โจเซฟ นีดแฮม ผู้ชายที่หลงรักเมืองจีน (The Man Who Loved China: The Fantastic Story of the Eccentric
โจเซฟ นีดแฮม ผู้ชายที่หลงรักเมืองจีน
แปลจาก The Man Who Loved China: The Fantastic Story of the Eccentric Scientist Who Unlocked the Mysteries of the Middle Kingdom (2008)
เขียนโดย Simon Winchester แปลโดยวิชัย สุวรรณบรรณ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2554 จำนวน 408 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740207979
เรื่องราวชีวิตแสนมหัศจรรย์ของนักชีวเคมีแห่งเคมบริดจ์ที่กลายมาเป็นปราชญ์ผู้เปิดประตูอารยธรรมจีนสู่สายตาชาวโลก เขาชื่อโจเซฟ นีดแฮม คนที่ใส่แว่น หน้าตาคงแก่เรียน เป็นสมาชิกชมรมเปลือยกาย เป็นนักเต้นรำเถื่อน นักเล่นหีบเพลง สูบบุหรี่มวนต่อมวน เข้าโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ บางคนว่าเขาแปลกประหลาด เป็นชายคนที่เดินทางมาถึงสนามบินเมืองฉงชิ่ง (Chongqing) ด้วยเครื่องบินรบอเมริกันเก่าปุปะมาถึงเมืองจีนในฤดูใบไม้ผลิปี 1943 เขาเป็นผู้ไขความลับสุดยอดอันน่าทึ่งของราชอาณาจักรกลาง (จีน) ที่ถูกกลบฝังอยู่นานหลายศตวรรษให้เจิดจรัสในสายตาชาวโลก เขาค้นพบความจริงที่ว่าประเทศจีนไม่ใช่ประเทศหลังเขาล้าหลัง แต่เป็นศูนย์กลางอารยธรรมหลักส่วนใหญ่ของโลกมาก่อนยุโรปนับพันปี เขาทำให้โลกตะวันตกต้องมองจีนด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป เขาคือผู้เขียนสารานุกรมชุด Science and Civilization in China ผลงานชั้นเยี่ยมที่กลายเป็นหนังสือเล่มดัง
คำนำสำนักพิมพ์
ความรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจของจีนจนแซงญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา และถูกคาดหมายว่าอาจจะแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นอันดับหนึ่งเร็วกว่าที่หลายฝ่ายเคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นอานิสงส์โดยตรงจากนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมา แต่ส่วนหนึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่าเป็นเพราะจีนมีต้นทุนทางวิทยาศาสตร์และอารยธรรมมายาวนานนับพันปี
ที่น่าสนใจก็คือ ผู้ค้นพบหลักฐานสำคัญเหล่านี้กลับเป็นชาวตะวันตกชื่อโจเซฟ นีดแฮม (Noel Joseph Terence Montgomery Needham: 1900-1995) นักชีวเคมีชาวอังกฤษจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) ผู้หลงรักประเทศจีนแลละชาวจีนอย่างลึกซึ้ง แถมยังเขียน อ่าน และพูดภาษาจีนได้คล่อง จนในที่สุดกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจีนและได้เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจีนโบราณบันทึกไว้ในหนังสือ "สารานุกรมวิทยาศาสตร์และอารยธรรมจีน" ซึ่งมีความยาวกว่า 25 เล่ม และหนังสือชุดนี้ได้รับการยกย่องในระดับโลกว่ายิ่งใหญ่ในการอธิบายไขความลับเกี่ยวกับจีนโบราณที่แม้แต่นักวิชาการสัญชาติจีนแท้ๆ ก็ไม่สามารถทำได้
"โจเซฟ นีดแฮม ผู้ชายที่หลงรักเมืองจีน" เป็นเรื่องราวชีวิตแสนพลิกผันของโจเซฟ นีดแฮม หนุ่มนักชีวเคมีชาวอังกฤษแห่งเคมบริดจ์คนนั้น คนที่โชคชะตานำพาให้หันมาหลงรักประเทศจีนอย่างหักปักหัวปำ จากแรงดึงดูดของสาวจีนนามหลู่กุ้ยเจิน (Lu Gwei-djen) ผู้มุ่งหน้ามาเคมบริดจ์เพื่อการศึกษาค้นคว้า เมื่อเขาและเธอได้พบกันครั้งแรก
