top of page

เศรษฐศาสตร์ [ฉบับทางเลือก] (Economics: The User's Guide)


เศรษฐศาสตร์ [ฉบับทางเลือก]

แปลจาก Economics: The User's Guide (2014)

เขียนโดย Ha-Joon Chang แปลโดย ดร.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร สำนักพิมพ์โอเพ่นเวิลด์ส พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2560 จำนวน 440 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9786167885469

ดร.ฮาจุน ชาง (Ha-Joon Chang) นักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) เป็นทั้งพ่อมดและกัปตันยานอวกาศสำหรับวิชาเศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์อาจเป็นเหมือนป่าลึกลับสำหรับคนส่วนใหญ่ เพราะเต็มไปด้วยความน่าหวาดกลัวของตัวเลขและศัพท์แสงแปลกประหลาด แต่ใน เศรษฐศาสตร์ [ฉบับทางเลือก] เล่มนี้ ชางจะพาเราเดินทางเข้าสู่ดินแดนลี้ลับอย่างไม่ต้องเกรงกลัวใคร โดยเริ่มจากการใช้เวทมนตร์ปลดพันธนาการความเชื่อเรื่องเศรษฐกิจแบบเดิมๆ เผยความลับของทุนนิยมที่ซุกซ่อนอยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงพาเราไปรู้จักกับตำราที่พ่อมดในอดีตอย่าง อาดัม สมิธ (Adam Smith: 1723-1790) จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes: 1883-1946) หรือ โยเซฟ ชุมเพเทอร์ (Joseph Alois Schumpeter: 1883-1950) ทิ้งเอาไว้

หลังจากรู้จักป่าลึกลับแห่งนี้ดีแล้ว ชางจะพาเราขึ้นยานอวกาศออกทะยานท่องจักรวาลเศรษฐศาสตร์ ไปสำรวจที่มาที่ไปของดวงดาวต่างๆ (ทำไมจึงมีเพียงบางประเทศที่ร่ำรวย) ไปพบเจอมนุษย์ต่างดาวที่ชื่อคุ้นหูแต่ไม่รู้ว่าทำอะไรกันแน่ (เช่น วาณิชธนกิจ บรรษัทข้ามชาติ) รวมถึงชี้ชวนให้เรามองโลกในมุมมองใหม่ที่ไม่อาจเห็นได้จากยานลำอื่น (รัฐบาลควรพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร ความสุขของมนุษย์วัดได้จริงหรือ) เศรษฐศาสตร์ [ฉบับทางเลือก] เล่มนี้ เป็นทั้งคัมภีร์ที่เปิดโลกความคิดทางเศรษฐศาสตร์อันหลากหลายและท้าทายแนวคิดกระแสหลัก รวมถึงเป็นคู่มือที่ช่วยเตรียมความพร้อมให้เราออกเดินทางท่องจักรวาลเศรษฐศาสตร์ได้ด้วยตัวเอง เหลือแต่คุณแล้วว่าพร้อมจะขึ้นยานอวกาศของชางหรือยัง

