top of page

ฟิสิกส์เพื่ออนาคต (Physics of the Future: How Science will Shape Human Destiny and Our Daily Lives b


หนังสือชุด World Science Series

ฟิสิกส์เพื่ออนาคต

แปลจาก Physics of the Future: How Science will Shape Human Destiny and Our Daily Lives by the Year 2100 (2011)

เขียนโดย Michio Kaku แปลโดย ดร.ภาณุ ด่านวานิชกุล บรรณาธิการพิเศษโดย ดร.วุทธิพันธุ์ ปรัชญพฤทธิ์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2556 จำนวน 408 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740211723

ข้อมูลเน้นๆ จากวงใน การันตีโดยเหล่านักวิทยาศาสตร์ เมื่อความรู้ด้านฟิสิกส์กลายเป็นกุญแจสำคัญ เปลี่ยนโฉมหน้าของโลกในศตวรรษที่กำลังจะมาถึง เพราะมนุษย์ไม่เคยหยุดนิ่ง เช่นเดียวกับที่โลกไม่เคยหยุดหมุน และทั้งที่โลกไม่ได้หมุนด้วยอัตราเร็วเพิ่มขึ้นเลย ทว่าในทุกๆ วันเรากลับได้ข้อมูลความรู้และนวัตกรรมล้ำยุคใหม่ๆ อยู่เสมอ นับหมื่นนับแสนปีที่มนุษย์เฝ้ามองความเป็นไปของโลกด้วยความอัศจรรย์ใจ ความพยายามจะไขปริศนาของธรรมชาติได้ดำเนินมาจนถึงจุดสูงสุดแล้วในศตวรรษนี้ มนุษย์กำลังเปลี่ยนสถานะจากผู้สังเกตการณ์ธรรมชาติไปเป็นผู้ควบคุมธรรมชาติ โดยมีวิทยาศาสตร์องค์ความรู้ที่ยิ่งพัฒนาก็ยิ่งคล้ายจะกว้างไกลไร้ที่สิ้นสุดเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างสรรค์ความแปลกใหม่ เมื่อความเป็นไปได้จากห้องทดลองทั่วโลกดาหน้ากันมาท้าทายต่อมจินตนาการ "ฟิสิกส์เพื่ออนาคต" จึงเป็นหนังสือที่แสดงภาพสังคมโลกในอนาคตอย่างสมบูรณ์โดยอ้างอิงจากความพร้อมของวิทยาการที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน

"คากุรวบรวมข้อมูลปริมาณมหาศาลในรูปแบบที่ชัดเจนและมีชีวิตชีวา" - Los Angeles Times Book Review

"เข้าถึงได้ ให้ความบันเทิง และสร้างแรงบันดาลใจ" - New Scientist

คำนำสำนักพิมพ์

มนุษย์ถูกจัดให้เป็นสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ เป็นเผ่าพันธุ์ที่ฉลาดหลักแหลม มีจินตนาการกว้างไกล และเปี่ยมด้วยจิตใจมุ่งมั่นทะเยอทะยาน คุณสมบัติทั้งหลายเหล่านี้กรุยทางให้เราบุกเบิกโลกและมุ่งสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ตอบสนองความต้องการของเราได้ดีกว่า สารพัดเรื่องเหลือเชื่อสำหรับมนุษย์อาจจะถูกไขออกในอนาคตอันใกล้นี้ก็เป็นได้ ลองนึกถึงระบบคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่ซ่อนตัวอย่างแยบยลในทุกฝีก้าวของการดำรงชีวิต ซึ่งเอื้อให้เราเชื่อมโยงเข้ากับสังคมโลกไร้พรมแดนได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านอินเทอร์เน็ต ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์จะนำเราเข้าสู่วิกฤตภัยคุกคามจากสิ่งประดิษฐ์อัจฉริยะของเราเองหรือไม่ เทคโนโลยีด้านการแพทย์ก้าวไกล กระทั่งอาการระยะเริ่มต้นของโรคร้ายอาจถูกจับสังเกตได้โดยอุปกรณ์ขนาดจิ๋ว เพื่อช่วยให้เราเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะเจ็บป่วยของร่างกายได้ทันท่วงที

