อภิทุนนิยมสุดขั้ว: การเปลี่ยนโฉมของธุรกิจ ประชาธิปไตย และชีวิต (Supercapitalism: The Transformation
หนังสือแปลชุดเศรษฐศาสตร์น่ารู้ (Economics Series)
อภิทุนนิยมสุดขั้ว: การเปลี่ยนโฉมของธุรกิจ ประชาธิปไตย และชีวิต
แปลจาก Supercapitalism: The Transformation of Business, Democracy, and Everyday Life (2007)
เขียนโดย Robert Bernard Reich แปลโดยสุภาภรณ์ กาญจน์วีระโยธิน สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2553 จำนวน 348 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740206736
เมื่อธุรกิจผงาดครอบงำประชาธิปไตยจะส่งผลอย่างไรต่อพลเมืองอย่างเรา นี่คือบทวิเคราะห์สำคัญจากหนึ่งในนักคิดด้านเศรษฐกิจและการเมืองชั้นนำของอเมริกา แจกแจงถึงผลกระทบของทุนนิยมต่อประชาธิปไตย ได้เผยให้เห็นว่าความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ที่ถ่างกว้างขึ้น ปัญหาการตกงานที่มากขึ้น และการทุจริตในองค์กรที่เพิ่มขึ้น คือผลลัพธ์ที่เกิดจากการที่ทุนนิยมเข้ามาครอบงำประชาธิปไตยจนกลายเป็นอภิทุนนิยม เมื่อนักการเมืองให้ความสำคัญกับบทบาทของล็อบบี้ยิสต์ (Lobbyist) มากกว่าพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และกฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือของธุรกิจเพื่อทำกำไรให้มากขึ้นเท่านั้น นี่คือปัญหาสำคัญที่ชาติทุนนิยมประชาธิปไตยทั่วโลกต้องตระหนักและหาทางรับมือโดยเร็วก่อนจะสายเกินไป
"หนังสือเล่มนี้อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงอันสำคัญและครอบคลุมด้านเศรษฐกิจการเมือง ไรช์มีพรสวรรค์ในการเขียนให้เศรษฐกิจเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ และบางครั้งยังอ่านสนุกอีกด้วย" - Los Angeles Times
คำนำสำนักพิมพ์
"อภิทุนนิยมสุดขั้ว" จัดได้ว่าเป็นหนังสือที่หยิบจับปัญหาแหลมคมร่วมสมัยที่สุดขึ้นมาตีแผ่ให้เราเห็นว่าความเชื่อเดิมๆ ที่เคยคิดว่าทุนนิยมกับประชาธิปไตยเป็นของควบคู่กันและส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างในอดีตนั้นกลายเป็นเพียงภาพลวงตาไปแล้ว เมื่อเทคโนโลยีในด้านต่างๆ พัฒนาขึ้นมามากมายทั้งการติดต่อสื่อสาร การผลิต การขนส่ง จนทุนนิยมก้าวขึ้นสู่ขั้นอภิทุนนิยมที่ภาคธุรกิจต่อสู้แข่งขันกันอย่างดุเดือด เกิดผลด้านลบทางสังคมที่ทำให้ช่องว่างขยายถ่างมากขึ้น เพราะผลประโยชน์กระจุกอยู่ที่ส่วนยอดของพีระมิด ที่หนักกว่านั้นก็คือการแข่งขันนี้ลุกลามเข้าไปในการเมือง
ประชาชนก็มีบทบาทที่กลายมาเป็นทั้งผู้บริโภค ผู้ลงทุน และพลเมือง ซึ่งเป็นบทบาทที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัวเอง ในด้านการเป็นผู้บริโภคและผู้ลงทุนนั้นได้รับการตอบสนองอย่างถึงที่สุดจากการแข่งขันกันอย่างไม่คิดชีวิตของธุรกิจใหญ่ แต่บทบาทในฐานะพลเมืองจมหายไปในการแข่งขันนี้ ผลที่ตามมาก็คือระบอบประชาธิปไตยที่เคยเป็นเครื่องมือถ่วงดุลที่เหมาะสมในการรับมือกับผลกระทบทางสังคมกลับไม่ทำงาน ธุรกิจใหญ่ใส่เงินเข้าไปในการเมือง การเมืองวิ่งเข้าหาธุรกิจใหญ่ ประชาธิปไตยจึงง่อยเปลี้ยเสียขา เพราะอภิทุนนิยมแผ่ซ่านเข้าไปในทุกอณูของประชาธิปไตย เสียงของพลเมืองจึงเป็นเสียงที่แทบไม่มีใครได้ยิน แต่จะดึงให้ระบอบประชาธิปไตยกลับมาทำงานได้อีกครั้งต้องจับประเด็นให้ชัด ไม่ทำให้ปัญหาระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นเพียงปัญหาความไม่รับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง หรือเป็นเรื่องศีลธรรมจรรยาใดๆ ซึ่งจะไม่ช่วยแก้ปัญหาได้จริงๆ หรือรังแต่จะก่อให้เกิดผลทางลบที่ไม่ได้ตั้งใจเพิ่มขึ้นอีก
