ฟายน์แมน อัจฉริยะอารมณ์ดี (What Do You Care What Other People Think?: Further Adventures of a Curiou
ฟายน์แมน อัจฉริยะอารมณ์ดี
แปลจาก What Do You Care What Other People Think?: Further Adventures of a Curious Character (1988)
เขียนโดย Richard Phillips Feynman เรียบเรียงโดย Ralph Leighton แปลโดยนรา สุภัคโรจน์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง เมษายน 2553 (พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2553) จำนวน 312 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740204992
เรื่องเล่าชวนหัว บวกความขี้เล่น คูณความเก๋า เท่ากับข้อคิดดีๆ ที่สร้างรอยยิ้ม
ในหนังสือ Surely You're Joking Mr. Feynman (ฟายแมนย์ อัจฉริยะโลกฟิสิกส์) ริชาร์ด ฟายน์แมน พาผู้อ่านเข้าไปสัมผัสกับความสนุกของชีวิต ทำให้เรามองโลกได้มากกว่า 3 มิติ และชี้ชวนให้เราเห็นว่าโลกใบนี้ยังมีสิ่งที่ต้องค้นหาอีกมากมาย บรรดาผู้คนที่รู้จักชายผู้นี้ไม่ได้ชื่นชมเขาเพียงเพราะเป็นนักฟิสิกส์รางวัลโนเบล เป็นครูที่สอนหนังสือสนุก เป็นจิตรกรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นนักดนตรีทีมีพรสวรรค์ หรือเป็นนักฟิสิกส์ที่สร้างคุณูปการมากมายให้กับแวดวงวิทยาศาสตร์ แต่ทุกคนชื่นชอบฟายน์แมนเพราะความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งเป็นแรงขับดันให้เขามีความกระตือรือร้นที่จะทำตามความฝันและมุ่งมั่นสร้างความสุขให้คนรอบข้าง
สำหรับ What Do You Care What Other People Think? (ฟายน์แมน อัจฉริยะอารมณ์ดี) เล่มนี้ ฟายน์แมนในวัยใกล้เกษียณเล่าที่มาที่ไปซึ่งทำให้เขาสนใจวิทยาศาสตร์และการผจญภัยในระหว่างที่เป็นคณะกรรมการตรวจสอบปัญหาของกระสวยอวกาศชาลเลนเจอร์ แม้เขาจะไม่ใช่คนหนุ่มที่มีพลังงานเหลือเฟือเหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่การมองโลกในแง่ดี ความขี้เล่น และความสนุกสนานก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลงตามวัยที่เพิ่มขึ้น เขายังเป็นฟายน์แมนนักอำ ตาลุงขี้สงสัย หรือครูผู้มีกลเม็ดเด็ดพรายในการสอนเหมือนเดิม สำหรับผู้ที่ได้อ่าน "ฟายน์แมน อัจฉริยะโลกฟิสิกส์" มาแล้ว หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังภาคต่อเรื่องเยี่ยม และตัวละครที่คุณรักนั้นก็ยังสร้างความสุขและเสียงหัวเราะได้เช่นเคย
คำนำสำนักพิมพ์
หลังจากสำนักพิมพ์มติชนตีพิมพ์ "ฟายแมนย์ อัจฉริยะโลกฟิสิกส์" ซึ่งเป็นเรื่องเล่าสนุกๆ ของฟายน์แมน นักฟิสิกส์ผู้มีความหลักแหลมและโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 เมื่อปี 2551 ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้อ่าน จนเกิดกระแสปากต่อปากต่อกันไป สิ่งที่ทำให้บรรดาผู้อ่านชื่นชอบหนังสือเล่มนี้เห็นจะเป็นความเป็นคนมองโลกในแง่ดีและมีอารมณ์ขันของเขา อีกทั้งเรื่องราวการผจญภัยของเขาล้วนแต่สนุกและน่าตื่นเต้น