top of page

ไอแซค นิวตัน (Isaac Newton) มหาบุรุษโลกวิทยาศาสตร์


ไอแซค นิวตัน มหาบุรุษโลกวิทยาศาสตร์

แปลจาก Isaac Newton (2004)

เขียนโดย James Gleick แปลโดย ดร.ปิยบุตร บุรีคำ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2554 จำนวน 336 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740207351

ชีวประวัติของบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ ผู้มอบมรดกเชิงภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าไว้ให้ชนรุ่นหลัง บอกเล่าวิถีชีวิต มุมมอง ตัวตน รวมถึงงานค้นคว้าและที่มาของกฎของนิวตันอันเลื่องชื่อ และเผยเรื่องราวการต่อสู่ของบรรดานักคิดในยุคที่องค์ความรู้วิทยาศาสตร์เริ่มเบ่งบาน

เมื่อพูดถึงไอแซค นิวตัน คนส่วนใหญ่มักนึกถึงกฏการเคลื่อนที่ แรงโน้มถ่วง และลูกแอปเปิ้ล แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักนิสัยใจคอ ชีวิตส่วนตัว รวมถึงเรื่องราวด้านมืดของอัจฉริยะผู้นี้ นิวตันไม่เพียงเป็นมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่คนรุ่นหลังหรือกระทั่งนักคิดร่วมสมัยให้การยอมรับนับถือ แต่เขายังเป็นคนลึกลับ ชอบเก็บตัว เจ้าคิดเจ้าแค้น และมีบุคลิกหลายอย่างที่คนส่วนใหญ่ในสังคมให้คำนิยามว่า "แปลก" อีกด้วย

นักคิดหลายคนพร้อมแลกทุกอย่างเพียงเพื่อจะได้สนทนาแลกเปลี่ยนความรู้กับเขาสักครั้ง ในขณะที่อีกหลายคนก็พร้อมจะทำทุกวิถีทางเพื่ออยู่ห่างเขาให้มากที่สุด อุปนิสัยของนิวตันมีความซับซ้อนและขัดแย้งในตัวตน แม้ขึ้นชื่อว่าเป็นบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ศรัทธาในพระเจ้าอย่างแรงกล้า ทว่าเป็นการศรัทธาในวิถีที่เขามองว่าแตกต่างจากคนยุคเดียวกันซึ่งเอาแต่งมงายและถูกครอบงำด้วยพิธีกรรม อย่างไรก็ตาม ความศรัทธาในรูปแบบเฉพาะนี้เองคือแรงผลักดันให้เกิดกฎของนิวตันอันเลื่องชื่อ รวมทั้งผลงานด้านวิทยาศาสตร์อีกมากมาย

ในหนังสือเล่มนี้ เจมส์ เกลก (James Gleick) ได้พาผู้อ่านย้อนเวลากลับไปยังประเทศอังกฤษเมื่อเกือบสี่ร้อยปีที่ผ่านมา ในยุคที่องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เริ่มเบ่งบาน ข้อเท็จจริงและตำนานที่เกี่ยวกับนิวตันได้รับการไขให้กระจ่างในหนังสือเล่มนี้ พร้อมบอกเล่าความเป็นมาเบื้องหลังทฤษฎีต่างๆ และเส้นทางสู่ความสำเร็จของผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลกวิทยาศาสตร์ แม้นิวตันจะไม่ได้เป็นอัจฉริยบุคคลในอุดมคติ ทว่าความขยันขันแข็ง มุ่งมั่น และเอาจริงเอาจังของเขาก็เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่คนรุ่นหลัง นิวตันผลักดันตัวเองจากชนชั้นล่างที่แทบไม่มีใครมองเห็นจนกลายเป็นบุคคลสำคัญระดับโลกด้วยความหลักแหลมและพลังใจที่เข้มแข็งโดยแท้จริง

