top of page

วิทยาศาสตร์ในสังคมเสรี (Science in a Free Society)


วิทยาศาสตร์ในสังคมเสรี

แปลจาก Science in a Free Society (1978)

เขียนโดย Paul Karl Feyerabend แปลโดย ดร.วีระ สมบูรณ์ โครงการจัดพิมพ์คบไฟ พิมพ์ครั้งทีหนึ่ง มีนาคม 2549 จำนวน 96 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789747799767

คำนำ

พอล ฟายเออราเบนด์ (Paul Karl Feyerabend) เกิดเมื่อปี 1924 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และเติบโตที่นั่น เมื่อย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม เขาทุ่มเทความสนใจให้กับการละคร การร้องโอเปร่า พร้อมๆ ไปกับการศึกษาวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ ต่อมาเมื่อเยอรมนีบุกยึดออสเตรีย เขาถูกส่งตัวไปรบในสงครามที่ประเทศรัสเซีย ถูกยิงที่หลังบาดเจ็บสาหัส ทำให้เขาเดินไม่คล่องตลอดชีวิต หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เขากลับเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเวียนนา (University of Vienna) โดยเน้นประวัติศาสตร์ แล้วเปลี่ยนเป็นฟิสิกส์ จนจบลงที่ปรัชญา หลังจากนั้นจึงได้เดินทางไปศึกษาปรัชญาวิทยาศาสตร์ต่อที่ London School of Economics ภายใต้การดูแลของคาร์ล ปอปเปอร์ (Karl Raimund Popper: 1902-1994) เน้นการศึกษาควอนตัมฟิสิกส์และงานของลุดวิก วิตเกนสไตน์ (Ludwig Josef Johann Wittgenstein: 1889-1951) โดยเฉพาะงานช่วงหลังของนักปรัชญาผู้นี้ ฟายเออราเบนด์เริ่มต้นงานสอนที่มหาวิทยาลัยบริสตอล (University of Bristol) ประเทศอังกฤษ จนเมื่อปี 1959 เขาจึงย้ายไปสอนประจำที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) สหรัฐอเมริกา และแปลงสัญชาติเป็นชาวอเมริกัน

โดยวิชาชีพ ฟายเออราเบนด์เป็นนักปรัชญาวิทยาศาสตร์ แต่โดยชื่อเสียง เขาเป็นแกะดำในบรรดานักวิชาการแขนงเดียวกับเขา เพราะถึงที่สุดแล้ว เขาก็ประกาศว่าวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์นั้นไม่มีอยู่จริง และยังวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปด้วยว่ามายาภาพในเรื่องวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนปรัชญาเบื้องหลังวิธีการนี้ คือเหตุผลนิยม (Rationalism) เป็นสิ่งที่กำลังเป็นพิษเป็นภัยต่อมนุษย์และจะต้องมีการท้าทายมายาภาพที่ว่านี้

ผมขอเริ่มจากงานเขียนชิ้นสั้นๆ เมื่อปี 1988 แต่ครอบคลุมประเด็นหลักของฟายเออราเบนด์คือ 'Knowledge and the Role of Theories' ตีพิมพ์ใน Philosophy of Social Sciences 18 (1988) หน้าที่ 157-178 ซึ่งต่อมาเขาได้ขยายแนวความคิดดังกล่าวนี้เป็นเค้าโครงหนังสือเล่มเขื่อง ถกเถียงในประเด็นนี้อย่างหลากหลายแง่มุม ครอบคลุมหลายวัฒนธรรมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งงานศิลปะบางแขนง แต่เขาสิ้นชีวิตลงก่อนหน้าที่จะทำงานชิ้นนี้เสร็จ หลังจากนั้นจึงมีผู้นำเอาต้นร่างที่มีอยู่ (บางบทเขียนขึ้นหลายสำนวน ทั้งนี้เพราะฟายเออราเบนด์ทำงานเขียนหนังสืออย่างประณีตจริงจังด้วยใจรักเสมือนเป็นงานศิลปะ) มาจัดทำบรรณาธิการกิจและตีพิมพ์โดยมีชื่อหนังสือ (ตามที่เขาตั้งใจ) ซึ่งสะท้อนความคิดหลักของเขาได้เป็นอย่างดีว่า 'Conquest of Abundance: A Tale of Abstraction versus the Richness of Being (พิชิตความไพศาล: ตำนานว่าด้วยการต่อกรระหว่างการสร้างนามธรรมกับความรุ่มรวยของการดำรงอยู่)' บรรณาธิการโดย Bert Terpstra ตีพิมพ์โดย The University Chicago Press ในปี 1999