ที่สำคัญปัญหาบางอย่างซึ่งเขาต้องเข้าไปไขคำตอบนั้นกระตุกต่อมคิดของเราได้เป็นอย่างดี ถึงกับมีใครหลายคนบอกว่าอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วอยากกลับไปเรียนฟิสิกส์ใหม่ ไม่ใช่เพราะเพิ่งรู้คุณค่าของวิชาฟิสิกส์แต่อย่างใด แต่เป็นเพราะเขาทำให้เรารู้สึกว่าฟิสิกส์เป็นศาสตร์ที่มีแง่งามและความสนุกซ่อนอยู่มากมาย สามารถเอามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้
เรื่องราวของฟายน์แมนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านทั่วโลก ใช่เพียงการดำเนินชีวิตในฐานะนักฟิสิกส์อัจฉริยะหรือนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลเท่านั้นที่ทำให้เราชื่นชมชายผู้นี้ แต่เป็นเพราะตัวตนอีกหลายด้านซึ่งบ่งบอกถึงการเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทจิตรกรผู้ต้องการนำเสนอความงามของสิ่งต่างๆ ออกมาเป็นรูปธรรม นักดนตรีผู้สนใจเพียงแค่จังหวะและความสุขของผู้ฟังเท่านั้น นักสืบจำเป็นผู้มักจะมีแนวคิดในการมองปัญหาต่างจากผู้อื่นอยู่เสมอ
ครั้งหนึ่งมีนักข่าวโทรศัพท์มาสัมภาษณ์ฟายน์แมนเรื่องการตีกลอง นักข่าวผู้นั้นทำราวกับว่านี่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกและพิลึกพิลั่นเสียเต็มประดา เขาตอบคำถามและตบท้ายด้วยประโยคเรียบง่ายว่า "ไปลงนรกเถอะ" เพราะเขารู้สึกว่าคำถามของนักข่าวผู้นี้ช่างไร้สาระเหลือเกิน การที่ใครสักคนจะตีกลองในขณะที่เป็นนักฟิสิกส์โด่งดังนั้นไม่เห็นแปลกตรงไหน เพราะมนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมเสรีภาพในการเลือกทำหรือเลือกเป็นอะไรก็ได้ เขาทำให้เราเห็นว่า ไม่ว่าจะทำอะไร ขอแค่ทำแล้วมีความสุขและไม่เดือดร้อนกับคนรอบข้าง ก็จงลงมือทำ อย่าได้ปล่อยให้เวลาเสียเปล่าไปโดยมัวแต่นั่งคิดว่าฉันไม่เหมาะกับสิ่งนั้น ฉันจะทำได้ไม่ดี หรือนี่คือสิ่งที่ขัดแย้งกับภาพลักษณ์ของฉันเหลือเกิน
ดังนั้นในปี 2553 สำนักพิมพ์มติชนจึงตั้งใจนำเสนอ "ฟายน์แมน อัจฉริยะอารมณ์ดี (What Do You Care What Other People Think?) เรื่องเล่าในช่วงชีวิตต่อมาของฟายน์แมนออกสู่สายตาผู้อ่านอีกครั้ง ในหนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก เขาบอกเล่าว่าใครเป็นคนปลูกฝังความช่างสังเกต ช่างคิด และการเป็นนักปฏิบัติให้เขา อีกทั้งยังขยายเรื่องราวความรักของเขากับอาร์ลีน ภรรยาคนแรก ซึ่งคำพูดของเธอเป็นที่มาของชื่อหนังสือเล่มนี้ รวมทั้งเรื่องมันส์ๆ ซึ่งเขาพบเจอในการสอนนักศึกษาและการเดินทางไปบรรยายตามที่ต่างๆ ส่วนที่สองเป็นจดหมายที่เขาเขียนโต้ตอบกับภรรยาและเพื่อนฝูง รวมทั้งผลงานภาพเขียนซึ่งเขาเคยนำออกจัดแสดง และในส่วนสุดท้าย เขาในวัย 68 ปี จะพาเราไปผจญภัยกับการไขปริศนาการระเบิดของกระสวยอวกาศชาลเลนเจอร์ เช่นเดียวกับที่เขาเคยพาเราตะลุยไปในฐานปฏิบัติการลอสอลาโมส (สร้างระเบิดปรมาณู) เมื่อครั้งยังเป็นนักฟิสิกส์หนุ่มไฟแรง
