top of page

เบนจามิน แฟรงคลิน บุรุษหลายมิติ (Stealing God's Thunder: Benjamin Franklin's Lightning Rod a


เบนจามิน แฟรงคลิน บุรุษหลายมิติ

แปลจาก Stealing God's Thunder: Benjamin Franklin's Lightning Rod and the Invention of America (2005)

เขียนโดย Philip Drey แปลโดย ดร.ภาณุ ด่านวานิชกุล สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2553 จำนวน 416 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740207030

ชีวประวัติของนักเขียน นักปรัชญา นักการเมือง นักประดิษฐ์ นักปฏิรูป นักการทูต และนักวิทยาศาสตร์ผู้สร้างคุณูปการให้กับโลกมากมาย ฟิลิป เดรย์ นักเขียนสารคดีผู้เข้าชิงรางวัลพูลิตเซอร์ หยิบเรื่องราวของแฟรงคลินมาบอกเล่าอีกครั้ง นอกจากจะชี้ให้เห็นความสามารถอันหลากหลายที่รวมอยู่ในตัวบุรุษผู้นี้แล้ว เดรย์ยังใช้ความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ของแฟรงคลินและแนวคิดเกี่ยวกับการทดลองเป็นเครื่องเปรียบเทียบแสดงถึงการดิ้นรนต่อสู้เพื่อสร้างรากฐานของคนอเมริกัน เขาเล่าถึงวิธีการที่แฟรงคลินได้เปิดเผยความลึกลับทางธรรมชาติอันยิ่งใหญ่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือพลังแห่งสายฟ้าและกระแสไฟฟ้าที่ไม่มีผู้ใดล่วงรู้มาก่อน กระทั่งนำมาสู่การประดิษฐ์สายล่อฟ้าและการสรรหาวิธีเก็บกักกระแสไฟฟ้าซึ่งกลายเป็นคุณูปการให้กับนักวิทยาศาสตร์รุ่นหลัง รายละเอียดทางประวัติศาสตร์มากมายที่ได้จากการค้นคว้าแหล่งข้อมูลอันหลากหลาย รวมถึงกลวิธีในการดำเนินเรื่องที่เฉียบคมของเดรย์ทำให้ "เบนจามิน แฟรงคลิน บุรุษหลายมิติ" เป็นหนังสือชีวประวัติที่ไม่เหมือนใครในการนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้สร้างสหรัฐอเมริกาและนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคนี้

ทุกวันนี้เมื่อเรานึกถึงเบนจามิน แฟรงคลิน เรามักนึกถึงชายผู้นี้ในฐานะผู้ร่วมประกาศอิสรภาพให้อเมริกา นักหนังสือพิมพ์ยุคบุกเบิก นักเขียนเจ้าสำบัดสำนวน นักการเมืองเปี่ยมชั้นเชิง และนักการทูตผู้มากความสามารถ ทว่าในสมัยของแฟรงคลินซึ่งเป็นยุคแสงสว่างแห่งปัญญา และก่อนหน้าที่เขาจะได้เป็นรัฐบุรุษผู้มีชื่อเสียงนี้ แฟรงคลินสร้างชื่อจากผลงานทางวิทยาศาสตร์ซึ่งปฏิวัติแนวคิดและองค์ความรู้ในยุคนั้นอย่างสิ้นเชิง