คำนำสำนักพิมพ์

เมื่อกล่าวถึงไอแซค นิวตัน หลายคนมักนึกถึงบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ผู้ทำให้สาขาปรัชญาธรรมชาติกลายเป็นศาสตร์แห่งความรู้อันยิ่งใหญ่ที่เน้นการทดลองและเชื่อมั่นในเหตุและผลซึ่งกลายมาเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้มาพร้อมกับภาพลักษณ์ของพหูสูตผู้คงแก่เรียน หมกมุ่นอยู่กับการทดลองและเป็นเจ้าของเรื่องเล่ามากมายที่แทบจะแยกไม่ออกระหว่างเรื่องจริงหรือตำนาน อย่างไรก็ตามในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้บอกเล่าเรื่องราวของนิวตันในแง่มุมที่เขาเป็นปุถุชนคนหนึ่ง ผู้เขียนจะพาเราย้อนอดีตกลับไปในยุคที่ยุโรปกำลังเบ่งบานทางภูมิปัญญาไปสู่วิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งผลงานมากมายที่นิวตันรังสรรค์ขึ้นในยุคนั้น เราจะได้เห็นภาพชีวิตในวัยเด็กของนิวตันที่เขาต้องดิ้นรนเอาตัวรอดเพราะฐานะครอบครัวไม่ดีนัก นิวตันผู้ผลักดันตัวเองจากลูกชาวนาในชนบทเข้าสู่สังคมแห่งการศึกษาของเคมบริดจ์ เขาคือบุรุษผู้ไม่ปรารถนาจะเปิดเผยตัวตน ทว่าผลงานของเขากลับทำให้ชื่อนิวตันกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของบรรดานักคิดนักปรัชญาร่วมสมัยที่อยากมีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเขาสักครั้ง แต่ขณะเดียวกันเขาก็เป็นคนที่มีความขัดแย้งในตัวเองและโลกส่วนตัวสูง นิวตันศรัทธาในพระเจ้าอย่างแรงกล้าและเป็นความศรัทธาที่ผลักดันให้เขาตอบคำถามเชิงปรัชญาต่างๆ เกี่ยวกับการกำเนิดของโลกและเอกภพ ด้วยความเป็นปัจเจกสูงนี้เองทำให้บางครั้งหลายหนก็หวั่นเกรงที่จะเข้าใกล้เขา

นอกจากเราจะได้เห็นชีวิตของนิวตันในหนังสือเล่มนี้แล้ว เรายังจะได้เห็นผลงานอีกหลายอย่างที่นิวตันค้นพบ อาทิ แคลคูลัส ศาสตร์ซึ่งเป็นดั่งกลจักรสำคัญของโลกยุคปัจจุบัน การค้นพบความโน้มถ่วง การอธิบายการเคลื่อนที่โดยใช้หลักเรขาคณิต ตลอดจนการวางรากฐานของหลักการพื้นฐานต่างๆ ในสาขาฟิสิกส์ที่เราเรียกขานกันว่ากฎของนิวตัน นอกจากนี้เรายังจะได้เห็นบรรยากาศของการปะทะกันระหว่างความเชื่อแบบเก่ากับองค์ความรู้ของสาขาปรัชญาธรรมศาสตร์ที่เริ่มเติบโตขึ้นมาในศตวรรษที่ 17-18 ผู้อ่านจะได้เห็นการต่อสู้เชิงปัญญาระหว่างนักคิดจากหลากหลายสำนัก ได้เห็นบรรดาผู้สนับสนุนนิวตัน รวมทั้งบรรดาผู้เกลียดชังและมีความเห็นขัดแย้งกับเขา หนังสือเล่มนี้หาใช่เป็นเพียงหนังสือชีวประวัติเท่านั้น แต่กล่าวได้ว่าเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่พูดถึงต้นกำเนิดของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เลยทีเดียว

สำนักพิมพ์มติชนเชื่อว่าเรื่องราวของไอแซค นิวตัน จะทำให้ผู้อ่านได้รับสาระความรู้เช่นเดียวกับหนังสือชุดชีวประวัติบุคคลโลกวิทยาศาสตร์ที่เคยตีพิมพ์มาก่อนหน้านี้ อาทิ เบนจามิน แฟรงคลิน บุรุษหลายมิติ (Stealing God's Thunder, 2005), รามานุจัน อัจฉริยะไม่รู้จบ (The Man Who Knew Infinity, 1991), ผู้ชายที่หลงรักตัวเลข (The Man Who Loved Only Numbers, 1998), โคเปอร์นิคัส ผู้ปฏิวัติดาราศาสตร์ (The Book Nobody Read, 2004) ฯลฯ ซึ่งสำนักพิมพ์เชื่อว่าองค์ความรู้วิทยาศาสตร์เป็นแขนงวิชาที่สามารถเรียนรู้ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์ผู้อยู่เบื้องหลังการค้นพบเหล่านั้นก็มีองค์ประกอบที่น่าสนใจมากมายให้เราเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นกัน

