top of page

มหัศจรรย์ทฤษฎีสตริง (The Elegant Universe): ไขปริศนาซูเปอร์สตริง มิติอวกาศที่ซ่อนอยู่ และภารกิจพิชิต


หนังสือชุด World Science Series

มหัศจรรย์ทฤษฎีสตริง: ไขปริศนาซูเปอร์สตริง มิติอวกาศที่ซ่อนอยู่ และภารกิจพิชิตทฤษฎีเอกภาพ

แปลจาก The Elegant Universe: Superstrings, Hidden Dimensions and the Quest for the Ultimate Theory (2003, 1999)

เขียนโดย Brian Randolph Greene แปลโดย ดร.อรรถกฤต ฉัตรภููติ และ ดร.ปริญญา การดำริห์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2556 จำนวน 463 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740211075

ในงานเขียนที่เป็นเหมือนส่วนผสมของความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์และการใช้ภาษาที่โดดเด่นนี้ ไบรอัน กรีน ได้ปลอกเปลือกปริศนาที่ห่อหุ้มทฤษฎีซูเปอร์สตริงออกจนเผยให้เห็นเอกภพ 11 มิติ ซึ่งอวกาศสามารถฉีกออกและซ่อมแซมตัวมันเองได้ และทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ควาร์กที่เล็กที่สุดไปจนถึงซูเปอร์โนวาอันยิ่งใหญ่อลังการล้วนเกิดจากการสั่นของวงพลังงานเล็กจิ๋วที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น กรีนใช้ตัวอย่างมากมายทั้งการนั่งเครื่องเล่นในสวนสนุกไปจนถึงมดบนสายยางรดน้ำต้นไม้เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพความจริงอันงดงามแต่แปลกพิสดารที่ฟิสิกส์สมัยใหม่เผยให้เห็น หนังสือเล่มนี้มีพลังในการอธิบายความรู้และอ่านเพลินอย่างไม่เคยมีมาก่อนสำหรับหนังสือแนวนี้ "มหัศจรรย์ทฤษฎีสตริง" เป็นเหมือนบันทึกการเดินทางที่ทั้งตื่นเต้นและน่าสนใจ พาผู้อ่านท่องไปในโลกฟิสิกส์สมัยใหม่ซึ่งทำให้เราเข้าใจการทำงานของเอกภพมากขึ้น

"ทฤษฎีสตริงเป็นแนวคิดร้อนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในวงการฟิสิกส์ นับตั้งแต่แนวคิดเรื่องหลุมดำของสตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง กรีนอธิบายด้วยภาษาที่ทุกคนเข้าใจได้" - San Francisco Chronicle

คำนำสำนักพิมพ์

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สำนักพิมพ์มติชนได้นำเสนอหนังสือแปลแนววิทยาศาสตร์ที่เหมาะสำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยความหวังว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มความรู้ในด้านนี้ให้กับคนในวงกว้างมากขึ้น โดยเน้นหนังสือที่มีเนื้อหาโดดเด่น อธิบายด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายและนำเสนอมุมมองที่กระตุ้นความคิดผู้อ่าน "มหัศจรรย์ทฤษฎีสตริง" เป็นหนังสือแนวฟิสิกส์ที่ตอบโจทย์ทั้งหมดได้อย่างครบถ้วน และเป็นอีกเล่มที่สำนักพิมพ์มติชนภูมิในนำเสนอ

อาจกล่าวได้ว่า "มหัศจรรย์ทฤษฎีสตริง" เป็นหนังสือที่อธิบายทฤษฎีสตริงได้อย่างครบถ้วนและเข้าใจง่ายที่สุดสำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ ด้วยการอธิบายเปรียบเทียบกับเรื่องใกล้ตัวโดยไม่เน้นสูตร สมการ หรือศัพท์วิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อนมากเกินไป อีกทั้งผู้เขียนคือ ไบรอัน กรีน ยังใช้ภาษาสละสลวยและน่าติดตาม จึงทำให้อ่านเข้าใจง่ายและกระตุ้นความสนใจให้ผู้อ่านอยากรู้เรื่องราวของเอกภพให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น หากใครเคยติดใจ "ทอถักจักรวาล (The Fabric of the Cosmos)" ของไบรอัน กรีน มาแล้ว นี่คือผลงานอีกเล่มของเขาที่น่าติดตามไม่แพ้กัน และสำหรับผู้สนใจวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ นี่คือหนังสืออันทรงคุณค่าอีกเล่มที่คุณไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

