top of page

ยีนเห็นแก่ตัว (The Selfish Gene)


หนังสือชุด World Science Series

ยีนเห็นแก่ตัว

แปลจาก The Selfish Gene (1989)

เขียนโดย Clinton Richard Dawkins แปลโดย ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สี่ มกราคม 2560 (พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2559) จำนวน 416 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740214830

กายเราเป็นแค่พาหะของยีนผู้เห็นแก่ตัว หนังสือที่สร้างแรงกระเพื่อมครั้งยิ่งใหญ่ในวงการชีววิทยาปี 1976

คำนำสำนักพิมพ์

ตั้งแต่ชั้นประถม แบบเรียนไทยสอนให้เราท่องจำกันว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในโลกล้วนวิวัฒนาการขึ้นมา และผู้ที่ค้นพบทฤษฎีนี้ก็คือชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Robert Darwin: 1809-1882) ในระดับสูงขึ้นมาหน่อยก็อาจมีชื่อเกรกอร์ เมนเดล (Gregor Johann Mendel: 1822-1884) พ่วงเข้ามาว่าเป็นผู้วางรากฐานพันธุกรรมศาสตร์ และส่วนมากมักจบลงตรงนั้น ดีกว่าหน่อยก็อาจอธิบายต่อไปว่า ปัจจุบันเรานำเอาแนวคิดของทั้งสองมาผนวกรวมกันเป็นพื้นฐานชีววิทยาสมัยใหม่อย่างไร? จากนั้นเราก็ท่องเนื้อหาวิชากันโดยไม่มีการนึกเฉลียวใจหรือตั้งคำถามกับวิวัฒนาการที่เรารู้จักเลยแม้แต่น้อย ไม่ต้องเอ่ยถึงการตั้งคำถามหรือถกเถียงในระดับฐานองค์ความรู้ อาทิ จริงๆ แล้วหน้าตาเป็นเช่นไร? ทำงานแบบไหน? ผลของวิวัฒนาการคืออะไรกันแน่? เราจะอธิบายวิวัฒนาการของการเสียสละหรือพฤติกรรมอันซับซ้อนอื่นๆ ในสิ่งมีชีวิตได้อย่างไร? นั่นคือสิ่งที่ดอว์กินส์ตั้งคำถามแล้วลงมือเขียน "ยีนเห็นแก่ตัว" ซึ่งเป็นชื่อที่หลายๆ คนในวงการชีววิทยาและบางส่วนในวงการสังคมศาสตร์อาจจะพอคุ้นหูกันบ้าง เพราะหนังสือเล่มนี้เรียกความสนใจและสร้างประเด็นถกเถียงจากผู้อ่านทุกคนที่เคยได้สัมผัส

สิ่งสะดุดตาแรกสุดของหนังสือเล่มนี้คงเป็นชื่อเรื่องที่ชวนให้เราสงสัยตั้งแต่ยังไม่ทันเปิดอ่านเสียด้วยซ้ำ แม้แต่ดอว์กินส์ก็ยอมรับ (แกมผิดหวัง) ว่าชื่อของหนังสือนั้นชวนเข้าใจผิดจริงและทำให้คนโยงชื่อหนังสือไปไกลเกินกว่าขอบเขตที่ต้องการสื่อสาร แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ชื่อนี้ก็ยังเป็นชื่อที่เหมาะสมที่สุด อันที่จริงเรียกได้เลยว่าเป็นประเด็นสำคัญเสียด้วยซ้ำ เพราะมุมมองนี้ทำให้เราเห็นภาพใหม่ของทฤษฎีวิวัฒนาการได้ชัดเจนและลึกซึ่งขึ้น

