top of page

ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน (Silent Spring)


ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน

แปลจาก Silent Spring (1962) เขียนโดย Rachel Louise Carson แปลโดยดิสทัต โรจนาลักษณ์ สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา พิมพ์ครั้งทีหนึ่ง เมษายน 2559 จำนวน 310 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9786167368740

'ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน (Silent Spring)' เป็นผลงานที่ประพันธ์ได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยสำนวนโวหารสละสลวยและความรู้สึกอันแรงกล้า จนทุกวันนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือที่ทรงอิทธิพลที่สุดเล่มหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 21

ราเชล คาร์สัน เปิดโปงให้เห็นถึงการทำลายชีวิตสัตว์ป่าอันเป็นผลมาจากการใช้สารกำจัดศัตรูพืชอย่างกว้างขวางและทำลายทุกอย่างไม่เลือกหน้า เธอเล่าเรื่องราวของรังนกที่มีไข่แต่ไม่ฟักออกมา แม่น้ำที่ปลาตายลอยเป็นแพเพราะถูกสารพิษ เด็กๆ ที่พบจุดจบเพราะสารเคมีที่ได้รับการสดุดีว่าเป็นยาวิเศษที่ถูกฉีดพ่นไปทั่วประเทศอย่างไม่มีข้อจำกัด แม้จะเผชิญกับการโจมตีในสื่อมวลชนและความพยายามของอุตสาหกรรมเคมีที่ต้องการห้ามไม่ให้มีการเผยแพร่ แต่หนังสือของราเชล คาร์สัน มีส่วนโดยตรงในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลและเป็นแรงบันดาลใจที่จุดประกายให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่

"หนึ่งในหนังสือเพียงไม่กี่เล่มที่เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง 'ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน' เป็นหนังสือที่ในวันนี้ยิ่งควรต้องอ่าน" - หนังสือพิมพ์เดอะไทมส์ (The Times)

"ราเชล คาร์สัน ให้ความรู้แก่โลก ถ้าให้เลือกว่าหนังสือที่เขียนโดยคนคนเดียวเล่มใดเป็นเสาหลักของขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คนส่วนใหญ่ย่อมเลือก 'ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน' อย่างไม่ต้องสงสัย ผลกระทบของหนังสือปรากฏขึ้นในทันที ส่งผลไปกว้างไกล และเสริมสร้างคุณค่าชีวิต เป็นหนังสือที่บรรลุผลมากที่สุดเล่มหนึ่งเท่าที่เคยมีมา" - ทิม แรดฟอร์ด (Tim Radford) หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน (The Guardian)

จากสำนักพิมพ์

นับย้อนไปกว่า 50 ปีที่แล้วเมื่องานเขียนเรื่อง 'ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน (Silent Spring)' ของราเชล คาร์สัน ได้รับการพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรก ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่างๆ มากมาย ทั้งที่โจมตีให้ร้ายและที่ยกย่องให้งานเขียนเล่มนี้เป็นหนังสือแห่งทศวรรษหรือศตวรรษก็ว่าได้ที่กระตุ้นให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมีที่ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างมากมาย หลังจากนั้น 10 ปี รัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็ต้องประกาศไม่ให้มีการใช้สารเคมีบางตัว อาทิ ดีดีที อันเนื่องมาจากงานเขียนชิ้นนี้

เหตุที่งานเขียนของราเชล คาร์สัน มีพลังต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมากก็ด้วยเหตุผลสำคัญๆ สองประการ คือ ประการแรก เธอเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความรอบรู้เป็นอย่างดี ในหนังสือเล่มนี้เธอได้ยกตัวอย่างและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มาประกอบการเขียนตลอดทั้งเล่มจึงมีความหนักแน่นในสิ่งที่กล่าวอ้างถึง ประการที่สอง เธอสามารถเขียนเรื่องราวและข้อโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์ด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายและใกล้ตัว คาร์สันแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งและภาพที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงถึงวิถีธรรมชาติที่เต็มไปด้วยความงดงามและวงจรการฟื้นตัวต้องอาศัยเวลาเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งต่างจากวิถีอุตสาหกรรมที่กำหนดจากความต้องการอันไม่สิ้นสุด และมักตกอยู่กับคนจำนวนหนึ่งและความเร่งรีบในการจัดการกับธรรมชาติ ความเปราะบางของธรรมชาติและวงจรนิเวศที่มีภัยคุกคามอยู่ตลอดเวลา ภาพอันขัดแย้งนี่เองคือหัวใจสำคัญของหนังสือที่สร้างพลังมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว และเหตุการณ์ความขัดแย้งที่ว่านี้ก็ยังดำรงอยู่