แม้ว่าในหนังสือเล่มนี้ เขาจะไม่ได้ใช้ชีวิตโลดโผนเหมือนตอนยังหนุ่มและแข็งแรงกว่านี้ ทว่าความเป็นคนมองโลกในแง่ดีและสนุกสนานกับการใช้ชีวิตนั้นไม่ได้ลดลงตามวัยที่เพิ่มขึ้นเลย เขายังคงชอบทดลอง ตั้งคำถาม และคิดนอกกรอบอยู่เสมอ แม้ว่าในตอนที่เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ (อัดใส่เทป) จะป่วยด้วยโรคมะเร็งมากว่า 10 ปีแล้ว ทั้งยังต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำ แต่เขาไม่เคยแสดงความท้อแท้หรือหมดหวังกับชีวิตเลย เขายังคงมีความสุขกับสิ่งที่เป็น ตื่นเต้นกับการเตรียมบรรยายให้นักศึกษาฟัง และพร้อมที่จะออกไปท่องโลกอยู่เสมอ ในหนังสือเล่มนี้เราจะได้เห็นฟายน์แมนผู้ตกผลึกทางความคิด เขาแสดงให้เราเห็นว่าการได้เกิดมาบนโลกใบนี้และได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่านั้นถือเป็นกำไรมากเพียงใด และแม้ในนาทีสุดท้ายของชีวิต เขาก็ยังทำใจและยิ้มรับมัน
"ฟายน์แมน อัจฉริยะอารมณ์ดี" ฉบับภาษาอังกฤษตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนตุลาคม 1988 หลังจากฟายน์แมนเสียชีวิตไปแล้ว 8 เดือน การจากไปครั้งนี้สร้างความโศกเศร้าต่อผู้คนที่รู้จักและชื่นชมชายผู้นี้อย่างมาก ถึงขนาดที่ว่านักศึกษาแคลเทคนำป้ายไว้อาลัย "We Love You Dick!" (ดิ๊กเป็นชื่อเล่นของฟายน์แมน) ขึ้นไปแขวนไว้บนตึกหอสมุดมิลิกัน (Millikan Library) ตึกสูงที่สุดในแคลเทคยุคนั้น ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับอาจารย์คนอื่นที่เสียชีวิตเลย เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เห็นว่าฟายน์แมนเป็นที่รักของคนทุกเพศทุกวัยซึ่งมีโอกาสได้รู้จักเขา เพราะความเป็นคนอารมณ์ดีของฟายน์แมนแผ่กระจายไปในทุกๆ ที่ที่เขามีส่วนร่วม
แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะไม่ได้กล่าวถึงเรื่องราวของฟายน์แมนจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะนี่เป็นบันทึกความทรงจำที่ฟายน์แมนเป็นคนบอกเล่าเอง ไม่ใช่หนังสืออัตชีวประวัติที่จะมีเรื่องราวของบุคคลนั้นตั้งแต่ต้นจนจบ ทว่าสิ่งสำคัญที่คนอ่านจะได้รับจากหนังสือเล่มนี้ก็คือการใช้ชีวิตที่เหลือทุกนาทีอย่างมีความสุข อย่าหยุดคิด หรือหยุดตั้งคำถาม เพราะทั้งสามสิ่งนี้คือหลักฐานยืนยันว่าเรายังมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราจะเลวร้ายหรือจะทำให้เราเหนื่อยยากสักเพียงใดก็ตาม
สำนักพิมพ์มติชนหวังว่าหนังสือ "ฟายน์แมน อัจฉริยะโลกฟิสิกส์" และ "ฟายน์แมน อัจฉริยะอารมณ์ดี" เล่มนี้จะเป็นหนึ่งในคู่มือการใช้ชีวิตที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านอยากวิ่งออกไปตามฝัน ทำทุกวันให้มีความสุขและมองโลกอย่างมีความหวังตลอดไป
คำนำผู้แปล
