ผืนดินไม่ใช่น้ำมัน: ชีวิต อาหาร สิ่งแวดล้อม หรือน้ำมัน? (Soil Not Oil: Environmental Justice in an A
ผืนดินไม่ใช่น้ำมัน: ชีวิต อาหาร สิ่งแวดล้อม หรือน้ำมัน?
แปลจาก Soil Not Oil: Environmental Justice in an Age of Climate Crisis (2010)
เขียนโดย Vandana Shiva แปลโดยดรุณี แซ่ลิ่ว สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง ธันวาคม 2555 จำนวน 236 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9786167368290
ทางแก้ปัญหาวิกฤตอาหารอยู่ที่การฟื้นฟูอธิปไตยด้านอาหารและการสร้างเศรษฐกิจอาหารท้องถิ่นขึ้นใหม่บนพื้นฐานการเกษตรเชิงนิเวศ วิธีนี้ยังทำให้ภาคเกษตรกรรมหลุดพ้นจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะเดียวกันก็บรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทำให้มีการปรับตัวด้วย การเปลี่ยนย้ายจากน้ำมันไปสู่พื้นดินช่วยแก้ปัญหาวิกฤตทั้งสามคือ วิกฤตด้านภูมิอากาศ วิกฤตพลังงาน และวิกฤตอาหารได้
ประชาชนถูกฝึกให้ตระหนักถึงความรู้สึกขาดเสรีภาพเมื่ออยู่ภายใต้การปกครองของภาครัฐ พวกเขายังไม่เคยเรียนรู้เนื้อแท้ของการขาดเสรีภาพเพราะการปกครองของบริษัท เมื่อภาครัฐถอนตัวจากภาคการเกษตรก็ไม่ได้คืนอำนาจแก่ชุมชนเกษตรและผู้ผลิตอิสระ แต่กลับถ่ายโอนอำนาจควบคุมทรัพยากรธรรมชาติ ระบบการผลิต ตลาดและการค้าให้แก่ธุรกิจการเกษตรระดับโลก เป็นการยึดอำนาจและยึดทรัพย์สินจากเกษตรกรรายย่อยและผู้ใช้แรงงานที่ไม่มีที่ดินของตนเองมากขึ้นไปอีก
จากสำนักพิมพ์
ในช่วง 12 ขวบปีของสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา หนังสือของวันทนา ศิวะ ได้ส่งสารที่แสดงอัตลักษณ์และจุดยืนสำคัญของสำนักพิมพ์มาโดยตลอด งานเขียนของวันทนามีทั้งข้อเท็จจริงความรู้ที่มาจากใจกลางของการเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรม โดยเฉพาะต่อเกษตรกรรายเล็กรายน้อย คนชายขอบ และผู้สูญเสียจากสงครามการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยข้อเท็จจริงจากการวิจัยสำรวจในทางวิชาการเพื่อนำมาเป็นหลักฐานอ้างอิงได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ วันทนาเองนั้นสำเร็จการศึกษาและกำลังก้าวหน้าในสาขาวิชาชีพทางฟิสิกส์ ก่อนที่จะหันเหชีวิตมาเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่มีคนหรือชีวิตเป็นตัวตั้ง ดังที่สำนักพิมพ์สวนเงินมีมาได้พิมพ์เผยแพร่หนังสือเล่มแรกของเธอเรื่อง 'Stolen Harvest: The Hijacking of the Global Food Supply' และได้เชิญวันทนามาแสดงปาฐกถาภายใต้หัวเรื่อง 'การศึกษาองค์รวมและวิทยาศาสตร์องค์รวม วิธีกับความคิดทางวิทยาศาสตร์กระแสหลัก' ในปี 2546 ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกที่เคลื่อนไหวเพื่อการแก้ไขวิกฤตการณ์อันส่งผลต่อการคุกคามมนุษยชาติที่เธอได้กล่าวไว้ในหนังสือ ได้แก่ วิกฤตการณ์ทางภูมิอากาศ วิกฤตการณ์ทางพลังงาน และวิกฤตการณ์ทางอาหาร จึงเชื้อเชิญเธอไปบรรยายถึงทีมาของปัญหาเหล่านี้เพื่อร่วมกันแสวงหาทางออกและทางเลือกที่เป็นไปได้ต่อการดำรงชีวิตที่สอดคล้องเหมาะสม เหนืออื่นใด วันทนายังเต็มไปด้วยพลังที่จะจุดประกายและก่อให้เกิดแรงบันดาลใจอย่างสูงต่อการนำไปสู่การลงมือปฏิบัติให้เป็นจริง