คำนำผู้แปล

ต้นฉบับภาษาอังกฤษของหนังสือเล่มนี้คือผลงานสร้างชื่อของไบรอัน กรีน ที่ได้บ่มเพาะความประทับใจให้แฟนหนังสือวิทยาศาสตร์ทั่วโลกไม่น้อยไปกว่า "ประวัติย่อของกาลเวลา" ของสตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง (Stephen William Hawking: 1942-) เคยทำไว้ เพราะนอกจากจะมีมุมมองและวิธีการอธิบายหลักการทางฟิสิกส์ที่ลึกซึ้งให้เข้าใจง่ายอันเป็นแนวการเขียนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว กรีนยังมีความโดดเด่นในเรื่องการใช้วรรณศิลป์ที่งดงามเรียงร้อยคำอธิบายต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างมีศิลปะชวนให้น่าติดตาม ทำให้ The Elegant Universe เป็นหนังสือขายดีในหลายประเทศ อีกทั้งยังได้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize) อีกด้วย ผู้แปลจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาความงดงามทางวรรณศิลป์ให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับภาษาอังกฤษให้มากที่สุด

ใน The Elegant Universe หรือชื่อภาษาไทยว่า "มหัศจรรย์ทฤษฎีสตริง" ไบรอัน กรีน พาผู้อ่านออกเดินทางค้นหาความลับของธรรมชาติให้ได้ตื่นเต้นเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวอันมหัศจรรย์ของทฤษฎีสตริง ไม่ว่าจะเป็นมิติที่มากกว่าตาเห็น การฉีกขาดและซ่อมแซมตัวเองของอวกาศ การย้อนเวลากลับไปยุคของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein: 1879-1955) แนวคิดและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป และกลศาสตร์ควอนตัม ทั้งหมดได้รับการอธิบายโดยอาศัยตัวอย่างเปรียบเทียบที่เข้ากันได้ดีกับประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของเรา ผู้อ่านสามารถเข้าใจแนวคิดเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องอาศัยความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน นอกจากนี้แล้วหนังสือเล่มนี้ยังน่าจะเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาที่ดีสำหรับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่เรียนวิชาฟิสิกส์พื้นฐาน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาในบทที่ 2, 3 และ 4)

คำนำผู้เขียน ปี 1999

ในช่วงสามสิบปีสุดท้ายของชีวิต อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) มุ่งมั่นทุ่มเทกับการค้นหาสิ่งที่เรียกว่าทฤษฎีสนามเอกภาพ (Unified Field Theory) มันเป็นสุดยอดทฤษฎีที่เชื่อกันว่าสามารถอธิบายธรรมชาติของแรงชนิดต่างๆ ได้ทั้งหมด และทุกสิ่งล้วนรวมอยู่ในกรอบความคิดที่มีความสอดคล้องกันเพียงทฤษฎีเดียว ไอน์สไตน์ไม่ได้รับแรงบันดาลใจจากวิธีการปกติธรรมดาที่เรามักเชื่อมโยงเข้ากับการดำเนินงานทางวิทยาศาสตร์ เขาไม่ได้พยายามอธิบายข้อมูลที่ได้จากการทดลองชิ้นนี้ชิ้นนั้นหรือจากผลการสังเกตใดๆ ในทางตรงกันข้าม แรงบันดาลใจที่สร้างแรงผลักดันให้เขามาจากศรัทธาและความหลงใหลในหลักการที่ว่า ความเข้าใจที่ลึกซึ้งที่สุดของเอกภพควรเผยให้เห็นความมหัศจรรย์ที่แท้จริงของมันผ่านหลักการที่เรียบง่ายแต่ทรงไว้ซึ่งประสิทธิภาพอันน่ามหัศจรรย์ ไอน์สไตน์ต้องการคำอธิบายสำหรับกลไกการทำงานของเอกภพที่มีความกระจ่างแจ้งชัดเจนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นความจริงอันน่าตื่นตะลึงที่สามารถตรึงให้เราทุกคนอยู่นิ่งกับที่เพื่อชื่นชมความงดงามที่แท้จริงและทึ่งไปกับความสง่างามของมัน

