ครูคุณภาพสร้างได้ (Building a Better Teacher: How Teaching Works and How to Teach It to Everyone)
ครูคุณภาพสร้างได้
แปลจาก Building a Better Teacher: How Teaching Works and How to Teach It to Everyone (2015, 2014)
เขียนโดย Elizabeth Green แปลโดยวิลาสินี ฤกษ์ปฏิมา เดอเบส สำนักพิมพ์โอเพ่นเวิลด์ส พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2560 จำนวน 448 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9786167885483
ครูที่สอนเก่งมักได้คำชมว่ามีพรสวรรค์หรือเกิดมาเพื่อเป็นครู แต่คนทั่วไปล่ะจะเป็นครูที่เก่งกาจได้หรือไม่? หนังสือ 'ครูคุณภาพสร้างได้ (Building a Better Teacher)' เล่มนี้ถอดรื้อมายาคติที่ว่าครูที่ดีนั้นต้องเก่งมาแต่เกิด เพราะที่จริงแล้วเราสามารถสร้างครูคุณภาพได้ผ่านชุดเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นโดยนักปฏิรูปการศึกษา หนังสือสร้างครูเล่มนี้จะฉายภาพเรื่องราวการปฏิวัติการฝึกหัดครูในอเมริกาที่ผ่านการทดลองสุดขั้วมาแล้วหลายรูปแบบ ทั้งยังลงรายละเอียดตั้งแต่การสร้างหลักสูตรฝึกหัดครู การสร้างห้องเรียนทดลองเพื่อไขความลับการเป็นครูที่ดี การวิจัยการสอนที่หนักแน่นและจริงจัง การสร้างคลังคำเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยสอน พร้อมทั้งวิเคราะห์ความสำเร็จและล้มเหลวจากการทดลองสร้างครูนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน บทเรียนการลองผิดลองถูกของอเมริกาจะช่วยเราถอดรหัสความลับของศาสตร์แห่งการสอน พร้อมตอบคำถามที่ว่าครูที่ดีนั้นเกิดจากอะไร? และการเรียนการสอนที่ก่อประโยชน์โดยแท้จริงนั้นเป็นไปได้หรือไม่?
คำนิยม
ในปัจจุบันดูเหมือนว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจะเป็นปัญหาใหญ่ของหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยซึ่งได้ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเงินเดือนครูโดยประเมินจากการสร้างผลงานวิทยฐานะ การพัฒนามาตรฐานการประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับต่างๆ การพัฒนาข้อสอบเพื่อวัดสัมฤทธิผลทางการศึกษา ฯลฯ แม้กระนั้นคุณภาพการศึกษาไทยก็ยังคงอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ในขณะเดียวกันภาครัฐเองก็ดูจะไม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่านโยบายต่างๆ ที่พยายามใช้ในการแก้ปัญหาการศึกษาในปัจจุบันนั้นจะมีผลต่อการพัฒนาคุณภาพในการจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนอย่างไร
เอลิซาเบธ กรีน (Elizabeth Green) ได้ชี้ให้เห็นในหนังสือ 'ครูคุณภาพสร้างได้ (Building a Better Teacher)' เล่มนี้ว่าแนวทางการแก้ปัญหาการศึกษาซึ่งละเลยปัจจัยแท้จริงที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนนั้นไม่ใช่ปัญหาของประเทศไทยเพียงประเทศเดียว สำหรับสหรัฐอเมริกาซึ่งนำระบบแรงจูงใจและการลงโทษครูอย่างเข้มข้นมาใช้ควบคุมเพื่อให้พวกเขาพยายามหาวิธีให้เด็กทำแบบทดสอบมาตรฐานได้คะแนนสูงๆ นั้น ท้ายที่สุดแล้วคุณภาพการเรียนการสอนก็ไม่ได้ดีขึ้นเช่นกัน ผู้เขียนได้เสนอว่าการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ให้กับครูน่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา แต่วิธีการนี้ก็มักถูกละเลย เนื่องจากความเชื่อว่าความสามารถในการสอนเป็นทักษะเฉพาะบุคคล ทั้งที่ความจริงทักษะดังกล่าวเป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝน ถ่ายทอด และถอดออกมาเป็นองค์ความรู้อย่างมีระบบได้ การสร้างระบบที่ช่วยเสริมทักษะการสอนให้ครูทั่วประเทศนั้นเป็นแนวทางที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในภาพรวม ผู้เขียนเล่าเรื่องดังกล่าวผ่านประวัติชีวิตนักการศึกษาหลายท่านที่พยายามหาแนวทางพัฒนาทักษะการสอนแก่ครูในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่สมัยอดีตที่ยังไม่มีองค์ความรู้ด้านทักษะการสอนเลยจนถึงปัจจุบัน