เป็นไปได้อย่างไรที่สารเคมีมากมายที่เป็นอันตรายยังถูกใช้อยู่ในกระบวนการผลิตอาหาร ทั้งที่มีงานวิจัยรายงานผลเสียของสารเคมีทางการเกษตรมากมาย ตั้งแต่ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง และปุ๋ยเคมียังคงถูกใช้ในการผลิตข้าว ผัก ผลไม้ และสมุนไพรชนิดต่างๆ ที่นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยา ความหวังที่อุตสาหกรรมจะเลิกผลิตและรัฐจะควบคุมบังคับห้ามใช้ก็คงไม่เป็นผล หากผู้บริโภคไม่ลุกขึ้นมาแสดงตน เหตุใดสารเคมีที่อันตรายทั้งต่อสุขภาพเกษตรกรและผู้บริโภค และผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมจึงยังดำเนินมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ

ขณะที่สังคมไทยกำลังระลึกถึง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล และรับรู้ถึงสาระสำคัญจากงานเขียนเรื่อง 'จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน' นักเศรษฐศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตและความเท่าเทียมต่อผู้ด้อยโอกาส แต่โลกกลับกำลังเผชิญกับภัยคุกคามต่อชีวิตด้วยสารเคมีที่มีอันตรายอยู่รอบตัวตั้งแต่เกิดจนตาย

คำนำ โดยแคโรไลน์ ลูคัส (Caroline Patricia Lucas: 1960-) สมาชิกสภาพรรคกรีนแห่งอังกฤษและเวลส์ (Green Party of England and Wales)

การได้รับโอกาสให้เขียนคำนำของหนังสือ 'ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน (Silent Spring)' ของราเชล คาร์สัน ฉบับครบรอบ 50 ปี ถือเป็นเกียรติอย่างสูงและเป็นความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ เกียรตินั้นคือการได้กล่าวสดุดียกย่องหนังสือว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาที่ทรงอิทธิพลที่สุดเล่มหนึ่งเท่าที่เคยมีมา ความรับผิดชอบคือการที่จะต้องพยายามทำให้หนังสือเล่มนี้แพร่หลายเข้าถึงคนอ่านให้กว้างขวางยิ่งขึ้นอีกเพื่อกระตุ้นให้พวกเขาลงมือทำเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก ดังนั้นการตีพิมพ์ซ้ำในครั้งนี้ซึ้งจะทำให้คนรุ่นใหม่อีกรุ่นหนึ่งมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนี้จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง

ฉันมาประจักษ์ถึงอิทธิพลของ 'ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน (Silent Spring)' เป็นครั้งแรกในกลางทศวรรษ 1980 ตัวฉันเองได้เข้าร่วมกับพรรคกรีนก็เพราะแรงกระตุ้นจากงานเขียนด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอีกเล่มหนึ่งคือ หนังสือ 'Seeing Green: The Politics of Ecology Explained (1984)' ของโจนาธาน พอริตต์ (Jonathon Espie Porritt: 1950-) ตั้งแต่นั้นมา 'Silent Spring' ก็เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานของฉันมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์หาเสียงสนับสนุนในรัฐสภายุโรปเพื่อห้ามใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่อันตราย หรือการส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืนในเขตไบรท์ตันพาวิเลียน (Brighton Pavilion) ซึ่งฉันเป็นผู้แทนราษฎร สารที่ทรงพลังของหนังสือเล่มนี้ก็ยังปรากฏอย่างแจ่มชัดในใจเสมอ