ความเป็นไปของโลกใบใหญ่จะถูกย่อลงมาสู่ระดับนาโน เทคโนโลยีขนาดเล็กที่จะนำความก้าวหน้ามหาศาลมาให้ เมื่อโลกเผชิญวิกฤตพลังงานขาดแคลนซึ่งมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นอีก พลังงานหมุนเวียนตามธรรมชาติและพลังงานนิวเคลียร์แบบฟิวชั่นจะเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพและช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ หากสภาวะของโลกไม่เอื้อให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อีกต่อไป การเดินทางไปสู่อวกาศเพื่อเสาะหาที่หมายแห่งใหม่ก็จะกลายเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญในระดับความเป็นความตายทีเดียว

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงแห่งการวิวัฒนาการตัวเองครั้งใหญ่ และไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราเท่านั้น หากมันยังมีอิทธิพลต่อกระบวนความคิดและทัศนคติของมนุษย์ที่มีต่อโลก ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม

มิชิโอะ คากุ รวบรวมความรู้ความคิดที่ตกผลึกผ่านประสบการณ์อันยาวนานและในฐานะที่เป็นบุคคลวงใน คากุจึงมีโอกาสพิเศษในการยลโฉมการทดลองและงานวิจัยเพื่อความก้าวหน้าในอนาคตหลายชิ้นจากห้องปฏิบัติการที่มีชื่อเสียงทั่วโลก รวมถึงได้สัมภาษณ์และพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบรรดานักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากหลายสาขาและหลากสถาบัน กลายเป็นเนื้อหาสาระที่ผ่านการกลั่นกรองข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อเสนอความเป็นไปได้สำหรับอนาคตของโลกที่เราอาจคาดเดาไม่ถึง

คำนำผู้แปล

เมื่อเอ่ยถึงคำว่าฟิสิกส์ คนส่วนใหญ่ก็คงนึกถึงนิวตัน เพราะกฎแห่งการเคลื่อนที่อันยิ่งใหญ่ของนิวตันสามารถนำมาอธิบายการเคลื่อนที่ของวัตถุต่างๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ซึ่งรวมถึงการทำนายการเคลื่อนที่ของดวงดาวที่อยู่ห่างไกลจากโลกของเราได้อีกด้วย กระบวนทัศน์ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดของนิวตันนี้จะยังคงอยู่กับเราไปอีกนาน เพราะมันจำเป็นต่อการอธิบายการทำงานของสิ่งต่างๆ ที่อยู่รายรอบในชีวิตประจำวันของเรา อย่างไรก็ตาม ต้นศตวรรษที่แล้วเมื่อมนุษย์เริ่มมองสิ่งที่เล็กลงไปและเริ่มสนใจสิ่งที่อยู่ภายในอะตอมซึ่งแต่เดิมเคยคิดว่าเป็นขนาดของอนุภาคที่เล็กที่สุดที่เป็นองค์ประกอบของธาตุต่างๆ ทว่าแนวคิดของนิวตันกลับไม่สามารถอธิบายการเคลื่อนที่ของสิ่งที่อยู่ภายในอะตอมได้ถูกต้อง กระบวนทัศน์ใหม่จึงเกิดขึ้น กลศาสตร์ควอนตัมจึงเริ่มบทบาทในฐานะแนวคิดใหม่ที่สามารถอธิบายสิ่งเหล่านี้ ความก้าวหน้าของศาสตร์ที่มุ่งศึกษาระบบขนาดเล็กๆ จึงดำเนินไปอย่างรวดเร็วและนำไปสู่การประดิษฐ์สิ่งต่างๆ รวมถึงค้นหาแหล่งพลังงานที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน

หากลองจินตนาการถึงโลกในอนาคตตามคำบรรยายของมิชิโอะ คากุ ในบทสุดท้ายของหนังสือที่อยู่ในมือผู้อ่านเล่มนี้แล้ว คุณจะเห็นภาพที่ชัดเจนว่าโลกอนาคตคือโลกที่มีความสะดวกสบายมากขึ้น โดยอาศัยหลักการทางฟิสิกส์ของทั้งนิวตันและฟิสิกส์แบบควอนตัม รวมถึงเทคโนโลยีระดับนาโนเมตรที่เชื่อมโยงระบบมหภาคขนาดใหญ่กับระบบของอนุภาคขนาดเล็กจิ๋วภายในอะตอม ซึ่งในปัจจุบันก็เริ่มจะเห็นศักยภาพในการพัฒนาคุณสมบัติของวัสดุให้ดีขึ้นอย่างมากแล้ว คากุใช้ความพยายามในการรวบรวมรายละเอียดของนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่เป็นไปได้ในอนาคตโดยการสัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสิ่งเหล่านั้นหรือเป็นผู้เสนอแนวคิดนั้นๆ ด้วยตนเอง แล้วจึงเขียนออกมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย แม้ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูงก็ตาม

ทั้งนี้ตัวคากุเองงก็เป็นนักฟิสิกส์ ดังนั้น "ฟิสิกส์เพื่ออนาคต" เล่มนี้จึงเป็นเสมือนคำบอกเล่าจากคนในวงวิชาการต่อสิ่งที่เขาเชื่อมั่นว่าจะเป็นจริงได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นอนาคตอันใกล้หรืออนาคตที่ยังห่างไกล เขาบอกให้เราทุกคนเตรียมพร้อมกับความตื่นตาตื่นใจที่จะมาพร้อมกับความตื่นตาตื่นใจที่จะมาพร้อมกับเทคโนโลยีทุกรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่รายล้อมตัวเรา หรือสิ่งต่างๆ ที่จะเกี่ยวข้องภายในตัวของเราเองก็ตาม เราได้ผ่านทศวรรษแรกของศตวรรษนี้มาแล้ว และมันถึงเวลาแล้วที่เราควรทำความเข้าใจกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่จะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด

ผู้แปลต้องขอขอบคุณผู้เขียน มิชิโอะ คากุ เป็นอย่างมากที่เขียนเล่ารายละเอียดของเทคโนโลยีต่างๆ และความเชื่อมโยงของเทคโนโลยีดังกล่าวไว้เป็นอย่างดี ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทั่วไปเป็นอย่างมาก ต้องขอขอบคุณสำนักพิมพ์มติชนที่เลือกสรรหนังสือดีๆ เช่นนี้สู่วงการหนังสือไทย และขอขอบคุณกองบรรณาธิการทุกคนที่ช่วยทำให้หนังสือเล่มนี้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

[con·tin·ue]

บทนำ (Introduction): การทำนายอนาคตในอีก 100 ปีข้างหน้า (Predicting the Next 100 Years)

"จักรวรรดิแห่งอนาคตจะเป็นจักรวรรดิแห่งอำนาจจิต" - วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Leonard Spencer-Churchill: 1874-1965)

บทที่ 1 อนาคตของคอมพิวเตอร์ (Future of the Computer): จิตอยู่เหนือสสาร (Mind over Matter)

"ทุกคนคิดว่าขีดจำกัดของวิสัยทัศน์ตนเองเป็นขีดจำกัดของโลก (Everyone takes the limits of his own vision for the limits of the world.)" - อาเธอร์ โชเปนฮาวเออร์ (Arthur Schopenhauer: 1788-1860)

"ไม่เคยมีคนมองโลกในแง่ร้ายคนใดค้นพบความลับของดาวฤกษ์ หรือเดินเรือไปพบดินแดนที่ไม่ได้อยู่บนแผนที่ หรือเปิดสวรรค์แห่งใหม่ให้กับจิตวิญญาณของมนุษยชาติ" - เฮเลน เคลเลอร์ (Helen Adams Keller: 1880-1968)

