เศรษฐศาสตร์แห่งชีวิต: มองชีวิตด้วยเศรษฐศาสตร์ (The Logic of Life: The Rational Economics of an Irrat
หนังสือแปลชุดเศรษฐศาสตร์น่ารู้ (Economics Series)
เศรษฐศาสตร์แห่งชีวิต: มองชีวิตด้วยเศรษฐศาสตร์
แปลจาก The Logic of Life: The Rational Economics of an Irrational World (2008)
เขียนโดย Tim Harford แปลโดยสฤณี อาชวานันทกุล สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ห้า กุมภาพันธ์ 2556 (พิมพ์ครั้งแรก 2552) จำนวน 336 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740210665
เรื่องราวต่างๆ ในชีวิตมักดูเหมือนไม่มีเหตุมีผล เมื่อสิงห์อมควันจุดบุหรี่สูบ โสเภณียอมร่วมเพศโดยไม่สวมถุงยาง หรือวัยรุ่นก่อคดีปล้นชิง เราอาจมองว่าชีวิตก็เป็นแบบนี้เอง จะไปเอาสาระอะไรกับมัน แต่ชีวิตเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? ทิม ฮาร์ฟอร์ด ขอท้าทายความเข้าใจดั้งเดิมของเราทุกคนด้วยความเชื่อมั่นว่าทุกเรื่องในชีวิตล้วนมีที่มาที่ไปซึ่งอธิบายได้ด้วยหลักเศรษฐศาสตร์ และเขาได้พิสูจน์ให้เห็นในหนังสือเล่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตคู่ การเลือกตั้ง การเหยียดสีผิว คนติดยา การปฏิวัติ และแม้แต่พฤติกรรมของหนู ฮาร์ฟอร์ดยังคงสำนวนการเขียนที่โดดเด่น สนุกสนาน ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องสนุก จนถึงขั้นเมื่อหยิบอ่านแล้ววางไม่ลง นี่คือหนังสือเศรษฐศาสตร์ที่อ่านสนุกและทันสมัยที่สุดในยุคนี้
คำนำสำนักพิมพ์
หลังจากหนังสือ "นักสืบเศรษฐศาสตร์ (The Undercover Economist)" อันเป็นหนังสือเล่มแรกของทิม ฮาร์ฟอร์ด ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีไปทั่วโลก เขาก็เขียนเล่มที่สองออกมาในชื่อว่า "The Logic of Life" ซึ่งเปรียบเสมือนภาคต่อจากเล่มแรก ด้วยลีลาการเขียนและตัวอย่างเปรียบเทียบที่เข้าใจได้ง่ายสไตล์ฮาร์ฟอร์ดไม่แปรเปลี่ยน
ขณะที่ "นักสืบเศรษฐศาสตร์" เป็นการปูพื้นหลักเศรษฐศาสตร์ "The Logic of Life" หรือ "เศรษฐศาสตร์แห่งชีวิต" ที่คุณผู้อ่านถืออยู่ในมือเล่มนี้เป็นการขยายปริมณฑลของเศรษฐศาสตร์ไปทำความเข้าใจกับความเป็นไปในสังคมอย่างกว้างขวางบนพื้นฐานของกฎแห่งความมีเหตุผลอันเป็นหัวใจของเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่าการตัดสินใจของมนุษย์นั้นเป็นการตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผลในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการทำแท้ง การเลือกจะใช้หรือไม่ใช้ถุงยางอนามัยในการมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่น หรือกระทั่งของโสเภณี ความแตกต่างของช่วงเวลาที่คนออกไปใช้สนามเด็กเล่น การแบ่งแยกสีผิว ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงของย่านเสื่อมโทรมไปเป็นย่านที่ปลอดภัย เป็นต้น
การล้วงเอาความมีเหตุมีผลที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของคนในทุกๆ เรื่องออกมานี้ไม่ได้ลอยมาจากอากาศหรือนั่งคิดเอาเองด้วยสามัญสำนึกซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะเป็นเช่นนั้น ทว่าฮาร์ฟอร์ดอาศัยข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงมาพิสูจน์ยืนยันและอธิบายให้เราเข้าใจ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการสอนหลักในการคิดให้เรารู้จักคิดให้เป็น เมื่อมีเครื่องมือสำหรับคิดเป็นเห็นถูก ชีวิตก็ไม่ยากจะจัดการ ไม่ว่าโลกจะผันผวนปั่นป่วนแค่ไหน "เศรษฐศาสตร์แห่งชีวิต (The Logic of Life" เป็นหนังสือแนวเศรษฐศาสตร์อ่านสนุกเปี่ยมสาระอีกเล่มหนึ่งที่สำนักพิมพ์มติชนคัดสรรมากำนัลคุณผู้อ่าน
