ไฟในประวัติศาสตร์มนุษย์ (Catching Fire: How Cooking Made Us Human)
หนังสือชุด World History Series
ไฟในประวัติศาสตร์มนุษย์
แปลจาก Catching Fire: How Cooking Made Us Human (2009)
เขียนโดย Richard Walter Wrangham แปลโดยศิริรัตน์ ณ ระนอง สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2555 จำนวน 276 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740208662
จุดไฟใส่เตา จุดประกายให้ชีวิต สำรวจทฤษฎีใหม่ของวิวัฒนาการสู่ต้นกำเนิดมนุษย์ที่เริ่มมาจากการทำอาหารให้สุก เมื่อราว 1.8-1.9 ล้านปีที่แล้ว บรรพบุรุษหน้าตาเหมือนลิงชิมแปนซีของเราวิวัฒนาการไปเป็นโฮโมอีเรคตัส เมื่อนั้นมนุษย์คนแรกได้ถือกำเนิดขึ้น แต่มันเกิดขึ้นได้อย่างไร? ใน "ไฟในประวัติศาสตร์มนุษย์" ริชาร์ด แรงแฮม เสนอว่าความสำเร็จของวิวัฒนาการมนุษย์เป็นผลมาจากการประกอบอาหาร เมื่อบรรพบุรุษของเราเริ่มรู้จักใช้ไฟและทำอาหารให้สุก อวัยวะที่ใช้ในการย่อยอาหารและร่างกายของพวกเขาก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ปากของพวกเขามีขนาดเล็กลง ส่วนสมองมีขนาดใหญ่ขึ้น และนำไปสู่การจับคู่ การแต่งงาน ระบบครัวเรือน และแม้กระทั่งการแบ่งหน้าที่กันระหว่างเพศก็เกิดขึ้น
"ไฟในประวัติศาสตร์มนุษย์เสนอข้อคิดเห็นที่น่าเชื่อถือและมีพลังในการอธิบายสิ่งต่างๆ ได้อย่างน่าประทับใจ เป็นหนังสือที่ยอดเยี่ยมและมีความสำคัญอย่างยิ่ง" - ไมเคิล พอลแลน (Michael Pollan: 1955-) ผู้เขียนหนังสือ In Defense of Food: An Eater's Manifesto (2008) และ The Omnivore's Dilemma: A Natural History of Four Meals (2006)
"เสนอแนวคิดใหม่ๆ ขนานใหญ่เรื่องวิวัฒนาการของมนุษย์" - ดร.สตีเฟ่น พิงเคอร์ (Steven Arthur Pinker: 1954-) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เขียนหนังสือ How the Mind Works (1997) และ The Stuff of Thought: Language as a Window into Human Nature (2005)
"แรงแฮมนำเสนอสมมุติฐานที่ไม่เหมือนใครและให้ข้อูลครบถ้วน เป็นหนังสือที่ต้องอ่านสำหรับผู้ที่สนใจว่าเราเป็นมนุษย์ขึ้นมาได้อย่างไร" - ดร.เลสลี่ ไอเอลโล (Leslie Crum Aiello: 1946-) ประธานมูลนิธิเวนเนอร์-เกรนเพื่อการวิจัยด้านมานุษยวิทยา (Wenner-Gren Foundation for Anthropological Research)
"ข้อโต้แย้งที่ว่าการทำอาหารทำให้เราเป็นมนุษย์ มีหลักฐานที่น่าสนใจมากจากการวิวัฒนาการมาสนับสนุน ให้พ่อครัวเป็นผู้นำในการเฉลิมฉลองกันดีกว่า!" - ดร.ไมเคิล ไซมอนส์ (Michael Brooke Symons: 1945-) ผู้เขียนหนังสือ A History of Cooks and Cooking (2000)
"ไฟในประวัติศาสตร์มนุษย์เป็นหนังสือที่งดงามและจุดประกายความคิดใหม่ๆ ผู้อ่านทุกคนจะได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือเล่มนี้" - ดร.นิโคลัส ฮัมฟรีย์ (Nicholas Keynes Humphrey: 1943-) ผู้เขียนหนังสือ The Mind Made Flesh: Essays from the Frontiers of Psychology and Evolution (2002) และ Seeing Red: A Study in Consciousness (2006)
