วิทยาศาสตร์: ปรัชญา ปริศนา และความจริง (The Meaning of Science: An Introduction to the Philosophy of
วิทยาศาสตร์: ปรัชญา ปริศนา และความจริง
แปลจาก The Meaning of Science: An Introduction to the Philosophy of Science (2015)
เขียนโดย Tim Lewens แปลโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ สำนักพิมพ์โอเพ่นเวิลด์ส พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2560 จำนวน 304 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9786167885537
วิทยาศาสตร์คือคัมภีร์ที่มอบคำอธิบายให้สารพัดสิ่ง ตั้งแต่กลไกการทำงานของแมลง ต้นกำเนิดสายพันธุ์มนุษย์ ไปจนถึงปริศนานอกโลกอย่างหลุมดำ แต่เราเชื่อคำอธิบายเหล่านั้นได้มากแค่ไหน? วิทยาศาสตร์หมายถึงสิ่งใดกันแน่? มันคือปราการแห่งความจริงอันหนักแน่นแข็งแกร่ง หรือเป็นเพียงชุดความเชื่อที่ตั้งอยู่บนกองไม้ซึ่งปราศจากรากฐานที่แท้จริง? ทิม เลเวนส์ พาเราไปสำรวจอาณาจักรวิทยาศาสตร์ผ่านแว่นตาของปรัชญา สอดแทรกด้วยวิวาทะของเหล่านักคิด ผสานกับงานวิจัยชวนตื่นตา และตั้งประเด็นถกเถียงที่ไปไกลกว่าขอบเขตของวิทยาศาสตร์ในตำรา เช่น เศรษฐศาสตร์ถือเป็นวิทยาศาสตร์ไหม? จุดสุดยอดของผู้หญิงมีไว้เพื่ออะไร? ผลสำเร็จด้านการศึกษาแท้จริงแล้วขึ้นกับยีนหรือสภาพแวดล้อม? อิสรภาพของมนุษย์มีอยู่จริงหรือเป็นเพียงสิ่งลวงตา? หนังสือเล่มนี้ฉายให้เราเห็นอีกแง่มุมของวิทยาศาสตร์ ทลายกรอบกำแพงของมายาคติแบบเดิมๆ และต่อยอดเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์กับองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งด้านจริยธรรม เศรษฐกิจ การเมือง นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้ขบคิดถึงบทบาทและเป้าประสงค์ที่แท้จริงของวิทยาศาสตร์ และย้อนกลับมาตั้งคำถามว่า เหตุใดวิทยาศาสตร์จึงสำคัญต่อเรา!
คำนำผู้แปล
นักวิทยาศาสตร์ก็เหมือนกับปลาในน้ำ บางครั้งเราอาจมองน้ำในแบบที่สัตว์อื่นที่ไม่ได้อยู่ในน้ำมอง และบางครั้งก็อาจจะมองไปไม่พ้นน้ำเสียที ในหนังสือ 'วิทยาศาสตร์: ปรัชญา ปริศนา และความจริง (The Meaning of Science)' เล่มนี้ ทิม เลเวนส์ ผู้เขียนซึ่งเป็นนักปรัชญาต้องการสำรวจตรวจสอบขอบเขตและข้อจำกัดของระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ หรืออาจพูดอีกอย่างว่า เขากำลังชวนให้ผู้อ่านท่องไปในโลกของปรัชญาวิทยาศาสตร์ ผู้เขียนเฝ้าศึกษาว่าผลกระทบจากความสำเร็จอันใหญ่หลวงของวิทยาศาสตร์สามารถบดบังหรือกระทั่งทดแทนวิธีแสวงหาความรู้แบบอื่นๆ ได้หรือไม่ โดยไล่สำรวจในหลากหลายแวดวง ทั้งประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือแม้แต่การเมือง! เขาอภิปรายโดยคัดเลือกตัวอย่างที่ตั้งอยู่อย่างหมิ่นเหม่บนเส้นแบ่งระหว่างความเป็นวิทยาศาสตร์กับวิทยาศาสตร์เทียม เช่น เศรษฐศาสตร์ ทฤษฎีวิวัฒนาการ ทฤษฎีการออกแบบอันชาญฉลาด ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ โฮมีโอพาธี ฯลฯ และสุดท้าย เขายังสำรวจด้วยว่าวิทยาศาสตร์ให้คุณค่ากับสังคมมากน้อยเพียงใด
