top of page

เศรษฐกิจล่มสลาย: จุดจบของยุคแห่งความโลภ (Meltdown: The End of the Age of Greed)


เศรษฐกิจล่มสลาย: จุดจบของยุคแห่งความโลภ

แปลจาก Meltdown: The End of the Age of Greed (2009)

เขียนโดย Paul Mason แปลโดย ดร.สุรพงษ์ สุวจิตตานนท์ โครงการจัดพิมพ์คบไฟ พิมพ์ครั้งทีหนึ่ง กรกฎาคม 2554 จำนวน 288 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9786167150178

'เศรษฐกิจล่มสลาย (Meltdown)' เล่าถึงเรื่องราวของความพินาศทางการเงินที่ทำให้วาณิชธนกิจหลายแห่งในโลกตะวันตกต้องพังครืน ทำให้เศรษฐกิจโลกทรุดตัว ตลอดจนสั่นคลอนระบบเสรีนิยมที่ถือปฏิบัติกันมานานร่วม 3 ทศวรรษ พอล เมสัน (Paul Mason) นักข่าวของบีบีซี นอกจากรายงานเกี่ยวกับภาวะบีบรัดตัวทางสินเชื่อ (Credit Crunch) และความเสียหายที่ตามมาจากบริเวณที่เกิดเหตุ เขายังสืบค้นถึงต้นเหตุของความหยิ่งยโสอวดดีทางด้านการเงินของสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุที่เกิดจริงตามสถานที่ต่างๆ และผลที่ตามมา เริ่มจากโรงงานผลิตรถยนต์ฟอร์ด ไปถึงย่านวอลล์สตรีทและกรุงลอนดอน ในการแสดงทัศนะต่อการท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่กำลังเผชิญกับระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เขาเสนอร่างความคิดเกี่ยวกับระบบทุนนิยมยุคใหม่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเข้มงวด (Hyper-Regulated Capitalism) ที่อาจโผล่ขึ้นมาจากซากปรักหักพังทางเศรษฐกิจ พร้อมคำนิยามหรือคำอธิบายขยายความคำศัพท์ต่างๆ ที่นายธนาคาร นักการเมือง และนักหนังสือพิมพ์ใช้กันเพื่อประกอบความเข้าใจ เวลาพบกับรายละเอียดในเรื่องวิกฤตการณ์การธนาคาร

บทนำ (Introduction)

เราต่างก้าวพ้นเหตุการณ์ที่พวกเราส่วนใหญ่ไม่เคยเจอ ทุนนิยมระดับโลกที่อยู่ในภาวะใกล้ล่มสลายได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ทางเลือกอื่นก็นึกไม่ออก ส่วนอนาคตก็คลุมเครือ มีทฤษฎีกล่าวไว้ว่าระบบการธนาคารที่ดำเนินการโดยภาครัฐจะคอยดูแลการชะงักงันและการถดถอย ความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจของโลกก็บอกว่าเศรษฐกิจของจีนนับจากนี้ไปจะอยู่ในช่วงขาขึ้น ในขณะที่ของประเทศในกลุ่มแองโกล-แซกซอน (Anglo-Saxon) จะแย่ลง หากทฤษฎีที่ว่านี้ทำนายถูกต้อง เราก็จะอยู่ที่จุดตั้งต้นของศตวรรษที่ไม่ใช่อเมริกันและทั่วทั้งระบบที่สัมพันธ์กันที่หวนคิดพิจารณาถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ลุ่มลึกของระบบทุนนิยม

