กำเนิดเอกภพ (Origins): จากวิวัฒนาการ 14,000 ล้านปีจนถึงปัจจุบัน (Fourteen Billion Years of Cosmic Ev
หนังสือชุด World Science Series
กำเนิดเอกภพ: จากวิวัฒนาการ 14,000 ล้านปีจนถึงปัจจุบัน
แปลจาก Origins: Fourteen Billion Years of Cosmic Evolution (2004)
เขียนโดย Neil deGrasse Tyson และ Donald Goldsmith แปลโดยบัณฑิต คงอินทร์ และศศนันทน์ บุญยะวนิช บรรณาธิการพิเศษโดย ดร.ปิยบุตร บุรีคำ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งสอง กุมภาพันธ์ 2553 (พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2552) จำนวน 328 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740205081
ประวัติศาสตร์โดยย่อของเอกภพ นับจากบิ๊กแบงจนถึงกำเนิดกาแล็กซี่ ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ และสิ่งมีชีวิตรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่อดีตและที่ยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน
คำนำสำนักพิมพ์
การกำเนิดของเอกภพยังเป็นปริศนาที่ท้าทายสำหรับบรรดานักฟิสิกส์ดาราศาสตร์และนักดาราศาสตร์มานานนับสหัสวรรษ นับตั้งแต่มนุษย์ถือกำเนิดขึ้น แหงนหน้าขึ้นไปบนฟ้าและมองเห็นดวงดาว เราก็เริ่มตั้งคำถามว่าดวงดาวนั้นกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร ส่องแสงสว่างอยู่เช่นนั้นตลอดเวลาหรือไม่ หรืออยู่ห่างไกลจากเรามากเพียงใด กระทั่งเมื่อมนุษย์เริ่มลงหลักปักฐานและสร้างอารยธรรมในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก อาทิ เมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) ลุ่มแม่น้ำไนล์ (Niles) แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Sea) ถึงชายฝั่งทะเลอีเจี้ยน (Aegean Sea) มนุษย์ก็เริ่มศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับดวงดาว รวมทั้งจุดกำเนิดของตนอย่างจริงจัง และในสหัสวรรษที่ผ่านมา มนุษย์ก็เริ่มรู้จักกับเทหวัตถุที่อยู่บนท้องฟ้ามากขึ้นเมื่อมีการประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ซึ่งทำให้เราค้นพบดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ และพบว่าบริเวณที่เราอาศัยอยู่เรียกว่าระบบสุริยะ เนื่องจากมีดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์คอยให้แสงสว่าง และระบบสุริยะนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกาแล็กซี่ทางช้างเผือกอันกว้างใหญ่ที่ดำรงอยู่ในเอกภพอันไร้ซึ่งจุดสิ้นสุด
จวบจนถึงศตวรรษที่ 21 พัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นทำให้มนุษย์มีความหวังว่าจะสามารถไขปริศนานานนับพันปีนี้ได้ เราสามารถส่งยานอวกาศออกไปสำรวจดาวดวงอื่นๆ สร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ขึ้นมาเพื่อหาคำตอบว่าเอกภพเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีการนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ มาประยุกต์ใช้ร่วมกันอีกด้วย ซึ่งบรรดาเรื่องราวที่นักวิทยาศาสตร์รับรู้เกี่ยวกับเอกภพของเราตั้งแต่ 14,000 ล้านปีก่อนจนถึงปัจจุบันได้ถ่ายทอดไว้ในหนังสือ 