top of page

นักแย่งยึดที่ดิน: การต่อสู้ครั้งใหม่ ใครคือเจ้าของผืนดิน (The Land Grabbers: The New Fight Over Who


นักแย่งยึดที่ดิน: การต่อสู้ครั้งใหม่ ใครคือเจ้าของผืนดิน

แปลจาก The Land Grabbers: The New Fight Over Who Owns the Earth (2012)

เขียนโดย Fred Pearce แปลโดยกิตติพล เอี่ยมกมล บรรณาธิการโดยชนิดา แบมฟอร์ด สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา พิมพ์ครั้งทีหนึ่ง เมษายน 2559 จำนวน 428 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9786167368733

การเสแสร้งว่าการเกษตรเชิงพาณิชย์รายใหญ่สามารถจะหรือแม้แต่ต้องการจะป้อนอาหารหล่อเลี้ยงชาวโลกนั้นเป็นเรื่องอันตรายยิ่ง การแย่งยึดที่ดินรูปแบบใหม่กำลังเกิดขึ้นไปทั่วโลก ด้วยความกลัวว่าอาหารจะขาดแคลนในอนาคต หรืออยากได้กำไรจากภาวะขาดแคลนนั้น ประเทศต่างๆ บรรษัททั้งหลาย และบุคคลมากมายที่มั่งคั่งที่สุดในโลกและต้องการครอบครองให้มากที่สุดได้ทำการกว้านซื้อและเช่าผืนดินกว้างใหญ่ในที่ต่างๆ รอบโลก ขนาดของที่ดินดังกล่าวน่าตกตะลึงพรึงเพริด ที่ดินหลายผืนที่กำลังถูกยึดครองตามทุ่งราบของแอฟริกา ตามทุ่งนาข้าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามป่าในอเมริกาใต้ และทุ่งหญ้าแพรรี่ของยุโรปตะวันออกนั้นมีขนาดเท่าประเทศขนาดย่อมๆ เลยทีเดียว บางคนมองว่าคำว่า นักแย่งยึดที่ดิน (Land Grabber) เป็นคำด่าประณาม แต่คำนี้ใช้กันในวงกว้าง ผู้เขียนเลือกใช้คำนี้ที่นี่เพื่อสื่อให้เห็นถึงการเข้าครอบครองสิทธิเหนือที่ดินขนาดใหญ่ทุกรูปแบบที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งโดยชาวต่างชาติหรือคนนอกอื่นๆ ไม่ว่าสถานะทางกฎหมายของธุรกรรมที่ดินนั้นจะเป็นเช่นไร มันไม่ได้เลวร้ายเสียทั้งหมด แต่ทั้งหมดที่เกิดขึ้นสมควรได้รับความสนใจ

ในหนังสือ 'นักแย่งยึดที่ดิน (The Land Grabbers)' นักหนังสือพิมพ์มืออาชีพอย่างเฟรด เพียร์ซ (Fred Pearce) นำเสนอเรื่องจริงชวนตกตะลึงแบบที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน เขาเปิดเผยขนาดของที่ดินที่ถูกแย่งยึดไปและต้นทุนที่มนุษย์ต้องจ่ายกับการถูกแย่งยึดที่ดินซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและจริยธรรมที่ร้ายแรงที่สุดที่กำลังประจันหน้ากับโลกในศตวรรษที่ 21 อย่างทั่วถึง ในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า การแย่งยึดที่ดินอาจสำคัญมากกว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสำหรับผู้คนบนโลกจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ การแย่งยึดที่ดินจะกระทบต่อทั้งผู้บริโภคและไม่บริโภค กระทบต่อผู้ที่รวยขึ้นและจนลง และมีผลไปถึงว่าสังคมการเกษตรจะสามารถดำรงอยู่ได้นอกการควบคุมของบรรษัทหรือไม่ นี่คือสนามรบแห่งใหม่ว่าใครจะเป็นเจ้าของโลกนี้