ในฐานะที่สำนักพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งบริษัทสวนเงินมีมา ผู้ประกอบการสังคม หนังสือของวันทนาช่วยให้เกิดทิศทางและแนวทางการสื่อสาระต่อสังคมและช่วยเสริมพลังในการก่อรูปเครือข่ายสำคัญๆ อย่างน้อย 2 เรื่อง ได้แก่ เครือข่ายตลาดสีเขียวในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และโครงการสู่เครือข่ายเกษตรอินทรีย์เอเชีย (Towards Organic Asia: TOA) การขับเคลื่อนเครือข่ายตลาดสีเขียวในระดับประเทศและเครือข่ายเกษตรอินทรีย์เอเชียในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในประเทศลุ่มน้ำโขงที่เชื่อมโยงไปถึงประเทศภูฐานด้วยนั้น แท้จริงคือการปกป้องวิถีการผลิตอาหารของชุมชนในนามของเกษตรกรรมพื้นบ้านที่กำลังถูกปลุกเร้าให้เกิดการปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรเคมี เร่งผลิต เร่งการเติบโตของพืชอาหารมากว่าสอง สาม สี่ทศวรรษตามสภาพพื้นที่ในแต่ละแห่ง ปฏิวัติเขียว (Green Revolution) ที่เธอกล่าวถึงได้นำพาเกษตรกรไปสู่ชะตากรรมอันเลวร้ายต่างๆ มากมาย อย่างเป็นรูปธรรมที่สุดก็คือปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ปัญหาการสูญเสียที่ดินที่ทำกิน การเร่งผลิตและผลิตเกินความจำเป็น เกินความต้องการ (Overharvesting) เพื่อสนองตอบต่อการค้าอาหารข้ามประเทศ ข้ามทวีป ปัญหาการผลิตที่ล้นเกินและการขนส่งอาหารไปยังที่ไกลๆ ข้ามทวีปนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญที่กำลังก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนพลังงานและปัญหาภูมิอากาศแปรปรวนมากขึ้นทุกที
งานเขียนของวันทนานอกจากจะช่วยให้เกิดความกระจ่างของปัญหาอาหารและการเกษตรที่โยงใยกับการค้าการลงทุนของบรรษัทอาหารขนาดใหญ่ข้ามประเทศที่กิจการของบรรษัทเพียงจำนวนน้อยหรือหยิบมือหนึ่งก่อผลเสียต่อเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการขนาดเล็กจำนวนมาก เบียดขับวิถีชีวิตชุมชนออกไปให้กลายมาเป็นแรงงานรับจ้างและเผชิญกับการว่างงานในที่สุด หากงานเขียนและการเคลื่อนไหวของเธอยังแสดงให้เห็นถึงปัญหาเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ น้ำ (Water Wars: Privatization, Pollution and Profit) ที่ดินและการถือครองทรัพย์สิน (Earth Democracy: Justice, Sustainability and Peace) ดิน ทรัพย์ในดินที่กำลังถูกนำไปใช้ประโยชน์ด้านเชื้อเพลิงพลังงานด้วยการผลิตพืชน้ำมันต่างๆ จากหนังสือเล่มนี้ 'Soil Not Oil: Environmental Justice in an Age of Climate Crisis' ดินในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญหนึ่งของกาย่า (Gaia) โลกที่มีชีวิตตามความเชื่อของวิทยาศาสตร์ใหม่ที่ทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติล้วนมีชีวิต ไม่แต่พืช สัตว์ และคนเท่านั้น ทั้งดิน น้ำ กรวดหิน