top of page

ฟายน์แมน อัจฉริยะโลกฟิสิกส์ (Surely You're Joking Mr. Feynman!: Adventures of a Curious Characte


ฟายน์แมน อัจฉริยะโลกฟิสิกส์

แปลจาก Surely You're Joking Mr. Feynman!: Adventures of a Curious Character (1985)

เขียนโดย Richard Phillips Feynman เรียบเรียงโดย Ralph Leighton แปลโดยนรา สุภัคโรจน์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 จำนวน 472 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740202097

Edited Collection of Reminiscences by the Nobel Prize-Winning Physicist Richard Feynman - 1 ใน 10 นักฟิสิกส์ยอดเยี่ยมของโลกตลอดกาล อัตชีวประวัติของนักฟิสิกส์ อัจฉริยะรางวัลโนเบล และบิดาแห่งนาโนเทคโนโลยี

ริชาร์ด ฟายน์แมน นักฟิสิกส์อารมณ์ดีที่ไม่เพียงสนใจวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังพิสูจน์ด้วยว่าเขาสามารถเอาดีทางดนตรีและศิลปะได้ด้วยหากต้องการ ฟายน์แมนชื่นชอบในการคิดแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์จากจินตนาการ นอกจากจะเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยโครงการแมนฮัตตันและนักฟิสิกส์รางวัลโนเบลแล้ว เขายังเป็นผู้ริเริ่มการศึกษาอนุภาคฯ พื้นฐานโครงการนาโนเทคโนโลยี และได้รับสมญาว่าเป็นบิดาแห่งนาโนฯ อีกด้วย ในหนังสืออัตชีวประวัติที่น่าสนใจเล่มนี้ ฟายน์แมนเปิดเผยตัวตนหลากหลายรูปแบบ ทั้งนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ นักศึกษาผู้ใฝ่รู้ไม่สิ้นสุด ชายผู้มีอารมณ์ขัน และคนประหลาดที่มีนิสัยทะลึ่งตึงตัง ทว่าทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็คือตัวตนของศาสตราจารย์ฟายน์แมนผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการฟิสิกส์ ซึ่งมีมุมมองความคิดกว้างไกลและเป็นแรงบันดาลใจให้นักฟิสิกส์ทั่วโลก จากแนวคิดที่ว่าประสบการณ์และการเรียนรู้สำคัญกว่าการท่องจำในหน้ากระดาษ

