top of page

คอสมอส (Cosmos)


คอสมอส

แปลจาก Cosmos (1980)

เขียนโดย Carl Edward Sagan แปลโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ และธิดา จงนิรามัยสถิต สำนักพิมพ์สารคดี พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2560 จำนวน 496 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9786167767857

คำนำผู้แปล

ในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ร่วมสมัย คาร์ล เซแกน (Carl Edward Sagan: 1934-1996) ไม่เป็นสองรองใคร เขาสื่อสารความรู้และความน่าสนใจของเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ (โดยเฉพาะในด้านดาราศาสตร์) ออกสู่ประชาชนคนทั่วไปอย่างแพร่หลายยิ่ง ด้วยสำนวนการนำเสนอที่ละเมียดละไมและไพเราะดุจดังบทกวี อีกทั้งผ่านวิธีการที่ละมุนละไม ทั้งอาศัยการเปรียบเทียบ การเล่าเรื่องที่คล้ายการเล่านิทาน การยกคำคมคนสำคัญ การบรรยายภาพปูมหลังเหตุการณ์ก็ทำได้อย่างละเอียดลออและเห็นภาพ ฯลฯ

คนสำคัญในโลกนี้มักจะมีผลงานระดับ master piece ให้เอ่ยอ้างถึงกัน สำหรับ Sagan สารคดีและหนังสือ Cosmos ถือเป็นผลงานชิ้นเอกได้อย่างไม่ต้องสงสัย หลังจากวางขายได้ไม่นาน หนังสือ Cosmos ก็ทำสถิติเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ภาษาอังกฤษสมัยใหม่เล่มแรกที่ขายได้มากกว่า 5 แสนเล่ม และทำสถิติเป็นหนังสือ Bestseller ในการจัดอันดับของ Publishers Weekly นาน 50 สัปดาห์ติดต่อกัน และของ New York Times นานถึง 70 สัปดาห์ โดยทำยอดขายในระดับนานาชาติมากกว่า 5 ล้านเล่มในปี 1981 หนังสือ Cosmos ได้รับรางวัลฮิวโก (Hugo Award) ในฐานะหนังสือสารคดียอดเยียม และห้องสมุดรัฐสภาของสหรัฐอเมริกาเลือกให้ Cosmos เป็นหนึ่งใน 88 เล่มที่ก่อร่างสร้างอเมริกา Cosmos จึงเป็น mater piece ของ Sagan อย่างแท้จริง

นักประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ บรูซ เลเวนสไตน์ (Bruce Lewenstein) กล่าวถึง Cosmos ว่าเป็นหนังสือที่ผู้คนไม่น้อยอ้างอิงกันว่า "ฉันกลายมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็เพราะอ่านหนังสือเล่มนี้แหละ" โดยเฉพาะในทางฟิสิกส์และดาราศาสตร์ จนอาจกล่าวได้ว่า Sagan เป็นนักวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการทำให้ผู้คนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์

ตอนนี้หนังสือคอสมอส (Cosmos) ฉบับภาษาไทยที่แปลอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ทุกบทก็อยู่ในมือท่านแล้ว ภายในเล่มคณะผู้แปลได้เพิ่มเติมข้อมูลต่างๆ ที่ทันสมัย (เซแกนเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1996 ข้อมูลหลายเรื่องจึงไม่มีการเพิ่มเติมในฉบับพิมพ์ครั้งหลังๆ อีก) โดยเฉพาะข้อมูลทางดาราศาสตร์ แม้ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ในเล่มจะไม่ได้ล้าสมัยไปตามกาลเวลาเลย ขอเขิญทุกท่านร่วมท่องไปกับคอสมอสที่จะพาท่านไปยังอดีตและอนาคตที่ไกลสุดจินตนาการ ย้อนไปยังยุครุ่งเรืองของกรีกโบราณและดึกดำบรรพ์กว่านั้น พาท่านสำรวจลึกเข้าไปจนถึงกาลเวลาที่ไร้โลกและดวงอาทิตย์ และไกลยิ่งไปกว่านั้น พาท่านสำรวจลึกเข้าไปในร่างกายของเราที่เป็นผลผลิตจากสารต่างๆ ในปฏิกิริยาภายในดาวฤกษ์ สัมผัสกับชีวิตนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญ ท่องโลกและและเยี่ยมเยือนดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ในระบบสุริยะกับดวงจันทร์ของพวกมันเรื่อยไปจนถึงดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ในกาแล็กซี่อื่นๆ และไปจนถึงสุดขอบของเอกภพที่เรารู้จัก จะรีรออะไร เชิญขึ้นยานได้เลยครับ

