ความยุติธรรม (Justice: What's the Right Thing to Do?)
ความยุติธรรม
แปลจาก Justice: What's the Right Thing to Do? (2009)
เขียนโดย Michael J. Sandel แปลโดยสฤณี อาชวานันทกุล สำนักพิมพ์โอเพ่นเวิลด์ส พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2554 จำนวน 376 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9786169070764
ค้นหาความหมาย ปรัชญา และวิวาทะว่าด้วยความยุติธรรมในทุกมิติผ่านตัวอย่างร่วมสมัยในชีวิตจริง หนังสือ 'ความยุติธรรม' มาถูกที่ถูกเวลาอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย ไมเคิล แซนเดล ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สนุกกับการใช้ปรัชญาการเมืองหลากสำนักตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเป็นแว่นขยาย ส่องประเด็นสาธารณะร่วมสมัยที่ผู้คนให้ความสนใจ เช่น การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน การเกณฑ์ทหาร การโก่งราคาในภาวะฉุกเฉิน โบนัสมหาศาลของผู้บริหารธนาคาร การเก็บภาษีคนรวยมาช่วยคนจน การอุ้มบุญ การุณยฆาต และสิทธิส่วนบุคคลกับประโยชน์สาธารณะ ผู้แปลโชคดีที่เคยนั่งเรียนวิชา 'ความยุติธรรม' กับอาจารย์ วิชาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดติดต่อกันกว่าสองทศวรรษจนได้รับการบันทึกเทปออกสู่สายตาผู้ชมมากกว่า 4 ล้านคลิกในยูทูบ มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนมากกว่าหนึ่งพันคนทุกภาคเรียน มากจนต้องไปเรียนกันในโรงละครแซนเดอร์สซึ่งจุคนได้มากที่สุดในมหาวิทยาลัย อาจฟังดูเหลือเชื่อว่าในชั้นเรียนซึ่งมีนักเรียนยัดทะนานนับพัน อาจารย์กลับสามารถถามคำถามและดำเนินบทสนทนาระหว่างนักเรียนได้อย่างมีชีวิตชีวาและท้าทายความคิด หนังสือเล่มนี้เป็นการถ่ายทอดบทสนทนาและการถกเถียงในชั้นเรียน ราวกับยกวิชาในตำนานทั้งวิชามาอยู่บนหน้ากระดาษ นอกจากผู้อ่านจะได้รับความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความคิดและปรัชญาการเมืองในโลกตะวันตกแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังเป็นตัวอย่างของปัญญาปฏิบัติ เป็นการใช้เหตุผลสาธารณะ เพื่อถกมิติทางศีลธรรมในประเด็นสาธารณะเพื่อชีวิตและประโยชน์สาธารณะ เป็นหนังสือที่ทุก 'นัก' ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
คำนำผู้แปล
ความขัดแย้งแบ่งสีในสังคมไทยปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2548 บานปลายสืบเนื่องนานหลายปีโดยยังไม่มีวี่แววว่าจะสร่างซา ประเทศไทยเดินดุจเรือไร้หางเสือผ่านรัฐประหาร รัฐบาลอำมาตย์ พลิกกลับมาเป็นรัฐบาลโคลนนิ่ง จนถึงปี 2554 ความยุติธรรมในสังคมยังดูเป็นอุดมคติอันไกลโพ้น ขณะที่ความอยุติธรรมชัดแจ้ง ฝากรอยแผลทางกายและในใจคนอย่างท่วมท้นขึ้นเรื่อยๆ จนคำกล่าวที่ว่า "คุกไทยมีไว้ขังคนจน" ดูจะเป็นสัจธรรมอันยากจะสั่นคลอน
อย่างไรก็ดี คุณูปการประการหนึ่งของความอึมครึมและแตกแยกในสังคมคือ คำว่าความยุติธรรมถูกพูดถึงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในแทบทุกระดับชั้น ตั้งแต่ผู้นำประเทศจนถึงคนเดินดิน แม่ค้าถกเรื่องตุลาการภิวัตน์กับลูกค้าระหว่างตักข้าวแกงใส่จาน คนทั่วไปโดยเฉพาะผู้ใส่เสื้อสีที่ตื่นตัวทางการเมืองอย่างฉับพลันตามวาทะของอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ถกเถียงเรื่องความยุติธรรมทางสังคมอย่างหน้าดำคร่ำเครียด และบางทีก็ถึงขั้นลงไม้ลงมือ แต่ไม่ว่าเราจะถกเรื่องความยุติธรรมกันมากเพียงใด สิ่งที่ยังพบเห็นน้อยมากในทัศนะของผู้แปลคือ การถกเถียงอย่างรอบด้าน เคารพซึ่งกันและกัน และพยายามให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อันล้วนเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการเดินสู่ความยุติธรรมที่แท้จริง