คำนำสำนักพิมพ์

ในยุคที่อเมริกากำลังก่อร่างสร้างประเทศมีบุรุษผู้หนึ่งที่มีความโดดเด่นและเป็นกำลังสำคัญในการประกาศเสรีภาพให้อเมริกา บุรุษผู้นั้นคือเบนจามิน แฟรงคลิน ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะรู้จักเขาในฐานะนักปฏิรูปและนักการทูต ทว่าบุรุษผู้นี้ยังมีความสามารถอีกมากมายหลายด้าน เขาได้ชื่อว่าเป็นช่างพิมพ์ นักเขียน นักปรัชญา นักประดิษฐ์ และที่โดดเด่นไม่แพ้บทบาทอื่นๆ นั่นก็คือนักวิทยาศาสตร์ แฟรงคลินสร้างชื่อขึ้นมาในฐานะนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญแห่งยุคจากการประดิษฐ์สายล่อฟ้าและการพยายามกักเก็บกระแสไฟฟ้าไว้ใช้งาน ในศตวรรษที่ 18 นั้นยังไม่มีใครให้คำตอบที่ถูกต้องได้ว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แม้ว่าแฟรงคลินจะไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์อย่างถ่องแท้เช่นไอแซค นิวตัน (Isaac Newton: 1642-1727) หรือไม่ได้รับอิทธิพลจากงานของปราชญ์รุ่นก่อนหน้าเช่นที่กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei: 1564-1642) ได้รับ แต่เขาก็มีความเป็นนักทดลองอยู่เต็มเปี่ยมและมีความสนใจใฝ่รู้ไม่แพ้ใคร แฟรงคลินเริ่มศึกษาเรื่องไฟฟ้าในอากาศโดยใช้วิธีชักว่าวขึ้นไปบนท้องฟ้าเวลาฝนตก ซึ่งเป็นการกระทำที่หาญกล้าท้าความตายอยู่ไม่น้อยและการทดลองครั้งนั้นก็นำมาสู่การประดิษฐ์สายล่อฟ้าในที่สุด

นอกจากผลงานประดิษฐ์อันยิ่งใหญ่อย่างสายล่อฟ้าแล้ว แฟรงคลินยังสร้างสรรค์ผลงานอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ แว่นตาไบโฟคอล (Bifocals) เตาแฟรงคลิน (Franklin stove) คิดค้นวิธีการลดกรดของดินโดยการโรยปูนขาว รวมทั้งประดิษฐ์อาร์โมนิก้าแก้ว (glass harmonica) เขาเป็นผู้เริ่มก่อตั้งห้องสมุดแห่งแรกในสหรัฐอเมริกา และก่อตั้งสถานีดับเพลิงแห่งแรกในรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) ในฐานะนักการเมืองและนักการทูต เขาเป็นคนสำคัญในช่วงปฏิวัติอเมริกาที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศฝรั่งเศส ซึ่งนำไปสู่การแยกตัวจากอาณานิคมของอังกฤษในที่สุด ผลงานและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ นั้น แฟรงคลินไม่เคยนำไปจดทะเบียนลิขสิทธิ์ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้อื่นมีสิทธิที่จะประดิษฐ์อุปกรณ์เหล่านั้นขึ้นใช้ได้ นอกจากนี้แฟรงคลินยังเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) และวิทยาลัยแฟรงคลินแอนด์มาร์แชลล์ (Franklin & Marshall College) ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสมาคมปรัชญาอเมริกา จากผลงานทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และการเมือง ทำให้เขาได้รับการยกย่องด้วยการนำภาพไปตีพิมพ์บนธนบัตรของอเมริกา (100 ดอลลาร์) และนำชื่อไปตั้งเป็นชื่อเมือง เขตปกครองพิเศษ สถานศึกษา ฯลฯ

ตัวตนของแฟรงคลินน่าทึ่งยิ่งนัก ด้วยความที่เขามีความสามารถหลากหลายมิติ ทำให้ฟิลิป เดรย์ นักเขียนสารคดีรางวัลพูลิตเซอร์รู้สึกสนใจเรื่องราวของบุรุษผู้นี้ กระทั่งลงมือค้นคว้าข้อมูลเพื่อนำมาเรียบเรียงเป็นหนังสือชื่อ "เบนจามิน แฟรงคลิน บุรุษหลายมิติ (Stealing God's Thunder) ซึ่งนับเป็นชีวประวัติของแฟรงคลินที่อ่านสนุก และเน้นไปที่บทบาทในฐานะนักวิทยาศาสตร์ โดยบอกเล่าเรื่องราวของแฟรงคลินตั้งแต่วัยเยาว์ ความขบถในวัยหนุ่ม การสร้างชื่อในฐานะนักหนังสือพิมพ์ บทบาทในแวดวงวิทยาศาสตร์ การก้าวเข้าไปมีส่วนร่วมในการประกาศเอกราช จนถึงบั้นปลายชีวิตของบุรุษแห่งยุคแสงสว่างทางปัญญาของสหรัฐอเมริกาผู้นี้ ซึ่งทำให้ผู้อ่านเห็นพัฒนาการชีวิตของแฟรงคลินได้อย่างชัดเจน และตอบคำถามที่ว่าเพราะเหตุใดผู้คนทั่วโลกล้วนยกย่องเขาเช่นในปัจจุบัน