คำนำผู้แปล

วิทยาศาสตร์เป็นระเบียบวิธีการแสวงหาองค์ความรู้ที่อ้างอิงกับความเป็นจริงโดยใช้การทดลองตรวจสอบยืนยันความถูกผิดของสมมุติฐานที่เราตั้งขึ้น สมมุติฐานที่ได้รับการยืนยันความถูกต้องจะยืนยงต่อไปในฐานะแบบจำลองแห่งการทำงานของธรรมชาติจนกว่าจะมีปรากฏการณ์หรือการทดลองอื่นแม้สักเพียงหนึ่งที่ขัดแย้งกับคำอธิบายนั้น วิทยาศาสตร์ปฏิเสธความเชื่อที่ไม่ต้องพิสูจน์ ศรัทธามืดบอดไร้หลักอิงอ้าง พันธนาการความคิดจิตใจไม่ให้ใฝ่แสวงหาสัจจะความจริง วิทยาศาสตร์มีวิวัฒนาการมาจากปรัชญา การช่าง การเล่นแร่แปรธาตุ และคณิตศาสตร์ ท่ามกลางการลองผิดลองถูกทั้งทางแนวคิดและทางปฏิบัติ ท่ามกลางการพยายามผสมแร่แปรธาตุด้อยค่าให้เป็นทองคำมีราคา ท่ามกลางพายุศรัทธาโหมกระหน่ำซัดสวนกับความจริงที่ประจักษ์ต่อปรากฏการณ์บนฟากฟ้า มนุษย์กลัวและมนุษย์กล้าทีละเล็กละน้อยที่จะกรองกลั่นความจริงที่ซ่อนเร้นของธรรมชาติออกมา คงเป็นการณ์ดีมิใช่น้อยที่เราจะได้ศึกษาและรับรู้ว่ายอดอัจฉริยะผู้วางรากฐานวิทยาศาสตร์ในรูปแบบปัจจุบันที่เรารู้จักกันนั้นมิได้เป็นผู้รู้มาแต่ต้น หากแต่ได้ผ่านประสบการณ์ความสับสน ลองผิดลองถูก ลังเล ผิดพลาดมาหลายครั้งตลอดเวลาหลายๆ สิบปี กว่าจะได้เข้าถึงผลึกแก้วมรกตแห่งองค์ความรู้และกระบวนวิธีที่ใช้สกัดองค์ความรู้นั้นออกมาได้ในที่สุด

ไอแซค นิวตัน (Isaac Newton: 1642-1727) เป็นชายที่เชื่อในอำนาจเร้นลับดั่งเวทมนตร์ขับเคลื่อนธรรมชาติในระดับมูลฐานที่สุด อุทิศตัวให้กับการเล่นแร่แปรธาตุมากพอๆ กับที่อุทิศตนให้กับฟิสิกส์ ชายผู้โดดเดี่ยวในการค้นหาเพื่อการค้นพบอันยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ นั่นคือการค้นพบทางปัญญาที่เปลี่ยนโลกไปตลอดกาล เขาคือผู้ลงหลักปักรากฐานวิชาวิทยาศาสตร์แบบที่ใช้คณิตศาสตร์อันแน่นอนแม่นยำเป็นโครงสร้าง ทั้งชี้นำและทำนายในเชิงปริมาณเพื่อถูกตรวจสอบด้วยการทดลองตัดสิน (experimentum crucis) ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่ผ่านการทดสอบจากการทดลองเหล่านี้ เราจึงจะยอมรับเป็นแบบจำลองอธิบายการทำงานธรรมชาติ ไม่มีองค์ความรู้ใดที่ปราศจากการทดสอบ