ผมพบว่าตัวเองอยู่ถูกสถานที่ถูกเวลาเพื่อรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้แบบใกล้ชิด แต่ก็ไม่อยู่ในสถานะที่จะทำนายอะไรได้ พูดตรงๆ ก็คือผมเซ็งกับการทำนายเกี่ยวกับเรื่องการล่มสลายที่พิสูจน์แล้วว่าผิดพลาด เมื่อกลางปี 2000 ตลาดที่อยู่อาศัยดูเหมือนว่ามียอดสูงเกิน แต่ก็ไม่เคยลดต่ำลง ค่าแรงก็ดูเหมือนต่ำเกินที่จะพยุงการเติบโตเอาไว้ได้ แต่การเติบโตก็ไม่เคยหยุดนิ่ง ท้ายที่สุดด้วยเหตุผลที่จะอธิบายในบทที่ 8 ผมตัดสินใจว่าเศรษฐกิจรอดพ้นวิกฤตการณ์เชิงระบบและอาจกำลังอยู่ในจุดที่กำลังวกขึ้นอย่างมั่นคงอันเกิดจากการขับเคลื่อนของเทคโนโลยี ผมยังคิดว่ากรณีหลังนี้น่าจะเป็นความจริง แต่เราจำเป็นต้องฟันฝ่าภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยก่อนที่ยุคแห่งดิจิทัลจะเริ่มต้นขึ้นอย่างแท้จริง

นับแต่เดือนตุลาคม 2007 มูลค่าตลาดหุ้นของตลาดโลกได้ลดลงครึ่งหนึ่ง ภาวะเงินเฟ้อกำลังเปลี่ยนเป็นภาวะเงินฝืด ระบบการธนาคารยุบตัว และระบบความเชื่อมั่นในเรื่องทุนนิยมสากลทั้งระบบแตกกระจายเป็นเสี่ยงๆ เนื่องจากเราตกอยู่ท่ามกลางสภาวะวิกฤตดังกล่าว ซึ่งรวมถึงขณะที่ผมกำลังเขียนหนังสือนี้อยู่ งานเขียนจึงไม่พยายามหาข้อสรุปสุดท้ายที่ลงตัว งานเขียนนี้พยายามอธิบายถึงเรื่องสามเรื่องด้วยกัน กล่าวคือมีอะไรเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการณ์ เราตกอยู่ในสภาวะวิกฤตนั้นได้อย่างไรและมันอาจนำไปสู่ที่ใด ผมเองก็ตระหนักดีว่าหนังสือประเภทสำเร็จรูปยากที่จะรอดพ้นความคลาดเคลื่อนเมื่อเวลาผ่านไป แต่วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นทำให้มีความจำเป็นเร่งด่วนในเรื่องเนื้อหาและการวิเคราะห์ แม้ว่าหากมีบางส่วนบางตอนที่จะต้องเขียนเผื่อไว้ปรับปรุงแก้ไขก็ตาม

ผมมีโอกาสเกาะติดเหตุการณ์การล่มสลายของบริษัทเลห์แมนและเอไอจี (Lehman Brothers and AIG) รวมถึงความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะเข้าช่วยเหลือทางการเงินให้แก่ระบบการธนาคารของอังกฤษในระหว่างเดือนตุลาคม 2008 และกุมภาพันธ์ 2009 และเกี่ยวกับการประชุมของกลุ่มประเทศ G20 ในเดือนพฤศจิกายน 2008 มีบางครั้งภาษาที่ผมใช้อาจไม่ชัดเจนและสร้างภาพที่เต็มไปด้วยสีสันซึ่งเกิดจากการที่เหตุการณ์ดังกล่าวยังคงมีความชัดเจนกับผมอยู่มากน้อยเพียงใด ผมอาศัยแหล่งข้อมูลหลายลักษณะ นับตั้งแต่ลางสังหรณ์ของตัวเองจนถึงข้อมูลทางสถิติของธนาคารโลก เนื้อหาสั้นๆ บางส่วนของหนังสือนี้ก็ดึงมาจากบล็อกที่ผมเขียนในช่วงเวลานั้น บางส่วนก็มาจากหนังสือพิมพ์และผลการวิจัยภาคอุตสาหกรรม ประเด็นหลักของข้อถกเถียงหยิบยกมาจากความข้องใจที่ติดมาชั่วชีวิตเกี่ยวกับความพยายามที่จะยัดเยียดความคิดที่ว่าเศรษฐศาสตร์แบบตลาดเสรีคือทางออกของปัญหาต่างๆ ของโลก

