สร้างโลกไร้จน: ถอดรหัสธุรกิจเพื่อสังคมและอนาคตของทุนนิยม (Creating a World Without Poverty: Social B
หนังสือแปลชุดเศรษฐศาสตร์น่ารู้ (Economics Series)
สร้างโลกไร้จน: ถอดรหัสธุรกิจเพื่อสังคมและอนาคตของทุนนิยม
แปลจาก Creating a World Without Poverty: Social Business and the Future of Capitalism (2007)
เขียนโดย Muhammad Yunus แปลโดยสฤณี อาชวานันทกุล สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2555 จำนวน 336 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740210146
ผู้เขียน "นายธนาคารเพื่อคนจน" และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2006
ความจนเป็นปัญหาคู่โลกมาแสนนาน วันนี้ มูฮัมหมัด ยูนุส ผู้ให้กำเนิดธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ธนาคารเพื่อคนจนแห่งแรกของโลก ได้ออกมาประกาศจุดยืนต่อสู้กับความจนให้หมดไปจากโลกนี้ด้วยกลยุทธ์ที่สั่งสมจากประสบการณ์ทำงานเพื่อคนจนมากว่า 30 ปี ยูนุสวิเคราะห์สาเหตุของความจนจากหลากหลายมุมมอง ทั้งธรรมชาติของมนุษย์ ข้อบกพร่องของระบบทุนนิยม ทัศนคติของสังคมเกี่ยวกับความจนและคนจน พร้อมแนะนำเครื่องมือต่อสู้กับความจน นั่นคือธุรกิจเพื่อสังคม และไมโครเครดิตซึ่งเป็นแขนงย่อยของธุรกิจเพื่อสังคม โดยยกตัวอย่างจากการทำงานของธุรกิจอันหลากหลายในเครือกรามีน ถ้าคุณสงสัยว่าไมโครเครดิตคืออะไร ธุรกิจเพื่อสังคมคืออะไร ธุรกิจเพื่อสังคมต่างจากองค์กรการกุศล องค์กรไม่แสวงกำไร และการประกอบการเพื่อสังคมอย่างไร ไมโครเครดิตและธุรกิจเพื่อสังคมเกี่ยวข้องอะไรกับการสร้างโลกไร้จน และเราจะกำจัดความจนให้หมดไปจากโลกนี้ได้จริงหรือ หนังสือเล่มนี้มีคำตอบ แด่ทุกคนที่ต้องการสร้างโลกที่ไม่มีคนจนแม้แต่คนเดียว
คำนำสำนักพิมพ์
ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ตลาดเสรีได้แพร่สะพัดไปทั่วโลก พร้อมความคาดหวังว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในแทบทุกด้าน แต่ทุนนิยมตามขนบไม่สามารถแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมและความจน เพราะยังยึดติดกับมุมมองแสนแคบว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตมิติเดียวที่สนใจเพียงกำไร ความจริงมนุษย์ยังมีแรงจูงใจและความปรารถนาอีกมากมายหลายอย่าง รวมถึงศรัทธา สังคม และมนุษยธรรม ดังที่มูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2006 ได้อธิบายไว้ในหนังสือเล่มนี้
"สร้างโลกไร้จน" คือความพยายามของยูนุสในการหาทางแก้ปัญหาความจนให้หมดไปจากโลก เขาเชื่อว่าการคิดโมเดลธุรกิจใหม่ที่ไม่มองว่ากำไรเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดจะช่วยคนจนได้ นั่นคือกำเนิดของธุรกิจเพื่อสังคมที่ผสมผสานพลังของตลาดเสรี ศักยภาพของมนุษย์ กับจิตสำนึกเพื่อโลกที่เอื้ออาทร ธุรกิจเพื่อสังคมไม่ใช่องค์กรการกุศล แต่เป็นธุรกิจที่ทำกำไรเพื่อคืนทุนให้ผู้ลงทุนโดยไม่มีการจ่ายเงินปันผล กำไรที่ได้หลังจากนั้นจะนำไปลงทุนเพิ่มเพื่อบรรลุเป้าหมายทางสังคมที่ตั้งไว้ โมเดลนี้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์รับมือกับปัญหาหนักของโลกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นด้านโภชนาการ สาธารณสุข สังคม สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ อีกมากมาย เป้าหมายไม่ใช่การทำกำไรสูงสุด แต่เป็นการช่วยเหลือสังคมให้ได้มากที่สุดผ่านการทำธุรกิจในตลาดเสรี