มวลอากาศที่รวมอยู่ในผืนโลก ชีวิตทั้งทางกายภาพและชีวิตในทางจิตสำนึกและการรับรู้ ด้วยการมองเห็นและหยั่งเห็นชีวิตในทุกสิ่งนี่เองอันเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ทางวิทยาศาสตร์ความรู้ ความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อธรรมชาติ เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ในโลกธรรมชาติแวดล้อม ป่าเขา สายน้ำลำธาร ดินและผืนดิน ดั่งความเชื่อของผู้คนที่มีวิถีชีวิตแนบชิดธรรมชาติ หรือการเรียกขานสรรพชีวิตในธรรมชาติว่า 'แม่คงคง แม่ธรณี รุกขชาติ รุกขเทวดา' อย่างเคารพและสำนึกในบุญคุณ ด้วยการค้นพบจิตวิญญาณธรรมชาติอีกครั้ง อาจคือทางรอดและทางเลือก
สำหรับรูปธรรมของวิถีชีวิตเมือง (Urbanization) ที่กำลังมีขนาดใหญ่โตมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกแห่งของโลก การเชื่อมโยงเล็กๆ หากมีนัยยะสำคัญ เช่น การเกษตรที่ชุมชนให้การสนับสนุน (Community Supported Agriculture: CSA) อาจเป็นจุดเริ่มต้นอันสำคัญที่ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงผู้ผลิตและเกษตรกรรายย่อยที่มีผลผลิต เช่น พืชผักผลไม้จากภาคชนบทเข้ากับผู้บริโภคในเมือง การผูกโยงนี้สร้างหลักประกันทั้งสองส่วน เกษตรกรให้หลักประกันอาหารคุณภาพปลอดภัยไร้สารพิษแก่ผู้บริโภค ส่วนผู้บริโภคให้หลักประกันจำนวนและราคาที่เป็นธรรมต่อผู้ผลิต การเป็นหุ้นส่วนร่วมรับความเสี่ยงนี้ยังช่วยให้เกิดการผลิตที่รู้จำนวนอันนำมาสู่การลดความสูญเสียจากการผลิตที่มากเกินล้นเกิน ดั่งตัวเลขที่มีการสำรวจวิจัยและรายงานในที่ประชุมนานาชาติของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) เมื่อเดือนกันยายน 2555 ประเทศเกาหลีใต้ พบว่าการผลิต การขนส่ง และการจัดจำหน่ายอาหารโดยรวมด้วยช่องทางการค้าขายสมัยใหม่ที่เรียกว่าโมเดิร์นเทรดก่อให้เกิดการสูญเสียถึง 40% เฉพาะพืชผักสูงถึง 50% นั่นหมายความว่าการผลิตอาหาร 100 ส่วนต้องเททิ้งเสีย 50 ส่วน นี่จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนขบวนการอาหารท้องถิ่น (Local Food Movement) อันเป็นใจกลางของการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทั้ง 3 ที่วันทนาได้กล่าวมา จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่การจัดพิมพ์หนังสือนี้จะช่วยเผยแพร่ให้เกิดความตระหนักจากความรู้ความเข้าใจที่เชื่อว่าจะเป็นรากฐานสำคัญนำไปสู่การปรับเปลี่ยนแก้ไข โดยเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว เช่น เรื่องอาหารและการผูกโยงระหว่างคนผลิตและคนกิน
จากศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นับเป็นวาระสำคัญต่อสังคมไทยที่สวนเงินมีมาได้จัดแปลหนังสือ 'ผืนดินไม่ใช่น้ำมัน: ชีวิต อาหาร สิ่งแวดล้อม หรือน้ำมัน? (Soil Not Oil: Environmental Justice in an Age of Climate Crisis)' ของวันทนา ศิวะ ที่กล่าวเช่นนั้น เนื่องจากเห็นว่าสังคมไทยจำต้องเร่งก้าวพ้นการพัฒนาแบบเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หลักคิดและปฏิบัติแบบเสรีนิยมใหม่มุ่งเน้นแต่เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ส่งเสริมให้ผู้มั่งคั่งสั่งสมอำนาจ ตักตวงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทำร้ายความอยู่เย็นเป็นสุขของผู้คน จะปฏิเสธไม่ได้ด้วยว่าการก้าวพ้นดังกล่าวสอดคล้องกับการแสดงความรับผิดชอบร่วมของสังคมไทยในฐานะสมาชิกโลกใบเดียวกัน (One World) ต่อโลก (The Earth) ที่หล่อเลี้ยงชีพมวลมนุษย์ทั้งปวง แท้จริงแล้ว ดังสาระที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ตลอดทั้งเล่ม เราไม่เหลือทางเลือกอีกแล้ว หากเราไม่คิดทำสิ่งที่ถูกต้องให้ทันท่วงที สายพันธุ์มนุษย์ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้คงต้องสูญสิ้นเป็นแน่
อาจมีหนังสือจำนวนไม่น้อยที่มีเนื้อหาสาระทำนองเดียวกัน แต่คงยากจะหาหนังสือที่ปราดเปรื่องเทียบเทียมกันได้ อย่างน้อยที่สุดใน 3 ประเด็นดังต่อไปนี้ กล่าวคือ สารัตถะของหนังสือเล่มนี้ (1) เสริมสร้างฐานกระบวนทัศน์ว่าด้วยการพัฒนาแบบองค์รวมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทำให้เห็นปัญหาการพัฒนาเชิงโครงสร้างในภาพรวม (2) เสนอแนวทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นความสัมพันธ์ของผู้คนกับสิ่งแวดล้อมที่หล่อเลี้ยงชีพของมวลมนุษย์ทั้งปวง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เอารัดเอาเปรียบคนยากคนจน และ (3) ส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับอินเดียศึกษา
ในประเด็นแรกซึ่งถือเป็นใจความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ วันทนาเชื่อมโยงวิกฤตการณ์ 3 ประการที่มนุษย์กำลังเผชิญหน้าเข้าด้วยกันได้อย่างดียิ่ง นี่คือวิถีเข้าใจปัญหาที่เรียกว่ากระบวนทัศน์แบบองค์รวม (Holistic Paradigm) หรือ ณ ที่นี้อาจจะเรียกสลับกับคำว่ากระบวนทัศน์แบบสหวิทยาการ (Interdisciplinary Paradigm) ก็ได้ กระบวนทัศน์นี้เป็นวิถีเดียวที่จะทำให้เราเข้าใจภาพใหญ่ของการเชื่อมโยงสิ่งสำคัญต่างๆ เข้าด้วยกัน ความเข้าใจเช่นนี้สำคัญเพราะทำให้เราเห็นรากเหง้าของปัญหา และท้ายที่สุดจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ต้นตอ
สิ่งที่วันทนาชวนให้เราคิดคือ เราจะไม่มีวันเข้าใจวิกฤตการณ์ทางภูมิอากาศ วิกฤตการณ์ทางพลังงาน และวิกฤตการณ์ทางอาหารโดยแยกออกจากกันได้ ปรากฏการณ์โลกร้อนที่คุกคามความอยู่รอดของมนุษย์นั้นสัมพันธ์กับกระบวนการอุตสาหกรรม (Industrialization) ที่ขับเคลื่อนโดยเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) แต่ครั้นเมื่อเชื้อเพลิงประเภทนี้เริ่มร่อยหรอและราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราจึงเห็นการแสวงหาพลังงานทางเลือกแบบเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ที่ส่งผลต่อความไม่มั่นคงทางอาหาร เนื่องจากการแสวงหาพลังงานชีวภาพที่ว่านี้อิงอยู่กับฐานคิดแบบกระบวนการอุตสาหกรรมโดยยักย้ายอาหารและพื้นที่เพาะปลูกไปจากคนจนเพียงเพื่อสนองความต้องการด้านพลังงานของคนรวย
