โคเปอร์นิคัส ผู้ปฏิวัติดาราศาสตร์ (The Book Nobody Read: Chasing the Revolutions of Nicolaus Coperni
โคเปอร์นิคัส ผู้ปฏิวัติดาราศาสตร์
แปลจาก The Book Nobody Read: Chasing the Revolutions of Nicolaus Copernicus (2004)
เขียนโดย Owen Jay Gingerich แปลโดยนรา สุภัคโรจน์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง กุมภาพันธ์ 2553 (พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2552) จำนวน 392 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740205319
เรื่องราวของบิดาแห่งดาราศาสตร์สมัยใหม่และการแกะรอย "เด ริโวลูทิโอนิบุส (De Revolutionibus, 1543)" หนังสือที่พลิกโฉมวงการดาราศาสตร์โลก
หากโยฮันส์ เคปเลอร์ (Johannes Kepler: 1571-1630) คือผู้สร้างตำนานหน้าใหม่ในแวดวงดาราศาสตร์ นิโคลัส โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus: 1473-1543) นักดาราศาสตร์ในศตวรรษที่ 15 ก็คงเปรียบเสมือนครูผู้วางรากฐานแนวคิดใหม่ให้กับคนรุ่นหลัง เขาเสนอแนวคิดที่ว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ ส่วนโลกรวมทั้งดาวเคราะห์อื่นๆ นั้นโคจรรอบดวงอาทิตย์ และตีพิมพ์หนังสือชื่อ "เด ริโวลูทิโอนิบุส" (On the Revolutions of Heavenly Spheres การปฏิวัติทางโคจรแห่งดาวบนฟากฟ้า) เพื่ออธิบายการค้นคว้าของเขา ทว่าทางศาสนจักรคาทอลิกกลับต่อต้านหนังสือเล่มนี้ และนำหนังสือไปเผาและทำลายทิ้งจำนวนมาก กระทั่งหนังสือเล่มนี้เลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ผ่านมากว่า 3 ศตวรรษ โอเว่น กิงเกอริช (Owen Jay Gingerich: 1930-) ศาสตราจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) เริ่มแกะรอย "เด ริโวลูทิโอนิบุส" ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นหนังสือหายาก เพื่อจะพิสูจน์ว่าแม้จะเป็นหนังสือต้องห้าม แต่ก็มีนักดาราศาสตร์ชื่อดังมากมาย อาทิ เคปเลอร์, กาลิเลโอ (Galileo Galilei: 1564-1642), ไทโค บราห์ (Tycho Brahe: 1546-1601) ฯลฯ เคยอ่านหนังสือเล่มนี้และนำไปปรับใช้ "เด ริโวลูทิโอนิบุส" จึงเป็นหนังสือที่อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติวงการดาราศาสตร์อย่างแท้จริง
คำนำสำนักพิมพ์
ในปี 1965 โอเวน กิงเกอริช ศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์และประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ของสถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian Institution) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้รับมอบหมายให้กล่าวสุนทรพจน์ในงานเฉลิมฉลองครบรอบวันเกิด 500 ปีของนิโคลัส โคเปอร์นิคัส นักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวโปแลนด์ ด้วยเหตุนี้เขาจึงเริ่มศึกษาเรื่องราวของโคเปอร์นิคัส จึงนำไปสู่การไล่ล่าหาหนังสือ "เด ริโวลูทิโอนิบุส" (เกี่ยวกับการหมุนของวัตถุทรงกลมบนท้องฟ้า De Revolutionibus Orbium Coelestium) ผลงานของโคเปอร์นิคัสซึ่งตีพิมพ์ในศตวรรษที่ 16 และกลายเป็นหนังสืออันปฏิวัติองค์ความรู้ทางดาราศาสตร์ เนื่องจากโคเปอร์นิคัสลบล้างแนวคิดของพโตเลมี (Claudius Ptolemy: 100-170 AD, Alexandria, Egypt) และนำเสนอแนวคิดใหม่ที่ว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ ส่วนโลกและดาวเคราะห์ล้วนโคจรรอบดวงอาทิตย์ทั้งสิ้น ทว่าหนังสือเล่มนี้กลับถูกแบนจากศาสนจักรโรมันคาทอลิกด้วยเหตุที่ว่าแนวคิดนี้ขัดกับความเชื่อในพระคัมภีร์นั่นเอง
