สุดในบรรดาความสัมพันธ์ทั้งปวง

บทที่ 4 การคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection)

การคัดเลือกโดยธรรมชาติ อำนาจของมันเทียบกับการคัดเลือกโดยมนุษย์ อำนาจของมันต่อลักษณะที่มีความสำคัญเล็กน้อย อำนาจของมันต่อทุกช่วงวัยและต่อเพศทั้งสอง การคัดเลือกทางเพศ ว่าด้วยเรื่องลักษณะทั่วไปของการผสมข้ามระหว่างสิ่งมีชิวิตแต่ละตัวในสปีชีส์เดียวกัน สภาวะที่เอื้อและไม่เอื้อต่อการคัดเลือกโดยธรรมชาติประกอบด้วยการผสมข้าม สภาพโดดเดี่ยว และจำนวนของสิ่งมีชีวิตแต่ละตัว การกระทำอย่างช้าๆ การสูญพันธุ์ที่เกิดจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ไดเวอร์เจนซ์ของลักษณะที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เล็กๆ บริเวณใดก็ตาม และไดเวอร์เจนซ์ของการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม การกระทำของการคัดเลือกโดยธรรมชาติต่อลูกหลานที่เกิดจากพ่อแม่ร่วมผ่านไดเวอร์เจนซ์ของลักษณะและการสูญพันธุ์ คำอธิบายเรื่องการจัดกลุ่มของชีวอินทรีย์ทั้งมวล

บทที่ 5 กฎของความผันแปร (Laws of Variation)

ผลกระทบของสภาะแวดล้อมภายนอก การใช้และการเลิกใช้ร่วมกับการคัดเลือกโดยธรรมชาติ อวัยวะที่ใช้ในการบินและการมองเห็น การปรับให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ ความสัมพันธ์ร่วมกันของการเติบโต การทดแทนและการใช้ประโยชน์สูงสุดของการเติบโต ความสัมพันธ์ร่วมกันแบบเทียมๆ การผันแปรได้ของโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อนและโครงสร้างที่เจริญไม่สมบูรณ์อยู่หลายแบบ ส่วนประกอบที่ได้รับพัฒนาในแบบไม่ปกติมักจะผันแปรได้มาก ลักษณะจำเพาะมีความผันแปรมากกว่าลักษณะทั่วไป การผันแปรได้ของลักษณะทางเพศขั้นทุติยภูมิ สปีชีส์ที่อยู่ในสกุลเดียวกันจะผันแปรในลักษณะคล้ายกัน การผันกลับของลักษณะที่หายสาบสูญไปนานแล้ว

บทที่ 6 ความยุ่งยากของทฤษฎี (Difficulties on Theory)

ความยุ่งยากทฤษฎีเรื่องการสืบเชื้อสายที่ปรับเปลี่ยน การเปลี่ยนผ่าน การปราศจากพันธุ์เปลี่ยนผ่านหรือการหาพันธุ์เปลี่ยนผ่านได้ยาก การเปลี่ยนผ่านนิสัยการดำรงชีวิต นิสัยอันหลากหลายในกลุ่มสปีชีส์เดียวกัน สปีชีส์ที่มีนิสัยแตกต่างอย่างมากจากสปีชีส์ใกล้ชิด อวัยวะที่สมบูรณ์แบบอย่างยิ่ง วิธีการเปลี่ยนผ่าน กรณีตัวอย่างของความยุ่งยาก ธรรมชาติไม่ก้าวกระโดด อวัยวะที่มีความสำคัญน้อย อวัยวะไม่สมบูรณ์แบบอย่างสัมบูรณ์สำหรับทุกกรณี กฎเอกภาพของแบบและกฎสภาวะแห่งการดำรงอยู่ภายใต้ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ

บทที่ 7 สัญชาตญาณ (Instinct)

สัญชาตญาณเทียบเคียงได้กับลักษณะนิสัย แต่แตกต่างกันที่ต้นกำเนิด สัญชาติญาณแบบเป็นลำดับชั้น เพลี้ยและมด สัญชาตญาณที่ผันแปรได้ สัญชาตญาณจากการเพาะเลี้ยงและต้นกำเนิด สัญชาตญาณตามธรรมชาติของนกคัคคู นกกระจอกเทศ และผึ้งที่เป็นปรสิต มดนายทาส ผึ้งรังและสัญชาตญาณการสร้างช่องรังผึ้ง ความยุ่งยากเกี่ยวกับทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติของสัญชาตญาณ แมลงไม่มีเพศหรือเป็นหมัน

บทที่ 8 ความเป็นลูกผสม (Hybridism)