"ยีนเห็นแก่ตัว" ของดอว์กินส์เปิดประเด็นด้วยข้อถกเถียงของวงการชีววิทยาทั่วโลกเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ว่าวิวัฒนาการทำการคัดเลือกที่จุดใดกันแน่? แม้จะมีอายุ 40 ปี แต่หลักการหลายๆ อย่างที่เสนอไม่ได้ล้าสมัยแม้แต่นิดเดียว เรียกได้ว่าเป็นงานชั้นครูทั้งหลายที่แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ข้อเสนอก็ยังคงสดใหม่ ในแง่หนึ่ง งานของเขาก็ไม่ต่างไปจากปรัชญาคลาสสิกอย่าง เกออร์ก วิลเฮล์ม ฟริดริช เฮเกล (Georg Wilhelm Friedrich Hegel: 1770-1831) ที่ลากจากจุดเล็กๆ อย่าง "ความมีอยู่" และ "ความไม่มีอยู่" มาสู่ภาพรวมอันซับซ้อนคือ "จิตสำนึก" และ "สังคมรัฐ" ดอว์กินส์เริ่มจากแรกสุดว่าอะไรจะนับเป็นหน่วยของสิ่งมีชีวิตโดยแท้จริงได้? และอะไรคือลักษณะสำคัญของมัน? ลักษณะที่ว่าทำให้เกิดอะไรตามมา? การร้อยเรียงจากหน่วยย่อยที่สุดของชีวิตนำมาซึ่งผลลัพธ์อันเหลือเชื่อ ความเห็นแก่ตัวของยีนในตอนต้นกลับเป็นพื้นฐานสำคัญของพฤติกรรมที่ซับซ้อนต่างๆ อย่างการระวังภัย การจับคู่ การเลี้ยงดู และการเสียสละ ทั้งหมดนี้รังสรรค์ออกมาเป็นธรรมชาติอันยิ่งใหญ่น่าอัศจรรย์ใจดังที่เราได้เห็นกัน

ด้วยเนื้อหาที่หลากหลาย ประกอบกับข้อถกเถียงและการวิเคราะห์ที่ชวนให้คิดตามตั้งแต่ต้นจนตัวอักษรสุดท้าย การตีพิมพ์ครั้งต่อๆ มาจึงจำเป็นต้องมีการอธิบายเพิ่มเติมเสริมเนื้อหาใหม่ๆ และข้อมูลข้อโต้แย้งในวงการชีววิทยาและวงการอื่นๆ โดยแยกไว้เป็นเนื้อหาอ่านเสริมในภาคผนวก สำนักพิมพ์มติชนจึงยึดรูปแบบการอ้างอิงของหนังสือต้นฉบับเพื่อรักษาเนื้อหาและรูปเล่มไว้ เชิงอรรถท้ายเล่มดั้งเดิมจะใช้เครื่องหมาย "*" เหมือนต้นฉบับ แต่เชิงอรรถเสริมท้ายหน้าโดยสำนักพิมพ์จะใช้เครื่องหมาย "+" สำหรับ "ยีนเห็นแก่ตัว" สำนักพิมพ์ขอยืนยันว่าต้องอ่านให้ครบจนจบเชิงอรรถท้ายเล่มและรับประกันว่าคุ้มค่าแน่นอน

คำนำผู้แปล

ชีวิตเกิดมาได้อย่างไรบนโลกนี้? อัตลักษณ์ต่างๆ มีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร? ทำไมมนุษย์เราถึงแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น? และอีกสารพัดคำถามที่ตอบลำบาก ฟังดูเป็นปรัชญาและเป็นประเด็นทางศาสนาที่เหมือนจะหาคำตอบสรุปครอบจักรวาลในสังคมที่หลากหลายได้ยากยิ่ง แต่เมื่อกว่า 150 ปีก่อน นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษที่ชื่อชาร์ลส์ ดาร์วิน หลังจากครุ่นคิดคำถามดังกล่าวนานกว่า 30 ปี ก็ได้ตีพิมพ์แนวคิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตผ่านหนังสือ "กำเนิดสปีชีส" หรือ On the Origin of Species ที่เป็นจุดเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ทางวิชาการของโลกตะวันตก มนุษยชาติเริ่มมีเครื่องมือในการปฏิเสธการอ้างอิงถึงพลังเหนือธรรมชาติ และสามารถหันกลับมาทบทวนว่าเราเองก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของพัฒนาการที่สิ่งมีชีวิตต่างๆ บนโลกมีร่วมกันมากว่าพันล้านปี ผ่านกลไกสำคัญที่เรียกว่าการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection)