"การทำอาหารเปลี่ยนโฉมของมนุษยชาติไปโดยสิ้นเชิง ทำให้มนุษย์เราสามารถดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นดิน มีสมองขนาดใหญ่ขึ้น มีปากขนาดเล็กลง และรู้จักแบ่งหน้าที่ระหว่างหญิงและชายได้ ความรู้จากหนังสือเล่มนี้ตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง เป็นความรู้ใหม่เอี่ยม และด้วยฝีมือของริชาร์ด แรงแฮม ทำให้หนังสือเล่มนี้น่าเชื่อถือยิ่งนัก ผู้เขียนได้นำเอาหลักฐานจากลิงชิมแปนซี ซากฟอสซิล ห้องทดลองเรื่องอาหารและนักโภชนากรมาประกอบ ความคิดอันยิ่งใหญ่และล้ำสมัยไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนักระหว่างการวิวัฒนาการของมนุษย์ในสมัยปัจจุบันนี้ แต่หนังสือเล่มนี้นับว่าเป็นหนึ่งในความยิ่งใหญ่และล้ำสมัยที่ว่านั้น" - ดร.แมทท์ ริดลีย์ (Matthew White Ridle: 1958-) ผู้เขียนหนังสือ Genome: The Autobiography of a Species In 23 Chapters (1999) และ The Agile Gene: How Nature Turns on Nurture (2003)
"หนังสือเล่มนี้เป็นพลังฝีมือล้วนๆ แรงแฮมผสมผสานความคิดดั้งเดิมเข้ากับวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ได้ลงตัวอย่างน่าอัศจรรย์ เป็นการผสมผสานที่สง่างามและมีความชัดเจนแจ่มแจ้ง" - ดร.โรเบิร์ต ฟอลลี่ (Robert Andrew Foley: 1953-) ผู้อำนวยการศูนย์วิวัฒนาการของมนุษย์ลีเวอร์ฮิวม์ เคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร (Leverhulme Centre for Human Evolutionary Studies, University of Cambridge, UK)
"แรงแฮมคร่ำหวอดอยู่ในสาขามานุษยวิทยาซากดึกดำบรรพ์โบราณ ไพรเมตวิทยา โบราณคดี ชีววิทยามนุษย์ เคมีและฟิสิกส์ที่เกี่ยวกับอาหาร เขาสามารถจูงใจเราให้เชื่อได้ว่าเทคนิคการเตรียมอาหารเริ่มหยั่งรากลึกมาตั้งแต่สมัยโฮมินิด นานกว่าที่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ได้คาดไว้ และเขาช่วยทำให้เราเข้าใจว่าโภชนาการในสมัยใหม่นั้นผิดพลาดอย่างไร ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน" - ฟิลิเป เฟอร์นันเดซ อาร์เมสโต (Felipe Fernández-Armesto: 1950-) ผู้เขียนหนังสือ Food: A History (2001) และ The World: A Global History (2007)
คำนำสำนักพิมพ์
เราเรียนรู้กันมาว่าไฟให้ความอบอุ่นและยังปกป้องมนุษย์จากสัตว์ร้ายที่อาจทำอันตรายยามค่ำคืน แต่บทบาทหนึ่งของไฟที่ส่งผลต่อมนุษย์มากที่สุดก็คือการทำอาหารให้สุก เพราะอะไรน่ะหรือ? ริชาร์ด แรงแฮม ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยากายภาพ บอกไว้ใน "ไฟในประวัติศาสตร์มนุษย์" เล่มนี้ว่า ตั้งแต่ครั้งแรกที่โฮโมฮาบิลีนซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเรารู้จักใช้ไฟทำอาหารให้สุกเมื่อเกือบสองล้านปีที่แล้ว พวกเขาก็ค่อยๆ วิวัฒนาการจนกระทั่งกลายเป็นโฮโมเซเปียนส์หรือมนุษย์ที่มีหน้าตาเหมือนพวกเราทุกวันนี้ การรู้จักใช้ไฟทำอาหารให้สุกจึงนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์มนุษย์