คำนำผู้แปล
เมื่อพูดถึงนักเศรษฐศาสตร์ แทบทุกคนคงจะนึกภาพนักวิชาการแต่งตัวภูมิฐานและหน้าตาคงแก่เรียนบนจอทีวีหรือในหน้าหนังสือพิมพ์ที่ชอบพูดถึงตัวเลขระดับชาติอย่างจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ดัชนีตลาดหุ้น อัตราเงินเฟ้อ ความสามารถในการแข่งขัน ฯลฯ ในเมื่อนักเศรษฐศาสตร์มีภาพลักษณ์แบบนี้ก็ไม่น่าแปลกใจที่หนังสือเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ที่ผ่านมามักจะไม่ได้รับความนิยมนอกวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ เพราะคนทั่วไปเชื่อว่าหนังสือประเภทนี้ต้องอ่านยาก น่าเบื่อ และพูดแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ ในระดับประเทศ
ทิม ฮาร์ฟอร์ด นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษและคอลัมนิสต์จอมลีลาประจำหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) เป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่จำนวนน้อยคนที่สามารถย่อยและสังเคราะห์งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ที่เต็มไปด้วยสมการอันสลับซับซ้อนให้เป็นเรื่องง่าย อ่านสนุก และทันสมัยสำหรับคนทั่วไป คอลัมน์ Dear Economist ของฮาร์ฟอร์ดประสบความสำเร็จในการสร้างลิฟต์ด่วนทางปัญญาที่เชื่อมหอคอยงาช้างของนักวิชาการเข้ากับโลกติดดินของคนนอกวงการ เท่ากับช่วยให้คนธรรมดาสามารถเข้าถึงและเข้าใจเศรษฐศาสตร์ได้อย่างสะดวกสบายกว่าเดิม แทนที่จะต้องเหนื่อยหอบกับการปีนบันไดขึ้นดอยเหมือนที่ผ่านมา
ในขณะที่ The Undercover Economist หนังสือเล่มแรกของฮาร์ฟอร์ด (ซึ่งสำนักพิมพ์มติชนตีพิมพ์ภายใต้ชื่อ "นักสืบเศรษฐศาสตร์") แนะนำหลักการเศรษฐศาสตร์ทั้งระดับมหภาค (คือระดับชาติ) และจุลภาค (คือระดับบริษัทและผู้บริโภค) ต่อสาธารณชนด้วยภาษาที่สละสลวยและตัวอย่างที่เข้าใจง่าย หนังสือตอนต่อคือ The Logic of Life ที่คุณถืออยู่ในมือเล่มนี้นำชุดเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ไปวิเคราะห์เจาะลึกชีวิตประจำวันของมนุษย์เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าพฤติกรรมที่เราอาจมองว่าไร้เหตุผลอย่างสิ้นเชิงหรือเป็นผลลัพธ์ของอารมณ์ความรู้สึกเพียงอย่างเดียวนั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นผลพวงของการตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล (Rational) ที่เราอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอยู่ ความสำเร็จของฮาร์ฟอร์ดในการชี้ให้เห็นตรรกะของชีวิตที่ซ่อนอยู่รอบตัวเรา โดยเฉพาะในปริมณฑลที่เราอาจไม่เคยคิดว่าเป็นเรื่องของความมีเหตุมีผล เช่น ชีวิตคู่ แหล่งเสื่อมโทรมในเมือง ถิ่นที่ดูจะสะท้อนทัศนคติที่เหยียดผิว ชีวิตในออฟฟิศ การไปออกเสียงเลือกตั้ง ฯลฯ เป็นผลจากชั้นเชิงทางภาษาและความสามารถระดับหาตัวจับยากในการสังเคราะห์งานวิจัยจำนวนมาก โดยเฉพาะในสาขาที่กำลังขยับขยายพรมแดนความรู้ทางเศรษฐศาสตร์อย่างน่าตื่นเต้น แต่คนทั่วไปอาจจะยังไม่รู้จัก อาทิ ทฤษฎีเกม และเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics)
