top of page

ค่าของความว่างเปล่า (The Value of Nothing: How to Reshape Market Society and Redefine Democracy)


หนังสือแปลชุดเศรษฐศาสตร์น่ารู้ (Economics Series)

ค่าของความว่างเปล่า

แปลจาก The Value of Nothing: How to Reshape Market Society and Redefine Democracy (2010)

เขียนโดย Raj Patel แปลโดยสฤณี อาชวานันทกุล สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2555 จำนวน 288 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740208693

คุณตีค่าความว่างเปล่าได้ไหม ถึงเวลาปฏิรูปสังคมตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยกำไร และสร้างนิยามใหม่ของประชาธิปไตย ค่าของความว่างเปล่านำเสนอแง่มุมอันสดใหม่และเข้าถึงได้ง่ายในการมองเศรษฐกิจและทางเลือกที่เราทุกคนต้องตัดสินใจเพื่อสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน

"นี่เป็นหนังสือที่กระตุ้นความคิดได้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เราต้องทำเพื่อกู้โลกใบนี้จากความบ้าคลั่งทางการเงิน" - นาโอมิ ไคลน์ (Naomi Klein: 1970-) ผู้เขียน The Shock Doctrine (2007)

"ค่าของความว่างเปล่าเป็นหนังสือที่ล้ำค่ายิ่ง มันทำให้เราได้เห็นทางสว่างกลางโลกมืดของป่าเศรษฐกิจ" - ไมเคิล พอลแลน (Michael Pollan: 1955-) ผู้เขียน แถลงการณ์นักกิน (In Defense of Food, 2008)

คำนำสำนักพิมพ์

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงที่ผ่านมาได้บีบให้ทุกคนต้องหันมาพิจารณาสิ่งต่างๆ ในชีวิตด้วยแง่มุมใหม่ โดยเฉพาะปัจจัยที่ส่งผลทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ เพราะนั่นคือสิ่งที่กระทบถึงปากท้อง รายได้ส่วนบุคคล รายได้ประชาชาติ และความอยู่รอดในภาพรวมของทุกคนในสังคม แต่ใครจะรู้ว่าบางทีตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาอาจมาจากมุมคิดที่ติดตัวเรามาเป็นระยะเวลานานและได้รับการเชิดชูอย่างต่อเนื่องอย่างระบบทุนนิยมก็เป็นไปได้

ราช ปาเทล (Raj Patel: 1972-) นักเศรษฐศาสตร์ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้หยิบยกเอาความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มาอ้างอิงข้อสันนิษฐานที่ว่ากรอบคิดแบบทุนนิยมที่ครอบงำสังคมปัจจุบัน ทำให้ราคาของสิ่งต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของมัน มิหนำซ้ำยังพาเราไปผิดทิศผิดทางมากขึ้นเรื่อยๆ ปาเทลชี้ว่าระบอบเศรษฐกิจปัจจุบันแปะป้ายราคาให้กับแทบทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งสิ่งมีคุณค่าที่คนในอดีตไม่เคยคิดว่าจะตีราคาได้ เช่น น้ำ อากาศ เป็นต้น นอกจากนี้ ทรัพยากรธรรมชาติที่เราไม่เคยคิดว่าจะมีวันหมด เช่น แหล่งประมง ป่าไม้ และแร่โลหะหลายชนิดก็กำลังอันตรธานไปต่อหน้าต่อตาตามอัตราเร่งของเทคโนโลยีที่ตักตวงทรัพยากรธรรมชาติไปแปลงเป็นผลิตภัณฑ์มาป้อนระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยมหกรรมบริโภคนิยม จนกลายเป็นวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ร้ายแรงมากในปัจจุบัน

ตัวละครสำคัญในเรื่องนี้คือ มนุษย์เทียมหรือบรรษัทขนาดใหญ่ที่มีอำนาจผูกขาดสูงมากจนสามารถควบคุมทั้งราคาในตลาดและอุปทาน รวมทั้งแทรกแซงกลไกรัฐและบั่นทอนระบอบประชาธิปไตย ประกอบกับปรัชญาตลาดเสรีที่เชื่อมั่นในตลาดที่เคลื่อนไหวด้วยกำไรและมองว่ามนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจเพียงมิติเดียว อันเป็นปรัชญาที่ส่งผลให้ระบอบเศรษฐกิจปัจจุบันเป็นระบอบที่ราคาสินค้ามีความสัมพันธ์กับคุณค่าที่แท้จริงน้อยมาก