'กำเนิดเอกภพ: จากวิวัฒนาการ 14,000 ล้านปีจนถึงปัจจุบัน' ซึ่งนีล เดอ เกรสส์ ไทสัน และโดนัลด์ โกลด์สมิธ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านเอกภพวิทยา ได้นำงานวิจัยและการศึกษาเกี่ยวกับเอกภพที่มีมานับสหัสวรรษมาเรียบเรียงและแบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 ภาค เริ่มตั้งแต่กำเนิดเอกภพ กำเนิดกาแล็กซี่และโครงสร้างเอกภพ กำเนิดดาวฤกษ์ กำเนิดดาวเคราะห์ และกำเนิดสิ่งมีชีวิต เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจภาพรวมเกี่ยวกับเอกภพมากขึ้น
สำนักพิมพ์มติชนได้นำเสนอหนังสือวิทยาศาสตร์คุณภาพที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเอกภพหลายเล่ม อาทิ ประวัติย่อของกาลเวลา ประวัติย่อของหลุมดำ ทอถักจักรวาล ฯลฯ ซึ่งหนังสือเหล่านี้ล้วนเป็นภาพขยายที่เจาะลึกถึงรายละเอียดและโครงสร้างของสิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นเอกภพ ทว่าหากต้องการศึกษาเอกภพวิทยาให้ถ่องแท้ เราคงต้องมาเริ่มตั้งแต่เรื่องพื้นฐานและย้อนกลับไปว่าเอกภพถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร สำนักพิมพ์มติชนหวังว่าหนังสือ 'กำเนิดเอกภพ: จากวิวัฒนาการ 14,000 ล้านปีจนถึงปัจจุบัน' เล่มนี้จะเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้อ่านที่เคยศึกษาเรื่องเอกภพวิทยามาแล้ว และจะปูพื้นฐานให้กับผู้อ่านทั่วไปซึ่งเพิ่งเริ่มหันมาสนใจเรื่องราวของเอกภพวิทยาได้เป็นอย่างดี
คำนำผู้แปล
โลกทัศน์และจินตนาการเกี่ยวกับเอกภพและสรรพสิ่งทั้งหลาย แม้กระทั่งตัวตนของเราอาจเปลี่ยนไปเมื่อท่านได้อ่านหนังสือเล่มนี้ 'กำเนิดเอกภพ: จากวิวัฒนาการ 14,000 ล้านปีจนถึงปัจจุบัน' หรือชื่อในต้นฉบับภาษาอังกฤษว่า 'Origins: Fourteen Billion Years of Cosmic Evolution' ผลงานของ Neil deGrasse Tyson และ Donald Goldsmith ว่าด้วยการค้นหาว่าสรรพสิ่งในจักรวาลกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร ซึ่งบางอย่างเราได้คำตอบแล้ว แต่บางอย่างยังคงเป็นปริศนาที่น่าตื่นเต้นและชวนให้ขบคิด จินตนาการ ผู้เขียนนำผู้อ่านย้อนอดีตไปยังจุดกำเนิดของเอกภพเมื่อประมาณ 14,000 ล้านปีก่อน และลำดับวิวัฒนาการของเอกภพ ไปสู่กำเนิดโครงสร้างขนาดใหญ่ที่สสารรวมตัวกันเป็นกาแล็กซี่ ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ และสิ่งที่มนุษย์อยากรู้และเป็นความลึกลับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั่นคือ การกำเนิดสิ่งมีชีวิตในเอกภพ การกำเนิดสิ่งมีชีวิตบนโลก พร้อมกับเรื่องราวการค้นหาสิ่งมีชีวิตในระบบสุริยะและในกาแล็กซี่ทางช้างเผือก ซึ่งเป็นเนื้อหาที่น่าตื่นเต้นที่สุดในหนังสือเล่มนี้