หลังผ่านการวิพากษ์โจมตีมาอย่างหนัก โดยเฉพาะจากผู้ที่ยึดมั่นในคำสอนทางศาสนาในปัจจุบัน ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินกลายเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในสาขาวิชาอื่นที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับชีววิทยา ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์เชิงดาร์วิน รัฐศาสตร์เชิงดาร์วิน หรือแม้แต่การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เชิงดาร์วิน คำถามเกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการไม่ได้อยู่ที่มันเกิดขึ้นจริงหรือ? อีกต่อไป แต่กลายเป็นว่าการคัดเลือกโดยธรรมชาติที่นำไปสู่วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตนั้นเกิดขึ้นที่ระดับใด? ระดับสปีชีส์ ระดับกลุ่มของสิ่งมีชีวิตในสปีชีส์ ระดับปัจเจกแต่ละตัว ฯลฯ คำตอบที่ชัดเจนคือการคัดเลือกนั้นเกิดขึ้นที่ระดับยีน และผู้ที่อธิบายและเน้นย้ำให้เราเข้าใจได้ถึงเรื่องนี้คือริชาร์ด ดอว์กินส์ ผ่านหนังสือ "ยีนเห็นแก่ตัว" ของเขาเล่มนี้

ริชาร์ด ดอว์กินส์ อาจจะไม่ใช่นักคิดที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันนัก แต่ในระดับสากลแล้ว เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลสำคัญต่อความคิดของผู้คนในยุคร่วมสมัยทั่วโลก จากพื้นฐานที่เป็นนักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการที่โดดเด่น (และศรัทธาในแนวคิดของดาร์วินเป็นอย่างยิ่ง) และเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ฝีมือเยี่ยม ดอว์กินส์สร้างผลงานไว้มากมาย ทั้งงานเขียนบทความวิชาการ หนังสือวิทยาศาสตร์สำหรับบุคคลทั่วไป สารคดีโทรทัศน์ที่เน้นถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต แม้แต่การตั้งมูลนิธิของตนเองเพื่อถ่ายทอดความรู้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่มาสู่สังคม ตลอดจนแนวคิดของการปฏิเสธพลังเหนือธรรมชาติและการไม่นับถือศาสนา (atheist) เพียงแต่ว่า ถ้าถามว่าผลงานชิ้นไหนที่เป็นที่โด่งดังที่สุดของดอว์กินส์ เชื่อว่าแฟนคลับของเขาทุกคน (รวมถึงคนที่ไม่ชอบเขาด้วย) จะต้องตอบตรงกันว่าคือ "ยีนเห็นแก่ตัว"

หนังสือยีนเห็นแก่ตัวไม่ใช่หนังสือเล่มล่าสุดหรือเพิ่งเขียนมาไม่กี่ปี แต่มันถูกเขียนขึ้นมาเป็นเวลา 40 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่ปี 1972 (ปีเดียวกับที่ผมเกิด) อาจเป็นด้วยชื่อหนังสือที่ดูน่าพิศวงงงงวย ยีนเห็นแก่ตัว... ยีนมันจะเห็นแก่ตัวได้อย่างไร? พวกคนเห็นแก่ตัวนั้นเพราะว่ามียีนแย่ๆ อยู่ในตัวเหรอ? ทำให้คำว่า "ยีนเห็นแก่ตัว" กลายเป็นที่สนใจของผู้อ่านทั่วโลก และเป็นหนึ่งในหนังสือที่ขายดีที่สุดตลอดกาลในหลายประเทศ ทุกครั้งที่มีการจัดอันดับหนังสือวิทยาศาสตร์ที่ควรอ่านหรือต้องอ่าน "ยีนเห็นแก่ตัว" ก็มักจะติดอันดับด้วยเสมออย่างไม่ต้องสงสัย ขณะที่ผลกระทบจากหนังสือนั้นหลากหลายมาก มีทั้งเสียงส่วนใหญ่ที่ตอบรับอย่างชื่นชม ยาวไปจนถึงเสียงวิพากษ์โจมตีรุนแรงไม่แพ้ที่ "กำเนิดสปีชีส์" ของชาร์ลส์ ดาร์วินเคยได้รับ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

