โมเลกุลเปลี่ยนประวัติศาสตร์ กระดุมนโปเลียนเปลี่ยนโลก: เรื่องราวการค้นพบ 17 โมเลกุลสำคัญที่มีบทบาทต่อ
หนังสือชุด World Science Series
โมเลกุลเปลี่ยนประวัติศาสตร์ กระดุมนโปเลียนเปลี่ยนโลก: เรื่องราวการค้นพบ 17 โมเลกุลสำคัญที่มีบทบาทต่อชีวิตมวลมนุษยชาติ
แปลจาก Napoleon's Buttons: 17 Molecules That Changed History (2003)
เขียนโดย Penny Le Couteur และ Jay Burreson แปลโดย ดร.ยุทธนา ตันติรุ่งโรจน์ชัย สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2556 จำนวน 344 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740210603
ประวัติศาสตร์สร้างขึ้นจากโมเลกุล "โมเลกุลเปลี่ยนประวัติศาสตร์ กระดุมนโปเลียนเปลี่ยนโลก" ประกอบด้วย 17 บท ถ่ายทอดเรื่องราวของ 17 โมเลกุลสำคัญที่ได้เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของโลกเราจากข้อสมมุติฐานที่ว่าเนื่องด้วยเหตุผลทางเคมีในกระดุมเป็นเหตุให้นโปเลียนปราชัยในสงครามกับรัสเซีย ไปจนถึงเรื่องราวของสิ่งรอบตัวมนุษย์ ตั้งแต่อาหารการกิน เสื้อผ้า และยารักษาโรคที่ทำให้เรารู้ว่าโครงสร้างเพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างผลกระทบอันยิ่งใหญ่ได้
"หนังสือเล่มนี้เป็นมากกว่าเรื่องเล่าทั่วๆ ไป โดยการอธิบายเรื่องราวทางเคมีที่อยู่เบื้องหลังประวัติศาสตร์ ผู้เขียนเผยให้เราเห็นถึงเส้นบางๆ ที่ก้ำกึ่งระหว่างพิษกับยารักษา และสารประกอบที่มีสถานะเป็นได้ทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน" - The Boston Globe
"อะตอมที่เพิ่มเข้ามาหรืออะตอมที่ถูกเปลี่ยนตำแหน่งพันธะไป ทั้งหมดล้วนแต่สร้างการเปลี่ยนแปลงระหว่างคุณลักษณะชายและหญิง ระหว่างโมเลกุลที่เป็นคุณและโมเลกุลที่คร่าชีวิตมนุษย์ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น วัฒนธรรมถูกสร้างสรรค์ผ่านเคมีได้อย่างไร นี่คือเนื้อหาของหนังสือยอดเยี่ยมเล่มนี้" - Roald Hoffmann (1937-), 1981 Nobel Laureate in Chemistry
คำนำสำนักพิมพ์
เมื่อเรากล่าวถึงประวัติศาสตร์ ผู้คนมักนึกถึงบุคคลสำคัญ วัฒนธรรม หรือสงครามอันยิ่งใหญ่ โมเลกุลดูไม่น่าจะเป็นสิ่งแรกที่มนุษย์ผู้ใดจะนึกถึง แต่จริงๆ แล้วมันมีบทบาทอย่างมากต่อโลกของเรา แม้ว่าโมเลกุลจะหมายถึงส่วนที่เล็กที่สุดของสสาร เล็กมากจนตาเปล่าไม่สามารถมองเห็นได้ แต่มันก็ประกอบไปด้วยอะตอมของธาตุมาเกิดพันธะเคมีกัน กลายเป็นสารประกอบชนิดต่างๆ ซึ่งปรากฏอยู่รอบตัวเรา ตั้งแต่อาหาร เสื้อผ้า หรือยารักษาโรค เรื่องราวในหนังสือต่อไปนี้จึงเป็นเรื่องของบทบาทเคมีในประวัติศาสตร์ที่เราอาจไม่เคยทราบมาก่อน