ตอนที่ 1 (บทที่ 1-3) พูดถึงการล่มสลายของบริษัทเลห์แมนบราเธอร์ส์ (Lehman Brothers) ไปจนถึงการเข้าช่วยเหลือทางการเงินของภาครัฐกลางเดือนตุลาคม 2008 ตอนที่ 2 (บทที่ 4-6) กล่าวถึงเหตุการณ์แห่งทศวรรษที่นำไปสู่หายนะ เริ่มจากการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ผ่านบริษัทเอ็นรอน (Enron) ภาวะเฟื่องฟูของการจำนองซับไพรม์และวิกฤตการณ์เงินเฟ้อทั่วโลก ตอนที่ 3 พูดถึงการอยู่รอดและจุดจบของแนวคิดเสรีนิยมใหม่-อุดมการณ์ซึ่งผู้สนับสนุนหลักในตอนนี้ยอมรับว่ามีข้อบกพร่อง โดยพยายามค้นหาวิกฤตการณ์ในปัจจุบันภายใต้ปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวในเศรษฐกิจของโลก

หนังสือเล่มนี้วิจารณ์นักการธนาคารบางคน แต่ผมจะกล่าวเล็กน้อยเพื่อปกป้องเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรม คนทำงานในภาคอุตสาหกรรมด้านการเงินทำตัวเสมือนว่าพวกเขาเป็นผู้ควบคุมเอกภพ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าพวกเราเองก็ปล่อยให้พวกเขาเล่นบทดังกล่าว การธนาคารดึงดูดคนที่สร้างสรรค์ ฉลาด และมีความสามารถที่สุดในโลกเข้าไปในองค์กร โดยคนส่วนใหญ่ไม่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการล่มสลายของภาคอุตสาหกรรมมากไปกว่ากรรมกรเหมืองของสหราชอาณาจักรที่มีผลต่อความเสียหายของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ หากคุณรู้สึกเป็นปลื้มกับนักแลกเปลี่ยนเงินตรา ส่งเสริมให้เขาทำเงินมากขึ้นเรื่อยๆ และขานรับว่าการเติบโตของการเงินแบบเก็งกำไรเป็นเสมือนยุคทอง นี่ก็คือสิ่งที่คุณได้รับ ความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมพัวพันไปถึงผู้รักษากฎระเบียบ นักการเมือง รวมถึงนายธนาคารที่ทำผิดกฎหมาย และสื่อมวลชนที่มิได้ตรวจสอบพวกเขา

ผมขอพูดเพิ่มเติมสักเล็กน้อยเกี่ยวกับเงินจำนวนนับพันล้านและล้านล้าน ตราบจนปัจจุบัน แม้แต่คุณจะพิจารณาโดยครอบคลุมโลกของเศรษฐศาสตร์มหภาค เงินในระดับ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็เป็นตัวเลขสูงสุดที่มีโอกาสได้เจอะเจอ แต่ในช่วงวิกฤตการณ์นี้ จำนวนเงินที่ธนาคารแทงว่าสูญหรือหายไปไปจากงบประมาณกลางเพิ่มจากหลายสิบล้านเป็นหลายแสนล้านจนกระทั่งเป็นหลายสิบล้านล้าน ตัวเลขนี้อาจทำให้รู้สึกมึนได้ วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เห็นภาพตัวเลขนี้ดีขึ้น คือจำไว้ว่าทุกๆ 1 ล้านล้านเหรียญที่ถูกแทงว่าสูญเทียบได้กับแรงงานจำนวน 7 สัปดาห์ของประชากรทั้งหมดบนโลกที่สูญเสียไป