ทว่าความยินดีในการเขียนคำนำนี้มีทั้งความเศร้าและความคับข้องใจเจือปนอยู่ด้วย ด้วยว่าการศึกษาค้นคว้าของคาร์สันย้ำเตือนให้เห็นถึงความล้มเหลวของเราอยู่โทนโท่ แม้เวลาจะล่วงเลยมานานแล้วนับแต่การตีพิมพ์ครั้งแรก แต่เราก็ยังไม่ได้ตระหนักอย่างถ่องแท้ถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนและเปราะบางระหว่างตัวเราเองกับโลกใบนี้ และดำเนินการป้องกันการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังพอ คงไม่มีอุทาหรณ์ใดๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงผลร้ายอย่างมหันต์ต่อโลกธรรมชาติและผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพมนุษย์ หากเราละเลยหลักการระวังไว้ก่อนและปล่อยให้ผลประโยชน์ทางธุรกิจดำเนินไปอย่างไร้การควบคุมได้ชัดเจนยิ่งไปกว่าในหนังสือ 'ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน (Silent Spring)' หลักฐานนั้นปรากฏตำตาอยู่ทุกหนทุกแห่ง ตั้งแต่มลพิษที่แพร่กระจายไปในอากาศของเรา การตัดไม้ทำลายป่าที่ก่อความหายนะแก่ผืนดินและชีวิตความเป็นอยู่ เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลที่ร้ายแรง ภัยจากขยะพลาสติกที่สร้างความสกปรกในมหาสมุทรของเรา ไปจนถึงความล้มเหลวในการสร้างระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงโดยยึดสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจสำคัญ ดังนั้นการที่หนังสือเล่มนี้ยังคงเหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน แม้จะเป็นเรื่องดี แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าละอายใจเช่นกัน

'ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน (Silent Spring)' ถูกนำลงเป็นตอนๆ ในนิตยสาร 'The New Yorker' ในเดือนมิถุนายน 1962 ก่อนจะได้รับการตีพิมพ์รวมเล่มในสหรัฐอเมริกาในปีเดียวกันและในสหราชอาณาจักรในปีถัดมา มันกลายเป็นหนังสือขายดีในทันทีและเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของสาธารณชนต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างลึกซึ้ง หนังสือมีจุดกำเนิดในทศวรรษ 1950 เมื่อคาร์สันเริ่มตระหนักว่ามีหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าสารเคมีซึ่งถูกนำมาใช้เป็นสารกำจัดศัตรูพืชและสารฆ่าแมลงในชีวิตประจำวันเพื่อทำลายศัตรูพืชและเชื้อโรค เช่น สารจำพวกคลอริเนตเตดไฮโดรคาร์บอน (Chlorinated Hydrocarbon) โดยเฉพาะดีดีทีหรือไดคลอโรไดฟีนิลไตรคลอโรอีเทน (Dichloro Diphenyl Trichloroethane) ก็ฆ่านกและสัตว์ป่าอื่นๆ ไปด้วย ด้วยความห่วงใยอย่างแรงกล้าในความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ไว้ซึ่งความงดงามของธรรมชาติ เธอจึงเริ่มรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จากทั่วสหรัฐอเมริกาในการศึกษาที่เปิดประตูไปสู่แนวทางใหม่ชิ้นนี้ (น่าเศร้าว่าในขณะที่คาร์สันกำลังสร้างสรรค์งานเขียนที่ปลุกเร้าของคนลุกขึ้นมาต่อกรกับอุตสาหกรรมเคมีที่ทรงอิทธิพลอยู่นั้น ตัวเธอเองก็ต้องต่อสู้กับโรคมะเร็งเต้านมด้วย) ในต้นทศวรรษ 1960 นั้น คาร์สันมีชื่อเสียงอยู่แล้วในฐานะนักชีววิทยาทางทะเลและนักเขียนที่ได้รับการตีพิมพ์ แต่ใน 'ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน (Silent Spring)' เธอได้ปลุกวิทยาศาสตร์ที่แข็งทื่อให้มีชีวิตขึ้นมาด้วยความสามารถในการใช้ภาษาจนทำให้สารที่น่าเชื่อถือของเธอกระจายออกไปกว้างไกล