"ยีนเห็นแก่ตัว" เป็นศัพท์เฉพาะตามแนวคิดที่ดอว์กินส์รวบรวมมาเพื่ออธิบายถึงกลไกการทำงานของเหล่ายีนต่างๆ ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกนี้ (หรือแม้แต่ในดาวดวงอื่นของจักรวาล) ที่ต่อสู้แข่งขันให้ตนเองอยู่รอดสืบทอดต่อไปผ่านการบังคับหุ่นยนต์ยักษ์ที่พวกมันสร้างขึ้นและเข้ามายึดครองอยู่ที่เรียกว่าจักรกลแห่งการอยู่รอด เรารู้จักหุ่นยนต์พวกนี้ในรูปลักษณ์ต่างๆ กัน ไม่ว่าจะแบบเรียบง่ายและเล็กจิ๋วจนมองไม่เห็นอย่างพวกแบคทีเรีย หรือแบบที่เก่งกาจในการสร้างอาหารได้เองอย่างพวกพืช หรือแบบที่โลดแล่นเคลื่อนที่ไปมาแคล่วคล่องอย่างพวกสัตว์ ไปจนถึงพวกมนุษย์ที่สามารถสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาและถ่ายทอดต่อกันไปได้ผ่าน "มีม (meme)"

ผู้ที่อ่านหนังสือยีนเห็นแก่ตัวจะได้ติดตามวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงนี้ตั้งแต่ตอนที่โลกยุคโบราณที่มีแต่สารเคมีต่างๆ ไม่มีชีวิตใดๆ อยู่เลย ก่อนที่จะเริ่มเกิดตัวจำลองแบบขึ้นมาเป็นจำนวนมหาศาลและแข่งขันกันอย่างดุเดือดในน้ำซุปยุคบรรพกาล เหล่าตัวจำลองแบบหรือยีนถูกคัดเลือกอย่างเข้มข้นและเรียนรู้ที่จะสร้างจักรกลขึ้นมาใช้งานเพื่อความอยู่รอดของพวกมัน จักรกลของกลุ่มยีนถูกสร้างขึ้นและตายไปซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดช่วงเวลาของโลก แต่ยีนที่โปรแกรมความเห็นแก่ตัวฝังเอาไว้ตั้งแต่ต้นจะพยายามสรรหาเอากลยุทธ์ต่างๆ ดังตัวอย่างของสัตว์หลายชนิดที่ดอว์กินส์อ้างถึงในหนังสือมาใช้ในการต่อสู้เอาชนะยีนคู่แข่งหรือหาทางให้ยีนเดียวกันที่อยู่ในจักรกลตัวอื่นๆ ในเครือญาติตัวอื่นได้ดำรงชีวิตต่อไป แม้ว่าบางครั้งจะต้องเสียสละชีวิตตัวมันเองก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้ว ยีนเห็นแก่ตัวเหล่านี้จะได้รับการถ่ายทอดต่อไปเป็นนิรันดร์ ผ่านวลีที่ว่า "กายของเราเป็นเพียงแค่พาหะของยีน"

ผมขอขอบพระคุณสำนักพิมพ์มติชนเป็นอย่างยิ่งที่เห็นคุณค่าของหนังสือเล่มนี้และได้มอบหมายให้ผมแปลเป็นภาษาไทย "ยีนเห็นแก่ตัว" เป็นหนังสือแปลเล่มแรกในชีวิตซึ่งผมได้ทุ่มเทเวลาเป็นอย่างมากในการพยายามแปลให้ถูกต้องตรงกับความหมายที่ผู้เขียนสื่อไว้ให้มากที่สุด ขณะที่การทำงานปรับปรุงอย่างหนักของกองบรรณาธิการได้ช่วยให้หนังสือเล่มนี้อุดมไปด้วยคำศัพท์และประโยคที่สละสลวยแต่เข้าใจง่าย สุดท้ายนี้ผมหวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความรู้ ความประทับใจ และสนใจที่จะอ่านหนังสือเล่มอื่นๆ ของริชาร์ด ดอว์กินส์

คำนำผู้เขียนจากฉบับพิมพ์ครั้งที่หนึ่ง (1976 edition)