หนังสือพรินซิเปีย (Principia หรือ Philosophiæ Naturalis Principia Mathematica, 1687) ที่นิวตันเขียนขึ้นนับได้ว่าเป็นหนังสือที่ทรงอิทธิพลที่สุดทางวิทยาศาสตร์ เป็นหนังสือเล่มแรกที่ขีดเส้นแบ่งชัดระหว่างสิ่งที่เราใช้เป็นสมมุติฐานกับปรากฏการณ์ที่เราใช้สมมุติฐานเหล่านั้นอธิบายด้วยกระบวนการทางคณิตศาสตร์ที่แม่นยำในเชิงปริมาณ สมมุติฐานกฎกำลังสองผกผันของแรงโน้มถ่วงเป็นสิ่งที่เราอธิบายไม่ได้ว่าทำไมมันจึงมีรูปแบบเช่นนั้น แรงโน้มถ่วงส่งถึงกันได้อย่างไรทั้งๆ ที่วัตถุไม่มีการสัมผัสใดๆ ต่อกัน แรงโน้มถ่วงเป็นสมบัติที่เสมือนดั่งเวทมนตร์มหัศจรรย์ไร้คำอธิบาย นักคิดนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่หลายๆ คน นับตั้งแต่เดส์การ์ตส์ (René Descartes: 1596-1650) มาจนถึงไลบ์นิซ (Gottfried Wilhelm Leibniz: 1646-1716) ไม่อาจทำใจให้ยอมรับถึงการมีอยู่ของแรงโน้มถ่วงซึ่งส่งกิริยาไปถึงกันได้ผ่านที่ว่างอันปราศจากวัตถุสสารใดๆ โดยไม่ต้องมีการสัมผัส แต่นิวตันพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของสมบัติอันประหลาดนี้โดยใช้คณิตศาสตร์และการทดลอง ไม่ว่ามันจะฟังดูประหลาดมหัศจรรย์เพียงใด ความโน้มถ่วงก็มีอยู่จริงและได้รับการพิสูจน์อย่างสิ้นข้อสงสัยโดยนิวตัน กระบวนการเช่นนี้ได้ถูกทำซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่ากับปรากฏการณ์ต่างๆ ตลอดประวัติศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ในเวลาต่อมา และได้กลายเป็นรากฐานแห่งองค์ความรู้ที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นรองรับและขับเคลื่อนอารยธรรมของเราในปัจจุบัน

ชีวประวัตินิวตันอย่างสั้นของเจมส์ เกลก ชิ้นนี้มีจุดเด่นที่ความลึกซึ้งของมุมมองต่อพัฒนาการทางความคิดของนักคิดในยุคนั้น รวมถึงตัวของนิวตันเอง เราจะได้เห็นการแยกตัวของวิทยาศาสตร์ออกจากปรัชญาทีละนิดละน้อยจนเป็นเอกเทศ ได้สัมผัสถึงกฎการเคลื่อนที่ที่ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่าง พร้อมกับได้เป็นประจักษ์พยานกับการหลงทางเข้าไปในวิชาเล่นแร่แปรธาตุของนิวตัน ความเพียรพยายามเปลี่ยนแร่ต้อยต่ำเป็นทองคำเลอค่าอันไร้ผล เพราะเทคโนโลยีที่ยังพัฒนาไม่ถึงระดับ นิวตันทำการทดลองเกี่ยวกับสมบัติเชิงไฟฟ้าสถิตของวัตถุ แต่ไม่อาจเข้าถึงกฎแห่งไฟฟ้าอันสมบูรณ์ เขาริเริ่มไว้หลายสิ่ง แต่เวลาอันจำกัดของช่วงชีวิตและยุคสมัยไม่ได้ยินยอมให้เขาเข้าใจมันทั้งหมด กระนั้นเราก็รับมรดกล้ำค่าแห่งกระบวนการสืบค้นหาความจริงมาจากนิวตัน เรากำลังเดินตามรอยของเขา คิดแบบเดียวกับเขา ใช้กระบวนวิธีของเขา แต่งเติมและเสริมสร้างภาพที่เขาได้ลงพู่กันเอาไว้นานนับหลายร้อยปีมาแล้ว ขอขอบคุณสำนักพิมพ์ที่ส่งเสริมสนับสนุนให้มีหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ดีๆ ในสังคมของเราอย่างต่อเนื่อง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จักเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนทางปัญญาของผู้อ่านทุกคนสืบไป

คำนิยมต่องานเรื่องไอแซค นิวตัน ของเจมส์ เกลก

"งานซึ่งเปี่ยมด้วยมุมมองลึกซึ้งที่เขียนขึ้นอย่างสละสลวยนำพานิวตันให้มีชีวิตขึ้นอีกครั้งและให้ความเป็นธรรมแก่เขา เกลกพิสูจน์ตัวเองว่าเขาไม่เพียงเป็นผู้อธิบายเนื้อหาวิทยาศาสตร์ของนิวตันที่ดีคนหนึ่งเท่านั้น หากแต่ยังเป็นนักเขียนเชิงวรรณกรรมที่มีความสามารถ ความเข้าอกเข้าใจในสิ่งที่ตนเขียนทำให้เราผู้อ่านแทบจะมองเห็นสิ่งต่างๆ เหมือนผ่านมุมมองของตัวนิวตันเองทีเดียว" - Los Angeles Times