หนังสือเปิดเรื่องขึ้นราวกับเทพนิยาย โดยพรรณนาถึงทิวทัศน์ในชนบทซึ่งทุกชีวิตดูจะอาศัยอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมอย่างกลมกลืน แต่โลกในอุดมคตินั้นกลับกลายเป็นโลกที่น่าสะพรึงกลัวอย่างรวดเร็วเมื่อหายนะภัยที่แปลกประหลาดมากล้ำกรายเมืองและเรือกสวนไร่นาที่อยู่โดยรอบ ทำให้สรรพสำเนียงของชีวิตซึ่งเคยดำรงอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์เงียบเสียงลง จากนั้นคาร์สันก็เผยให้เห็นถึงความเป็นจริงที่น่าตื่นตระหนกว่าการใช้วิธีการแบบอุตสาหกรรม เช่น การพ่นสารเคมีทางอากาศอย่างมโหฬารเพื่อควบคุมแมลงที่เป็นพาหะนำโรคหรือเป็นศัตรูพืช ทำให้โลกธรรมชาติทั้งหมดตกอยู่ในอันตรายได้อย่างไร คาร์สันเขียนไว้ว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทำลายทุกอย่างไม่เลือกหน้า มันไม่แยกแยะว่าสิ่งใดมีคุณหรือโทษ คาร์สันอ้างหลักฐานข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าการใช้สารเคมีกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวันอย่างน่าตกใจ ในสายตาของเธอมันเป็นปัญหาพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน นั่นคือสิทธิของปัจเจกบุคคลที่จะได้รับความปลอดภัยจากสารพิษร้ายแรง

เธอยังพุ่งความสนใจไปที่อันตรายของการปล่อยให้ระบบตลาดเข้ามาครอบงำการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐและบริษัทเอกชนเลือกใช้สารเคมีที่มีราคาถูกที่สุดในการจัดการปัญาหาโดยไม่คำนึงว่าสารเคมีนั้นจะมีคุณสมบัติเหมาะสมหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องยากที่หลายคนจะทำใจยอมรับ่ได้ ในเวลานั้นเป็นที่เชื่อกันทั่วไปว่าการแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ของโลกสมัยใหม่ ประชาชนยังจำได้ว่ามีการใช้ดีดีทีกำจัดเหาที่ระบาดในหมู่ทหารในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเชื่อว่ามันไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์หากใช้อย่างระมัดระวัง แม้แต่ผู้ค้นพบดีดีทีก็ยังได้รับรางวัลโนเบล ดังนั้นการที่คาร์สันตัดสินใจพุ่งเป้าไปที่เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่กล้าหาญและท้าทายให้โต้แย้ง อย่างไรก่็ตาม แม้จะถูกกล่าวหาว่าต่อต้านสารเคมีอย่างหัวชนฝา แต่ที่จริงเธอไม่ได้เชื่อว่าจะต้องไม่ใช้สารเคมีกำจัดแมลงโดยเด็ดขาด หากแต่เห็นว่าเราได้ฝากสารเคมีที่เป็นพิษและมีฤทธิ์รุนแรงต่อสิ่งมีชีวิตโดยปราศจากการไตร่ตรองไว้กับคนที่แทบไม่ได้ตระหนักหรือไม่รู้ถึงอันตรายที่แท้จริงของมันเลยแม้แต่น้อย

