top of page

ผู้นำกับวิทยาศาสตร์ใหม่: การค้นพบระเบียบในโลกไร้ระเบียบ (Leadership and the New Science: Discovering


ผู้นำกับวิทยาศาสตร์ใหม่: การค้นพบระเบียบในโลกไร้ระเบียบ

แปลจาก Leadership and the New Science: Discovering Order in a Chaotic World (1999)

เขียนโดย Margaret J. Wheatley แปลโดยเพชรรัตน์ พงษ์เจริญสุข รัชดา อิสระเสนารักษ์ และวิชิต เปานิล บรรณาธิการโดยวิศิษฐ์ วังวิญญู และเนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์ สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา พิมพ์ครั้งทีหนึ่ง มกราคม 2550 จำนวน 367 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789748822372

ผู้นำทางในเวลาอันสับสนอลหม่าน

เราอาศัยอยู่ในห้วงเวลาแห่งความไร้ระเบียบ หากแต่รุ่มรวยด้วยโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ โลกใบใหม่กำลังก่อกำเนิดขึ้น เราต้องการความคิดใหม่ วิธีการมองใหม่ และความสัมพันธ์อย่างใหม่ที่จะช่วยเราในขณะนี้ วิทยาศาสตร์ใหม่คือการค้นพบใหม่ในทางชีววิทยา ทฤษฎีไร้ระเบียบ และควอนตัมฟิสิกส์กำลังเปลี่ยนความเข้าใจของเรา ช่วยอธิบายให้เราเข้าใจว่าความไร้ระเบียบเป็นเรื่องธรรมชาติและเป็นสิ่งที่ได้มาเปล่า ทั้งยังแสดงให้เห็นข่ายใยอันซับซ้อนของความร่วมไม้ร่วมมือที่เชื่อมโยงเราเข้าไว้ด้วยกัน และให้ความมั่นใจแก่เราว่าชีวิตนั้นแสวงหาความเป็นระเบียบ แต่ใช้ความสับสนวุ่นวายเพื่อเป็นสื่อนำทาง

สัมพันธภาพเป็นฐานของการจัดการหน่วยแห่งชีวิต ไม่ใช่ปัจเจกผู้โดดเดี่ยว ความไร้ระเบียบและการเปลี่ยนแปลงเป็นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง การมีส่วนร่วมและความร่วมมือคือสาระสำคัญของความอยู่รอดของเราในโลกที่อิงอาศัยกันนี้ ความเป็นระเบียบคือสิ่งธรรมชาติ แต่ไม่สามารถหาได้จากวิธีการเดิมที่ใช้การควบคุม

จากสำนักพิมพ์

ประเด็นผู้นำกับการเรียนรู้ ขณะนี้เราจะพบว่ามีการพูดคุยกันมากขึ้นในเรื่องสังคมแห่งการเรียนรู้ จึงมีประเด็นว่าเรียนรู้อะไร อย่างไร และนำพาสังคมหรือองค์กรของเราไปในทิศทางไหน ขณะเดียวกันก็ได้มีการส่งสัญญาณหลายอย่างออกมาซึ่งแตกต่างกันไป อาทิ เรื่องความก้าวหน้า ความสำเร็จ ความร่ำรวย ขณะที่ก็มีเรื่องของความพอเพียง คุณธรรม ความสุข(ที่แท้) อาจกล่าวได้ว่าในห้วงเวลานี้สังคมมีการส่งข้อมูลข่าวสารอย่างมากมายหลากหลาย และอาจจะมีความขัดแย้งกันเองก็ว่าได้ ขณะเดียวกันเราก็ตระหนักมากขึ้นว่าเราไม่สามารถฝากความหวังไว้แต่เฉพาะผู้นำนัยแบบเดิมๆ หากต้องสร้างผู้นำในความหมายใหม่ที่มีนัยของการส่งเสริมให้เราทุกคนมีศักยภาพแห่งการเป็นผู้นำ สังคมจึงจะมีความหวังที่แท้จริงได้

หนังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนของ ดร.มาร์กาเร็ต วีตเลย์ (Margaret J. Wheatley) ซึ่งเป็นเล่มที่สองที่สำนักพิมพ์สวนเงินมีมาได้จัดพิมพ์ต่อจากเรื่องหันหน้าเข้าหากัน (Turning to One Another, 2002) หนังสือที่ติดอันดับขายดีในสหรัฐอเมริกา เนื้อหาของหนังสือนอกจากจะเหมาะกับผู้ที่สนใจในประเด็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) แล้ว ยังเหมาะกับผู้ที่ศึกษาเรื่องความรู้อย่างใหม่ วิทยาศาสตร์ใหม่ที่ผสมผสานโลกของวิทยาศาสตร์เข้ากับมิติทางสังคมซึ่งเกี่ยวโยงกับประเด็นของความสัมพันธ์ ความขัดแย้ง หรือความแตกต่างหลากหลายที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ และนำมาสู่ความร่วมมือกัน หากเรามีผู้นำที่ตระหน่ักถึงความยั่งยืนในระยะยาวและเห็นถึงความจำกัดของการมองสั้น คิดแคบ หนังสือนี้ก็คงเหมาะให้เกิดการเปิดวิสัยทัศน์ใหม่ที่ว่านี้

คำนำ โดยวิศิษฐ์ วังวิญญู

'ผู้นำกับวิทยาศาสตร์ใหม่: การค้นพบระเบียบในโลกไร้ระเบียบ' อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ชีวิตและการงานของคุณจะไม่เหมือนเดิม เมื่อเร็วๆ นี้มีหนังสือของ ดร.มาร์กาเร็ต วีตเลย์ ออกไปหนึ่งเล่มแล้ว นั่นคือ 'หันหน้าเข้าหากัน (Turning to One Another)' เล่มนั้นคือความงามของการใช้ภาษาอันไพเราะและสัจธรรมง่ายๆ ของการหันหน้าเข้าหากัน ซึ่งมนุษย์ได้หันหลังให้กับสัจธรรมง่ายๆ นี้มานาน และได้สร้างสมปัญหามาเป็นภูเขาเลากา หนังสือเล่มนี้ก็เป็นสุดยอดอีกเล่มหนึ่งของการประมวลองค์ความรู้ทั้งหมดในการพลิกกระบวนทัศน์ของวีตเลย์ในการบริหารจัดการ

ดร.ปีเตอร์ เซงเก (Peter Michael Senge: 1947-) ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ทำงานด้านพลิกกระบวนทัศน์ในการบริหารจัดการ หนังสือของเขาคือ 'The Fifth Discipline: The Art and Practice of the Learning Organization (1990)' ไม่ทราบว่ามีใครแปลไทยหรือยัง มันคือวินัยทั้งห้าเพื่อการบริหารจัดการแบบใหม่แบบวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ เราจะเห็นความแตกต่างระหว่างหนังสือสองเล่มที่พูดถึงเรื่องเดียวกัน คือการพลิกกระบวนทัศน์ในการบริหารจัดการ คนหนึ่งเป็นชาย มีหนังสือหนาตึ้กออกมาหนึ่งเล่ม อีกคนหนึ่งเป็นหญิง มีหนังสือบางๆ ออกมาหนึ่งเล่ม คนหนึ่งเขียนตำรับตำราอ้างอิงได้ อีกคนหนึ่งกำลังลำเลียงภาษากวีอันไพเราะออกมาอย่างอ่อนหวาน หากมีพลังสั่นไหวสะเทือนถึงขั้วหัวใจ

แม้หนังสือเล่มนี้จะไม่ใช่หนังสือที่อ่านได้ง่ายนัก เมื่อเทียบกับ 'หันหน้าเข้าหากัน (Turning to One Another)' ของเธอ แต่มันก็อาจจะเป็นหนังสือที่จำเป็นจะต้องอ่านเล่มหนึ่ง ถ้าต้องการพลิกกระบวนทัศน์ในการบริหารจัดการ ในการเป็นผู้นำไม่ว่าจะเป็นสนามไหนๆ ก็ตาม คือไม่ใช่เฉพาะธุรกิจ หากรวมถึงงานราชการและเอ็นจีโอ ที่ว่าพลิกกระบวนทัศน์ก็คือเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้แล้วชีวิตจะไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตในการทำงาน การเป็นผู้นำ หรือแม้แต่ชีวิตแห่งความสัมพันธ์ในครอบครัวก็ตาม