ความแตกต่างระหว่างการเป็นหมันของการผสมข้ามครั้งแรกกับของลูกผสม การเป็นหมันมีหลายระดับและไม่เป็นจริงเสมอไปในทุกกรณีได้รับผลจากการผสมในสายเลือดใกล้ชิดกันยกเลิกได้ด้วยการเพาะเลี้ยง กฎที่ควบคุมการเป็นหมันของงลูกผสม การเป็นหมันมิได้มาจากการประทานให้เป็นพิเศษ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญจากการแตกต่างประการอื่น สาเหตุของการเป็นหมันในการผสมข้ามครั้งแรกและของลูกผสม ความเป็นคู่ขนานระหว่างผลกระทบจากสภาวะของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปและการผสมข้าม ภาวะเจริญพันธุ์ของพันธุ์ต่างๆ เมื่อผสมข้ามและของลูกพันทางของพวกมันไม่เป็นจริงเสมอไปในทุกกรณี การเปรียบเทียบลุกผสมและลูกพันทางในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาวะเจริญพันธุ์ของพวกมัน

บทที่ 9 ความบกพร่องของหลักฐานทางธรณีวิทยา (On the Imperfection of the Geological Record)

การขาดหายไปของพันธุ์กึ่งกลางในยุคปัจจุบัน ธรรมชาติของการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตพันธุ์กึ่งกลางและจำนวนของพวกมัน กาลเวลาที่ล่วงไปนานแสนนานจากการอนุมานด้วยอัตราการตกตะกอนและการสึกกร่อน ความขัดสนของตัวอย่างทางบรรพชีวันวิทยาของเรา ความไม่ต่อเนื่องของกลุ่มหินทางธรณีวิทยา การขาดหายไปของพันธุ์กึ่งกลางในบางกลุ่มหิน การปรากฏขึ้นอย่างฉับพลันของทั้งกลุ่มสปีชีส์ การปรากฏขึ้นอย่างฉับพลันของกลุ่มสปีชีส์ในชั้นหินที่มีซากดึกดำบรรพ์ส่วนล่างที่สุดเท่าที่รู้จักกัน

บทที่ 10 การเข้าแทนที่ทางธรณีวิทยาของชีวอินทรีย์ (On the Geological Succession of Organic Beings)

การปรากฏขึ้นของการเข้าแทนที่กันอย่างช้าๆ ของสปีชีส์ใหม่ อัตราการเปลี่ยนแปลงซึ่งแตกต่างกันของสปีชีส์ใหม่ สปีชีส์ที่สาบสูญไปแล้วไม่กลับมาปรากฏขึ้นอีก กลุ่มของสปีชีส์เป็นไปตามกฎทั่วไปเกี่ยวกับการปรากฏขึ้นหรือสูญหายไปเช่นเดียวกับสปีชีส์เดี่ยวๆ การสูญพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงของรูปลักษณ์ของชีวิตอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วโลก ความเกี่ยวดองระหว่างสปีชีส์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วด้วยกันเองและกับสปีชีส์ที่ยังมีชีวิตอยู่ สถานะของการพัฒนารูปลักษณ์โบราณ การเข้าแทนที่กันของสิ่งมีชีวิตแบบเดียวกันในพื้นที่เดียวกัน

บทที่ 11 การแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์ (Geographical Distribution)

การแพร่กระจายในปัจจุบันมิได้เป็นผลจากการความแตกต่างของสภาวะทางกายภาพ ความสำคัญของสิ่งกีดขวาง ความเกี่ยวดองกันของผลิตผลในทวีปเดียวกัน จุดศูนย์กลางของการถือกำเนิด วิธีการกระจายพันธุ์โดยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงระดับของแผ่นดิน และโดยวิธีการซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว การกระจายพันธุ์ในระหว่างยุคธารน้ำแข็งซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก

บทที่ 12 การแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์-ต่อ (Geographical Distribution-continued)

การแพร่กระจายของสิ่งมีชีวิตในน้ำจืด สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ตามเกาะกลางมหาสมุทร การปราศจากสัตว์พวกกบเขียดและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบก ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนเกาะกับที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ที่ใกล้กันที่สุด การยึดครองพื้นที่จากแหล่งที่ใกล้ที่สุดและการปรับเปลี่ยนในภายหลัง

บทที่ 13 ความเกี่ยวดองร่วมกันของชีวอินทรีย์: สัณฐานวิทยา วิทยาเอ็มบริโอ และอวัยวะเจริญอย่างไม่สมบูรณ์ (Mutual Affinities of Organic Beings: Morphology, Embryology, and Rudimentary Organs)