"นี่คือสิ่งที่โลกกำลังเฝ้ารอมาตลอด หนังสือที่ให้ความรู้อย่างละเอียดเกี่ยวกับขบวนการแย่งยึดที่ดิน ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่สุดว่าภูมิรัฐศาสตร์ด้านอาหารซึ่งยังเป็นเรื่องใหม่นี้มีอยู่จริง" - เลสเตอร์ บราวน์ (Lester Russel Brown: 1934-) ประธานของ Earth Policy Institute และผู้เขียน World on the Edge: How to Prevent Environmental and Economic Collapse (2010)

จากสำนักพิมพ์

หนังสือ 'นักแย่งยึดที่ดิน (The Land Grabbers)' ของนักข่าวอาวุโส เฟรด เพียร์ซ (Fred Pearce) เล่มนี้แม้จะเขียนในแบบง่ายๆ ไม่จริงจัง แต่กลับเผยข้อเท็จจริงเรื่องการแย่งยึดที่ดินอย่างหนักแน่นและถึงแก่น การเขียนวิเคราะห์ของเขาทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวและกระตุ้นความคิดได้มากกว่าที่นักวิชาการหรือองค์กรภาคสังคมจะทำได้เสียอีก เขาสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้อย่างน่าตื่นเต้น และด้วยประสบการณ์อันช่ำชองของเขา เพียร์ซค่อยๆ นำพาผู้อ่านไปรับรู้ชะตากรรมอันน่าเศร้าสลดใจอันไม่อาจหลีกพ้นได้ และส่งผลอย่างสำคัญต่อชีวิตจากการแย่งยึดที่ดินที่กำลังดำเนินอยู่ในยุคสมัยของเรา

ในฐานะที่บริษัทสวนเงินมีมา ผู้ประกอบการสังคม เป็นสำนักพิมพ์แนวคิดใหม่ได้เคยนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับเรื่องการแย่งยึดที่ดินในหลายวาระ อาทิ การจัดเวทีนานาชาติเพื่อการแลกเปลี่ยนในประเด็น 'คิดใหม่เรื่องทรัพย์สิน หนทางสู่ภาพสังคมในอนาคตที่ช่วยให้คนมีความเป็นอยู่ที่ดี (Re-thinking Property, Pathway to the Wellbeing Society Scenario?)' ในปี 2554 โดย School for Wellbeing Studies and Research ซึ่งได้ร่วมก่อตั้งโดยบริษัทสวนเงินมีมา ผู้ประกอบการสังคม ในการประชุมดังกล่าวนี้มีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องทรัพย์สินร่วมจากหลายภูมิภาคทั่วเอเชียได้มาช่วยกันค้นหากระบวนทัศน์ใหม่ที่จำเป็นเพื่อส่งผลนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกรอบคิดเรื่องความเป็นเจ้าของที่สร้างปัญหาในทางทำลายอยู่ในปัจจุบัน กรอบคิดที่ดำรงอยู่นี้กระตุ้นให้การแสวงหากำไรของบรรษัทเติบใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ จนมีอิทธิพลครอบงำทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยการแสวงหาสัมปทานจากภาครัฐเพื่อปูทางสู่ความเป็นเจ้าของ หรือการเข้ายึดที่ดินจากเกษตรกรที่ติดหนี้สินและไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า นอกจากจำต้องขายที่ดินทำกินของตนเองเพื่อปลดปล่อยภาระหนี้สิน

นอกจากนั้น บริษัทสวนเงินมีมายังได้ริเริ่มโครงการเครือข่ายเกษตรอินทรีย์เอเชีย (Towards Organic Asia: TOA) โดยโครงการนี้ได้ร่วมในงานวิจัยกับมูลนิธิชีวิตไท (Local Act) องค์กรพัฒนาเอกชนที่ขับเคลื่อนเรื่องการสูญเสียที่ทำกินของเกษตรกรและการแย่งยึดที่ดินที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รูปแบบของเกษตรอุตสาหกรรมที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันเกือบจะนิยามได้เลยว่าเป็นเกษตรกรรมที่ผลักภาระและสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม การผลักภาระสู่ปัจจัยภายนอกหรือสิ่งแวดล้อมนี้ อาทิ ปัญหาหน้าดินเสื่อมคุณภาพอันเนื่องมาจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างเข้มข้นและสะสมเป็นเวลานานๆ น้ำเสียจากการปนเปื้อนสารเคมี อากาศเป็นพิษจากการฉีดพ่นยากำจัดศัตรูพืช เป็นต้น ส่วนการค้าขายด้วยรูปแบบเกษตรพันธสัญญาก็คือหลุมพรางที่นำไปสู่การสูญเสียที่ดินของเกษตรกร และปิดฉากด้วยการกลายเป็นแรงงานไร้ที่ทำกินในที่สุด