"ค่าของความว่างเปล่า (The Value of Nothing)" เป็นหนังสือที่วิเคราะห์ถึงรากฐานของปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาโลกในวันนี้ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา และอธิบายเรื่องราวที่ซับซ้อนด้วยถ้อยคำที่เรียบง่ายอย่างเหลือเชื่อ นอกจากเราจะได้รู้ว่าเหตุใดราคากับมูลค่าจึงเดินสวนทางกันในปัจจุบันแล้ว เราจะได้เปิดมุมมองใหม่ถึงความพยายามต่างๆ ในระดับท้องถิ่นทั่วโลกที่กำลังหาทางออกจากระบบการเงินแบบรถไฟเหาะตีลังกาที่ครอบงำเศรษฐกิจและสังคมอยู่ ผ่านตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจ ตั้งแต่ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือของกลุ่มซาปาติสตาในเม็กซิโก ไปจนถึงการจัดการทรัพยากรส่วนรวมอย่างไม่เหมือนใครของสมาคมเดคคานพัฒนาที่สมาชิกเป็นกลุ่มสตรียากจนในอินเดีย นี่คือหนังสือเล่มสำคัญที่จะเปิดหูเปิดตา พลิกมุมคิด และมอบความหวังให้เรา ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมที่กดดันเราอยู่ในตอนนี้

ความในใจผู้แปล

"อนาคตที่ยั่งยืนจะต้องมีตลาด หากแต่เป็นตลาดที่ถูกกำกับให้อยู่ในพื้นที่ของตัวเองอย่างมั่นคง หาไม่แล้วแรงจูงใจความหลงใหลและทรัพยากรที่คนไม่กี่คนได้รับจากตลาดจะหักหลังสังคมและดาวเคราะห์ดวงนี้ต่อไป" - ราช ปาเทล (Raj Patel)

หลังจากศตวรรษที่ 21 เปิดฉากได้ไม่ถึงหนึ่งทศวรรษ โลกก็เผชิญกับความวุ่นวายโกลาหลครั้งใหญ่ เริ่มจากวิกฤตการเงินในอเมริกาซึ่งฉุดเศรษฐกิจโลกทั้งใบไปหายใจรวยรินอยู่ปากเหว ยังไม่นับปัญหาระดับโลกอีกมากมายที่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ออกมาเตือนว่าเข้าขั้นวิกฤตแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ความหลากหลายทางชีวภาพหดหาย น้ำใต้ดินเหือดแห้ง พลังงานฟอสซิลร่อยหรอ ฯลฯ ต่อหน้าปัญหาเหล่านี้คนมักจะแบ่งออกเป็นสองค่ายตรงข้าม ฝ่ายหนึ่งก่นด่าระบบทุนนิยมตลาดเสรีอย่างรุนแรงว่าเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งมวล และดังนั้นจึงต้องโละทิ้ง หาระบบใหม่ที่ยั่งยืนกว่า อีกฝ่ายก่นด่ารัฐบาลว่าเชื่องช้าบวกคอร์รัปชั่น ไม่มีทางแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที สู้ปล่อยให้ตลาดเสรีใช้กำไรสร้างแรงจูงใจให้รับมือกับปัญหาไม่ได้ ยิ่งธุรกิจเป็นตัวการเท่าใด ธุรกิจยิ่งต้องมองเห็นอนาคตอันมืดมน คิดค้นนวัตกรรม และใช้กลไกตลาดในการแก้ปัญหาเท่านั้น

ราช ปาเทล นักข่าวและนักเคลื่อนไหวผู้เฝ้าติดตามการทำงานและผลพวงของกลไกตลาดมาอย่างยาวนาน ปฏิเสธมุมมองของทั้งสองค่ายที่ครอบงำการถกเถียง ประกาศอย่างกล้าหาญในหนังสือเล่มนี้ว่าอนาคตที่ยั่งยืนของมนุษยชาติจำต้องมีตลาดเสรี แต่จะต้องเป็นตลาดโฉมใหม่ที่อยู่ภายใต้กำกับของสังคมและไม่ก้าวล่วงไปในพื้นที่ซึ่งตลาดเสรีใช้การไม่ได้ ผู้เขียนยกตัวอย่างมากมายมาชี้ให้เห็นว่าความเชื่อที่ว่าตลาดจัดการตัวเองได้อยู่แต่ในตำราทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เท่านั้น ในโลกแห่งความจริง ราคาที่เราจ่ายสำหรับสินค้าและบริการทุกชนิดล้วนถูกกลไกในตลาดเสรีบิดเบือนอย่างเป็นระบบจนไม่มีทางสะท้อนคุณค่าที่แท้จริง ในเมื่อแนวคิดสัตว์เศรษฐกิจไม่แยแสต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของกิจกรรมมนุษย์ กิจกรรมของสัตว์เศรษฐกิจจึงย่อมก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปาเทลเสนอว่าระบบการบริหารจัดการทรัพยากรซึ่งเอากำไรเป็นตัวตั้งนั้นทำลายความสามารถเก่าแก่ที่มนุษย์เคยมี นั่นคือความสามารถในการใช้และจัดสรรทรัพยากรในทางที่เป็นธรรมและยั่งยืน เขาพาเราไปสำรวจขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่กำลังเบ่งบานในฐานะปฏิกิริยาต่อตลาดที่เถลิงอำนาจเกินเลย กลุ่มคนและองค์กรต่างๆ มากมายทั่วโลกที่กำลังต่อต้านการแปลงทุกอย่างให้เป็นสินค้า ต้านทานการทำลายทรัพยากรส่วนรวม และหนุนเสริมวิถีชีวิตและวิธีจัดการที่อยู่นอกตลาด แต่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนกว่า