แม้ว่าเนื้อหาส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึงนโยบายและประวัติศาสตร์การศึกษา แต่เนื้อหาที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือการนำเสนอเรื่องราวของคนตัวเล็กๆ ที่เริ่มคิดทวนกระแส หรือลุกขึ้นมาปฏิวัติการศึกษาและการเรียนรู้ของมนุษย์ จนเกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับและบริบทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น;
ครูที่ไม่ชอบคณิตศาสตร์ แต่ต้องกลับไปเรียนคณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัยอีกครั้งเพื่อหาวิธีการสอนคณิตศาสตร์ที่เหมาะสมให้กับลูกศิษย์ จนเกิดเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับวิธีการสอนคณิตศาสตร์ที่น่าทึ่ง และได้ทำให้เกิดวิธีการสอนแบบใหม่ซึ่งมีประสิทธิภาพขึ้นมา
ครูสอนพิเศษที่ตกใจว่าลูกศิษย์ของตนเองเรียนจบชั้นมัธยมแต่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และพยายามแก้ปัญหาจนกลายเป็นแนวทางการจัดการห้องเรียนด้วยระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ซึ่งได้รับการยอมรับและนำไปใช้อย่างกว้างขวาง (ก่อนที่จะถูกท้าทายและเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมา)
ครูที่เคยเชื่อในการบังคับใช้ระเบียบวินัยเข้มงวดในโรงเรียน แต่ได้เรียนรู้ว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงการใช้คำสั่ง แต่คือการทำให้นักเรียนได้สะท้อน ตระหนักรู้ และเข้าใจการกระทำของตนเอง
เรื่องราวของคนเหล่านี้ไม่่เพียงสร้างแรงบันดาลใจ แต่ผู้เขียนยังแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาจะเกิดขึ้นได้จริงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยการทำงานและทุ่มเทอย่างหนักจากหลายฝ่าย ต้องมีการยอมรับปัญหา ต้องเก็บข้อมูลและประสบการณ์อย่างยาวนาน ต้องมีการวิจัยอย่างเข้มข้นเป็นระบบ และจะต้องไม่ปล่อยให้องค์ความรู้ที่มีอยู่หยุดนิ่ง แต่ต้องพัฒนาและท้าทายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งต้องพร้อมเผชิญกับความเข้าใจผิดและปัญหาอุปสรรคนานัปการ
แม้ว่าเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้จะเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา แต่แก่นสาระและคุณค่าของหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อครู นักการศึกษา รวมทั้งผู้สนใจทั่วไปในประเทศไทย โดยเฉพาะในแง่การสร้างความตระหนักรู้เรื่องความหลากหลายของวิธีการสอนและการจัดการชั้นเรียน หรือเรื่องการลงโทษเมื่อนักเรียนไม่เชื่อฟัง ซึ่งมักพบเห็นได้ทั่วไปในบริบทการศึกษาไทย
โครงการผู้นำแห่งอนาคตหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้จะช่วยกระตุ้นเตือนให้เราหันมามองถึงสถานการณ์ด้านการศึกษาไทยอย่างจริงจัง เริ่มพูดคุยถึงสิ่งที่เราแต่ละคนจะสามารถทำได้ และที่สำคัญที่สุดคือ การลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับคุณภาพการเรียนรู้และการพัฒนาเยาวชนของชาติอย่างแท้จริง
คำนำผู้แปล