ทุกวันนี้อาหารสัมพันธ์กับวัฒนธรรมการบริโภคอย่างแยกไม่ออก การทำอาหารให้สุกไม่เพียงแต่เป็นไปเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพเท่านั้น แต่ได้แปรเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการประกอบอาหารและการปรุงให้มีรสชาติอร่อยถูกปาก หน้าตาน่าลิ้มลอง กลิ่นหอมเตะจมูก บางจานอาจมีเสียงประกอบด้วย (เช่นเสียงฉ่าของกระทะร้อน) เป็นการกระตุ้นประสาทรับรู้กันก่อนที่อาหารจะเข้าปาก แล้วรับรู้รสด้วยลิ้น ในบางกรณี อาหารและการประกอบอาหารยังจัดอยู่ในมณฑลของศิลปะ ดังจะเห็นได้จากการแสดงงานศิลปะชื่อ "ปฏิบัติการผัดไทย" ของฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ในแกลเลอรี่ศิลปะที่นิวยอร์กเมื่อปี 1990 หรือการที่เขาปรุงและเสิร์ฟแกงมัสมั่นแก่ผู้ที่มาชมงานศิลปะ Art42 Basel เมืองบาเซล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 2011
แล้วสำหรับบรรพบุรุษของเราล่ะ การทำอาหารให้สุกมีบทบาทและความสำคัญต่อพวกเขาอย่างไรบ้าง แรงแฮมกล่าวว่าความสำคัญนั้นอยู่ที่การทำให้อาหารเคี้ยวและย่อยง่ายขึ้นมากกว่าการทำให้อาหารมีรสชาติดีขึ้น ซึ่งต่อมาได้ส่งผลให้พวกเขามีปากเล็กลงและสมองมีขนาดใหญ่ขึ้น อีกทั้งอาหารสุกที่ย่อยง่ายยังทำให้ร่างกายนำพลังงานไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากผลทางกายภาพเหล่านี้แล้ว พฤติกรรมยังเปลี่ยนไปด้วย ในบางสังคมการประกอบอาหารเป็นกิจกรรมที่ต้องการความร่วมมือจากสมาชิกมาช่วยเหลือกัน หรือการแบ่งหน้าที่กันระหว่างคนในชุมชน ไปจนถึงการแบ่งงานระหว่างเพศ เป็นส่วนหนึ่งของการจับคู่ การแต่งงาน และระบบครัวเรือนตามมา
ปัจจุบันการหาของป่าล่าสัตว์ดูจะเป็นเรื่องห่างไกลจากวิถีชีวิตแบบเมืองหรือสังคมเกษตรกรรมที่อาหารสำหรับบริโภคมักมาจากระบบอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ เช่น เนื้อสัตว์จำพวกหมู ไก่ หรือเนื้อวัวจากสัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์มที่ได้มาตรฐาน หรือพืชผักผลไม้ที่เพาะปลูกในไร่ และกรรมวิธีในการประกอบอาหารก็เปลี่ยนแปลงอย่างมาก เช่นเดียวกับรูปร่างหน้าตาของเราที่ต่างไปจากบรรพบุรุษ อันเป็นผลมาจากวิวัฒนาการอันยาวนานซึ่งริชาร์ด แรงแฮม ได้ศึกษาและถ่ายทอดไว้อย่างละเอียดใน "ไฟในประวัติศาสตร์มนุษย์" เล่มนี้ ไม่เพียงเท่านั้น หนังสือเล่มนี้ยังกล่าวถึงระบบโภชนาการที่ส่งผลต่อชีวิตและร่างกายของเรา เราใส่ใจเรื่องคุณค่าทางอาหารและพลังงานที่ได้รับ อาหารแต่ละประเภทที่เราเลือกกินจะส่งผลต่อร่างกายต่างกันไป และอาหารที่ดีคืออาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย การศึกษาด้านโภชนาการจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อการบริโภคของมนุษย์
สำนักพิมพ์มติชนหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจเกี่ยวกับอาหารที่กินเข้าไปมากขึ้น และรู้ว่าอาหารนั้นส่งผลต่อร่างกายอย่างไร บางทีเราเองอาจเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการที่กำลังพัฒนาไปสู่สิ่งมีชีวิตรูปแบบใหม่ก็เป็นได้
คำนำผู้แปล