อีกครั้งกับฟายน์แมน อัจฉริยะผู้มีอารมณ์ขัน ความคิดประหลาดเต็มไปด้วยไฟ และซื่อสัตย์ซื่อตรงต่อความจริงที่สุด ผู้แปลหวังว่าเรื่องราวของศาสตราจารย์ริชาร์ด ฟายน์แมน จะทิ้งความทรงจำที่สดใส เป็นอนันต์ในใจของทุกคน เหมือนเช่นผู้ที่ได้รู้จักคนหนึ่งได้เขียนถึงเขาไว้ และหวังเฉพาะอย่างยิ่งว่าน้องๆ ที่มีหัวใจนักวิทยาศาสตร์ทุกคนจะได้รับความสนุกสนานและแรงบันดาลใจในการค้นคว้าหาความจริงต่อไป
จดหมายถึงฟายน์แมน โดยโตมร ศุขปรีชา
ริชาร์ดครับ ถ้าวันนั้นผมไม่ได้หยิบหนังสือชื่อตรงไปตรงมาว่า What Do You Care What Other People Think? จากร้านหนังสือมือสองบนถนนท่าแพที่เชียงใหม่ขึ้นมาอ่าน ผมก็คงไม่รู้หรอกว่านี่คือหนังสือของคุณ ไม่ใช่ว่าผมไม่รู้จักคุณนะครับ แต่ครั้งใดก็ตามที่ได้ยินชื่อของคุณริชาร์ด ฟายน์แมน ผมเป็นต้องได้รับรู้เฉพาะเรื่องราวความเป็นอัจฉริยะของคุณ นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ผู้ได้รับการยกย่องว่ามีอัจฉริยภาพและบุคลิกน่านิยมยกย่องไม่แพ้ไอน์สไตน์ งานที่สร้างชื่อให้คุณเป็นงานเกี่ยวข้องกับควอนตัมฟิสิกส์ งานว่าด้วยควาร์กและซูเปอร์ฟลูอิดิตี้ รวมถึงการเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับแรงนิวเคลียร์แบบอ่อนอันเป็นงานที่ทำให้คุณได้รับรางวัลโนเบล
จะว่าไป ถึงจะอยู่ฟากตรงข้ามกับไอน์สไตน์ (ทฤษฎีสัมพัทธภาพกับทฤษฎีควอนตัมนั้นคล้ายเป็นขั้วตรงข้ามของสิ่งเดียวกัน) แต่คุณก็ทำงานคล้ายๆ ไอน์สไตน์เหมือนกันใช่ไหมครับ เพราะหลังเรียนจบจาก MIT คุณก็เข้าร่วมอยู่ในโครงการแมนฮัตตัน โครงการที่พัฒนาและผลิตระเบิดปรมาณู ตอนนั้นเป็นช่วงสงคราม ทุกอย่างจึงยากลำบากอย่างไม่น่าเชื่อ ว่ากันว่าในการทดสอบระเบิดปรมาณูครั้งหนึ่ง คุณเป็นคนเดียวที่มองการระเบิดด้วยตาเปล่า ไม่ได้ใส่แว่นตา โดยมองผ่านกระจกรถที่มีการกันรังสีอุลตร้าไวโอเล็ตแล้วเพื่อไม่ให้เกิดอันตราย แต่กระนั้นก็ยังไม่ใคร่มีใครกล้ามองระเบิดปรมาณูด้วยตาเปล่าอยู่ดี นั่นเป็นเรื่องที่แสดงความกล้าหาญของคุณ แต่ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ยืนยันถึงไหวพริบของคุณ เปล่าครับ-ไม่ใช่ไหวพริบในเรื่องทางฟิสิกส์หรือการทดลองใดๆ ทั้งนั้น ทว่าเป็นไหวพริบในการสังเกตโลกและความเปลี่ยนแปลงของมัน กระทั่งสามารถเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างถูกต้อง
ในปี 1978 เมื่อคุณย้ายมาอยู่ที่อัลทาดีนาแล้ว ปรากฏว่าบริเวณบ้านของคุณเกิดไฟไหม้ใหญ่ เป็นไฟไหม้ป่าบนเขาครั้งมโหฬาร แต่โชคดีที่บ้านของคุณไม่เป็นอะไร ปรากฏว่าหลังจากเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น สิ่งที่คุณทำกลับเป็นการซื้อประกันวินาศภัยจากน้ำท่วม หลายคนสงสัยและไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรคุณถึงทำอย่างนั้น บางคนมองว่าคุณบ้าเสียด้วยซ้ำ แต่แล้วในปีรุ่งขึ้นก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นในเมืองที่คุณอยู่ หลายคนจึงได้รับรู้เหตุผลของคุณ ทั้งที่แต่เดิมไม่เคยฟังว่าเมื่อเกิดไฟไหม้ป่าแล้ว คุณเชื่อว่าต้นไม้ที่ถูกทำลายไปจะไม่ยึดเกาะดินเอาไว้ดังเดิม เมื่อหน้าหนาวมาถึง หิมะจะตกลงทับถม ครั้นเมื่อถึงหน้าร้อน หิมะจะละลาย และคุณเห็นแล้วว่าน่าจะเป็นปัจจัยก่อให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มขึ้นได้ แล้วทุกอย่างก็เกิดขึ้นอย่างที่คุณคาดจริงๆ ทั้งยังทำลายบ้านในย่านนั้นไปหลายหลังอีกด้วย บ้านคุณไม่เสียหายและการคาดการณ์ของคุณก็ได้รับการยอมรับในที่สุด
ผมได้ยินแต่เรื่องความเฉลียวฉลาดของคุณและได้ยินแต่ว่านอกจากฉลาดเฉลียวแล้ว คุณยังมีอารมณ์ขันเหลือเฟืออีกด้วย ทว่าผมกลับไม่เคยรับรู้ถึงแง่มุมอ่อนโยนที่ซ่อนอยู่ในหัวใจของคุณเลย ว่ากันว่าครั้งหนึ่งคุณเคยเขียนถึงเพื่อนคนหนึ่งที่ลูกชายของเธอเอาแต่จะสอนฟิสิกส์ให้เธอ โดยบอกว่าฟิสิกส์นั้นเป็นเรื่องสำคัญ คุณเขียนไปบอกเพื่อนคนนั้นว่าไม่ต้องสนใจฟิสิกส์หรอก เพราะฟิสิกส์ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด ความรักต่างหากคือสิ่งสำคัญที่สุด เมื่อนักฟิสิกส์บอกว่าฟิสิกส์ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด ผมคิดว่าเขากำลังพูดความจริง และคุณพูดความจริงข้อนี้ได้คงเป็นเพราะคุณเติบโตมากับความรักนั่นเอง ที่จริงผมไม่รู้หรอกครับว่าคุณเติบโตมากับความรักมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ก็อย่างที่บอก ประวัติของคุณล้วนแล้วแต่เขียนถึงผลงาน เกียรติภูมิ และเรื่องยิ่งใหญ่ที่คุณทำในชีวิต แต่จะมีใครรู้จักตัวคุณดีไปกว่าตัวคุณเองอีกเล่า
ผมชอบชื่อหนังสือ What Do You Care What Other People Think? มากเหลือเกิน แรกทีเดียวผมคิดว่ามันเป็นหนังสือที่ไม่ยี่หระกับผู้คน หยิ่งผยอง และพร้อมจะก้าวออกไปจากสังคมงี่เง่าที่ไม่ยอมรับความแตกต่าง แต่ก็อีกนั่นแหละ-ผมคิดผิด แท้จริงแล้วหนังสือชื่อมาดมั่นเล่มนี้กลับเป็นหนังสือที่พูดถึงความรักอันรายล้อมอยู่รอบตัวคุณ มันเป็นบันทึกความทรงจำที่คุณเขียนขึ้นและตีพิมพ์ออกมาในปีที่คุณจากไป
ริชาร์ดครับ ผมจำไม่ได้หรอกว่าปี 1988 ผมทำอะไรอยู่ที่ไหน แต่ที่แน่ๆ ปีนั้นผมยังไม่รู้จักคุณและไม่รู้จักความยิ่งใหญ่ของคุณ ทว่าปี 2005 นอกจากผมจะรู้จักชื่อเสียงของคุณแล้ว ผมยังได้รู้จักหนังสือเล่มนี้และรู้จักลึกลงไปถึงมุมเล็กๆ ในความทรงจำของคุณด้วย พ่อของคุณ แม่ของคุณ และอาร์ลีน-คนที่คุณรัก ทุกคนล้วนจากไปล่วงหน้า ก่อนคุณเกิด พ่อของคุณบอกแม่ว่าถ้าลูกคนนี้เป็นผู้ชายเขาจะเติบโตไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ ในยุคสมัยนั้นการเป็นนักวิทยาศาสตร์ยังจำกัดอยู่เฉพาะเพศชาย ไม่มีใครคิดว่าผู้หญิงจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้ และเมื่อคุณเกิดมา พ่อของคุณก็ได้สร้างให้คุณเป็นนักวิทยาศาสตร์จริงๆ ไม่ใช่ด้วยการติวเข้มกวดวิชา ทว่าด้วยการใช้ชีวิตและมองโลก ผมชอบชีวิตของคุณ แต่เอาเข้าจริงแล้วผมชอบวิธีการของพ่อคุณมากกว่า พ่อของคุณเป็นคนสร้างให้คุณเป็นนักวิทยาศาสตร์โดยแท้ วิธีการที่พ่อสอนคุณนั้นเรียบง่ายแต่ยิ่งใหญ่ คุณจะนั่งอยู่บนตักพ่อ อ่านเอ็นไซโคลปีเดียบริแทนนิกาด้วยกัน แล้วพ่อก็จะอ่านให้คุณฟังว่าความสูงยี่สิบห้าฟุตของไดโนเสาร์นั้นสูงแค่ไหน "...