พินิจคอสมอสของคาร์ล เซแกน โดยนีล เดอแกรส ไทสัน (Neil deGrasse Tyson)

ใช่ว่าทุกคนที่ประสบความสำเร็จจนสามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจและความคิดของคนรุ่นหนึ่งจะส่งกระแสอิทธิพลเหนือคนอีกหลายต่อหลายรุ่นที่ตามมาได้ ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของคอสมอสซึ่งเป็นงานศิลปะชิ้นเอกของเซแกนประกาศอย่างหนักแน่นถึงความอ่อนโยนและความปราดเปรื่องของเซแกน ความสำเร็จนี้ยังเผยให้เห็นความกระหายซึ่งซ่อนเร้นในตัวพวกเราทุกคนที่จะเรียนรู้เรื่องตำแหน่งแห่งหนของพวกเราในเอกภพ และยอมรับว่าเหตุใดเรื่องนี้จึงสำคัญในทางสติปัญญา วัฒนธรรม และอารมณ์ความรู้สึก

คุณลักษณะเหล่านี้ทำให้งานของเซแกนและผู้ร่วมงานแตกต่างจากความพยายามในการสื่อสารวิทยาศาสตร์ของคนอื่นๆ ทุกคน หนังสือที่ดีส่วนใหญ่ในหมวดเดียวกันสอนให้รู้ว่าควรจะรู้สิ่งใดบ้างในสาขาที่ผู้เขียนมีประสบการณ์ เรื่องใดกำลังมาแรง เรื่องใดน่าสนใจ ด้วยภาษาง่ายๆ และชัดเจน แต่มีน้อยนักที่ข้อมูลเหล่านั้นจะกลายรูปเป็นความรู้ และน้อยยิ่งกว่านั้นที่ความรู้จะกลายเป็นความอัศจรรย์ใจ ซึ่งเป็นรากฐานของมุมมองของคอสมอสต่อโลกใบนี้ เหตุใดผมจึงกล้ายืนยันว่าคอสมอสมีอำนาจชี้นำเราอย่างลึกซึ้งในการสังเกต ตีความ หรือแม้แต่ดำเนินชีวิตของเราอย่างไร

หนึ่งในข้อเท็จจริงที่รู้จักกันน้อยที่สุดเกี่ยวกับคอสมอส แต่อาจเป็นของขวัญสำคัญที่สุดสำหรับวัฒนธรรมมนุษย์ก็คือการผสมผสานวิทยาศาสตร์ตามแบบแผนเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นดาราศาสตร์ ชีววิทยา เคมี และธรณีวิทยา เมื่อแยกสาขาวิชาเหล่านี้ออกจากกัน แต่ละสาขาก็ดูจะเป็นเรื่องชั้นสูงและเป็นที่ยกย่องตามยุคสมัย แต่เมื่อคอสมอสนำมาถักทอรวมเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นดั่งม่านปักของความรู้ความเข้าใจอันลึกซึ้งต่อเรื่องตำแหน่งแห่งหนของเราในเอกภพ การนำพวกมันมาวางเรียงเคียงกันจึงทรงพลังอย่างไม่อาจลืมเลือนได้ คอสมอสถือเป็นความพยายามแรกสุดหรืออย่างน้อยก็แถวหน้าในทำนองนี้ ในหลายทศวรรษให้หลังการตีพิมพ์หนังสือนี้ เราได้เห็นการศึกษาในสาขาลูกผสมเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดาราศาสตร์ชีววิทยา (astrobiology) ดาราศาสตร์ฟิสิกส์อนุภาค (astro-particle physics) ดาราศาสตร์เคมี (astro-chemistry) ธรณีวิทยาดาวเคราะห์ (planetary geology) หลายสาขายังคงเก็บเครื่องหมายยัติภังค์ไว้