การถกเถียงเรื่องความยุติธรรม ตั้งแต่เรื่องระดับชาติจนถึงเรื่องในครอบครัว ยังดูจะมุ่งไปที่การชักโวหารเหตุผลจากแม่น้ำทั้งห้ามาสาธยายว่าทำไม "ฉันถูก แกผิด" และความยุติธรรมก็มักถูกใช้ในความหมายว่าอะไรก็ตามที่ทำให้ฉันหรือพวกของฉันได้ประโยชน์ โดยไม่สนใจว่าคนอื่นได้รับผลกระทบอย่างไร กระทั่งไม่อยากฟังเพราะปักใจเชื่อไปแล้วว่าคนอื่นไม่ควรค่าแก่การรับฟัง เพราะเป็นสลิ่ม / เป็นควายที่ถูกซื้อ / เป็นชนชั้นกลางดัดจริต / เป็นพวกล้มเจ้า ฯลฯ การเที่ยวแขวนป้ายง่ายๆ เหล่านี้ให้กับผู้คิดต่าง ทำให้คนจำนวนมากไม่ถกกันอย่างเปิดใจและตรงไปตรงมา หมกมุ่นกับการใช้วาทศิลป์สร้างวาทกรรมด้านเดียวมาสนับสนุนการต่อสู้ทางการเมือง อาทิ เศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนเข้มแข็ง ประชานิยม ทุนโลกาภิวัตน์ ฯลฯ ทั้งที่ในโลกแห่งความจริง สิ่งที่คำเหล่านี้อธิบายไม่ได้มีแต่ด้านบวกหรือด้านลบเพียงด้านเดียว และคำหลายคำที่ถูกหยิบขึ้นมาใช้เป็นอาวุธทางความคิดนั้น แท้จริงสามารถใช้ร่วมกันได้อย่างไม่เคอะเขินเพื่ออธิบายความจริง เช่น กลุ่มการเงินชุมชนหลายกลุ่มใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงช่วยเหลือชาวบ้านที่เป็นหนี้สินล้นพ้นตัวได้สำเร็จ เสร็จแล้วก็นำเงินกู้ในนโยบายประชานิยม อย่างเช่นกองทุนเอสเอ็มแอล มาช่วยให้พวกเขาได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาใหม่
ความยุติธรรมจะบังเกิดได้อย่างไร ในเมื่อเรายังไม่เข้าใจกัน เราจะเข้าใจกันได้อย่างไร ในเมื่อเรายังไม่ให้ความยุติธรรมแม้กับถ้อยคำ ล่ามโซ่ตีกรอบความหมายของมันอย่างคับแคบด้วยวาทกรรมที่ใช้ฟาดฟันทางการเมือง แบ่งโลกออกเป็นขาว-ดำ ทั้งที่โลกจริงหลากหลายกว่านั้น ซับซ้อนกว่านั้น และมีความหวังมากกว่านั้น ในห้วงยามที่สังคมเป็นเช่นนี้ ผู้แปลคิดว่าหนังสือ "ความยุติธรรม" มาถูกที่ถูกเวลาเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้เขียน-ไมเคิล แซนเดล เป็นนักปรัชญาการเมืองร่วมสมัยที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในโลกวิชาการ ยิ่งกว่านั้นคือ อาจารย์เป็นปัญญาชนสาธารณะที่มีความสุขกับการใช้ปรัชญาทางการเมืองหลากสำนักตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเป็นแว่นขยายส่องประเด็นสาธารณะต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน การเกณฑ์ทหาร การโก่งราคาในภาวะฉุกเฉิน โบนัสมหาศาลของผู้บริหารธนาคาร การเก็บภาษีคนรวยมาช่วยคนจน การอุ้มบุญ การุณยฆาต สิทธิส่วนบุคคลกับประโยชน์สาธารณะ ฯลฯ
ผู้แปลโชคดีที่เคยนั่งเรียนวิชา "ความยุติธรรม" กับอาจารย์ วิชานี้เป็นวิชาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดติดต่อกันนานกว่าสองทศวรรษ มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนมากกว่าหนึ่งพันคนทุกภาคการเรียน มากจนต้องไปเรียนกันในโรงละครแซนเดอร์สซึ่งจุคนได้มากที่สุดในมหาวิทยาลัย สิ่งที่ทำให้ผู้แปลทึ่งที่สุดไม่ใช่ความรอบรู้ของอาจารย์แซนเดล หากแต่เป็นความเอื้ออาทร อ่อนโยน และเคารพอย่างจริงใจในความคิดเห็นของนักศึกษาทุกคน กระทั่งกับคนที่ดันทุรัง-ดื้อดึง-ด่าทอเพื่อนร่วมห้อง