บทที่ 2 อนาคตของปัญญาประดิษฐ์ (Future of AI): ความรุ่งโรจน์ของเครื่องจักรกล (Rise of the Machines)

"หุ่นยนต์จะเป็นผู้รับช่วงดูแลโลกต่อจากพวกเราหรือไม่? ใช่แล้ว แต่พวกมันจะอยู่ในความดูแลของเรา" - มาร์วิน มินสกี (Marvin Lee Minsky: 1927-2016)

บทที่ 3 อนาคตของการแพทย์การพยาบาล (Future of Medicine): ความสมบูรณ์แบบและสิ่งเหนือชั้นยิ่งกว่า (Perfection and Beyond)

"ไม่มีใครกล้าพอที่จะพูดออกมา แต่หากเราสามารถสร้างมนุษย์ที่ดีขึ้นกว่านี้ โดยรู้ว่าจะเพิ่มยีนเข้าไปอย่างไร แล้วทำไมเราจึงไม่ทำอย่างนั้นเล่า?" - เจมส์ วัตสัน (James Dewey Watson: 1928-) เจ้าของรางวัลโนเบล

"ภายในศตวรรษนี้ ผมไม่คิดจริงๆ ว่าร่างกายของเรายังจะมีความลับอะไรเหลืออยู่อีก และถ้าเป็นเช่นนั้น บางทีอะไรก็ตามที่เราสามารถคิดถึงได้อาจกลายเป็นความจริงขึ้นมา" - เดวิด บัลติมอร์ (David Baltimore: 1938-) เจ้าของรางวัลโนเบล

"ผมไม่คิดว่าตอนนี้เป็นช่วงที่เหมาะ แต่มันก็ใกล้เข้ามาแล้วละ โชคร้ายเสียจริง ผมเกรงว่าผมจะเป็นคนรุ่นสุดท้ายที่จะตายได้" - เจอรัลด์ ซัสส์แมน (Gerald Jay Sussman: 1947-)

บทที่ 4 นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology): ทุกสิ่งเกิดจากความว่างเปล่า? (Everything from Nothing?)

"เท่าที่ผมสามารถทำความเข้าใจได้ หลักการของฟิสิกส์ไม่ได้คัดค้านความน่าจะเป็นในการควบคุมสิ่งต่างๆ ทีละอะตอม" - ริชาร์ด ฟายน์แมน (Richard Phillips Feynman: 1918-1988) เจ้าของรางวัลโนเบล

"นาโนเทคโนโลยีให้เครื่องมือเพื่อใช้เล่นกับกล่องของเล่นสุดยอดของธรรมชาติ นั่นคืออะตอมและโมเลกุล ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดมาจากสิ่งเหล่านี้ และความเป็นไปได้ที่จะสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาดูเหมือนจะไร้ขีดจำกัด" - ฮอร์สต์ สตอร์เมอร์ (Horst Ludwig Störmer: 1949-) เจ้าของรางวัลโนเบล

"บทบาทของสิ่งที่เล็กมากจนแทบเป็นศูนย์นั้นมีอยู่นับไม่ถ้วน" - หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur: 1822-1895)

บทที่ 5 อนาคตของพลังงาน (Future of Energy): พลังงานจากดาวฤกษ์ (Energy from the Stars)

"ยุคหินไม่ได้สิ้นสุดลงเพราะขาดแคลนหิน และยุคน้ำมันก็จะสิ้นสุดลงก่อนที่โลกจะไม่เหลือน้ำมันให้ใช้เป็นเวลานานทีเดียว" - เจมส์ แคนตัน (James Canton: 1951-)