แต่การตีพิมพ์และการประสบความสำเร็จขายดีถล่มทลายของคอสมอสนั้นเป็นยิ่งกว่านั้น วิธีการของหนังสือเล่มนี้ที่ยืนยันให้หัวข้อทางวิทยาศาสตร์ต้องหลอมรวมกับสาขาวิชาดั้งเดิม เช่น ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา ศิลปะ และปรัชญา ช่วยเผยให้เห็นเป็นครั้งแรกว่าเหตุใดผู้อ่านควรโอบรับแนวทางที่วิทยาศาสตร์ส่งผลต่อวัฒนธรรมของเราและทำเช่นนั้นได้อย่างไร

ในยุคนั้นถือได้ว่าแก่นของเรื่องและสารของคอสมอสสดใหม่ ยกระดับจิตใจ และทรงพลังหาใครเทียมได้ อาจเป็นครั้งแรกในวงการสื่อที่มีคนอย่างเซแกนมาสอนวิทยาศาสตร์ให้เรา โดยใส่ใจวิธีการทำงานของจิตใจอันยุ่งเหยิงจนสามารถขโมยความนึกคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลของเราไปได้ เขาเลือกใช้วิธีเสมือนกำลังพูดคุยกับคุณ ไม่ได้กำลังสั่งสอนคุณ และด้วยระดับการสอนแบบเรียบง่ายเช่นนี้เอง ผู้คนนับล้านๆ คนทั่วโลกจึงเชื้อเชิญภาพจากรายการโทรทัศน์ของเขาเข้าสู่ห้องนั่งเล่น และถ้อยคำของเขาที่ตีพิมพ์ออกมาเข้าสู่เก้าอี้อ่านหนังสือของพวกเขา

เมื่อแรกคอสมอสปรากฏขึ้นในปี 1980 นั้น การแข่งขันสะสมอาวุธช่วงสงครามเย็นเริ่มถดถอยลงแล้ว กระนั้นก็ยังคงมีการใช้คลังอาวุธนิวเคลียร์พลังทำลายล้างสูงที่เกิดจากสติปัญญาของนักฟิสิกส์จับชาติต่างๆ เป็นตัวประกัน แต่การสำรวจก็ไม่ได้หมดหวังเสียทีเดียว NASA ส่งยานไวกิ้ง (Viking) ลงจอดบนดาวอังคารหลังจากเราเดินบนดวงจันทร์ได้ 7 ปี และยานอวกาศคู่แฝดวอยเอเจอร์ (Voyager) ยังคงอยู่บนเส้นทางบินผ่านดาวเคราะห์โจเวียน (Jovian planets) ก่อนจะไปจากระบบสุริยะ ทุกการสำรวจล้วนเป็นข่าวพาดหัว แต่ยังมีข่าวอีกมากกำลังตามมา ยานกระสวยอวกาศยังไม่ได้ออกบิน สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) ยังอยู่ในกระดาษ อีก 11 ปีกว่าจะมีการปล่อยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) อีก 15 ปีกว่าจะค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (exoplanet) ดวงแรกที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ดวงอื่น ยังต้องรออีกนานเป็นทศวรรษกว่าเวิลด์ไวด์เว็บ (world wide web) จะกลายเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานในครัวเรือนที่ช่วยให้การเข้าถึงการค้นพบเกี่ยวกับจักรวาลทั่วถึงเท่าเทียม และยังมีปฏิบัติการอวกาศอีกนับสิบโครงการที่จะเกิดขึ้นและดำเนินไปจนถึงเป้าหมายตามลำดับ