ไม่น่าแปลกใจที่บุคคลเหล่านั้นในบริษัทเคมียักษ์ใหญ่ออกมาตอบโต้ 'ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน (Silent Spring)' อย่างเดือดแค้น คาร์สันโดนขู่ว่าจะถูกฟ้องร้องและถูกเยาะเย้ยถากถางให้เป็นที่รู้กันทั่ว เธอต้องเผชิญกับการโจมตีอย่างครึกโครมและเหยียดเพศ ถูกเรียกว่าสาวทึนทึก และหาว่าควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ถึงกระนั้นคุณภาพที่ยอดเยี่ยมและความสมบูรณ์ถูกต้องของการศึกษาค้นคว้าของเธอซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนออกมากล่าวปกป้องเธอ และในเดือนพฤษภาคม 1963 คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของประธานาธิบดีจอห์น เคนเนดี้ (John Fitzgerald 'Jack' Kennedy: 1917-1963) ได้จัดทำรายงานเรื่อง 'การใช้สารกำจัดศัตรูพืช' ซึ่งยืนยันความถูกต้องของข้อค้นพบของคาร์สัน เมื่อสาธารณชนมีความตื่นตัวสูงขึ้นเกี่ยวกับภัยของรังสีนิวเคลียร์และอันตรายจากสารเคมี เช่น ยาทาลิโดไมด์ (Thalidomide ยาแก้แพ้ท้องซึ่งมีผลกระทบทำให้ทารกเกิดมาพิกลพิการจำนวนมากเมื่อ 50 ปีก่อน) พวกเขาก็เริ่มเรียกร้องให้มีการดำเนินการในเรื่องนี้

ผลก็คือดีดีทีและสารกำจัดศัตรูพืชอื่นๆ เริ่มถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดยิ่งกว่าเดิมเป็นอันมาก ในปี 1970 สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกาก็ได้รับการจัดตั้งขึ้น โดยมีภารกิจหน้าที่ในการพิทักษ์ปกป้องสิ่งแวดล้อม และในที่สุดสหรัฐอเมริกาก็ประกาศห้ามใช้ดีดีทีในปี 1973

คงไม่เป็นการเกินเลยที่จะกล่าวว่าหนังสือเล่มนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสมัยใหม่ ไม่ใช่แค่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ในสหราชอาณาจักรด้วย ซึ่งในประเทศหลังนี้พรรคประชาชน (People Party) ก็ได้รับอิทธิพลดังกล่าว ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นพรรคเพื่อสิ่งแวดล้อม (Ecology Party) ในทศวรรษ 1970 แล้วจึงกลายมาเป็นพรรคกรีน (Green Party) ในที่สุด 'ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน (Silent Spring)' ได้ฝากมรดกตกทอดทิ้งไว้ในกฎหมายสิ่งแวดล้อมทุกหนทุกแห่ง ข้อบังคับว่าด้วยการขึ้นทะเบียน การประเมินผล การอนุญาต และการควบคุมสารเคมี (Registration, Evaluation, Authorization and Restriction of Chemicals: REACH) ในยุโรปก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง และยังเป็นเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้เพื่อให้ถือว่าการทำลายล้างสิ่งแวดล้อม (Ecocide) ซึ่งหมายถึงการทำลายระบบนิเวศอย่างมโหฬารและร้ายแรงเป็นอาชญากรรมสากลต่อสันติภาพเช่นเดียวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

แม้กระนั้นเมื่อเราหันกลับไปทบทวนคุณูปการเหล่านี้ เราจะต้องถามตัวเองว่าเรารู้อะไรจริงๆ บ้างเกี่ยวกับสารเคมีในสิ่งแวดล้อมของเราในทุกวันนี้ เราได้วางกฎเกณฑ์ควบคุมสารพิษที่มีอยู่รอบๆ ตัวเราดีพอแล้วหรือยัง หลักฐานที่ยืนยันถึงภัยอันตรายจากสารกำจัดศัตรูพืชซึ่งบรรยายไว้อย่างชัดแจ้งใน 'ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน (Silent Spring)' ไม่เป็นสิ่งที่น่ากังขาแม้แต่น้อย คณะกรรมาธิการยุโรปเองยอมรับอย่างเป็นทางการว่าการได้รับสารกำจัดศัตรูพืชเป็นระยะเวลานานๆ อาจนำไปสู่ความผิดปกติอย่างร้ายแรงของระบบภูมิคุ้มกัน ความผิดปกติทางเพศ โรคมะเร็ง การเป็นหมัน ความพิการแต่กำเนิด ความเสียหายต่อระบบประสาท และความเสียหายทางพันธุกรรม

