top of page

ประชาธิปไตยผืนดิน: ความยุติธรรม ความยั่งยืน และสันติภาพ (Earth Democracy: Justice, Sustainability an


ประชาธิปไตยผืนดิน: ความยุติธรรม ความยั่งยืน และสันติภาพ

แปลจาก Earth Democracy: Justice, Sustainability and Peace (2005)

เขียนโดย Vandana Shiva แปลโดยวิไล ตระกูลสิน สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา พิมพ์ครั้งทีหนึ่ง สิงหาคม 2553 จำนวน 288 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9786167368061

ผืนดินมิได้เป็นของมนุษย์ โลกของเราไม่ได้มีไว้ขาย น้ำของเราไม่ได้มีไว้ขาย เมล็ดพันธุ์และความหลากหลายทางชีวภาพไม่ได้มีไว้ขาย (Our world is not for sale, our water is not for sale, our seeds and biodiversity are not for sale) การตอบโต้การแปรรูปภายใต้ความคิดวิปลาสที่รู้จักกันในนามโลกาภิวัตน์ของบรรษัทก่อให้เกิดประชาธิปไตยผืนดิน โลกาภิวัตน์ของบรรษัทมองว่าโลกเป็นเพียงสิ่งที่ครอบครองได้และมองว่าตลาดขับเคลื่อนด้วยผลกำไรเท่านั้น

วาทกรรมว่าด้วยสังคมที่มีกรรมสิทธิ์ซ่อนปรัชญาที่เป็นปฏิปักษ์ต่อชีวิตของผู้ที่ปากก็เอ่ยคำขวัญสนับสนุนชีวิต แต่กลับแสวงหาการครอบครอง ควบคุมและผูกขาดของขวัญทั้งหมดจากโลกธรรมชาติและความสร้างสรรค์ทั้งหมดของมนุษย์แต่เพียงผู้เดียว ขบวนการปิดล้อมสาธารณสมบัติซึ่งเริ่มในอังกฤษก่อให้เกิดคนพลัดถิ่นนับล้าน ขณะที่ขบวนการปิดล้อมรั้วระยะแรกขโมยแต่ที่ดิน ปัจจุบันทุกแง่มุมของชีวิตโดนปิดล้อม ทั้งความรู้ วัฒนธรรม น้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ และบริการสาธารณะ เช่น สาธารณสุขและการศึกษา กรรมสิทธิ์ร่วมคือรูปแบบสูงสุดของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

จากสำนักพิมพ์

สำนักพิมพ์สวนเงินมีมารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้จัดพิมพ์หนังสือ 'ประชาธิปไตยผืนดิน' อันเป็นงานเขียนเล่มที่สามของวันทนา ศิวะ นับจากหนังสือ 'ปล้นผลิตผล' และ 'สงครามน้ำ' ที่สำนักพิมพ์ได้จัดพิมพ์ไปเมื่อหลายปีก่อน โดยเฉพาะเรื่อง 'ปล้นผลิตผล' ซึ่งเพิ่งมีการจัดพิมพ์ใหม่เป็นครั้งที่สองเมื่อเร็วๆ นี้ และเป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนและองค์กรที่ทำงานด้านอาหารเป็นอย่างมาก และมักได้รับการกล่าวอ้างอิงถึงอยู่บ่อยครั้ง วันทนานอกจากจะเป็นปากเป็นเสียงให้กับชาวนาหรือเกษตรกรรายย่อยโดยเฉพาะกับกลุ่มสตรีแล้ว เธอยังเป็นกำลังสำคัญของขบวนการเกษตรอินทรีย์ที่แข็งขัน แม้จะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านฟิสิกส์จากประเทศแคนาดา แต่เธอกลับให้ความสนใจในการถกเถียงอภิปรายถึงประเด็นเรื่องรากฐานความรู้และวิทยาศาสตร์แบบตะวันตก ดังเมื่อครั้งที่สำนักพิมพ์ได้เชิญเธอมาเปิดตัวหนังสือ 'ปล้นผลิตผล' ซึ่งได้จัดขึ้นพร้อมกับการประชุมภายใต้หัวเรื่อง 'การศึกษาและวิทยาศาสตร์องค์รวม วิธีการเข้าถึงความรู้แบบองค์รวมไม่เป็นวิทยาศาสตร์กระนั้นหรือ?' ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอได้แสดงทัศนะต่อเรื่องนี้อย่างน่าสนใจว่า "ถ้าความรู้ไม่เป็นองค์รวม ก็ไม่นับว่าเป็นความรู้"