"เบนจามิน แฟรงคลิน บุรุษหลายมิติ" เป็นหนึ่งในหนังสือดีชุดอัจฉริยบุคคลที่สำนักพิมพ์มติชนคัดสรรมาเพื่อผู้อ่านโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับ "รามานุจัน อัจฉริยะไม่รู้จบ (The Man Who Knew Infinity, 1991), ผู้ชายที่หลงรักตัวเลข (The Man Who Loved Only Numbers, 1998), แฟ้มลับ FBI ล่าไอน์สไตน์ (The Einstein File, 2002), โคเปอร์นิคัส ผู้ปฏิวัติดาราศาสตร์ (The Book Nobody Read, 2004), ฟายน์แมน อัจฉริยะโลกฟิสิกส์ (Surely You're Joking, Mr. Feynman!, 1985), ฟายน์แมน อัจฉริยะอารมณ์ดี (What Do You Care What Other People Think?, 1988), เลโอนาร์โด ดา วินซี่ วิถีอัจฉริยะ (Leonardo da Vinci: The Flights of the Mind, 2004) ฯลฯ สำนักพิมพ์มติชนหวังว่าผู้อ่านจะได้รับทั้งสาระและความบันเทิง รวมทั้งแรงบันดาลใจ เพื่อใช้เป็นขุมพลังในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ต่อไปในอนาคต

คำนำผู้แปล

หากเอ่ยชื่อเบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin: 1706-1790) คนส่วนใหญ่จะนึกถึงการเล่นว่าวของเขา บางคนก็นึกถึงสายล่อฟ้าที่เขาประดิษฐ์ แต่เรื่องราวชีวิตของแฟรงคลินยังมีเรื่องน่าสนใจมากกว่านั้น "บุรุษหลายมิติหรือ Man of Multi-Dimension" คือคำที่ใช้เรียกแฟรงคลินในพิพิธภัณฑ์ที่ถนนมาร์เก็ต เมืองฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) ซึ่งเคยเป็นบ้านของเขาในอดีต และในปัจจุบันได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีการจำลองโรงพิมพ์ของแฟรงคลินและตัวอย่างของหนังสือพิมพ์เพนซิลเวเนีย กาเซ็ตต์ (Gazette) ซึ่งเคยเป็นช่องทางเสนอแนวคิดของเขาทั้งเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวันและเรื่องราวทางการเมือง และเนื้อที่ส่วนหนึ่งที่ติดกับบ้านของเขาในปัจจุบันได้ทำเป็นที่ทำการไปรษณีย์ สิ่งพิมพ์ที่ส่งจากไปรษณีย์แห่งนี้จะถูกประทับด้วยตราพิเศษที่ออกแบบเป็นลายเซ็นของเบนจามิน แฟรงคลิน