กิงเกอริชเดินทางไปทั่วโลก จากอเมริกาถึงโปแลนด์ อังกฤษ เยอรมนี ข้ามทวีปไปถึงจีน แวะตามร้านขายหนังสือเก่า เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และห้องสมุด รวมทั้งเข้าร่วมประมูลหนังสือเก่าที่จัดโดยสถาบันต่างๆ เพื่อแกะรอยว่า "เด ริโวลูทิโอนิบุส" ถูกขายต่อไปที่ใด ใครเคยเป็นเจ้าของ แล้วเขาก็พบความจริงอันน่าตื่นตะลึงว่าหนังสือที่ตีพิมพ์ในศตวรรษที่ 16 เล่มนี้มีมูลค่าขั้นต่ำในตลาดประมูลหนังสือถึง 5,000 เหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะฉบับพิมพ์ครั้งแรกจะมีมูลค่าหลายแสนเหรียญ ซึ่งมากกว่าหนังสือ "แอสโตรโนเมีย โนวา (Astronomia Nova, 1609)" ของโยฮันส์ เคปเลอร์ หรือแม้แต่ "เซเดริอุส นุนซิอุส (Sidereus Nuncius หรือ The Starry Messenger, 1610)" ของกาลิเลโอ นอกจากนี้เขายังพบว่า "เด ริโวลูทิโอนิบุส" ส่วนใหญ่จะมีบันทึกของผู้เป็นเจ้าของซึ่งบางคนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เช่น ไทโค บราห์, ไอแซค นิวตัน (Isaac Newton: 1642-1727) เป็นต้น
ในหนังสือ "โคเปอร์นิคัส ผู้ปฏิวัติดาราศาสตร์ (The Book Nobody Read)" กิงเกอริชบอกเล่าเรื่องราวการตามล่าหนังสือควบคู่ไปกับเกร็ดชีวิตของโคเปอร์นิคัส เช่น อันที่จริงแล้วโคเปอร์นิคัสไม่ได้เป็นเพียงนักดาราศาสตร์เท่านั้น เขาเคยเรียนแพทย์ในอิตาลีและใช้วิชาความรู้รักษาคนไข้มากมาย นอกจากนี้ยังเป็นนักคณิตศาสตร์และนักบวชในนิกายคาทอลิก เป็นเหตุให้แนวคิดอันแตกต่างของเขาถูกจับตามองทั้งจากคนในศาสนจักรและคนภายนอก นอกจากนี้เขายังไม่ได้คิดจะตีพิมพ์ "เด ริโวลูทิโอนิบุส" ตั้งแต่แรก แต่กลับใจอ่อนเมื่อได้เห็นตัวอย่างหนังสือที่พิมพ์อย่างประณีตซึ่ง เกออร์ก โยอาคิม เรติคุส (Georg Joachim Rheticus: 1514-1574) ศาสตราจารย์ทางด้านคณิตศาสตร์ที่วิตเตนแบร์ก (University of Wittenberg, Germany) นำติดตัวมาที่โปแลนด์ด้วย ไม่เพียงเท่านั้น กิงเกอริชยังได้กล่าวถึงนักดาราศาสตร์หลายคนที่เกี่ยวโยงกับหนังสือ "เด ริโวลูทิโอนิบุส" เพื่อช่วยให้เห็นภาพชัดเจนว่าหนังสือทรงคุณค่าเล่มนี้ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันได้อย่างไร
การสำรวจของกิงเกอริชยืนยันความจริงที่ว่าโคเปอร์นิคัสเป็นบิดาแห่งดาราศาสตร์ยุคใหม่อย่างแท้จริง แม้จะเคยมีนักวิชาการหลายคนกล่าวอ้างว่าหนังสือของเขามีศัพท์เทคนิคมากมายทำให้ยากต่อการเข้าใจ ประกอบกับการถูกแบนทำให้หนังสือเล่มนี้หายาก ถึงขนาดกล่าวว่า "เป็นหนังสือที่ไม่มีใครอ่าน" จะมีก็เพียงแต่ปัญญาชนหัวก้าวหน้าไม่กี่คนในยุคนั้น ทว่าจากบันทึกแทรกแสดงความเห็นต่อประเด็นต่างๆ ใน "เด ริโวลูทิโอนิบุส" ของบรรดาเจ้าของหนังสือที่กิงเกอริชค้นพบทำให้เห็นว่าแนวคิดดาราศาสตร์ของโคเปอร์นิคัสได้รับการเผยแพร่ รวมทั้งพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากระบบที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง นำไปสู่การประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์จนค้นพบวงโคจรที่ซับซ้อนของดาวเคราะห์ต่างๆ รวมถึงแกแล็กซี่อื่นๆ กระทั่งในปัจจุบันมีการสร้างยานอวกาศเพื่อสำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ไม่เพียงเท่านั้น นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ยังค้นพบการมีอยู่ของดาวนิวตรอนและหลุมดำ ซึ่งจะนำไปสู่การไขปริศนาจุดกำเนิดของเอกภพในอนาคต ฯลฯ