แต่ละบทอัดแน่นไปด้วยข้อมูลเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์และการค้นพบต่างๆ อย่างละเอียดยิบ เร้าใจ และรังสรรค์จินตนาการของผู้อ่านได้อย่างยอดเยี่ยมซึ่งยากที่จะหาอ่านได้ในหนังสือเล่มอื่น แม้ว่าเนื้อหาสาระค่อนข้างจะหนักตามแบบฉบับหนังสือแนววิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่มีพื้นฐานความรู้ทางดาราศาสตร์มาก่อน แต่ผู้เขียนได้ใช้วิธีอุปมาอุปมัยในการอธิบายเรื่องยากๆ และสอดแทรกเรื่องชวนหัว พร้อมภาพประกอบขนาดใหญ่ซึ่งทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวได้ง่ายขึ้นและรู้สึกเพลิดเพลิน ไม่น่าเบื่อ เอกภพ กาแล็กซี่ ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ และสรรพสิ่งทั้งหลายในเอกภพ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวและเข้าใจยากอีกต่อไป นี่คือหนังสือดาราศาสตร์ที่ทรงคุณค่ามากเล่มหนึ่ง จนอาจทำให้ผู้ที่ไม่สนใจดาราศาสตร์มาก่อนหลงรักดาราศาสตร์ได้เลยทีเดียว
การเพ่งพิจารณาจุดกำเนิดของวิทยาศาสตร์และศาสตร์ของสิ่งต่างๆ รอบตัว (A Meditation on the Origins of Science and the Science of Origins)
สมมุติฐานใหม่ๆ ด้านวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นได้แผ่ขยายกิ่งก้านสาขาออกไปอย่างต่อเนื่อง ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ คำตอบเรื่องจุดกำเนิดของเอกภพเป็นเพียงส่วนหนึ่งขององค์ความรู้ด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ทว่าการปฏิบัติงานในสาขาที่เกิดขึ้นใหม่ซึ่งได้แก่ เคมีดาราศาสตร์ ชีววิทยาดาราศาสตร์ และฟิสิกส์ดาราศาสตร์เชิงอนุภาค ทำให้บรรดานักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ทั้งหลายเห็นว่าการนำวิทยาศาสตร์แขนงอื่นเข้ามาประยุกต์ใช้ก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาล การตอบคำถามที่ว่ามนุษย์มาจากไหนนั้น นอกจากจะทำให้รู้ว่าเอกภพมีกลไกการทำงานอย่างไรแล้ว ยังก่อให้เกิดการประยุกต์ใช้หลักวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ อีกด้วย
หนังสือ 'กำเนิดเอกภพ: จากวิวัฒนาการ 14,000 ล้านปีจนถึงปัจจุบัน' เล่มนี้ได้นำเสนอแนวคิดใหม่ในเรื่องการกำเนิดเอกภพ (จักรวาล) ดาวฤกษ์ ตลอดจนดาวเคราะห์ทั้งหลายซึ่งเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิต รวมทั้งการเกิดของสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ ทุกวันนี้ผู้คนยังคงให้ความสนใจกับต้นกำเนิดของสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุผลหลายประการทั้งทางด้านตรรกะและอารมณ์ เราคงไม่เห็นความสำคัญของสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว หากไม่รู้ถึงวิธีการเกิดสิ่งต่างๆ และเรื่องเกี่ยวกับแหล่งที่มาของมนุษย์ได้กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้นไป
การยึดถือตนเองเป็นศูนย์กลางฝังอยู่ในสายเลือดของมนุษย์ผ่านการวิวัฒนาการ อีกทั้งประสบการณ์ชีวิตได้จำกัดให้เราสนใจอยู่แค่เพียงเรื่องราวใกล้ตัว รวมถึงการถือกำเนิดขึ้นของมนุษย์อันเกิดจากคำบอกเล่าเรื่องที่สืบทอดกันมาโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม ความรู้ด้านเอกภพที่เพิ่มขึ้นทำให้ทราบว่าเราอาศัยอยู่บนจุดเล็กๆ ในเอกภพที่ประกอบขึ้นด้วยฝุ่นซึ่งโคจรรอบดาวฤกษ์ขนาดย่อมในแถบรอบนอกของกาแล็กซี่แห่งหนึ่ง ท่ามกลางกาแล็กซี่อีกนับพันล้านกาแล็กซี่ในเอกภพ แนวคิดที่ว่าเอกภพนั้นไม่มีความสำคัญเป็นกลไกป้องกันทางจิตอันน่าทึ่งของมนุษย์ มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่แหงนหน้ามองท้องฟ้าซึ่งเต็มไปด้วยดาว แล้วพูดประโยคเดียวกันกับในหนังการ์ตูนว่า "ดวงดาวไม่สำคัญสักหน่อย"