สิ่งเล็กๆ อาจส่งผลกระทบได้อย่างมหาศาลดังเช่นในอดีต โมเลกุลบางอย่างในน้ำมะนาวเพียงหนึ่งช้อนโต๊ะสามารถทำให้ผู้คนบนเรือรบรอดชีวิตได้ ความเชื่อที่แม่มดมีอิทธิฤทธิ์บินได้ จริงๆ แล้วมาจากกลุ่มของสารประกอบชนิดหนึ่ง หรือโมเลกุลบางอย่างในฟีนอลทำให้อัตราส่วนของผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 ลดลงอย่างเห็นได้ชัด หรือสิ่งที่ฟังดูแปลก เช่นผ้ากันเปื้อนระเบิดได้ เหล่านี้คือสิ่งที่คุณสามารถหาคำอธิบายได้จากหนังสือเล่มนี้
ผู้เขียน ดร.เพนนี่ เลอ กูเตอร์ (Penny Le Couteur) และ ดร.เจย์ เบอร์เรสัน (Jay Burreson) ได้ถ่ายทอดเนื้อหาโครงสร้างทางเคมีผสมผสานไปกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้อย่างลงตัว ทำให้ผู้อ่านเพลิดเพลินกับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่อธิบายผ่านโครงสร้างทางเคมีซึ่งฟังดูแล้วซับซ้อน แต่แผนภาพในเล่มจะช่วยให้ผู้อ่านซึ่งไม่คุ้นชินกับวิทยาศาสตร์สามารถเข้าใจได้มากขึ้น และจะพาคุณไปพบกับคำตอบที่ว่า เหตุของความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นกับกองทัพนโปเลียนมีสาเหตุมาจากกระดุมเพียงเม็ดนั้นจริงหรือไม่?
คำนำผู้แปล
เมื่อกล่าวถึงสารเคมี ส่วนใหญ่มักนึกถึงของเสียจากภาคอุตสาหกรรม สารเป็นพิษต่อร่างกาย โดยมักไม่ได้ตระหนักว่าแท้จริงแล้วสารเคมีคือวัสดุ สสารทุกสิ่งรอบตัวและในตัวเรา มันเกี่ยวข้องกับเราโดยตรง ในฐานะเป็นองค์ประกอบของร่างกายเรา เป็นสิ่งรอบตัวเรา และอีกบทบาทที่สำคัญซึ่งถูกกล่าวในหนังสือเล่มนี้คือ มันมีบทบาทกำหนดการดำเนินไปของสังคมเราตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน และก็คงต่อเนื่องไปในอนาคต โดยบอกเล่าเรื่องราวผ่านสารเคมี 17 ชนิดที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของเรา หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ผู้อ่านได้รับรู้เรื่อราวประวัติศาสตร์และทางเคมีไปพร้อมกัน จึงเหมาะแก่ผู้ต้องการความรู้ด้านประวัติศาสตร์โลกในมุมมองที่ต่างออกไปและผู้สนใจวิทยาศาสตร์ทั่วไปโดยเฉพาะในสาขาเคมี
จากประสบการณ์ของผู้แปลในฐานะอาจารย์สอนวิชาเคมีในระดับอุดมศึกษาพบว่าเมื่อนำเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ไปเล่าประกอบการเรียนการสอนจะช่วยทำให้ผู้เรียนรู้สึกสนุก มีส่วนร่วม และซาบซึ้งถึงความสำคัญของวิชาเคมีมากขึ้น ซึ่งมีรายงานการวิจัยสนับสนุนแนวทางเช่นนี้ ผู้แปลหวังว่าจะมีอาจารย์สอนเคมีในระดับต่างๆ นำเอาเนื้อหาในเล่มไปใช้ประกอบการเรียนการสอน ผู้แปลเชื่อว่านักเรียนนักศึกษาที่เรียนวิชาเคมีแล้วไม่รู้ว่าเรียนไปเพื่ออะไร ทำไมเคมีไกลตัวเหลือเกิน จะได้รับคำตอบหรือแรงบันดาลใจจากหนังสือเล่มนี้บ้างไม่มากก็น้อย