ในสาขาวิชาที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างดาราศาสตร์ฟิสิกส์ (astrophysics) อาจมีคนเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเขียนหนังสือเกี่ยวกับวิชานี้โดยไม่ขึ้นกับกาลสมัย แต่ในคอสมอส คุณจะไม่เสียเวลาไปกับวิทยาศาสตร์ฉาบฉวยที่มาแล้วก็ไป แทนที่จะเป็นเช่นนั้น คุณจะพบการผจญภัยระดับมหากาพย์ว่าการสืบค้นทางวิทยาศาสตร์มีคุณค่าใดต่อโลก ต่อสปีชีส์ของเรา และต่อตัวของคุณเอง ส่วนผสมนี้ใช้ได้ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใด สถานที่ใด หรือชั่วรุ่นใดก็ตาม

Notes:

[1] ดาวเคราะห์โจเวียนคือกลุ่มดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ในระบบสุริยะที่ประกอบขึ้นด้วยก๊าซ คือดาวพฤหัสบดี (Jupiter) ดาวเสาร์ (Saturn) ดาวยูเรนัส (Uranus) และดาวเนปจูน (Neptune)

[2] ยานอวกาศวอยเอเจอร์ 1 เคลื่อนออกนอกขอบเขตระบบสุริยะของเราอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 กันยายน 2013 ขณะที่ทำงานอย่างซื่อสัตย์มานาถึง 36 ปี บินผ่านระยะทางห่างจากดวงอาทิตย์ถึง 19,000 ล้านกิโลเมตร

[3] ยานกระสวยอวกาศต้นแบบคือเอนเทอร์ไพรส์ (Enterprise) บินเที่ยวแรกในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 1977 ขณะที่ยานกระสวยอวกาศที่ใช้งานจริงลำแรกคือโคลัมเบีย (Columbia) ทะยานสู่อวกาศครั้งแรกในวันที่ 12 เมษายน 1981

[4] โครงการสถานีอวกาศนานาชาติเริ่มก่อสร้างในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1988 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอวกาศ 5 แห่งคือ NASA (National Aeronautics and Space Administration) ของสหรัฐอเมริกา Roscosmos (Roscosmos State Corporation for Space Activities) ของรัสเซีย JAXA (Japan Aerospace Exploration Agency) ของญี่ปุ่น ESA (European Space Agency) ของยุโรป และ CSA (Canadian Space Agency) ของแคนาดา

[5] กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 24 เมษายน 1990

[6] มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะครั้งแรกในปี 1992 โดยเป็นดาวเคราะห์สองดวงที่โคจรรอบพัลซาร์ (pulsar) แต่มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่โคจรรอบดาวฤกษ์ปกติครั้งแรกในปี 1995 โดยเป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่มีวงโคจรสั้นเพียง 4 วันบนโลก รอบดาวฤกษ์ 51 Pegasi ที่อยู่ห่างโลกออกไปราว 50.9 ปีแสง

[7] ผู้ประดิษฐ์เวิลด์ไวด์เว็บคือนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ทิม เบอร์เนอรส-ลี (Timothy John Berners-Lee) โดยแรกสุดเขาเขียนรหัสที่ใช้สร้างเว็บเบราเซอร์ (browser) หรือซอฟต์แวร์ที่ใช้หาตำแหน่งของหน้าเว็บต่างๆ เพื่อใช้งานใน CERN (European Organization for Nuclear Research; Organisation Européene pour la Recherche Nucléaire; Conseil Européen pour la Recherche Nucléaire: CERN) ที่สวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland)

นีล เดอแกรส ไทสัน (Neil deGrasse Tyson) เป็นนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ทำงานที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกา (American Museum of National History) ในตำแหน่งผู้อำนวยการของท้องฟ้าจำลองเฮย์เดน (Hayden Planetarium) เขาเป็นพิธีกรรายการคอสมอสฉบับสร้างใหม่ในศตวรรษที่ 21 ฉายทางช่องฟอกซ์ (Fox Broadcasting Company) ในปี 2014

คำนำ โดยแอน เดรียน (Ann Druyan)