ส่วนหนังสือเล่มที่สองเรื่อง 'สงครามน้ำ: การแปรรูปให้เป็นเอกชน มลพิษ และผลประโยชน์' ก็นับว่าเป็นหนังสือที่กระตุกมุมมองเช่นกัน ในหนังสือเล่มที่สาม 'ประชาธิปไตยผืนดิน: ความยุติธรรม ความยั่งยืน และสันติภาพ' เนื้อหายิ่งเพิ่มความเข้มข้น โดยเฉพาะการตั้งคำถามในเรื่องการแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ น้ำของเราถือเป็นสมบัติส่วนบุคคลของบรรษัทได้หรือไม่? ใครคือผู้ถือครองพื้นพิภพนี้? ทรัพย์สินสาธารณะที่จัดการโดยรัฐไม่ใช่ทางเลือกตราบที่ระบบประชาธิปไตยของเรายังไม่ทำงานเต็มที่ เธอจึงนำเสนอเรื่องทรัพย์สินร่วมซึ่งเป็นแนวคิดที่เกือบเลือนหายไป วันทนาได้ฉายภาพให้เห็นความสำคัญของเรื่องทรัพย์สินร่วม โดยเฉพาะต่อการอยู่รอดของชุมชนชนบทของเรา หากประชาธิปไตยผืนดินสามารถบังเกิดขึ้นได้จริง ทรัพย์สินทั้ง 3 รูปแบบคือ ทรัพย์สินส่วนบุคคลหรือเอกชน ทรัพย์สินสาธารณะที่รัฐจัดการ ทรัพย์สินร่วมก็จะถูกจัดสมดุลและได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายและโครงสร้างทางการเมืองที่นำไปสู่ความยุติธรรม ความยั่งยืน และสันติภาพ

คำนำ

หากศึกษาประวัติศาสตร์โลกในภาพรวมจะเห็นได้อย่างประจักษ์ชัดแจ้งว่าบนฐานความเชื่อในเรื่องของความก้าวหน้า มนุษยชาติประสบความสำเร็จในหลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสำรวจจักรวาล การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร หรือการเข้าถึงสินค้าและการบริการที่หลากหลายสำหรับชีวิตสมัยใหม่ เหล่านี้ต่างล้วนเป็นความก้าวหน้าทั้งสิ้น กระนั้นก็ตาม จะเห็นได้อย่างประจักษ์ชัดแจ้งด้วยว่าความก้าวหน้านี้มีด้านมืดที่อันตรายยิ่งและกำลังนำพามนุษยชาติไปสู่ความหายนะเช่นกัน เราอาจจะภูมิใจกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างตู้เอทีเอ็มหรือตู้ปรับสมุดเงินฝากเพราะนำความสะดวกมาให้เรา แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าตู้ทั้ง 2 ประเภทนี้ได้เข้าไปทำงานแทนที่คน ซึ่งนั่นหมายถึงอัตราการว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น ความก้าวหน้าของมนุษย์ในปัจจุบันกำลังกลายเป็นความขัดแย้งในตัวมันเอง นั่นคือในทางหนึ่งก้าวหน้า แต่ในขณะเดียวกันก็ย้อนกลับมาทำร้ายมนุษย์

ตัวอย่างของความก้าวหน้าที่ขัดแย้งกันเองยังเห็นได้ชัดอีกมากมาย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงไร่นาของชาวบ้านที่มีขนาดเล็กไปสู่ธุรกิจเกษตรกรรมขนาดใหญ่ หรือการเปลี่ยนแปลงความหลากหลายทางชีวภาพไปสู่การปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือการเปลี่ยนแปลงการครอบครองเมล็ดพืชของประชาชนไปสู่การครอบครองเมล็ดพืชของบรรษัท ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มน้อยเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจำต้องมองภายใต้บริบทของเศรษฐกิจการเมืองโลกแบบเสรีนิยมใหม่ หรือในที่นี้อาจจะเรียกว่าโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตและการบริโภคเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่สอดคล้องกับศาสนา ศีลธรรม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของหลายประเทศ

เท่าที่ผ่านมาเกือบจะ 4 ทศวรรษ โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจดังกล่าวได้ละเลยความสำคัญของสิ่งแวดล้อม เพิกเฉยต่อความหายนะของมนุษยชาติ ปฏิเสธความเหลื่อมล้ำในการกระจายทรัพยากร ไม่ใส่ใจกับกิจกรรมหลายประเภทที่มีค่าต่อสังคมแต่ไร้ค่าทางเศรษฐกิจ และล้มเหลวที่จะแก้ไขการพังทลายของชีวิตที่อยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน ผู้ซึ่งได้รับผลจากความสูญเสียของชุมชน วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยรวมแล้วโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบเศรษฐกิจ ประชาธิปไตย และวัฒนธรรมที่บำรุงเลี้ยงชีพของคน