"...เธอจำได้ว่า เธอเดินลงไปที่ห้องโถงเพื่อไปที่ห้องของเขา จากนั้นก็เคาะประตูเบาๆ เธอรู้สึกตื่นเต้นหลังจากที่คิดไปเองอยู่เป็นเดือนๆ ในหัวสมอง... ว่าจะได้เจอตาแก่ที่เคราขาวเฟิ้ม ...แต่คนที่ปรากฏตรงหน้ากลับเป็นหนุ่มผมดำนักชีวเคมีที่เคลื่อนไหวกระฉับกระเฉงจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง แต่ชุดยาวสีขาวมีรูหลายรูซึ่งเกิดจากการกัดของกรดในการทดลองทางเคมี เขาเป็นนักวิชาการรูปหล่อ สูง มีกล้ามเนื้อ ผมยาว สวมแว่นตากรอบทำจากกระดองเต่า และมีผมยุ่งบริเวณหน้าผากต้องใช้มือเสยเป็นระยะ เขามีเสียงที่เข้มแข็ง แต่นิ่มนวล เกือบจะเหมือนเสียงเด็ก ซึ่งเธอพบว่ามันมีเสน่ห์ดึงดูดใจดี"
ผู้หญิงคนนี้เป็นต้นเหตุทำให้เขามาอยู่ที่เมืองจีน และช่วยทำให้ภาพของประเทศจีนในความคิดของคนทั่วไปและคนตะวันตกเปลี่ยนไปเกือบจะในชั่วข้ามคืน จากภาพที่คนทั่วไปคิดว่าจีนเป็นประเทศหลังเขาล้าหลัง แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นแหล่งอารยธรรมหลักของโลกเป็นส่วนใหญ่ สิ่งประดิษฐ์ยิ่งใหญ่ของโลกที่เชื่อว่าริเริ่มโดยตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสะพานแขวน การเดินเรือ เครื่องมือตรวจจับแผ่นดินไหว การพิมพ์ ฯลฯ ล้วนแต่มีแหล่งกำเนิดในจีน
หนังสือเล่มนี้คือเรื่องราวชีวิตอันเข้มข้นผจญภัยของชายผู้ยิ่งใหญ่และขยันปราดเปรียว เป็นนักชีวเคมีที่ฉลาดและเก่งที่สุดในโลก ขณะที่มีอายุเพียง 42 ปี ชายคนนี้กำลังจะไปแสดงความสามารถในฐานะนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษผู้ซึ่งสามารถถกปรัชญาจีนได้ในภาษาจีนกลางอย่างแคล่วคล่อง ความประทับใจในประเทศจีนของนีดแฮมเริ่มจากปี 1943 เมื่อเขาได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลอังกฤษให้เป็นทูตพิเศษในจีนช่วงที่ญี่ปุ่นบุกรุกประเทศจีน และต่อด้วยการที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษประกาศสงครามกับญี่ปุ่น การอยู่ในจีนทำให้นีดแฮมได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ที่น่าทึ่งหลายอย่าง จนนำไปสู่ความสนใจและค้นคว้าอย่างจริงจัง และตีพิมพ์หนังสือออกมาเล่มแรกเมื่อปี 1954
การอยู่ในจีนสี่ปีทำให้นีดแฮมเป็นมหามิตรที่ระดับผู้นำจีนให้ความนับถือและยอมรับอย่างจริงใจ กระทั่งมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ให้ เขากลับไปจีนครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1982 และได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมหาศาล จุดนี้ทำให้นีดแฮมตั้งคำถามที่จนบัดนี้ยังไม่มีใครสามารถตอบได้ชัดเจนว่า ในเมื่อจีนสร้างสรรค์เทคโนโลยีได้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 และ 13 ล่วงหน้ายุโรปเป็นเวลานาน แล้วเหตุใดวิทยาศาสตร์ในจึนจึงหยุดสะดุดหยุดลงไม่พัฒนาต่อไป แต่กับพัฒนากลับไปอยู่ที่ยุโรปในศตวรรษที่ 16 บางคนบอกว่าเหตุที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในจีนหยุดพัฒนาเป็นเพราะไม่มีการแข่งขันในจีนโบราณ การขาดแรงจูงใจ พึงพอใจในสิ่งที่มีอยู่ และพอใจในสิ่งที่มีคุณภาพแค่ปานกลาง แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การหยุดพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วงหนึ่งในจีนถูกมองว่าเป็นเพียงอาการสะอึกในช่วงประวัติศาสตร์อันยาวนานมากกว่าจะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นถาวร จีนแค่หรี่แสงตัวเองประมาณสามหรือสี่ศตวรรษ และในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งอีกครั้ง กลายเป็นประเทศที่ร่ำรวย การประดิษฐ์คิดค้นกำลังเริ่มไหลเวียนในจีนอีกครั้ง
คำนำผู้แปล
ผมเคยคิดว่าตัวเองรู้จักประเทศจีนดีพอสมควร ต้นเหง้ารากตระกูลก็เป็นจีนอพยพโยกย้ายมา ได้ยินอาม่า อากง และพ่อแม่พูดถึงเรื่องเมืองจีนมาตั้งแต่เด็กๆ ญาติที่อยู่เมืองจีนก็มีอยู่ หนังสือเกี่ยวกับประเทศจีนและกำลังภายในก็อ่านมาเยอะ แต่พอได้มาแปลเรื่องอัตชีวประวัติของโจเซฟ นีดแฮม กลับรู้ตัวว่ารู้จักเมืองจีนน้อยเหลือเกิน
ไซมอน วินเชสเตอร์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เล่าชีวประวัติของโจเซฟ นีดแฮม ความจริงเป็นเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของอาจารย์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์คนหนึ่ง แต่การได้อ่านชีวิตของอาจารย์คนนี้กลับทำให้คนอ่านรู้จักประเทศจีนดีขึ้น ทั้งที่อยู่คนละซีกโลกกับประเทศอังกฤษบ้านเกิดเมืองนอนของอาจารย์คนนี้ ต้องสารภาพว่าหลังจากแปลเรื่องนี้จบ ทัศนคติของผมเกี่ยวกับประเทศจีนได้เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมหาศาล
โจเซฟ นีดแฮม เป็นอาจารย์ฝรั่งคนหนึ่งที่ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อทำให้ชาวตะวันตก บรรดาพวกฝรั่งทั้งโลกที่เคยดูถูกชาวจีน ดูถูกประเทศจีนในสมัยที่ท่านอาจารย์มีชีวิตอยู่ต้องหันกลับมามองดูประเทศจีนใหม่ เรียกว่าเป็นการปฏิวัติประวัติศาสตร์จีนในสายตาและในสมองของฝรั่งใหม่ทั้งหมด อาจารย์โจเซฟ นีดแฮม เขียนหนังสือชุดวิทยาศาสตร์และอารยธรรมในจีนขึ้นมา เป็นหนังสือชิ้นเอกของโลกชุดหนึ่ง เป็นหนังสือที่ทำให้ความเข้าใจของชาวตะวันตกต่อประเทศจีนเปลี่ยนไปและไม่เหมือนเดิมอีกเลย เป็นการคืนความยุติธรรมให้แก่ภาพของชาวจีนและประเทศจีน ทำให้สถานภาพของประเทศจีนและคนจีนในสายตาและทัศนคติของคนตะวันตกกลับไปสู่จุดที่มันควรจะเป็น หลังจากที่ถูกบิดเบือนไปเป็นเวลานาน ผมเชื่อว่าไม่ใช่แค่คนตะวันตกเท่านั้นที่มีภาพที่ผิดๆ ของเมืองจีนในใจมาเป็นเวลานาน คนเอเชียที่ไปร่ำเรียนในสถาบันการศึกษาตะวันตก เรียนและรับเอาวิธีคิดแบบตะวันตกมาเต็มสมอง หรือคนที่รับเอาวัฒนธรรมตะวันตกผ่านสื่อต่างๆ มาตลอดชีวิตก็คงจะมองประเทศจีนคล้ายฝรั่ง
ประเทศจีนกำลังกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือน่าอ่าน สนุก และข้อมูลที่เห็นได้ชัดว่าได้ทำการศึกษาและวิจัยอย่างหนักก่อนที่จะวางนิ้วลงบนแป้นพิมพ์ เป็นหนังสือที่ให้ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มานุษยวิทยา วิศวกรรม ฯลฯ ของประเทศจีนในเวลาเดียวกัน คนที่กำลังจะไปเที่ยวเมืองจีน อ่านแล้วรับประกันได้ว่าจะเที่ยวเมืองจีนได้อย่างสนุก มีเนื้อหาสาระมากขึ้น ไซมอนให้ภาพแต่ละตอนในชีวิตอันเหลือเชื่อของโจเซฟ นีดแฮมได้ชัดเจน คนอ่านจะรู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ในแต่ละเหตุการณ์ในช่วงชีวิตของโจเซฟ นอกจากประเทศจีนแล้ว ไซมอนยังให้ภาพบรรยากาศและกลิ่นอายของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์อย่างได้อารมณ์ ผมเองเคยได้ไปขี่จักรยานที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์อยู่สองสามวันในปี 2519 ยังรู้สึกได้ถึงความทรงจำของบรรยากาศอันเคร่งขรึมและร่มรื่นของบริเวณมหาวิทยาลัย แม้เวลาจะผ่านมากว่าสามทศวรรษแล้วก็ตาม