ผู้แปลเชื่อว่าแนวคิด ทฤษฎี ผลการวิจัยและการค้นพบต่างๆ ที่ฮาร์ฟอร์ดถ่ายทอดอย่างสนุกสนานใน The Logic of Life ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ลบล้างภาพลักษณ์ที่ว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่น่าเบื่อและเข้าใจยากที่ยอมเยี่ยมเล่มหนึ่ง และน่าจะกระตุ้นให้เด็กหันมาสนใจศึกษาเศรษฐศาสตร์และวาดฝันอยากเป็นนักเศรษฐศาสตร์อาชีพกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ฮาร์ฟอร์ดดูจะให้น้ำหนักกับการถ่ายทอดเศรษฐศาสตร์ให้เป็นเรื่องสนุกและเข้าใจง่าย มากเสียจนละเลยหรือลดทอนปัจจัยสำคัญหลายประการที่อยู่นอกชุดคำอธิบายที่เขาใช้ในแต่ละประเด็นในทางอาจทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่าความมีเหตุมีผลเป็นปัจจัยหลักเพียงหนึ่งเดียวที่ส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ หรือไพล่ไปคิดว่านักเศรษฐศาสตร์เป็นพหูสูตผู้อธิบายได้ทุกเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น ฮาร์ฟอร์ดอธิบายอัตราการเพิ่มขึ้นของออรัลเซ็กซ์ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาราวกับว่านี่เป็นเพียงปฏิกิริยาที่มีเหตุมีผลต่อความเสี่ยงที่จะติดโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศอื่นๆ โดยไม่พูดถึงปัจจัยอื่นๆ นอกกรอบคิดของเขาที่น่าจะส่งอิทธิพลไม่แพ้กัน เช่น ความแพร่หลายของสื่อลามกและการถ่ายทอดเซ็กซ์ในรูปแบบต่างๆ ในภาพยนตร์กระแสหลักที่ทำอย่างเปิดเผยและท้าทายมาตรวัดทางศีลธรรมยุคคุณย่า น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนรุ่นใหม่ให้มองว่าพฤติกรรมทางเพศหลายอย่างที่คนรุ่นก่อนมองว่าหล่อแหลมหรือต้องห้ามนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่มีอะไรต้องอาย
ปัจจัยที่สำคัญแต่อยู่นอกกรอบคิดที่ว่ามนุษย์มีเหตุมีผลทำนองนี้น่าจะช่วยอธิบายด้วยว่าเหตุใดคนจำนวนมากในหลายเมืองหลายประเทศทั่วโลกจึงยังไปออกเสียงเลือกตั้งกันอย่างกระตือรือร้น ทั้งๆ ที่เข้าใจแจ่มแจ้งแล้วในตรรกะที่ฮาร์ฟอร์ดพยายามยืนยัน นั่นคือเสียงของเราแต่ละคนนั้นตัดสินการเลือกตั้งไม่ได้ บางทีคุณค่าที่อาจดูไร้เหตุผลอย่างสิ้นเชิงเมื่อมองจากแว่นของความมีเหตุมีผล (ซึ่งก็ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่ามนุษย์คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก) อย่างประโยชน์สาธารณะหรือหน้าที่ของพลเมืองอาจมีความสำคัญมากกว่าที่ฮาร์ฟอร์ดพยายามหว่านล้อมให้เราเชื่อก็ได้ น่าเสียดายที่เขาไม่ให้น้ำหนักกับปัจจัยไร้เหตุผลเหล่านี้เท่าที่ควร เพราะโลกจริงมีปัจจัยที่สลับซับซ้อนมากกว่าการแข่งขันโป๊กเกอร์หลายเท่า
นอกจากฮาร์ฟอร์ดจะทำให้นักเศรษฐศาสตร์และแนวคิดเรื่องความมีเหตุมีผลใน The Logic of Life ดูดีกว่าในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ความที่เขาพยายามชี้ให้เห็นข้อจำกัดของการทดลองหลายกรณีในเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมากกว่าจะชี้แง่ดีหรือประโยชน์ของการทดลองดังกล่าวก็ได้ก่อให้เกิดวิวาทะระหว่างเขากับนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมชั้นแนวหน้าหลายคน โดยเฉพาะแดน อารีลลี (Dan Ariely: 1967-) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Predictably Irrational: The Hidden Forces That Shape Our Decisions (ความไร้เหตุผลที่เดาได้, 2008) ผู้แปลคิดว่าวิวาทะแบบนี้คือสิ่งที่น่ายินดีและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจะช่วยทำให้องค์ความรู้ของเศรษฐศาสตร์มีความกว้างขวางและเที่ยงตรงกว่าเดิม ผู้อ่านที่สนใจติดตามวิวาทะดังกล่าวสามารถอ่านสรุปได้จากเว็บ http:www.omnivoracious.com/HarfordandAriely.html
