มโนทัศน์แห่งอนาคต (Visions: How Science will Revolutionize the 21th Century)
หนังสือชุด World Science Series
มโนทัศน์แห่งอนาคต
แปลจาก Visions: How Science will Revolutionize the 21th Century (1997)
เขียนโดย Michio Kaku แปลโดยอาจารย์กุลพันธ์ พิมพ์สมาน สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2554 จำนวน 452 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740208167
ความก้าวหน้าสุดล้ำแห่งโลกวิทยาศาสตร์ 3 แขนง คอมพิวเตอร์ - ชีวโมเลกุล - ควอนตัม ที่จะปฏิวัติโลกในยุคศตวรรษที่ 21 นี้
คำนำสำนักพิมพ์
การเดินทางท่องอวกาศ ย้อนกาลเวลา บ้านอัจฉริยะ ชีวิตอมตะ ฯลฯ ล้วนเป็นภาพที่มักปรากฏในนิยายวิทยาศาสตร์เมื่อพูดถึงโลกอนาคต และได้กลายเป็นความฝันของใครหลายๆ คน เรามักคิดว่ามันเป็นเพียงฝันเฟื่องที่ไม่อาจเป็นจริงและมีอยู่แต่ในนิยายที่เป็นจินตนาการของนักเขียนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในมโนทัศน์แห่งอนาคตเล่มนี้ มิชิโอะ คากุ กำลังบอกเราว่าวิทยาศาสตร์ได้พัฒนามาถึงจุดที่จินตนาการเหล่านั้นจะไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป หากแต่เป็นไปได้จริงและกำลังเกิดขึ้นแล้ว และเราจะได้สัมผัสมันในไม่ช้า
มิชิโอะ คากุ พาผู้อ่านไปเยี่ยมเยือนห้องทดลองอันล้ำสมัยเพื่อสำรวจการวิจัยใหม่ล่าสุดที่ซึ่งวิทยาศาสตร์กำลังก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง การปฏิวัติเชิงคอมพิวเตอร์ การปฏิวัติเชิงโมเลกุล และการปฏิวัติเชิงควอนตัม คือเสาหลักสำคัญที่จะนำพวกเราก้าวไปสู่อนาคต นอกจากนี้ คากุยังนำเสนอฉันทามติของบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่เห็นพ้องต้องกันว่าสิ่งต่างๆ ที่เราพบมาแล้วนั้นเป็นเพียงบทโหมโรงของอนาคตที่จะมาถึงเท่านั้น
หากมองให้ลึกลงไปแล้ว สิ่งที่มองดูเผินๆ เหมือนเป็นเรื่องเพ้อฝัน แท้จริงแล้วก็คือส่วนเสี้ยวหนึ่งของการพัฒนาไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า การปฏิวัติเชิงชีวโมเลกุลเปิดประตูไปสู่การรักษาโรคที่ระดับพันธุกรรม ทำให้ไม่มีโรคใดที่ไม่อาจรักษาให้หายได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว การดัดแปลงยีนเพื่อยืดอายุก็เป็นไปได้เช่นกัน การเดินทางไปในอวกาศเป็นไปเพื่อแสวงหาแหล่งพลังงานทดแทนหากวันหนึ่งพลังงานบนโลกร่อยหรอลง ผลักดันให้มนุษย์ต้องออกไปแสวงหาบ้านหลังใหม่เพื่อการอยู่รอด ในขณะเดียวกันคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาไปจนมีขนาดเล็กมากและราคาถูกมากถึงขั้นที่มีอยู่ทุกหนแห่งทำให้การรับส่งข้อมูลเป็นไปอย่างง่ายดายเสียจนเราสามารถควบคุมสั่งการทุกอย่างได้ก็ช่วยอำนวยความสะดวกสบายและทำให้เรามีชีวิตที่ปลอดภัย
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของอนาคตที่รอคอยเราอยู่ในมโนทัศน์แห่งอนาคต คากุยังบอกอีกว่าสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปคือบทบาทของมนุษย์เองในโลกใหม่ ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญเบื้องหลังพัฒนาการทั้งหมด ดังที่เขากล่าวว่า "ส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์มนุษย์ เราก็คล้ายผู้สังเกตการณ์ที่ทำได้เพียงแต่เฝ้าดูการเต้นรำตระการตาของธรรมชาติ แต่ในวันนี้เราอยู่ตรงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลง จากการเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ยอมตามธรรมชาติ สู่การเป็นผู้กำหนดบทบาทให้ธรรมชาติ"