ครั้งหนึ่งฉันเคยยืนอยู่ที่ชายฝั่งของมหาสมุทรแห่งห้วงจักรวาลกับคาร์ล เซแกน เมื่อ 35 ปีก่อน เรากับสตีเวน โซเทอร์ (Steven Soter) นักดาราศาสตร์และผู้ร่วมเขียนบทกับทีมงานโทรทัศน์กลุ่มเล็กๆ ยืนตัวสั่นอยู่ใต้แสงอาทิตย์และลมกระโชกตรงหน้าผาบนชายฝั่งแปซิฟิกทางตอนเหนือของเมืองมอนเทอเรย์ (Monterey) รัฐแคลิฟอร์เนีย (California) พยายามยึดหน้าปรู๊พยาว 60 เซนติเมตรของหนังสือเล่มนี้ที่สะบัดไปมาอย่างรุนแรง พร้อมกันนั้นก็ต้องจับแผ่นกระดาษแข็งบอกบทที่สตีฟกับฉันเตรียมให้คาร์ลใช้ถ่ายทำรายการสารคดีทางโทรทัศน์ (หนังสือและบทโทรทัศน์ดั้งเดิมในปี 1980 ถูกระดมเขียนขึ้นเพร้อมกันในช่วงเวลา 3 ปี แต่เนื้อหาและลำดับไม่เหมือนกัน) การทำบทสารคดีและต้นฉบับหนังสือเป็นเรื่องพิเศษไม่มีใครเหมือนในช่วงเวลาที่ยังค่อนข้างโลว์เทคในขณะนั้น ลมกระโชกมาครั้งใด คลื่นก็ซัดสาด แสงก็ระยิบระยับจนชวนให้ตาพร่า หน้ากระดาษก็ราวจะปลิวไปคล้ายกับกระจุกเมล็ดแดนดีไลออน (dandelion) ที่คาร์ลค่อยๆ ปล่อยไปสู่ห้วงจักรวาล

ฉากที่เราเขียนและถ่ายทำในวันนั้นกลายมาเป็นฉากเปิดของสารคดีและเป็นเนื้อหาช่วงแรกของหนังสือ "จักรวาลคือทุกสิ่งทุกอย่าง เคยเป็นเช่นนั้น และจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป" เราตั้งใจให้เรื่องราวดำเนินไปในท่วงทำนองคล้ายกับในพระคัมภีร์ ถ้อยคำที่ใช้กินความกว้างไปถึงดินแดนอันชวนให้ทะเยอทะยาน ครอบคลุมการสำรวจทั้งอวกาศและเวลา การเริ่มต้นการผจญภัยของนักค้นคว้าผู้เพียรพยายามค้นหาตำแหน่งแห่งหนของตนในจักรวาลเป็นเวลา 40,000 ชั่วรุ่นบนโลกใบจิ๋ว ต้องใช้สำนวนโวหารที่ยิ่งใหญ่อลังการซึ่งกลายไปเป็นความงอกงามของการผจญภัยแบบหนึ่ง มันเป็นดั่งคำกล่าวต้อนรับสู่การเดินทางส่วนตัวบนยานแห่งจินตนาการ การเดินทางซึ่งมีผู้ร่วมเดินทางเกือบ 1 พันล้านคน และยังคงรับผู้คนจำนวนมากเพิ่มเติมอยู่ ผู้คนที่พูดทุกภาษาบนจุดสีน้ำเงินจางของเรานี้ นับจากฤดูใบไม้ร่วงปี 1980 คอสมอส (Cosmos) ทั้งสารคดีโทรทัศน์และหนังสือได้บรรทุกผู้คนมากมายไปยังสุดขอบความรู้ความเข้าใจในเอกภพของเราไปยังสถานที่ซึ่งเล็กเกินกว่าจะจินตนาการและสถานที่ซึ่งใหญ่เกินกว่าจะเข้าใจ