ฟายเออราเบนด์เริ่มต้นด้วยคำถามและความเห็นที่ว่าทำไมอารยธรรมกรีกที่ร่ำรวยด้วยความรู้นานาวิธี ไม่ว่าจะเป็นตำนานเทพปกรณัม นิทานพื้นบ้าน การพยากรณ์โดยอาศัยเทพเจ้า ฯลฯ จึงพ่ายแพ้ต่อเหตุผลนิยมและความหลงในพุทธิปัญญา (Intellectualism) ในภายหลัง สำหรับฟายเออราเบนด์ นักปรัชญากรีกที่มีชื่อเสียงทั้งหลายคืออาชญากรทางใจ เพราะเป็นผู้ทำลายชีวิตที่ร่ำรวยหลากหลายของอารยธรรมกรีก จนทุกอย่างหลงเหลือเพียงการลำดับเหตุผลและความรู้แบบอิงทฤษฎีที่อาศัยความสามารถทางพุทธิปัญญาเป็นหลัก เขาต้องการดูว่าปรากฏการณ์นี้มีรายละเอียดอย่างไร และการศึกษาปรากฏการณ์นี้จะโยงถึงสถานการณ์ในปัจจุบันได้อย่างไร เพราะฟายเออราเบนด์เห็นว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับอารยธรรมกรีกเมื่อเกือบ 3 พันปีก่อนกำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบันในนามของวิทยาศาสตร์และเหตุผลนิยม

ฟายเออราเบนด์เริ่มต้นที่ปาร์เมนิเดส (Parmenides of Elea: 515 BC) โดยชี้ให้เห็นถึงแนวความคิดแบ่งแยกความรู้เป็นสองแบบของนักปรัชญาชาวกรีกผู้นั้น ความรู้สองแบบนี้ปาร์เมนิเดสเห็นว่าขึ้นอยู่กับกระบวนวิธีแสวงหาที่ต่างกัน แบบแรกเป็นแบบที่พ้นจากรอยเท้าของมนุษย์เพื่อไปให้ถึงสิ่งที่เหมาะควรและตายตัว การแสวงหาความรู้ในแบบนี้จึงเป็นเรื่องของนามธรรม ไม่ต้องอิงอาศัยประสบการณ์ และลำดับเป็นแนวคิดและเหตุผลได้ชัดเจน ส่วนแบบที่สองเกิดจากการสั่งสมโดยประสบการณ์ มีรากฐานอยู่บนจารีตหรือขนบ (Tradition) ต่างๆ ที่มุ่งแสวงหาความรู้ด้วยวิธีที่หลากหลายออกไป ความรู้ในแบบนี้ปาร์เมนิเดสเห็นว่าเป็นเพียงความเห็นของมนุษย์เดินดิน ไม่มีทางไปถึงสัจจะที่แท้จริงได้

การแบ่งแยกความรู้เป็นสองแบบนี้เองที่ค่อยๆ กลายมาเป็นเหตุผลนิยมซึ่งให้ความสำคัญแก่ความรู้ทางนามธรรมเชิงตรรก และในที่สุดก็มีอิทธิพลครอบงำและทำลายความรู้ในแบบที่สอง ฟายเออราเบนด์ตั้งชื่อแบบความรู้ที่ปาร์เมนิเดสแบ่งแยกเอาไว้ว่าจารีตทางทฤษฎี (Theoretical Tradition) กับจารีตทางประวัติศาสตร์ (Historical Tradition)