คำนำผู้เขียน
นี่เป็นหนังสือเกี่ยวกับอนาคตที่ไร้ขีดจำกัดของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยมุ่งไปที่ขณะเวลาอีกร้อยปีข้างหน้าและเกินไปกว่านั้น หนังสือที่ประมวลความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์อันน่าตื่นเต้นและรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วซึ่งจำเป็นต้องมีความครอบคลุม ความลึก และความแม่นยำอย่างยิ่งนั้นไม่สามารถเขียนขึ้นได้โดยปราศจากญาณทัสนะและภูมิปัญญาของเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่กำลังทำให้อนาคตนั้นเป็นจริง แน่นอนที่คนคนเดียวไม่สามารถประดิษฐ์อนาคตขึ้นมาได้ ด้วยเหตุเพียงเพราะมีความรู้ที่สั่งสมกันอยู่มากมายเกินไป มีวิถีทางที่เป็นไปได้และการพัฒนาเฉพาะทางได้มากแบบจนเกินไป อันที่จริงคำทำนายอนาคตส่วนใหญ่ต้องจมอยู่ในโคลนก็เพราะว่าคำทำนายเหล่านั้นสะท้อนถึงมุมมองที่แปลก และบ่อยครั้งก็เป็นมุมมองแคบๆ ของบุคคลเพียงคนเดียว
ทว่าที่กล่าวมานี้ไม่จริงสำหรับหนังสือมโนทัศน์แห่งอนาคตบนเส้นทางการเขียนหนังสือ บทความ และบทวิจารณ์ทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากมาย ผมได้มีโอกาสพิเศษที่หาได้ยากในการสัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์มากกว่า 150 คน จากหลากหลายวงการในช่วงเวลา 10 ปี ผมเพียรพยายามอย่างระมัดระวังที่จะตีกรอบเวลาครอบคลุมคำทำนายบางอย่างว่าจะกลายเป็นความจริงหรือไม่ โดยอาศัยการสัมภาษณ์เหล่านี้เป็นพื้นฐาน นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าคำทำนายบางอย่างจะปรากฏเป็นจริงให้เห็นก่อนปี 2020 ในขณะที่คำทำนายอื่นๆ จะไม่ปรากฏเป็นตัวเป็นตนจนกระทั่งเวลาล่วงเลยไปนานมาก กล่าวคือจากปี 2050 จนถึงปี 2100 ผลก็คือไม่ใช่ทุกคำทำนายเหล่านั้นจะถูกอนุมานขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน บางคำทำนายมุ่งมองไปในอนาคตข้างหน้า จึงมีลักษณะเหมือนการคาดคะเนมากกว่าคำทำนายอื่นๆ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แน่นอนว่ากรอบเวลาที่ผมได้วางไว้ในหนังสือเล่มนี้ใช้เป็นเพียงแนวทางกว้างๆ เท่านั้น เพื่อจะให้ผู้อ่านพอเข้าใจได้ว่าเมื่อไรที่แนวโน้มและเทคโนโลยีบางอย่างน่าจะปรากฏขึ้นมาให้เห็น
เค้าโครงของหนังสือเป็นดังนี้
ในส่วนที่ 1 ของมโนทัศน์แห่งอนาคต ผมอภิปรายถึงพัฒนาการเด่นๆ ที่รอคอยพวกเราอยู่ในการปฏิวัติคอมพิวเตอร์ที่กำลังเริ่มเปลี่ยนรูปโฉมของธุรกิจ การสื่อสาร และวิถีชีวิตของเราอยู่แล้ว และเป็นพัฒนาการซึ่งผมเชื่อว่าสักวันหนึ่งจะทำให้เรามีอำนาจที่นำเอาสติปัญญาไปใส่ไว้ในทุกๆ ส่วนของดาวเคราะห์ของเรา
ในส่วนที่ 2 ผมหันไปพิจารณาการปฏิวัติชีวโมเลกุล ซึ่งในที่สุดแล้วจะให้อำนาจแก่เราในการเปลี่ยนแปลงและสังเคราะห์สิ่งมีชีวิตรูปแบบใหม่ๆ ตลอดจนคิดค้นยาและการบำบัดแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
ส่วนที่ 3 มุ่งไปที่การปฏิวัติควอนตัม บางทีอาจจะเป็นการปฏิวัติที่กว้างขวางลึกซึ้งที่สุดจากทั้งสามแบบ ซึ่งจะให้อำนาจแก่เราในการควบคุมตัวสสารเอง
คำนำผู้แปล