ผู้แปลคิดว่าทุกคนที่อ่าน The Logic of Life พึงสังวรว่าการใช้ความมีเหตุมีผลแบบนักเศรษฐศาสตร์นั้นมีประโยชน์ในการค้นหาเหตุผลว่าเหตุใดคนจึงทำสิ่งต่างๆ แต่มันห่างไกลจากการเป็นเลนส์เพียงหนึ่งเดียวที่อธิบายโลกแห่งความจริง งานวิจัยจำนวนมาก โดยเฉพาะในสาขาจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์สมองได้พิสูจน์จนสิ้นสงสัยแล้วว่าสมองส่วน Limbic ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอารมณ์ความรู้สึกนั้นมักจะทำงานหนักกว่าสมองส่วน Cerebral Cortex ซึ่งเป็นต้นตอของการใช้เหตุผล ดังนั้นในขณะที่ฮาร์ฟอร์ดยืนยันกับเราว่า "...พฤติกรรมที่มีเหตุมีผลของคนแต่ละคนอาจส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่ไร้เหตุผลต่อสังคม" (บทที่ 5) นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอย่างอารีลลีก็คงอยากเสริมว่าพฤติกรรมที่ไร้เหตุผล (Irrational) ของคนแต่ละคนนั้นก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน และดังนั้นจึงเป็นหัวข้อที่นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกำลังศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบ
ถึงแม้จะมีข้อบกพร่องและอาจลำเอียงเข้าข้างความมีเหตุมีผลไปบ้าง The Logic of Life ก็เป็นหนังสือชั้นยอดที่แสดงให้เห็นความเป็นสากลของมนุษย์ ผู้แปลเชื่อว่าการตั้งสมมุติฐานว่าคนทุกคนล้วนฉลาดพอที่จะตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล รวมทั้งผู้ด้อยการศึกษาและกลุ่มคนที่ถูกสังคมดูแคลนอย่างโสเภณีและอาชญากรนั้น เป็นก้าวแรกสู่ความเข้าใจระหว่างคนที่แตกต่างหลากหลาย และดังนั้นจึงจำเป็นต่อการสร้างสังคมที่เปิดกว้าง เป็นธรรม และเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราสามารถวิเคราะห์วิจัยจนได้ข้อสรุปว่าพฤติกรรมขายเสียงในประเทศไทยนั้นเป็นพฤติกรรมที่มีเหตุมีผลของคนที่เชื่อว่าไม่มีนักการเมืองหน้าไหนจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้ตอนหาเสียงหลังจากได้รับเลือกตั้งแล้ว เราก็อาจพบว่าการมุ่งแก้ปัญหาระดับโครงสร้างเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและสร้างแรงจูงใจให้นักการเมืองต้องรับผิดชอบต่อนโยบายหาเสียงอย่างแท้จริง จะส่งผลทางอ้อมให้พฤติกรรมขายเสียงค่อยๆ ลดลงไปเองจนหมดไปในที่สุด ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็นับว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลดีกว่าการตั้งหน้าตั้งตาจับกุมนักการเมืองที่ซื้อเสียงและดูถูกคนที่ขายเสียงว่าเลวหรือโง่ โดยไม่เคยทำความเข้าใจกับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของเขาจริงๆ
[con·tin·ue]
บทนำ (Introduction)
บทที่ 1 แนะนำตรรกะของชีวิต เศรษฐศาสตร์ของเซ็กซ์ อาชญากรรม และมินนี่เมาส์ (Introducing the Logic of Life)
บทที่ 2 ลาสเวกัส ขอบของเหตุผล (Las Vegas)
บทที่ 3 คนประเมินการหย่าต่ำไปหรือเปล่า? (Is Divorce Underrated?)