เมื่อผมอยู่โรงเรียนเตรียมอุดม เวลานั้นห้องสมุดเอยูเออยู่ใกล้โรงเรียน คืออยู่ที่ถนนราชดำริ ตอนเย็นๆ ผมจะไปขลุกอยู่ในห้องสมุดนั้น ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์สำหรับคนศึกษาศิลปศาสตร์หรือ Liberal Arts คือวิทยาศาสตร์สำหรับคนที่ไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์โดยตรง ผมรู้สึกดีกับหนังสือเล่มนั้นมากๆ นี่คือจุดเริ่มต้นของความเชื่อมโยง ทำไมเราจะเก็บกักความรู้ความดีงามไว้ในตรอกซอยแคบๆ ของคำว่าความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แล้วการรอบรู้ รู้กว้าง เพื่อเข้าใจโลกอย่างเชื่อมโยงและเป็นองค์รวมจะเป็นอย่างไร ถ้าเราพากันศึกษาเฉพาะทางอย่างแคบๆ เท่านั้น ก็การเข้าใจวิทยาศาสตร์ใหม่หรือวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่นี่แหละที่จะคัดค้านการรู้แคบ การแยกตัวอย่างโดดเดี่ยว เพราะทุกสรรพสิ่งเชื่อมโยงถึงกัน พัวพันนัวเนีย สอดแทรกอยู่ในกันและกัน ในมิติของวิทยาศาสตร์ใหม่ เราจะไม่โง่งมอยู่ในลิ้นชักหนึ่งใดอีกแล้ว หากเราจะเป็นตู้ทั้งใบได้

เมื่อได้อ่านวิทยาศาสตร์จากมุมมองของศิลปศาสตร์ื มันทำให้เรื่องที่ยากเข้าใจได้ง่ายขึ้น มันทำให้เห็นความเชื่อมโยง มันทำให้เห็นมิติของประวัติศาสตร์ความรู้ของมวลมนุษยชาติ มันทำให้เราได้เห็นที่ทางของวิทยาศาสตร์ในสังคมมนุษย์ได้ชัดเจนขึ้น และมันมีความหอมหวานบางอย่างของการได้อ่านวิทยาศาสตร์จากมุมมองของคนที่ไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ แล้วถ้าเราได้อ่านการพลิกกระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์โดยที่ปรึกษาธุรกิจที่คร่ำหวอดในวงการธุรกิจของประเทศที่ใหญ่ยิ่งคือสหรัฐอเมริกา และที่สำคัญคือเธอเป็นผู้หญิงด้วย เราจะรู้สึกอย่างไร ผู้หญิงในมิติที่เป็นศิลปศาสตร์ อันเป็นความรู้สึกเบาสบาย ไม่ต้องเขย่งขาอ่านวิทยาศาสตร์ที่เขียนอยู่ในภาษาของวิทยาศาสตร์ แต่เป็นวิทยาศาสตร์ที่เขียนอยู่ในภาษาของศิลปศาสตร์ เขียนด้วยภาษากวีอันไพเราะแบบวีตเลย์ แน่นอนเรื่องราวของมันอาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะต้องหันมามองเรื่องราวเดิมๆ ใหม่อย่างไม่เหมือนเดิม นั่นคือความแตกต่างของมุมมอง แต่ผลได้จากการมองที่แตกต่างนี้น่าพิสมัยยิ่งนัก มันคุ้มค่าเกินคุ้มกับการลงทุนพยายามเข้าใจอะไรบางอย่างที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อน และสำหรับคนที่ชื่นชอบกับการศึกษาเรื่องราวของวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่มาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หนังสือเล่มนี้จะช่วยเชื่อมโยงขอบฟ้าใหม่ๆ แห่งการเป็นผู้นำหรือการบริหารจัดการแบบใหม่ ท่านก็จะสนุกกับมันอย่างวางไม่ลง มิติการมองโลกมองชีวิตจะลุกโพลงโชติช่วงขึ้นมาอีกครั้ง และชีวิตของคุณในการทำงาน ในการบริหารจัดการก็จะเปลี่ยนไปอย่างไม่หวนคืนมาเหมือนเดิม