ถัดจากบ้านของแฟรงคลินขึ้นไปอีกห้าหกถนนจะพบอินดิเพนเดนซ์ฮอล (Independence Hall) ซึ่งเป็นสถานที่ประกาศอิสรภาพของอเมริกาในปี 1776 ในปัจจุบันก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกที่มาชมห้องโถงอันเป็นจุดกำเนิดของประเทศสหรัฐอเมริกา สถานที่ซึ่งเบนจามิน แฟรงคลินและผู้ก่อตั้งประเทศคนอื่นๆ ได้ร่วมกันลงนามในประกาศอิสรภาพ จากอินดิเพนเดนซ์ฮอลขึ้นไปอีกยี่สิบกว่าถนนก็จะพบกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งขึ้นโดยเบนจามิน แฟรงคลิน มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยสมัยใหม่แห่งแรกในสหรัฐอเมริกาที่มีการสอนทั้งศิลปศาสตร์และวิชาชีพ อนุสาวรีย์ของเบนจามิน แฟรงคลินหน้าคอลเลจฮอล (College Hall) ซึ่งเป็นตึกที่เก่าแก่ตึกหนึ่งของมหาวิทยาลัยเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวมักจะแวะถ่ายภาพด้วยเสมอ นอกจากจะเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง นักการศึกษาแล้ว แฟรงคลินยังเป็นนักการทูตและนักวิทยาศาสตร์อีกด้วย ดังเรื่องที่เล่าไว้ในหนังสือเล่มนี้

หนังสือเรื่อง "เบนจามิน แฟรงคลิน บุรุษหลายมิติ" หรือ Stealing God's Thunder ของฟิลิป เดรย์ นี้ได้ให้รายละเอียดในมิติด้านต่างๆ ของแฟรงคลินไว้อย่างชัดเจน เดรย์ปูพื้นให้ผู้อ่านทราบถึงแนวคิดทางศาสนาของชาวนิวอิงแลนด์ (New England) ในยุคก่อนการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีผลต่อการยอมรับสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาในสมัยนั้น อย่างไรก็ตาม ด้วยความสนใจอย่างจริงจังของแฟรงคลินเกี่ยวกับกำเนิดของไฟฟ้าและการใช้ประโยชน์ของมันทำให้ในที่สุดเขาสามารถประดิษฐ์สายล่อฟ้าซึ่งสามารถป้องกันความเสียหายและการเสียชีวิตจากฟ้าผ่าบ้านเรือน โบสถ์ และเรือที่ล่องลอยอยู่ในทะเล และทำให้เขามีชื่อเสียงไปทั่วทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งส่งผลต่องานทางการทูตของเขาเป็นอย่างมากและมีส่วนสำคัญต่อการประกาศอิสรภาพของอเมริกาให้พ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษในลำดับต่อมา สำหรับแฟรงคลินแล้ว การสร้างประเทศสหรัฐอเมริกาก็เป็นดังการทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง ซึ่งมีทั้งการทำนายหรือตั้งสมมุติฐานและการทดลองเพื่อให้ทราบผล และแน่นอน การปรับแก้ไขเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะที่ผู้อ่านเดินทางผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตของแฟรงคลิน คุณจะได้รู้จักกับบุคคลสำคัญต่างๆ อีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ลาวัววิเอร์ (Antoine-Laurent de Lavoisier: 1743-1794) ผู้ค้นพบกฎทรงมวล เมสแมร์ (Franz Anton Mesmer: 1734-1815) ผู้ให้กำเนิดคำว่า mesmerize หรือสะกดจิต หรือลินเนียส (Carl Linnaeus: 1707-1778) ผู้สร้างระบบการเรียกชื่อพันธุ์พืชและสัตว์ เป็นต้น เดรย์ทำให้เห็นความเกี่ยวพันของนักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาในยุคแสงสว่างแห่งปัญญา (enlightenment) ซึ่งเป็นยุคที่วิทยาศาสตร์กำลังจะเจริญรุ่งเรืองผ่านการเล่าชีวประวัติของแฟรงคลิน