[con·tin·ue]
บทเกริ่น (Prologue): การบินและอากาศพลศาสตร์
บทที่ 1 คนเถื่อนกับอาณาจักรแห่งฟ้า (The Barbarian and the Celestial)
บทที่ 2 เอาเชื้อเพลิงมาให้ในฤดูที่หนาวเหน็บ (Bringing Fuel in Snowy Weather)
บทที่ 3 การค้นพบประเทศจีน (The Discovering of China)
บทที่ 4 รางวัลของการไม่อยู่เฉย (The Rewards of Restlessness)
บทที่ 5 ผลงานชิ้นเอก (The Making of His Masterpiece)
บทที่ 6 บุคคลไม่พึงปรารถนา เสื่อมเกียรติและชื่อเสียง (Persona Non Grata: The Certain Fall from Grace)
บทที่ 7 เส้นทางสู่ประตู (The Passage to the Gate)
บทส่งท้าย (Epilogue): ปราศจากความรีบร้อน ปราศจากความกลัว
กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgments)
แนะนำอ่านเพิ่มเติม (Suggested Further Reading)
เกี่ยวกับผู้เขียน
ไซมอน วินเชสเตอร์ (Simon Winchester: 1944-) ชาวอังกฤษผู้ประพันธ์เรื่องนี้ เป็นนักข่าวและผู้บรรยายรายการทางโทรทัศน์ ทำงานเป็นผู้สื่อข่าวโดยประจำการในต่างประเทศเกือบตลอดชีวิตการทำงาน จบปริญญาทางด้านธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) ทำงานร่วมปีอยู่ที่ภูเขารูเวนโซรี่ (Rwenzori Mountains) ในแถบตะวันตกของประเทศยูกันดา และที่แท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเลเหนือ แตหันมาทำงานเป็นผู้สื่อข่าวให้กับหนังสือพิมพฺฉบับแรกในปี 1967
ส่วนใหญ่เขาทำงานเป็นผู้สื่อข่าวให้กับหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน (The Guardian) และเดอะซันเดย์ไทมส์ (The Sunday Times) ประจำการอยู่ที่เบลฟาสต์ (Belfast) วอชิงตัน ดี.ซี. (Washington DC.) นิวเดลี (New Delhi) นิวยอร์ก (New York) ลอนดอน (London) และฮ่องกง (Hong Kong) ได้ทำข่าววิกฤตอัลสเตอร์ในประเทศไอร์แลนด์ (Ulster Crisis, Ireland) การก่อตั้งประเทศบังกลาเทศ (Bangladesh) ประธานาธิบดีมาร์คอสตกจากอำนาจ (Ferdinand Emmanuel Edralin Marcos: 1917-1989) คดีวอเตอร์เกต (Watergate) การสังการหมู่ที่โจนส์ทาวน์ (Jonestown) การฆาตกรรมประธานาธิบดีซาดัตของอียิปต์ (Muhammad Anwar el-Sadat: 1918-1981, Egypt) การเสียชีวิตและการเผาศพของพอลพต (Pol Pot หรือ Saloth Sar: 1925-1998) และสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ในปี 1982 (The Falklands War, หรือ Falklands Conflict, Falklands Crisis, South Atlantic Conflict, และ the Guerra del Atlántico Sur) เขาถูกจับและติดคุกที่เมืองอูซูอาย่า จังหวัดดีเอราเดลฟูเอโกะ (Ushuaia, Tierra del Fuego) ในข้อหาสายลับเป็นเวลาสามเดือนช่วงที่เกิดความขัดแย้งหมู่เกาะฟอล์กแลนด์