โรเบิร์ต ไรช์ (Robert Bernard Reich: 1946-) นักคิดนักเขียนด้านเศรษฐกิจการเมืองผู้ได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่งของอเมริกา นำเสนอเรื่องราวของอภิทุนนิยมซึ่งกำลังส่งอิทธิพลต่อโลกสมัยใหม่ที่ประเทศส่วนใหญ่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบบูรณาการเดียวแห่งทุนนิยมโลก ทั้งยุโรป รัสเซีย และจีน ซึ่งแม้ว่าโดยทางการแล้วยังเป็นคอมมิวนิสต์ก็กลายเป็นศูนย์กลางที่มาแรงของทุนนิยมโลก ไรช์วิเคราะห์ถึงที่มาของอภิทุนนิยม อิทธิพลที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ไปจนถึงเสนอแนะแนวทางที่จะทำให้ทุนนิยมและประชาธิปไตยกลับมาสู่จุดสมดุลได้อีกครั้งเพื่อประโยชน์สุขของเราทั้งในฐานะผู้บริโภค/นักลงทุนและพลเมือง แนวคิดของไรช์ในหนังสือเล่มนี้อาจกล่าวได้ว่าสวนทางกับความคิดที่เกี่ยวกับทุนนิยมและประชาธิปไตยอย่างมาก แม้กระทั่งแนวทางการแก้ไขที่เขาเสนอก็สวนทางกับความเชื่อเดิมๆ อยู่มากเช่นกัน
แม้เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จะเน้นตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับอเมริกาเป็นหลัก ประเทศไทยในฐานะอีกชาติหนึ่งที่รับระบบทุนนิยมประชาธิปไตยมาใช้ก็กำลังเดินไปสู่เส้นทางเดียวกับอเมริกา เป็นเรื่องน่าคิดว่าลักษณะหลายๆ ประการที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทยเป็นอิทธิพลจากอภิทุนนิยมหรือไม่ สำนักพิมพ์มติชนเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นอีกมุมมองหนึ่งต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทยที่น่าสนใจและควรใส่ใจอย่างสถานการณ์ปัจจุบันนี้
คำนำผู้แปล
ท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของสังคมข้อมูลข่าวสารที่ท่วมท้น (โดยไม่จำเป็นต้องอุดมปัญญาด้วยเสมอไป) ผู้บริโภคอย่างเรามีเวลาน้อยลงทุกที สนใจอะไรต่อมิอะไรน้อยลง สั้นลง และฉาบฉวยยิ่งขึ้นทุกที ผู้แปลขอให้มองหนังสือเล่มนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยเตือนสติเราในฐานะประชาชนพลเมืองผู้ต้องการสิทธิและประชาธิปไตย ในฐานะผู้บริโภคที่ชอบของถูก ในฐานะแมลงเม่าในตลาดหุ้น ในฐานะคนซื้อของและสินค้าที่เอาประโยชน์เฉพาะหน้าและความบันเทิงของตนเป็นที่ตั้งให้หันมาหยุดคิดว่า เอ๊ะนี่เรากำลังโดนใครเขาหลอกยังไงหรือเปล่า ที่เราซื้อของได้ถูกนั้น เราได้สูญเสียอะไรไป เราจะทวงเอาสิทธิของเราในฐานะพลเมืองนิยมประชาธิปไตยคืนมาได้อย่างไร
หัวข่าวที่เราอ่านกันทุกวันทางหน้าหนังสือพิมพ์บ้าง ได้ยินผ่านแวบๆ ทางวิทยุ หรือยิ่งได้เห็นได้ฟังแวบสั้นลงไปอีกทางทีวี เป็นเพียงต้นไม้มาเรียงๆ กัน ไม่ได้เปิดเผยให้เราเห็นทั้งป่าว่า หุ้นขึ้นหุ้นตก บริษัทนั้นลงทุนอย่างโน้น ทำกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคมอย่างนี้ รายชื่อคนรวยที่สุดในโลกและประเทศไทย เงินเดือนและค่าตอบแทนซีอีโอ (CEO: Chief Executive Officer) กว่าจะได้ป้ายออร์แกนิกฟู้ด (Organic Food) หรือสงครามระหว่างไมโครซอฟต์ (Microsoft) กับกูเกิ้ล (Google) ระหว่างกาสิโนในลาสเวกัส (Las Vegas Casinos) กับการพนันออนไลน์ สงครามค้าปลีก ทำไมสินค้ายิ่งขายยิ่งถูก เบื้องหลังของเรื่องเหล่านี้คืออะไรและมีผลกระทบต่อเราอย่างไร
