top of page

ธุรกิจพลิกอนาคต (Resource Revolution): ค้นหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจในยุควิกฤตทรัพยากร (How to Capture the


ธุรกิจพลิกอนาคต: ค้นหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจในยุควิกฤตทรัพยากร

แปลจาก Resource Revolution: How to Capture the Biggest Business Opportunity in a Century (2014)

เขียนโดย Stefan Heck, Matthew Wyatt Rogers และ Paul Carroll แปลโดยสฤณี อาชวานันทกุล สำนักพิมพ์โอเพ่นเวิลด์ส พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2559 จำนวน 376 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9786167885353

ท่ามกลางวิกฤตทรัพยากรที่ใครๆ ก็พูดว่า “เรากำลังจะตายกันหมด” บริษัทบางแห่งมองเห็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจากการเพิ่มผลิตภาพการใช้ทรัพยากรสูงสุดด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

Tesla, Inc. ออกแบบรถเปี่ยมประสิทธิภาพที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแทนน้ำมัน และขายไปแล้วกว่า 10,000 คัน จนมีมูลค่าตลาดหลายหมื่นล้านเหรียญในเวลาเพียง 5 ปี

Cree, Inc. บริษัทหลอดไฟหน้าใหม่ที่มุ่งพัฒนาหลอดแอลอีดีซึ่งประหยัดไฟและทนทาน จนประสบความสำเร็จและมีมูลค่าสูงลิบในตลาดหุ้น ขณะที่ GE (General Electric) ผู้ครองตลาดเดิมที่ปฎิเสธเทคโนโลยีนี้กลับประสบปัญหาอย่างหนัก

ZARA บริษัทเสื้อผ้าชั้นนำระดับโลก คิดระบบแฟชั่นทันด่วนที่ใช้ส่งข้อมูลจากหน้าร้านตรงถึงดีไซเนอร์ ทำให้ผลิตสินค้าตามความต้องการลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและลดจำนวนสต็อกที่กลายเป็นขยะในธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้าได้มหาศาล

Google, Inc. พัฒนารถไร้คนขับซึ่งมาพร้อมกับระบบสื่อสารให้รถหลบเลี่ยงกันเองบนท้องถนน รถของกูเกิลจึงแทบไม่มีค่าซ่อมจากอุบัติเหตุ ประหยัดพลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ถนน จนขึ้นแท่นเป็นธุรกิจที่บริษัทหมายมั่นปั้นมือ

หนังสือเล่มนี้จะพาเราสำรวจกรณีศึกษาเปลี่ยนโลกที่ฉายภาพโลกธุรกิจแห่งอนาคต ซึ่งจะช่วยให้เรามองเห็นโอกาสทางธุรกิจครั้งใหม่ในยุคสมัยแห่งการปฏิวัติทรัพยากร

คำนำผู้แปล

ยุคนี้ดูเหมือนไม่ว่าเราจะหันไปทางไหนก็เจอแต่ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นความไม่สงบทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การสอดส่องสอดแนมประชาชนของรัฐ การละเมิดสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ทรัพยากรขาดแคลน ฯลฯ และ ฯลฯ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนสรุปความแตกต่างระหว่างศตวรรษที่ 20 กับศตวรรษที่ 21 ไว้สั้นๆ ว่าในศตวรรษที่ 20 ก่อนที่คำว่าอินเทอร์เน็ตจะเกิด เรามีทรัพยากรท่วมท้นเหลือเฟือ แต่ข้อมูลหายากยิ่ง แต่ในศตวรรษที่ 21 สถานการณ์นั้นกลับด้าน เรามีข้อมูลท่วมท้นเหลือเฟือ แต่ทรัพยากรหายากยิ่ง ภาวะเช่นนี้ประกอบกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของประชากรโลกหรือความต้องการทรัพยากรในประเทศขนาดใหญ่โตเร็วอย่างจีนและอินเดีย ทำให้หลายคนพยากรณ์ถึงวันสิ้นโลกที่เผ่าพันธุ์มนุษย์จะดับสูญ ส่วนโลกก็หมุนรอบตัวเองต่อไป ด้วยรู้ว่าถึงอย่างไรวันนั้นย่อมมาถึงไม่ช้าก็เร็ว และสำทับซ้ำว่าภาคธุรกิจในฐานะวงการอันทรงอิทธิพลสูงสุดกำลังเป็นตัวการเบื้องหลังวันสิ้นโลก อย่างไรก็ดี บริษัทจำนวนไม่น้อยกำลังทยอยพิสูจน์ตัวเองว่าพวกเขาอาจเป็นส่วนหนึ่งของทางออก มิใช่ส่วนหนึ่งของต้นเหตุปัญหา