คุณจะเข้าหาเรื่องราวการบริหารจัดการได้อย่างเบาสบายยิ่งขึ้น เรื่องราวของมนุษย์ที่ดูยิ่งยากเริ่มมีคำอธิบาย คุณอาจจะเริ่มเห็นความเรียบง่ายในความสลับซับซ้อนแห่งเครือข่ายที่มีชีวิตและไร้ระเบียบของความเป็นไปในงานของคุณ คุณเริ่มเข้าใจว่าทำไมข้อมูลข่าวสารจึงถูกแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลาที่มันผ่านเปลี่ยนมือผู้คน แทนที่คุณจะฝืนกระแส คุณเริ่มอ่านกระแสและทำงานกับมันได้ คุณเริ่มเห็นว่าความหมายของมันทำงานอย่างไรในระบบไร้ระเบียบที่มีระเบียบซ่อนเร้นอยู่ และคุณเริ่มสามารถฝึกปรือเป็นพ่อมดแม่มดที่จะเล่นแร่แปรธาตุความหมาย เมื่อคุณแปรความหมายให้เป็นตัวกวนเพื่อไปจุดชนวนแห่งการเปลี่ยนแปลงในองค์กรของคุณอย่างที่คุณต้องการ ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นการฝืนกระแสความเป็นไปในธรรมชาติ แต่ให้กลับมาเข้าใจธรรมชาติให้ถูกต้องถ่องแท้อีกครั้ง แล้วปรับการงานให้ใช้พลังความเป็นไปแห่งธรรมชาติเหล่านี้ได้ ชีวิตของคุณจะเป็นอย่างไรหลังจากนั้น

ผมได้ใช้เรื่องราวของผู้นำแบบวิทยาศาสตร์ใหม่ไปทำงานร่วมกับโรงพยาบาลนครพิงค์ คือโรงพยาบาลประจำจังหวัดเชียงใหม่ และโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ของนครสวรรค์บ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นน่าชื่นใจมาก เพราะงานคุณภาพที่คนในโรงพยาบาลเรียกกันว่าเฮชเอหรือ Hospital Accreditation นั้น ซึ่งเป็นงานที่คนในโรงพยาบาลพากันคร่ำเคร่งกันมาก กลับสามารถแปรเปลี่ยนให้เป็นงานแห่งความสุขได้ เดี๋ยวนี้ผู้คนมักจะแยกความสำเร็จกับความสุขออกจากกัน แต่ในวิทยาศาสตร์ใหม่ เราสามารถนำความสุขเข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อนให้ไปสู่ความสำเร็จได้ ที่จริงเมื่อคนทำงานหันหน้าเข้าหากัน ไม่ทำตัวเป็นเกาะแก่ง แยกตัวเองออกมาจากคนอื่น แยกแผนกของตัวเองออกมาจากภารกิจหลักขององค์กรที่จะต้องร่วมกระทำ งานทั้งหลายกลับสำเร็จลงได้อย่างง่ายดายและมีความสุข