เคยลองจินตนาการเล่นๆ ไหมว่าถ้ามนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนอย่างเราๆ มีนัดเดตรับประทานอาหารเย็นสุดหรูกับบรรพบุรุษลิงของเรา อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อคู่เดตแรกพบหน้ากัน ต่างคนคงต่างงงว่ารูปร่างหน้าตา กิริยา มารยาทของอีกฝ่ายทำไมช่างแตกต่างจากตนเองเสียเหลือเกิน และเมื่อถึงเวลาที่ต่างฝ่ายต้องสั่งอาหารที่ตัวเองชอบมารับประทาน แต่ละคนจะสั่งอาหารอะไรมารับประทานกันดี สำหรับมนุษย์ร่วมสมัยอย่างเราคงจะเดาไม่ยาก เราอาจจะสั่งสลัดผัก ชีส บิสกิต สเต็ก ซุป สปาเก็ตตี้คาร์โบนาร่า ขนมเค้ก กาแฟ แล้วบรรพบุรุษลิงของเราล่ะ ถ้าให้เดา เขาอาจจะสั่งผัก ผลไม้สดๆ ที่เพิ่งเก็บมาจากต้นหรือเนื้อสัตว์ดิบๆ ฯลฯ จินตนาการต่อไปว่าเมื่ออาหารมาวางตรงหน้า ปฏิกิริยาของคู่เดตจะเป็นอย่างไร เป็นไปได้ว่าต่างฝ่ายคงต่างไม่สามารถกินอาหารของอีกฝ่ายได้แน่ๆ และคงจะรู้สึกพิศวงงงงวยว่าอีกฝ่ายกำลังกินอะไรอยู่ และเหตุใดนิสัยการกินอาหารของสองเราจึงช่างแตกต่างกันเหลือเกิน คำถามที่น่าค้นหาคำตอบก็คือ มนุษย์เริ่มวิวัฒนาการสายพันธุ์ของตนที่แตกต่างจากบรรพบุรุษลิงมาตั้งแต่เมื่อใด และวิวัฒนาการมาได้อย่างไร อีกคำถามหนึ่งก็คือ มนุษย์และบรรพบุรุษลิงเริ่มมีนิสัยการกินอาหารแตกต่างกันตั้งแต่เมื่อใด และปัจจัยใดทำให้เกิดความแตกต่างเหล่านั้น
เราอาจจะเคยได้ยินคำตอบต่อคำถามข้างต้นมาบ้างแล้วตามทรรศนะของนักวิชาการหลายๆ คน แต่ริชาร์ด แรงแฮม ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "ไฟในประวัติศาสตร์มนุษย์" ได้นำประเด็นดังกล่าวมาขบคิดพิจารณาอีกครั้ง พร้อมกับเสนอคำตอบใหม่เอี่ยมถอดด้ามที่นักวิจารณ์หลายคนให้ความเห็นว่าเป็นการตอบคำถามที่ยิ่งใหญ่ ล้ำสมัย และจุดประกายความคิดใหม่ๆ ให้กับผู้อ่าน ประเด็นที่สำคัญที่ผู้เขียนนำเสนอคือโฉมหน้าของมนุษยชาติเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงหลังจากที่มนุษย์รู้จักทำอาหาร การทำอาหารมิได้เป็นเพียงการทำให้รสชาติอาหารดีขึ้นเท่านั้น แต่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่มนุษยชาติด้านต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านสรีรศาสตร์ กายวิภาค นิเวศวิทยา ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา สังคม เศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น การกินอาหารสุกทำให้ร่างกายมนุษย์ได้รับพลังงานรวดเร็วกว่าการกินอาหารดิบ เนื่องจากอาหารสุกย่อยง่าย จึงทำให้ร่างกายสามารถส่งพลังงานที่ได้รับไปเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญเช่นสมองได้อย่างเพียงพอและรวดเร็ว นอกจากนี้การกินอาหารสุกทำให้มนุษย์ประหยัดเวลาในการกินอาหารและย่อยอาหาร จึงมีเวลาเหลือไปทำกิจการงานอื่นๆ การรู้จักทำอาหารทำให้เกิดการแบ่งหน้าที่การทำงานระหว่างหญิงและชาย และเป็นจุดกำเนิดของการอยู่รวมกันแบบครอบครัว อาหารสุกทำให้มนุษย์ไม่ต้องปีนป่ายขึ้นไปหาอาหารบนต้นไม้ และอาศัยอยู่บนพื้นราบอยู่รอบกองไฟได้โดยไม่ต้องกลัวสัตว์ร้าย เมื่อไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปีนป่ายเพื่อไปนอนบนต้นไม้ สรีระของมนุษย์ก็เปลี่ยนแปลงไปและสามารถปรับตัวให้เหมาะกับการอยู่บนพื้นราบได้ ฯลฯ