คำนำผู้แปล

สำหรับผม ดร.ฮาจุน ชาง เป็นทั้งพ่อมด ช่างตีดาบ และกัปตันยานอวกาศ ผมรู้จักชางครั้งแรกในวิชาเศรษฐศาสตร์การพัฒนาของศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร หลังเผชิญหน้ากับตรรกะคณิตศาสตร์และสมมติฐานอีกร้อยพัน การอ่านงานของชางเปรียบได้กับการเดินเข้าป่าต้องห้ามที่เต็มไปด้วยเวทมนตร์ลี้ลับ ชางจะร่ายคาถาปลดอาวุธเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก แล้วใช้ไม้กายสิทธิ์ชี้ให้เห็นความลับที่ซุกซ่อนอยู่ตั้งแต่อดีตอันไกลโพ้น (ทุนนิยมพัฒนามาอย่างไร) จนถึงโลกปัจจุบัน (ทำไมจึงเกิดวิกฤตการเงินซ้ำแล้วซ้ำเล่า) ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยกลวิธีป้องกันตัวจากศาสตร์มืด (ตลาดเสรีไม่มีจริงและเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางการเมือง) ผมถูกมนตร์สะกดเข้าอย่างจัง วิชาเศรษฐศาสตร์ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เศรษฐศาสตร์กลายเป็นโลกทีน่าค้นหา เพราะเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์น่าฉงน (ทำไมบางประเทศรวย บางประเทศจน) โรงเรียนเวทมนตร์หลายสำนัก (มีวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ต่างกันอย่างน้อย 9 แบบ) และคัมภีร์ลึกลับที่ปราชญ์จอมเวทย์ในอดีตทิ้งเอาไว้ (สมิธ, มาร์กซ์, ไฮเอค, ชุมเพเทอร์, เคนส์ ฯลฯ)

ในวัยเบญจเพส ชางจึงเป็นแรงผลักดันให้ผมมุ่งมั่นรวบรวมกำลังทั้งหมดที่พอจะมีเพื่อหวังออกเดินทางไปฝึกวิชา ณ ป่าต้องห้ามแห่งเคมบริดจ์ แต่เมื่อได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผมใช้ชีวิตในป่าต้องห้าม ชางไม่ใช่พ่อมดจอมขมังเวทย์อีกต่อไป หากเป็นช่างตีดาบผู้ทำงานหามรุ่งหามค่ำอยู่ชายป่าในมหาวิทยาลัยเก่าแก่อายุแปดร้อยปีแห่งนี้ ห้องทำงานของชางอยู่ที่มุมหนึ่งของคณะเศรษฐศาสตร์ เป็นห้องพักที่แม้จะเป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็ตัดขาดจากส่วนหลักของคณะอย่างชัดเจน สะท้อนเส้นทางวิชาการที่ชางเลือกเดินได้เป็นอย่างดี ณ ป่าแห่งนั้น นักเรียนของชางอาจเป็นเหล็กกล้าที่พอมีศักยภาพ แต่ยังไม่เป็นดาบ เหล็กกล้าเหล่านี้จะต้องถูกเผา ผ่านความร้อนความเย็น ทบพับทับซ้อนจนแกร่งและคม

ในคลาสปริญญาโท ชางจะหยิบดาบของสำนักต่างๆ ขึ้นมาให้เราเพ่งพินิจ ก่อนจะอภิปรายให้เห็นความเปราะบางและผืดรูปภายในที่อาจไม่เห็นด้วยตาเปล่า ในการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ชางยิ่งออกแรงตีขัดลับดาบเป็นทวีคูณ ต่อให้มีภารกิจอย่างการประดาบกับสำนักอื่นมากเพียงใด ร่างเนื้อหาที่ผมส่งให้เขาจะเต็มไปด้วยหมึกสีแดงทุกหน้า ชางอ่านทุกประโยคและตั้งคำถามกับทุกตรรกะตรงหน้า ความดีใจของผมมีเพียงว่าในปีสุดท้าย ร่างวิทยานิพนธ์ของผมปรากฏเครื่องหมายคำถามและลายมือของชางเพียงหนึ่งหรือสองแห่งในแต่ละหน้ากระดาษ เทียบกับห้าหรือสิบแห่งหรือแม้กระทั่งการขีดฆ่าทั้งหน้าในปีแรกๆ ที่ผมทำงานกับเขา

