นิโคลา เทสลา อัจฉริยะนักฝันผู้เดียวดาย (Prodigal Genius: The Life of Nikola Tesla)
นิโคลา เทสลา อัจฉริยะนักฝันผู้เดียวดาย
แปลจาก Prodigal Genius: The Life of Nikola Tesla (2008)
เขียนโดย John Joseph O'Neill แปลโดย ดร.ยุทธนา ตันติรุ่งโรจน์ชัย สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2560 จำนวน 376 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740215448
เรื่องราวชีวิตของยอดนักประดิษฐ์ผู้เปลี่ยนโลก แต่กลับไร้ซึ่งชื่อเสียง ลาภยศ และความรัก
นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla: 1856-1943) วางแผนที่จะอุทิศชีวิตทั้งหมดให้แก่งาน ด้วยเหตุนี้เขาจึงปฏิเสธความรักและการมีความสัมพันธ์กับสตรี เขาเชื่อว่านักเขียนหรือนักดนตรีควรแต่งงาน พวกเขาจะได้รับแรงบันดาลใจจากการแต่งงานอันนำไปสู่ความสำเร็จชั้นเลิศ แต่นักประดิษฐ์คิดค้นนั้นมีลักษณะพื้นฐานโดยธรรมชาติที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์รักอันรุนแรง จนหากเขาเกิดความรักกับหญิงใด เขาจะมอบให้เธอทั้งกายและใจ ยอมสละทุกสิ่งละทิ้งทุกอย่างจากเส้นทางที่เขาเลือกเดิน มันเป็นเรื่องน่าเศร้าและบางครั้งก็ทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวยิงนัก
คำนำสำนักพิมพ์
อารยธรรมมนุษย์ก้าวหน้ามาจนถึงยุคปัจจุบันด้วยการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ ผลงานการค้นพบ คิดค้น ทดลอง และประดิษฐ์โดยเหล่าอัจฉริยะทั้งหลาย นำมาซึ่งเทคโนโลยีที่บางชิ้นเปลี่ยนแปลงโลกในเวลาชั่วข้ามคืน อัจฉริยะเหล่านี้เหมือนเป็นยอดมนุษย์ มีพลังสร้างสรรค์สิ่งที่อยู่ไกลเกินขอบเขตจินตนาการของคนทั่วไป หนึ่งในข้อค้นพบและการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงโลกมากที่สุดคงจะเป็นระบบไฟฟ้าซึ่งกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานของสังคมมนุษย์ในยุคปัจจุบันไปแล้ว ไม่ว่าจะระบบเศรษฐกิจ การสื่อสารยุคใหม่ ไปจนความสะดวกสบายและคุณภาพชีวิตที่ไม่อาจคาดคิดถึงหากไม่มีระบบไฟฟ้า ความสะดวกสบายดังกล่าวคงเป็นไปไม่ได้หากขาดบุคคลสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง นั่นคือนิโคลา เทสลา
เทสลาเป็นต้นแบบนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะสติเฟื่องที่เรามักเห็นในภาพยนตร์ เขามีพรสวรรค์และความปราดเปรื่องล้ำสมัยของเขามาก เขาเป็นผู้เปิดประตูสู่ยุคใหม่ คิดค้นเครื่องมือกลไกล้ำสมัยมากมาย หลายๆ เรื่องดูเหมือนเป็นเรื่องเพ้อฝันเกินจริง บางเรื่องก็ดูเหมือนเป็นเวทมนตร์ในเทพนิยายสำหรับยุคนั้น ทั้งการส่งพลังงานไฟฟ้าแบบไร้สาย ระบบบังคับกลไกผ่านคลื่นวิทยุหรือรังสีเอ็กซ์ ก่อนที่วงการวิทยาศาสตร์จะมีความเข้าใจอันดีในเรื่องเหล่านี้
เทสลาไม่ใช่คนที่พอใจกับลาภยศ ชื่อเสียง หรือเงินทอง เขาใฝ่ฝันและมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงโลกด้วยการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่และจะไม่หยุดทุ่มเทจนกว่าจะประสบผลสำเร็จ ถึงขนาดวางกฎระเบียบในการใช้ชีวิตอย่างเข้มงวด ออกแบบตัวเขาเองให้เป็นยอดจักรกลมนุษย์ อุทิศตนเองเพื่อวิทยาการ ความทุ่มเทนี้เองที่กลับกลายเป็นดาบสองคม เขาไม่สนใจกำไรทางธุรกิจและการรักษาผลประโยชน์ที่จำเป็นในการดำเนินการวิจัย เขาปฏิเสธความสัมพันธ์และความรักด้วยเกรงว่าจะมารบกวนการประดิษฐ์คิดค้น เทสลายังคงไม่ทิ้งความฝันของเขาจวบจนชีวิตหาไม่ เขายังคงพูดถึงระบบเครือข่ายพลังงานไร้สายระดับโลก แต่สำหรับหลายๆ คน เขาไม่ต่างจากนักฝันที่ต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างเดียวดาย ไม่มีทั้งมิตรสหายหรือครอบครัวข้างกาย สิ่งประดิษฐ์หลายชิ้นของเขาถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยที่ตัวเขาไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือการยกย่องใดๆ เรื่องราวชีวิตของเขาไม่ใช่เพียงชีวประวัติของนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ แต่ยังเป็นเรื่องของยอดคนผู้เดียวดายที่ทุ่มเททุกสิ่งเพื่อพัฒนาวิทยาการของมนุษย์