ยูนุสเขียนหนังสือเล่มนี้จากประสบการณ์ต่อสู้เพื่อคนจนกว่า 30 ปี หลังจากเหตุการณ์ในหนังสือเล่มแรกคือ "นายธนาคารเพื่อคนจน (Vers un Monde Sans Pauvreté (Banker to the Poor), 2007)" ซึ่งว่าด้วยประวัติของยูนุสและความเป็นมาของธนาคารกรามีน ใน "สร้างโลกไร้จน (Creating a World Without Poverty)" เขาได้เล่าถึงการสานต่อภารกิจต่อสู้กับความจนอย่างต่อเนื่อง ธนาคารกรามีนเจริญรุ่งเรืองจนมีบริษัทในเครือตามมาอีกกว่ายี่หิบแห่ง หลายแห่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในการพึ่งพาตัวเองทางการเงิน คืนทุนให้ผู้ลงทุน และช่วยเหลือสังคมตามเป้าหมาย ตัวอย่างที่โดดเด่นคือ กิจการร่วมทุนกรามีนดราโน (Grameen Danone) ที่ผลิตนมเปรี้ยวขายให้คนจนในราคาถูกกว่าท้องตลาดเพื่อแก้ปัญหาการขาดโภชนาการในเด็ก เป็นต้น
"สร้างโลกไร้จน" เป็นหนังสือที่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ แรงบันดาลใจ และความเข้าใจของยูนุสที่มีต่อความจน คนจน และทางออกจากความจน ประสบการณ์ของเขากับกิจการในเครือกรามีนเป็นสิ่งยืนยันว่าธุรกิจเพื่อสังคมไม่ใช่แค่ความฝัน การได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะช่วยจุดประกายความหวังสำหรับอนาคตและกระตุ้นให้เรามองปัญหาความยากจนด้วยมุมมองที่แตกต่าง ยังมีคนมากมายที่ไม่ยอมแพ้ในสงครามกับความจน เมื่อเรามีความหวัง ความพยายาม ความร่วมมือ และเครื่องมือที่พร้อมโลกไร้จนย่อมเป็นจริงได้อย่างแน่นอน
คำนำผู้แปล
หลังจากที่มูฮัมหมัด ยูนุส ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกับธนาคารกรามีนในปี 2006 แนวคิดและงานของธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business) นับพันแห่งทั่วโลกก็เป็นที่สนใจอย่างแพร่หลายมากกว่าในอดีตมาก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย อย่างไรก็ดี ในสังคมไทยยังมีความเข้าใจผิดค่อนข้างมากว่าธุรกิจเพื่อสังคมคืออะไร แตกต่างจากธุรกิจกระแสหลักอย่างไร นักพัฒนาสังคมผู้มีชื่อเสียงบางคนสับสนระหว่างกิจกรรมหรือโครงการเพื่อสังคมกับธุรกิจเพื่อสังคม โดยเรียกบางกิจการว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคมเพียงเพราะกิจการนั้นๆ เจียดกำไรส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดไปใช้ในการช่วยสังคม ทั้งที่กระบวนการทำธุรกิจของกิจการนั้นเป็นอิสระและเอกเทศจากโครงการช่วยเหลือสังคมอย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่างเช่น ทำกิจการร้านอาหารปกติ แล้วนำกำไรที่ได้ไปบริจาคในโครงการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส
นักธุรกิจผู้มีชื่อเสียงบางคนทึกทักเอาเองว่ากิจการที่เขาดำเนินการมายาวนานนั้นควรนับเป็นธุรกิจเพื่อสังคมด้วย เพราะสร้างประโยชน์แก่สังคมบางประการอยู่แล้ว อาทิ ทำให้คนมีงานทำ แต่ในความเป็นจริงในภาษาซึ่งกำลังกลายเป็นมาตรฐานที่ใช้อธิบายวงการนี้กันทั่วโลก ธุรกิจเพื่อสังคมหมายถึงการมุ่งแก้ปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อมด้วยวิถีธุรกิจ นั่นคือดำเนินธุรกิจอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อมโดยตรง แก้ปัญหาผ่านกระบวนการทำธุรกิจ เช่น ก่อตั้งบริษัทกำจัดขยะเพื่อแก้ปัญหาขยะ ก่อตั้งธนาคารเพื่อคนจนเพื่อแก้ปัญหาความยากจน หรือก่อตั้งบริษัทผลิตโยเกิร์ตเสริมสารอาหารขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเด็กยากจนขาดสารอาหาร และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้วยการให้คนจนเป็นคู่ค้าและพนักงานขายของบริษัท