คำนำสำนักพิมพ์

มีหนังสืออัตชีวประวัติสักกี่เล่มที่อ่านแล้วทำให้เราทึ่งในความสามารถและความบ้าบิ่นของผู้เขียนจนต้องอุทานออกมาว่า "เฮ้ย ไอ้หมอนี่คิดได้ไง" คำตอบคือในโลกนี้คงมีหนังสือประเภทนี้อยู่หลายร้อยเล่ม แต่ถ้าเฉพาะเจาะจงลงไปว่าเป็นอัตชีวประวัติของนักฟิสิกส์ จะเป็นเล่มไหนไปไม่ได้นอกเสียจาก "ฟายน์แมน อัจฉริยะโลกฟิสิกส์ (Surely You're Joking Mr. Feynman) หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของริชาร์ด ฟายน์แมน นักฟิสิกส์เชิงทฤษฎีเจ้าของรางวัลโนเบล ผู้มีทั้งความเฉลียวฉลาดและอารมณ์ขัน ชอบคิดนอกกรอบ เป็นนักอำตัวยงและตลกโปกฮาสุดๆ ในหนังสือเล่มนี้เราจะได้รู้จักฟายน์แมนผ่านเรื่องที่เขาเล่าให้ราล์ฟ เลห์ตัน (Ralph Leighton) เพื่อนสนิทฟัง และเพลิดเพลินไปกับวีรกรรมการอำของฟายน์แมน รวมทั้งเรื่องราวในแวดวงฟิสิกส์ราวกับฟังจากปากของเขาเอง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เขากลายเป็นช่างซ่อมวิทยุตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ไม่ผ่านการเกณฑ์ทหารเพราะจิตแพทย์ลงความเห็นว่าบ้า เป็นหัวกระทิขนาดได้เรียนที่เอ็มไอทีและพรินซตัน แต่ไม่มีสาวๆ คนไหนยอมเชื่อ ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project หรือ Manhattan Engineering District) ที่ซึ่งเขากลายเป็นจอมป่วนตัวฉกาจ เป็นนักอำตัวยง กระทั่งมีคนเชื่อว่าเขาพูดได้ทั้งภาษาลาติน อิตาลี จีน คลั่งไคล้การตีกลอง ถึงขนาดเข้าไปนั่งตีกลองในป่าของอินเดียนแดง เป็นนักงัดเซฟระดับเซียน นักเล่นดนตรีแซมบ้า (samba) มือรางวัล จับพลัดจับผลูกลายเป็นจิตกรแถวหน้าของอเมริกา ฯลฯ เรื่องราวน่าทึ่งทั้งหมดทำให้เราเห็นว่าฟายน์แมนช่างเป็นอัจฉริยะที่แหวกแนวและมีลูกบ้าอยู่เต็มเปี่ยม ทั้งนี้เพราะเขาเชื่อว่าถ้ามีความตั้งใจ เราสามารถทำอะไรก็ได้ และเราควรสนุกสนานกับชีวิต ฟายน์แมนใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า เขาได้เป็นทุกอย่างที่อยากเป็น ทำตามความฝันโดยไม่รีรอ ทั้งในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่ได้สร้างคุณูปการมากมาย เช่น เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์โครงการแมนฮัตตัน ริเริ่มแนวคิดเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี ตรวจสอบการระเบิดของกระสวยอวกาศชาแลนเจอร์ (Shuttle Orbiter Challenger) ได้รับรางวัลโนเบลจากการค้นคว้าเกี่ยวกับควอนตัม (quantum) อิเล็กโตรไดนามิกส์ (electrodynamics) ฯลฯ

ในฐานะครูที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้กับนักฟิสิกส์เก่งๆ มากมาย เขาพยายามแสดงให้ลูกศิษย์เห็นว่าการคิดนอกกรอบสำคัญกว่าการท่องจำในหน้ากระดาษ และการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคืออย่าเชื่อในสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายบอกว่าถูกต้อง เขาเขียนหนังสือคำบรรยาย (the Feynman Lectures on Physics) ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับอาจารย์ฟิสิกส์และนักศึกษาทั่วโลก เป็นนักอธิบายผู้ยิ่งใหญ่ สามารถทำให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่ายได้ นอกจากนี้ยังมีจิตวิญญาณความเป็นครูอยู่เต็มเปี่ยม เขาเคยบอกว่าการบรรยายหน้าชั้นเรียนคือสิ่งที่ทำให้เขามีความสุข

และในฐานะปุถุชนคนธรรมดา ฟายน์แมนเป็นคนมีน้ำใจในหมู่เพื่อนฝูง ชอบแบ่งปันความสุขให้กับคนรอบข้าง ทุกๆ ที่ที่เขาไปมักจะเกิดรอยยิ้มและเสียงหัวเราะตามมา ฟายน์แมนไม่เคยลืมตัวถือว่าเป็นนักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ตรงกันข้ามเขากลับไม่เคยคิดอยากได้รางวัลนี้ด้วยซ้ำ เพราะหลังจากได้รางวัล เขาคือคนที่ทั่วโลกจับตามอง บางครั้งจึงไม่อาจทำสิ่งที่ชื่นชอบ เช่น นั่งเล่นดนตรีกับวงข้างถนน เต้นรำในไนต์คลับ บรรยายตามโรงเรียน หรือทำอะไรบ้าๆ ได้เหมือนเดิม

หนังสือเล่มนี้สะท้อนความคิดและตัวตนของริชาร์ด ฟายน์แมน นักวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 เพียงคนเดียวที่ได้รับการจัดอันดับจากสำนักข่าว BBC ให้เป็น 1 ใน 10 นักฟิสิกส์ของโลกตลอดกาล เขาคือบุคคลที่ใครๆ สามารถเอาเป็นแบบอย่างได้ แม้ว่าคนคนนั้นจะไม่ใช่นักฟิสิกส์หรือชอบวิทยาศาสตร์เป็นชีวิตจิตใจก็ตาม