ในอีกแง่หนึ่งก็อาจกล่าวได้ว่าการใช้อำนาจวิ่งเต้นของอุตสาหกรรมเคมีและธุรกิจการเกษตรซึ่งใช้อิทธิพลกับรัฐบาลในทุกระดับ และคอยป้อนสิ่งที่คาร์สันเรียกว่าข้อมูลเพียงครึ่งๆ กลางๆ เป็นยากล่อมประสาทเพื่อให้คลายวิตกนี้เองที่ทำให้กฎหมายที่เรามีอยู่ไม่อาจบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่ประชาชนคาดหวัง แม้แต่การบริหารจัดการสารเคมีภายใต้กฎหมายที่ประกาศใช้ล่าสุด หากว่าไม่ถูกครอบงำก็ยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผลประโยชน์ทางธุรกิจอย่างมาก พลังที่ไร้การควบคุมของโลกาภิวัฒน์ทำให้เป็นเรื่องง่ายที่บริษัทเหล่านี้จะส่งออกสารพิษไปยังประเทศที่มีกฎหมายไม่เข้มงวดและมักจะละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนในท้องถิ่นเหล่านั้น ตลอดจนทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ในธรรมชาติ

ในคำขอบคุณของ 'ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน (Silent Spring)' ในการตีพิมพ์ครั้งแรก คาร์สันกล่าวยกย่องบุคคลที่กำลังต่อสู้อยู่ในสมรภูมิเล็กๆ นับร้อยนับพันเพื่อให้ความมีเหตุผลและสามัญสำนึกได้รับชัยชนะ งานเขียนที่พยากรณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำของเธอยังคงเป็นแรงบันดาลใจแก่ขบวนการกรีนมาจนทุกวันนี้ รวมถึงผู้คนต่างๆ ที่กำลังรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนกว่าเดิม ที่จริงเมื่อคิดถึงการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็นึกไม่ออกเลยว่าจะมีหนังสือเล่มใดที่มีอิทธิพลยิ่งไปกว่านี้ คาร์สันทำให้ความเข้าใจของเราเกี่ยวกับพันธะที่สำคัญยิ่งระหว่างมนุษย์เรากับโลกเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ ด้วยเหตุนี้เองเราจึงเป็นหนี้บุญคุณเธอตลอดไป ทว่าการบอกว่านี่เป็นหนังสือที่ยอดเยี่ยมเท่านั้นยังไม่เพียงพอ แม้จะผ่านไป 50 ปีแล้ว หนังสือเล่มนี้ก็ยังท้าทายเราด้วยคำถามว่าเราจะทำอะไรบ้างเพื่อช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น

คำอุทิศ

"มนุษย์ได้สูญเสียความสามารถในการหยั่งรู้ถึงเภทภัยที่จะเกิดขึ้นและป้องกันไว้ก่อน พวกเขาจะจบลงด้วยการทำลายโลกนี้จนพินาศ (Man has lost the capacity to foresee and to forestall. He will end by destroying the earth.)" - อัลเบิร์ต ชไวท์เซอร์ (Albert Schweitzer: 1875-1965)

"ฉันออกจะมองมนุษย์ในแง่ร้าย ด้วยว่าเราเป็นเผ่าพันธุ์ที่ใช้ความเฉลียวฉลาดจนเป็นภัยแก่ตนเอง เราปฏิบัติต่อธรรมชาติโดยใช้กำลังเข้าหักหาญเพื่อให้มันยอมสยบ ทว่าเรามีโอกาสจะอยู่รอดมากกว่าหากเราปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับโลกใบนี้และมองมันด้วยความสำนึกบุญคุณ แทนที่จะเป็นความหวาดระแวงและความยโสโอหัง (I am pessimistic about the human race because it is too ingenious for its own good. Our approach to nature is to beat it into submission. We would stand a better chance of survival if we accommodated ourselves to this planet and viewed it appreciatively instead of skeptically and dictatorially.)" - Elwyn Brooks White (1899-1985)