ผู้ที่เชื่อในศาสนาอย่างสุดโต่งบางคนเป็นพวกแรกที่แสดงความไม่พอใจประโยคแรกนั้น สำหรับพวกเขาแล้ว ประโยคนั้นย้ำเตือนว่าคาร์ลกำลังแย่งชิงอำนาจไปจากพวกเขา ดูเหมือนพวกเขาค้นพบบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญ แต่เฉกเช่นเดียวกับทุกอย่างที่คาร์ลลเขียน วิทยาศาสตร์ในคอสมอสเป็นเรื่องหนักแน่น ประดับด้วยวาทศิลป์ดั่งธงสีแดงผืนใหญ่ที่คอยโบกเตือนผู้อ่านยามใดก็ตามที่ผู้เขียนเสี่ยงเข้าไปสู่การคาดคะเน (และ 35 ปีให้หลัง การอนุมานที่ครอบคลุมแทบทุกเรื่องของคาร์ลส่วนใหญ่ถือได้ว่าเป็นคำทำนายที่ถูกต้องจนชวนให้อัศจรรย์ใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ความสงสัยเกี่ยวกับสิ่งที่ส่วนลงจอดของยานไวกิ้ง (Viking lander) ค้นพบ และภาพฝันสิ่งที่เราอาจจะพบบนดวงจันทร์ไททัน (Titan) ของดาวเสาร์) แต่คาร์ลก็ไม่ได้หยุดแค่นั้น สำหรับเขาแล้วเอกภพที่เปิดเผยออกมาผ่านกลไกอันเข้มงวดของวิทยาศาสตร์ในการแก้เรื่องผิดให้ถูกต้องยังเป็นที่โปรดปรานอย่างไม่มีสิ่งใดเทียบได้ มากเสียยิ่งกว่าสมมุติฐานจากความเชื่อดั้งเดิมที่ไม่ผ่านการทดสอบใด สำหรับคาร์ลแล้ว จิตวิญญาณจะต้องมีรากฐานของความจริงตามธรรมชาติ เขายึดถือแนวคิดเกี่ยวกับจักรวาลที่ยังยืนหยัดอยู่ได้หลังจากผ่านการทดลองและการสังเกตการณ์อันเข้มงวดที่สุด ความรู้ความเข้าใจอันลึกซึ้งทางวิทยาศาสตร์ทำให้เขาเกิดความรู้สึกบางอย่าง เกิดการรับรู้อันชวนให้ลอยละล่อง จนอาจเทียบได้ก็เพียงอาการตกหลุมรัก เขาถึงกับกล่าวว่า "ยามมีความรัก คุณต้องการบอกให้โลกได้รับรู้" การอ้าแขนกว้างสวมกอดต้อนรับคอสมอสเช่นนี้ห่างไกลจากความเบื่อหน่ายได้แต่มองนาฬิกาที่เดินช้าๆ ในห้องเรียนวิทยาศาสตร์พอๆ กับที่ดวงจันทร์ไททันห่างไกลจากโลก มันคือการไม่เกรงกลัวที่จะรับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์เข้ามาสู่หัวใจ

สำหรับคนจำนวนมากแล้ว คอสมอสเป็นดั่งการรุกเผชิญหน้าเอกภพที่คุณเคยคิดว่าปิดตาย เพราะคุณไม่เก่งคณิตศาสตร์ หรือเพราะคุณอาศัยอยู่ในสถานที่ซึ่งไม่มีนักวิทยาศาสตร์พาคุณไปได้ คาร์ลต้องการให้ทุกคนมาร่วมการเดินทางนี้เพื่อให้ได้ประสบการณ์เกี่ยวกับอำนาจของมุมมองทางวิทยาศาสตร์และความพิศวงที่วิทยาศาสตร์เปิดเผยให้คุณเห็น ความลับของเขาก็คือการทำตัวคล้ายกับย้อนกลับไปเป็นคนที่ยังไม่เข้าใจแนวคิดดังกล่าวมาก่อน และตามรอยก้าวย่างความคิดของตัวเขาเองไปสู่ความเข้าใจ วิธีนี้ได้ผลดี เขาดลใจให้คนจำนวนมากศึกษา สอน หรือทดลองวิทยาศาสตร์