"ในความคิดของผม ฟิวชั่นมีความสำคัญเทียบเท่ากับไฟซึ่งเป็นของขวัญชิ้นแรกของเรา เมื่อมองผ่านม่านหมอกแห่งยุคก่อนประวัติศาสตร์" - เบน โบวา (Benjamin William 'Ben' Bova: 1932-)

บทที่ 6 อนาคตของการท่องอวกาศ (Future of Space Travel): มุ่งไปยังดาวดวงอื่น (To the Stars)

"เราเดินอ้อยอิ่งรีๆ รอๆ อยู่ริมชายหาดมหาสมุทรแห่งจักรวาลมานานพอแล้ว ในที่สุดเราก็พร้อมที่จะแล่นเรือออกไปยังดวงดาวต่างๆ" - คาร์ล เซแกน (Carl Edward Sagan: 1934-1996)

บทที่ 7 อนาคตของความมั่งคั่ง (Future of Wealth): ผู้ชนะและผู้แพ้ (Winners and Losers)

"เทคโนโลยีและคตินิยมกำลังเขย่ารากฐานของระบบทุนนิยมแห่งศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด เทคโนโลยีกำลังทำให้ทักษะและความรู้กลายเป็นผลประโยชน์เชิงกลยุทธ์ที่ยั่งยืนแก่เรา" - เลสเตอร์ ธูโรว์ (Lester Carl Thurow: 1938-2016)

บทที่ 8 อนาคตของมวลมนุษยชาติ (Future of Humanity): อารยธรรมแห่งดาวเคราะห์ดวงนี้ (Planetary Civilization)

"คนที่มีชีวิตอยู่ขณะนี้กำลังใช้ชีวิตอยู่ระหว่างช่วงเวลาที่อาจถูกมองว่าเป็นสามหรือสี่ศตวรรษที่พิเศษที่สุดในช่วงประวัติศาสตร์ของมนุษย์" - จูเลียน ไซมอน (Julian Lincoln Simon: 1932-1998)

"ที่ใดไร้ซึ่งวิสัยทัศน์ ที่นั่นจะไม่มีใครรอด" - สุภาษิตบทที่ 29:18

บทที่ 9 วันหนึ่งของชีวิตในปี 2100 (A Day in the Life in 2100): 1 มกราคม ปี 2100 เวลา 06.15 น.

"ตั้งแต่แนวคิดของอริสโตเติลจนถึงโทมัส อะควินัส ความสมบูรณ์แบบหมายถึงสติปัญญาที่หยั่งรากในประสบการณ์และความสัมพันธ์ซึ่งเรียนรู้ผ่านตัวอย่างของชีวิตที่มีคุณธรรม ความสมบูรณ์แบบของเราไม่ได้อยู่ในความก้าวหน้าทางพันธุกรรม แต่อยู่ในความก้าวหน้าทางด้านบุคลิกภาพต่างหาก" - สตีเวน โพสต์ (Stephen Garrard Post: 1951-)

กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgments)

ที่มาของภาพประกอบ (Notes)

รายชื่อหนังสือที่แนะนำให้อ่านเพิ่มเติม (Recommended Reading)

เกี่ยวกับผู้เขียน

ดร.มิชิโอะ คากุ (Michio Kaku) เป็นศาสตราจารย์ทางด้านฟิสิกส์ทฤษฎีอยู่ที่ City University of New York เป็นหนึ่งในผู้ร่วมคิดค้นทฤษฎีสนามสตริง (String Field Theory) และเป็นผู้เขียนหนังสือที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวางหลายเล่ม เช่น Visions (1997), Beyond Einstein (1987) และ Hyperspace (1994) ซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในบรรดาหนังสือวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยมประจำปีของหนังสือพิมพ์ The New York Times และ The Washington Post อีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นผู้ดำเนินรายการวิทยุด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งได้รับการถ่ายทอดไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา และเคยเป็นแขกรับเชิญในรายการโทรทัศน์ เช่น รายการ Nightline, 60 Minutes, Good Morning America และ Larry King Live

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page