top of page

ปล้นผลิตผล!: ปฏิบัติการจี้ยึดเสบียงอาหารโลก (Stolen Harvest: The Hijacking of the Global Food Supply


ปล้นผลิตผล!: ปฏิบัติการจี้ยึดเสบียงอาหารโลก

แปลจาก Stolen Harvest: The Hijacking of the Global Food Supply (2000)

เขียนโดย Vandana Shiva แปลโดยไพโรจน์ ภูมิประดิษฐ์ สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา พิมพ์ครั้งที่สอง กันยายน 2551 (พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม 2544) จำนวน 214 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789743191558

หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวแห่งการทำลายล้างที่บรรษัทข้ามชาติกระทำต่อระบบอาหารและการเกษตร รวมถึงการเคลื่อนไหวคัดค้านโดยขบวนการประชาชน นี่คือยุคสมัยอันน่าตื่นใจ เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่จำเป็นต้องยอมให้บรรษัทมาควบคุมชีวิตเราและปกครองโลก ดังตัวอย่างที่หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็น เราสามารถกำหนดอนาคตเองได้ เรามีหน้าที่ทางนิเวศและสังคมที่จะสร้างหลักประกันว่าอาหารที่เลี้ยงชีวิตเรา มิใช่ผลิตผลที่ถูกปล้นมา

จากสำนักพิมพ์

สวนเงินมีมาเป็นสำนักพิมพ์ที่ตั้งใจจะผลิตงานหนังสือที่มีคุณภาพและให้สาระประโยชน์ต่อผู้อ่าน หนังสือเรื่อง "ปล้นผลิตผล" เป็นความภูมิใจหนึ่งของสำนักพิมพ์ ทั้งนี้เพราะเนื้อหา ข้อเท็จจริง รวมทั้งมุมมองจากหนังสือเล่มนี้มีความชัดเจนและมีพลังอย่างมาก และหวังว่าท่านคงจะประจักษ์ในข้อนี้เมื่อได้อ่านหนังสือจบลง ในโอกาสที่วันทนา ศิวะ ผู้เขียน ได้เดินทางมาปาฐกถาร่วมกับนักคิดนักวิจารณ์สังคมของบ้านเรา อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จึงเป็นเหตุให้สำนักพิมพ์ได้ผลิตหนังสือออกมาให้ทันกับการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การศึกษาองค์รวมและวิทยาศาสตร์กระแสหลัก" ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 ธันวาคม 2544 ณ หอประชุมใหญ่ ห้องสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งการประชุมดังกล่าวเป็นความพยายามร่วมกันของบุคคลและหน่วยงานหลายแห่ง ได้แก่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคมและสถาบันเอเชียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โฟกัส (Focus on the Global South) กรีนพีช เครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทย (Biothai) กรีนเนท เสมสิกขาลัย อาศรมวงศ์สนิท และบริษัท สวนเงินมีมา จำกัด

หนังสือ "ปล้นผลิตผล: ปฏิบัติการจี้ยึดเสบียงอาหารโลก" อาจทำให้เรานึกไปไม่ถึงว่าอาหารที่เราบริโภคอยู่ในชีวิตประจำวันนั้นมีผลคุกคามเพียงใดต่อสุขภาพของเราในฐานะผู้บริโภค และที่สำคัญ คุกคามต่อผู้ผลิต ชุมชน นิเวศ และสรรพสิ่งบนโลกโดยรวม หากเราไม่รู้เท่าทันความทันสมัยและกระแสโลกาภิวัตน์ที่กำลังอยู่กับเราในทุกวันนี้ เราอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการปล้นผลิตผลไปโดยไม่รู้ตัว หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะมีผลให้เราเข้าใจโยงใยการทำงานขององค์กรโลกบาล กลไกการค้าของบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่คุกคามชีวิตคนเล็กคนน้อยอย่างไร และหากการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ เริ่มจากการทำความเข้าใจโยงใยการทำงานของสิ่งต่างๆ ก็หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะได้ทำหน้าที่ดังกล่าว เพื่อนำเราไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินชีวิตของเราให้เอื้อเฟื้อต่อตนเอง ต่อวิถีชุมชน และต่อนิเวศมากขึ้น