เมื่อไม่นานมานี้เอง ห้องสมุดแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาจัดให้คอสมอสเป็นหนึ่งในหนังสือ 88 เล่มที่ช่วยก่อร่างสร้างอเมริกา หนังสือเขย่าโลกดังกล่าวมี เช่น Common Sense (สามัญสำนึก, 1776) ของทอมัส เพน (Thomas Paine: 1737-1809), Moby Dick (โมบี ดิก, 1851) ของเฮอร์แมน เมลวิลล์ (Herman Melville: 1819-1891), Uncle Tom's Cabin (กระท่อมลุงทอม, 1852) ของแฮร์เรียต บีเชอร์สโตร์ (Harriet Beecher Stowe: 1811-1896) และ On the Road (ออนเดอะโรด, 1957) ของแจ็ก คิโรแวก (Jack Kerouac: 1922-1969) รายชื่อหนังสือเหล่านี้เรียงลำดับตามเวลาที่ตีพิมพ์ และเล่มแรกสุดซึ่งตีพิมพ์ในปี 1751 ก็เป็นหนังสือวิทยาศาสตร์เช่นกัน (ก่อนที่แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญของการปกครองโดย เพื่อ และของประชาชนจะตกผลึกหลายทศวรรษด้วยซ้ำไป) หนังสือเล่มที่ว่าเขียนโดยชายอีกคนหนึ่งผู้เชื่อว่าประชาธิปไตยต้องการสาธารณชนที่มีความรู้และตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ บัญชีดังกล่าวเริ่มต้นด้วยหนังสือ Experiments and Observations on Electricity (การทดลองและสังเกตการณ์เรื่องไฟฟ้า, 1751) ของเบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin: 1706-1790) ทั้งหนังสือเล่มดังกล่าว และเล่มนี้ถือเป็นหน้าที่พลเมืองที่เขียนโดยนักวิทยาศาสตร์สองคน ผู้ต้องการให้วิทยาศาสตร์เป็นของเราทุกคน

ฤดูใบไม้ผลินี้ ฉันกลับมายังชายฝั่งแห่งมหาสมุทรจักรวาลเป็นครั้งแรก ฉันอยู่ที่นั่นกับคณะถ่ายทำรายการโทรทัศน์อีกชุดหนึ่งเพื่อถ่ายฉากเปิดของซีรีย์คอสมอสชุดใหม่ นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ นีล เดอแกรส ไทสัน (Neil deGrasse Tyson) พิธีกรรายการของเรา เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่คาร์ลสร้างความประทับใจให้แก่ชีวิตในวัยเยาว์ ฉันยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่าภูมิประเทศแห่งนี้ยังไม่เสียหาย ยังวิเศษและสร้างแรงบันดาลใจดังเช่นเมื่อครั้งแรก ยามที่ฉันมองไปยังผืนน้ำระยิบระยับของมหาสมุทรแปซิฟิก ฉันมองเห็นคาร์ล เขาต้องรู้แน่ว่าไม่ใช่เรื่องของคนชั่วรุ่นใดชั่วรุ่นหนึ่งที่จะมองให้เห็นภาพรวมที่สมบูรณ์ นี่แหละคือประเด็น ภาพที่มองเห็นไม่เคยสมบูรณ์เลย ยังมีเรื่องราวอีกมากมายเหลือเกินรอให้ค้นพบ ยินดีต้อนรับสู่การเดินทาง ได้เวลาออกยานไปยังดวงดาราอีกคราแล้ว

Notes:

[1] คำว่า 'จุดสีน้ำเงินจาง(pale blue dot)' หมายถึงภาพถ่ายดาวเคราะห์โลกโดยยานอวกาศวอยเอเจอร์ 1 ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1990 จากระยะห่าง 6 พันล้านกิโลเมตร ถือเป็นหนึ่งในภาพถ่ายครอบครัวดาวเคราะห์ในระบบ ในภาพเห็นโลกเป็นเพียงจุดขนาดเล็กในอวกาศอันเวิ้งว้างกว้างใหญ่ และแถบสีที่เกิดจากแสงอาทิตย์กระเจิงกับกล้องถ่ายภาพของยาน ภาพนี้ถ่ายตามคำขอของคาร์ล เซแกน โดยเป็นภาพที่ถ่ายภาพภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจหลักแล้วและกำลังจะออกจากระบบสุริยะ