โรเบิร์ต ไรช์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้โดยผ่านมุมมอง บทวิเคราะห์ และการนำข้อเท็จจริงและชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นมาเรียงร้อยกันเป็นคำอธิบายว่าอภิทุนนิยมมีที่มาอย่างไร และจะมีที่ไปอย่างไรสำหรับผู้บริโภคอย่างเราที่เห็นแก่ตัว สายตาสั้น ความสนใจสั้น และให้ภาพว่าอภิทุนนิยมทุนหนาของภาคธุรกิจที่กว้านซื้อนักการเมืองและทำให้กลไกรัฐสภา ประชาธิปไตยกับสหภาพแรงงานในอเมริกาเป็นง่อย กำลังทำหน้าที่บั่นทอนสิทธิพลเมืองและถ่างช่องว่างทางสังคมมากขนาดไหน และที่เราอาจเคลิ้มกันว่าธุรกิจทุ่มเงินเพื่อกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคมนั้น อันที่จริงแล้วหน้าที่ของธุรกิจคือทำกำไร และกระแสซีเอสอาร์ (CSR: Corporate Social Responsibility) ยอดฮิตนั้นคือวิธีการเบี่ยงเบนความสนใจจากประเด็นที่แท้จริงต่างหาก ทุกอย่างที่เขาเล่าเกี่ยวกับอเมริกาก็ปรากฏให้เห็นและมีแบบแผนทำนองคล้ายกันในเมืองไทย แม้ว่าหนังสือนี้จะเน้นเรื่องของสหรัฐอเมริกา แต่ในฐานะที่เราเป็นพลเมืองและผู้บริโภคในยุคโลกาภิวัตน์ และข่าวสารไร้พรมแดน อะไรที่เราเห็นในอเมริกาย่อมมีผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ในโลกด้วยความเป็นมหาอำนาจในทุกทางของเขา ตื่นเถิดผู้บริโภคชาวไทยทุกเพศทุกวัย
ผู้แปลชอบที่ผู้เขียนใช้ภาษาเรียบง่ายเหมือนคุยกับเราในฐานะผู้บริโภคด้วยกัน แต่เป็นคนที่ใช้หัวคิด ไม่ได้ออกแนวเพ้อทฤษฎีหรือนามธรรม หากแต่นำเอาข้อเท็จจริงและประจักษ์พยานมาร้อยกันเพื่อนำเสนอแนวคิดเรื่องอภิมหาทุนนิยมของเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าจะลงทุนให้เวลากับอะไรสักอย่างที่จะติดพลังพลเมืองผู้มีสิทธิและความรับผิดชอบให้กับผู้บริโภคอย่างเรา โปรดอ่านเล่มนี้ รับรองคุ้ม
[con·tin·ue]
บทนำ: สองขั้วที่ขัดแย้ง (Introduction: The Paradox) สำหรับฉบับพิมพ์ครั้งแรก
เมื่อเดือนมีนาคม ปี 1975 นักเศรษฐศาสตร์มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman: 1912-2006) ตอบรับคำเชิญเดินทางไปที่ประเทศชิลี (Chile) เพื่อพบกับออกุสโต ปิโนเชต์ (Augusto José Ramón Pinochet Ugarte: 1915-2006) ผู้ซึ่งก่อนหน้านั้นสัก 18 เดือนได้ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของซัลวาดอร์ อัลเยนเด (Salvador Guillermo Allende Gossens: 1908-1973) สื่อหนังสือพิมพ์อเมริกันวิพากษ์ฟรีดแมนที่เดินทางไปในครั้งนั้น แต่ไม่มีเหตุอันพึงสันนิษฐานว่าเขาเห็นชอบกับวิถีการเมืองของปิโนเชต์ ฟรีดแมนไปชิลีเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทหารของปิโนเชต์ใช้ระบบทุนนิยมตลาดเสรีโดยลดกฎเกณฑ์ในภาคธุรกิจและรัฐสวัสดิการที่เติบโตในช่วงหลายปีที่ชิลีมีรัฐบาลประชาธิปไตยและเปิดประเทศต้อนรับการค้าการลงทุนจากทั่วโลก ในการปาฐกถาที่ชิลี ฟรีดแมนยืนยันความเชื่อของเขาว่าตลาดเสรีเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับเสรีภาพทางการเมืองและประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ปิโนเชต์รับคำแนะนำเรื่องตลาดเสรีของฟรีดแมน แต่ปกครองประเทศด้วยวิธีเผด็จการที่เหี้ยมโหดต่อไปอีก 15 ปีนับแต่นั้น ทั้งสองคนเสียชีวิตในระยะเวลาไล่เลี่ยกันเพียงไม่กี่สัปดาห์ในช่วงปลายปี 2006
ในบรรดาประเทศต่างๆ ทั่วโลก อเมริกาได้ชื่อว่าเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของความคิดที่ว่าทุนนิยมกับประชาธิปไตยเป็นของคู่กัน แต่ในช่วงหลายปีนับตั้งแต่ฟรีดแมนไปเยือนชิลี ความสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่งนี้เริ่มตึงเครียด ทุนนิยมตลาดเสรีเป็นฝ่ายชนะ แต่ประชาธิปไตยกลับอ่อนแอลง
นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 หากไม่นับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ผ่านไปสามครั้ง เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาก็ถือว่ายังคงทะยานต่อเนื่อง ผู้บริโภคมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาให้เลือกละลานตา ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ไอพอด ยาต้านอาการซึมเศร้า รถยนต์ไฮบริด เป็นต้น ขณะที่ราคาสินค้าและบริการมาตรฐานลดลงเมื่อปรับเงินเฟ้อแล้ว บริการสุขภาพนั้นราคาแพงกว่าก็จริง แต่คนอเมริกันมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกือบ 15 ปี เมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยของทศวรรษ 1950 ส่วนใหญ่เป็นเพราะนวัตกรรมยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ใหม่ๆ
นอกจากนี้บริษัทต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้นและตลาดหลักทรัพย์ก็เติบโตอย่างมาก เมื่อปี 1975 ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average) อยู่ที่ระดับ 600 จุด และก็ไม่ได้ไปไหนไกลอีกหลายปี แต่เมื่อปลายปี 2006 กลับทะยานไปที่ระดับ 12,000 จุด ยิ่งไปกว่านั้นตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 อัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับที่ควบคุมได้
continue...
บทนำ: อภิทุนนิยมกับหายนะทางเศรษฐกิจ สำหรับฉบับพิมพ์ปี 2008
บทที่ 1 ยุคทองกลายๆ (The Not Quite Golden Age)
บทที่ 2 เส้นทางสู่อภิทุนนิยม (The Road to Supercapitalism)
บทที่ 3 สองจิตสองใจ (Of Two Minds)
บทที่ 4 ประชาธิปไตยถูกกลืน (Democracy Overwhelmed)
บทที่ 5 การเมืองออกนอกลู่นอกทาง (Politics Diverted)
บทที่ 6 คู่มือพลเมืองเรื่องอภิทุนนิยม (A Citizen's Guide to Supercapitalism)
เชิงอรรถท้ายเล่ม (Notes)
เกี่ยวกับผู้แปล
สุภาภรณ์ กาญจน์วีระโยธิน จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เอกภาษาอังกฤษและโทวรรณคดีอังกฤษ) และอีกหลายปีให้หลังจากทำงานจนหนำใจจึงจบปริญญาโทด้านการพัฒนาระหว่างประเทศจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การศึกษานอกระบบคือการได้เรียนรู้ชั่วชีวิต มีต้นตอจากการที่พ่อแม่ติดปีกให้ทำงานเต็มที่ จึงได้เรียนรู้หาที่เปรียบมิได้ในเส้นทางการทำงานวิชาชีพนักข่าวและนักเขียนกับสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุและอิเล็กทรอนิกส์บ้าง โดยเริ่มตรงเดอะเนชั่นหนึ่งปี และอีกสิบปีที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โดยสามปีสุดท้ายได้มีโอกาสไปเป็นผู้สื่อข่าวประจำอยู่ที่เวียดนาม ปี 1992-1995 ทำให้มีภาษาเวียดนามติดตัวเป็นสมบัติถัดจากภาษาไทยและอังกฤษ จากเวียดนามได้ไปทำงานที่แผนกภาษาไทยของวิทยุบีบีซีภาคบริการโลกที่ลอนดอน จากนั้นไปทำงานกับนิตยสารฟาร์อีสเทิร์นอีคอนอมิครีวิว (Far Eastern Economic Review) ที่ฮ่องกงอยู่ระยะหนึ่งก่อนกลับมาเมืองไทยทำงานด้านสื่อสารในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาอีกสามปี แล้วจึงศึกษาต่อปริญญาโท เมื่อจบแล้วได้ทำงานสื่อสารด้านสิทธิผู้หญิง ก่อนบอกลางานประจำเพื่อมาประกอบอาชีพทำงานล่ามและแปลอิสระในปัจจุบัน
"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)
Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com