คำนำผู้บอกเล่าและเรียบเรียง

เรื่องราวทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องที่รวบรวมขึ้นอย่างไม่เป็นทางการในช่วงเจ็ดปีอันแสนสนุกที่ผมตีกลองกับริชาร์ด ฟายน์แมน ผมพบว่าแต่ละเรื่องต่างก็มีความสนุกแบบประหลาดๆ ในตัวเอง ซึ่งเมื่อรวบรวมเข้าด้วยกันแล้วน่าทึ่งทีเดียวกับการที่คนคนหนึ่งจะมีเรื่องบ้าๆ บอๆ เกิดขึ้นในชีวิตมากมายอย่างเหลือเชื่อ เป็นแรงบันดาลใจอย่างยิ่งที่คนคนหนึ่งจะทำเรื่องตลกร้ายกาจที่ไม่มีพิษมีภัยได้มากมายขนาดนี้ในชีวิต!

เรื่องราวของริชาร์ด ฟายน์แมนในอีกสิบปีต่อมาหลังจากที่ Surely You're Joking Mr. Feynman! ตีพิมพ์แล้วยังคงน่าสนใจอย่างยิ่ง ทำให้ผมนึกถึงประโยคที่เขาชอบพูดในช่วงสุดท้ายของชีวิตของเขาด้วยนัยน์ตาเป็นประกายว่า "ฉันยังไม่ตายเว้ย!"

เรื่องสำคัญของริชาร์ด ฟายน์แมน (Titals)

ความจริงบางอย่างในช่วงชีวิตของผม ผมเกิดในปี 1918 ในเมืองเล็กๆ ชื่อฟาร์ร็อคอะเวย์ (Far Rockaway) ชานเมืองนิวยอร์ก (New York) ติดกับทะเล ผมอยู่ที่นี่ถึงอายุสิบเจ็ด ในปี 1935 จากนั้นไปเรียนต่อที่สถาบันเอ็มไอทีอยู่สี่ปี ก่อนจะไปต่อที่พรินซตันราวปี 1939 ช่วงที่อยู่ที่พรินซตันผมได้เริ่มทำงานกับโครงการแมนฮัตตันซึ่งนำผมไปยังลอสอลาโมส (Los Alamos) ในเดือนเมษายน 1943 จากนั้นจึงไปที่คอร์แนลในราวเดือนตุลาคมหรือพฤจิกายน 1946 ผมแต่งงานกับอาร์ลีน (Arlene) ในปี 1941 เธอเสียชีวิตด้วยวัณโรคขณะผมอยู่ที่ลอสอลาโมสในปี 1946 ผมอยู่ที่คอร์แนลถึงราวปี 1951 ไปเยือนบราซิลในฤดูร้อนปี 1949 และอยู่ที่นั่นครึ่งปีในปี 1951 จากนั้นก็ไปแคลเทคซึ่งผมอยู่ยาวถึงตอนนี้ ผมไปญี่ปุ่นราวสองสัปดาห์ตอนปลายปี 1951 และได้กลับไปอีกครั้งในอีกหนึ่งหรือสองปีต่อมาหลังจากที่แต่งงานกับแมรี่ ลู (Mary Lou) ภรรยาคนที่สองของผม ตอนนี้ผมแต่งงานกับกวินเน็ธ (Gweneth) ซึ่งเป็นคนอังกฤษ มีลูกสองคนคือ คาร์ล (Carl) และมิเชล (Michelle)

คำนำเสนอ (Introduction by Albert R. Hibbs)

ผมหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะไม่ใช่บันทึกความทรงจำเล่มเดียวเกี่ยวกับริชาร์ด ฟายน์แมน แน่นอนว่าเรื่องราวต่างๆ ในนี้จะให้ภาพที่แท้จริงของเขาได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นความคลั่งไคล้ในการแก้ปริศนา ความทะเล้น เจ้าเล่ห์แสนกล การที่เขาทนไม่ได้กับความเสแสร้งหรือพวกมือถือสากปากถือศีล และพรสวรรค์ในการเอาชนะใครก็ตามที่พยายามเอาชนะเขา! นี่คือหนังสือที่สนุกที่สุด ทั้งบ้าบอ เหลือเชื่อ แต่อบอุ่น และมีความเป็นมนุษย์อย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเปลือกของสิ่งที่สำคัญยิ่งในชีวิตของฟายน์แมนคือ-วิทยาศาสตร์เท่านั้น เราเห็นชีวิตของเขาจากตรงนั้นตรงนี้ในฐานะพื้นหลังของภาพรวม แต่ไม่เคยลึกซึ้งลงไปยังตัวตนของเขาอย่างที่ลูกศิษย์หลายรุ่นและเพื่อนร่วมงานของเขาได้เห็น ไม่มีอะไรอื่นที่เป็นไปได้ บางทีอาจไม่มีวิธีใดที่จะปะติดปะต่อเรื่องราวน่าทึ่งในชีวิตและงานของเขาได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นความท้าทายและความสับสน ความตื่นเต้นที่ได้ค้นพบ ความยินดีเมื่อได้เข้าใจในวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขในชีวิตของเขา

ผมยังจะตอนที่ผมเดินเข้าไปในชั้นบรรยายขณะที่ผมเป็นลูกศิษย์ของเขาได้ดี เขาจะยืนอยู่หน้าห้อง ยิ้มให้พวกเราทุกคนที่เดินเข้ามา เคาะนิ้วรัวพนักม้านั่งยาวขนานไปกับห้องเป็นจังหวะซับซ้อน หลังจากที่พวกมาสายนั่งลงแล้ว เขาจึงหยิบชอล์กขึ้นควงแบบเดียวกับที่นักพนันมืออาชีพควงเบี้ย ยังคงยิ้มอย่างมีความสุขราวกับมีเรื่องสนุกที่ไม่มีใครรู้ในหัว จากนั้นขณะที่ปากยังยิ้มอยู่ เขาก็จะเริ่มพูดถึงฟิสิกส์ ผัง และสมการต่างๆ เพื่อแบ่งปันความรู้ของเขากับพวกเรา สิ่งที่ทำให้เขายิ้มแววตาเป็นประกาย ไม่ใช่เรื่องตลกที่ไม่มีใครรู้ แต่คือฟิสิกส์ คือความสนุกของฟิสิกส์! และความสนุกนั้นได้ระบาดมาถึงพวกเรา พวกเราโชคดีมากที่ติดเชื้อนี้ และตอนนี้เป็นโอกาสของคุณแล้วที่จะได้รับรู้ถึงความสนุกของชีวิตในแบบของริชาร์ด ฟายน์แมน

*อัลเบิร์ต ฮิบส์ (Albert Roach "Al" Hibbs: 1924-2003) นักวิทยาศาสตร์อาวุโส สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology: CalTech)

คำนำผู้แปล

ริชาร์ด ฟายน์แมน ซ่อมวิทยุโดยการคิดเมื่อเป็นเด็ก คุยและด่าภาษาอิตาเลียนโดยที่ไม่เคยเรียน เขาใช้เวลาว่างดูมดเดิน ฝึกดมกลิ่นแบบสุนัข หาวิธีจีบผู้หญิง ฝึกงัดตู้เซฟ ถอดจารึกของชาวมายา เขามีความคิดแปลกประหลาด เพื่อนของเขาไม่เชื่อเขาเพราะชอบอำและชอบแกล้งคน ส่วนจิตแพทย์ลงความเห็นว่าเขาบ้า

"ฟายน์แมน อัจฉริยะโลกฟิสิกส์" เรื่องราวเหตุการณ์ที่สนุกสนานของริชาร์ด ฟายน์แมน อัจฉริยะที่ปราดเปรื่อง ซื่อสัตย์ บ้าบอ ขี้เล่น และน่าทึ่ง เขาจะนำคุณเข้าไปสัมผัสไม่เพียงแต่โลกฟิสิกส์หรือโลกมหาวิทยาลัยที่ชุมนุมของนักวิทยาศาสตร์ที่ปราดเปรื่องที่สุดเท่านั้น แต่ยังก้าวเข้าไปในโลกของดนตรีแซมบ้า โลกศิลปะ โลกกลางคืนในบาร์ท็อปเลสท่ามกลางโสเภณีและนักเที่ยว โลกหลากหลายที่ความอยากรู้ อยากเห็น ความท้าทายนำเขาไป ซึ่งหลังจากที่อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว คุณคงอยากพูดทำนองเดียวกับชื่อภาษาอังกฤษของหนังสือเล่มนี้ว่า Surely You're Joking Mr. Feynman! หรือ "พูดเป็นเล่นน่ะ, คุณฟายน์แมน"