ไอน์สไตน์ไม่ประสบความสำเร็จในการทำความฝันนี้ให้เป็นจริง เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ต่างๆ ล้วนไม่เป็นใจ ในยุคสมัยนั้นสมบัติสำคัญของสสารหลายๆ อย่าง รวมถึงแรงทั้งหมดในธรรมชาติยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก หรืออย่างดีก็มีผู้ศึกษาเพียงผิวเผินเท่านั้น แต่ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา นักฟิสิกส์รุ่นใหม่จากแต่ละยุคแต่ละสมัยซึ่งแม้ว่าอาจต้องเริ่มต้นคลำทางอย่างไม่รู้เหนือรู้ใต้ แต่ก็ได้สร้างการค้นพบที่ต่อยอดจากมรดกของบรรพบุรุษรุ่นก่อนหน้าอย่างต่อเนื่องและน่าทึ่งจนสามารถปะติดปะต่อความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับกลไกการทำงานของเอกภพ เวลาผ่านไปหลายสิบปีหลังจากไอน์สไตน์ประกาศการเดินทางค้นหาทฤษฎีเอกภาพซึ่งในที่สุดแล้วประสบความล้มเหลว แต่ตอนนี้นักฟิสิกส์หลายๆ คนเชื่อมั่นว่าได้ค้นพบกรอบความคิดสำหรับปะติดปะต่อความเข้าใจลึกซึ้งเหล่านี้เข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียวเป็นทฤษฎีเดียวซึ่งโดยหลักการแล้วสามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ทุกๆ อย่างได้ ทฤษฎีที่ว่าคือทฤษฎีซูเปอร์สตริงซึ่งจะเป็นหัวข้อหลักของหนังสือเล่มนี้

ผมเขียน "มหัศจรรย์ทฤษฎีสตริง (The Elegant Universe)" ขึ้นด้วยความพยายามที่จะช่วยให้ผู้อ่านทั่วไปเข้าถึงความเข้าใจลึกซึ้งอันเกิดจากงานวิจัยระดับแนวหน้าของวงการฟิสิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้อ่านที่ไม่ได้ศึกษาในสาขาทางด้านฟิสิกส์หรือคณิตศาสตร์ ประสบการณ์ที่ได้ออกบรรยายเกี่ยวกับทฤษฎีซูเปอร์สตริงให้สาธารณชนทั่วไปฟังในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้ผมรับรู้ถึงความปรารถนาแรงกล้าซึ่งแผ่ขยายไปทั่ว เป็นความต้องการที่จะเข้าใจว่างานวิจัยในปัจจุบันอธิบายเกี่ยวกับกฎพื้นฐานของจักรวาลว่าอย่างไรบ้าง รวมถึงกฎเกณฑ์เหล่านี้บังคับให้เราต้องปรับเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับจักรวาลกันขนานใหญ่ได้อย่างไร อีกทั้งยังมีอุปสรรคอะไรที่รอเราอยู่ข้างหน้าในการเดินทางเพื่อแสวงหาสุดยอดทฤษฎีทางฟิสิกส์ ผมหวังว่าการอธิบายความก้าวหน้าครั้งสำคัญๆ ในวิชาฟิสิกส์ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยไอน์สไตน์และไฮเซนเบิร์ก (Werner Karl Heisenberg: 1901-1976) รวมถึงการชี้ให้เห็นว่าในที่สุดแล้วการค้นพบของพวกเขาได้ค่อยๆ ผลิดอกออกผลสู่การค้นพบในยุคของเราได้อย่างไรจะทำให้หนังสือเล่มนี้ช่วยคุณบริหารสมองและตอบสนองความสงสัยใคร่รู้เหล่านี้ได้