"การสอนหนังสือเป็นอาชีพแห่งความหวัง เหนืออื่นใด การสอนต้องอาศัยศรัทธา ต้องมีความเต็มอกเต็มใจที่จะเชื่อว่าอะไรที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาจเกิดขึ้นได้ในวันหนึ่ง" - เดวิด โคเฮน (David K. Cohen)
การศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างทรัพยากรบุคคลเพื่อพัฒนาประเทศ ดังนั้นการสร้างครูที่มีคุณภาพจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ทำอย่างไรจึงจะไปถึงจุดนั้นได้? กรีนเล่าความเป็นมาเรื่องการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยยกตัวอย่างแนวคิดและแนวทางปฏิบัติของนักวิจัยและนักการศึกษาชั้นนำหลายท่าน อีกทั้งยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการเรียนการสอนของโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนแนวทางเลือกในประเทศสหรัฐอเมริกา และโรงเรียนในประเทศญี่ปุ่น ข้อดีและข้อเสียต่างๆ ของวิธีการเหล่านั้นล้วนเป็นบทเรียนที่น่าสนใจต่อวงการศึกษาในบ้านเรา หนังสือเล่มนี้บอกเล่าให้ทราบว่าครูชั้นเยี่ยมไม่ได้เป็นเช่นนั้นมาตั้งแต่เกิด ครูธรรมดาๆ ก็สามารถพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถให้กลายเป็นครูชั้นเยี่ยมได้
[con·tin·ue]
หมายเหตุผู้เขียน: ฉันได้เปลี่ยนชื่อของเด็กๆ ทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้เป็นนามแฝงเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว ยกเว้นที่ระบุไว้ในหมายเหตุ
บทนำ: จะเป็นครูได้อย่างไร ภาคหนึ่ง (Prologue: How to be a Teacher - Part One)
คุณเปิดประตูและเดินเข้ามาในห้อง คุณยังยืนอยู่ แต่กำลังคิดว่าควรจะนั่งลงไหม? ห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้อยู่ในความรับผิดชอบของคุณ ในห้องมีกระดานดำและอัดแน่นไปด้วยเก้าอี้เลกเชอร์ 26 ตัว แสงแดดยามบ่ายอ่อนส่องผ่านหน้าต่างลงมากระทบผิวโต๊ะ อีกสักครู่จะมีนักเรียนชั้นประถมปีที่ห้าจำนวน 26 คนเข้ามาในห้อง ชื่อของพวกเขาเรียงกันอยู่ในแผ่นรายชื่อ ริชาร์ด (Richard), แคเธอรีน (Catherine), แอนโธนี (Anthony), เอ็ดดี (Eddie), วารูนา (Varouna), เกียว (Giyoo), อาวัด (Awad), ดอนนา รูธ (Danna Ruth), ไทโรน (Tyrone), เอลลี (Ellie), เอโนยัต (Enoyat), เลติเซีย (Leticia), ชาร์ล็อตต์ (Charlotte), คาริม (Karim), ชาโนตา (Shanota), เมสซิมา (Messima), ซอนดรา (Saundra), โดโรตา (Dorota), อีวาน (Ivan), คอนนี (Connie), อิลเลอานา (Illeana), ยะซุ (Yasu), รีบา (Reba), จุมานะฮ์ (Jumanah), แคนดิซ (Candice) และชาร์รุก (Shahroukh)
รัฐที่คุณอาศัยอยู่และเขตการศึกษาที่จ่ายเงินเดือนให้คุณนั้นกำหนดว่าในเวลา 60 นาทีนับจากนี้ คุณจะต้องทำให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องอัตราความเร็ว หรือคำถามเจาะจงในวันนี้คือ หากรถวิ่งด้วยความเร็ว 55 ไมล์ต่อชั่วโมง ถ้าวิ่ง 15 นาทีจะวิ่งได้กี่ไมล์? และถ้าวิ่ง 2 ชั่วโมงจะได้กี่ไมล์ เมื่อถึงปลายปีการศึกษา นักเรียนของคุณควรจะเชี่ยวชาญเรื่องเศษส่วน จำนวนลบ ฟังก์ชั่นเชิงเส้น การหารยาว อัตราส่วน สัดส่วน รวมทั้งเลขชี้กำลัง นอกจากนี้คุณยังมีหน้าที่สอนให้พวกเขาเป็นพลเมืองดีโดยสอดแทรกหลักประชาธิปไตยเข้าไปในบทเรียน (ใช่แล้ว ในบทเรียนวิชาคณิตศาสตร์นี่ล่ะ) และไม่ว่าจะเหลือเวลาอีกเท่าไหร่ก็ตาม อย่าลืมช่วยให้เด็กๆ ก้าวข้ามผ่านอุปสรรคในชีวิตที่พวกเขาเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชื้อชาติ ฐานะทางเศรษฐกิจ พ่อแม่ และสติปัญญา คุณต้องทำให้ความฝันแบบอเมริกันที่เชื่อว่าความสำเร็จมาจากความรู้ความสามารถเขยิบเข้าใกล้ความเป็นจริง คุณพร้อมหรือยัง?