คำนำ

โดยวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทย

ผมรู้จักและได้สนทนากับวันทนา ศิวะ ครั้งแรกเมื่อปี 2540 ครั้งนั้นไบโอไทยจัดประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองมรดกพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยมีนักกิจกรรมและนักกฎหมายกว่า 17 ประเทศเข้าร่วมประชุม เราเชิญเธอเข้าร่วมในฐานะที่เป็นตัวแทนของนักกิจกรรมและปัญญาชนจากประเทศอินเดีย ผมพบเธออีกสองสามครั้งหลังจากนั้น แต่ที่ได้คุยกันมากหน่อยคงเป็นการประชุมซึ่งจัดขึ้นโดยเครือข่ายประเทศโลกที่สาม (Third World Network) เมื่อปี 2541

มาร์ติน คอร์ (Martin Khor: 1951) ผู้อำนวยการของเครือข่ายประเทศโลกที่สามซึ่งมีฐานอยู่ที่ปีนัง (Penang) ประเทศมาเลเซีย เชิญผมไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของเกษตรกรและชุมชนในกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทยแก่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์และนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งซึ่งมีวันทนารวมอยู่ด้วย ผมจำได้ว่าครั้งนั้นวันทนาอภิปรายสนับสนุนความเห็นของผมอย่างเต็มที่เกี่ยวกับประเด็นการเคลื่อนไหวเรื่ององค์การการค้าโลกว่าควรจะให้ความสำคัญกับปัญหาประชาธิปไตยในแต่ละประเทศมากกว่าจะพยายามจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวที่เจนีวา (Geneva) เพราะจะว่าไปแล้วการที่รัฐบาลของประเทศโลกที่สามยินยอมในข้อตกลงต่างๆ ทั้งๆ ที่สร้างผลกระทบมากมายให้กับประชาชนของตนเอง เป็นเพราะว่ารัฐบาลเหล่านั้นถูกครอบงำโดยธุรกิจขนาดใหญ่ การกำหนดนโยบายของประเทศในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาก็ดี เกี่ยวกับจีเอ็มโอก็ดี มักเกิดขึ้นจากพวกบริษัทที่มีสายสัมพันธ์และผลประโยชน์เชื่อมโยงกับบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ แนวทางหลักในการต่อสู้กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากองค์การการค้าโลกจึงควรอยู่ที่การพยายามผลักดันให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศโลกที่สามมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของประเทศ แทนที่จะมอบหมายให้ข้าราชการและกลุ่มธุรกิจเป็นผู้ผลักดันนโยบายต่างๆ

ผมพบกับวันทนาอีกครั้งหนึ่งระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลกครั้งที่ 2 ที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 2542 ผมกับอาจารย์เจริญ คัมภีรภาพ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดรายการเสวนาเล็กๆ เกี่ยวกับกรณีบริษัทไรซ์เทค (RiceTec Inc.) จากอเมริกาจดเครื่องหมายการค้า 'จัสมาติ (Jasmati)' เลียนแบบข้าวหอมมะลิจากประเทศไทย ส่วนเธอหอบเอกสารเกี่ยวกับการจดสิทธิบัตรข้าวบัสมาติ (Basmati) ของอินเดียโดยบริษัทเดียวกันนั้น เพื่อเผยแพร่แก่ตัวแทนประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมครั้งดังกล่าว น่าเสียดายที่เราไม่ได้ประสานงานเกี่ยวกับการจัดเวทีเสวนาร่วมกันแต่เนิ่นๆ ต่างคนเลยต่างทำงานเพื่อเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศของตน ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเดียวกัน

ผมเพิ่งตระหนักเมื่อไม่นานมานี้เองว่าประเด็นการต่อสู้หลายเรื่องของเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นของอินเดียซึ่งเธอมีส่วนร่วมอยู่ด้วยนั้นแทบไม่แตกต่างใดๆ เลยกับประเด็นการต่อสู้ที่เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นของเราในประเทศไทยดำเนินอยู่ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการปลูกไม้โตเร็ว อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงชายฝั่ง ฝ้ายบีที/จีเอ็มโอ และการจดสิทธิบัตรพันธุ์ข้าวโดยองค์กรในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ไม่เชื่อลองอ่าน "ปล้นผลิตผล!" ในบทที่ว่าด้วย "การปล้นผลิตผลจากท้องทะเล" แล้วลองเปลี่ยนชื่อชาวนาที่เธออ้างถึงเป็นชื่อชาวนาไทยแถวๆ คาบสมุทรสทิงพระดู จะเห็นว่าเรื่องที่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านชะทิดาปัตตินัมเป็นเรื่องเดียวกันแท้ๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับหมู่บ้านชายฝั่งทะเลตะวันออกของเรา ไม่ว่าจะเป็นการทำลายป่าชายเลน การขาดแคลนน้ำดื่ม เป็นต้น ในขณะที่เรื่องสำคัญเรื่องอื่นๆ ที่กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีบริษัทไรซ์เทคจดสิทธิบัตรในพันธุ์ข้าวบัสมาติ และกรณีการพยายามผลักดันฝ้ายบีทีโดยบรรษัทข้ามชาติมอนซานโต้ ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึง เพราะทั้งเรื่องทั้งตัวละครที่เธอกล่าวถึงเป็นเรื่องเดียวกันแท้ๆ กับที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเลยทีเดียว

ภายใต้การขยายตัวของระบบทุนนิยมโลกดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นทั้งหลายได้ตกอยู่ภายใต้ชะตากรรมเดียวกัน เรื่องราวที่เกิดขึ้นในอินเดียจึงเป็นเรื่องราวเดียวกันที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยและกำลังจะเกิดขึ้นในกัมพูชาหรือเคนยา คนยากจนทั้งหลายไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกต่างถูกกระทำโดยผู้กระทำเดียวกัน และการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในการพัฒนาของพวกเขาให้ประสบผลสำเร็จได้นั้น บางทีอาจต้องเป็นความร่วมมือของพี่น้องของเราที่ประสบชะตากรรมเดียวกันทั้งโลก หนังสือ "ปล้นผลิตผล!" ของวันทนา ศิวะ คือหนังสือซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือกันดังกล่าว

หากเปรียบเทียบบทความและข้อเขียนที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของการปฏิวัติเขียว เทคโนโลยีชีวภาพ และเรื่องราวที่เกี่ยวกับองค์การการค้าโลกกับผลกระทบที่มีต่อประเทศโลกที่สามของบรรดานักกิจกรรมทั้งหลายในแวดวงเดียวกัน ในความเห็นของผม เธออยู่ในแถวหน้าสุด แม้ว่าเธอจะมิใช่นักเขียนประเภทวิเคราะห์เนื้อหาลงลึกและจุดประเด็นใหม่ๆ เหมือนแพ็ต มูนนี่ (Pat Roy Mooney: 1947-) แห่ง ETC (เดิมใช้ชื่อว่า RAFI: Rural Advancement Foundation International) ซึ่งผมคิดว่าเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับงานกิจกรรมของเธอนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ความโดดเด่นของเธอคือการนำประเด็นปัญหาต่างๆ ที่มีผู้จุดประเด็นเข้ามาเชื่อมโยงกับบริบทของประเทศโลกที่สาม มองเชื่อมโยงกับเรื่องต่างๆ อย่างเป็นองค์รวม และสอดแทรกมุมมองจากฐานรากวัฒนธรรมของอินเดีย งานวิเคราะห์ของเธอเกี่ยวกับความล้มเหลวของเรื่องปฏิวัติเขียว ปัญหาการอนุรักษ์เต่าทะเล และวัฒนธรรมเชิงเดี่ยวของถั่วเหลือง จึงสะท้อนความแหลมคมในการมองปัญหาการพัฒนาของโลกที่ครอบคลุมตั้งแต่ประเด็นทางสิ่งแวดล้อม การครอบงำทางเศรษฐกิจและการเมือง ความแตกต่างทางวัฒนธรรม และมิติหญิงชายในการพัฒนา เป็นต้น

ต้องขอบคุณ คุณไพโรจน์ ภูมิประดิษฐ์ ผู้แปล และสำนักพิมพ์สวนเงินมีมาที่นำเอา Stolen Harvest ในพากษ์ไทยมาเผยแพร่ให้คนไทยได้อ่านอย่างถูกที่ถูกเวลา เนื่องจากอยู่ในช่วงเวลาที่ประชาชนไทยกำลังเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการที่สหรัฐอเมริกาเข้ามายึดครองข้าวหอมมะลิไทยพอดิบพอดี ชาวนาในภาคอีสาน องค์กรพัฒนาเอกชน ได้จัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์และเคลื่อนไหวเรื่องนี้ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศหลายครั้ง สื่อมวลชนเกือบทุกฉบับก็มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่และวิเคราะห์เรื่องราวเบื้องหลังเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง จนเป็นผลให้รัฐบาลไทยต้องหยิบกรณีนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นการเจรจาระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้ของวันทนาจะให้ผู้อ่านทุกท่านรู้สึกไปถึงเบื้องหลังของการแย่งชิงข้าวหอมมะลิไทย และการปล้นผลิตผลไปจากชาวไร่ชาวนาในประเทศโลกที่สามว่าเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกลไกของการเปิดเสรีการค้าการเกษตร การผลักดันกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และการผลักดันอาหารและพืชจีเอ็มโอของบรรษัทข้ามชาติอย่างไร