ประวัติศาสตร์ทำให้เราเห็นว่าวัฒนธรรมอันหลากหลายก่อให้เกิดตำนานมากมายที่อธิบายถึงแหล่งที่มาของมนุษย์ แต่ตำนานเหล่านี้มีใจความเหมือนกันตรงที่ว่าจักรวาลเป็นผู้สร้างและลิขิตชะตาชีวิตของมนุษย์ ซึ่งเรื่องเล่าดังกล่าวได้ช่วยปัดเป่าความรู้สึกไร้ค่าที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ แม้ว่าเรื่องราวการถือกำเนิดโดยทั่วไปมักเริ่มต้นด้วยการบรรยายภาพแห่งความยิ่งใหญ่ด้วยการเล่าว่าเมื่อจักรวาลสร้างและกำหนดชะตาชีวิตแล้ว มนุษย์ก็จะตกลงมาเกิดบนโลก ตำนานทั้งหลายนั้นนอกจากจะช่วยอธิบายเรื่องแหล่งที่มาของมนุษย์แล้ว ยังสามารถอธิบายถึงความขัดแย้งทางสังคมได้อย่างแยบคาย ราวกับว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างเสียเอง
แม้คำตอบในเรื่องการกำเนิดของมนุษย์จะแตกต่างกันออกไปตามหลักฐานที่นำมากล่าวอ้าง แต่มีการยอมรับร่วมกันว่าจักรวาลมีสภาพความเป็นไปเหมือนกับสิ่งอื่นๆ ซึ่งเราจะเข้าใจสภาพความเป็นไปของจักรวาลได้หากหมั่นเฝ้าสังเกตความเป็นไปของโลกโดยละเอียด นักปรัชญากรีกโบราณหลายท่านอ้างหลักฐานชิ้นดังกล่าวเพื่อกระตุ้นให้เกิดการศึกษาค้นคว้าในด้านนี้มากยิ่งขึ้น เสมือนเป็นการเน้นย้ำถึงสิ่งที่เราค้นพบ นั่นคือกฎแห่งความเที่ยงแท้ในโลก โดยยืนยันว่ามนุษย์นั่นเองเป็นผู้ที่ความสามารถเข้าถึงธรรมชาติได้ ถึงกระนั้นก็เป็นที่ทราบกันดีว่าการเรียนรู้กฎเกณฑ์ดังกล่าวเป็นเรื่องยาก
เมื่อ 2,300 ปีที่แล้ว เพลโต (Plato) นักปรัชญาชาวกรีกมีคำกล่าวอันโด่งดังเปรียบเทียบผู้ที่ไม่สนใจแสวงหาความรู้ว่า เหมือนกับนักโทษที่ถูกล่ามโซ่อยู่ในถ้ำ ไม่รู้ว่าสิ่งที่อยู่ด้านหลังคืออะไร จึงต้องพยายามอนุมานเงาของสิ่งต่างๆ อย่างสุดความสามารถเพื่อรู้ความจริง จากเรื่องอุปมาอุปไมยนี้แสดงให้เห็นว่าเพลโตไม่ได้เพียงแค่สะท้อนภาพความพยายามของมนุษย์ในการทำความเข้าใจจักรวาลเท่านั้น แต่ยังเน้นย้ำให้เห็นว่ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะเชื่อในสิ่งลึกลับ ความมืดสลัวซึ่งเป็นเอกลักษณ์แห่งจักรวาลทำให้มนุษย์คิดเอาเองว่าอยากมากที่สุดก็คงจะเรียนรู้เรื่องจักรวาลได้แค่เพียงบางส่วนเท่านั้น จากผู้ที่นับถือเพลโต พระพุทธเจ้า (Gautama Buddha) โมเสส (Moses) ศาสดามุฮัมมัด (Muhammad) ตลอดจนผู้สร้างสมมุติฐานทฤษฎีจักรวาลและภาพยนตร์ในยุคปัจจุบันที่เกี่ยวกับเมทริกซ์ (Matrix) มนุษย์จากทุกวัฒนธรรมล้วนแต่เห็นพ้องกันว่าพลังอันยิ่งใหญ่ของจักรวาลเป็นพลังที่อยู่ระหว่างความเป็นจริงกับปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติ
เมื่อ 500 ปีที่แล้วเกิดแนวความคิดรูปแบบใหม่ในการเรียนรู้ธรรมชาติซึ่งในปัจจุบันเราเรียกแนวความคิดนี้ว่าวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์เกิดจากการหลอมรวมกันของเทคโนโลยีใหม่ๆ และการค้นพบโดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวสนับสนุน การแพร่หลายของหนังสือทั่วทวีปยุโรป รวมถึงการปรับปรุงพัฒนาการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนสามารถรับรู้ว่าอีกฝ่ายต้องการสื่ออะไร และสามารถแสดงความคิดเห็นโต้ตอบได้รวดเร็วกว่าในอดีตอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ช่วงระหว่างศตวรรษที่ 16-17 การสื่อสารที่แสนสะดวกกระตุ้นให้เกิดการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้คนมากขึ้นจนนำไปสู่วิธีการได้รับความรู้ในรูปแบบใหม่ซึ่งวางอยู่บนรากฐานของกฎเกณฑ์อันเป็นแนวทางที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดในการทำความเข้าใจจักรวาลคือการสังเกตอย่างถี่ถ้วนควบคู่ไปกับความพยายามจำแนกกฎเกณฑ์พื้นฐานต่างๆ เพื่อใช้อธิบายผลที่ได้จากการสังเกต
แนวความคิดหนึ่งที่ทำให้เกิดวิทยาศาสตร์ก็คือ วิทยาศาสตร์ขึ้นอยู่กับการหาทางจัดการกับความสงสัยอย่างเป็นระบบ หรือที่เรียกว่าการคาดเดาอย่างมีวิธีการ บางคนรู้สึกสงสัยข้อสรุปของตนเอง ดังนั้นวิทยาศาสตร์จึงนำวิธีการจัดการกับความสงสัยมาใช้โดยให้รางวัลกับผู้ที่สงสัยข้อสรุปของผู้อื่น เราอาจจะเห็นว่าวิธีการดังกล่าวออกจะแปลกประหลาดอยู่เสียหน่อย เพราะถือว่าเป็นการไม่ไว้วางใจในความคิดของอีกฝ่าย แต่นั่นเป็นเพราะหลักการในทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนและให้รางวัลแก่ผู้ที่สามารถแสดงให้เห็นว่าข้อสรุปของนักวิทยาศาสตร์คนอื่นนั้นผิด สำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้ว ผู้ที่จะสามารถแก้ไขข้อผิดพลาดหรือตั้งข้อสงสัยในผลสรุปของผู้อื่นได้นั้นจะต้องมีเหตุผลและหลักฐานที่น่าเชื่อถือ เฉกเช่นปรมาจารย์แห่งเซ็น (Zen) ที่ลงโทษผู้ที่ประพฤติผิดออกนอกลู่นอกทาง แม้ว่าบรรดานักวิทยาศาสตร์จะแก้ไขข้อผิดพลาดให้กันและกันในฐานะเพื่อนร่วมงานมากกว่าในแบบครูและลูกศิษย์ โดยวิธีการให้รางวัลนักวิทยาศาสตร์ที่สังเกตเห็นข้อผิดพลาดของผู้อื่น (ซึ่งทำได้ง่ายกว่าการตรวจสอบความผิดพลาดของตนเอง) เช่นนี้แล้วนักวิทยาศาสตร์จึงได้รวมตัวกันเพื่อสร้างระบบตรวจสอบภายในกลุ่มขึ้นมา ด้วยเหตุนี้เครื่องมือในการศึกษาวิเคราะห์ธรรมชาติที่ใช้ง่ายและมีประสิทธิภาพจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างช่วยกันมองหาข้อผิดพลาดในทฤษฎีของนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ทั้งที่บางครั้งเห็นด้วยกับทฤษฎีเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้วิทยาศาสตร์จึงให้ความสำคัญกับการติดตามผลและรวบรวมข้อมูล ซึ่งตรงกันข้ามกับลักษณะของบุคคลโดยทั่วไปที่มักรู้สึกคล้อยตามและชื่นชมผลงานใหม่ๆ
โดยทั่วไปแล้ว วิธีการทางวิทยาศาสตร์มักประสบความสำเร็จในทางทฤษฎีมากกว่าในทางปฏิบัติ นักวิทยาศาสตร์ที่ตั้งข้อสงสัยในทฤษฎีของผู้อื่นมิได้ประสบความสำเร็จไปเสียทุกคน การต้องสร้างความประทับใจแก่นักวิทยาศาสตร์ซึ่งมีความสามารถเป็นที่ยอมรับ แต่ถูกสั่นคลอนด้วยปัจจัยอื่นๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตความรู้ของเขานั้นเป็นอุปสรรคขัดขวางแนวทางการตรวจสอบความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ดีเมื่อเวลาผ่านไป