หรือพูดจาถากถางอาจารย์ด้วยความเชื่อมั่นเกินขีดความสามารถของตัวเอง อาจารย์แซนเดลก็จะรับฟังอย่างตั้งใจ ใจเย็น และใจกว้าง ชี้ชวนให้ผู้คิดต่างเสนอความเห็นและถกเถียงกันในชั้นเรียน โดยสอดแทรกความคิดเห็นของตัวเองให้น้อยที่สุด อาจฟังดูเหลือเชื่อว่าในชั้นเรียนซึ่งมีนักเรียนยัดทะนานนับพันล้นห้อง จนบางคาบนักศึกษานับร้อยต้องนั่งพื้นตรงทางเดิน อาจารย์กลับสามารถถามคำถามและดำเนินบทสนทนาระหว่างนักเรียนได้อย่างมีชีวิตชีวาและท้าทายความคิด ("เอ้า หนุ่มน้อยเสื้อหนาวสีขาวใส่แว่น ชั้นสามจากบนสุดคิดอย่างไรครับ")
แต่อาจารย์แซนเดลทำได้ หนังสือเล่มนี้เป็นการถ่ายทอดบทสนทนาและการโต้วาทีในชั้นเรียน ระหว่างนักศึกษาด้วยกัน และระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา ราวกับยกวิชาในตำนานวิชานี้ทั้งวิชามาอยู่บนหน้ากระดาษ นอกจากจะได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความคิดและปรัชญาการเมืองในโลกตะวันตกแล้ว แซนเดลพยายามจะบอกเราว่าความยุติธรรมนั้นถึงที่สุดแล้วเป็นเรื่องของการให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ และด้วยเหตุนี้ทั้งเหตุผลและศีลธรรมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ดังเนื้อความตอนหนึ่งว่า
"การขอให้พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยทิ้งความเชื่อทางศีลธรรมและศาสนาไว้เบื้องหลังเมื่อพวกเขาเดินเข้าสู่วงอภิปรายสาธารณะนั้น อาจดูเป็นวิธีสร้างหลักประกันว่าคนจะอดทนอดกลั้นและเคารพซึ่งกันและกัน แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นอาจตรงกันข้าม การตัดสินคำถามสำคัญๆ ในประเด็นสาธารณะขณะแสร้งทำตัวเป็นกลาง ทั้งที่เป็นกลางจริงๆ ไม่ได้นั้น คือสูตรสร้างปฏิกิริยาโต้กลับและความไม่พอใจ การเมืองกลวงเปล่าอันสิ้นไร้การโต้เถียงทางศีลธรรมอย่างหนักแน่นทำให้ชีวิตพลเมืองของเราแร้นแค้น นอกจากนี้มันยังเชื้อเชิญลัทธิคลั่งศีลธรรมอันคับแคบและไม่อดทนอดกลั้น นักรากฐานนิยมวิ่งเข้าสู่พื้นที่ซึ่งนักเสรีนิยมไม่กล้าย่างเท้าเข้าไป"
ผู้แปลคิดว่าหนังสือเล่มนี้ฉายภาพอย่างแจ่มชัดว่าเหตุใดการใช้เหตุผลทางศีลธรรมจึงไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือไม่ควรทำ หากแต่เป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ ผู้แปลหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นส่วนเล็กๆ ในการส่งเสริม ขยับขยาย และยกระดับการถกเถียงประเด็นสาธารณะในสังคมไทยให้พ้นไปจากมุมมองอันคับแคบ ไม่ว่าจะเป็นแบบเข้าข้างตัวเอง แบบยึดติดกับตัวบทกฎหมาย หรือแบบลัทธิคลั่งศีลธรรมก็ตามที่ หนังสือเล่มนี้เป็นตัวอย่างของปัญญาปฏิบัติ เป็นการใช้เหตุผลสาธารณะ เพื่อถกมิติทางศีลธรรมในประเด็นสาธารณะ เพื่อชีวิตและประโยชน์สาธารณะ เป็นหนังสือที่ทุก "นัก" ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง นอกจากนี้ผู้แปลยังหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะชี้ให้เห็นคุณูปการของการฟังอย่างเปิดใจและอ่อนโยน ดังที่อาจารย์แซนเดลทำอย่างเสมอต้นเสมอปลายตลอดมา เพราะการฟังอย่างตั้งใจนั้น นอกจากจะยากกว่าการพูดหลายเท่าตัวแล้ว ยังจำเป็นต่อการเอื้ออำนวยให้เกิดความยุติธรรมที่แท้จริง หรืออย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาความอยุติธรรมที่ตอกตรึงความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจทางการเมือง
เหนือสิ่งอื่นใด ขอขอบคุณอาจารย์ไมเคิล แซนเดล ผู้ฉายไฟให้เห็นความสำคัญของปรัชญาในชีวิตจริง ความสนุกสนานของการถกประเด็นสาธารณะ และความงดงามของการครุ่นคิดถึงชีวิตที่ดีอย่างยากจะลืมเลือน ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่าน
[con·tin·ue]
บทที่ 1 การทำสิ่งที่ถูกต้อง (Doing the Right Thing)
บทที่ 2 หลักความสุขสูงสุด/อรรถประโยชน์นิยม (The Greatest Happiness Principle / Utilitarianism)
บทที่ 3 เราเป็นเจ้าของตัวเองหรือเปล่า/ลัทธิอิสรนิยม (Do We Own Ourselves? / Libertarianism)
บทที่ 4 ลุกจ้าง/ตลาดและศีลธรรม (Hired Help / Markets and Morals)
บทที่ 5 สิ่งสำคัญคือเจตนา/อิมมานูเอล คานท์ (What Matters is the Motive / Immanuel Kant)
บทที่ 6 ข้อสนับสนุนความเท่าเทียม/จอห์น รอลส์ (The Case for Equality / John Rawls)
บทที่ 7 ถกเถียงเรื่องระบบโควตา (Arguing Affirmative Action)
บทที่ 8 ใครคู่ควรกับอะไร/อริสโตเติล (Who Deserves What? / Aristotle)
บทที่ 9 เราเป็นหนี้บุญคุณกันเรื่องอะไร?/ความย้อนแย้งเรื่องความจงรักภักดี (What Do We Owe One Another? / Dilemmas of Loyalty)
บทที่ 10 ความยุติธรรมและความดีสาธารณะ (Justice and the Common Good)
เชิงอรรถ (Notes)
คำขอบคุณ (Acknowledgments)
เกี่ยวกับผู้เขียน
"ความรับผิดชอบของปรัชญาการเมืองซึ่งพยายามปฏิสังสันทน์กับภาคปฏิบัติคือต้องชัดเจนหรืออย่างน้อยต้องให้คนเข้าถึงได้ง่าย"
ไมเคิล แซนเดล (Michael J. Sandel: 1953-) นักปรัชญาการเมืองและปัญญาชนสาธารณะชาวอเมริกัน สอนปรัชญาการเมืองที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดตั้งแต่ปี 1980 โดยคัดง้างกับความเชื่อของคนทั่วไปที่ว่าความเชื่อทางศีลธรรมและศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัวที่ควรกันไว้นอกวงถกเถียงในประเด็นสาธารณะ วิชาความยุติธรรมของเขากลายเป็นวิชาในตำนานที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัย ณ กลางปี 2011 มีนักเรียนกว่า 15,000 คนที่ได้นั่งเรียนวิชานี้กับเขา แซนเดลดึงดูดนักเรียนกว่า 1,000 คนทุกภาคเรียนให้มาถกเถียงกันในประเด็นสำคัญๆ ของชีวิตการเมืองสมัยใหม่ อาทิ ชีวจริยธรรม การทรมาน สิทธิและความรับผิดชอบ วิชานี้ได้รับการแปลงเป็นซีรีส์โทรทัศน์และเผยแพร่ฟรีผ่านเว็บไซต์ http://www.justiceharvard.org/ ก่อนจะมาเป็นหนังสือความยุติธรรมเล่มนี้ แซนเดลได้รับรางวัลครูผู้สอนดีเด่นจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี 1985 ปัจจุบันได้รับเชิญไปบรรยายในวงเสวนาวิชาการและในวงอภิปรายสาธารณะทั่วโลก ก่อนหน้านี้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สามใบ ทุนวิชาการจาก Carnegie Corporation, National Endowment for the Humanities, Ford Foundation และ American Council of Learned Societies ระหว่างปี 2002-2005 แซนเดลเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาประธานาธิบดีด้านชีวจริยธรรม
แซนเดลจบการศึกษาปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากมหาวิทยาลัยแบรนไดส์ (Brandeis University, Waltham, Massachusetts, USA) ในปี 1975 และปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (University of Oxford, UK) ในปี 1981 ผลงานก่อนหน้า 'ความยุติธรรม' ได้แก่ Liberalism and the Limits of Justice (1982), Democracy's Discontent: America in Search of a Public Philosophy (1996), Public Philosophy: Essays on Morality in Politics (2005) และ The Case Against Perfection: Ethics in the Age of Genetic Engineering (2007) นอกจากนี้ยังเขียนบทความลงในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ อาทิ The Atlantic Monthly, The New Republic และ The New York Times อย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันอาศัยอยู่กับภรรยาและลูกชายสองคนในเมืองบรุกไลน์ รัฐแมสซาชูเซ็ตส์ (Brookline, Massachusetts)
เกี่ยวกับผู้แปล
สฤณี อาชวานันทกุล เป็นนักเขียน นักแปล และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน จบการศึกษาปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก มีประสบการณ์ทำงานในภาคการเงินกว่า 8 ปี ในฐานะวาณิชธนกรที่ธนาคารดอยช์ (Deutsche Bank) สาขาฮ่องกง พนักงานสินเชื่อที่ธนาคารไทยพาณิชย์ วาณิชธนกรและรองผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กรที่บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นกรรมการบริหารของบริษัท ฮันเตอร์ส แอ็ดไวซอรี่ จำกัด (Hunters Advisory) ก่อนที่จะตัดสินใจออกมาทุ่มเทเวลาให้กับงานเขียนและงานวิจัยอย่างเต็มตัว นักท่องเว็บชาวไทยส่วนใหญ่รู้จักสฤณีในชื่อ 'คนชายขอบ' หรือ Fringer จากบล็อก http://www.fringer.org ซึ่งการเขียนบล็อกได้นำไปสู่การเป็นคอลัมนิสต์ประจำโอเพ่นออนไลน์ (http://www.onopen.com) และคอลัมน์อื่นๆ ในสื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับ งานเขียนและแปลของเธอส่วนใหญ่สะท้อนความสนใจอย่างต่อเนื่องในกิจการและการเงินเพื่อสังคม อาทิ 'พลังของคนหัวรั้น' (แปลจาก The Power of Unreasonable People โดย John Elkington และ Pamela Hartigan) 'เศรษฐศาสตร์แห่งชีวิต' (แปลจาก The Logic of Life โดย Tim Harford) 'นายธนาคารเพื่อคนจน' (แปลจาก Banker to the Poor โดย Muhammad Yunus) 'ล่องคลื่นโลกาภิวัตน์' และ 'ทุนนิยมมีชีวิต ธุรกิจมีหัวใจ'
ปัจจุบันสฤณีมีความสุขกับการติดตามและถ่ายทอดพัฒนาการใหม่ๆ ณ พรมแดนความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ และการใช้อินเทอร์เน็ตในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านการเป็นอาจารย์พิเศษวิชาธุรกิจกับสังคมในหลักสูตรควบบริหารธุรกิจบัณฑิต (การจัดการแบบบูรณาการ) และวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (โครงการ 5 ปี) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคอลัมน์ต่างๆ ในสื่อสิ่งพิมพ์ อาทิ 'รู้ทันตลาดทุน' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 'make a difference' ในนิตยสาร Women & Home และ 'เศรษฐศาสตร์กู้โลก' บนเว็บไซต์มูลนิธิโลกสีเขียว นอกจากนี้เธอยังเป็นหนึ่งในกรรมการผู้ก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองเน็ต ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศไทย ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ชายขอบ ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์โอเพ่นเวิลด์ส และผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ติดตามสฤณีได้ที่บล็อก 'คนชายขอบ' http://www.fringer.org เฟซบุ๊ก http://www.facebook.com/SarineeA และทวิตเตอร์ @Fringer
"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)
Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com