สุนทรียสนทนาแห่งการหันหน้าเข้าหากันมักจะนำพาเราไปสู่ข้อสรุปในที่สุดว่าคนแต่ละคนไม่สมบูรณ์ ย่อมมีจุดอ่อนข้อบกพร่องเป็นธรรมดา แต่เมื่อนำคนหลายคนมาอยู่ร่วมกันได้ มาประสานแรง หัวใจ และปัญญาร่วมกันได้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความสมบูรณ์ของทีมงาน อาจมีคนกล่าวว่างานบริหารจัดการแบบวิทยาศาสตร์ใหม่นี้ดูดี แต่จะวัดผลออกมาเป็นตัวชี้วัดที่เป็นตัวเลขได้ไหม สิ่งที่เกิดขึ้นกับทีมงานคุณอำนวยหรือ Facilitator หรือกระบวนกรที่ชุมชนเชียงรายนี้ เราสามารถทำงานให้แก่องค์กรธุรกิจพอใจได้ ซึ่ง Bottom Line ของเขาก็คือผลสำเร็จของการประกอบการซึ่งก็ได้แก่ตัวเลขทางธุรกิจ และไม่เพียงเขาจะได้ตัวเลขแห่งความสำเร็จเท่านั้น พวกเขายังได้การทำงานที่เปิดใจและตั้งใจที่จะเรียนรู้ ปรับปรุงความรู้และทักษะในการงานของพวกเขาตลอดเวลา ดังนั้นพวกเขาจึงสามารถติดตั้งองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้สำเร็จอีกด้วย และนั่นก็คือความยั่งยืนของกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น

ด้วยเหตุที่หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวที่อ่านยากระดับกลางๆ ก็ไม่ถึงกับยากที่สุด ผมก็ควรจะเขียนแนะนำวิธีในการอ่านหนังสือเล่มนี้ไว้ด้วย วิธีอ่านหนังสือเล่มนี้ก็คือ อยากอ่านตรงไหนให้อ่านตรงนั้น ตรงไหนที่อ่านไม่รู้เรื่องให้ข้ามไปก่อน ให้อ่านตรงที่รู้เรื่องก่อน แล้วให้เป็นหนังสือประกอบอ่านกลับไปกลับมากับการทำงาน คือเมื่ออ่านแล้วลองไปปฏิบัติ แล้วก็กลับมาอ่าน แล้วก็กลับไปปฏิบัติ กลับไปกลับมาอย่างนี้ ก็จะสามารถอ่านหนังสือให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น หัวใจของเรื่องนี้เรื่องหนึ่งก็คือ 'ความไร้ระเบียบ' ซึ่งตอนนี้มีฉบับการ์ตูนแปลออกมาแล้วโดยเมธาวี เลิศรัตนา พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก ผมว่าถ้าเข้าใจเรื่องไร้ระเบียบก็จะเข้าใจหนังสือเล่มนี้ได้ง่ายขึ้น หรืออาจจะถอยกลับไปอ่าน 'เต๋าแห่งฟิสิกส์ (The Tao of Physics: An Exploration of the Parallels Between Modern Physics and Eastern Mysticism: 1975)' และ 'จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ (The Turning Point: Science, Society, and the Rising Culture: 1982-)' ของ ดร.ฟริตจ็อฟ คราปา (Fritjof Capra: 1939-) ก็จะช่วยให้เข้าใจหนังสือเล่มนี้ได้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน เราควรใช้กลวิธีของพระยาอนุมานราชธนหรือเสฐียรโกเศศในการศึกษาเรื่องราวต่างๆ โดยเริ่มจากง่ายมาก่อน อย่าไปดูถูกเรื่องง่ายๆ เรื่องพื้นฐาน เมื่อเรามีพื้นฐานดีแล้ว เราก็จะเข้าใจเรื่องยากๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น

สุดท้ายอยากจะบอกว่าหนังสือเล่มนี้คือโลกทัศน์ใหม่ ภาษาใหม่ วัฒนธรรมใหม่ ทีไม่ช้าก็เร็วจะต้องกลายมาเป็นกระแสหลัก วิธีการจะเข้าถึงความใหม่เหล่านี้ เราต้องเข้าถึงโดยตัวตนอันเยาว์วัยในตัวเรา ไม่ว่าเราจะมีอายุอานามขนาดไหนแล้วก็ตาม เพราะว่าตัวตนอันเยาว์วัยนี้จะดำรงอยู่ในตัวเราตลอดกาล เพียงเพรียกมันเข้ามาในสำนึก ความกล้าหาญ ไม่กลัวมอมแมม ความซุกซน ช่างสำรวจ ก็จะเข้ามาช่วยให้เราเข้าใจในสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้ เมื่อเราชุบตัวลงในสระทองแห่งนี้ เงาะป่าอย่างเราท่านก็จะกลายร่างเป็นสังข์ทองทันที ไม่เชื่อก็ลองดูนะครับ