สำหรับผม ความมหัศจรรย์ใจอีกอย่างก็คือ ช่างตีดาบผู้เก็บตัวในชายป่าคนนี้เมื่อออกสู่บรรณพิภพหรือเวทีเสวนา เขาจะแปลงกายเป็นกัปตันยานอวกาศทันที! เหมือนที่ผู้อ่านจะได้สัมผัสในหนังสือเล่มนี้ หากคุณพร้อมเป็นลูกเรือของเขา ชางจะพาคุณทะยานออกเดินทางท่องจักรวาลเศรษฐศาสตร์ไปผจญภัยสำรวจดวงดาวต่างๆ ในกาแลกซี (เราวัดจีดีพีและระดับการพัฒนาประเทศกันอย่างไร) ไปรู้จักกับมนุษย์ต่างดาวที่คุณอาจเคยได้ยินชื่อ แต่ไม่รู้ว่าพวกเขาทำอะไร (เช่น วาณิชธนากร บรรษัทข้ามชาติ และสหภาพแรงงาน) ทั้งยังชี้ชวนให้ดูโลกที่เราอยู่ด้วยมุมมองใหม่ที่คุณไม่อาจเห็นจากยานลำอื่น (บทบาทของรัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจ ปัญหาของการวัดความสุขมนุษย์)

ที่น่าสนุกกว่านั้นคือ ยานอวกาศของชางยังพาคุณย้อนเวลากลับไปดูวิวัฒนาการของดาวเคราะห์ต่างๆ ในอดีตได้อีกด้วย (ประวัติศาสตร์ทุนนิยมฉบับย่อ) และพอย้อนกลับไปถึงอดีต ชางจะเล่าความลับให้คุณฟังอีกหลายเรื่อง ไล่มาตั้งแต่เรื่องราวต้องห้ามของบางอาณาจักร (ยุโรปและอเมริการ่ำรวยขึ้นได้เพราะปกป้องอุตสาหกรรมภายใน ไม่ใช่เพราะการค้าเสรี) จนถึงเรื่องที่ว่าเผ่าพันธุ์ต่างดาวที่ผู้คนคิดว่าเป็นศัตรูนั้น แท้จริงแล้วเป็นพี่น้องกัน (เศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกกับเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์มีรากเหง้าเดียวกัน) แน่นอนว่าคุณไม่จำเป็นต้องพยักหน้าเออออให้กัปตันชางไปเสียทุกเรื่อง เขาไม่อยากให้คุณถูกนักเศรษฐศาสตร์หลอก ชางชอบให้คนท้าทายความคิดและชอบลูกเรือที่ช่างคิดช่างสังเกต ทั้งยังพร้อมสอนให้ทุกคนเรียนรู้วิธีการบังคับยานอวกาศเพื่อจะสามารถออกเดินทางด้วยตัวเองได้ในอนาคต ทีนี้ก็เหลือแต่คุณแล้วว่าพร้อมจะขึ้นยานอวกาศของชางหรือยัง?

[con·tin·ue]

บทนำ จะสนทำไม? ทำไมเราควรเรียนรู้เศรษฐศาสตร์? (Prologue: Why Bother? Why Do You Need to Learn Economics?)

ทำไมผู้คนถึงไม่ค่อยสนใจเศรษฐศาสตร์? เอาละ อย่างน้อยคุณก็หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา แปลว่าคุณคงสนใจวิชานี้อยู่บ้าง แต่คุณอาจหยิบมาอ่านด้วยความลังเล พลางคิดว่าเจ้าวิชาเศรษฐศาสตร์นี่ท่าทางจะยากเอาการ ต่อให้ไม่ซับซ้อนเท่าวิชาฟิสิกส์ แต่คงต้องใช้ความพยายามอยู่ไม่น้อย เวลาฟังนักเศรษฐศาสตร์พูดในรายการวิทยุหรือโทรทัศน์ทีไร ถึงแม้คุณจะรู้สึกตงิดใจ แต่สุดท้ายก็ยอมพยักหน้าตาม พลางคิดในใจว่า แน่ละ พวกเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในขณะที่คุณเองไม่เคยอ่านตำราทางเศรษศาสตร์อย่างจริงจังมาก่อนในชีวิต แต่เอาเข้าจริง เศรษฐศาสตร์มันยากขนาดนั้นเลยหรือ? ไม่จำเป็นหรอกครับ เพราะเราสามารถอธิบายวิชานี้ด้วยคำศัพท์ง่ายๆ ในหนังสือเล่มก่อนของผมที่ชื่อ '23 เรื่องที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับทุนนิยม (23 Things They Don't Tell You About Capitalism, 2010)' ผมถึงกับฟันธงไว้ว่าความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 95 เป็นเพียงเรื่องสามัญสำนึกที่ถูกทำให้ดูยุ่งยากซับซ้อนผ่านสมการคณิตศาสตร์และศัพท์แสงชวนพรั่นพรึงเท่านั้น