หนังสือเล่มนี้ควรจะถูกอ่านแทบจะในทำนองว่ามันเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ เพราะถูกออกแบบมาให้ดึงดูดการใช้จินตนาการ ทว่ามันก็ไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์ ยังคงเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ล้วนๆ ไม่รู้ว่าจะเป็นสำนวนเก่าหรือไม่ แต่ "ประหลาดยิ่งกว่านิยาย" เป็นคำที่สื่อออกมาได้ตรงกับความรู้สึกที่ผมมีต่อความจริงแท้ที่ว่าเราเป็นแค่จักรกลแห่งการอยู่รอด (survival machine) เป็นหุ่นยนต์ยานพาหนะที่ถูกโปรแกรมมาโดยไม่รู้ตัวให้รองรับกับโมเลกุลอันเห็นแก่ตัวที่รู้จักกันในนามว่ายีน ความจริงแท้ที่ยังคอยเติมความอัศจรรย์ใจให้กับผม แม้ว่าผมจะทราบถึงความจริงแท้เช่นนี้มานานหลายปีแล้ว ผมก็ยังไม่ค่อยชินเท่าไรนัก ความหวังอย่างหนึ่งของผมจึงกลายเป็นว่าผมจะประสบความสำเร็จในการทำให้คนอื่นอัศจรรย์ใจไปด้วยได้บ้าง

มีนักอ่านในจินตนาการของผมอยู่ 3 คนที่คอยชะโงกมองผมระหว่างที่เขียนหนังสือนี้และผมขออุทิศหนังสือนี้ให้แก่พวกเขา คนแรกนั้นก็คือนักอ่านทั่วไป ชาวบ้านธรรมดาๆ ซึ่งสำหรับเขาแล้ว ผมได้หลีกเลี่ยงที่จะใช้คำศัพท์บัญญัติทางเทคนิคเกือบทั้งหมด และเมื่อใดที่ผมจำเป็นต้องใช้คำศัพท์เฉพาะ ผมก็จะให้นิยามของคำคำนั้นเอาไว้ด้วย เดี๋ยวนี้ผมเริ่มสงสัยแล้วว่าทำไมเราถึงไม่ตัดคำศัพท์ยากๆ ออกจากหนังสือวิชาการที่ใช้เรียนกันอยู่เช่นกัน ผมเชื่อว่าชาวบ้านทั่วไปนั้นไม่ได้มีความรู้เฉพาะทางมากนัก แต่ผมไม่ได้สรุปว่าพวกเขาไม่ฉลาด ใครๆ ก็สามารถที่จะทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าถึงได้หากทำให้มันง่ายขึ้นมาก ผมทุ่มเทเพียรพยายามทำให้แนวคิดยากๆ และซับซ้อนเข้าถึงง่ายด้วยภาษาที่ไม่มีคณิตศาสตร์เจือปนโดยไม่เสียความสำคัญไป ผมไม่ทราบว่าผมประสบความสำเร็จในเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด ไม่แน่ใจกระทั่งอีกความฝันหนึ่งของผมเรื่องทำให้หนังสือเล่มนี้ทั้งสนุกและน่าสนใจดังที่ควรจะเป็น แต่ผมรู้สึกมานานแล้วว่าชีววิทยาควรที่จะดูน่าตื่นเต้นเหมือนเรื่องลึกลับ เพราะเรื่องลึกลับนั้นก็คือชีววิทยา กระนั้นผมก็ไม่กล้าพอที่จะหวังว่าผมสามารถส่งผ่านความน่าตื่นเต้นของเรื่องนี้ได้มากถึงเศษเสี้ยวของที่มันมี

นักอ่านในจินตนาการคนที่สองของผมก็คือผู้เชี่ยวชาญ เขาเป็นนักวิจารณ์ปากร้ายที่พ่นลมหายใจแรงๆ ใส่คำอุปมาอุปไมยและลูกเล่นสำนวนผม วลีโปรดของเขาคือ "เว้นเสียแต่ว่า" "แต่ในทางตรงกันข้าม" และ "โอย" ผมตั้งใจฟังในสิ่งที่เขาพูดอย่างจดจ่อถึงขนาดเรียบเรียงเนื้อหาใหม่หมดถึง 1 บทเพียงเพื่อประโยชน์ของเขา แต่สุดท้ายผมก็จำต้องกลับมาเล่าเรื่องตามแนวทางของตัวเอง ผู้เชี่ยวชาญคงจะยังไม่ยินดีที่ผมเรียบเรียงเรื่องราวทั้งหมด แต่ความหวังสูงสุดของผมคือเขาอาจได้พบกับบางสิ่งบางอย่างใหม่ๆ ในหนังสือนี้บ้าง บางทีอาจจะเป็นมุมมองใหม่ต่อแนวคิดเดิมๆ ที่คุ้นเคย หรือกระตุ้นให้เขามีแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นมา ถ้าฝันเหล่านี้สูงเกินเอื้อม อย่างน้อยผมก็ขอหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยกล่อมให้เขาสนุกได้ระหว่างโดยสารรถไฟ