เมื่อเศรษฐกิจการเมืองแบบคอมมิวนิสต์หรือทุนนิยมแบบสุดโต่งอย่างเสรีนิยมใหม่คือความหายนะ แล้วอะไรคือทางออกเล่า? สำหรับวันทนา ศิวะ ทางออกคือ Earth Democracy (ประชาธิปไตยผืนดิน) ในฐานะนักฟิสิกส์และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม วันทนาได้วิงวอนด้วยคำพูดที่เรียบง่ายแต่คมคายและลึกซึ้งเพื่อให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงวิถีเศรษฐกิจการเมืองที่กำลังทำลายล้างมนุษยชาติ วันทนานิยามประชาธิปไตยผืนดินไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนรากหญ้าที่ให้ความสำคัญกับคนและธรรมชาติเหนือกว่าการพาณิชย์หรือกำไร ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวก็เพื่อดำรงรักษาโลกที่หล่อเลี้ยงชีวิตเพื่อคนรุ่นถัดไป เสน่ห์ของงานเขียนประชาธิปไตยโลกอยู่ตรงที่ภูมิหลังทางการศึกษาและประสบการณ์ของผู้เขียน การนำเสนอ การใช้กรณีตัวอย่าง และการเสนอความคิดสำคัญทางสังคมศาสตร์ที่รองรับด้วยเหตุผล หลักฐาน และตัวอย่าง

สำหรับกรณีแรก วันทนาเป็นนักเขียนที่มีภูมิหลังทางการศึกษาด้านฟิสิกส์และมีประสบการณ์ในฐานะนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่เคยต่อสู้กับบรรษัทข้ามชาติและประเทศมหาอำนาจมาเป็นเวลายาวนาน การศึกษาและประสบการณ์ของเธอน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วันทนาเห็นความคิดเบื้องหลังของบรรษัทที่มีรัฐคอยสนับสนุน และเห็นชีวิตและโลกเป็นเรื่องขององค์รวมหรือในที่นี้คือทุกสิ่งเชื่อมโยงกันหมด ความเชื่อมโยงดังกล่าวถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน นั่นคือ เศรษฐกิจที่มีชีวิต ประชาธิปไตยที่มีชีวิต และวัฒนธรรมที่มีชีวิต ซึ่งหัวข้อทั้ง 3 ถูกเชื่อมร้อยเข้าหากันอย่างแหลมคมและสละสลวยภายใต้ร่มเงาของประชาธิปไตยผืนดิน

กรณีที่สองเด่นชัดมากเป็นพิเศษ เพราะวันทนานำเสนอเนื้อหาเรื่องความหายนะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันควบคู่ไปกับการเสนอประชาธิปไตยผืนดินในฐานะทางออก กล่าวอีกอย่างคือวิธีนำเสนอทำให้ผู้อ่านเห็นภาพและตรรกะเบื้องหลังการทำงานของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ก่อนจะเข้าใจว่าทางออกแบบประชาธิปไตยผืนดินนั้นแตกต่างอย่างไร ความกระจ่างชัดเจนในประเด็นนี้ส่วนหนึ่งมาจากเสน่ห์ส่วนที่สาม อันเกี่ยวกับการใช้กรณีศึกษาเพื่อยืนยันคำอธิบาย และส่วนดังกล่าวนี้ทำให้ผู้อ่านหลายคนเห็นได้ด้วยว่าประชาธิปไตยผืนดินไม่ใช่ฝันลมๆ แล้งๆ หากแต่พึงปฏิบัติได้จริง

ในกรณีสุดท้าย นอกจากวันทนาจะชี้ให้เห็นว่าโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจได้สร้างความหายนะแล้ว เธอยังนำเสนอคำอธิบายใหม่ต่อปรากฏการณ์ร่วมสมัยหลายประการได้อย่างน่าสนใจยิ่ง เช่นคำอธิบายว่าการริดลอนอัตลักษณ์และความเป็นอยู่ที่ดีเป็นเหตุผลเบื้องหลังของการก่อการร้าย นอกจากนั้นวันทนายังได้ท้าทายความคิดทางสังคมศาสตร์กระแสหลักในหลายประเด็นด้วยกัน ไม่ว่าจะเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือสังคมวิทยา ล้วนต้องนำเนื้อหาสาระของหนังสือเรื่องนี้ไว้เป็นบทเรียนสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา

นอกเหนือจากแวดวงวิชาการแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักการเมืองและผู้วางนโยบายซึ่งจะช่วยให้ท่านเข้าใจถึงความเชื่อมโยงของทุกสิ่งที่รวมเป็นนโยบายสาธารณะ หนังสือเล่มนี้จะทำให้ท่านเห็นด้วยว่าความ(ไม่)มั่นคงนั้นคืออะไรและอยู่ที่แห่งหนใด สำหรับนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม หรือเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ที่ดี หนังสือเล่มนี้ต้องถือเป็นหนังสือบังคับ สำหรับผู้สนใจประเทศอินเดีย ท่านจะเห็นภาพอื่นๆ นอกจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่วัดด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพราะแท้จริงแล้ว การพัฒนาของประเทศอินเดียมีประเด็นปัญหามากมาย รวมถึงความหายนะด้านความมั่นคงทางอาหารด้วย