ถ้ามันมายืนอยู่ในสนามหญ้าหน้าบ้านเรา มันก็จะสูงพอจนยื่นหัวเข้ามาในห้องนี้ได้ (เราอยู่บนชั้นสอง) แต่ยื่นเข้ามาไม่ได้หรอก เพราะหัวของมันใหญ่กว่าหน้าต่าง"
มันช่างน่าตื่นเต้นใช่ไหมครับริชาร์ด เมื่อเรายังเป็นเด็กชายตัวเล็กๆ แล้วมีใครสักคนบอกเราถึงเรื่องราวของโลกอันน่าตื่นเต้น พลางพยายามแสดงให้เราเห็นว่าความน่าตื่นเต้นนั้นเป็นอย่างไร ยิ่งใหญ่แค่ไหน พ่อของคุณไม่ได้สอนเฉพาะเรื่องวิทยาศาสตร์เท่านั้น ทว่ายังสอนวิธีมองโลกให้คุณด้วย ครั้งหนึ่งเมื่อไปเข้าค่าย พ่อของเด็กๆ คนอื่นสอนให้ลูกดูนกว่าเป็นนกชื่ออะไร เด็กคนหนึ่งพูดกับผมว่า "เห็นนกนั่นมั้ย มันนกอะไรน่ะ" ผมบอกว่า "ฉันไม่รู้เหมือนกันว่านั่นมันนกอะไร" เขาว่า "มันคือนกทรัชคอสีน้ำตาล พ่อของนายคงไม่ได้สอนอะไรนายเลยสินะ" แต่เรื่องกลับตรงกันข้าม เพราะพ่อของคุณได้สอนคุณแล้ว ไม่ได้สอนให้รู้ชื่อของนก แต่สอนสิ่งอื่น "เห็นนกนั่นไหม" พ่อพูด "มันคือนกสเปนเซอร์วาร์เบลอร์ (ผมรู้ว่าพ่อไม่รู้ชื่อจริงของนกหรอก) ในภาษาอิตาเลียนมันชื่อชุตโตลาปิตติดา ภาษาโปรตุเกสเรียกว่าบอมดาเปยดา ภาษาจีนเรียกว่าจงหลงถ่า ส่วนภาษาญี่ปุ่นเรียกว่าคาทาโนะเทเคดะ ลูกเรียนรู้ชื่อของนกในทุกภาษาได้ทั่วโลก แต่เสร็จแล้วลูกก็จะไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับนกตัวนั้น ลูกรู้เพียงว่าคนในที่ต่างๆ เรียกนกพวกนี้ว่าอะไรเท่านั้น เรามาดูกันดีกว่าว่ามันกำลังทำอะไรอยู่ นั่นต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญ" แล้วนับแต่นั้นคุณก็ได้เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างการ "รู้ชื่อ" ของอะไรบางสิ่ง กับการ "รู้จัก" อะไรบางสิ่งจริงๆ นั่นคือวิธีการที่พ่อสอนคุณ และนั่นอาจเป็นวิธีคิดที่ทำให้คุณได้รู้จักกับอาร์ลีน และรักเธอมาจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิตทั้งของเธอและของคุณ
อาร์ลีนเป็นสาวสวยประจำเมือง หนุ่มๆ จำนวนมากเพียรจีบเธอ และเธอก็มีทางเลือกมากมาย แต่ในที่สุดเธอก็เลือกคุณ เมื่อคุณสอนให้เธอรู้จักกับสายพานของโมเบียสหรือสายพานของเมอบิอุส ครูของอาร์ลีนสอนเธอว่าของทุกอย่างมีสองด้าน แต่ด้วยนิสัยชอบตั้งคำถาม คุณจึงตั้งคำถามแม้แต่กับข้อสรุปของครู และบอกอาร์ลีนว่าโลกนี้ยังมีสิ่งที่เรียกว่าสายพานของโมเบียสอยู่ด้วย และนั่นก็คือสิ่งที่ทำให้สิ่งที่มีสองด้านเหลือด้านเดียว และสิ่งที่มีด้านเดียวกลายเป็นสองด้าน ผมรู้จักสายพานของโมเบียสครั้งแรกจากนิยายเรื่อง "หลายรักของโดบี้" ตอนที่โดบี้แกล้งคนที่ต้องทาสีสายพานด้านเดียว เขาตัดสายพานแล้วพลิกปลายหนึ่งของสายพาน จากนั้นก็ต่อสายพานกลับเหมือนเดิม สายพานที่บิดเช่นนี้จะทำให้เราสามารถทาสีสายพานจากด้านเดียว แต่เสร็จแล้วกลายเป็นว่าสายพานเลอะสีทั้งสองด้าน