คำชมสำหรับ Surely You're Joking Mr. Feynman! หนังสือติดอันดับขายดี

"ปฏิกิริยาลูกโซ่ คือคำพูดเปรียบเทียบที่ไม่เลวสำหรับชีวิตของฟายน์แมน จากก้อนสีเทาๆ ดูอันตรายที่ระเบิดออกทุกทิศทาง ก่อให้เกิดทั้งความร้อนและแสงสว่าง" - ไทมส์ (Time)

"ความปราดเปรื่องและความบ้าของฟายน์แมนคือตำนานในหมู่เพื่อนฝูงผู้ร่วมงานของเขา เป็นเรื่องยากที่คุณจะไม่ยิ้มขณะที่อ่านหนังสือเล่มนี้" - นิวสวีก (Newsweek)

"ฮากลิ้ง สนุก ฟายน์แมนใช้ภาษาที่ตรงไปตรงมา เต็มไปด้วยชีวิตชีวา เป็นเรื่องราวที่กระชุ่มกระชวยจริง" - ชิคาโก ซัน-ไทมส์ (Chicago Sun-Times)

"ถ้าคุณคือพวกที่คิดว่าคงหาเรื่องสนุกได้ยากในวงการฟิสิกส์ หรือในหมู่นักฟิสิกส์ คุณจะต้องเจอกับฟายน์แมน หนึ่งในคนที่ตลกที่สุดที่เล่นกับอะตอม" - เอพี (Associated Press)

"ถ้าจะมีหนังสือเล่มไหนที่สามารถเปลี่ยนความคิดเดิมๆ ว่านักวิทยาศาสตร์เป็นพวกที่น่าเบื่อหน่าย ก็คงจะเป็นเล่มนี้แหล่ะ" - ดีทรอยต์ ฟรี เพรส (Detroit Free Press)

"นี่คือหนังสือที่ดึงดูดใจ ทำให้เราไม่ใช่แค่อยากอ่านเท่านั้น แต่ยังอยากทุ่มเทชีวิตให้กับการอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก หนังสือเล่มนี้ก็เหมือนกับกระดาษลิตมัสที่ใช้ทดสอบอารมณ์ ใครอ่านแล้วไม่ระเบิดเสียงหัวเราะก็บ้าเต็มที" - ลองแองเจลิส ไทมส์ บุ๊ก รีวิว (Los Angeles Times Book Review)

"ฟายน์แมนเป็นนักเล่าเรื่องตามขนบของมาร์ก ทเวน เขาพิสูจน์อีกครั้งว่าการระเบิดเสียงหัวเราะและเกาหัวไปด้วยในเวลาเดียวกันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้" - นิวยอร์ก ไทมส์ บุ๊ก รีวิว (New York Times Book Review)

"หนึ่งในหนังสือวิทยาศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในยุคของเรา หนังสือติดอันดับขายดี เต็มไปด้วยชีวิตชีวา เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยและชีวิตของฟายน์แมนจะทำให้คุณอยากเป็นนักฟิสิกส์เลยทีเดียว" - ไซเอน ไดเจสต์ (Science Digest)

[con·tin·ue]

ภาคที่ 1 จากฟาร์ร็อคอะเวย์สู่เอ็มไอที (From Far Rockaway to MIT)

บทที่ 1 เจ้าเด็กนั่นซ่อมวิทยุด้วยการคิด (He Fixes Radios by Thinking!)

บทที่ 2 ถั่วแขก (String Beans)

บทที่ 3 ใครขโมยประตู? (Who Stole the Door!)