นักอ่านคนที่สามในใจผมคือนักศึกษา คนที่เชื่อมโยงระหว่างชาวบ้านกับผู้เชี่ยวชาญ ถ้าเขายังไม่ได้ตัดสินใจว่าอยากจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาใด ผมก็หวังที่จะกระตุ้นให้เขาหันมามองสาขาสัตววิทยาของผมบ้าง มีเหตุผลดีๆ ในการเรียนสัตววิทยามากกว่าแค่คำว่าจะเป็นประโยชน์และชื่นชอบสัตว์ต่างๆ อยู่แล้ว เหตุผลที่ว่านี้ก็คือพวกเราเหล่าสรรพสัตว์นั้นเครื่องจักรชิ้นหนึ่งที่ซับซ้อนและออกแบบมาอย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เรารู้จักในจักรวาล เมื่อคิดเช่นนี้แล้วก็น่าแปลกใจว่าจะไปเรียนวิชาอื่นทำไม! ส่วนนักศึกษาที่ได้ปวารณาตัวเข้าสู่วิชาสัตววิทยาแล้ว ผมก็หวังว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะมีคุณค่าทางวิชาการอยู่บ้าง เพราะเขายังคงต้องอ่านบทความวิจัยและตำราที่ผมใช้เป็นพื้นฐานของหนังสือนี้ ถ้าเขาพบว่าแหล่งข้อมูลอ้างอิงเหล่านี้ช่างเข้าใจยากนัก บางทีวิธีการตีความโดยไม่ใช้คณิตศาสตร์ของผมน่าจะช่วยเขาในฐานะบทนำและบทเสริมได้

การพยายามเขียนให้ถูกใจผู้อ่านทั้งสามประเภทที่แตกต่างกันเช่นนี้มีอันตรายอยู่เหมือนกัน พูดได้เพียงแค่ว่าผมตระหนักดีถึงอันตรายดังกล่าว แต่ประโยชน์ที่ได้รับจากความพยายามนี้ก็ดูจะมีน้ำหนักมากกว่า ผมเป็นนักพฤติกรรมวิทยาและหนังสือเล่มนี้ก็เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของสัตว์ หนี้บุญคุณต่อจารีตดั้งเดิมทางสาขาพฤติกรรมศาสตร์ที่ผมได้ร่ำเรียนมานั้นประจักษ์ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนิโก ทินแบร์เคิน (Nikolaas 'Niko' Tinbergen: 1907-1988) ผู้ที่คงไม่ได้ตระหนักว่าตนเองมีอิทธิพลต่อผมมากขนาดไหนในช่วง 12 ปีที่ผมทำงานกับเขาในออกซ์ฟอร์ด ถึงแม้วลีที่ว่า "จักรกลแห่งการอยู่รอด" จะไม่ได้เป็นของเขาจริงๆ แต่ผมก็รู้สึกว่าแทบจะเป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้วิชาพฤติกรรมศาสตร์ถูกทำให้กระฉับกระเฉงขึ้นด้วยการรุกล้ำเข้ามาของแนวคิดใหม่จากหลายๆ แหล่งที่เมื่อก่อนไม่นับกันว่าเป็นพฤติกรรมศาสตร์ หนังสือเล่มนี้จึงเขียนขึ้นบนพื้นฐานส่วนใหญ่จากแนวความคิดใหม่ๆ เหล่านั้น ชื่อของบุคคลที่เป็นผู้เริ่มต้นแนวคิดเหล่านี้ถูกกล่าวถึงไว้ในส่วนต่างๆ ของเนื้อหาหนังสือตามความเหมาะสม ซึ่งโดยมากแล้วก็คือ จอร์จ วิลเลี่ยมส์ (George Christopher Williams: 1926-2010) เมย์นาร์ด สมิธ (John Maynard Smith: 1920-2004) บิล แฮมิลตัน (William Donald "Bill" Hamilton: 1939-2000) และบอบ ไทรเวอร์ส (Robert Ludlow "Bob" Trivers: 1943-)