ประตูเปิดผลัวะ เด็กๆ วิ่งกรูผ่านห้องเก็บเสื้อโค้ต พวกเขาจัดเสื้อผ้าให้เรียบร้อยและแย่งกันดื่มน้ำจากแท่นด้วยเรี่ยวแรงที่ยังเหลือจากช่วงพักแรก นั่นวารูนา (Varouna) จากเคนยา เธอรูปร่างบาง ผิวสีเข้ม เกียว (Giyoo) มาจากญี่ปุ่น เขาสูงราว 120 เซนติเมตร พูดน้อย แคเธอรีน (Catherine) ขยันและไว้ผมเปีย เอ็ดดี (Eddie) มีกระที่หน้าและไม่อยู่นิ่ง เขาเดินไปนั่งที่หลังห้อง ไทโรน (Tyrone) เพิ่งย้ายมาจากรัฐเซาท์แคโรไลนา (South Carolina) และไม่ค่อยตั้งใจเรียน เขานั่งอยู่ใกล้ๆ คุณที่ด้านหน้า อย่าเอาแต่ยืนเฉยๆ สิ สอนอะไรสักอย่าง! ริชาร์ด (Richard) นั่งติดกับไทโรนแถวๆ หน้าห้อง ทั้งคู่เป็นนักเรียนใหม่ในปีนี้ วันแรกที่เปิดเรียน ริชาร์ดแนะนำตัวและพูดขึ้นมาเองว่าวิชาคณิตศาสตร์เป็น "วิชาที่ผมเรียนได้แย่"
ครึ่งชั่วโมงต่อมา เด็กๆ ต่างเอียงคอกระซิบกระซาบพูดคุยกัน พวกเขากำลังทำโจทย์เลขซึ่งคุณเขียนไว้บนกระดานดำตอนที่พวกเขายังพักเบรกกันอยู่
โจทย์: รถวิ่งด้วยความเร็ว 55 ไมล์ต่อชั่วโมง จงวาดแผนภาพที่แสดงให้เห็นว่ารถจะไปอยู่ที่จุดไหน?
(ก) หลังจากผ่านไป 1 ชั่วโมง
(ข) หลังจากผ่านไป 2 ชั่วโมง
(ค) หลังจากผ่านไป 30 นาที
(ง) หลังจากผ่านไป 15 นาที
... continue reading
บทที่ 1 บิดาผู้ก่อตั้ง (Founding Fathers)
บทที่ 2 กำเนิดครู (A Teacher is Born)
บทที่ 3 เรื่องเศร้าที่สปาร์ตัน (Spartan Tragedy)
บทที่ 4 นวดและขึ้นฟู (Knead and Rise)
บทที่ 5 สตาร์ตอัปทางการศึกษา (An Educational Start-Up)
บทที่ 6 การจัดกลุ่มคำของเลมอฟ (Lemov's Taxonomy)
บทที่ 7 ระเบียบเรื่องระเบียบวินัย (The Discipline of Discipline)
บทที่ 8 พลังของอารมณ์ขันเฉพาะกลุ่ม (The Power of an Inside Joke)
บทที่ 9 ความปรารถนาสูงสุด (The Holy Grail)
บทที่ 10 อาชีพแห่งความหวัง (A Profession of Hope)
ปัจฉิมบท: จะเป็นครูได้อย่างไร ภาคสอง (Epilogue: How to be a Teacher - Part Two)
บทส่งท้าย: ครูที่ดีกว่า (Afterword: What Better Teachers Do)
กิตติกรรมประกาศและอ้างอิง (Acknowledgments and Notes)
เกี่ยวกับผู้เขียน
เอลิซาเบธ กรีน (Elizabeth Green) เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวด้านการศึกษาไม่แสวงผลกำไรที่ชื่อชอล์กบีต (Chalkbeat) เธอเป็นวุฒิบัณฑิตสเปนเซอร์ที่คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (former Spencer Fellow, Columbia School of Journalism) และเคยเขียนบทความให้ New York Times และอื่นๆ อีกมากมาย
เกี่ยวกับผู้แปล
วิลาสินี ฤกษ์ปฏิมา เดอเบส เกิดและเติบโตที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเป็นนักแปลอิสระ ผลงานที่ผ่านมา เช่น น้ำตาลเปลี่ยนโลก (Sugar Changed the World, 2010) ประวัติศาสตร์โลกในถ้วยชา (A Brief History of Tea, 2009) ที่คิดว่าสุขกลับไม่ ที่คิดว่าไม่กลับสุข (The Myths of Happiness, 2013) โลก คนอื่นๆ และตัวฉัน (Le Monde, les autres et moi) และครัวสุดเก๋ากับศิษย์เก่า เลอ กอร์ดง เบลอ (The Kitchen Counter Cooking School, 2011)
"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)
Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com