ท้ายที่สุดแล้วข้อสรุปที่ผิดพลาดจะต้องได้รับการแก้ไขจากนักวิทยาศาสตร์ท่านใดท่านหนึ่งอย่างแน่นอน และข้อสรุปที่ไม่มีผู้ใดหักล้างได้จะกลายเป็นกฎ เนื่องจากเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าสามารถอธิบายสภาพตามความเป็นจริงได้ แม้โดยทั่วไปแล้วจะเป็นที่เข้าใจกันดีว่าหนึ่งในกฎทั้งหลายเหล่านี้อาจเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวแห่งความจริงที่มีขอบเขตกว้างขวางและลึกซึ้งกว่าในอนาคต
ในชีวิตจริงนั้นนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายไม่ค่อยได้ใช้เวลาทดลองพิสูจน์เพื่อหาข้อผิดพลาดของผู้อื่นสักเท่าใดนัก แต่จะทดสอบหาข้อผิดพลาดโดยตั้งสมมุติฐานแตกต่างไปจากสมมุติฐานที่มีอยู่เดิม ในอดีตที่ผ่านมา นานๆ ครั้งถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสมมุติฐานในทฤษฎีสำคัญๆ (แต่การเปลี่ยนแปลงสมมุติฐานอาจจะเกิดบ่อยครั้งขึ้นในยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าเช่นนี้) การทดลองนำไปสู่การสร้างสมมุติฐานใหม่ๆ เพื่ออธิบายผลการทดลองที่เกิดขึ้น ความสำเร็จทางด้านวิทยาศาสตร์ได้ถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่องและยังจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เมื่อเกิดคำอธิบายหรือผลการทดลองใหม่ๆ ซึ่งปรับเปลี่ยนทัศนคติของเราที่มีต่อธรรมชาติไปโดยสิ้นเชิง ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ขึ้นอยู่กับบุคคลสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่เก็บรวบรวมข้อมูลมาดีแล้ว หาผลสรุปจากข้อมูลเหล่านั้นด้วยความละเอียดรอบคอบ ส่วนกลุ่มที่สองนับว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เพราะบุคคลกลุ่มนี้จะชอบท้าทายผลสรุปที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ซึ่งถ้าเป็นจริงตามที่กล่าวอ้างก็จะประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น
แนวทางแห่งการช่างคิดช่างสงสัยที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของหลักวิทยาศาสตร์ขัดกับธรรมชาติโดยทั่วไปของมนุษย์ซึ่งมักจะท้อแท้จากการโต้แย้งและยึดติดกับความถาวรยั่งยืนในอุดมคติ หลักการทางวิทยาศาสตร์คงไม่ได้เป็นสิ่งที่สำคัญเท่าใดนัก หากจำกัดขอบเขตอยู่แค่เพียงการทำความเข้าใจจักรวาล ตรงกันข้ามความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ยังขึ้นอยู่กับความถูกต้อง เช่น ถ้าหากคุณโดยสารเครื่องบินที่สร้างตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งผ่านการทดสอบมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แน่นอนว่าคุณมีโอกาสที่จะเดินทางถึงที่หมายอย่างปลอดภัยมากกว่าการโดยสารเครื่องบินที่สร้างขึ้นตามหลักการทางโหราศาสตร์อย่างไม่ต้องสงสัย
จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถอธิบายถึงปรากฎการณ์ในธรรมชาติได้แบ่งกลุ่มคนออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ประเภทแรกมีจำนวนน้อย กลุ่มคนเหล่านี้เห็นว่าวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นวิธีการที่ดีที่สุดเพียงหนึ่งเดียวในการเข้าใจธรรมชาติและจักรวาล