ไม่ว่าท่านจะรักทุนนิยม เกลียดทุนนิยม หรือเฉยๆ กับทุนนิยม ผู้แปลหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นส่วนเล็กๆ ในการขยับขยายพรมแดนการถกเถียงให้เคลื่อนพ้นไปจากโลกทัศน์แบบเอา-ไม่เอา หรือตาย-ไม่ตาย เข้าสู่การถกเถียงในเนื้อหาสาระหลังจากที่ตระหนักในคุณูปการของทุนนิยมแล้วว่าเหตุใดตลาดเสรีจึงไม่รู้ดีที่สุด สังคมควรกำกับตลาดอย่างไร มีเรื่องใดบ้างที่ตลาดใช้การไม่ได้ และในเรื่องเหล่านั้นเราควรใช้กลไกอื่นใดในการจัดการ

[con·tin·ue]

ส่วนที่หนึ่ง

"คนทุกวันนี้รู้ราคาของทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ไม่รู้มูลค่าของอะไรเลย (Nowadays people know the price of everything and the value of nothing.)" - ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Fingal O'Flahertie Wills Wilde: 1854-1900)

ถ้าหากสงครามเป็นวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าสอนภูมิศาสตร์ให้กับชาวอเมริกัน ภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็เป็นวิธีที่ท่านสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ การล่มสลายของภาคการเงินแสดงให้เห็นว่ามันสมองของพ่อมดคณิตศาสตร์ที่ฉลาดปราดเปรื่องที่สุดในโลก ผู้มีทุนหนุนหลังมหาศาลที่สุด หาได้สร้างเครื่องยนต์แห่งความเจริญถาวรอันโฉบเฉี่ยวที่สุดไม่ หากได้สร้างรถขนตัวตลกแห่งการค้า การแลกเปลี่ยน และคำท้าแบบนักพนันซึ่งวันหนึ่งก็พังทลายลงเป็นชิ้นๆ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยไม่ได้เกิดจากภาวะขาดแคลนองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ แต่เกิดจากภาวะขาดแคลนความรู้ชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ นั่นคือสปิริตหรือจิตวิญญาณแห่งทุนนิยมที่ล้นเกิน ประกายแห่งตลาดเสรีทำให้เราตาบอดจนไม่เห็นวิธีมองโลกแบบอื่น ดังที่ออสการ์ ไวลด์ กล่าวไว้เมื่อหนึ่งศตวรรษก่อนว่า "คนทุกวันนี้รู้ราคาของทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ไม่รู้มูลค่าของอะไรเลย ​" ราคาแสดงตัวเป็นมัคคุเทศก์ที่เอาแต่ใจ การล่มสลายของภาคการเงินปี 2008 เกิดในปีเดียวกันกับวิกฤตอาหารและวิกฤตน้ำมัน แต่แล้วเราก็ดูเหมือนจะไม่สามารถมองเห็นหรือตีค่าโลกของเราผ่านเลนส์อื่นที่ไม่ใช่เลนส์ตลาดที่บกพร่อง

บทที่ 1 ข้อบกพร่อง (The Flaw)

"ตอนนี้ในวิสัยทัศน์กำลังสี่ ที่ข้ามีข้าจะใช้ให้หรรษา กำลังสามในความมืดของบิวลาห์ กำลังสองตลอดมา-ตลอดไป ขอพระเจ้าประทานพรในดวงจิต อย่าสถิตโลกทัศน์หนึ่งวิสัย มองโลกจากหลายมุมหลากความนัย นิวตันไซร์อย่าให้ท่านได้นิทรา!" - บทกวีจากอักษร (Poems from Letters) โดยวิลเลี่ยม เบลค (William Blake: 1757-1827)

บทที่ 2 การกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจ (Becoming Homo Economicus)

"มันคือกาฬโรคแห่งยุค เมื่อเหล่าคนบ้านำทางคนตาบอด (Tis the time's plague when madmen lead the blind.)" - วิลเลี่ยม เชคสเปียร์ (William Shakespeare: 1564-1616)