แอน เดรียน (Ann Druyan) เป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ (creative director) ของรายการชุด Voyager Interstellar Message (วอยเอเจอร์ สารระหว่างดวงดาว) ของนาซา และเป็นผู้เขียนร่วมของรายการคอสมอส (Cosmos) และเป็นผู้ร่วมสร้างภาพยนตร์เรื่อง Contact (1997) และผลงานอื่นๆ อีกมากมายหลายชิ้น เธอเป็นผู้อำนวยการบริหารและผู้เขียนบทสารคดีโทรทัศน์ชุด Cosmos: A Spacetime Odyssey ซึ่งออกฉายในปี 2014 ทางช่องฟอกซ์ (Fox) เธอแต่งงานกับคาร์ล เซแกน และอยู่ด้วยกันจนกระทั่งเขาเสียชีวิต ดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นรูปแหวนแต่งงานไปตลอดกาล ได้รับการตั้งชื่อตามชื่อของเดรียนและเซแกน

[con·tin·ue]

บทนำ (Introduction)

บทที่ 1 ชายฝั่งแห่งมหาสมุทรจักรวาล (The Shores of the Cosmic Ocean)

บทที่ 2 สุ้มเสียงหนึ่งในสำเนียงหลากหลายแห่งจักรวาล (One Voice in the Cosmic Fugue)

บทที่ 3 ความสอดคล้องของเอกภพ (The Harmony of Worlds)

บทที่ 4 สรวงสวรรค์และนรกภูมิ (Heaven and Hell)

บทที่ 5 ลำนำดาวเคราะห์แดง (Blues for a Red Planet)

บทที่ 6 เรื่องเล่าของนักเดินทาง (Travelers' Tales)

บทที่ 7 กระดูกสันหลังของราตรี (The Backbone of Night)

บทที่ 8 ท่องไปในอวกาศและเวลา (Travels in Space and Time)

บทที่ 9 ชีวิตของดวงดาว (The Lives of the Stars)

บทที่ 10 ชายขอบแห่งนิจนิรันดร์ (The Edge of Forever)

บทที่ 11 ความทรงจำมิรู้ลืม (The Persistence of Memory)

บทที่ 12 สารานุกรมกาแล็กติกา (Encyclopaedia Galactica)

บทที่ 13 ใครเล่าจะกล่าวแทนโลก (Who Speaks for Earth?)

เกี่ยวกับผู้เขียน

คาร์ล เซแกน (Carl Edward Sagan) เคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศ (Astronomy and Space Sciences) และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเพื่อการศึกษาดาวเคราะห์ (Laboratory for Planetary Studies) มหาวิทยาลัยคอร์เนล Cornell University) เขามีบทบาทสำคัญในโครงการสำรวจด้วยอวกาศ ทั้งโครงการมาริเนอร์ (Mariner) ไวกิ้ง (Viking) วอยเอเจอร์ (Voyager) และกาลิเลโอ (Galileo) เขาได้รับเหรียญรางวัล NASA Medals for Exceptional Achievement และ Distinguished Public Service (สองครั้ง)

คอสมอส (Cosmos) อันเป็นสารคดีชุดทางโทรทัศน์ซึ่งชนะรางวัลเอมมี (Emmy Award) และรางวัลพีบอดี้ (George Foster Peabody Award) เป็นรายการที่มีผู้ชมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการออกอากาศโทรทัศน์สาธารณะในสหรัฐอเมริกา หนังสือที่ออกมาควบคู่กันซึ่งก็คือคอสมอส (Cosmos) เช่นเดียวกัน ยังเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ที่ขายดีที่สุดเล่มหนึ่งที่พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ เซแกนได้รับรางวัลพูลิตเชอร์ (Independent Publisher Book Award) เหรียญเออร์สเตด (H.C. Ørsted Medal) และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงปริญญากิตติมศักดิ์จากวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา 20 ใบ จากผลงานทางวิทยาศาสตร์ วรรณกรรม การศึกษา และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในการมอบรางวัลอันเป็นเกียรติยศสูงสุดแก่เซแกนหลังเสียชีวิตไปแล้ว มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติประกาศว่า "งานวิจัยของเขาพลิกโฉมวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์... ของขวัญที่เขามอบแด่มนุษยชาติเป็นอนันต์"

คาร์ล เซแกน เสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 1996

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page