บทที่ 4 ลาตินหรืออิตาลี? (Latin or Italian?)

บทที่ 5 พยายามหนีตลอด (Always Trying to Escape)

บทที่ 6 หัวหน้าแผนกวิจัยเคมีแห่งเมทาพลาสท์ คอร์เปอเรชั่น (The Chief Research Chemist of the Metaplast Corporation)

ภาคที่ 2 ชีวิตในพรินซตัน (The Princeton Years)

บทที่ 7 พูดเล่นน่ะ คุณฟายน์แมน! (Surely You're Joking, Mr. Feynman!)

บทที่ 8 โผม มมมมมมมม คร้าบ บ บ บ บ บ! (Meeeeeeeeeee!)

บทที่ 9 ผังแมว? (A Map of the Cat?)

บทที่ 10 โคตรอัจฉริยะ (Monster Minds)

บทที่ 11 ผสมสี (Mixing Paints)

บทที่ 12 เครื่องมือคนละกล่อง (A Different Box of Tools)

บทที่ 13 นักอ่านใจ (Mindreaders)

บทที่ 14 นักวิทยาศาสตร์สมัครเล่น (The Amateur Scientist)

ภาคที่ 3 ฟายน์แมน ระเบิดปรมาณู และกองทัพ (Feynman, the Bomb, and the Military)

บทที่ 15 ชนวนที่จุดไม่ติด (Fizzled Fuses)

บทที่ 16 การทดลองกับสุนัขล่าเนื้อ (Testing Bloodhounds)

บทที่ 17 ลอสอลาโมสจากข้างล่าง (Los Alamos from Below)

บทที่ 18 นักแงะปะทะนักงัด (Safecracker Meets Safecracker)

บทที่ 19 ลุงแซมไม่ต้องการนาย! (Uncle Sam Doesn't Need You)

ภาคที่ 4 จากคอร์แนล สู่แคลเทค แซมด้วยบราซิล (From Cornell to CalTech, with a Touch of Brazil)

บทที่ 20 อาจารย์ผู้ทรงเกียรติ (The Dignified Professor)

บทที่ 21 มีปัญหาไรมะ? (Any Questions?)

บทที่ 22 ผมจะเอาหนึ่งเหรียญของผม! (I Want My Dollar! You)

บทที่ 23 ก็แค่ถามจริงๆ (You Just Ask Them?)

บทที่ 24 เลขนำโชค (Lucky Numbers)

บทที่ 25 ไอ้กันนั่นอีกแล้ว! (O Americano, Outra Vez!)

บทที่ 26 ชายร้อยลิ้น (Man of a Thousand Tongues)

บทที่ 27 ขอรับ คุณจอห์น! (Certainly, Mr. Big!)

บทที่ 28 ข้อเสนอที่คุณต้องปฏิเสธ (An Offer You Must Refuse)

ภาคที่ 5 โลกของนักฟิสิกส์คนหนึ่ง (The World of One Physicist)

บทที่ 29 ช่วยแก้สมการดิแรคให้หน่อย? (Would You Solve the Dirac Equation?)

บทที่ 30 คำตอบ 7 เปอร์เซ็นต์ (The 7 Percent Solution)

บทที่ 31 สิบสามหน (Thirteen Times)

บทที่ 32 มันฟังประหลาดสำหรับผม! (It Sounds Greek to Me!)

บทที่ 33 ศิลปะหรือนั่น! (But Is It Art?)

บทที่ 34 ไฟฟ้าเป็นไฟหรือเปล่า? (Is Electricity Fire?)

บทที่ 35 ตัดสินหนังสือจากปก (Judging Books by Their Covers)

บทที่ 36 ความผิดพลาดอีกข้อของอัลเฟรด โนเบล (Alfred Nobel's Other Mistake)

บทที่ 37 นำวัฒนธรรมมาสู่เหล่านักฟิสิกส์ (Bringing Culture to the Physicists)

บทที่ 38 การค้นพบที่ปารีส (Found Out in Paris)

บทที่ 39 สภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลง (Altered States)

บทที่ 40 วิทยาศาสตร์แบบลัทธิบูชาเครื่องบินคาร์โก้ (Cargo Cult Science)

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page