อาร์ลีนนำสายพานของเมอบิอุสไปโต้แย้งกับครูในชั้นเรียนจนประสบความสำเร็จ แล้วคุณก็คิดว่าสิ่งนั่นทำให้เธอเริ่มสนใจคุณ จะอย่างไรก็ตาม ในที่สุดคุณทั้งสองคนก็กลายเป็นคนรักกัน ชีวิตน่าจะราบรื่น เพราะเธอรักคุณ คุณก็รักเธอ คุณทั้งสองสัญญากันไว้ว่าจะไม่ปิดบังสิ่งใดจากกันและกันเลย พวกคุณจะไม่มีวันโกหกกันและกัน ไม่มีวัน แต่แล้ววันหนึ่งก็มีเรื่องที่ทำให้คุณต้องโกหกเธอ เมื่อคุณยังเรียนอยู่ที่ MIT อาร์ลีนพบว่าต่อมน้ำเหลืองที่คอของเธอโตขึ้น แรกทีเดียวไม่มีใครคิดว่านั่นเป็นโรคร้ายอะไร แต่แล้วเมื่ออาร์ลีนเข้าโรงพยาบาล อาการของเธอก็ทรุดหนักลงเรื่อยๆ ต่อมน้ำเหลืองหลายแห่งทั่วร่างกายของเธอบวมขึ้นและไม่มีหมอคนไหนบอกได้ว่าเธอเป็นอะไรกันแน่ คุณเข้าห้องสมุดและค้นหาอย่างบ้าคลั่งถึงอาการที่อาร์ลีนเป็น คล้ายกับพ่อแม่ในหนังเรื่อง Lorenzo's Oil อย่างไรอย่างนั้น คุณพบว่าอาร์ลีนอาจเป็นได้ร้อยแปด ตั้งแต่วัณโรคไปจนถึงโรคที่ร้ายกาจกว่าอย่าง ลิมโฟเดอเนอมา ลิมโฟเดอโนมา หรือโรคฮอดจ์กินส์ ซึ่งทั้งสามชื่อนี้เป็นโรคเดียวกัน แต่ถ้ารักษาไม่หายจะเรียกว่าลิมโฟเดอโนมา ถ้ารอดจะเรียกว่าลิมโฟเดอเนอมา อะไรอย่างนี้เป็นต้น อาการของอาร์ลีนย่ำแย่ลงเรื่อยๆ จนในที่สุด คุณก็บอกเธอว่า เธออาจเป็นโรคฮอดจ์กินส์ซึ่งเป็นโรคที่ไม่อาจรักษาให้หายได้ อาร์ลีนจึงถามแพทย์ แล้วแพทย์ (ผู้ไม่ค่อยจะรู้อะไรเลย) ก็บอกว่าน่าจะใช่ และถ้าใช่ เธอก็มีเวลามองโลกอีกเพียงสองสามปีเท่านั้น
ริชาร์ดครับ ผมไม่คิดเลยว่าคุณจะเด็ดเดี่ยวได้ขนาดนั้น คุณตัดสินใจแต่งงานกับเธอ และตัดสินใจละทิ้งอนาคตทั้งหมดไป ด้วยเหตุที่ MIT เป็นสถาบันการศึกษาขั้นสูงระดับท็อปของอเมริกา แต่ MIT มีกฎห้ามคนที่แต่งงานแล้วเข้าเรียน ทว่าคุณก็เลือกแล้วระหว่างอาร์ลีนกับ MIT คุณเลือกจะลาออก แล้วแต่งงานกับอาร์ลีน ถ้าในอีกไม่กี่วันถัดมา ผลการตรวจชิ้นเนื้อจะไม่ได้ออกมาบ่งชี้ว่าอาร์ลีนเป็นวัณโรค ไม่ได้เป็นโรคฮอดจ์กินส์ บางทีถึงวันนี้ผมอาจไม่รู้จักคุณ คุณอาจกลายเป็นตาแก่สักคน อาศัยอยู่ในบ้านชานเมืองที่ไหนสักแห่ง คอยค่ำครวญถึงผู้หญิงคนรักที่จากไปเมื่อนานนมมาแล้ว แต่เพราะหมอขอตัดชิ้นเนื้อที่คอของอาร์ลีนไปพิสูจน์อีกครั้ง ผลจึงออกมาให้คุณดีใจว่าเธอไม่ได้เป็นโรคร้ายอย่างฮอดจ์กินส์ ทว่าเป็นวัณโรค และแม้จะเป็นโรคร้ายแรงของสมัยนั้น แต่ก็ยืดเวลาที่คุณกับเธอจะอยู่ด้วยกันไปได้อีกนานพอสมควร อาจไม่ใช่หลายสิบปี ทว่าก็เพียงพอจะทำให้คุณกลับไปเรียนต่อให้จบก่อนที่จะกลับมาแต่งงานกับเธอ ด้วยเหตุนี้ ต่อมาโลกจึงได้รู้จักคุณ