คำนำผู้แปล
เมื่อครั้งที่ผู้แปลเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและได้ร่วมเข้าค่ายอบรมฟิสิกส์โอลิมปิก ดร.วุทธิพันธุ์ ปรัชญพฤทธิ์ ปรมาจารย์ทางฟิสิกส์ที่สอนได้ดีที่สุดในประเทศไทย ได้บรรยายและสาธิตให้ผู้แปลเห็นถึงปรากฏการณ์การเพิ่มความต่างศักย์อย่างมากจนเกิดสปาร์คไฟฟ้าดั่งฟ้าแลบขนาดเล็กในห้องปฏิบัติการชั้น 4 ตึกฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้แปลยังจำได้ดีถึงเสียงสปาร์ค ไฟแปลบปลาบ กลิ่นเหม็นคล้ายคาวปลาทั่วบริเวณ และการกระตุ้นหลอดไฟเปล่าให้สว่างขึ้นมาได้
นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้แปลได้รู้จักกับเรื่องราวของนิโคลา เทสลา ต่อมาเมื่อได้ค้นคว้าศึกษาต่อในขั้นสูง ผู้แปลรู้สึกประหลาดใจเสมอมาที่เทสลาแทบไม่เป็นที่รู้จักเลยในวงกว้าง ผู้คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าผลงานด้านไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันเป็นความก้าวหน้าที่เกิดจากโธมัส เอดิสัน (Thomas Alva Edison: 1847-1931) ทั้งที่ระบบไฟฟ้ากระแสสลับที่เราใช้ในชีวิตประจำวันในปัจจุบัน เทสลามีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาขึ้นมา ตลอดเวลาที่ผ่านมา ชื่อเสียงของเทสลายังคงเป็นที่กล่าวขานอยู่บ้าง มีผู้คนกลุ่มเล็กๆ ที่ตระหนักและเห็นถึงคุณค่าของผลงานที่เขาได้สร้างสรรค์ให้แก่โลก ผู้แปลเชื่อว่าชีวิตของเทสลาควรได้รับการเผยแพร่ให้รู้จักในวงกว้าง และเทสลาก็ควรได้รับเครดิตอย่างเหมาะสมต่อผลงานของเขา แต่เนื่องจากวิถีชีวิตแปลกประหลาดและการไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลของสิ่งที่เขาค้นคว้าวิจัย จึงทำให้ชื่อของเขามักถูกนำไปเชื่อมโยงหรืออ้างอิงโดยกลุ่มผู้มีแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์เทียม (pseudoscience)
ชื่อเสียงของเทสลาได้รับความสนใจของผู้คนในวงกว้างอีกครั้งจากภาพยนตร์เรื่อง The Prestige (ศึกมายากลหลุดโลก) กำกับโดยคริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Edward Nolan: 1970-) ในปี 2006 ที่มีเดวิด โบวี่ (David Robert Jones or David Bowie: 1947-2016) รับบทเป็นเทสลา และจากรถยนต์ไฟฟ้า บริษัทเทสลามอเตอร์ส (Tesla Motors, Inc.) ที่มีอีลอน มัสก์ (Elon Reeve Musk: 1971-) เป็นซีอีโอ ในอนาคตอันใกล้นี้ก็จะมีภาพยนตร์ที่เล่าถึงการแข่งขันระหว่างเอดิสันและเทสลาในการพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่ออุตสาหกรรม
ทางสำนักพิมพ์มติชนได้ให้ความสนใจที่จะเผยแพร่ประวัติของสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ และวิศวกรไฟฟ้าของโลกท่านนี้ให้ผู้คนในวงกว้างได้รับรู้ และได้เลือกหนังสือ "นิโคลา เทสลา อัจฉริยะนักฝันผู้เดียวดาย (Prodigal Genius: The Life of Nikola Tesla, 2008) โดยจอห์น โอนีล (John Joseph O'Neill: 1889-1953) ซึ่งถือเป็นชีวประวัติของเทสลาฉบับสมบูรณ์ที่สุดมาแปลให้ผู้อ่านชาวไทยได้รู้จักกับเทสลามากยิ่งขึ้น
[con·tin·ue]
ตอนที่ 1 แสงสว่างและพลังอำนาจ (Light and Power)
บทที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7
ตอนที่ 2 โชคลาภและชื่อเสียง (Fortune and Fame)
บทที่ 8, 9, 10, 11
ตอนที่ 3 การสั่นสะเทือนที่เกิดจากภายใน (Internal Vibration)
บทที่ 12, 13, 14, 15
ตอนที่ 4 ยอดคนผู้สร้างคน (Self-Made Superman)
บทที่ 16, 17
ตอนที่ 5 แสงสายัณห์ (Afterglow)
บทที่ 18, 19, 20
กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgments)
"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)
Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com