นี่คืองานเขียนที่สืบทอดการวิเคราะห์ระบบเกษตรกรรมและอาหารชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งนับตั้งแต่ "อาหารไทยไปไหน (World Hunger: 10 Myths, 1977)" ของฟรานซิส มัวร์ เลปเป้ (Frances Moore Lappé: 1944-) กับโจเซฟ คอลลินส์ (Joseph Collins: 1945-) "โจรปล้นโลก ()" ของซูซาน จอร์จ (Susan George: 1934-) รวมทั้ง "เกษตรกรรมสำนึก" ของเดชา ศิริภัทร ซึ่งเผยแพร่โดยสำนักพิมพ์โกมลคีมทอง เมื่อหลายสิบปีก่อน

ผมยังมองไม่เห็นเหตุผลที่เพื่อนฝูงที่ทำงานร่วมกับพี่น้องปกาเกอญอ ชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้ และชุมชนประมงพื้นบ้านภาคใต้จะพลาดหนังสือเล่มนี้ไปได้อย่างไร ผมยังนึกไม่ออกว่างานวิชาการและการวิเคราะห์ของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเราจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศได้แค่ไหน หากขาดข้อมูลและมุมมองดังที่ปรากฏในหนังสือนี้

ไม่ว่าเราจะมีความรู้สึกและจิตวิญญาณเดียวกันกับผู้ประท้วงแถวหน้าสุดที่เผชิญหน้ากับแถวของตำรวจปราบจราจลที่ซีแอตเติลเมื่อปี 2542 หรือไม่ก็ตาม ข้อมูลและมุมมองในการวิเคราะห์ของวันทนาเป็นประโยชน์ต่อเราอย่างยิ่งว่าจะเลือกยืนและดำรงอยู่ได้อย่างไร ท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของลัทธิการค้าโลกเช่นนี้

[con·tin·ue]

บทนำ (Introduction)

บทที่ 1 การจี้ยึดเสบียงอาหารโลก (The Hijacking of the Global Food Supply)

บทที่ 2 จักรวรรดินิยมถั่วเหลืองและการทำลายวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น (Soy Imperialism and the Destruction of Local Food Cultures)

บทที่ 3 ผลิตผลที่ถูกขโมยจากท้องทะเล (The Stolen Harvest under the Sea)

บทที่ 4 ระหว่างวัวบ้ากับวัวศักดิ์สิทธิ์ (Mad Cows and Sacred Cows)

บทที่ 5 เมล็ดพันธุ์ที่ถูกโจรกรรม (The Stolen Harvest of Seed)

บทที่ 6 พันธุวิศวกรรมและความมั่นคงด้านอาหาร (Genetic Engineering and Food Security)

บทที่ 7 เอาประชาธิปไตยด้านอาหารคืนมา (Reclaiming Food Democracy)

บทส่งท้าย (Afterword)

เชิงอรรถ (Index)

เกี่ยวกับผู้เขียน

ดร.วันทนา ศิวะ (Vandana Shiva: 1952-) เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในฐานะนักคิดและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ได้รับรางวัลโนเบลทางเลือกหรือรางวัลสัมมาอาชีวะ (Right Livelihood Award) เมื่อปี 1993 เธอเป็นผู้นำคนหนึ่งแห่งเวทีนานาชาติคัดค้านโลกาภิวัตน์ (International Forum on Globalization) ร่วมกับราฟ เนเดอร์ (Ralph Nader: 1934-) และเจรามี ริฟกิน (Jeremy Rifkin: 1945-) ก่อนเป็นที่รู้จักในบทบาทของนักเคลื่อนไหว เธอคือนักฟิสิกส์ชั้นนำคนหนึ่งของอินเดีย ปัจจุบันเธอเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการวิจัยนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและทรัพยากรธรรมชาติ เธอมีผลงานเขียนหลายเล่ม เช่น Biopiracy: The Plunder of Nature and Knowledge (1997), Monocultures of the Mind (1993), The Violence of the Green Revolution (1992) และ Staying Alive (1989)

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page