ส่วนท่านผู้สนใจใคร่รู้ในทางวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ ผู้แปลหวังว่าท่านจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เกิดมุมมองลึกซึ้งขึ้นต่อประวัติศาสตร์โลก และความเชื่อมโยงกับสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่าโมเลกุล ผู้แปลขอขอบคุณสำนักพิมพ์มติชนที่ยังคงสนับสนุนผลงานแปลทางวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เรื่อยมา
บทนำ (Introduction)
"ขาดตะปูแค่ตัวเดียว เกือกม้าก็ไม่อาจใช้งาน หากขาดเกือกม้า ม้าก็ไม่อาจใช้งาน หากขาดม้า ก็มิอาจส่งสาส์นสำคัญ และถ้าหากขาดสาส์นสำคัญ การศึกสงครามก็ปราชัย ด้วยเหตุจากตะปูตอกเกือกม้าเพียงตัวเดียว" - เพลงกล่อมเด็กอังกฤษโบราณ
ในเดือนมิถุนายน 1812 กองทัพนโปเลียนมีทหารกล้าถึง 600,000 คน แต่เมื่อถึงต้นเดือนธันวาคมปีเดียวกัน กองทัพอันยิ่งใหญ่นี้กลับมีทหารเหลือไม่ถึง 10,000 คน เหล่าไพร่พลที่เหลืออยู่อย่างไร้สารรูปของนโปเลียนได้ข้ามแม่น้ำเบเรซินา ใกล้เมืองบอริซอฟในรัสเซียตะวันตกเพื่อถอยทัพจากมอสโก ทหารเหล่านี้เผชิญความอดอยาก โรคภัยและความหนาวเหน็บแสนทารุณ อันเป็นศัตรูตัวฉกาจผู้มีชัยเหนือเพื่อนทหารและรวมไปถึงกองทัพรัสเซียด้วย ทหารจำนวนมากต้องล้มตาย เสื้อผ้าขาดรุ่งริ่ง ไม่พร้อมดำรงชีพภายใต้อากาศเย็นยะเยือกในเหมันตฤดูของรัสเซีย
การถอยทัพจากมอสโกของนโปเลียนส่งผลสะเทือนไปไกลทั่วทั้งทวีปยุโรป ในปี 1812 ประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ของรัสเซียเป็นชนชั้นทาสติดที่ดิน ผู้เป็นดั่งสมบัติของเจ้าของที่ดินโดยสมบูรณ์ สามารถซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนได้ตามต้องการ นี่เป็นสภาพคล้ายการเป็นแรงงานทาสมากกว่าการเป็นทาสติดที่ดินดังที่เคยเป็นมาในยุโรปตะวันตก หลักการและแนวคิดอุดมคติของการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789-1799 ได้ตามติดกองทัพนโปเลียนผู้มีชัยไปทั่วทุกหนแห่ง ทำให้เกิดการล่มสลายของชนชั้นในสังคมที่มีมาแต่ยุคกลาง เกิดการเปลี่ยนแปลงขอบข่ายทางการเมืองและปลุกปั่นให้เกิดแนวคิดชาตินิยม (nationalism) มรดกตกทอดของนโปเลียนจำนวนมากเป็นสิ่งมีประโยชน์ การบริหารภาครัฐและข้อบัญญัติกฎหมายซึ่งเข้ามาแทนที่ระบบกฎหมายและข้อบังคับท้องถิ่นอันหลากหลายแสนสับสน รวมถึงแนวคิดใหม่เกี่ยวกับสิทธิของปัจเจกบุคคล ครอบครัว และกรรมสิทธิ์ในที่ดินก็ถูกเสนอเพื่อใช้ในช่วงดังกล่าว ระบบน้ำหนักและการวัดในฐานสิบกลายมาเป็นมาตรฐานแทนที่ระบบวัดที่แตกต่างกันจำนวนมากของแต่ละท้องถิ่น