สเตฟาน เฮก และแมตต์ โรเจอร์ส คู่หูที่ปรึกษาทางธุรกิจจากแมคคินซีย์ (McKinsey) บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจชื่อดัง รวบรวมกรณีศึกษาของบรรดาบริษัทดังกล่าวและกลั่นกรองบทเรียนจากประสบการณ์ทำงานหลายสิบปีมาเป็นหนังสือที่อยู่ในมือท่านเล่มนี้ พวกเขาทั้งสองเสนอว่าในปัญหาเหล่านี้มีโอกาสทางธุรกิจมูลค่ามหาศาล

การบูรณาการเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเข้ากับเทคโนโลยีสารสนเทศกำลังเปลี่ยนการใช้ทรัพยากรไปทุกมิติ เรามองเห็นโอกาสของการเปลี่ยนแปลงระดับปฏิรูป ผลิตภาพจะเพิ่มขึ้นมโหฬารในโลกของพลังงาน (ทั้งในแง่การผลิตที่เพิ่มขึ้นและการลดปริมาณการบริโภค) การคมนาคม การก่อสร้างอาคาร น้ำ เกษตรกรรม โลหะ และโภคภัณฑ์หลักทุกอย่างในโลก การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่เพียงมีความสำคัญกับผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่เท่านั้น แต่ยังสำคัญกับทุกบริษัทที่ใช้ไฟฟ้า เชื้อเพลิง หรือทรัพยากรธรรมชาติในปริมาณสูง และสำคัญกับผู้ที่ผลิตสินค้าและบริการให้กับบรรดาธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรในปริมาณสูง หรือพูดง่ายๆ ก็คือบรรดาธุรกิจจำนวนมากในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เราไม่ได้กำลังผจญวิกฤตจากภาวะทรัพยากรขาดแคลน หากแต่กำลังเผชิญหน้ากับโอกาสที่จะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจโลกและสร้างโอกาสทำกำไรหลายล้านล้านเหรียญสหรัฐ

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกเมื่อหลายร้อยปีก่อนปฏิวัติการใช้แรงงานด้วยเทคโนโลยีอย่างเครื่องจักรไอน้ำและนวัตกรรมการบริหารจัดการอย่างบริษัทจำกัดความรับผิด การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สองปฏิวัติการใช้ทุน ทั้งยังให้กำเนิดบรรษัทข้ามชาติ ระบบธนาคารสมัยใหม่ และโครงข่ายไฟฟ้า และวันนี้เฮกกับโรเจอร์สได้เสนอว่า ณ ปัจจุบัน เรากำลังมองเห็นหน่ออ่อนของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม นั่นคือการปฏิวัติการใช้ทรัพยากรซึ่งกินความตั้งแต่ที่ดิน อาหาร น้ำ แร่ธาตุ จนถึงทรัพยากรอื่นๆ ที่มนุษย์ใช้จากธรรมชาติ แต่การปฏิวัติครั้งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นในวงกว้างได้โดยอัตโนมัติ เราตระหนักถึงความท้าทายที่อยู่เบื้องหน้า ถ้าโลกยังเดินไปบนเส้นทางเดิม เราจะพบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แน่นิ่งซบเซา ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งเฟ้อรวดเร็ว มลพิษที่มากขึ้น ภาคการเมืองที่ติดขัด และการหวนคืนสู่ภาวะตึงเครียดระหว่างประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย อินเดีย และเยอรมนี แต่ถ้าบริษัทจำนวนมากพอเปลี่ยนวิถีธุรกิจได้ ออกเดินบนเส้นทางใหม่ได้ (ผู้เขียนใช้คำว่าการปฏิวัติทรัพยากร) โลกจะทะยานเข้าสู่สมดุลใหม่เข้าสู่เส้นทางการเติบโตครั้งใหม่ที่ยั่งยืนมากขึ้น และกระจายผลประโยชน์จากการเติบโตอย่างเป็นธรรมมากขึ้น