บทที่ 3 บรรษัท (The Corporation)

"ผู้ใดที่ต่อกรกับสัตว์ประหลาดพึงระวัง หาไม่แล้วเขาอาจกลายเป็นสัตว์ประหลาดเสียเอง และถ้าหากเจ้าเพ่งมองลงไปในหุบเหวเนิ่นนาน หุบเหวนั้นก็จะเพ่งมองเข้าไปในตัวเจ้าเช่นกัน (He who fights with monsters should take care lest he thereby become a monster. And if you gaze for long into an abyss, the abyss gazes also into you.)" - ฟรีดริช นิทเช่ (Friedrich Wilhelm Nietzsche: 1844-1900)

บทที่ 4 ว่าด้วยเพชรและน้ำ (On Diamonds and Water)

"ทุนนิยมคือความเชื่อที่เหลือเชื่อว่าคนที่เลวร้ายที่สุดจะทำในสิ่งที่เลวร้ายที่สุดเพื่อประโยชน์สุขที่มากที่สุดของคนอื่น (Capitalism is the extraordinary belief that the nastiest of men for the nastiest of motives will somehow work together for the benefit of all.)" - จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes: 1883-1946)

บทที่ 5 สัตว์ไม่เศรษฐกิจ (Anti-Economic Man)

"เราตั้งปฏิญาณว่าผู้ล่วงลับจะไม่สิ้นชีพโดยเปล่าดาย ชาตินี้ภายใต้พระผู้เป็นเจ้าจะมีกำเนิดใหม่แห่งเสรีภาพ รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน จะต้องไม่ปลาสนาการไปจากโลก (that we here highly resolve that these dead shall not have died in vain, that this nation under God shall have a new birth of freedom, and that government of the people, by the people, for the people shall not perish from the earth)" - อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln: 1809-1865) สุนทรพจน์เก็ตตีส์เบิร์ก (Gettysburg Address, 1863)

บทที่ 6 พวกเราเหล่าสาธารณชน (We are all Commoners)

"การคิดว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อรับใช้ผู้ประดิษฐ์มีเหตุมีผลกว่าจะคิดว่ามันถูกประดิษฐ์ขึ้นมาทำร้ายผู้ประดิษฐ์" - ฌอง ฌาคส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau: 1712-1778) ปราฐกถาว่าด้วยความเหลื่อมล้ำ

ส่วนที่สอง

"การรู้ว่าทุกคนมีที่นั่งบนโต๊ะก็เรื่องหนึ่ง แต่เราจะรู้วิธีที่จะทำให้ทุกคนมีสตางค์จ่ายค่าอาหารมื้อนั้นได้อย่างไร" - บารัค โอบามา (Barack Hussein Obama: 1961-) สุนทรพจน์ ณ สมาคมการต่อสู้ของคนผิวดำเพื่อเข้าร่วมงานเลี้ยงกองทุนเสรีภาพ (2005)

บทที่ 7 ขบวนต่อต้านและสิทธิที่จะมีสิทธิ (The Countermovement and the Right to Have Rights)

"อยู่อย่างเสรี หรือไม่ก็ตาย!" - คำขวัญประจำมลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ (New Hampshire)

"ถ้าไม่มอบอิสรภาพให้ ก็จงมอบความตายมาเถิด!" - แพทริก เฮนรี่ (Patrick Henry: 1736-1799) ขณะเรียกร้องให้พลเมืองลุกฮือขึ้นสู้กับจักรวรรดิอังกฤษ

บทที่ 8 ประชาธิปไตยในเมือง (Democracy in the City)

"หน้าที่หลักของการเคลื่อนไหวทางสังคม คือทำให้คนรวยอยู่ในพื้นที่ที่ควรอยู่" - ชามิตา ไนดู (Shamita Naidoo) นักกิจกรรมขบวนเคลื่อนไหวชาวสลัมอาบาห์ลาลี เบสมจอนโดโล (Abahlali baseMjondolo)

บทที่ 9 คืนสู่อธิปไตยอาหาร (Back to Food Sovereignty)

"ผมเป็นอันสองอันเดียวกันกับธรรมชาติ" - วู้ดดี้ อัลเลน (Heywood "Woody" Allen: 1935-)

บทที่ 10 อาการตาบอดแอนตอง (Anton's Blindness)

"ไม่มีอะไรเกิดจากไม่มีอะไร จงพูดใหม่อีกทีเถิด" - วิลเลี่ยม เชคสเปียร์ (William Shakespeare: 1564-1616)

เชิงอรรถท้ายเล่ม (Notes)

บรรณานุกรม (Bibliography)

คำขอบคุณ (Acknowledgments)

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 

bottom of page