เดรย์พยายามเล่าถึงคุณสมบัติที่ดีหลายประการของแฟรงคลิน ไม่ว่าจะเป็นความเพียรพยายามและการรักการอ่านหนังสือที่ทำให้เด็กที่เรียนไม่จบแม้ระดับมัธยมศึกษาอย่างเขากลายเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงและนักเขียนหนังสือขายดี ความอ่อนน้อมถ่อมตนและความสามารถในการปรับตัวที่ทำให้เด็กในร้านขายเทียนไขอย่างเขากลายเป็นนักการทูตที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้ากษัตริย์ ความมีน้ำใจและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่ทำให้เขามีเพื่อนฝูงคอยช่วยเหลือจึงทำให้งานทางวิทยาศาสตร์ของเขาก้าวหน้าและสัมฤทธิผล และการเอาใจเขามาใส่ใจเราและการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ที่ทำให้เขาสนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตยในโลกใหม่อย่างอเมริกาและแนวคิดการเลิกทาส ที่สำคัญเดรย์ได้แสดงให้เห็นว่าแฟรงคลินเป็นคนช่างสังเกตและมีอิสระทางความคิดอย่างแท้จริง ซึ่งทำให้เขาสามารถแสดงความสนใจในสิ่งต่างๆ ได้อย่างอิสระและสร้างแนวทางการศึกษาของตนเองในเรื่องต่างๆ ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญของนักวิทยาศาสตร์

ดังที่แฟรงคลินเองก็รู้สึกภูมิใจในตนเองว่าเขาจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับบุคคลอื่น จากต้นกำเนิดที่ต่ำต้อย เขาได้ก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่มีคนนับหน้าถือตาและมีชื่อเสียงไปทั่วด้วยความสามารถของตนเองอย่างแท้จริง ผู้แปลก็หวังเช่นเดียวกันว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้ผู้อ่านเกิดกำลังใจในการพัฒนาตนเอง ด้วยความเข้าใจตนเอง รู้ถึงความสามารถของตนเอง และการวางแผนพัฒนาตนเอง ไม่เพียงเพื่อให้เกิดประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงประโยชน์เพื่อส่วนรวมอีกด้วย

คำยกย่องสำหรับ Stealing God's Thunder

"ช่างน่ายินดี เดรย์นำเสนอการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับการเป็นนักวิทยาศาสตร์ของเบนจามิน แฟรงคลิน โดยได้อธิบายทั้งเรื่องน่าขบขันและเกียรติยศที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการทดลองของเรา" - The Wall Street Journal

"ดื่มด่ำและเขียนขึ้นอย่างสวยงาม ยังมีแฟรงคลินอีกหลายคน ทั้งนักลงทุน นักการทูต รัฐบุรุษ ผู้ประกาศอิสรภาพ แต่สำหรับแฟรงคลินที่เป็นนักวิทยาศาสตร์นั้น เดรย์อาจจะพบแฟรงคลินที่มีความสุขที่สุดก็เป็นได้" - The New York Times

"งานเขียนของเดรย์งดงาม และแฟรงคลินก็น่าชื่นชม" - The New York Times Book Review

"แง่มุมที่เยี่ยมยอดเกี่ยวกับผลงานของแฟรงคลินและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจทางวัฒนธรรมของประเทศอเมริกาของแฟรงคลิน รวมทั้งเรื่องราวที่บันเทิงใจและมีชีวิตชีวา" - Publishers Weekly (starred review)

"การศึกษาที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ได้เขียนขึ้นมาอย่างงดงาม" - Los Angeles Times

"ภาพของแฟรงคลินที่ชัดเจนน่าบันเทิงใจในฐานะผู้ปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์" - San Jose Mercury News

"ช่างเหมาะเจาะพอดี เดรย์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแฟรงคลินได้ใช้หลักการแห่งเหตุผลที่เขาใช้กับวิทยาศาสตร์ในผลงานทางการเมืองของเขา เขียนขึ้นด้วยพลังและข้อมูลมากมาย วิธีการเขียนของเดรย์เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทางไฟฟ้า สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีมา" - The Washington Post Book World

"เบนจามิน แฟรงคลิน ดูจะเป็นหนึ่งในผู้สร้างชาติที่น่าสนใจและเข้าถึงได้ที่สุด งานเขียนใหม่ของเดรย์เกี่ยวกับโชคชะตาของแฟรงคลินได้รับการเขียนขึ้นมาอย่างสวยงาม ปราศจากคำยากๆ ที่ใช้ในวงการวิชาการดังที่แฟรงคลินมักจะชอบล้อเล่น แต่กลับให้ความรู้สึกที่ดีเยี่ยมของงานเขียนที่ฉลาดและเป็นวิชาการ หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการศึกษาประวัติของแฟรงคลินในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่เคยเขียนมา" - Joseph John Ellis นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์จากเรื่อง Founding Brothers: The Revolutionary Generation and His Excellency - George Washington (2005)