แนวโน้มของสถานการณ์ด้านการแย่งยึดที่ดินที่เกิดขึ้นในประเทศไทยกำลังเกิดขึ้นอยู่ในทุกขณะตามที่ต่างๆ อยู่ทั่วทุกมุมโลก การฉกฉวยที่ทำกินของชาวบ้านในนามของสัมปทานเพื่อการพัฒนาก็ดี ระบบการค้าแบบทุนนิยมผูกขาดก็ดี วิธีการเหล่านี้กำลังรุกคืบไปในทุกหนแห่ง แม้การคลี่คลายปัญหาดูเหมือนว่าจะทำได้ยากและไม่สามารถแก้ไขได้ในเร็ววันก็จริง แต่แทนที่จะยอมจำนนหรือละทิ้งความพยายามเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่นี้ หากกลับไปมองในภาพรวมจากกระบวนการต่างๆ ที่กำลังก่อตัวขึ้นในหลายแห่งก็จะช่วยให้เกิดการวิเคราะห์เข้าใจปัญหา และในหลายๆ กรณีก็นำมาสู่ทางเลือกใหม่ๆ ที่น่าหนุนเสริม อาทิ กระบวนการขับเคลื่อนสังคมในเรื่องทรัพย์สินร่วม ทั้งที่นำโดยวันทนา ศิวะ (Vandana Shiva: 1952-) ในเรื่องการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ในหมู่เกษตรกรรายย่อย และราชโคปาล พี.วี. (Rajagopal Puthan Veetil: 1948-) ที่นำขบวนชาวนาอินเดียไร้ที่ทำกินเดินเท้ายาตราเพื่อสร้างเสริมพลังและหลายกรณีก็ได้ช่วยคลี่คลายปัญหาที่ทำกินให้กับชาวนา นักกิจกรรมสังคมรุ่นใหม่และองค์กรทางสังคม เช่น เอ็กต้า ปาริฉัตร (Ekta Parishad) กำลังขับเคลื่อนสังคมในประเด็นเหล่านี้อย่างมีพลัง รวมทั้งแนวคิดเรื่องผู้ดูแลร่วมกัน (Trusteeship) ที่นำโดยวีระมันตรี (Weeramantry) จากประเทศศรีลังกา ผู้คนที่เอ่ยนามมานี้และอีกมากมายได้พยายามหาหนทางและหน้าต่างอันจะเปิดไปสู่การนำเสนอความคิดความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับประเด็นความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินที่ไม่ได้ให้สิทธิเฉพาะผู้เป็นเจ้าของ หมายถึงความรับผิดชอบต่ออนาคตของคนรุ่นต่อๆ ไปร่วมกัน

สำนักพิมพ์สวนเงินมีมาจะพยายามนำเสนอประเด็นเรื่องทรัพย์สินร่วมและปัญหาการแย่งยึดที่ดิน รวมทั้งทางเลือกทางออกที่สร้างสรรค์ต่อไป โดยจะร่วมกับ School for Wellbeing จัดเวทีประชุมแลกเปลี่ยนเพื่อนำมาสู่การคิดทบทวนเรื่องทรัพย์สิน การสร้างกรอบแนวคิดใหม่ในเรื่องความเป็นเจ้าของจะช่วยให้มนุษย์ฝ่าฟันความท้าทายที่เผชิญอยู่ในศตวรรษที่ 21 ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำ การสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดินที่ทำลายความมั่นคงด้านอาหาร ความเข้าใจที่เกิดจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนในวาระต่างๆ เชื่อได้ว่าสังคมอย่างที่เราปรารถนาก็จะเป็นจริงขึ้นได้

คำนำ โดยพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)

สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการถูกแย่งยึดที่ดินจากใครบ้าง และพวกเขาครอบครองที่ดินไปแล้วมากน้อยแค่ไหน นี่น่าจะเป็นคำถามที่หลายคนตั้งข้อสงสัยเมื่อได้อ่านหนังสือ 'นักแย่งยึดที่ดิน' เล่มนี้ คำตอบสำหรับประเทศไทยก็ไม่ต่างจากที่เฟรด เพียร์ซ กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ที่ว่า ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าผืนแผ่นดินแห่งนี้ได้ถูกยึดไปแล้วจำนวนเท่าใด

ในระดับโลกมีตัวเลขประมาณการจากอ็อกแฟม (Oxfam) องค์กรความช่วยเหลือเอกชน ว่าที่ดินราว 560 เอเคอร์ (ราว 1,400 ล้านไร่ หรือมากกว่าสี่เท่าของพื้นที่ประเทศไทย) ได้ถูกแย่งยึดไปแล้วจากมหาเศรษฐีทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทย ผู้ตรวจการแผ่นดินเคยเปิดเผยไว้เมื่อปี 2555 ว่าที่ดินในประเทศไทยราว 100 ล้านไร่ (หนึ่งในสามของประเทศ) อยู่ในมือของคนต่างชาติในรูปแบบของนิติกรรมอำพราง

การเปิดเผยสถานการณ์การแย่งยึดที่ดินที่เกิดขึ้นทั่วโลกของเพียร์ซในหนังสือเล่มนี้ถือว่ามีความสำคัญและเป็นข้อมูลที่น่าตกใจยิ่ง เพราะมีเกษตรกรและคนยากจนจำนวนมากถูกอพยพโยกย้ายออกจากถิ่นที่อยู่อาศัย กลายเป็นคนไร้ที่ดินและแรงงานรับจ้างที่มีเพียงค่าแรงอันน้อยนิดประทังชีวิต ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม นี่เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมการคุกคาม สร้างความเดือดร้อน ที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันเอง กระทำต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า

ในประเทศไทยเอง สถานการณ์การแย่งยึดที่ดินเกิดขึ้นมาโดยตลอด และรุนแรงมากยิ่งขึ้นในช่วงวิกฤตอาหารโลกในปี 2551 ที่ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นำมาสู่การกว้านซื้อที่ดินจำนวนมากในพื้นที่ภาคกลางที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีแหล่งน้ำชลประทานจากคนนอกทั้งในและต่างประเทศ ในปี 2556 ดร.ดวงมณี เลาวกุล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่ามีผู้ถือครองที่ดินในประเทศไทยสูงถึง 630,000 ไร่ ซึ่งเป็นเพียงที่ดินประเภทโฉนด ยังไม่รวมถึงที่ดินเอกสารสิทธิ์ประเภทอื่น การแย่งยึดที่ดินในประเทศไทยไม่ได้มีรูปแบบเพียงการกว้านซื้อที่ดินจากนักลงทุนและมหาเศรษฐีทั้งในและต่างประเทศเท่านั้น ปัจจุบันการแย่งยึดที่ดินมีรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น นโยบายการพัฒนาประเทศและโครงการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ๆ ส่งผลกระทบต่อการแย่งยึดที่ดินของเกษตรกร คนจน และชนพื้นเมืองเป็นพื้นที่ในวงกว้าง ไม่แพ้การกว้านซื้อที่ดินจากมหาเศรษฐีด้วยเช่นกัน

นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจเหล่านี้ได้แก่ การกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษบนพื้นที่ทำกินของเกษตรกรรายย่อย การกำหนดเขตป่าของรัฐในที่ทำกินของคนยากจนและชนพื้นเมืองที่ห่างไกล การขยายพื้นที่สัมปทานเหมืองแร่และอื่นๆ อีกมาก แม้จะถูกเรียกว่าเป็นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ในอีกด้านหนึ่ง โครงการเหล่านี้กลับเป็นภัยคุกคามเพราะสร้างความเดือดร้อน แย่งยึดที่ดินของประชาชน ทำให้คนชนบทและคนชายขอบต้องอพยพโยกย้ายจากถิ่นที่อยู่อาศัยและที่ทำมาหากิน กลายเป็นแรงงานรับจ้างไร้ที่ดิน ไม่มีอนาคต และมีชะตากรรมไม่แตกต่างจากเกษตรกรทั่วโลกที่ถูกกล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้