อะไรคือต้นเหตุที่นำไปสู่ความตกต่ำของกองทัพนโปเลียนแสนเกรียงไกร ทำไมทหารของนโปเลียนที่มีชัยในสนามรบอื่นๆ ก่อนหน้าจึงมาพ่ายในสงครามกับรัสเซียครั้งนี้ มีทฤษฎีหนึ่งที่ถูกเสนอขึ้นมาซึ่งอาจเทียบเคียงได้กับเนื้อความในบทเพลงกล่อมเด็กในอดีต "ด้วยเหตุจากกระดุมเพียงเม็ดเดียว (all for the want of a button)" อาจฟังดูน่าประหลาดใจ แต่การล่มสลายของกองทัพนโปเลียนอาจมีที่มาจากสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่าการเสื่อมสภาพของกระดุม หากกล่าวอย่างเจาะจงคือกระดุมดีบุกซึ่งใช้ยึดทุกอย่างตั้งแต่เสื้อโค้ตกันหนาวของเหล่านายทหารไปถึงกางเกงและเสื้อแจ๊กเก็ตของบรรดาทหารเดินเท้า เมื่ออุณหภูมิลดต่ำลง โลหะดีบุกมันวาวก็เริ่มเปลี่ยนสภาพกลายเป็นผงสีเทาไร้สมบัติโลหะแตกร่อนออกมา มันยังคงเป็นดีบุกเช่นเดิม เพียงแต่อยู่ในโครงสร้างที่ต่างไปจากเดิม นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับกระดุมดีบุกของกองทัพนโปเลียนใช่ไหม? ที่เมืองบอริซอฟ ผู้สังเกตการณ์ท่านหนึ่งบรรยายถึงกองทัพอันเคยเกรียงไกรของนโปเลียนไว้ว่า "ดูราวกับฝูงผีไร้ญาติ ห่มคลุมกายด้วยเศษเสื้อผ้าผู้หญิง เศษพรม หรือเสื้อโค้ตเต็มไปด้วยรูไหม้พรุน" เป็นไปได้หรือไม่ว่าเมื่อกระดุมบนชุดทหารผุแตกร่อนไป เหล่าทหารของนโปเลียนก็อ่อนแรงจากความหนาวเหน็บจนไม่อาจทำหน้าที่ทหารนักรบได้ หรือว่าการขาดกระดุมทำให้สองมือที่ใช้ถืออาวุธกลายมาเป็นสองมือที่ยึดจับเสื้อไว้เพื่อกันความหนาวแทน
พบปัญหาหลายอย่างในการพิสูจน์ความถูกต้องของทฤษฎีดังกล่าว ปัญหาในนามโรคดีบุก (Tin disease) นี้เป็นที่รู้จักกันดีทางตอนเหนือของทวีปยุโรปนานนับศตวรรษ แล้วทำไมนโปเลียนผู้เชื่อมั่นอย่างยิ่งต่อการเตรียมทหารหาญให้พร้อมรบตลอดเวลา ถึงยอมให้ใช้โลหะดังกล่าวเป็นส่วนประกอบหนึ่งของเสื้อผ้าทหาร นอกจากนี้กระบวนการสลายตัวของดีบุกนั้นดำเนินไปอย่างค่อนข้างช้า แม้แต่ในอุณหภูมิต่ำมากเช่นที่พบในฤดูหนาวปี 1812 ของรัสเซีย แต่มันก็ถือเป็นเรื่องเล่าที่ดีเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะในหมู่นักเคมีที่ชอบอ้างถึงเรื่องราวดังกล่าวว่านโปเลียนปราชัยเนื่องด้วยเหตุผลทางเคมี หากมีความจริงอยู่บ้างในทฤษฎีว่าด้วยดีบุกนี้ เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่าหากดีบุกไม่เสื่อมสภาพในอากาศเย็นแล้ว กองทัพฝรั่งเศสก็อาจแผ่อาณาจักรไปทางตะวันออกได้อีก หากเป็นเช่นนั้น การปลดปล่อยทาสที่ดินชาวรัสเซียจากพันธนาการจะเกิดเร็วขึ้นกว่าเดิมราวครึ่งศตวรรษหรือไม่? แล้วจะยังคงมีความแตกต่างระหว่างยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออกซึ่งแบ่งขอบเขตหยาบๆ ตามอาณาจักรของนโปเลียน (นี่ถือเป็นหนึ่งบทพิสูจน์ถึงอิทธิพลอันไม่สิ้นสูญของนโปเลียน) เช่นที่ปรากฏในปัจจุบันหรือไม่?