การแสวงหาพลังงานทางเลือกไม่ใช่เรื่องผิด ในประวัติศาสตร์อารยธรรม มนุษย์ก็ใช้พลังงานชีวภาพมาโดยตลอด เห็นได้จากอินเดีย ผู้คนตามท้องถิ่นต่างๆ ก็ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass Fuel) เป็นแหล่งพลังงานอยู่เสมอมา หากแต่การใช้พลังงานในอินเดียเป็นไปในลักษณะทรัพย์สินส่วนรวม มีลักษณะการบริหารจัดการที่กระจายอำนาจและยั่งยืน ต่างจากกระบวนการอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพในปัจจุบันที่เน้นผลักดันปลูกพืชเชิงเดี่ยว (Monoculture) ซึ่งนอกจากจะทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เพื่อการบริโภคอันฟุ่มเฟือยของผู้มีอันจะกินแล้ว ยังเป็นการครอบครองพลังงานในลักษณะรวมศูนย์อีกด้วย
การแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อน การขาดแคลนพลังงาน และความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด แต่ที่เราไม่มองว่าปัญหาทั้ง 3 ประการเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะเราเป็นหรือแสร้งเป็น 'คนตาบอดกับช้าง' คือต่างก็เล่าเรื่องจากแง่มุมของตนเพราะคลำแต่ละส่วนของช้างจนลืมคิดไปว่าภาพรวมของช้างนั้นเป็นเช่นไร หากจะแสร้งทำเป็นบอดเพราะมีผลประโยชน์ก็ยังพอเข้าใจได้ แต่หากบอดโดยไม่ได้เสแสร้งน่าจะเป็นประเด็นปัญหาที่ชวนวิตกยิ่ง เพราะคนส่วนใหญ่ในโลกใบนี้มิใช่ผู้ได้ประโยชน์จากกระบวนการอุตสาหกรรม หากแต่เป็นเหยื่อของกระบวนการดังกล่าว ตรงนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญของหนังสือเล่มนี้ เพราะทำให้เราเห็นปัญหาทั้งหมดที่เรียงร้อยเข้าด้วยกัน
แม้นจะมีความพยายามกระตุ้นการคิดแบบสหวิทยาการอยู่เป็นครั้งคราว แต่ศักยภาพในการคิดแบบองค์รวมนับวันยิ่งแลดูสิ้นหวังลงไปทุกที สถาบันอุดมศึกษาแลดูจะเก่งกาจขึ้นทุกวัน รู้เรื่องราวในแขนงวิทยาของตนอย่างลึกซึ้ง แต่มักมองไม่เห็นภาพรวมภาพใหญ่ที่สัมพันธ์กับการดำรงชีวิตหรือการอยู่รอดของมวลมนุษย์ ดังที่ดาโช กรรมา อุระ (Dasho Karma Ngawang Ura: 1961-) แห่งศูนย์ภูฐานศึกษา (Centre for Bhutan Studies) ได้กล่าวไว้อย่างชวนคิดว่า
"...เรามีสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงเรียงนามมากมาย แต่ละคณะ แต่ละสาขาวิชา แต่ละหน่วยงานต่างก็เชี่ยวชาญในความรู้ของตนอย่างถ่องแท้มากขึ้นเรื่อยๆ มีงานศึกษาและวิจัยอยู่ดาษดื่น ทว่าแทบไม่มีใครตั้งคำถามสำคัญเกี่ยวกับภาพใหญ่ของสังคม ...ความก้าวหน้าในความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของเราไม่ส่งเสริมให้เราตั้งคำถามเรื่องความอยู่เย็นเป็นสุขของมนุษย์ ไม่ตอบคำถามว่าการพัฒนาที่เป็นอยู่นั้นยั่งยืนหรือไม่? จะก้าวหน้าไปเพื่ออะไร? ผู้คนมีความสุขหรือไม่? ...มีแต่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ลุ่มลึก แต่ไม่มีภาพเชื่อมโยงเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของเรา"