นอกจากข้อคิดเห็นเชิงวิพากษ์ที่มีต่อหลักการต่างๆ แล้ว ในเล่มยังสอดแทรกแนวคิดของบรรดานักคิดและนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลก เช่น เรอเน เดการ์ต (René Descartes: 1596-1650) ไอแซก นิวตัน (Isaac Newton: 1643-1727) เดวิด ฮิวม์ (David Hume: 1711-1776) อิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant: 1724-1804) ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Robert Darwin: 1809-1882) ฟรีดริช นีทเชอ (Friedrich Wilhelm Nietzsche: 1844-1900) คาร์ล พอปเปอร์ (Karl Raimund Popper: 1902-1994) ริชาร์ด ฟายน์แมน (Richard Phillips Feynman: 1918-1988) โทมัส คูนห์ (Thomas Samuel Kuhn: 1922-1996) ฯลฯ และบางครั้งยังบอกเล่าเกร็ดชีวประวัติอันมีสีสันของบุคคลเหล่านี้ เช่นในกรณีของพอปเปอร์ (คุณอ่านแล้วต้องชอบแน่!) นอกจากนี้ผู้เขียนยังกล่าวถึงการทดลองเขย่าโลก เช่น การทดลองของอาร์เธอร์ เอ็ดดิงตัน (Arthur Stanley Eddington: 1882-1944) และเซิร์น (CERN) ผู้อ่านจะได้เรียนรู้คำสำคัญหลายๆ คำ เช่น พลาซีโบ (Placebo) โนซีโบ (Nocebo) นิรนัย อุปนัย กระบวนทัศน์ ฯลฯ ซึ่งบางคำอาจคุ้นเคยกันดี ในขณะที่บางคำไม่คุ้นหูนัก
นอกจากผู้อ่านจะได้คิดตาม เห็นพ้อง หรือนึกโต้แย้งในใจเมื่อได้อ่านเนื้อหาในเล่ม ผู้เขียนยังสำแดงฝีมือเหนือชั้นยิ่งกว่าให้เห็นในหลายบทหลายตอน เช่น ตัวอย่างในบทที่ 5 เกี่ยวกับงานวิจัยเรื่อง "จุดสุดยอดของผู้หญิง" ที่ยกมาอภิปรายประเด็นคุณค่าและความถูกต้องของวิทยาศาสตร์ ซึ่งผู้แปลเชื่อว่าผู้อ่านจะต้องทึ่งกับข้อมูลที่ใช้ถกเถียงไม่มากก็น้อย เช่นเดียวกับเรื่องการบิดเบือนวิทยาศาสตร์เพื่อรับใช้เผด็จการโซเวียตของโทรฟิม ลิเซนโก (Trofim Denisovich Lysenko: 1898-1976) ที่อ่านแล้วคงรู้สึกสยดสยองกันทั่วหน้า
หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นจุดตั้งต้นสำหรับผู้อ่านทั้งในและนอกวงการวิทยาศาสตร์ให้มาร่วมอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในแง่มุมต่างๆ อย่างหลากหลายและเป็นระบบ ดังที่เราต่างรู้กันดีว่าวิทยาศาสตร์ส่งผลกระทบต่อชีวิตมากเพียงใด เราจึงไม่ควรปล่อยให้วิทยาศาสตร์เป็นเพียงเรื่องของนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ต้องถือเป็นธุระว่าวิทยาศาสตร์เป็นของทุกคนซึ่งต้องอาศัยความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และประเด็นที่เกี่ยวข้องดีพอจึงจะทำเช่นนั้นได้
[con·tin·ue]
หมายเหตุสำหรับผู้อ่าน (A Note for Readers)
บทต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้สมบูรณ์ในตัวเองพอสมควรจึงไม่จำเป็นต้องอ่านเรียงตามลำดับ แต่ละบทปิดท้ายด้วยคำแนะนำสั้นๆ เกี่ยวกับหนังสืออ่านเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ประสงค์จะศึกษาต่อยอดในหัวข้อที่บรรยายไว้ ผู้อ่านส่วนใหญ่สามารถข้ามเชิงอรรถท้ายเล่มที่ให้ไว้จำนวนมากได้ เชิงอรรถเหล่านี้ใช้บ่งบอกที่มาของข้อเท็จจริง ข้อถกเถียง และคำกล่าวต่างๆ ที่อ้างอิงในเนื้อหาหลัก
บทนำ: อัศจรรย์แห่งวิทยาศาสตร์ (Introduction: The Wonder of Science)
ความสำเร็จที่มาจากวิทยาศาสตร์นั้นแสนวิเศษเหลือเชื่อ มันช่วยอธิบายทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ต้นกำเนิดวัฒนธรรมของมนุษย์ไปจนถึงกลไกการนำทางของแมลง ตั้งแต่การกำเนิดของหลุมดำไปจนถึงการทำงานของตลาดมืด มันนำเราไปสู่การตัดสินทางจริยธรรมและสัมผัสแห่งสุนทรียภาพ มันเพ่งพิจารณาองค์ประกอบพื้นฐานที่สุดของเอกภพและห้วงเวลา ณ จุดกำเนิดแรกสุด มันเป็นประจักษ์พยานในกิจกรรมส่วนตัวที่ละเอียดลึกซึ้ง รวมถึงสารพัดพฤติกรรมสาธารณะของเรา วิธีการทางวิทยาศาสตร์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากเสียจนพวกมันเป็นที่เห็นพ้องต้องกันแม้ในกรณีที่มองไม่เห็นหรือจับต้องไม่ได้ ไม่ว่าจะในอดีตอันเนิ่นนานไปจนถึงอนาคตอันแสนไกล ด้วยเหตุนี้เองวิทยาศาสตร์จึงกระตุ้นเตือนเราถึงปัญหาหนักหนาสาหัสที่สุดที่มนุษยชาติกำลังเผชิญ วิทยาศาสตร์นี่เองที่เป็นสิ่งจำเป็นและจะแสดงบทบาทสำคัญหากเราต้องการแก้ไขปัญหาเหล่านี้