การจัดจำแนกประเภท กลุ่มย่อย ภายใต้กลุ่ม ระบบธรรมชาติ กฎและความยากลำบากในการจัดจำแนกประเภทเมื่ออธิบายด้วยทฤษฎีการสืบเชื้อสายที่มีการปรับเปลี่ยน การจัดจำแนกประเภทของพันธุ์ การจัดจำแนกประเภทต้องใช้การสืบเชื้อสายประกอบเสมอ ลักษณะคล้ายคลึงกันโดยเทียบเคียงหรือโดยการปรับตัว ความเกี่ยวดอง ความทั่วไป ความซับซ้อน และการแผ่สาขา การสูญพันธุ์แบ่งแยกและนิยามกลุ่ม สัณฐานวิทยาระหว่างสมาชิกในคลาสเดียวกันและระหว่างส่วนต่างๆ ภายในตัวเดียวกัน วิทยาเอ็มบริโอ กฎที่เกี่ยวข้องและอธิบายด้วยความผันแปรซึ่งมิได้เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดในช่วงวัยเริ่มแรกและสืบทอดในวัยที่สอดคล้อง อวัยวะเจริญอย่างไม่สมบูรณ์อธิบายถึงจุดกำเนิดของอวัยวะเหล่านี้

บทที่ 14 ทบทวนและสรุป (Recapitulation and Conclusion)

ทบทวนเรื่องความยุ่งยากต่างๆ ต่อทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ทบทวนสถานการณ์ทั่วไปและสถานการณ์พิเศษที่ส่งเสริมการคัดเลือกโดยธรรมชาติ สาเหตุของความเชื่อทั่วไปเรื่องการไม่เปลี่ยนแปลงของสปีชีส์ ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติจะขยายขอบเขตไปได้ไกลเพียงใด ผลกระทบจากการนำเรื่องการคัดเลือกโดยธรรมชาติมาใช้ศึกษาประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ข้อสังเกตโดยสรุป

ประวัติคณะผู้แปล

ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาชีววิทยาจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทสาขาชีวเคมีจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) และระดับปริญญาเอกจาก Kumamoto University ด้วยทุนมอนบูโชของประเทศญี่ปุ่น เข้าทำงานที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตั้งแต่ปี 2537 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายสื่อวิทยาศาสตร์ และทำหน้าที่เกี่ยวกับการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วยการเขียน แปล ตรวจบรรณาธิการ และเป็นพิธีกร มีงานเขียนและงานแปลด้านวิทยาศาสตร์ภาษาไทยแล้วกว่า 20 เล่ม ในจำนวนนี้มี 'พจนานุกรมเทคโนโลยีชีวภาพ อังกฤษ-ไทย' และ 'สารานุกรมบริแทนนิกา (หมวดพันธุศาสตร์)' รวมอยู่ด้วย

ดร.อุบลศรี เลิศสกุลพาณิช

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาชีวเคมี (เกียรตินิยมอันดับสอง) จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาเอกสาขาชีวเคมีจาก Virginia Polytechnic Institute and State University ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าทำงานที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. ตั้งแต่ปี 2542 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนักวิจัยอาวุโส งานวิจัยที่ผ่านมา ได้แก่ การศึกษาเป้าหมายยาต้านมาลาเรียและกลไกการดื้อยาแอนติโฟเลตในเชื้อมาลาเรีย

รองศาสตราจารย์ ดร.จันทร์เพ็ญ จันทร์เจ้า

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาชีววิทยา (เกียรตินิยมอันดับสอง) จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทุน พสวท. ระดับปริญญาโทและปริญญาเอกสาขาชีววิทยาจาก Virginia Polytechnic Institute and State University ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ต่อศักดิ์ สีลานันท์

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทสาขาพฤกษศาสตร์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทุน พสวท. และปริญญาเอกสาขา Plant Systematics and Evolution จาก Iowa State University ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันรับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนและวิจัยด้านความหลากหลายของพืชในประเทศไทย และชีววิทยาการสืบพันธุ์ของกล้วยไม้

อาจารย์ ดร.ณัฐพล อ่อนปาน

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาชีววิทยาจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปริญญาโทสาขา Ecosystem Analysis and Governance จาก University of Warwick และปริญญาเอกสาขา Biological Sciences จาก University of Exeter สหราชอาณาจักร ด้วยทุน พสวท. ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีการสอนและวิจัยด้านวิวัฒนาการ พันธุศาสตร์ นิเวศวิทยา และความหลากหลายทางชีวภาพ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาพฤกษศาสตร์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทสาขาพืชสวนจาก University of Florida ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มทำงานในตำแหน่งอาจารย์ที่ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2538 เนื้อหาวิชาหลักที่สอนคือ อนุกรมวิธานพืช วิวัฒนาการของพืช พฤกษศาสตร์พืชเศรษฐกิจ และการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ งานวิจัยหลักคือการศึกษาความหลากหลายของกล้วยป่าและพันธุ์ทุเรียนในประเทศไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาพันธุศาสตร์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ (พันธุวิศวกรรม) จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และปริญญาเอกสาขา Molecular Biology จาก University of Edinburgh สหราชอาณาจักร ด้วยทุน พสวท. เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาตั้งแต่ปี 2545 สอนวิชาหลักคือวิวัฒนาการ และร่วมสอนวิชาอื่นๆ ทางด้านชีววิทยา มีความสนใจในด้านการศึกษาวิวัฒนาการและความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในประเทศไทย

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page