วันทนาชวนให้เราตั้งคำถามหรือคิดแบบองค์รวมเพื่อเข้าใจปัญหาทั้งหมด และหาทางออกเพื่อสร้างวิถีความเป็นอยู่ของคนให้ดีขึ้นและอยู่ร่วมกับโลกได้อย่างจีรังยั่งยืน ซึ่งเราจะทำได้ก็ต่อเมื่อสลัดกระบวนการอุตสาหกรรมออกไปเสียจากจิตสำนึก ครั้งหนึ่ง มหาตมะ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi: 1869-1948) ก็เคยชวนเราคิดเรื่องนี้เช่นกัน ท่านกล่าวว่า "โลกมีทรัพยากรเพียงพอที่จะแบ่งปันให้มนุษย์ทุกคนตามความจำเป็น แต่ไม่เพียงพอที่จะสนองความโลภของคนบางคน (Earth provides enough to satisfy every man’s need, but not any man’s greed)" ดังนั้นประเด็นปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องทรัพยากรพึงจำกัดที่เรียบง่ายดังที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักพยายามครอบงำความคิดของเรา แท้จริงแล้วเศรษฐศาสตร์กระแสหลักไม่ยอมบอกเราต่อว่าทรัพยากรพึงจำกัดที่ว่านี้เป็นไปตามการอุปโภคบริโภคที่ฟุ่มเฟือยและสิ้นเปลืองตามแบบแผนกระบวนการอุตสาหกรรมซึ่งมีมหาอำนาจขับเคลื่อนให้เป็นปทัสถานสากลเพียงเพื่อสนองบรรษัทข้ามชาติ (Transnational Corporation) อันเป็นเพียงส่วนน้อยนิดของโลก
เราต้องถามใหม่ว่าทรัพยากรพึงจำกัดโดยภาวะธรรมชาติที่แท้จริงมีลักษณะอย่างไร? แล้วเราจะใช้วิถีชีวิตแบบใดต่างหากจึงจะสอดคล้องกับภาวะแห่งความเป็นจริงนี้? เพราะหากไม่คิดถามเช่นนี้ เราก็จะกระเหี้ยนกระหือรือแสวงหาวิธีการใหม่ๆ ที่นอกจากจะไม่แก้ปัญหาแล้วยังตอกย้ำปัญหาให้เลวร้ายกว่าเดิม เช่น ความคิดที่ว่าเมล็ดพันธุ์จากการตัดต่อพันธุกรรม (Genetically Modified Organism: GMO หรือจีเอ็มโอ) ที่บรรษัทข้ามชาติเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ผูกขาด โดยไม่อนุญาตให้ชาวไร่ชาวนาเก็บออมเมล็ดพันธุ์ของตนคือทางออกของความมั่นคงทางอาหาร หรือการใช้แอมโมเนีย (Ammonia) ฆ่าเชื้อเนื้อวัวเพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E. coli) ระบาด หรือแม้กระทั่งความคิดที่จะแสวงหาดวงดาวนอกโลกเพื่อหาทรัพยากรเพิ่ม ความคิดผิดๆ เหล่านี้นับวันยิ่งมีอิทธิพลและขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ เพราะหลายคนไม่คิดย้อนถามกลับไปว่าความมั่นคงทางอาหารจะมาจากการซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ผูกขาดด้วยสิทธิบัตรได้อย่างไร? แค่เมล็ดพันธุ์อินทรีย์ที่แทบจะไม่มีต้นทุนยังทำให้คนไม่มีจะกิน หากต้องเพิ่มต้นทุนโดยซื้อเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอทุกฤดูกาล ความมั่งคงทางอาหารจะเกิดขึ้นได้หรือ? เราต้องคิดที่จะย้อนถามด้วยว่าหากเราไม่เลี้ยงวัวแบบโรงงาน ปล่อยให้วัวตกอยู่ในภาวะที่ปราศจากสุขอนามัย ยัดเยียดให้วัวกินข้าวโพดดังที่ปฏิบัติกันในสหรัฐอเมริกา เพราะรัฐบาลอุดหนุน (Subsidy) ลดต้นทุนให้บรรษัทและขุนวัวให้อ้วนได้เร็วทันใจ เราคงไม่ต้องหาสารเคมีแบบแอมโมเนียมาฆ่าเชื้อเนื้อวัวเพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ หากกระบวนทัศน์ยังอิงอยู่กับกระบวนการอุตสาหกรรมจะแสวงหาดวงดาวสักกี่ดวงก็ไม่มีวันพอ