หนังสือปรัชญาวิทยาศาสตร์เบื้องต้นเล่มนี้จะพาเราถอยห่างออกจากความสำเร็จทั้งหลายทั้งปวงของวิทยาศาสตร์เพื่อที่จะตั้งชุดคำถามเกี่ยวกับความสำคัญของงานด้านวิทยาศาสตร์ในมุมมองกว้างๆ นี่คือหนังสือสำหรับใครก็ตามที่สนใจว่าวิทยาศาสตร์หมายถึงอะไรกันแน่และวิทยาศาสตร์มีความหมายใดต่อเรา โดยผู้อ่านไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใดๆ เป็นพิเศษ และไม่ต้องคุ้นเคยกับเรื่องราวทางปรัชญาเลยก็ได้
ปรัชญาวิทยาศาสตร์นั้นเป็นเช่นเดียวกับปรัชญาสาขาอื่นๆ นั่นคือเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ และยังเหมือนกับปรัชญาสาขาอื่นๆ ตรงที่มันมีลักษณะผสมผสาน ริชาร์ด ฟายน์แมน (Richard Phillips Feynman: 1918-1988) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันผู้เปี่ยมเสน่ห์ ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 1965 ไม่สู้โปรดปรานสาขานี้สักเท่าใดนัก เขากล่าวหาว่า "ปรัชญาวิทยาศาสตร์มีประโยชน์ต่อนักวิทยาศาสตร์แบบเดียวกับที่ปักษีวิทยามีประโยชน์ต่อนกนั่นแหละ" หากฟายน์แมนเป็นคนกล่าวคำพูดนี้จริงก็ถือว่าเลือกตัวอย่างได้ไม่เหมาะสมนัก ปักษีวิทยาไม่มีประโยชน์ใดเลยกับนก เพราะนกเข้าใจวิชานี้ไม่ได้ หากเพียงแต่มีนกสักตัวเรียนรู้วิธีที่นักปักษีวิทยาใช้แยกแยะลูกนกคักคูจากลูกนกในครอกของมันเอง นกตัวนั้นก็คงรอดพ้นไม่ถูกนกคักคูลวงล่อให้เลี้ยงลูกแทน แน่นอนฟายน์แมนคงไม่ได้ตั้งใจจะชี้ว่าปรัชญาซับซ้อนเกินกว่าที่นักวิทยาศาสตร์จะเข้าใจ เขาเพียงแต่ไม่พบหลักฐานเชิงประจักษ์ใดที่แสดงว่าปรัชญาจะช่วยงานทางวิทยาศาสตร์ได้
มีคำตอบดีๆ มากมายที่จะใช้โต้ตอบคำกล่าวท้าทายทำนองนี้ คำตอบหนึ่งมาจากนักฟิสิกส์ที่เรืองนามยิ่งกว่าฟายน์แมนเสียอีก ในปี 1944 ขณะที่โรเบิร์ต ธอร์นตัน (Robert Lyster Thornton: 1908-1985) ซึ่งเพิ่งได้ดุษฎีบัณฑิตด้านปรัชญาวิทยาศาสตร์ เริ่มสอนฟิสิกส์สมัยใหม่ให้นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเปอร์โตริโก (University of Puerto Rico) เขาเขียนไปหาอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein: 1879-1955) เพื่อขอคำแนะนำว่าควรใส่เรื่องปรัชญาเข้าไปในหลักสูตรฟิสิกส์ดีหรือไม่ ไอน์สไตน์เขียนตอบกลับมาชัดเจนว่า "ควร" ทั้งยังบ่นอีกด้วยว่า "ในสายตาของผม คนจำนวนมากในสมัยนี้ แม้แต่คนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ ล้วนไม่ต่างจากคนที่มองเห็นต้นไม้นับพันต้น แต่กลับมองไม่เห็นป่าสักผืนเดียว (So many people today—and even professional scientists—seem to me like somebody who has seen thousands of trees but has never seen a forest.)" ไอน์สไตน์ยังอธิบายเพิ่มเติมอีกด้วยว่าจะแก้อาการสายตาสั้นแบบนี้ได้อย่างไร
"ความรู้ภูมิหลังด้านประวัติศาสตร์และปรัชญาช่วยให้เป็นอิสระจากอคติในยุคสมัยนั้นๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ต้องทนทุกข์ทรมานจากมัน ในมุมมองของผม ความเป็นไทที่เกิดจากทัศนญาณทางปรัชญาคือเครื่องหมายที่ใช้แยกแยะช่างฝีมือหรือผู้เชี่ยวชาญออกจากนักค้นหาสัจธรรมที่แท้ (A knowledge of the historic and philosophical background gives that kind of independence from prejudices of his generation from which most scientists are suffering. This independence created by philosophical insight is—in my opinion—the mark of distinction between a mere artisan or specialist and a real seeker after truth.)
