top of page

ปรัชญาสาธารณะ: ความเรียงว่าด้วยสิทธิ ศีลธรรม และประชาธิปไตย (Public Philosophy: Essays on Morality i


ปรัชญาสาธารณะ: ความเรียงว่าด้วยสิทธิ ศีลธรรม และประชาธิปไตย

แปลจาก Public Philosophy: Essays on Morality in Politics (2005)

เขียนโดย Michael J. Sandel แปลโดยสฤณี อาชวานันทกุล สำนักพิมพ์โอเพ่นเวิลด์ส พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2558 จำนวน 392 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9786167885223

การทำแท้งเท่ากับการพรากชีวิตคนหรือไม่? คู่รักเกย์ควรมีสิทธิทัดเทียมกับคู่รักต่างเพศไหม? การตัดต่อพันธุกรรมมนุษย์เป็นเรื่องสมควรแล้วหรือ? ไมเคิล แซนเดล ปรมาจารย์ด้านปรัชญาการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จะพาเราไปสู่โลกของปรัชญาสาธารณะ (Public Philosophy) ผ่านความเรียงที่อธิบายและวิพากษ์เจาะลึกปรัชญาอันเป็นรากฐานของแนวคิดทางการเมือง เช่น อรรถประโยชน์นิยม ชุมชนนิยม เสรีนิยม รวมถึงแนวคิดของอิมมานูเอล คานท์ และจอห์น รอลส์ อีกทั้งยังนำปรัชญาดังกล่าวมาใช้เป็นฐานในการพิจารณาประเด็นร้อนทางศีลธรรมและการเมืองที่เกิดขึ้นจริง อาทิ การกระจายรายได้ การุณยฆาต การเลิกทาส สิทธิเกย์ การดัดแปลงพันธุกรรมมนุษย์ รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกและเฮตสปีช ฯลฯ หนังสือเล่มนี้นำเสนอปรัชญาสาธารณะที่ผสานแนวคิดเสรีนิยมที่เน้นสิทธิของปัจเจกและชุมชนนิยมที่เน้นคุณประโยชน์ส่วนรวม เพื่อสะท้อนให้เห็นความสำคัญของทั้งสิทธิขั้นพื้นฐานของปัจเจกและการใช้เหตุผลทางศีลธรรมที่จำเป็นต่อการถกเถียงสาธารณะและการสร้างสำนึกพลเมือง แนวคิดทางเลือกนี้อาจช่วยให้เราค้นหาคำตอบถึงชีวิตสาธารณะที่ดีซึ่งจำเป็นต่อการออกแบบนโยบายสาธารณะและการสร้างสังคมที่ดี

คำนำผู้แปล

หลังจากที่จมปลักอยู่กับความขัดแย้งแบ่งสีมานานนับทศวรรษ คนไทยในปี 2558 จำนวนมากรู้สึกสิ้นหวังกับการพูดคุยกับเพื่อนร่วมชาติ เพราะหลายคนไม่ยอมเปิดใจรับฟังความเห็นที่แตกต่าง อย่าว่าแต่จะหาฉันทามติร่วมกันในเรื่องใดๆ เลย ความคิดทางการเมืองในสถานการณ์เช่นนี้ดูจะแบ่งออกเป็นสองฟากใหญ่ๆ ที่มีผู้สนับสนุนมากพอกัน ฝ่ายหนึ่งชูศีลธรรมแบบเสรีประชาธิปไตยสากล เน้นเรื่องสิทธิของปัจเจก อีกฝ่ายชูศีลธรรมแบบพุทธ เน้นเรื่องคุณธรรมจริยธรรม สรุปอย่างหยาบๆ ฝ่ายแรกมองว่าสิทธิอยู่เหนือความดี ฝ่ายหลังมองว่าความดีอยู่เหนือสิทธิ การแบ่งฟากนี้พอจะเปรียบได้กับการถกเถียงระหว่างปรัชญาสองสำนัก อันได้แก่ เสรีนิยม (Liberalism) กับชุมชนนิยม (Communitarialism) ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักในหนังสือเล่มนี้