หนังสือเล่มนี้พูดถึงข้อดีของเทคโนโลยีจำนวนมาก ซึ่งในความเป็นจริงเทคโนโลยีเหล่านั้นอาจไม่ใช่อัศวินขี่ม้าขาวที่มีแต่ได้ไม่มีเสีย อีกทั้งอาจสำแดงประโยชน์และโทษให้เห็นชัดเจนต่อเมื่อเวลาผ่านพ้นไปนานมากพอ ผู้อ่านบางท่านอาจรู้สึกขุ่นเคืองหรือขัดใจที่ผู้เขียนไม่ให้น้ำหนักมากนักกับการอธิบายบริบทหรือเงื่อนไขทางสังคมและการเมืองซึ่งย่อมส่งผลต่อหน่วยธุรกิจในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องแรงจูงใจ ศักยภาพ และความตระหนักถึงความจำเป็นของการปฏิวัติทรัพยากรอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจำนวนมากในหนังสือเล่มนี้น่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายให้ผู้ประกอบการน้อยใหญ่ได้มองเห็นว่าการปฏิวัติทรัพยากรนั้นไม่ว่าจะช้าหรือเร็วก็เป็นสิ่งจำเป็น เป็นไปได้ และสร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างมหาศาล อยู่ที่ใครจะมองการณ์ไกลได้ก่อนกันเท่านั้นเอง ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่าน

[con·tin·ue]

บทนำ (Introduction)

เรากำลังยืนอยู่ ณ ปากทางเข้าประตูไปสู่โอกาสทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษ นี่คือบทสรุปอันน่าแปลกใจของเราทั้งสองในปี 2006 หลังจากที่ได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทชั้นนำระดับโลกหลายแห่งในธุรกิจเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และพลังงาน

ความคิดนี้ไม่ใช่บทสรุปซึ่งเป็นที่นิยมในตอนนั้น น้ำเสียงของความคิดกระแสหลักในวันนั้นคือ "เรากำลังจะตายกันหมด" เนื่องจากคนกังวลเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชชนนักสิ่งแวดล้อมมั่นใจว่ามลพิษกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้กำหนดวันสิ้นโลกไว้แล้ว หนังสือและรายงานจำนวนนับไม่ถ้วนเสนอว่า ทองแดง เหล็ก และวัสดุอื่นๆ รวมทั้งแร่โลหะหายากที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากอยู่บนเส้นทางที่กำลังจะหมดเหมือนที่คาดการณ์กับน้ำมัน ชุมชนนักเศรษฐศาสตร์กังวลเรื่องหายนะที่จะเกิดเมื่อราคาน้ำมันพุ่งแตะ 200 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เงินแตะ 30 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ทองคำแตะ 1,500 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ทองแดงแตะ 1.6 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม อะลูมิเนียมแตะ 2,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน เหล็กกล้าแตะ 900 เหรียญสหรัฐต่อตัน ข้าวโพดแตะ 6 เหรียญสหรัฐต่อบุชเชล (1 บุชเชลสหรัฐเท่ากับราว 35 ลิตร) และข้าวสาลีแตะ 7 เหรียญสหรัฐต่อบุชเชล ความกังวลทั้งหมดนี้มาพร้อมกับความกลัวที่เกิดขึ้นในตลาด นักธุรกิจหลายคนไม่มองโลกในแง่ดีเลย พวกเขาสงสัยว่าเศรษฐกิจโลกจะรับได้ถึงเมื่อไร?

ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในจีน อินเดีย และประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายยิ่งทำให้คนทวีความกังวล เพราะอีกไม่นานคนหลายพันล้านคนจะมีรายได้เพียงพอที่จะบริโภคในปริมาณมหาศาลกว่าทุกสมัยที่ผ่านมา ประชากรโลกกำลังต้องการทรัพยากรธรรมชาติในระดับที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ขณะที่ทรัพยากรค่อยๆ หมดไป

.... continue

บทที่ 1 การฉวยโอกาสทางธุรกิจครั้งใหญ่ที่สุดในศตวรรษ (Capturing the Greatest Business Opportunity in a Century)