เศรษฐศาสตร์ไม่ได้เป็นศาสตร์แขนงเดียวที่ถูกทำให้ซับซ้อนเกินจริง ในวิชาชีพต่างๆ ที่ต้องอาศัยเทคนิคเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์ การซ่อมท่อประปา หรือการแพทย์ คำศัพท์แปลกประหลาดที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อสื่อสารกันภายในวิชาชีพกลับกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการสื่อสารกับคนนอกวงการ แต่หากจะกล่าวแบบเหน็บแนมสักหน่อย บรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายต่างก็พยายามทำให้วงการของตนซับซ้อนเกินความเป็นจริงกันทั้งนั้น เพราะมันทำให้ค่าบริการทางวิชาชีพที่แพงลิบของพวกเขามีความชอบธรรมนั่นเอง

ถึงอย่างนั้น วงการเศรษฐศาสตร์ก็ยังประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งในการทำให้คนทั่วไปรู้สึกลังเลที่จะเข้ามาร่วมถกเถียงด้วย ทั้งที่พอเป็นประเด็นสาธารณะอื่นๆ ไล่มาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน สงครามอิรัก โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ผู้คนต่างแสดงความคิดความเห็นกันอย่างดุเดือด แม้จะไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น แต่พอเป็นประเด็นทางเศรษฐศาสตร์ขึ้นมาเมื่อไหร่ คนส่วนใหญ่ไม่เพียงปิดปากเงียบ แต่อาจไม่สนใจไยดีเลยด้วยซ้ำ คุณเองจำได้หรือไม่ว่านานแค่ไหนแล้วที่ไม่ได้ถกเถียงเรื่องอนาคตของสกุลเงินยูโร ความไม่เท่าเทียมในประเทศจีน หรือทิศทางของภาคอุตสาหกรรมในสหรัฐอเมริกา? ทั้งๆ ที่ประเด็นทางเศรษฐกิจเหล่านี้มีผลกระทบมหาศาลต่อชีวิตของคุณเอง ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนในโลกก็ตาม เพราะเรื่องเหล่านี้ส่งผลต่อค่าจ้าง อนาคตด้านการงาน รวมถึงเงินบำนาญของคุณ ไม่ว่าจะในทางบวกหรือทางลบ ทว่าคุณกลับไม่เคยขบคิดเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจังเลย

continue reading....

ช่วงพัก 1 สารพัดวิธีอ่านเล่มนี้ (Interlude I: How to Read This Book)

ส่วนที่ 1 มาทำความรู้จักกับเศรษฐศาสตร์กัน (Part One: Getting Used to It)

บทที่ 1 ชีวิต จักรวาล และทุกสรรพสิ่ง: เศรษฐศาสตร์คืออะไร? (Life, the Universe and Everything: What is Economics?)