มองในมุมกว้าง การแย่งยึดที่ดินนอกจากจะมีรูปแบบเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ยังมีรูปแบบที่ผ่อนส่งให้เกิดขึ้นช้าๆ ด้วยการแย่งยึดการใช้ประโยชน์ที่ดินไปจากประชาชน เปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูกจากพืชอาหารของครอบครัวเป็นพืชเศรษฐกิจและพืชพลังงานที่เกษตรกรและคนจนบริโภคไม่ได้ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด หรือแม้แต่ข้าวสายพันธุ์ที่ชาวนาปลูกขายแต่ไม่บริโภคเอง แม้จะไม่ถูกแย่งยึดที่ดินอย่างฉับพลัน แต่เกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจเหล่านี้มักเดินอยู่บนเส้นทางของการขาดทุนซ้ำซาก มีหนี้สินท่วมตัว และต้องขายที่ดินเพื่อใช้หนี้ ถือเป็นการแย่งยึดที่ดินโดยระบบเศรษฐกิจและระบบการผลิตที่ไม่ยั่งยืน

บทเรียนจากหนังสือเล่มนี้บอกไว้ว่า การแย่งยึดที่ดินไม่ได้เกิดขึ้นจากมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่ต้องการยึดครองที่ดินราคาถูกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นได้เพราะความทะยานอยากของรัฐบาลประเทศเจ้าบ้านที่ต้องการเงินลงทุนมหาศาลในโครงการขนาดใหญ่ จึงเชื้อเชิญและมอบข้อเสนอที่ดินราคาถูกให้กับนักลงทุนต่างชาติ นี่น่าจะเป็นบทเรียนที่มีค่าสำหรับผู้กำหนดนโยบายในประเทศไทยที่จะไม่เดินรอยตามประเทศเหล่านี้ ที่เอาความจริงคือ การทอดทิ้งเกษตรกรรายย่อยให้เผชิญกับความทุกข์ยากไปแลกกับความฝันที่ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้นซึ่งมันไม่เคยเป็นเช่นนั้น หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรยากจน และก่อให้เกิดความตระหนักในกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อคนจน และประชาชนผู้สนใจในประเด็นการแย่งยึดที่ดินและปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้กำหนดนโยบายที่ดินการเกษตรและสิ่งแวดล้อมที่เป็นกุญแจสำคัญ เพื่อที่ว่าในอนาคตข้างหน้าเราจะยังหวังได้ว่าลูกหลานของเกษตรกรไทยจะสามารถมีที่ดินเป็นของตนเอง มีวิถีชีวิตและวิถีการผลิตที่ภาคภูมิใจ มีศักดิ์ศรี และมีความเป็นไท

[con·tin·ue]

บทนำ (Introduction)

ตอนที่หนึ่ง สงครามที่ดิน (Land Wars)

บทที่ 1 กัมเบลลา เอธิโอเปีย: โศกนาฏกรรมของทรัพยากรร่วม (Gambella, Ethiopia: Tragedy in the Commons)

บทที่ 2 ชิคาโก สหรัฐอเมริกา: ราคาของอาหาร (Chicago, U.S.A.: The Price of Food)

บทที่ 3 ซาอุดิอาระเบีย: การหว่านเงินปิโตรดอลลาร์ (Saudi Arabia: Plowing in the Petrodollars)

บทที่ 4 ซูดานใต้: ขึ้นไปตามลำน้ำไนล์กับเหล่านายทุนแห่งกลียุค (South Sudan: Up the Nile with the Capitalists of Chaos)

ตอนที่สอง คนขาวในแอฟริกา (White Men in Africa)

บทที่ 5 ที่ลุ่มชุ่มน้ำยาลา เคนยา: โดมิเนียนของชายคนหนึ่ง (Yala Swamp, Kenya: One Man;s Dominion)

บทที่ 6 ไลบีเรีย: คำสาปแห่งทรัพยากร (Liberia: The Resource Curse)