ประเภทที่สอง เป็นกลุ่มใหญ่กว่ากลุ่มแรกมาก กลุ่มนี้จะไม่สนใจวิทยาศาสตร์ด้วยเหตุผลที่ว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องน่าเบื่อ คลุมเครือ เข้าใจยาก หรือคุกคามจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ (เป็นกลุ่มที่ดูโทรทัศน์อย่างตะกละตะกลามโดยไม่เคยนึกสงสัยว่าเสียงและภาพในโทรทัศน์นั้นมาจากไหน บุคคลในกลุ่มนี้ยิ่งสะท้อนให้เราเห็นว่า magic และ machine ลึกๆ แล้วมีรากศัพท์ร่วมกัน)
ประเภทที่สาม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนไม่มากนัก มองว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องน่ารังเกียจและพยายามหักล้างผลที่ได้จากการทดลองที่กระทบกระเทือนต่อพวกเขา สิ่งที่คนในกลุ่มนี้ทำมิได้อยู่ในกรอบความสงสัยในเชิงวิทยาศาสตร์ การถามคนในกลุ่มนี้ว่า "หลักฐานชิ้นไหนที่ฟ้องว่าคุณเป็นคนผิด?" เป็นข้อยืนยันได้ดี นอกจากนี้บรรดาผู้ที่ต่อต้านนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ยังรู้สึกประหลาดใจกับบทกวีของจอห์น ดันน์ (John Donne: 1572-1631) ในบทเรื่อง "กายวิภาคศาสตร์ของโลก เมื่ออายุครบรอบหนึ่งขวบ (The Anatomy of the World: The First Anniversary)" ที่ประพันธ์ขึ้นในปี 1611 ซึ่งนับได้ว่าเป็นบทกวีที่สะท้อนถึงเรื่องราววิทยาศาสตร์สมัยใหม่เป็นครั้งแรก มีใจความว่า
ปรัชญาใหม่นี้มีรากฐานจากความสงสัย
โหมกระหน่ำเปลวไฟโชติช่วงให้มอดมิด
สุริยะ ผืนปฐพี หรือภูมิปัญญาของมนุษย์หาได้สำคัญไม่
แต่ผู้ใดเล่าจะชี้ทางได้ว่าความจริงนั้นซ่อนอยู่ ณ แห่งใด
ท่ามกลางดาวเคราะห์น้อยใหญ่บนผืนฟ้า
ผู้ที่มีหัวใจอันบริสุทธิ์กล่าวว่า โลกใบนี้มิได้หยุดนิ่ง
เรื่องราวแปลกใหม่จากการเสาะแสวงหาบ่งชี้ว่า ผืนดินแห่งนี้ (โลกของเรา) จะคืนสู่สภาวะเดิม
โดยแตกออกเป็นเสี่ยงๆ มิได้ยึดติดกันดังที่เคย
ประเภทที่สี่ ซึ่งเป็นกลุ่มสุดท้ายและมีจำนวนมาก คนในกลุ่มนี้เห็นว่าวิทยาศาสตร์ช่วยทำให้เข้าใจธรรมชาติ พร้อมกับเชื่อว่ามีอำนาจเหนือธรรมชาติบางอย่างที่ควบคุมความเป็นไปของจักรวาล บารูซ สไปโนซ่า (Baruch Spinoza: 1632-1677) นักปรัชญาผู้สร้างสะพานเชื่อมอันแข็งแกร่งระหว่างธรรมชาติกับเรื่องเหนือธรรมชาติ ได้ให้ความเห็นว่าจักรวาลประกอบด้วยธรรมชาติและพระเจ้า เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยก ผู้เคร่งศาสนาจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่าธรรมชาติและพระเจ้าเป็นคนละเรื่องกันได้พยายามเสนอความเห็นที่เป็นกลางโดยแยกธรรมชาติและปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติออกจากกัน
อย่างไรก็ตาม บุคคลทั้ง 4 ประเภทนี้ต่างก็ไม่ได้ให้ความสนใจศึกษาเรื่องจักรวาลเพิ่มเติมแต่ประการใด ฉะนั้นเราจึงควรแสวงหาความรู้ด้านการกำเนิดของจักรวาลให้มากขึ้น เช่นเดียวกับนักสืบที่ค่อยๆ รวบรวมความจริงจากหลักฐานที่เหลืออยู่ ณ บัดนี้ เราขอเชิญให้ท่านมาร่วมกันค้นหาและตีความหมายของเบาะแสที่เหลืออยู่ในจักรวาล ซึ่งอาจจะทำให้ทราบว่าส่วนหนึ่งของจักรวาลนั้นกลายมาเป็นตัวเราได้อย่างไร
[con·tin·ue]