ไซมอน วินเชสเตอร์ หันมาทำงานเป็นนักเขียนอิสระตั้งแต่ปี 1987 ขณะนี้งานหลักของเขาคือการเขียนหนังสือ แต่ยังเขียนบทความให้กับนิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายฉบับของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา อาทิ ฮาร์เปอร์ส (Harper's) สมิธโซเนี่ยน (Smithsonian) เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก (National Geographic) เดอะสเปกเตเตอร์ (The Spectator) กรานตา (Granta) เดอะนิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) และดิ-แอตแลนติก (The Atlantic) อยู่บ้าง เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นบรรณาธิการสำหรับเอเชีย-แปซิฟิกของหนังสือคอนดิแนสทราเวลเลอร์ (Asia-Pacific, Condé Nast Traveler) ตั้งแต่หนังสือก่อตั้งในปี 1987 และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นบรรณาธิการไม่ประจำของหนังสือฉบับนี้ เขาได้รับรางวัลจากงานเขียนหลายชิ้น รวมทั้งรางวัลนักข่าวอังกฤษแห่งปี
ไซมอนเป็นผู้เขียนและนำเสนอรายการทางโทรทัศน์ที่เป็นหัวข้อทางประวัติศาสตร์หลายเรื่อง รวมทั้งซีรีส์ทางทีวีเกี่ยวกับปีท้ายๆ ของฮ่องกงในฐานะประเทศอาณานิคม และเป็นผู้รายงานข่าวประจำให้กับวิทยุบีบีซีในรายการ "รายงานจากนักข่าวของเรา (From Our Own Correspondent)" เขาไปบรรยายหลายแห่งด้วย การบรรยายหลังสุดเป็นการพูดที่สมาคมโรยัลจิโอกราฟฟิคัลโซไซตี้ของลอนดอน (London's Royal Geographical Society) ซึ่งเป็นสมาคมที่เขาเป็นสมาชิก และพูดให้กับผู้ฟังในเรือสำราญควีนอลิซาเบธ 2 (Queen Elizabeth ll หรือ QE2) และเรือซีเบิร์นไพรด์ (Seabourn Pride)
เขาเขียนหนังสือในหัวข้อที่หลากหลาย อย่างเรื่องที่เกี่ยวกับเศษซากที่เหลือของจักรวรรดิอังกฤษ โครงสร้างการจัดการให้อินเดียเป็นประเทศอาณานิคม อภิชนาธิปไตย ภาคตะวันตกของอเมริกา ประสบการณ์ชีวิตนักโทษจากข้อหาสายลับ เรื่องการเดินทางด้วยเท้าหกเดือนผ่านคาบสมุทรเกาหลีและมหาสมุทรแปซิฟิก และหัวข้อเกี่ยวกับอนาคตของจีน เมื่อเร็วๆ นี้ได้เขียนเรื่อง The River at the Center of the World (1996) เป็นเรื่องของแม่น้ำแยงซีเกียงในจีน (China's Yangtze River) หนังสือขายดีเรื่อง The Professor and the Madman: A Tale of Murder, Insanity, and the Making of the Oxford English Dictionary (1998) ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์โดยผู้กำกับฯ ชาวฝรั่งเศสชื่อดัง ลุค เบซอง (Luc Besson: 1959-) และ The Fracture Zone: My Return to the Balkans (1999) เป็นหนังสือที่เขียนถึงประสบการณ์การเดินทางจากออสเตรีย (Austria) ไปตุรกี (Turkey) ในช่วงวิกฤตโคโซโว (Kosovo crisis) ปี 1999
หนังสือขายดีเรื่อง The Map That Changed the World: William Smith and the Birth of Modern Geology (2001) ของไซมอน เป็นประวัติวิลเลี่ยม สมิธ (1769-1839) นักธรณีวิทยาสมัยทศวรรษ 1900 มีหนังสือเกี่ยวกับภูเขาไฟระเบิดที่เกาะกรากะตัวชื่อ Krakatoa: The Day the World Exploded, August 27, 1883 (2003) และ A Crack in the Edge of the World: America and the Great California Earthquake of 1906 (2005) ทั้งสองเล่มติดอันดับหนังสือขายดีของนิวยอร์กไทมส์ (New York Times) และติดอันดับหนังสือขายดีและเด่นในการจัดอันดับอีกหลายรายการ