ผมยังเชื่อด้วยว่า "มหัศจรรย์ทฤษฎีสตริง" จะได้รับความสนใจจากผู้อ่านที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ผมหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยนักเรียนและครูผู้สอนในสาขาวิทยาศาสตร์ได้ตกผลึกแนวคิดพื้นฐานต่างๆ ที่สำคัญสำหรับฟิสิกส์สมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัมพัทธภาพพิเศษ สัมพัทธภาพทั่วไป และกลศาสตร์ควอนตัม ขณะเดียวกันก็ได้เพลิดเพลินไปกับการถ่ายทอดเรื่องราวอันน่าตื่นเต้นของนักวิจัยที่กำลังเข้าใกล้ทฤษฎีเอกภาพซึ่งค้นหามานาน สำหรับแฟนหนังสือแนววิทยาศาสตร์ทั่วไปที่มักจะกระหายใคร่รู้และติดตามพัฒนาการใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์ ผมได้พยายามอธิบายความก้าวหน้าหลายๆ ด้าน รวมถึงความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับจักรวาลของเราซึ่งเพิ่งปรากฏขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และสำหรับเพื่อนร่วมอาชีพของผมในวิทยาศาสตร์สาขาอื่น ผมหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะให้ภาพความรู้สึกที่เที่ยงตรงและปราศจากอคติว่าทำไมนักทฤษฎีสตริงถึงได้ตื่นเต้นไปกับความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในการค้นหาสุดยอดทฤษฎีของธรรมชาติ

ทฤษฎีสตริงได้แผ่ขยายเส้นใยของมันจนครอบคลุมไปทั่วอาณาเขตของวิชาฟิสิกส์ยุคใหม่ มันเป็นสาขาวิชาที่มีทั้งความลึกซึ้งและครอบคลุมไปถึงการค้นพบสำคัญหลายๆ อย่างในวิชาฟิสิกส์ เนื่องจากทฤษฎีนี้ได้รวมเอากฎสำหรับสิ่งใหญ่ๆ และกฎสำหรับสิ่งเล็กๆ เข้าไว้ด้วยกันอย่างเป็นเอกภาพ มันจึงเป็นกฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์ที่บังคับควบคุมกว้างไกลตั้งแต่ปลายขอบของเอกภพย่อยลงมาจนถึงองค์ประกอบของสสาร มีหลากหลายวิธีที่จะนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ ผมเลือกเน้นการทำความเข้าใจความหมายของเวลาและอวกาศที่ได้มีการพัฒนาเรื่อยมา ผมพบว่ามันเป็นเส้นทางการพัฒนาที่น่าสนใจเป็นพิเศษ เป็นเส้นทางซึ่งตัดผ่านท้องทุ่งอันงดงามและน่าหลงใหลซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ ไอน์สไตน์ได้แสดงให้เห็นว่าเวลาและอวกาศมีพฤติกรรมที่แตกต่างออกไปจากที่เราคิดอย่างน่าอัศจรรย์ ปัจจุบันงานวิจัยอันล้ำยุคได้บูรณาการแนวคิดของเขาเข้าไปในเอกภพแบบควอนตัมซึ่งมิติพิเศษจำนวนมากขดตัวซ่อนเร้นอยู่ในโครงสร้างเส้นใยของจักรวาล มิติเหล่านี้ซึ่งเรขาคณิตของพวกมันสามารถบิดเปลี่ยนโครงสร้างได้หลากหลายรูปแบบอาจเป็นกุญแจสำคัญที่นำเราไปสู่คำถามที่ลึกซึ้งที่สุดตั้งแต่มีคนเคยถามมา แม้ว่าแนวคิดเหล่านี้บางอย่างจะมีความซับซ้อนแยบยล แต่คุณจะได้เห็นว่ามันสามารถทำความเข้าใจได้โดยการเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน และเมื่อคุณเข้าใจแนวคิดเหล่านี้แล้ว พวกมันจะให้มุมมองที่แตกต่างจากเอกภพที่คุณรู้จักอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว

ตลอดการเขียนหนังสือเล่มนี้ผมพยายามรักษาความเป็นวิทยาศาสตร์ให้ได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็จะพยายามให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจและมองเห็นภาพว่านักวิทยาศาสตร์สามารถบรรลุถึงแนวคิดเกี่ยวกับจักรวาลที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างไร ซึ่งส่วนมากเป็นการใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบ ถึงแม้ว่าผมจะพยายามหลีกเลี่ยงคำศัพท์ทางเทคนิคและสมการต่างๆ แต่เนื่องจากมีแนวคิดใหม่ๆ หลายอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้อ่านอาจจำเป็นต้องหยุดพักบ้างเป็นครั้งคราวเพื่อครุ่นคิดถึงเนื้อหาในส่วนนั้นและทำความเข้าใจคำอธิบายในบางช่วงบางตอนเพื่อจะได้ติดตามพัฒนาการของแนวคิดต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์ บางช่วงบางตอนในภาค IV ของหนังสือเล่มนี้ (ซึ่งให้ความสนใจกับพัฒนาการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหลัง) จะค่อนข้างเป็นนามธรรมมากกว่าส่วนอื่นๆ ผมได้เตือนผู้อ่านให้ระมัดระวังเนื้อหาเหล่านี้ และได้วางโครงสร้างของเนื้อหาให้สามารถอ่านผ่านแบบจับใจความอย่างรวดเร็วได้โดยแทบไม่กระทบกับเนื้อหาส่วนอื่นของหนังสือ ผมได้เพิ่มอภิธานศัพท์สำหรับคำศัพท์วิทยาศาสตร์บางคำซึ่งอาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้อ่านที่ะเข้าใจและจดจำในขณะที่อ่านเนื้อหาหลัก แม้ว่าผู้อ่านทั่วไปอาจไม่สนใจบันทึกท้ายบทมากนักและอ่านข้ามไปทั้งหมด สำหรับผู้อ่านที่มีความสนใจจะพบว่าบันทึกเหล่านั้นได้ขยายประเด็นต่างๆ ที่อ้างถึงในเนื้อหาหรืออธิบายเพิ่มเติมในรายละเอียดสำหรับแนวคิดบางอย่างที่อาจถูกลดทอนให้ง่ายลงในเนื้อหาหลัก รวมถึงรายละเอียดเพิ่มเติมในทางเทคนิคที่เหมาะสำหรับผู้อ่านที่มีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์

[con·tin·ue]

คำนำผู้เขียน ปี 2003

ตอน I: ขอบเขตของความรู้ (The Edge of Knowledge)

บทที่ 1 มัดให้แน่นด้วยสตริง (Tied Up with String)

ตอน II: ทางแยกของเวลา อวกาศ และควอนตัม (The Dilemma of Space, Time, and the Quanta)

บทที่ 2 อวกาศ เวลา และสายตาของผู้มอง (Space, Time, and the Eye of the Beholder)

บทที่ 3 จากการบิดโค้งและระลอกคลื่น (Of Warps and Ripples)

บทที่ 4 ความคลุ้มคลั่งในระดับจุลภาค (Microscopic Weirdness)

บทที่ 5 ความต้องการทฤษฎีใหม่ เมื่อสัมพัทธภาพปะทะกลศาสตร์ควอนตัม (The Need for a New Theory: General Relativity vs. Quantum Mechanics)

ตอน III: วงดนตรีของจักรวาล (The Cosmic Symphony)

บทที่ 6 ไม่มีสิ่งใดนอกจากดนตรี: องค์ประกอบสำคัญของทฤษฎีซูเปอร์สตริง (Nothing but Music: The Essentials of Superstring Theory)

บทที่ 7 คำว่า 'ซูเปอร์' ในซูเปอร์สตริง (The 'Super' in Superstrings)

บทที่ 8 มิติที่มากกว่าตามองเห็น (More Dimensions Than Meet the Eye)

บทที่ 9 เขม่าดินปืน: สัญญาณทางการทดลอง (The Smoking Gun: Experimental Signatures)