สำหรับไอน์สไตน์แล้ว ปรัชญาวิทยาศาสตร์ที่ผนวกรวมกับประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์จะสำแดงคุณค่าให้เห็นเมื่อมันปลดปล่อยจินตนาการของผู้ศึกษาค้นคว้า
....Continue Reading
ภาคหนึ่ง วิทยาศาสตร์หมายถึงอะไร? (What We Mean by Science?)
บทที่ 1 วิทยาศาสตร์ทำงานอย่างไร? (How Science Works?)
บทที่ 2 นั่น ใช่วิทยาศาสตร์ไหม? (Is That Science?)
บทที่ 3 กระบวนทัศน์ของกระบวนทัศน์ (The Paradigm Paradigm)
บทที่ 4 แต่ว่ามันจริงหรือ? (But Is It True?)
ภาคสอง วิทยาศาสตร์มีความหมายต่อเราอย่างไร? (What Science Means for Us?)
บทที่ 5 คุณค่าและความสัตย์จริง (Value and Veracity)
บทที่ 6 ความอารีของมนุษย์ (Human Kindness)
บทที่ 7 ระวังธรรมชาติไว้! (Nature: Beware!)
บทที่ 8 อิสรภาพที่สูญสิ้น (Freedom Dissolves)
ปัจฉิมบท: ขอบเขตที่วิทยาศาสตร์เอื้อมถึง (Epilogue: The Reach of Science)
แหล่งข้อมูล (Notes)
กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgments)
เกี่ยวกับผู้เขียน
ดร.ทิม เลเวนส์ (Tim Lewens) เป็นศาสตราจารย์ด้านปรัชญาวิทยาศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) และยังสอนที่วิทยาลัยแคลร์ (Clare College) ด้วย เขาเขียนบทความให้กับวารสาร London Review of Books และ The Times Literacy Supplement เขาได้รับรางวัลมากมายจากผลงานต่างๆ ทั้งด้านงานสอนและงานเขียน ผลงานเล่มอื่นๆ ของเขา เช่น Organisms and Artifacts (2004) และ Darwin (2007)
เกี่ยวกับผู้แปล
ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ เป็นคนฝั่งธนบุรีแต่กำเนิด เป็นหนอนหนังสือและสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็ก เลือกเรียนสายชีววิทยามาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีที่ภาควิชาชีววิทยา (วิชาเอกสัตววิทยา) คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนมาต่อระดับปริญญาโทที่ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยในระดับปริญญาตรีและโทได้รับทุนจากโครงการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ก่อนได้ทุนไปศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคุมะโมะโตะ (Kumamoto University) ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีผลงานหนังสือที่มีส่วนร่วมในฐานะผู้แปลหรือผู้เขียนรวม 24 เล่ม และที่เป็นบรรณาธิการอีกจำนวนหนึ่ง ตัวอย่างผลงานเขียน เช่น 'สู่ชีวิตอมตะ' ซึ่งติดหนึ่งในรายชื่อ '100 เล่มหนังสือดีวิทยาศาสตร์' และเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ 'นิพพานจักร' ได้รับรางวัลรองชนะเลิศมติชนอวอร์ด 2016 ประเภทเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ ฯลฯ สำหรับผลงานแปลมาสเตอร์พีซสองเล่มซึ่งภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เป็นหัวหน้าทีมแปลคือ 'กำเนิดสปีชีส์ (The Origin of Species)' ของชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Robert Darwin) และ 'คอสมอส (Cosmos)' ของคาร์ล เซแกน (Carl Edward Sagan)
"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)
Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com