นอกจากหนังสือเรื่อง "ไฟในประวัติศาสตร์มนุษย์" จะพาผู้อ่านท่องข้ามผ่านกาลเวลาเมื่อมองย้อนกลับไปถึงวิวัฒนาการเรื่องอาหารการกินของมนุษย์แล้ว หนังสือเล่มนี้ยังนำเสนอประเด็นร่วมสมัยที่น่าสนใจเรื่องอาหารการกินอีกประเด็นหนึ่งอีกด้วย นั่นคืออาหารรอว์ฟู้ด (อาหารดิบ) เป็นอาหารที่เหมาะกับมนุษย์ศตวรรษที่ 21 อย่างเราหรือไม่ อุตสาหกรรมการผลิตอาหารในปัจจุบันส่งผลอะไรต่อชีวิตและสุขภาพของพวกเราบ้าง ระบบการติดฉลากอาหารที่ตลาดสรรพสินค้าต่างๆ นำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการนับแคลอรี่หรือสารอาหารต่างๆ เชื่อถือได้มากน้อยเพียงไร คำตอบทั้งหมดนี้รอคุณอยู่ในหนังสือเล่มนี้แล้ว คุณค่าของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ข้อคิดเห็นที่ไม่ซ้ำกับใครที่ผู้เขียนได้นำเสนอเท่านั้น แต่วิธีการตั้งหาคำถาม หาคำตอบ และการเขียนข้อมูลของเขายังเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ช่วยให้หนังสือเล่มนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ผู้เขียนได้รวบรวมหลักฐานต่างๆ จากหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นสาขามานุษยวิทยาซากดึกดำบรรพ์โบราณ ไพรเมตวิทยา โบราณคดี และวิทยาศาสตร์ เพื่อประกอบการนำเสนอข้อคิดเห็นของเขา วิธีการนำเสนอข้อมูลก็เป็นไปอย่างมีระบบระเบียบคือตั้งคำถาม มีหลักฐานมาสนับสนุน และหักล้างความเชื่อเดิมๆ อย่างมีเหตุมีผล
"ไฟในประวัติศาสตร์มนุษย์" จึงเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผู้แปลแนะนำให้ผู้ที่สนใจเรื่องอาหารการกินมีไว้ในครอบครองเพื่อช่วยให้ผู้อ่านรู้ทันสิ่งที่ตนบริโภคได้มากยิ่งขึ้น หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ หวังว่าผู้อ่านคงจะสนุกกับการเลือกอาหาร ปรุงอาหาร และรับประทานอาหารทุกๆ มื้อ ผู้แปลหวังว่า "ไฟในประวัติศาสตร์มนุษย์" จะเป็นอาหารจานโปรดสำหรับผู้รักการกินและรักการอ่าน
[con·tin·ue]
บทนำ: สมมุติฐานการทำอาหาร (Introduction: The Cooking Hypothesis)
"ไฟนำความอบอุ่นมาให้เราในคืนอันหนาวเหน็บ มีไว้เพื่อใช้ในการทำอาหาร เพราะชาวอันดามันไม่กินของดิบ เว้นเสียแต่ผลไม้สดสองสามชนิด ชนกลุ่มนี้เชื่อว่าการรู้จักใช้ประโยชน์จากไฟทำให้มนุษย์เป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้และแตกต่างจากสัตว์อื่นๆ" - แรดคลิฟฟ์ บราวน์ (Alfred Reginald Radcliffe-Brown: 1881-1955) ในงานวิจัย 'ชาวเกาะอันดามัน: การศึกษาด้านมานุษยวิทยาสังคม (The Andaman Islanders: A Study in Social Anthropology, 1922)'
บทที่ 1 ตามล่าหาชาวรอว์ฟู้ด (Quest for Raw-Foodists)