มิชิโอะ คากุ เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวอเมริกันซึ่งเป็นบุตรของผู้ลี้ภัยชาวญี่ปุ่น คากุในฐานะโฆษกแห่งวงการวิทยาศาสตร์และผู้ทำนายอนาคตผู้หนึ่ง มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้ออกสู่สาธารณชนผ่านหนังสือที่มียอดขายสูงสุดและรายการวิทยุที่มีผู้สนใจเป็นจำนวนมากของเขา ในด้านวิชาการ เขาเป็นศาสตราจารย์ในสาขาฟิสิกส์ที่มีความสนใจทางทฤษฎีสตริงและสนามควอนตัม โดยเขาได้ตีพิมพ์ในวารสารซึ่งเป็นที่ยอมรับกว่าร้อยเรื่อง จึงนับได้ว่าคากุเป็นผู้มีโลกทัศน์ทางวิทยาศาสตร์กว้างขวางและความเข้าใจลึกซึ้งเพียงพอที่จะวิเคราะห์ให้เห็นแนวทางของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่มีแนวโน้มจะปรากฏให้เราเห็นได้มากที่สุด โดยผ่านกระบวนการวิจัยและเก็บข้อมูลที่ละเอียดถี่ถ้วนจากการสัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้ชำนาญการในแต่ละสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง
ในหนังสือที่น่าตื่นตาตื่นใจเล่มนี้ ผู้อ่านที่ไม่สันทัดกับวิถีทางวิทยาศาสตร์จะพบกับข้อมูลน่าพิศวง ถูกนำเสนอเป็นระบบตามต้นตอของความคิดเองและขั้นตอนของเหตุผลที่เข้าใจง่าย ทำให้เห็นภาพรวมของความยิ่งใหญ่และเส้นทางของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบที่ไม่เคยได้สดับฟังมาก่อน ไม่นับรวมถึงผลพวงใกล้ตัวเราทางจริยธรรมและการดำรงชีวิตที่อาจจะต้องเผชิญในโลกแห่งอนาคตด้วยภาษาวิทยาศาสตร์ที่ไม่ซับซ้อน
ผู้อ่านที่อยู่ในวังวนของวิทยาศาสตร์จะพบว่าตนเองได้ถอยหลังออกไปไกลเพียงเพื่อได้มีโอกาสมองกลับมาอย่างเด่นชัด ทำให้เห็นทิศทางความเป็นไปของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตที่เป็นไปได้ที่สุด ทำให้สามารถเล็งเห็นตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสายใยการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ประสานกันในหลายแง่มุม ทำให้รอบรู้เกี่ยวกับหลากหลายแนวทางที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ถือเป็นการเบิ่งตามองเครือข่ายอเนกอนันต์แห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะปรับรูปร่างโลกแห่งอนาคตอย่างแท้จริง
สำหรับแฟนพันธุ์แท้นิยายวิทยาศาสตร์แล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นการปะทะกันระหว่างโลกแห่งจินตนาการและโลกแห่งความจริงที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง จะน่าตื่นเต้นเพียงใดถ้าสิ่งที่เราจินตนาการไม่ได้ต่างไปจากที่มันเป็นจริงได้ แต่อาจจะต้องเลือกเส้นทางต่างกันไป จะน่าทึ่งเพียงใดถ้าเราสามารถระบุอาณาเขตระหว่างโลกแห่งจินตนาการและโลกแห่งความจริงด้วยความรู้ของเราเท่านั้น คากุยังได้ให้กรอบเวลาการทำนายตามหลักแห่งตรรกะทางวิทยาศาสตร์ที่หาได้ยาก เหมาะสมที่จะเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ถูกจารึกแห่งโลกอนาคต
[con·tin·ue]
ส่วนที่ 1 มโนทัศน์แห่งอนาคต (Visions)
บทที่ 1 ผู้กำหนดบทบาทของสสาร ชีวิต และสติปัญญา (Choreographers of Matter, Life, and Intelligence)
ส่วนที่ 2 การปฏิวัติคอมพิวเตอร์ (The Computer Revolution)
บทที่ 2 คอมพิวเตอร์ที่มองไม่เห็น (The Invisible Computer)
บทที่ 3 ดาวเคราะห์อัจฉริยะ (The Intelligent Planet)
บทที่ 4 เครื่องจักรที่คิดได้ (Machines That Think)
บทที่ 5 เหนือกว่าซิลิกอน มนุษย์กล และคอมพิวเตอร์ขั้นสูงสุด (Beyond Silicon: Cyborgs and the Ultimate Computer)
บทที่ 6 ย้ำคิด มนุษย์จะล้าสมัยหรือไม่? (Second Thoughts: Will Humans Become Obsolete?)