ริชาร์ดครับ ฉากสุดท้ายของอาร์ลีนนั้นแสนเศร้า แต่เมื่อเล่าให้พวกเราฟัง คุณก็ยังไม่ลืมแทรกอารมณ์ขันเหมือนหนังตลกลงไปด้วย เพราะคุณต้องขับรถจากที่ทำงานในลอสอลาโมสไปอัลบูเคอร์คีที่ซึ่งอาร์ลีนอยู่ แต่รถเก่าๆ ในสมัยสงครามก็ช่างกระไร มันทำคุณยางแบนถึงสามครั้ง ในภาวะเร่งรีบเพื่อไปดูใจคนรักอย่างนั้น คุณคงร้อนใจนัก แต่ก็อีกนั่นแหละ มนุษย์จะทำอย่างไรได้กับโชคชะตา นอกจากหัวเราะใส่มัน อีกนานต่อมาในปี 1988 เมื่อถึงตาของคุณบ้าง มะเร็งและอาการแทรกซ้อนต่างๆ ทำให้คุณไม่ยอมให้หมอรักษาคุณต่อ แล้วคุณก็พูดกับโลกนี้เป็นประโยคสุดท้ายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ว่า "ผมไม่อยากตายสองครั้ง มันน่าเบื่อชะมัด"
ผมเขียนถึงคุณเพราะอยากบอกคุณว่า แม้ใครจะบอกว่าคุณเป็นเสือผู้หญิง เป็นหนึ่งในฆาตรกรผู้พัฒนาระเบิดปรมาณูที่ถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิ แต่ผมก็ได้เรียนรู้สิ่งที่เคยรู้มาแล้วจากชีวิตของคุณอีกครั้ง นั่นก็คือเรียนรู้ว่าความรักสำคัญอย่างไรไงครับ เพราะอย่างน้อยมันก็จะอยู่กับเราไปจนวันตาย เหมือนที่คุณเขียนถึงอาร์ลีน แม้ในหนังสือเล่มสุดท้ายของชีวิตนั่นแหละ
[con·tin·ue]
ภาค 1 บุรุษผู้ไม่เหมือนใคร (A Curious Character)
บทที่ 1 กำเนิดนักวิทยาศาสตร์ (The Making of a Scientist)
บทที่ 2 ใครจะคิดยังไงก็ช่าง ทำไมต้องสน? (What Do You Care What Other People Think?)
บทที่ 3 ช่างธรรมดาเหมือน 1 2 3 (It's as Simple as One, Two, Three...)
บทที่ 4 ก้าวไปข้างหน้า (Getting Ahead)
บทที่ 5 โฮเต็ลซิตี้ (Hotel City)
บทที่ 6 ใครกันวะเฮอร์แมน (Who the Hell is Herman?)
บทที่ 7 ฟายน์แมน ไอ้หมูงี่เง่า! (Feynman Sexist Pig!)
บทที่ 8 ผมแค่จับมือกับเขาเท่านั้น คุณเชื่อมั้ยล่ะ? (I Just Shook His Hand, Can You Believe It?)
บทที่ 9 จดหมาย (Letters)
บทที่ 10 ภาพถ่ายและภาพวาด (Photos and Drawings)
ภาค 2 มร.ฟายน์แมนไปตรวจสอบอุบัติเหตุยานชาลเลนเจอร์ที่วอชิงตัน (Mr. Feynman Goes to Washington: Investigating the Space Shuttle Challenger Disaster)
บทที่ 11 ขั้นเตรียมการตรวจสอบ (Preliminaries)
บทที่ 12 การฆ่าตัวตาย (Committing Suicide)
บทที่ 13 ความจริงที่เหน็บหนาว (The Cold Facts)
บทที่ 14 เช็กหก! (Check Six!)
บทที่ 15 นักสืบหัวเห็ด (Gumshoes)
บทที่ 16 ตัวเลขมหัศจรรย์ (Fantastic Figures)
บทที่ 17 ภาคผนวกที่ดุเดือด (An Inflamed Appendix)
บทที่ 18 คำแนะนำข้อ 10 (The Tenth Recommendation)
บทที่ 19 พบนักข่าว (Meet the Press)
บทที่ 20 เมื่อคิดย้อนกลับ (Afterthoughts)
ภาคผนวก F ข้อสังเกตส่วนตัวเกี่ยวกับความเชื่อถือได้ของกระสวยอวกาศ (Appendix F: Personal Observations on the Reliability of the Shuttle)
บทส่งท้าย (Epilogue)
บทที่ 21 จากฟายน์แมน (Preface)
บทที่ 22 คุณค่าของวิทยาศาสตร์ (The Value of Science)
"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)
Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com