จารีตทางทฤษฎีที่เป็นเหตุเป็นผลชัดเจนและเป็นนามธรรมนี้สถาปนาตัวเองและเพิ่มความสำคัญให้แก่ผู้ที่อ้างว่าเป็นผู้รู้ในความรู้แบบนี้โดยกระบวนการสร้างแบบตายตัว (Uniformity) ขึ้นเพื่อให้ความหลากหลายของจารีตทางประวัติศาสตร์ถูกบดบังและหมดคุณค่าลง การสร้างแบบตายตัวนี้เกิดขึ้นในทุกแง่ทุกมุมและอาศัยเครื่องมือที่แตกต่างกันออกไป

  • ในทางความรู้ ก็ยกเหตุผลนิยมและวิทยาศาสตร์ขึ้นเป็นแบบตายตัวที่ความรู้ในแบบอื่นๆ จะต้องคล้อยตามจึงจะถือว่าใช้ได้หรือสามารถดำรงอยู่ในสังคมได้

  • ในทางเศรษฐกิจ แบบตายตัวกลืนทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่อาณาจักรของมันและทำลายคุณค่าในจารีตแบบอื่นๆ ก็คือเงินและตลาดซึ่งกลายเป็นเครื่องวัดมูลค่าที่อยู่เหนือการประเมินค่าจากแง่มุมอื่นๆ

  • ในทางการเมือง นามธรรมในเรื่องรัฐ กลุ่มหรือชนชั้นก็ลดความสำคัญของแบบแผน ความรู้ และวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน

  • ในทางศาสนา พระเจ้าองค์เดียวหรือสัจจะสากลก็ทำลายเทพเจ้าและความเชื่อ ตลอดจนแบบแผนความรู้ในท้องถิ่นต่างๆ

และฟายเออราเบนด์ก็พยายามชี้ให้เห็นว่ากระบวนการสร้างแบบตายตัวและขยายวงอำนาจของมันออกไปก็เกี่ยวพันกับอำนาจหรือผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเสมอ ฟายเออราเบนด์เห็นว่าเวลานี้วิทยาศาสตร์และเหตุผลนิยมกำลังร่วมมือกับอำนาจรัฐและทุนนิยมในการผูกขาดอำนาจและก่อความเดือดร้อนให้แก่จารีตต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะจารีตของชนท้องถิ่นพื้นเมืองต่างๆ ซึ่งไม่อาจกระทำการต่างๆ ตามจารีตของตนได้ เพราะถูกกะเกณฑ์ด้วยวิธีการต่างๆ นานา นับแต่กฎหมาย ระบบตลาด ระบบการศึกษา และการให้สิทธิอำนาจของความรู้ผูกขาดอยู่กับผูุ้มีการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์และเหตุผลนิยม แม้แบบแผนชีวิตและความรู้ท้องถิ่นเหล่านี้จะใช้การได้ อย่างน้อยก็กับคนที่เชื่อและใช้ชีวิตตามแบบแผนนั้น และไม่เคยได้รับการศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบโดยนักวิทยาศาสตร์หรือนักเหตุผลนิยมเลย

ปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้ประการหนึ่งก็คือ ความรู้เรื่องยาและการแพทย์แผนโบราณซึ่งเคยถูกปฏิเสธและด้อยความสำคัญลงเป็นอย่างมาก เมื่อการแพทย์แผนวิทยาศาสตร์ขยายตัวออกไปโดยมีอำนาจรัฐในรูปของกฎหมาย ใบประกอบโรคศิลป์ การให้ทุนอุดหนุนงานค้นคว้าวิจัย การเปิดโอกาสให้ใช้ภาษีอากรของราษฎรไม่ว่าจะในฐานะข้าราชการหรือการจัดตั้งสถาบันการศึกษาอย่างแพร่หลาย ฯลฯ ซึ่งหมอพื้นบ้านแทบจะไม่มีโอกาสเอื้อมมือไปขอส่วนแบ่งมาแม้แต่น้อยนิดได้เลย ครั้นต่อมาเมื่ออำนาจรัฐถูกแยกตัวจากการผูกขาดของการแพทย์แผนวิทยาศาสตร์ดังเช่นกรณีของจีนซึ่งสนับสนุนหมอเท้าเปล่าและความรู้ท้องถิ่นในช่วงหนึ่ง จารีตแบบอื่นๆ ก็สามารถแสดงให้เห็นได้ว่ามีความทัดเทียมหรือเหนือกว่าวิทยาศาสตร์ในหลายด้าน ถึึงแม้ว่าหลักการและวิธีการอาจจะไม่ถูกต้องเมื่อมองจากกรอบวิธีคิดของวิทยาศาสตร์และเหตุผลนิยมก็ตาม

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทุกวันนี้วิทยาศาสตร์ได้กลายเป็นผู้ร้ายที่วิทยาศาสตร์เคยโค่นล้มไปนั่นเอง สมัยก่อนในสังคมตะวันตก คริสต์ศาสนากับอำนาจรัฐเป็นสิ่งที่อาศัยกันและกันในการขยายอำนาจ วิทยาศาสตร์และเหตุผลนิยมได้เคยท้าทายอำนาจนั้นและเรียกร้องให้แยกศาสนจักรออกจากอาณาจักร และศาสนาออกจากการเมือง แต่สิ่งที่ตามมาในบัดนี้ก็คือวิทยาศาสตร์และเหตุผลนิยมซึ่งในสายตาของฟายเออราเบนด์ก็เป็นเพียงจารีตหนึ่ง และแม้จะก่อให้เกิดคุณอนันต์ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโทษ และเมื่อเปรียบกับจารีตอื่นๆ ก็ใช่ว่าจะเหนือกว่าในทุกด้าน ได้เข้าสวมบทบาทศาสนจักรที่คับแคบแทน ทั้งวิทยาศาสตร์และเหตุผลนิยมก็ล้วนเป็นจารีตแบบหนึ่งในการแสวงหาความรู้ดุจเดียวกับที่ศาสนาต่างๆ ก็เป็นจารีตหนึ่งๆ ในการแสวงหาชีวิตทางจิตวิญญาณ ก็ในเมื่อแบบแผนทางจิตวิญญาณกับการใช้อำนาจทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ ไม่ควรจะก้าวก่ายกันแล้ว ไฉนวิทยาศาสตร์และเหตุผลนิยมจึงควรมีอภิสิทธิ์ดังกล่าว

ถ้าจะอ้างว่าวิทยาศาสตร์เป็นแบบแผนความรู้ที่เหนือกว่า จริงกว่า และถูกต้องกว่าแบบอื่นๆ ฟายเออราเบนด์ก็เห็นว่าคำกล่าวอ้างนี้เป็นมายาภาพ เพราะ

  • หนึ่ง - แบบแผนที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ไม่ได้มีแบบแผนเดียวและอาจจะไม่มีอยู่จริง

  • สอง - ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เคยอาศัยและจะต้องอาศัยแบบแผนความรู้ในจารีตอื่นเสมอ

  • และสาม - ทุกๆ จารีตก็คิดว่าจารีตของตนเหนือกว่าจารีตอื่น

ประเด็นนั้นอยู่ที่ว่าเมื่อเราปล่อยให้จารีตหนึ่งรวมศูนย์อำนาจเอาไว้ได้ก็จะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เพราะฉะนั้นเราจึงต้องท้าทายและปฏิเสธอำนาจรวมศูนย์ของวิทยาศาสตร์และเหตุผลนิยม และเปิดโอกาสให้จารีตอื่นๆ เข้ามีส่วนร่วมในการใช้อำนาจและทรัพยากรทางสังคมได้อย่างเสมอบ่าเสมอไหล่