"เมื่อตามรอยความเชื่อของแฟรงคลินผ่านทางวิทยาศาสตร์ เรื่องราวประวัติศาสตร์อันน่าพอใจของเดรย์มีข้อมูลซึ่งจะทำให้แม้แต่ผู้ที่ชื่นชอบแฟรงคลินอย่างเหนียวแน่นรู้สึกประหลาดใจ" - Booklist

"เต็มไปด้วยข้อมูลและน่าสนใจ เดรย์เน้นถึงความสนใจของแฟรงคลินเกี่ยวกับธรรมชาติอย่างเข้มข้น ความชอบของเขาในการอธิบายความลึกลับและความสับสนของปรากฏการณ์ธรรมชาติ ความถนัดเฉพาะทางของจิตใจในการทำให้เขาเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลที่ไม่เคยทราบมาก่อนในโลกของวิทยาศาสตร์กายภาพ ก่อนเรื่องราวจะจบลง เราจะเห็นได้ว่าแฟรงคลินเป็นตัวอย่างที่ดีของจิตวิญญาณอเมริกันที่มีความริเริ่มสร้างสรรค์" - Orlando Sentinel

"เขียนขึ้นด้วยความเชี่ยวชาญ สติปัญญา และความสมดุล หลังจากคุณอ่านหนังสือเล่มนี้ คุณจะได้รู้จักกับเบนคนใหม่ และคุณจะไม่ใช้ไฟฟ้าโดยไม่ยั้งคิดอีกเลย" - Virginia Quarterly Review

"เดรย์เชื่อว่าการค้นพบของแฟรงคลินเป็นสิ่งเปรียบเทียบสำหรับความเคลื่อนไหวในการรู้แจ้ง อันเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติและแบบจำลองสำหรับเสรีภาพของมนุษย์ในรูปแบบหนึ่ง" - Desert Morning News

"ฟิลิป เดรย์ ได้สรุปอัจฉริยภาพและความคิดริเริ่มของแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ของแฟรงคลิน และได้เขียนในสิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่า เขาได้แสดงให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์ทำให้การทูต การเมือง และปรัชญาการรู้แจ้งของแฟรงคลินเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้อย่างไร" - Walter Isaacson ผู้เขียนเรื่อง Benjamin Franklin: An American Life (2003)

"ฟิลิป เดรย์ ได้โน้มน้าวให้ผู้คุ้นเคยกับมิติใหม่และประสบความสำเร็จในการทำให้เรื่องซับซ้อนกลายเป็นเรื่องที่ชัดเจน น่าสนใจโดยสมบูรณ์ หนังสือเล่มนี้แสดงความฉลาดและความชัดเจน ให้ข้อมูลมากมายและอ่านได้อย่างมีความสุข" - Stacy Schiff นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์เรื่อง Vera (Mrs. Vladimir Nabokov, 1999) และ A Great Improvisation: Franklin, France, and the Birth of America (2005)

"สำหรับแฟรงคลินที่เราคุ้นเคยในฐานะนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง และนักการทูต เดรย์ได้เพิ่มภาพที่น่าพิศวงของแฟรงคลินในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในสมัยของเขาสำหรับการศึกษาผลงานประดิษฐ์ทางไฟฟ้า เรื่องที่เล่าอย่างดีที่จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกสนใจในคำอธิบายตลอดเรื่อง" - Mary Beth Norton ผู้เขียนหนังสือเรื่อง In the Devil's Snare: The Salem Witchcraft Crisis of 1692 (2002)