บทที่ 2 จอยสติ๊กเจอแท่นขุดเจาะ: การปฏิวัติจากใต้ดิน (Joysticks Meet Drilling Rigs: Launching the Revolution)

บทที่ 2 สูตรเพิ่มผลิตภาพทรัพยากรสิบเท่า (The Recipe for Tenfold Resource Productivity Improvement)

บทที่ 4 DIRTT กับซอฟต์แวร์: ต้องประกอบก่อนใช้ (DIRTT and Software: Assembly Required)

บทที่ 5 บูรณาการระบบ: เมื่อพลังของเครื่องจักรเจอกับอินเทอรืเน็ตของทุกสิ่ง (System Integration: The Power of Machines Meets the Internet of Things)

บทที่ 6 จังหวะคือทุกสิ่ง (Timing Is Everything)

บทที่ 7 ทำให้สำคัญ: การขยายขนาดและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (Making It Mater: Scaling and Commercialization)

บทที่ 8 จัดระเบียบสู่ความสำเร็จ (Organizing for Success)

บทที่ 9 ถ้าไม่ใหญ่ก็กลับบ้านไป (Go Big or Go Home)

บทสรุป (Conclusion)

กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgments)

อ้างอิง บรรณานุกรม และภาพประกอบ (Notes, Bibliography and Index)

เกี่ยวกับผู้เขียน

ดร.สเตฟาน เฮก (Stefan Heck) สอนวิชาเศรษฐศาสตร์นวัตกรรมและทรัพยากรที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) เขาก่อตั้งและเป็นหัวหน้าแผนกเทคโนโลยีสะอาดโลก (Global CleanTech practice) และแผนกการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน (Sustainable Transformation practice) ของแมคคินซีย์ (McKinsey) ในอดีตเขาเป็นหัวหน้าแผนกสารกึ่งตัวนำ และก่อตั้งบริษัทออกแบบเว็บไซต์ สเตฟานได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมด้านวิทยาศาสตร์ความคิด (Symbolic Systems - วิชาสหวิทยาการที่รวมการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ ภาษาศาสตร์ ปรัชญา และจิตวิทยาเข้าไว้ด้วยกัน) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และปริญญาเอกด้านวิทยาการปัญญา (Cognitive Science) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตแซนดีเอโก (University of California, San Diego)

แมตต์ โรเจอร์ส (Matthew Wyatt Rogers) เป็นผู้อำนวยการบริษัทแมคคินซีย์แอนด์คอมปานี สาขาซานฟรานซิสโก แมตต์เป็นที่ปรึกษาอาวุโสให้กับรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน สหรัฐอเมริกา ในแผนปฏิบัติการกฎหมายฟื้นฟู (Recovery Act Implementation) ตั้งแต่ปี 2009-2010 เขาได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยเยล (Yale University)

เกี่ยวกับผู้แปล

สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน จบการศึกษาปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก มีประสบการณ์ทำงานในภาคการเงินกว่า 8 ปี ในฐานะวาณิชธนกรที่ธนาคารดอยช์ (Deutsche Bank) สาขาฮ่องกง พนักงานสินเชื่อที่ธนาคารไทยพาณิชย์ วาณิชธนกรและรองผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กรที่บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นกรรมการบริหารของบริษัท ฮันเตอร์ส แอ็ดไวซอรี่ จำกัด (Hunters Advisory) ก่อนที่จะตัดสินใจออกมาทุ่มเทเวลาให้กับงานเขียนและงานวิจัยอย่างเต็มตัว หากนับถึงกลางปี 2559 เธอมีผลงานรวมเล่มทั้งงานเขียนและงานแปลรวมกันกว่า 60 เล่ม ส่วนใหญ่สะท้อนสิ่งที่เธอสนใจมาโดยตลอดในสาขาธุรกิจเพื่อสังคมและการเงินเพื่อสังคม นอกจากนี้เธอยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง (เครือข่ายพลเมืองเน็ต) ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศไทย ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์โอเพ่นเวิลด์ส (openworlds) ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า (Thai Publica) และล่าสุดเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ป่าสาละ จำกัด ปัจจุบันสฤณีมีความสุขกับการติดตามและถ่ายทอดพัฒนาการใหม่ๆ ณ พรมแดนความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ และพลังพลเมืองในฐานะกรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page