บทที่ 7 ปาล์มเบย์ ไลบีเรีย: การกลับมาของปาล์มน้ำมัน (Palm Bay, Liberia: Return of the Oil Palm)

บทที่ 8 ลอนดอน อังกฤษ: ชุดสูทลายทางกับคราด (London, England: Pinstripes and Pitchforks)

ตอนที่สาม ข้ามโลก (Across the Globe)

บทที่ 9 ยูเครน: เลเบนสเราม์ (Ukraine: Lebensraum)

บทที่ 10 บาเยียตะวันตก บราซิล: ดินแดนถั่วเหลือง (Western Bahia, Brazil: Soylandia)

บทที่ 11 ชาโค ปารากวัย: วันสิ้นโลกของชาโค (Chaco, Paraguay: Chaco Apocalyptico)

บทที่ 12 ละตินอเมริกา: ผู้พิชิตรายใหม่ (Latin America: The New Conquistadors)

บทที่ 13 ปาตาโกเนีย: ดินแดนสุดท้ายของโลก (Patagonia: The Last Place on Earth)

บทที่ 14 ออสเตรเลีย: ใต้ร่มเงาต้นคูลิบาห์ (Australia: Under the Shade of a Coolibah Tree)

ตอนที่สี่ ลานหลังบ้านของจีน (China's Backyard)

บทที่ 15 สุมาตรา อินโดนีเซีย: ป่นป่าทึบเป็นเยื่อกระดาษ (Sumatra, Indonesia: Pulping the Jungle)

บทที่ 16 ปาปัวนิวกินี: เกาะที่เป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง (Papua New Guinea: A Truly Wild Island)

บทที่ 17 กัมพูชา: ความหวานอันขมขื่น (Cambodia: Sweet and Sour)

บทที่ 18 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: เมื่อยางออกสู่ถนนไปเมืองจีน (Southeast Asia: Rubber Hits the Road to China)

ตอนที่ห้า แอฟริกาในฝัน (African Dreams)

บทที่ 19 มาไซแลนด์ แทนซาเนีย: สถานที่ของคนขาว (Maasailand, Tanzania: The White People's Place)

บทที่ 20 แอฟริกาใต้: การแย่งยึดสีเขียว (South Africa: Green Grab)

บทที่ 21 แอฟริกา: การเดินทางที่ยิ่งใหญ่ครั้งที่สอง (Africa: The Second Great Trek)

บทที่ 22 โมซัมบิก: ฟองสบู่เชื้อเพลิงชีวภาพ (Mozambique: The Biofuels Bubble)

บทที่ 23 ซิมบับเว: บนช่องทางเร่งด่วน (Zimbabwe: On the Fast Track)

ตอนที่หก การล้อมรั้วแห่งสุดท้าย (The Last Enclosure)

บทที่ 24 แอฟริกากลาง: กฎแห่งป่า (Central Africa: Laws of the Jungle)

บทที่ 25 ดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำไนเจอร์ตอนใน มาลี: การแย่งชิงน้ำในแอฟริกาตะวันตก (Inner Niger Delta, Mali: West African Water Grab)

บทที่ 26 บาเดีย จอร์แดน: บนผืนดินของส่วนรวม (Badia, Jordan: On the Commons)

บทที่ 27 ลอนดอน อังกฤษ: การป้อนอาหารเลี้ยงชาวโลก (London, England: Feeding the World)

หมายเหตุว่าด้วยแหล่งข้อมูล (Notes on Sources)

เกี่ยวกับผู้เขียน

เฟรด เพียร์ซ (Fred Pearce) เป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์มือรางวัลผู้อาศัยอยู่ในลอนดอน เขาเคยรายงานเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ และการพัฒนาใน 67 ประเทศตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีผลงานเขียนหลายเล่ม รวมไปถึงเรื่อง The Coming Population Crash: And Our Planet's Surprising Future (2010), Confessions of an Eco-Sinner: Tracking Down the Sources of My Stuff (2008), With Speed and Violence: Why Scientists Fear Tipping Points in Climate Change (2007) และ When the Rivers Run Dry: Water--The Defining Crisis of the Twenty-first Century (2006)

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page