"เมื่ออยู่ในยุคที่งานวิจัยมีการจดสิทธิบัตรกันอย่างมากมายและผลงานต้องได้รับการปกป้องอย่างใกล้ชิด พวกเราจึงได้ลืมไปแล้วว่าโลกวิทยาศาสตร์นั้นเคยมีความตื่นเต้นอย่างน่ามหัศจรรย์เพียงใด ในหนังสือเล่มนี้ เรื่องของการประดิษฐ์สายล่อฟ้าของแฟรงคลินและผลกระทบที่ตามมา ซึ่งความรู้สึกของความมหัศจรรย์และความตื่นเต้น และแม้กระทั่งความกลัวได้เกิดขึ้นมาอย่างสวยงาม เดรย์เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาได้ดีมาก เพื่ออธิบายถึงแฟรงคลิน บุคคลที่น่าสนใจ และยิ่งไปกว่านั้นคือวิธีการที่เขาและสิ่งประดิษฐ์ของเขาได้ช่วยสร้างโลกแห่งวิทยาศาสตร์แบบใหม่ขึ้นมา" - Deborah Blum ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Love at Goon Park: Harry Harlow and the Science of Affection (2002)

[con·tin·ue]

บทนำ (Introduction)

บทที่ 1 คอตตอน แมเทอร์ จงหายนะ จงรับไข้ทรพิษไปเถิด (Cotton Mather, Dam You, with a Pox to You)

บทที่ 2 ทำที่ฟิลาเดลเฟีย (Made at Philadelphia)

บทที่ 3 เรื่องของความคิดที่ชัดเจน (A Subject of Serene Contemplation)

บทที่ 4 หัตถ์อันทรงพลังของพระเจ้า (The Mighty Hand of God)

บทที่ 5 ทูตไฟฟ้า (Electric Ambassador)

บทที่ 6 ศาสตร์แห่งอิสรภาพ (The Science of Freedom)

บทส่งท้าย (Epilogue)

กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgments)

คำอธิบาย (Notes)

บรรณานุกรม (Bibliography)

เกี่ยวกับผู้เขียน

ฟิลิป เดรย์ (Philip Drey) เป็นผู้แต่งหนังสือเรื่อง At the Hands of Persons Unknown: The Lynching of Black America (2002) ซึ่งได้รับรางวัล Robert F. Kennedy Memorial Book Award รางวัล the Southern Book Critics Circle Award for Nonfiction และเข้ารอบสุดท้ายสำหรับรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize) และ Los Angeles Times Book Award เขาอาศัยอยู่ในบรูกคลีน (Brooklyn) นิวยอร์ก (New York)

เกี่ยวกับผู้แปล

ดร.ภาณุ ด่านวานิชกุล จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับสอง สาขาวิศวกรรมเคมี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วไปสมัครเป็นอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีโอกาสสอนนักศึกษารุ่นแรกของภาควิชาวิศวกรรมเคมีที่นั่น ก่อนจะได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอกสาขาวิศวกรรมเคมีที่มหาวิทยาลัยแห่งเดลาแวร์ (University of Delaware) และมหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) ประเทศสหรัฐอเมริกาตามลำดับ เมื่อเรียนสำเร็จกลับมาจึงมาเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่เดิม พร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้นักศึกษาต่อไป ด้วยผลงานวิจัยที่ทำในระดับปริญญาเอกทำให้ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ระดับชมเชยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และเคยได้รับรางวัลครูดีเด่นสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นรองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานในหน้าที่ที่ต้องสอนหนังสือนักศึกษาและทำวิจัยควบคู่กันไปทำให้ต้องเขียนตำราสำหรับให้นักศึกษาใช้เรียน และเขียนบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เขียนไปสักพักจึงได้รู้ว่ามีความสุขมากที่ได้เขียนหนังสือ และด้วยโอกาสที่ทางมติชนให้นี้จึงทำให้ได้เริ่มประสบการณ์การแปลหนังสือ โดยมีผลงานเรื่อง "เบนจามิน แฟรงคลิน บุรุษหลากมิติ" เป็นผลงานแปลเล่มแรกดูเหมือนจะเป็นชะตาฟ้าลิขิตให้ได้มาพบกับแฟรงคลินอีกครั้งหนึ่ง หลังจากจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยที่แฟรงคลินเป็นผู้ก่อตั้งมานานหลายปีแล้ว

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page