เหตุการณ์ที่หนังสือนี้พูดถึงคือวิกฤตการณ์ทางการเงิน แต่สถานการณ์เคลื่อนตัวจากจุดนี้ไปแล้ว กล่าวคือภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจโลกเกิดตามมาแน่ๆ โดยดิ่งลงมากขึ้นๆ สำหรับคำทำนายแต่ละคราวมีแต่ระยะเวลาของการถดถอยเท่านั้นที่ไม่แน่นอน ขึ้นกับว่าผู้กำหนดนโยบายของโลกยอมรับความจริงที่ว่าอุดมการณ์และโมเดลการเติบโตที่มีมา 20 ปีที่ผ่านมาตกยุคแล้วได้เร็วเพียงใด

ระหว่างที่ผมเขียนอยู่ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2009 ประเทศที่พัฒนาแล้วมีทางเลือกคือการโอนธนาคารมาเป็นของรัฐอย่างเร่งด่วน ร่วมกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังที่เริ่มจากการใช้จ่ายของภาคประชาชน และการสร้างงาน หรือไม่ก็ต้องเจอกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ลุกลามไปทั่วโลกโดยไม่รู้ว่าจะฟื้นเมื่อไร ในระหว่างที่หนังสือนี้อยู่ที่โรงพิมพ์ ตลาดต่างๆ ทำนายว่ามีโอกาสถึงร้อยละ 80 ที่ซิตี้กรุ๊ป (Citigroup) และธนาคารแห่งอเมริกาจะถูกโอนมาเป็นของรัฐ แนวโน้มที่ยักษ์ใหญ่ทางการเงินทั้งสองแห่งจะถึงจุดอวสานมีสาเหตุมาจากค่าใช้จ่ายของนโยบายที่ไม่ชัดเจนที่เพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ตอนเดือนกันยายน 2008 ก่อนหน้าดูเหมือนว่าองค์กรทั้งสองมีศักยภาพที่จะอยู่ในฐานะของผู้ให้ความช่วยเหลือได้ก็ตาม แบบประเมินจำลองที่ทำให้ขึ้นโดยนักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ในช่วงปลายเดือนมกราคมบ่งว่าประเทศญี่ปุ่นมีความสุ่มเสี่ยงสูงที่จะเจอกับปัญหาเงินฝืด ส่วนอเมริกาก็ไล่ตามมาแบบไม่ห่างนัก รวมไปถึงหลายประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย (Scandinavia) ประเทศไทยและมาเลเซียก็ตกอยู่ในสภาพสุ่มเสี่ยงแบบเดียวกัน แบบจำลองนี้ยังทำนายว่ามีโอกาสถึงร้อยละ 11 ที่จะประสบกับการล่มสลายทั้งระบบ ซึ่งหมายความว่าภาวะหนี้สินและเงินฝืดจะกลืนกินการเติบโตและความรุ่งเรืองไปจนถึงชนรุ่นถัดไป

กระนั้นก็ตาม ผู้กำหนดนโยบายทั้งหลายก็ยังติดอยู่ในกับดักและยังคงขาดความแน่วแน่อันอาจนำมาซึ่งความหายนะ รวมถึงการยึดมั่นกับความคิดและวิธีการเก่าๆ แต่ละเดือนที่ผ่านไปโดยปราศจากการกระตุ้นที่แน่วแน่และการแก้ไขวิกฤตการณ์การธนาคาร โอกาสของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วก็เลือนราง ในขณะเดียวกัน ความไม่สงบในภาคประชาชนที่กระจายอยู่ในวงจำกัด ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2008 กลายเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของวิกฤตการณ์ดังกล่าว ซึ่งได้แก่ การประท้วงทั่วไปในฝรั่งเศส ตามมาด้วยการประท้วงของแรงงานที่ไม่มีสหภาพหนุนหลังในอังกฤษ การประท้วงในไซบีเรีย (Siberia) และจุดจบของรัฐบาลไอซ์แลนด์ (Iceland) ที่เริ่มจากการจลาจล เหตุการณ์เหล่านี้คือสิ่งชี้บอกว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะลุกลามไปที่ใด