เห็นได้ชัดว่าความก้าวหน้าทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาล้วนต่อยอดมาจากแนวคิดของโคเปอร์นิคัสและเด ริโวลูทิโอนิบุส หนังสือดาราศาสตร์อันทรงคุณค่าของเขา ซึ่งได้สร้างคุณูปการให้กับวงการดาราศาสตร์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน
คำนำผู้แปล
ในปี 1543 นิโคลัส โคเปอร์นิคัส นักดาราศาสตร์ซึ่งเป็นบาทหลวงคาทอลิกได้ตีพิมพ์ "เด ริโวลูทิโอนิบุส" หนังสือปฏิวัติแนวคิดดาราศาสตร์ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับคริสต์ศาสนจักร ซึ่งแต่เดิมเชื่อว่าโลกอยู่นิ่งกับที่ มีดวงอาทิตย์และดาวอื่นโคจรอยู่รอบๆ
"เด ริโวลูทิโอนิบุส" หนังสือที่เต็มไปด้วยเรื่องเชิงเทคนิคนี้ถูกนักประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ชื่อดังตราว่าเป็น The Book Nobody Read หรือหนังสือที่ไม่มีใครอ่าน ซึ่งกลายมาเป็นชื่อภาษาอังกฤษในมือผู้อ่าน เรื่องราวและแรงบันดาลใจของหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นเมื่อโอเวน กิงเกอริช ผู้เขียนซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์เผอิญไปพบกับหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งมีบันทึกอย่างละเอียดที่เผยให้เห็นว่าหนังสือไม่ได้แค่มีผู้อ่านเท่านั้น แต่ยังได้รับการศึกษาอย่างจริงจัง และจุดประกายให้เขาอยากรู้ว่าจริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้ได้รับการต้อนรับจากคนในยุคนั้นอย่างไร
และนี่คือสุดยอดเรื่องราวแห่งการไล่ล่าติดตามหนังสือ "เด ริโวลูทิโอนิบุส" ที่อยู่รอดมาถึงปัจจุบัน ซึ่งใช้เวลาถึง 30 ปีในการแกะรอยย้อนไปถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 จากอังกฤษสู่เยอรมนี โปแลนด์ อิตาลี ฝรั่งเศส รัสเซีย สหรัฐอเมริกา... จัดได้ว่าเป็นเรื่องราวสนุกสนานเฉพาะตัวที่มีเอกลักษณ์น่าทึ่งที่สุดเรื่องหนึ่งของวงการหนังสือ
[con·tin·ue]
บทนำ (Preface)
บทที่ 1 วันหนึ่งในศาล (A Day in Court)
บทที่ 2 ไล่ล่า (The Chase Begins)
บทที่ 3 ตามรอยโคเปอร์นิคัส (In the Steps of Copernicus)
บทที่ 4 ผังเพรตเซิลและความเชื่อเรื่องวงโคจรย่อย (The Lenten Pretzel and the Epicycles Myth)
บทที่ 5 เสริมโดยชายมีชื่อเสียงท่านหนึ่ง (Embellished by a Distinguished Man)
บทที่ 6 วินาทีแห่งความจริง (The Moment of Truth)
บทที่ 7 ความเกี่ยวโยงกับวิททิค (The Wittich Connection)
บทที่ 8 ยิ่งใหญ่ยิ่งอยู่นาน (Bigger Books Linger Longer)
บทที่ 9 เกมต้องห้าม (Forbidden Games)
บทที่ 10 ศูนย์กลางของจักรวาล (The Hub of the Universe)
บทที่ 11 วิทยาลัยไร้ตัวตน (The Invisible College)
บทที่ 12 อิทธิพลของดาวเคราะห์ (Planetary Influences)
บทที่ 13 สตรีที่ปรุงโฉมแล้ว (Sophisticated Ladies)
บทที่ 14 หลังม่านเหล็ก ก่อนและหลัง (The Iron Curtain: Before and After)
บทที่ 15 สู่แท่นพิมพ์ (Putting the Census to Bed)
บทส่งท้าย (Epilogue)
ภาคผนวก 1 จากอีควอนต์สู่วงโคจรย่อย (From Equant to Epicyclet)
ภาคผนวก 2 สถานที่พบ "เด ริโวลูทิโอนิบุส" (Locations of De Revolutionibus)
หมายเหตุ-บรรณานุกรม (Bibliographic Notes)
"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)
Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com