ดูเผินๆ เหมือนปรัชญาสองสำนักนี้เป็นขั้วตรงข้ามที่ไม่อาจอยู่ร่วมโลกกันได้ แต่อาจารย์ไมเคิล แซนเดล ปรมาจารย์ปรัชญาการเมืองชาวอเมริกันจะพาเราไปสำรวจประวัติศาสตร์ของความคิดที่หล่นหาย ผ่านคำตัดสินของศาลฎีกาอเมริกันในคดีที่เป็นประเด็นสังคมร้อนฉ่า ข้อเขียนของปราชญ์แรบไบในศาสนายิว งานของนักเสรีนิยมตกสมัย ทัศนะของนักชุมชนนิยมชั้นนำ จนถึงคำปราศรัยหาเสียงของบรรดานักการเมือง ทั้งนี้เพื่อพยายามชี้ให้เห็นว่าปรัชญาสองสำนักนี้อาจพบจุดร่วมกันได้ หากแม้นนักเสรีนิยมจะเลิกยืนกรานว่าสิทธิอยู่เหนือความดีในทุกกรณี และนักชุมชนนิยมจะเลิกวางข้อถกเถียงเรื่องสิทธิไว้บนคุณค่าของชุมชนเพียงอย่างเดียว จุดร่วมนี้เองที่อาจารย์หวังว่าจะแผ้วถางทางสู่การเมืองที่เน้นเรื่องความเป็นพลเมือง ชุมชน และสำนึกพลเมืองมากขึ้น รับมือกับคำถามว่าด้วยชีวิตที่ดีอย่างตรงไปตรงมายิ่งกว่าเดิม สังคมพหุนิยมไม่จำเป็นจะต้องหดหัวถอยห่างจากความเชื่อทางศีลธรรมและศาสนาซึ่งพลเมืองนำเข้าสู่ชีวิตสาธารณะ

อาจารย์แซนเดลชี้ว่าการที่นักเสรีนิยมกระแสหลักตีกรอบกันประเด็นทางศีลธรรมออกไปจากการถกเถียงประเด็นสาธารณะ ทำให้พวกเขาพลาดโอกาสที่จะอภิปรายด้วยเหตุผลทางศีลธรรมไปอย่างน่าเสียดาย ตัวอย่างเช่น การมองว่าคนรักเพศเดียวกันควรมีสิทธิเช่นเดียวกับคนรักต่างเพศเพียงเพราะความรักเป็นสิทธิส่วนบุคคลและทุกคนควรเคารพการตัดสินใจของปัจเจก ทำให้เราไม่อาจนำเสนอเหตุผลอันเป็นข้อเท็จจริงที่ว่าความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันนั้นมีความสำคัญลึกซึ้ง ทั้งยังช่วยบรรลุคุณประโยชน์อันสูงส่งของมนุษย์ได้เฉกเช่นการครองคู่ของคนรักต่างเพศ การอ้างแต่สิทธิถ่ายเดียวทำให้เสรีนิยมพลาดโอกาสที่จะอภิปรายและยกระดับความคิดเรื่องความดีในสังคม

ผู้แปลเห็นคล้อยตามอาจารย์ว่าสังคมใดที่เสรีนิยมพลาดโอกาสเช่นนี้ อนุรักษนิยมหรือชุมชนนิยมสุดขั้วก็จะยิ่งผูกขาดวาทกรรมเรื่องความดีที่อยู่ในการรับรู้ของผู้คน ทำให้สุ่มเสี่ยงที่จะไม่ยอมรับความเห็นต่างด้วยการตราหน้าผู้อื่นว่าเลว ท้ายที่สุดก็จะกดดันให้สังคมแตกแยกจนกลายเป็นคลั่งศีลธรรมในด้านหนึ่งและคลั่งสิทธิในอีกด้านหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายไม่อาจคลี่คลายความรู้สึกโดดเดี่ยวแปลกแยกของคนในสังคมสมัยใหม่ ด้วยพลเมืองต้องเป็นผู้ที่ตื่นตัวและตระหนักอย่างเต็มเปี่ยมในสิทธิขั้นพื้นฐานของตนและผู้อื่น ขณะเดียวกันก็มีมโนสำนึกความคิดทางศีลธรรมและพันธะผูกพันต่างๆ จากชุมชนที่ตนสังกัดทั้งทางนามธรรมและรูปธรรม โดยที่พลเมืองไม่อาจสลัดพ้นหรือปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ได้เลย

อาจารย์แซนเดลเสนอว่าเสรีนิยมจะต้องเรียนรู้วาทะเรื่องการปกครองตนเองและความเป็นชุมชน มันจะต้องส่งมอบวิสัยทัศน์เรื่องการปกครองตนเองที่ไปไกลกว่าสิทธิการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าสิทธิการลงคะแนนเสียงจะสำคัญเพียงใด ทั้งยังต้องส่งมอบวิสัยทัศน์เรื่องชุมชนที่โอบอุ้มทรัพยากรพลเมืองอันหลากหลายซึ่งเป็นทรัพยากรขั้นกลางที่อยู่ระหว่างปัจเจกกับชาติ

เส้นทางการเรียนรู้ของเหล่านักเสรีนิยมจะเป็นเช่นใด? ผู้คนในสังคมจะหาฉันทามติร่วมกันในประเด็นสาธารณะได้อย่างไร? ผู้แปลเห็นว่าหนีไม่พ้นการเริ่มต้นใช้เหตุผลทางศีลธรรมอย่างเปิดกว้างและอดทน ดังที่อาจารย์แซนเดลแสดงให้เห็นผ่านข้อเขียนทั้งหลายในหนังสือเล่มนี้ ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่าน