[con·tin·ue]

คำนำ โดยนายแพทย์วิธาน ฐานะวุฑฒ์

ว่าด้วยการพิมพ์ครั้งใหม่: จดหมายจากมาร์กาเร็ต วีตเลย์

กิตติกรรมประกาศ

อารัมภบท (Prologue: Maps to the Real World)

บทนำ: การเสาะหาวิธีเรียบง่ายกว่าเดิมเพื่อนำพาองค์กร (Introduction: Searching for a Simpler Way to Lead Organizations)

บทที่ 1 การค้นหาโลกที่เป็นระเบียบ (Discovering an Orderly World)

บทที่ 2 องค์กรแบบนิวตันในยุคควอนตัม (Newtonian Organizations in a Quantum Age)

บทที่ 3 พื้นที่ว่างไม่ได้ว่างเปล่า: สนามที่มองไม่เห็นซึ่งกำหนดพฤติกรรม (Space is Not Empty: Invisible Fields That Shape Behavior)

บทที่ 4 ธรรมชาติแห่งความร่วมมือของจักรวาล (The Participative Nature of the Universe)

บทที่ 5 การเปลี่ยนแปลง เสถียรภาพ และการฟื้นคืนใหม่: ความขัดแย้งของระบบที่จัดการตนเอง (Change, Stability, and Renewal: The Paradoxes of Self-Organizing Systems)

บทที่ 6 ข้อมูล: พลังงานอันสร้างสรรค์ของจักรวาล (The Creative Energy of the Universe - Information)

บทที่ 7 ความโกลาหลกับตัวดึงดูดประหลาดของความหมาย (Chaos and the Strange Attractor of Meaning)

บทที่ 8 การเปลี่ยนแปลง: ความสามารถของชีวิต (Change - The Capacity of Life)

บทที่ 9 การบริหารจัดการด้วยวิทยาศาสตร์ใหม่ (The New Scientific Management)

บทส่งท้าย: มุ่งหน้าสู่โลกใบใหม่ (Epilogue: Journeying to a New World)

การพัฒนาอันสืบเนื่องจากแนวคิดและภาคปฏิบัติ (To Further Explore the Ideas and Work of Margaret Wheatley)

บรรณานุกรม (Bibliography)

เกี่ยวกับผู้เขียน (About the Author)

ดร.มาร์กาเร็ต วีตเลย์ (Margaret J. Wheatley) เป็นที่ปรึกษาและวิทยากรให้กับองค์กรต่างๆ หลายประเภท อาทิ หน่วยงานรัฐบาล สมาคมวิชาชีพ องค์กรธุรกิจ ได้รับเกียรติให้ไปทำงานและบรรยายแทบทุกมุมโลก เธอตระหนักว่าองค์ทุกแห่งกำลังเผชิญกับปัญาหาคล้ายคลึงกันคือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถดำรงความเป็นตัวตน เป้าหมาย และประสิทธิภาพ ในขณะที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เธอจบการศึกษาทางด้านอักษรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ (University of Rochester) และมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) เข้าศึกษาต่อปริญญาโทด้านอักษรศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) สาขาการคิดเชิงระบบและได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) สาขาการบริหาร วางแผนและนโยบายทางสังคม โดยเน้นเรื่องพฤติกรรมองค์กรและการเปลี่ยนแปลง หนังสือที่สร้างชื่อเสียงให้กับเธอคือ ผู้นำกับวิทยาศาสตร์ใหม่ (Leadership and the New Science, 1999), หันหน้าเข้าหากัน (Turning to One Another, 2002), A Simpler Way, 1996 (ร่วมกับไมรอน เคลเลอร์ โรเจอร์ส (Myron Kellner-Rogers)) และงานเขียนเล่มล่าสุดคือ Finding Our Way, 2005

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page