แล้วเราจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร? นี่คือความปราดเปรื่องประการที่สองของหนังสือเล่มนี้ วันทนากล่าวถึงคำว่าศักติ (Shakti) ก่อนจะพรรณนาให้เห็นขบวนการของระบบที่นำไปสู่ภาวะไร้ระเบียบ (Entropy) หากมองอย่างผิวเผิน ศักติแปลว่าพลัง แต่หากศึกษาปรัชญาอินเดียอย่างถ่องแท้จะพบว่า นอกจากรากศัพท์ของศักติคือ ศกฺ (Śak) ซึ่งแปลว่าการมีพลังหรือศักยภาพที่จะกระทำแล้ว พลังที่ว่านี้ยังรวมถึงพลังงานอันสร้างสรรค์ที่จัดระเบียบตัวเองของจักรวาล นั่นคือสรรพสิ่งทั้งปวงล้วนเชื่อมโยงกันหมด ชาวอินเดียจำนวนมากวิงวอนขอพรต่อเทพเจ้าเพื่อให้ได้มาซึ่งพลัง และนี่ย่อมหมายถึงพลังที่มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีการพัฒนาให้เข้ากับภาวะที่แท้จริงของธรรมชาติได้ สารัตถะของหนังสือเล่มนี้จึงย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงหรือการแสวงหาทางออกจากวิกฤตการณ์ในปัจจุบันจะต้องมาจากแบบล่างขึ้นบน (Bottom-Up) ไม่ใช่บนลงล่าง (Top-Down) อย่างที่เป็นอยู่ เพราะแบบบนลงล่างย่อมหมายถึงการสูญเสียผลประโยชน์ทางอำนาจและเศรษฐกิจของชนชั้นนำ ภาวะธรรมชาติที่เป็นจริงเรียกร้องให้เราปลุกพลังเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน การขาดแคลนพลังงานและความไม่มั่นคงทางอาหาร โดยการสร้างประชาธิปไตยผืนดินที่กอปรด้วยเศรษฐกิจ ประชาธิปไตย และวัฒนธรรมที่มีชีวิต
ความปราดเปรื่องประการที่สามของหนังสือเล่มนี้คือการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอินเดีย จะมีสักกี่คนที่เข้าใจอินเดียได้ลึกซึ้งเท่าวันทนา เหตุที่อินเดียเข้าใจยากเพราะประกอบด้วยสังคมที่หลากหลาย เป็นชั้นเรียนอันดีเลิศแก่ผู้สนใจปรัชญา วัฒนธรรม และภูมิปัญญา แม้ว่าการเล่าเรื่องอินเดียไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของหนังสือเล่มนี้ แต่การยกตัวอย่างสังคมอินเดียเป็นกรณีศึกษาหลายต่อหลายครั้งทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องอินเดียไปโดยปริยาย หลักคิดสำคัญของอินเดียและการพัฒนาสมัยใหม่ ซึ่งนอกจากจะมีลักษณะขัดแย้งกับความเป็นอินเดียแบบดั้งเดิมหรือยั่งยืนอยู่หลายประการแล้ว ยังไม่ส่งผลดีต่อผู้คนส่วนใหญ่อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ความคิดหรือหลักปฏิบัติของคานธีซึ่งเป็นทางออกของปัญหาที่ดีเยี่ยม หรือการตอกย้ำซ้ำเติมปัญหาด้วยนโยบายด้านต่างๆ ในการพัฒนาสมัยใหม่ เช่น ข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอินเดีย การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ การปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยลิดรอนที่ดินของผู้ยากไร้ การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ การก่อปัญหาสุขภาวะใหม่ๆ ล้วนหาอ่านได้ในหนังสือเล่มนี้