"นิยามคำว่ามนุษย์ก็คือสัตว์ที่รู้จักทำอาหาร สิงสาราสัตว์ทั้งหลายต่างมีความทรงจำ การพิจารณาตัดสิน เชาวน์ปัญญา กิเลสตัณหาต่างๆ ในจิตใจอยู่บ้างไม่มากก็น้อย แต่ไม่มีสัตว์ชนิดใดที่จะรู้จักการทำอาหาร มนุษย์เท่านั้นที่เสกสรรอาหารอันโอชะ ทุกคนสามารถเป็นพ่อครัวได้ทั้งนั้น เพียงเพราะเขาผู้นั้นรู้จักวิธีปรุงรสอาหารให้ตัวเองรับประทานได้ (My definition of man is a cooking animal. The beasts have memory, judgement, and the faculties and passions of our minds in a certain degree; but no beast is a cook.)" - เจมส์ บอสเวลล์ (James Boswell, 9th Laird of Auchinleck: 1740-1795) ใน 'บันทึกการท่องเที่ยวไปเฮบริเดสกับแซมมวล จอห์นสัน (Journal of a Tour to the Hebrides with Samuel Johnson, 1785)'
บทที่ 2 รูปร่างหน้าตาของพ่อครัวยุคแรก (The Cook's Body)
"การนำไฟมาใช้ในครัวเรือนส่งผลต่อการพัฒนาทางด้านร่างกายของมนุษย์ รวมถึงวัฒนธรรมด้วย เพราะการมีไฟน่าจะช่วยลดแรงกดดันจากการเลือกสรรตามธรรมชาติบางประการ แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความกดดันบางประการแก่มนุษย์เช่นกัน เมื่ออาหารสุกมาแทนที่อาหารประเภทเนื้อดิบและผลไม้สดที่มีอยู่ทั้งหมด ระบบการเคี้ยว การย่อย และการได้รับสารอาหารจึงเกิดการเปลี่ยนแปลง (Domestication of fire probably reacted on man's physical development as well as on his culture, for it would have reduced some selective pressures and increased others. As cooked food replaced a diet consisting entirely of raw meat and fresh vegetable matter, the whole pattern of mastication, digestion, and nutrition was altered.)" - เคนเนธ โอคลีย์ (Kenneth Page Oakley: 1911-1981) ใน 'สังคมมนุษย์ยุคแรก (Social Life of Early Man: On man's use of fire, with comments on tool-making and hunting, 1961)'
บทที่ 3 ทฤษฎีพลังงานของการประกอบอาหาร (The Energy Theory of Cooking)
"สุภาษิตโบราณกล่าวไว้ว่ามนุษย์มิได้ยังชีพอยู่ได้ด้วยสิ่งที่เขารับประทานเข้าไป แต่อยู่ได้ด้วยสิ่งที่ร่างกายสามารถย่อยได้ต่างหาก (A man does not live on what he eats, an old proverb says, but on what he digests)" - ฌอง อองแตล์ม บริยา-ซาวาแรง (Jean Anthelme Brillat-Savarin: 1755-1826) ใน 'ปากะศาสตร์ (The Physiology of Taste: Or Meditations on Transcendental Gastronomy, 1825)'
บทที่ 4 แรกลิ้มรสอาหารสุก (When Cooking Began)
"การเริ่มรู้จักทำอาหารเป็นปัจจัยที่มีส่วนกำหนดให้มนุษย์เปลี่ยนสถานะจากการมีชีวิตอยู่เยี่ยงสัตว์อื่นๆ มาดำรงชีวิตแบบที่มีความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ (Cooking was the decisive factor in leading man from a primarily animal existence into one that was more fully human.)" - คาร์ลตัน คูน (Carleton Stevens Coon: 1904-1981) ใน 'ประวัติศาสตร์มนุษย์ (The History of Man, 1969)'
บทที่ 5 อาหารสมอง (Brain Foods)
"บอกผมหน่อยซิว่าคุณกินอะไร แล้วผมจะบอกคุณว่าคุณเป็นอย่างไร" - ฌอง อองแตล์ม บริยา-ซาวาแรง ใน 'ปากะศาสตร์'
บทที่ 6 การทำอาหารทำให้มนุษย์ไร้ข้อจำกัดได้อย่างไร (How Cooking Frees Men)