พูดโดยพื้นฐานแล้วก็คือ เสรีนิยมใหม่ในฐานะของคตินิยมหรือโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ได้จบลงแล้ว ยอมรับมันเสียและเดินหน้าต่อไป ภารกิจการหาทางออกของสิ่งที่ตามมาเป็นเรื่องเร่งด่วน ใครที่ต้องการจะยัดเยียดความยุติธรรมของสังคมและความยั่งยืนให้แก่ทุนนิยมโลกาภิวัตน์มีโอกาสเพียงหนึ่งในศตวรรษเท่านั้น

[con·tin·ue]

บทที่ 1 การล่มสลายกลางกรุง: การล่มสลายของทุนนิยมตลาดเสรี (Midtown Meltdown: The Collapse of Free-Market Capitalism)

บทที่ 2 ไฮเปอร์ไดรฟ์ บลิตซ์ครีก: การอวดดีของวอลล์สตรีททำลายการช่วยพยุงทางการเงินและสร้างอารมณ์โกรธให้อเมริกา (Hyperdrive Blitzkrieg: Wall Street Hubris Kills the Bailout, Enrages America)

บทที่ 3 การปะทุทางการเงิน: จากการระเบิดของการธนาคารไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่หนาวเย็น (Financial Krakatoa: From the Banking Explosion to a Volcanic Winter of Recession)

บทที่ 4 ธนาคารรองเท้าขาว: การปรับลดกฎเกณฑ์ทำให้วาณิชธนกิจมีอำนาจได้อย่างไร (White Shoes: How Deregulation Made the Investment Banks All-Powerful)

บทที่ 5 ซัพไพรม์: เศรษฐกิจค่าแรงต่ำเกื้อกูลการเงินที่มีความเสี่ยงสูงได้อย่างไร (Subprime: How the Low-Wage Economic Fuelled High-Risk Finance)

บทที่ 6 การตรึงสินเชื่อครั้งยิ่งใหญ่: ภาวะบีบรัดตัวทางสินเชื่อและการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อปี 2007-2008 (The Big Freeze: The Credit Crunch and the Inflation Spike of 2007-2008)

บทที่ 7 ความช่วยเหลือไม่สัมฤทธิผล: ความเป็นและความตายของอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ (Helping is Futile: The Life and Death of Neoliberal Ideology)

บทที่ 8 คลื่นที่ถูกรบกวน: เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือเศรษฐกิจขาขึ้นที่ยืนยาว? (The Disrupted Wave: On the Eve of Depression or a New Long Upswing)

บันทึกและเอกสารอ้างอิง (Notes)

เกี่ยวกับผู้เขียน

พอล เมสัน (Paul Mason) เป็นบรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจของรายการ News-Night ของบีบีซี (The British Broadcasting Corporation: BBC) เขาทำข่าวเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์และเรื่องราวที่ว่าด้วยความเป็นธรรมของสังคมจากสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ละตินอเมริกา แอฟริกา และจีน หนังสือของเขาที่ชื่อ 'Live Working or Die Fighting (2007)' อยู่ในรายชื่อหนังสือที่ได้รับการพิจารณารางวัล The Guardian First Book Award ของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนในอังกฤษ บล็อกของพอลเกี่ยวกับเรื่องวิกฤตการณ์ทางการเงินคือ http://www.meltdowntheendoftheageofgreed.com

เกี่ยวกับผู้แปล

ดร.สุรพงษ์ สุวจิตตานนท์ จบปริญญาตรีและปริญญาเอกทางเคมีจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย (University of Western Australia) และมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (University of Melbourne) ตามลำดับ เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ เรื่อยมาจนได้รับตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ปัจจุบันเกษียณอายุราชการ แต่ยังคงความสนใจด้านวิชาการอยู่ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาจิตใจมนุษย์ มีหนังสือแปลออกมา อย่างเช่น รหัสอภิมนุษย์ (Synchronicity), รู้ตื่นให้ทันการณ์ (Waking Up in Time), ชีวิตนี้มีคำถาม (The Big Questions) และทำสิ่งที่คุณรัก เงินมักจะไหลมา (Do What You Love, The Money will Follow)

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page