หนังสือทุกเล่มของวันทนามีศักติจุดประกายความคิดของผู้อ่านเสมอ สาเหตุสำคัญมาจากประสบการณ์ตรงที่เธอได้ต่อสู้เพื่อเกษตรกรผู้ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการอุตสาหกรรม เธอคงต้องเชื่อด้วยว่าตัวเธอเองก็มีศักติจึงทำให้เธอหาญกล้าสู้รบปรบมือกับอำนาจขนานใหญ่อย่างรัฐบาลอินเดีย มอนซานโต้ (Monsanto) หรือคาร์กิลล์ (Cargill) วันทนาต้องเชื่อเรื่องศักติจริง เธอจึงสร้างนวธัญญา (Navdanya) เครือข่ายผู้เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์และผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ที่แพร่กระจายใน 16 มลรัฐในอินเดีย นวธัญญายังประสบความสำเร็จในการจัดตั้งชุมชนธนาคารเมล็ดพันธุ์ 65 แห่งในอินเดีย ฝึกอบรมเกษตรกรกว่า 500,000 ราย ในเรื่องอธิปไตยเมล็ดพันธุ์และอาหาร (Seed and Food Sovereignty) และช่วยจัดตั้งตลาดขายตรงระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภคเพื่อส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) แล้วตัวผู้อ่านเล่า ท่านตระหนักถึงศักติของท่านหรือยัง?
[con·tin·ue]
บทนำ: สามวิกฤต สามโอกาส (Triple Crisis, Triple Opportunity)
บทที่ 1: การเมืองว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Politics of Climate Change)
บทที่ 2: วัวศักดิ์สิทธิ์หรือรถยนต์ศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Cow or Sacred Car)
บทที่ 3: อาหารเพื่อคนหรือเพื่อรถยนต์ (Food for Cars or People)
บทที่ 4: ผืนดินไม่ใช่น้ำมัน (Soil Not Oil)
บทสรุป: ปลดปล่อยศักติ: พลังการเปลี่ยนแปลงของเรา (Unleashing Shakti: Our Power to Transform)
เกี่ยวกับผู้เขียน
ดร.วันทนา ศิวะ (Vandana Shiva: 1952-) เป็นนักคิดและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียงระดับโลก เป็นผู้นำในเวทีระหว่างประเทศว่าด้วยโลกาภิวัตน์ (International Forum on Globalization) ร่วมกับราฟ เนเดอร์ (Ralph Nader: 1934-) และเจรามี ริฟกิน (Jeremy Rifkin: 1945-) ได้รับรางวัลสัมมาอาชีวะ (Alternative Nobel Prize หรือ the Right Livelihood Award) ในปี 1993 เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิวิจัยเพื่อวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนิเวศวิทยา (The Research Foundation for Science, Technology and Ecology) และเป็นผู้อำนวยการองค์กรพัฒนาเอกชนนวธัญญา (Navdanya) เธอมีผลงานเขียนโดดเด่นหลายเล่ม อาทิ สงครามน้ำ: การเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากชุมชนสู่เอกชน มลพิษ และผลประโยชน์ (Water Wars: Privatization, Pollution and Profit, 2001) ปล้นผลิตผล: ปฏิบัติการจี้ยึดเสบียงอาหารโลก (Stolen Harvest: The Hijacking of the Global Food Supply, 2000) และประชาธิปไตยผืนดิน: ความยุติธรรม ความยั่งยืน และสันติภาพ (Earth Democracy: Justice, Sustainability and Peace, 2005) เป็นต้น เธอยังเป็นผู้นำในการประชุม International Forum on Globalization (IFG) และผู้นำขบวนการ Slow Food Movement ก่อนจะมาเป็นนักเคลื่อนไหว เธอเป็นนักฟิสิกส์ชั้นนำคนหนึ่งของอินเดีย
"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)
Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com