[con·tin·ue]

บทนำ (Introduction)

ภาคหนึ่ง ชีวิตพลเมืองอเมริกัน (American Civic Life)

บทที่ 1 การแสวงหาปรัชญาสาธารณะของอเมริกา (America's Search for a Public Philosophy)

บทที่ 2 พ้นไปจากปัจเจกนิยม: เดโมแครตกับชุมชน (Beyond Individualism: Democrats and Community)

บทที่ 3 การเมืองเรื่องคุณธรรมพื้นๆ (The Politics of Easy Virtue)

บทที่ 4 ความคิดใหญ่ๆ (Big Ideas)

บทที่ 5 ปัญหาของความเป็นอารยะ (The Problem with Civility)

บทที่ 6 การถอดถอนในอดีตและปัจจุบัน (Impeachment-Then and Now)

บทที่ 7 สัญญาของโรเบิร์ต เคนเนดี (Robert F. Kennedy's Promise)

ภาคสอง ข้อถกเถียงทางศีลธรรมและการเมือง (Moral and Political Arguments)

บทที่ 8 ข้อคัดค้านสลากกินแบ่งของรัฐ (Against State Lotteries)

บทที่ 9 โฆษณาในห้องเรียน (Commercials in the Classroom)

บทที่ 10 พะยี่ห้อให้โลกสาธารณะ (Branding the Public Realm)

บทที่ 11 กีฬากับอัตลักษณ์พลเมือง (Sports and Civic Identity)

บทที่ 12 เร่ขายประวัติศาสตร์ (History for Sale)

บทที่ 13 ตลาดเด็กเรียนดี (The Market for Merit)

บทที่ 14 เราควรซื้อสิทธิที่จะปล่อยมลพิษหรือไม่? (Should We Buy the Right to Pollute?)

บทที่ 15 เกียรติกับความคับข้องใจ (Honor and Resentment)

บทที่ 16 ถกเถียงเรื่องโควตานักศึกษา (Arguing Affirmative Action)

บทที่ 17 เหยื่อควรมีส่วนพิพากษาหรือไม่? (Should Victims Have a Say in Sentencing?)

บทที่ 18 คลินตันกับคานท์ว่าด้วยการโกหก (Clinton and Kant on Lying)

บทที่ 19 การุณยฆาตโดยแพทย์เป็นสิทธิหรือไม่? (Is There a Right to Assisted Suicide?)

บทที่ 20 จริยศาสตร์เรื่องตัวอ่อนมนุษย์: ตรรกะทางศีลธรรมของการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิด (Embryo Ethics: The Moral Logic of Stem Cell Research)

บทที่ 21 ข้อถกเถียงทางศีลธรรมกับการยอมรับความต่างแบบเสรีนิยม: การทำแท้งและรักร่วมเพศ (Moral Argument and Liberal Toleration: Abortion and Homosexuality)

ภาคสาม เสรีนิยม พหุนิยม และความเป็นชุมชน (Liberalism, Pluralism, and Community)

บทที่ 22 ศีลธรรมกับอุดมคติเสรีนิยม (Morality and Liberal Ideal)

บทที่ 23 สาธารณรัฐเชิงระเบียบกับตัวตนที่ไร้พันธะผูกพัน (The Procedural Republic and the Unencumbered Self)

บทที่ 24 ความยุติธรรมฐานสมาชิกภาพ (Justice as Membership)

บทที่ 25 มหันตภัยล้างเผ่าพันธุ์ (The Peril of Extinction)

บทที่ 26 เสรีนิยมของดิวอีและของเรา (Dewey’s Liberalism and Ours)

บทที่ 27 การเป็นจ้าวควบคุมและความโอหังในศาสนายิว: ผิดอันใดที่สวมบทพระเจ้า? (Mastery and Hubris in Judaism: What’s Wrong with Playing God?)

บทที่ 28 เสรีนิยมทางการเมือง (Political Liberalism)

บทที่ 29 รอลส์รำลึก (Remembering Rawls)

บทที่ 30 ขีดจำกัดของชุมชนนิยม (The Limits of Communitarianism)

เชิงอรรค (Notes)

เครดิตตีพิมพ์ครั้งแรก (Credits)

เกี่ยวกับผู้เขียน

"ความรับผิดชอบของปรัชญาการเมืองซึ่งพยายามปฏิสังสันทน์กับภาคปฏิบัติคือต้องชัดเจนหรืออย่างน้อยต้องให้คนเข้าถึงได้ง่าย (The responsibility of political philosophy that tries to engage with practice is to be clear, or at least accessible – clear enough that its arguments and concerns can be accessible to a non-academic public.)"