บทนำ: การขับขานเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ที่สุด (The Greatest Story Ever Told)
ภาค 1 กำเนิดเอกภพ (The Origin of the Universe)
บทที่ 1 เอกภพในช่วงเริ่มแรก (In the Beginning)
บทที่ 2 สสาร-ปฏิสสสาร (Antimatter Matters)
บทที่ 3 จงมีแสงสว่าง (Let There be Light)
บทที่ 4 จงมีความมืด (Let There be Dark)
บทที่ 5 จงมีความมืดมากขึ้น (Let There be More Dark)
บทที่ 6 เอกภพหรือพหุภพ (One Universe or Many?)
ภาค 2 การกำเนิดกาแล็กซี่และโครงสร้างจักรวาล (The Origin of Galaxies and Cosmic Structure)
บทที่ 7 การค้นพบกาแล็กซี่ (Discovering Galaxies)
บทที่ 8 การกำเนิดโครงสร้าง (The Origon of Structure)
ภาค 3 จุดกำเนิดดาวฤกษ์ (The Origin of Stars)
บทที่ 9 จากฝุ่นละอองถึงฝุ่นละออง (Dust to Dust)
บทที่ 10 สวนสัตว์ของธาตุ (The Elemental Zoo)
ภาค 4 จุดกำเนิดของดาวเคราะห์ (The Origin of Planets)
บทที่ 11 เมื่อโลกต่างๆ ยังเยาว์วัย (When Worlds Were Young)
บทที่ 12 ระหว่างดาวเคราะห์ (Between the Planets)
บทที่ 13 โลกมากมายเหลือคณานับ: ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Worlds Unnumbered: Planets Beyond the Solar System)
ภาค 5 จุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิต (The Origin of Life)
บทที่ 14 สิ่งมีชีวิตในเอกภพ (Life in the Universe)
บทที่ 15 จุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลก (The Origin of Life on Earth)
บทที่ 16 การค้นหาสิ่งมีชีวิตในระบบสุริยะ (Searching for Life in the Solar System)
บทที่ 17 การค้นหาสิ่งมีชีวิตในกาแล็กซี่ทางช้างเผือก (Searching for Life in the Milkky Way Galaxy)
อภิธานศัพท์ (Glossary of Selected Terms)
เกี่ยวกับผู้เขียน
ดร.นีล เดอ เกรสส์ ไทสัน (Neil deGrasse Tyson) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์และผู้อำนวยการหดดูดาวเฮย์เดน (Hayden Planetarium) ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกา ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตอัพเพอร์เวสต์ไซด์ของแมนฮัตตัน (Upper West Side, Manhattan) มีผลงานเขียนแนววิทยาศาสตร์สำหรับคนทั่วไปหลายเล่ม อาทิ Death by Black Hole (2007), The Pluto Files (2009) และมีผลงานเขียนร่วมกับนักเขียนชื่อดังคนอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้เขายังเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับการศึกษาของสถานี PBS ของอเมริกาตั้งแต่ปี 2006 โดยใช้ชื่อรายการว่า NOVA science NOW
ดร.โดนัลด์ โกลด์สมิธ (Donald Goldsmith) นักดาราศาสตร์และนักเขียนสารคดี มีผลงานเขียนทางด้านเอกภพวิทยามากมาย อาทิ The Search for Life in the Universe (1992), Einstein's Greatest Blunder? (1995), The Cosmological Constant and Other Fudge Factors in the Physics of the Universe (1995) และ Connecting with the Cosmos (2002)
"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)
Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com