ตลอดเวลาที่ผ่านมา โลหะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดประวัติศาสตร์มนุษย์ นอกไปจากบทบาทที่ไม่อาจพิสูจน์ได้เช่นกระดุมของนโปเลียน ดีบุกจากเหมืองแถบคอร์นวอลล์ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษนั้นเป็นที่ต้องการของชาวโรมันอย่างมาก และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งในการขยายอาณาจักรโรมันเข้าสู่ดินแดนสหราชอาณาจักร ในปี 1650 แร่เงินประมาณ 16,000 ตันจากเหมืองแร่ในโลกใหม่มีส่วนสร้างความมั่งคั่งให้แก่สเปนและโปรตุเกส ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนสงครามในทวีปยุโรป การค้นหาทองและเงินมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการเดินทางสำรวจ การตั้งถิ่นฐาน และต่อสิ่งแวดล้อมของหลายท้องถิ่น เช่น การตื่นทองช่วงศตวรรษที่ 19 ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ในประเทศออสเตรเลีย อเมริกาใต้ นิวซีแลนด์ และที่คลอนไดค์ในแคนาดา มีส่วนช่วยเปิดประเทศที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้ภาษาของเราก็เต็มไปด้วยคำหรือวลีที่สัมพันธ์กับโลหะ เช่น ดีแต่เปลือก (goldbrick) มาตรทองคำ (gold standard) เป็นระเบียบเรียบร้อย (good as gold) ปีทอง (golden years) ชื่อยุคต่างๆ ถูกตั้งชื่อตามโลหะเพื่อระลึกถึงความสำคัญของโลหะนั้นๆ ยุคสำริด (bronze age) มีการนำสำริดซึ่งเป็นโลหะผสมหรืออัลลอยของดีบุกและทองแดงไปใช้สร้างอาวุธและเครื่องมือ ตามติดมาด้วยยุคเหล็ก (iron age) ซึ่งมีการถลุงเหล็กและมีการใช้เครื่องมือทำจากเหล็ก
.....
[con·tin·ue]
บทที่ 1 พริกไทย จันทน์เทศ และกานพลู (Peppers, Nutmeg, and Cloves)
บทที่ 2 กรดแอสคอร์บิก (Ascorbic Acid)
บทที่ 3 กลูโคส (Glucose)
บทที่ 4 เซลลูโลส (Cellulose)
บทที่ 5 สารประกอบไนโตร (Nitro Compounds)
บทที่ 6 ไหมและไนล่อน (Silk and Nylon)
บทที่ 7 ฟีนอล (Phenol)
บทที่ 8 ไอโซพรีน (Isoprene)
บทที่ 9 สีย้อม (Dyes)
บทที่ 10 ยามหัศจรรย์ (Wonder Drugs)
บทที่ 11 ยาคุมกำเนิด (The Pill)
บทที่ 12 โมเลกุลกับเวทมนตร์ (Molecules of Witchcraft)
บทที่ 13 มอร์ฟีน นิโคติน และกาเฟอีน (Morphine, Nicotine, and Caffeine)
บทที่ 14 กรดโอเลอิก (Oleic Acid)
บทที่ 15 เกลือ (Salt)
บทที่ 16 สารประกอบคลอโรคาร์บอน (Chlorocarbon Compounds)
บทที่ 17 โมเลกุลต้านโรคมาลาเรีย (Molecules versus Malaria)
บทส่งท้าย (Epilogue)
กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgments)
บรรณานุกรม (Selected Bibliography)
"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)
Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com