"ชีวประวัติที่คัดสรรแล้วสำหรับคนทั่วไปที่มีความสนใจ เกลกทำให้ชีวิตหลากแง่มุมของคนผู้นี้เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้อย่างน่าทึ่ง" - The New York Times Book Review

"สำหรับนักอ่านสมัครเล่นที่มีความสนใจในชีวิตและงานของนิวตัน ผมแนะนำชีวประวัติที่เขียนโดยเกลกให้เป็นจุดเริ่มต้นชิ้นเยี่ยม หนังสือเล่มนี้มีจุดเด่นสำคัญสามประการคือ เที่ยงตรงถูกต้อง อ่านง่าย และกระชับ เกลกได้กลับไปค้นคว้าสมุดบันทึกต้นฉบับดั้งเดิมหลายเล่มและได้นำพาให้นิวตันกลับมามีชีวิตอีกครั้ง" - Freeman Dyson ใน The New York Review of Books

"ชีวประวัติแบบสั้นที่ยอดเยี่ยมที่สุดของบุคคลที่น่าฉงนที่สุดในโลกวิทยาศาสตร์" - New Scientist

"เขียนขึ้นด้วยความกระตือรือร้นร่าเริงมหาศาลด้วยรูปแบบซึ่งใกล้เคียงกับบทกวีมากกว่าจะเป็นหนังสือธรรมดา เกลกอธิบายพื้นฐานต่างๆ ด้วยความกระจ่างและงดงาม ความเข้าใจในวิทยาศาสตร์เป็นอย่างดีของเขาเป็นกุญแจสำหรับไปสู่ความน่ารื่นรมย์ของหนังสือเล่มนี้" - The Economist

"เกลกเป็นนักเขียนเรื่องทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดในยุคนี้ จากข้อมูลเอกสารทางประวัติศาสตร์และจดหมายต่างๆ มากมายเป็นภูเขาเลากา เกลกขุดค้นภาพของชายผู้ถือไพ่แห่งอัจฉริยภาพและความใกล้บ้าของตัวเองไว้แนบอก หนังสือเล่มนี้จึงยากที่จะวางลงได้" - The Globe and Mail (Toronto)

"ร่ำรวยเนื้อหา สละสลวยและมีอรรถรสเชิงกวีอย่างยิ่ง ความสามารถอันยิ่งใหญ่ของเกลกคือการคลี่คลายอธิบายแนวคิดอันสลับซับซ้อนได้โดยไม่ต้องตัดทอนมันลงไป หนังสือเกี่ยวกับนิวตันนั้นมีมากมาย แต่หนังสือของเกลกซึ่งบรรยายได้อย่างสวยงามมีความละเอียดลอออย่างที่ไม่พบในเล่มอื่นๆ นั้น ประสบความสำเร็จในการทำให้ความสามารถอันแปลกประหลาดในวิสัยทัศน์ของนิวตันเป็นสิ่งที่น่าทึ่งขึ้นมาได้อย่างน่าประทับใจ" - The Times (London)

"เกลกได้แปรเปลี่ยนการวิจัยเชิงวิชาการกระแสหลักให้เป็นเรื่องอันน่าตื่นเต้นขึ้นมาได้ เกลกสามารถสร้างบรรยากาศทางวิชาการในอังกฤษในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นได้อีกครั้ง เขาโดดเด่นในการแปลการอภิปรายเชิงวิชาการในยุคเก่าให้เป็นคำอธิบายง่ายๆ ชัดเจนที่คนสมัยใหม่เข้าใจได้" - Science

"ยอดเยี่ยม นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ถูกนำกลับมาบรรยายให้เราเข้าถึงได้อย่างกระจ่างชัด ควรอ่านเป็นอย่างยิ่ง" - The Tucson Citizen

"เจมส์ เกลก ใช้วัตถุดิบล้ำค่าในการเขียนได้อย่างสมราคา ทำให้เราได้เห็นมุมมองของผู้เขียนที่ว่านักคณิตศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่เป็นทั้งผู้สร้างสรรค์และเป็นเหยื่อของยุคสมัยอย่างไร หนังสือเล่มนี้เป็นยาแก้ชั้นดีสำหรับหนังสือชีวประวัติทางวิทยาศาสตร์กลวงๆ ที่เพิ่มจำนวนขึ้นมากมายในตลาดปัจจุบัน และยังเป็นเหมือนจุดตั้งต้นที่ดีสำหรับใครก็ตามที่สนใจใคร่รู้ชีวิตของหนึ่งในอัจฉริยบุคคลเพียงหยิบมือที่ไม่มีใครสงสัยในความเป็นอัจฉริยะ" - The Observer