ส่วนที่ 3 การปฏิวัติเชิงชีวโมเลกุล (The Biomolecular Revolution)
บทที่ 7 รหัสดีเอ็นเอส่วนตัว (Personal DNA Codes)
บทที่ 8 พิชิตโรคมะเร็ง-ซ่อมแซมยีนของเรา (Conquering Cancer-Fixing Our Genes)
บทที่ 9 ยาเชิงโมเลกุลและการเชื่อมโยงระหว่างจิตใจและร่างกาย (Molecular Medicine and the Mind/Body Link)
บทที่ 10 เพื่อที่จะมีชีวิตอมตะ? (To Live Forever?)
บทที่ 11 เล่นบทเป็นพระเจ้า เด็กและตัวแทนที่ถูกออกแบบขึ้น (Playing God: Designer Children and Clones)
บทที่ 12 หวนกลับมาคิดเกี่ยวกับพันธุศาสตร์ของโลกใหม่ที่แกล้วกล้า? (Second Thoughts: The Genetics of a Brave New World?)
ส่วนที่ 4 การปฏิวัติเชิงควอนตัม (The Quantum Revolution)
บทที่ 13 อนาคตแบบควอนตัม (The Quantum Future)
บทที่ 14 เอื้อมไปถึงดวงดาว (To Reach for the Stars)
บทที่ 15 สู่อารยธรรมแห่งดาวเคราะห์ (Toward a Planetary Civilization)
บทที่ 16 เจ้าแห่งปริภูมิและกาลเวลา (Masters of Space and Time)
เกี่ยวกับผู้เขียน
ดร.มิชิโอะ คากุ (Michio Kaku: 1947-) เป็นศาสตราจารย์ทางด้านฟิสิกส์ทฤษฎีอยู่ที่ City University of New York เป็นหนึ่งในผู้ร่วมคิดค้นทฤษฎีสนามสตริง (string field theory) และเป็นผู้เขียนหนังสือที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวางหลายเล่ม เช่น Beyond Einstein (1987) และ Hyperspace (1994) ซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในบรรดาหนังสือวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยมประจำปีของหนังสือพิมพ์ The New York Times และ The Washington Post อีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นผู้ดำเนินรายการวิทยุด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งได้รับการถ่ายทอดไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา และเคยเป็นแขกรับเชิญในรายการโทรทัศน์ เช่น รายการ Nightline, 60 Minutes, Good Morning America และ Larry King Live
เกี่ยวกับผู้แปล
กุลพันธ์ พิมพ์สมาน จบการศึกษาปริญญาตรีสาขา Theoretical Mathematics และ Electrical Engineering and Computer Science และปริญญาโทสาขา Electrical Engineering จาก Massachusetts Institute of Technology และสาขา Applied Physics จาก Harvard University โดยมีความสนใจพิเศษในด้าน Electromagnetic Scattering and Propagation, Applied Mathematics และ Theoretical Astronomy and Astrophysics ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)
Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com