ไมเคิล แซนเดล (Michael J. Sandel: 1953-) นักปรัชญาการเมืองและปัญญาชนสาธารณะชาวอเมริกัน สอนปรัชญาการเมืองที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดตั้งแต่ปี 1980 โดยคัดง้างกับความเชื่อของคนทั่วไปที่ว่าความเชื่อทางศีลธรรมและศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัวที่ควรกันไว้นอกวงถกเถียงในประเด็นสาธารณะ วิชาความยุติธรรมของเขากลายเป็นวิชาในตำนานที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัย กลางปี 2011 มีนักเรียนกว่า 15,000 คนที่ได้นั่งเรียนวิชานี้กับเขา วิชานี้ได้รับการแปลงเป็นซีรีส์ทางโทรทัศน์และเผยแพร่ฟรีผ่านเว็บไซต์ http://www.justiceharvard.org/ ก่อนจะมาเป็นหนังสือ "ความยุติธรรม" ซึ่งติดอันดับหนังสือขายดีทั่วโลก แซนเดลได้รับรางวัลครูผู้สอนดีเด่นจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี 1985 ปัจจุบันได้รับเชิญไปบรรยายในวงเสวนาวิชาการและในวงอภิปรายสาธารณะทั่วโลก ก่อนหน้านี้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 3 ใบ ทุนวิชาการจาก Carnegie Corporation, National Endowment for the Humanities, Ford Foundation และ American Council of Learned Societies ระหว่างปี 2002-2005 แซนเดลเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาประธานาธิบดีด้านชีวจริยธรรม ในปี 2010 นิตยสาร China Newsweek ขนานนามเขาเป็น "ชาวต่างชาติผู้ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งปี" ในจีน

แซนเดลจบการศึกษาปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยแบรนไดส์ (Brandeis University, Waltham, Massachusetts, USA) ในปี 1975 และปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (University of Oxford, UK) ในปี 1981 ผลงานของแซนเดลได้แก่ Liberalism and the Limits of Justice (1982), Democracy's Discontent: America in Search of a Public Philosophy (1996), Public Philosophy: Essays on Morality in Politics (2005), The Case Against Perfection: Ethics in the Age of Genetic Engineering (2007), Justice: What's the Right Thing to Do (2009) และ What Money Can't Buy: The Moral Limits of Markets (2012) นอกจากนี้ยังเขียนบทความตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ อาทิ The Atlantic Monthly, The New Republic และ The New York Times อย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันอาศัยอยู่กับภรรยาและลูกชายสองคนในเมืองบรุกลิน รัฐแมสซาชูเซ็ตส์ (Brookline, Massachusetts)

เกี่ยวกับผู้แปล

สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล และกรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด จบการศึกษาปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก มีประสบการณ์ทำงานในภาคการเงินกว่า 8 ปี ในฐานะวาณิชธนกรที่ธนาคารดอยช์ (Deutsche Bank) สาขาฮ่องกง พนักงานสินเชื่อที่ธนาคารไทยพาณิชย์ วาณิชธนกรและรองผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กรที่บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นกรรมการบริหารของบริษัท ฮันเตอร์ส แอ็ดไวซอรี่ จำกัด (Hunters Advisory) ก่อนที่จะตัดสินใจออกมาทุ่มเทเวลาให้กับงานเขียนและงานวิจัยอย่างเต็มตัว เธอมีงานเขียนและงานแปลรวมกันกว่า 50 เล่ม อาทิ "ความยุติธรรม" "เคนส์: ความรู้ฉบับพกพา" " เขียวเปลี่ยนโลก" และ "เงินไม่ใช่พระเจ้า" นอกจากนี้เธอยังเป็นหนึ่งในกรรมการผู้ก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองเน็ต ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศไทย ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ชายขอบ ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ openworlds และผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า (Thai Publica)

ปัจจุบันมีความสุขกับการติดตามและถ่ายทอดพัฒนาการใหม่ๆ ณ พรมแดนความรู้ทางเศรษฐศาสตร์และธุรกิจผ่านการเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด (Sal Forest) อาจารย์พิเศษวิชาธุรกิจกับสังคมในหลักสูตรควบบริหารธุรกิจบัณฑิต (การจัดการแบบบูรณาการ) และวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (โครงการ 5 ปี) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคอลัมน์ต่างๆ ในสื่อสิ่งพิมพ์ อาทิ 'ประชาชน 2.0' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และเว็บไซต์ไทยพับลิก้า ติดตามสฤณีได้ที่บล็อก www.fringer.org เฟซบุ๊ก www.facebook.com/SarineeA และทวิตเตอร์ @Fringer

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page