"ในการบรรยายชีวิตและความคิดของนิวตันในหนังสือเล่มนี้ เกลกยังคงรักษามาตรฐานความเข้าใจอันแจ่มแจ้งและความชัดเจนในการใช้ถ้อยคำที่ได้สร้างระบบระเบียบให้กับความโกลาหลมาแล้วในหนังสือเล่มแรกของเขา" (Chaos: Making of a New Science, 1987) - The Daily Herald

"หนังสือชีวประวัติของเกลกเล่มนี้น่าจะเป็นเล่มที่อ่านเข้าใจได้ง่ายที่สุดที่เคยมีมา เขาเป็นนักเขียนที่มีความสละสลวยที่เดินเรื่องฉับไวทั้งยังไม่ได้ตื้นเขินในเนื้อหา เขาจับเนื้อแท้สำคัญในผลงานของนิวตันได้อย่างดีเยี่ยมและแสดงให้เห็นถึงความคิดของนิวตันต่อยุคสมัยจากมุมมองของตัวเองได้เป็นอย่างดี" - Financial Times

[con·tin·ue]

บทนำ (Isaac Newton)

บทที่ 1 เขาเหมาะกับงานอะไร (What Imployment Is He Fit For?)

บทที่ 2 ปัญหาทางปรัชญาบางประการ (Some Philosophical Questions)

บทที่ 3 แก้ปัญหาต่างๆ ด้วยการเคลื่อนที่ (To Resolve Problems by Motion)

บทที่ 4 โลกหลักทั้งสอง (Two Great Orbs)

บทที่ 5 ร่างกายและผัสสะ (Bodys & Senses)

บทที่ 6 การค้นพบอันแปลกประหลาดที่สุดหรือไม่ก็สำคัญอย่างที่สุด (The Oddest If not the Most Considerable Detection)

บทที่ 7 การหน่วงดึงและปฏิกิริยาตอบสนอง (Reluctancy and Reaction)

บทที่ 8 ท่ามกลางลมหมุน (In the Midst of a Whirlwind)

บทที่ 9 ทุกสิ่งล้วนไม่จีรัง (All Things Are Corruptible)

บทที่ 10 ความเห็นนอกรีต การดูหมิ่นศาสนา การหลงใหลบูชา (Heresy, Blasphemy, Idolatry)

บทที่ 11 ปฐมหลักการ (First Principles)

บทที่ 12 ทุกๆ สิ่งคงสภาพ (Every Body Perseveres)

บทที่ 13 เขาเหมือนมนุษย์คนอื่นหรือไม่? (Is He Like Other Men?)

บทที่ 14 ไม่มีใครเป็นพยานให้กับตัวเองได้ (No Man is a Witness in His Own Cause)

บทที่ 15 อนุสรณ์แห่งปัญญาอันล้ำเลิศ (The Marble Index of a Mind)

เชิงอรรถ (Notes)

กิตติกรรมประกาศและแหล่งข้อมูล (Acknowledgments and Sources)

เกี่ยวกับผู้แปล

ดร.ปิยบุตร บุรีคำ เกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2516 เมื่อยังเด็กเคยล้อเพื่อนที่บอกว่าฝันจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ว่าจะเป็นไปทำไมไม่เห็นรวย ต่อมาได้อ่านหนังสือแปลเกี่ยวกับไอน์สไตน์และทฤษฎีสัมพัทธภาพ รวมถึงหนังสือไอน์สไตน์ฉบับการ์ตูน จึงเกิดความดื่มด่ำกับความลึกซึ้งของธรรมชาติและพลังของการคิดด้วยตรรกะเหตุผล รวมถึงความตรงไปตรงมาของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จึงตัดสินใจไปศึกษาต่อวิชาฟิสิกส์ที่ประเทศญี่ปุ่น หลังศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษได้กลับมาทำงานเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่เกือบสามปี จึงได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในสาขาทฤษฎีฟิสิกส์ของอนุภาคพลังงานสูง ปัจจุบันได้กลับมาทำงานเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความตั้งใจใฝ่ฝันคือต้องการให้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์หยั่งรากลึกลงในสังคมไทยมากยิ่งๆ ขึ้น อยากเห็นเมืองไทยนำวิทยาศาสตร์เข้าไปมีส่วนในชีวิตของผู้คนมากขึ้น เป็นจิตวิญญาณที่ชี้นำสังคมไปในทางที่ถูกต้อง มีเหตุมีผล มีความวิไล

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page