บทที่ 4 เหตุผลที่นายคุณได้ค่าตอบแทนมากเกินไป (Why Your Boss is Overpaid)
บทที่ 5 ในละแวกบ้าน เศรษฐศาสตร์ของการไม่ถูกแทงข้างถนน (In the Neighbourhood)
บทที่ 6 อันตรายของการเหยียดผิวที่มีเหตุมีผล (The Dangers of Rational Racism)
บทที่ 7 โลกนี้เป็นหนาม (The World is Spiky)
บทที่ 8 การปฏิวัติที่มีเหตุมีผล (Rational Revolutions)
บทที่ 9 หนึ่งล้านปีของตรรกะ (A Million Years of Logic)
คำขอบคุณ (Acknowledgements)
บันทึกท้ายบท (Notes)
เกี่ยวกับผู้เขียน
ทิม ฮาร์ฟอร์ด (Tim Harford: 1973-) เขียนคอลัมน์ Dear Economist ในหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) ตอบปัญหาส่วนตัวของผู้อ่านที่เขียนจดหมายเข้ามาขอคำปรึกษาด้วยลีลายียวน แต่อัดแน่นไปด้วยคำอธิบายตามหลักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ นอกจากนี้เขายังเขียนบทบรรณาธิการและคอลัมน์ The Undercover Economist ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของหนังสือขายดี "นักสืบเศรษศาสตร์" อีกทั้งรับหน้าที่พิธีกรรายการทีวีชุด Trust Me, I'm an Economist ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์บีบีซี 2 เขาเคยทำงานกับธนาคารโลก (World Bank) และบริษัทเชลล์ (Royal Dutch Shell) เคยเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) ฮาร์ฟอร์ดเพิ่งกลับมาลอนดอนพร้อมภริยาและบุตรสาว หลังจากใช้ชีวิตที่วอชิงตัน ดี.ซี. (Washington, D.C., formally the District of Columbia and commonly referred to as Washington) เป็นเวลาสองปี
เกี่ยวกับผู้แปล
สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักแปลอิสระ จบการศึกษาปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากสหรัฐอเมริกา เคยทำงานเป็นวาณิชธนกร (Investment Banker) ให้กับ Deutsche Bank สาขาฮ่องกง บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ และบริษัทฮันเตอร์สแอดไวซอรี่ นักท่องเว็บชาวไทยส่วนใหญ่รู้จักสฤณีในชื่อ "คนชายขอบ" หรือ Fringer จากบล็อก http://www.fringer.org ซึ่งการเขียนบล็อกได้นำไปสู่การเป็นคอลัมนิสต์ประจำเว็บไซต์โอเพ่นออนไลน์ คอลัมน์ทุนนิยมที่มีหัวใจในมติชนสุดสัปดาห์ คอลัมน์ล่องคลื่นโลกาภิวัตน์ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และคอลัมน์คนไม่สำคัญในนิตยสารสารคดี
"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)
Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com