[con·tin·ue]

บทที่ 1 อุทาหรณ์เพื่อวันพรุ่งนี้ (A Fable for Tomorrow)

บทที่ 2 ภาระที่ต้องแบกรับ (The Obligation to Endure)

บทที่ 3 โอสถพิษที่ปลิดปลง (Elixirs of Death)

บทที่ 4 น้ำผิวดินและทะเลใต้ดิน (Surface Waters and Underground Seas)

บทที่ 5 อาณาจักรใต้ดิน (Realms of the Soil)

บทที่ 6 โลกสีเขียว (Earth's Green Mantle)

บทที่ 7 หายนะที่ไม่ควรเกิดขึ้น (Needless Havoc)

บทที่ 8 ไร้เสียงนกเจื้อยแจ้ว (And No Birds Sing)

บทที่ 9 สายน้ำมรณะ (Rivers of Death)

บทที่ 10 โปรยปรายทั่วฟ้าไม่เลืือกหน้า (Indiscriminately from the Skies)

บทที่ 11 ภัยแฝงใกล้ตัว (Beyond the Dreams of the Borgias)

บทที่ 12 ราคาที่มนุษย์ต้องจ่าย (The Human Price)

บทที่ 13 ดุจช่องหน้าต่างเล็กๆ (Through a Narrow Window)

บทที่ 14 ทุกๆ หนึ่งในสี่ (One in Every Four)

บทที่ 15 เมื่อธรรมชาติตอบโต้ (Nature Fights Back)

บทที่ 16 เสียงเตือนก่อนปฐพีถล่ม (The Rumblings of an Avalanche)

บทที่ 17 ถนนอีกสายหนึ่ง (The Other Road)

คำขอบคุณ

เกี่ยวกับผู้เขียน

ราเชล หลุยส์ คาร์สัน (Rachel Louise Carson: 1907-1964) นักชีววิทยาทางทะเลชาวอเมริกัน จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) คาร์สันมีผลงานเขียนทรงอิทธิพลและได้รับการกล่าวขานถึงมากมาย โดยเฉพาะหนังสือที่เกี่ยวกับชีววิทยาทางทะเล ในปี 1951 หนังสือ The Sea Around Us ของเธอได้รับรางวัล U.S. National Book Award และผลงานเล่มถัดมา The Edge of the Sea (1955) และงานเขียนเล่มแรกที่นำมาตีพิมพ์ใหม่ Under the Sea Wind: A Naturalist's Picture of Ocean Life (1941) ก็ติดอันดับขายดี

ปลายปี 1950 คาร์สันผันตัวเองมาเป็นนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเต็มตัว ประเด็นที่เธอให้ความสำคัญมากที่สุดและทุ่มเทเวลาทั้งชีวิตที่เหลืออยู่เพื่อค้นคว้าข้อมูล คือปัญหาทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเธอเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและส่งผลให้เกิดหนังสือ 'ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน (Silent Spring)' ในปี 1962 หนังสือเล่มนี้สามารถสร้างกระแสความตื่นตัวให้สาธารณชนทั้งในอเมริกาและทั่วโลกเห็นถึงพิษภัยและผลกระทบของยาฆ่าแมลง (ดีดีที) ที่กำลังใช้กันอย่างแพร่หลายในภาคเกษตรกรรม ยิ่งกว่านั้นยังส่งผลให้รัฐบาลหันมามองปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังจนนำไปสู่การตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะในสมัยรัฐบาลริชาร์ด นิกสัน (Richard Milhous Nixon: 1913-1994) นั่นคือสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (United States Environmental Protection Agency: EPA)

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page