ในเมื่อเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การแก้ปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ผลกำไร ธุรกิจเพื่อสังคมจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบโครงสร้างผู้ถือหุ้น โครงสร้างการบริหารจัดการ และโมเดลธุรกิจ เพื่อสร้างหลักประกันว่าปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อมจะได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง ไม่ใช่กลายเป็นว่าประโยชน์ส่วนใหญ่จากธุรกิจตกอยู่กับผู้ถือหุ้นที่มีฐานะดีหรือผู้บริหารของบริษัทเท่านั้น
ในเมื่อความยากจนเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่เรื้อรังและรุนแรง ยูนุสจึงมองว่าธุรกิจเพื่อสังคมที่มีพันธกิจขจัดความยากจนจะต้องให้คนจนเองได้เป็นเจ้าของบริษัท หรือมิฉะนั้นก็จะต้องยอมให้ผู้ออกทุนก่อตั้งได้ถอนทุนตั้งต้นคืนเท่านั้น (จากกำไรระยะแรก) แต่หลังจากนั้นจะต้องไม่จ่ายปันผล เพื่อให้สามารถนำกำไรระยะหลังไปขยายกิจการ เพื่อขยายผลทางสังคมในวงกว้างขึ้นต่อไป
รูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมในแนวคิดของยูนุสมิใช่โมเดลที่นักธุรกิจเพื่อสังคมเห็นพ้องต้องกันทั้งโลก นักธุรกิจเพื่อสังคมหลายรายจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่องให้กับนักลงทุนที่ซื้อหุ้นในธุรกิจเพื่อสังคม เนื่องจากมองว่าวินัยทางการเงินนั้นจำเป็นต่อการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจเพื่อสังคม หรืออยากดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับธุรกิจเพื่อสังคมมากขึ้น พูดอีกอย่างคือจุดสมดุลระหว่างผลตอบแทนทางการเงินกับผลตอบแทนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของธุรกิจเพื่อสังคมแต่ละแห่งนั้นไม่จำเป็นต้องอยู่จุดเดียวกัน แล้วแต่ความถนัด มุมมอง สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และบริบททางสังคมที่แวดล้อมกิจการอยู่ แต่สิ่งที่นักธุรกิจเพื่อสังคมทุกคนน่าจะเชื่อมั่นคล้ายกัน คือข้อเสนอของยูนุสในหนังสือเล่มนี้ที่ว่า
"การนิยามคำว่าผู้ประกอบการให้กว้างขึ้นกว่าเดิมจะช่วยให้เราเปลี่ยนลักษณะของทุนนิยมได้อย่างสุดขั้ว และแก้ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจที่ยังแก้ไม่ได้ภายในกรอบของตลาดเสรี ลองนึกภาพว่าแทนที่ผู้ประกอบการจะมีแรงบันดาลใจเพียงหนึ่งเดียว (อย่างเช่นการแสวงกำไรสูงสุด) ตอนนี้มีเพิ่มเป็นสองอย่างที่เป็นเอกเทศจากกัน แต่ดึงดูดใจไม่แพ้กันคือ การแสวงกำไรสูงสุด และการทำดีเพื่อผู้อื่นและเพื่อโลก แรงบันดาลใจแต่ละชนิดจะนำไปสู่ธุรกิจต่างชนิดกัน เราจะเรียกธุรกิจชนิดแรกว่าธุรกิจแสวงกำไรสูงสุด และธุรกิจชนิดที่สองว่าธุรกิจเพื่อสังคม ธุรกิจเพื่อสังคมจะเป็นธุรกิจชนิดใหม่ในตลาด เป้าหมายคือสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก"
ผู้แปลขอขอบคุณคุณพลอยแสง เอกญาติ และสำนักพิมพ์มติชนที่ได้ให้โอกาสผู้แปลถอดความของหนึ่งในวีรบุรุษในดวงใจออกมาเป็นภาษาไทย ผู้แปลหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมของมูฮัมหมัด ยูนุส ซึ่งเริ่มต้นจากธนาคารเพื่อคนจนและขยับขยายต่อยอดอย่างน่าทึ่งไปสู่สาขาอื่นอีกมากมาย โดยไม่เคยทอดทิ้งหรือบิดผันพันธกิจกำจัดความยากจนจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักการเงินและผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นใหม่ในประเทศไทย ตลอดจนฉายภาพให้เห็นอย่างแจ่มชัดกว่าเดิมว่าธุรกิจเพื่อสังคมคืออะไร ทำงานอย่างไร และมีบทบาทสำคัญอย่างไรในศตวรรษที่ 21 ขอให้มีความสุขกับการอ่าน
[con·tin·ue]
บทนำ: ตั้งต้นด้วยการจับมือ (Proloque: Starting with a Handshake)
ภาคแรก: ศักยภาพของธุรกิจเพื่อสังคม (The Promise of Social Business)
บทที่ 1 ธุรกิจชนิดใหม่ (A New Kind of Business)