มีอีกหลายท่านที่ช่วยเสนอคิดชื่อให้กับหนังสือเล่มนี้ ซึ่งผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้นำไปเป็นชื่อของบทต่างๆ ดังเช่น "เกลียวอมตะ (immortal coils)" โดยจอห์น เครบส์ (John Richard Krebs: 1945-) "จักรกลยีน (gene machine)" โดยเดสมอนด์ มอร์ริส (Desmond John Morris: 1928-) "เปรียบยีนดั่งมนุษย์ (genesmanship)" โดยทิม คลัตตัน-บร็อก (Timothy Hugh Clutton-Brock: 1946-) และฌอน ดอว์กินส์ (Jean Dawkins) และขออภัยเป็นพิเศษต่อสตีเฟน พอตเตอร์ (Stephen Potter)

[con·tin·ue]

คำนิยมจากฉบับพิมพ์ครั้งที่หนึ่ง (1976 edition)

คำนำผู้เขียนจากฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง (1989 edition)

บทนำสำหรับฉบับพิมพ์ครบรอบ 30 ปี (2005 edition)

บทที่ 1 ทำไมต้องเป็นพวกเรา... มนุษย์? (Why are People?)

บทที่ 2 ตัวจำลองแบบ (The Replicators)

บทที่ 3 เกลียวอมตะ (Immortal Coils)

บทที่ 4 จักรกลแห่งยีน (The Gene Machine)

บทที่ 5 ความก้าวร้าว: เสถียรภาพและจักรกลแห่งแก่ตัว (Aggression: Stability and the Selfish Machine)

บทที่ 6 เปรียบยีนดังมนุษย์ (Genesmanship)

บทที่ 7 วางแผนครอบครัว (Family Planning)

บทที่ 8 สงครามระหว่างวัย (Battle of the Generations)

บทที่ 9 สงครามระหว่างเพศ (Battle of the Sexes)

บทที่ 10 เธอเกาหลังให้ฉัน ฉันจะขี่หลังเธอ (You Scratch My Back, I'll Ride on Yours)

บทที่ 11 มีม: ตัวจำลองแบบตัวใหม่ (Memes: The New Replicators)

บทที่ 12 คนน่ารัก มักได้ก่อน (Nice Guys Finish First)

บทที่ 13 ยีนก้าวไกล (The Long Reach of the Gene)

ภาคผนวกท้ายเล่ม (Endnotes)

บทวิจารณ์บางส่วน

เกี่ยวกับผู้เขียน

ดร.ริชาร์ด ดอว์กินส์ (Clinton Richard Dawkins: 1941-) ศาสตราจารย์เกียรติคุณในนามของชาร์ลส์ไซมอนีด้านความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ของสาธารณชน (Charles Simonyi Professor for Public Understanding of Science) แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) ดอว์กินส์เกิดที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา (Nairobi, Kenya) โดยมีบิดามารดาเป็นชาวสหราชอาณาจักร เริ่มเข้าเรียนระดับมหาาวิทยาลัยที่ออกซ์ฟอร์ดและเรียนต่อถึงปริญญาเอกโดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ นิโก ทินแบร์เคิน (Nikolaas 'Niko' Tinbergen) นักพฤติกรรมวิทยารางวัลโนเบล ช่วงระหว่างปี 1967-1969 ดอว์กินส์ทำงานเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ (Assistant Professor) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ (University of California at Berkeley) แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ระดับเลกเชอเรอร์ (Lecturer) และต่อมาขึ้นเป็นระดับรีดเดอร์ (Reader) ด้านสัตววิทยาที่นิวคอลเลจ (New College) แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ก่อนจะเป็นคนแรกที่ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติยศไซมอนีในปี 1905 ปัจจุบันดอว์กินส์เป็นภาคีสมาชิกของนิวคอลเลจ

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page