ปัจจุบัน ไซมอน วินเชสเตอร์ พักอาศัยอยู่ที่นิวยอร์กซิตี้ (New York City) และมีฟาร์เล็กๆ ในเมืองเบิร์กเชียร์ที่รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา (Berkshires, Massachusetts, USA) เขาได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์และแต่งตั้งเป็น Officer of the Order of the British Empire (OBE) จากสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษในปี 2006 มีพิธีแต่งตั้งที่พระราชวังบักกิ้งแฮม (Buckingham Palace)
เกี่ยวกับผู้แปล
วิชัย สุวรรณบรรณ จบการศึกษาจากวิทยาลัยอัสสัมชัญพาณิชย์ (สถาบันการศึกษาที่ไม่เพียงผลิตนักธุรกิจชั้นนำ แต่ยังได้สร้างนักหนังสือพิมพ์ นักร้อง และนายกรัฐมนตรีให้กับประเทศไทยด้วย) ในปี 2518 เป็นปีที่คนไทยแบ่งเป็นซ้ายเป็นขวา และความคิดคนหนุ่มสาวยุ่งเหยิงที่สุดครั้งหนึ่งของไทย หลังจากทำงานให้กับธุรกิจครอบครัวระยะหนึ่ง เขาเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสในปี 2519 ในโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนและอยู่ต่อในยุโรป ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเล็กๆ ใกล้ชายแดนติดประเทศสวิตเซอร์แลนด์ของฝรั่งเศสหนึ่งปีก่อนเดินทางกลับมาทำงานเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นในปี 2520 จากนั้นได้หลงอยู่ในแวดวงน้ำหมึกเรื่อยมาจนปัจจุบันเป็นเวลากว่า 30 ปี มีช่วงเว้นไปทำงานให้กับบริษัทยูนิไทยคอร์ปซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของเรือขนสินค้าช่วงสั้นๆ ในปี 2525-2527 แต่ก็ยังทำงานทางด้านแปลข่าวให้กับหนังสือพิมพ์อยู่ตลอด ตั้งแต่ปี 2527 ทำงานกับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจในหลายหน้าที่ ตั้งแต่หัวหน้าข่าวคอลัมนิสต์ บรรณาธิการบริหาร บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา และได้ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์อาทิตย์วิเคราะห์ระยะหนึ่ง ก่อนกลับมาเป็นบรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจจนถึงปัจจุบัน
เคยเข้าร่วมการอบรมดูงานด้านหนังสือพิมพ์ในโครงการ Japanese NSK-CAJ Fellowship Program ประเทศญี่ปุ่นในปี 2522 และดูงานสภาพเศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกา USIS's US Economic Orientation in USA ในปี 2529 ผลงานเขียนหนังสือส่วนใหญ่เป็นอัตชีวประวัติครอบครัวพ่อค้าเชื้อสายจีนในประเทศไทย อาทิ ซี.พี. ธุรกิจไร้พรมแดน (2536) ชีวประวัตินายสุเมธ เตชะไพบูลย์ (2537) Big Business in Thailand (2538) ประวัติความสำเร็จของกลุ่มโอจีซี (2540) 50 พงศ์เผ่าเจ้าสัว (2540) Super Families in Thailand (2542) และ Big Business in Thailand New Edition (2545) งานแปลจำนวนมากส่วนใหญ่เป็นหนังสือเฉพาะกิจและนิตยสารหลายฉบับ
หนังสือ "โจเซฟ นีดแฮม ผู้ชายที่หลงรักเมืองจีน (The Man Who Loved China)" เล่มนี้เป็นผลงานแปลหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊กเล่มแรก ปัจจุบันเขาทำงานแปลอิสระและบรรณาธิการอาวุโส (ไม่ประจำ) หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)
Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com