บทที่ 2 ธุรกิจเพื่อสังคม: คืออะไร และไม่ใช่อะไร (Social Business: What It Is and What It Is Not)
ภาคสอง: การทดลองของกรามีน (The Grameen Experiment)
บทที่ 3 การปฏิวัติของไมโครเครดิต (The Microcredit Revolution)
บทที่ 4 จากไมโครเครดิตสู่ธุรกิจเพื่อสังคม (From Microcredit to Social Business)
บทที่ 5 การต่อกรกับความยากจน: บังคลาเทศและไกลออกไป (The Battle Against Poverty: Bangladesh and Beyond)
บทที่ 6 พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด (God Is in the Details)
บทที่ 7 โยเกิร์ตทีละถ้วย (One Cup of Yogurt at a Time)
ภาคสาม: โลกไร้จน (A World Without Poverty)
บทที่ 8 ขยายตลาด (Broadening the Marketplace)
บทที่ 9 เทคโนโลยีข้อมูล โลกาภิวัตน์ และโลกที่เปลี่ยนไป (Information Technology, Globalization, and a Transformal World)
บทที่ 10 อันตรายของความเจริญ (Hazards of Prosperity)
บทที่ 11 เอาความจนใใส่พิพิธภัณฑ์ (Putting Poverty in Museums)
ปัจฉิมลิขิต ความจนคือภัยคุกคามสันติภาพ (Epilogue: Poverty Is a Thear to Peace - The Nobel Prize Lecture)
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม (For Further Information)
เกี่ยวกับผู้เขียน
มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus: 1940-) เกิดในเมืองจิตตะกอง เมืองท่าของบังกลาเทศ เขาเป็นลูกคนที่สามจากสิบสี่คน จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธากา (University of Dhaka, Bangladesh) ได้ทุนฟุลไบรท์ (Fulbright) ไปเรียนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt University, Nashville, Tennessee, USA) เมื่อเรียนจบ เขาดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจิตตะกอง (University of Chittagong, Bangladesh) ก่อนจะมาอุทิศชีวิตให้กับการส่งมอบบริการทางการเงินให้กับคนจนที่จนที่สุด เขาเป็นผู้ก่อตั้งและอดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของธนาคารกรามีน และผู้เขียนหนังสือขายดี Banker to the Poor (นายธนาคารเพื่อคนจน) ยูนุสกับธนาคารกรามีนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2006
เกี่ยวกับผู้แปล
สฤณี อาชวานันทกุล เป็นนักเขียน นักแปล และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน จบการศึกษาปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University, Cambridge, Massachusetts, USA) และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University, USA) มีประสบการณ์ทำงานในภาคการเงินกว่า 8 ปี ก่อนตัดสินใจออกมาทุ่มเทเวลาให้กับงานเขียนและงานวิจัยอย่างเต็มตัว ปัจจุบันมีความสุขกับการติดตามและถ่ายทอดพัฒนาการใหม่ๆ ณ พรมแดนความรู้ทางเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ งานเขียนและงานแปลส่วนใหญ่สะท้อนความสนใจอย่างต่อเนื่องในกิจการเพื่อสังคมและการเงินเพื่อสังคม อาทิ "พลังของคนหัวรั้น" แปลจาก The Power of Unreasonable People (2008) โดย John Elkington (1949-) และ Pamela Hartigan (1948-2016), "นายธนาคารเพื่อคนจน" แปลจาก Banker to the Poor (1999) โดย Muhammad Yunus, "ค่าของความว่างเปล่า" แปลจาก The Value of Nothing (2009) โดย Raj Patel (1972-), "พลังกลุ่มไร้ขีดจำกัด" แปลจาก Here Comes Everybody: The Power of Organizing Without Organizations (2008) โดย Clay Shirky (1964-) และ "ทุนนิยมมีชีวิต ธุรกิจมีหัวใจ"
"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)
Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com