"สัตว์ที่แสนตะกละตะกลาม... จะกินตลอดเวลาและขับถ่ายอย่างไม่หยุดหย่อน วิถีชีวิตของสัตว์ช่างไร้ซึ่งปรัชญาและดนตรีโดยสิ้นเชิง เพลโตกล่าวไว้เช่นนั้น ตรงกันข้าม ชนชั้นสูงหรือสัตว์ที่มีสมบูรณ์แบบมากกว่าจะไม่เอาแต่กินและขับถ่าย" - กาเลน ใน 'มุมมองของกาเลนต่อเรื่องประโยชน์ของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย (Galen on the Usefulness of the Parts of the Body, 1968)'
บทที่ 7 แต่งงานเพื่อกิน (The Married Cook)
"การที่ผู้หญิงต้องรับผิดชอบหน้าที่ต่างๆ ในบ้าน ทำให้พวกผู้ชายต้องทำหน้าที่หาเงินทองมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะหามาได้ และเพราะเหตุนี้เองจึงถือว่าผู้หญิงเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งในสังคม เช่นเดียวกับม้า... ม้าไม่สามารถหากินเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสัตว์อื่น ผู้หญิงก็เช่นกัน" - ชาร์ลอต เพอร์คินส์ กิลแมน (Charlotte Perkins Gilman: 1860-1935) ใน 'ผู้หญิงและเศรษฐศาสตร์: การศึกษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างหญิงและชายในฐานะปัจจัยที่ก่อให้เกิดวิวัฒนาการทางสังคม (Women and Economics: A Study of the Economic Relation between Men and Women as a Factory in Social Evolution, 1898)'
บทที่ 8 การเดินทางของแม่ครัว (The Cook's Journey)
"เปลวไฟที่ลุกโชติช่วงเกิดมาจากประกายไฟเล็กๆ" - ดานเต้ (Dante Alighieri: 1265-1321) ใน 'ไตรภูมิดานเต้ (The Divine Comedy)'
บทส่งท้าย: ปราชญ์เรื่องอาหารการกิน (Epilogue: The Well-Informed Cook)
กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgments)
หมายเหตุท้ายบท (Notes)
เกี่ยวกับผู้เขียน
ริชาร์ด แรงแฮม (Richard Walter Wrangham: 1948-) เป็นศาสตราจารย์ทางด้านมานุษยวิทยากายภาพที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นภัณฑารักษ์ด้านชีววิทยาพฤติกรรมของพวกไพรเมตที่พิพิธภัณฑ์พีบอดี้ (Peabody Museum) และเป็นผู้อำนวยการโครงการศึกษาลิงชิมแปนซีในอุทยานแห่งชาติคิบาลในประเทศยูกันดา (Kibale National Park, Uganda) แรงแฮมเป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือเรื่อง Demonic Males: Apes and the Origins of Human Violence (1996) และเป็นบรรณาธิการร่วมของหนังสือ Primate Societies, Chimpanzee Cultures, Science and Conservation in African Forests (2010) และ Sexual Coercion in Primates (2009) เขาเป็นผู้เขียนบทความพิเศษให้สถานีวิทยุ NPR และหนังสือพิมพ์ Boston Globe หนังสือ New Scientist, Scientific American และอื่นๆ อีกมากมาย เขาใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ (Cambridge, Massachusetts, USA)
เกี่ยวกับผู้แปล
ศิริรัตน์ ณ ระนอง สนใจด้านภาษาและการแปล เวลาว่างชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับอาหาร ทำอาหาร และรับประทานอาหารตั้งแต่เด็กๆ การแปลหนังสือเรื่อง "ไฟในประวัติศาสตร์มนุษย์" จึงเป็นการผสมผสานสิ่งที่ชอบเข้าด้วยกัน
"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)
Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com