[con·tin·ue]

บทนำ: หลักการของประชาธิปไตยผืนดิน (Principles of Earth Democracy)

ประชาธิปไตยผืนดินเป็นทั้งโลกทรรศน์ที่มีมาแต่โบราณและเป็นขบวนการทางการเมืองที่เกิดขึ้นเพื่อสันติภาพ ความยุติธรรม และความยั่งยืนที่กำลังเติบโตขึ้น ประชาธิปไตยผืนดินเชื่อมโยงสิ่งที่มีลักษณะเฉพาะกับสิ่งที่มีลักษณะทั่วไป ความแตกต่างหลากหลายกับความเหมือนและท้องถิ่นกับโลก รวมเอาสิ่งที่เราเรียกนอินเดียว่าครอบครัวโลก (วสุไธวะ กุฏมพกัม - vasudhaiva kuthumbkam) หรือชุมชนของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่โลกดูแล คนอเมริกันพื้นเมืองและวัฒนธรรมท้องถิ่นทั่วโลกเข้าใจ และมีประสบการณ์ชีวิตที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างเผ่าพันธุ์มนุษย์และเผ่าพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตอื่น ระหว่างชนรุ่นปัจจุบัน รุ่นอดีต และรุ่นอนาคต สุนทรพจน์ของหัวหน้าซีแอตเติล เผ่าซูคามิช (Suquamish) เมื่อปี ค.ศ. 1848 ได้จับใจความสำคัญนี้ไว้

"ท่านจะซื้อขายท้องฟ้า ความอบอุ่นของผืนดินได้อย่างไร ความคิดนี้แปลกสำหรับเรา หากเรามิได้เป็นเจ้าของความสดชื่นของอากาศและความสดใสของน้ำ ท่านจะซื้อมันได้อย่างไร ทุกส่วนของโลกนี้ศักดิ์สิทธิ์สำหรับคนของเรา ใบสนที่เปล่งประกายทุกใบ หาดทรายทุกหาด สายหมอกทุกสายในป่าทึบ ทุ่งโล่งทุกแห่ง และแมลงที่ร้องระงมทุกตัวคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในความทรงจำและประสบการณ์ของพวกเรา น้ำหล่อเลี้ยงที่ไหลซึมอยู่ในต้นไม้คือความทรงจำของเราชาวผิวแดง เรารู้ว่าผืนดินมิได้เป็นของมนุษย์ แต่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของผืนดิน เรารู้ว่าทุกสิ่งเกี่ยวข้องกันดังสายโลหิตที่เชื่อมโยงครอบครัวของเรา ทุกอย่างเกี่ยวข้องกัน"

บทที่ 1: เศรษฐกิจที่มีชีวิต (Living Economies)

บทที่ 2: ประชาธิปไตยที่มีชีวิต (Living Democracies)

บทที่ 3: วัฒนธรรมที่มีชีวิต (Living Cultures)

บทที่ 4: ประชาธิปไตยผืนดินในทางปฏิบัติ (Earth Democracy in Action)

อ้างอิง (Notes)

เกี่ยวกับผู้เขียน

ดร.วันทนา ศิวะ (Vandana Shiva: 1952-) เป็นนักคิดและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียงระดับโลก เป็นผู้นำในเวทีระหว่างประเทศว่าด้วยโลกาภิวัตน์ (International Forum on Globalization) ร่วมกับราฟ เนเดอร์ (Ralph Nader: 1934-) และเจรามี ริฟกิน (Jeremy Rifkin: 1945-) ในปี 1993 เธอได้รับรางวัลสัมมาอาชีวะ (Alternative Nobel Peace Prize หรือ the Right Livelihood Award) เธอเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิวิจัยเพื่อวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนิเวศวิทยา (The Research Foundation for Science, Technology and Ecology) และ National Resource Policy เธอเขียนหนังสือหลายเล่ม รวมทั้งเรื่อง Water Wars: Privatization, Pollution and Profit (2001), Protect or Plunder? Understanding Intellectual Property Rights (2001), Stolen Harvest: The Hijacking of the Global Food Supply (2000), Biopiracy: The Plunder of Nature and Knowledge (1997), Monocultures of the Mind (1993), The Violence of the Green Revolution (1992) และ Staying Alive (1989) ก่อนจะมาเป็นนักเคลื่อนไหว วันทนาเป็นนักฟิสิกส์ชั้นนำคนหนึ่งของอินเดีย

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page