ตอน IV: ทฤษฎีสตริงกับโครงสร้างของกาลอวกาศ (String Theory and the Fabric of Space-Time)

บทที่ 10 เรขาคณิตแบบควอนตัม (Quantum Geometry)

บทที่ 11 การฉีกโครงสร้างของอวกาศ (Tearing the Fabric of Space)

บทที่ 12 ต่อยอดจากสตริง: การค้นหาทฤษฎีเอ็ม (Beyond Strings: In Search of M-Theory)

บทที่ 13 หลุมดำ: มุมมองของทฤษฎีสตริง/เอ็ม (Black Holes: A String/M-Theory Perspective)

บทที่ 14 ภาพสะท้อนในจักรวาลวิทยา (Reflections on Cosmology)

ตอน V: การทำให้เป็นเอกภาพในศตวรรษที่ 21 (Unification in the Twenty-First Century)

บทที่ 15 คำทำนายสำหรับอนาคต (Prospects)

บันทึกท้ายบท (Notes)

อภิธานศัพท์ (Glossary of Scientific Terms)

บรรณานุกรมและหนังสือที่แนะนำให้อ่าน (References and Suggestions for Further Reading)

ดรรชนี (Index)

เกี่ยวกับผู้เขียน

ดร.ไบรอัน กรีน (Brian Randolph Greene: 1963-) จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University, Cambridge, Massachusetts, USA) และได้รับทุนโรดส์สกอลาร์ (Rhodes Scholar) เพื่อไปศึกษาจนจบระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford, UK) เข้าทำงานที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University, Ithaca, New York) ในปี 1990 และได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ในปี 1995 จากนั้นในปี 1996 ย้ายมารับตำแหน่งศาสตราจารย์ทางด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University, New York City, New York) รวมถึงเป็นผู้อำนวยการร่วมของสถาบันสำหรับสตริง จักรวาลวิทยา และฟิสิกส์เชิงอนุภาคและดาราศาสตร์ (Institute for Strings, Cosmology, and Astroparticle Physics หรือ ISCAP) นอกจากนี้ยังได้รับเชิญไปบรรยายฟิสิกส์ทั้งในระดับพื้นฐานและระดับสูงมากกว่า 25 ประเทศทั่วโลก งานวิจัยหลายชิ้นของไบรอัน กรีน ยังเป็นการค้นพบสำคัญและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในสาขาทฤษฎีซูเปอร์สตริง

เกี่ยวกับผู้แปล

ดร.อรรถกฤต ฉัตรภูติ เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมจากโรงเรียนปทุมคงคา อดีตผู้แทนนักเรียนไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกที่ประเทศฟินแลนด์ และหนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บไซต์เพื่อการศึกษา วิชาการ.คอม ได้รับทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ให้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge, UK) และจบการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเดอแรม (Durham University, UK) ประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร ปัจจุบันทำงานวิจัยด้านฟิสิกส์ทฤษฎี ทฤษฎีสตริง และจักรวาลวิทยา เคยฝากผลงานแปลและงานเขียนกับสำนักพิมพ์มติชนไว้หลายเล่ม อาทิ ทอถักจักรวาล และฮิกส์โบซอนอนุภาคพระเจ้า

ดร.ปริญญา การดำริห์ นักแปลหน้าใหม่ผู้เริ่มงานแปลด้วย "มหัศจรรย์ทฤษฎีสตริง" เป็นเล่มแรก ปฏิบัติงานในตำแหน่งนักวิจัยหลังปริญญาเอกที่ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนธัญบุรี เข้าเรียนระดับปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง) และเดินทางไปศึกษา Diploma in High Energy Physics ที่ The Abdus Salam Centre for Theoretical Physics (ICTP) ที่เมือง Trieste ประเทศอิตาลี จากนั้นศึกษาต่อทางด้านฟิสิกส์อนุภาคจนสำเร็จปริญญาเอกจาก International School for Advanced Studies (SISSA) ในเมืองเดียวกัน ปัจจุบันเป็นนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีสตริงและทฤษฎีซูเปอร์กราวิตี้ (String Theory and Super Gravity) ที่ดีที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page