บทที่ 2 จากพินที่แปลว่าเข็ม สู่พินที่เป็นรหัสส่วนตัว: ทุนนิยมในปี 1776 และปี 2014 (From Pin to PIN: Capitalism 1776 and 2014)

บทที่ 3 เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร: ประวัติศาสตร์ทุนนิยมฉบับย่อ (How Have We Got Here?: A Brief History of Capitalism)

บทที่ 4 ให้ร้อยดอกไม้บานสะพรั่ง: เศรษฐศาสตร์ 9 สำนัก (Let a Hundred Flowers Bloom: How to Do Economics)

บทที่ 5 รายนามตัวละคร: ใครคือตัวแสดงทางเศรษฐกิจ? (Dramatis Personae: Who Are the Economic Actors?)

ช่วงพัก 2 เดินทางกันต่อ... (Interlude II: Moving On...)

ส่วนที่ 2 การใช้เศรษฐศาสตร์ (Using It)

บทที่ 6 แล้วท่านต้องการให้เป็นเท่าไรครับ?: ผลผลิต รายได้ และความสุข (How many Do You Want It to Be?: Output, Income and Happiness)

บทที่ 7 สิ่งที่ลงแรงไว้ออกดอกผลแค่ไหน?: โลกของการผลิต (How Does Your Garden Grow?: The World of Production)

บทที่ 8 ปัญหาที่ธนาคารฟิเดลิตี ฟิดูชารี: การเงิน (Trouble at the Fidelity Fiduciary Bank: Finance)

บทที่ 9 แพะของบอริสสมควรตาย: ความเหลื่อมล้ำและความยากจน (Boris's Goat Should Drop Dead: Inequality and Poverty)

บทที่ 10 ผมรู้จักคนที่ทำงานทำการอยู่ไม่กี่คน: การทำงานและการว่างงาน (I've Known a Few People Who've Worked: Work and Unemployment)

บทที่ 11 กษัตริย์นักปราชญ์หรือปีศาจยักษ์: บทบาทของรัฐ (Leviathan or the Philosopher King?: The Role of the State)

บทที่ 12 จักรวรรดิสวรรค์ของเรามีทุกสิ่งเพียบพร้อม: เศรษฐกิจระหว่างประเทศ (All Things in Prolific Abundance: The International Dimension)

บทส่งท้าย แล้วยังไงต่อ?: เราจะใช้เศรษฐศาสตร์ทำให้เศรษฐกิจของเราดีขึ้นได้อย่างไร? (Epilogue: What Now? How Can We Use Economics to Make Our Economy Better?)

เชิงอรรถและกิตติกรรมประกาศ (Notes and Acknowledgements)

เกี่ยวกับผู้เขียน

ดร.ฮาจุน ชาง (Ha-Joon Chang: 1963-) ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการพัฒนา (Reader in the Political Economy of Development) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) สหราชอาณาจักร ได้รับการจัดอันดับเป็นนักคิดคนสำคัญของโลกลำดับที่ 9 ในปี 2014 จากนิตยสาร Prospect นอกจากบทความวิชาการกว่าร้อยชิ้นแล้ว ชางเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากหนังสือ Kicking Away the Ladder: Development Strategy in Historical Perspective (2002) และ 23 Things They Don't Tell You About Capitalism (2010) ซึ่งวิพากษ์เศรษฐศาสตร์กระแสหลักและแนวทางเสรีนิยมใหม่อย่างเผ็ดร้อน ชางเกิดที่เกาหลีใต้ จบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University) ก่อนจะมาเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกที่เคมบริดจ์ เขาสอนวิชาเศรษฐศาสตร์การพัฒนามาตั้งแต่ปี 1990 และทำงานให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ติดตามผลงานของชางได้ที่เว็บไซต์ http://hajoonchang.net/

เกี่ยวกับผู้แปล

ดร.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์และปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นไปเรียนต่อด้านการพัฒนาและทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกกับฮาจุน ชาง ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ปัจจุบันเป็นรองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง (Associate Professor of Political Economy) ที่ National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS, Tokyo, Japan) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สอนและทำวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์สถาบัน นโยบายอุตสาหกรรม รัฐพัฒนาในเอเชียตะวันออก และเศรษฐกิจการเมืองไทย

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page