ประชาธิปไตยคือการร่วมกันตกลงแบ่งสรรทรัพยากรโดยสมาชิก แต่เวลานี้มีเฉพาะสมาชิกในจารีตวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่ได้รับการพิจารณาในการแบ่งสรรดังกล่าว แต่อีกหลายคนคงยืนยันในความถูกต้องของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าดีกว่าเหนือกว่าวิธีการอื่นๆ ต่อประเด็นนี้ ฟายเออราเบนด์ก็แย้งว่าสิ่งที่เรียกว่าวิธีการทางวิทยาศาสตร์นั้นไม่มีอยู่จริง เพราะถ้าบอกว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ตั้งอยู่บนการพิสูจน์ให้เห็นจริงมาแล้วเป็นขั้นๆ เราก็จะต้องทิ้งเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ไปแทบทั้งกระบิ เพราะทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมากไม่มีข้อพิสูจน์ หรือหากมีก็มีควบคู่ไปกับข้อพิสูจน์ที่หักล้างทฤษฎีเหล่านั้นได้ นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ก็มักออกนอกลู่นอกทางจากสิ่งที่เข้าใจกันซึ่งเป็นมายาภาพว่าเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์อยู่เสมอ เพราะถ้าไม่อาศัยการออกนอกลู่นอกทางดังกล่าว วิทยาศาสตร์ก็ก้าวหน้ามาถึงขั้นนี้ไม่ได้เช่นกัน

นักวิทยาศาสตร์ยังใช้วิธีการดุจเดียวกับผู้คนในจารีตอื่น เช่น ยอมรับทฤษฎีก่อนที่จะมีข้อพิสูจน์ เลือกเฟ้นข้อมูลหรือข้อพิสูจน์บางอันเพื่อสนับสนุนทฤษฎีไปพลางๆ ก่อน ละเลยข้อพิสูจน์ที่มาหักล้างความรู้ของตน หรือเน้นข้อพิสูจน์ที่หักล้างความรู้ของจารีตอื่นหรือสำนักอื่นๆ ในวงการเดียวกัน ทั้งๆ ที่ข้อพิสูจน์ที่ยืนยันความถูกต้องของความรู้เหล่านั้นก็มีอยู่ นอกจากนี้ยังอ้างชื่อเสียงอ้างเกียรติคุณ (รางวัลโนเบล เป็นต้น) เพื่อพิสูจน์กัน ฯลฯ จนกล่าวได้ว่าถ้าศึกษาการทำงานของวิทยาศาสตร์แล้ว เราไม่อาจพบวิธีการเดียวหรือแม้แนวกว้างๆ ที่จะเรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ได้เลย แม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์อย่างกาลิเลโอ (Galileo Galilei: 1564-1642) ซึ่งถือกันว่าเป็นวีรบุรุษหรือนักบุญของยุคเหตุผลนิยมและวิทยาศาสตร์ก็ใช้วิ่ธีการต่างๆ นานา ทั้งที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์และเป็นวิธีการโฆษณาชวนเชื่อแบบการเมืองเพื่อพิสูจน์ความรู้ของตนและหักล้างคู่ปรปักษ์ กล่าวอีกนัยหนึ่ง วิธีการทางวิทยาศาสตร์จึงเป็นเสมือนอุดมการณ์มากกว่าจะมีอยู่จริง หากแต่ใช้กล่าวอ้างกันอยู่เสมอ และ่อุดมการณ์ที่ว่านี้ก็หามีเนื้อหาอะไรที่ชัดเจนคงเส้นคงวาไม่

การที่วิธีการทางวิทยาศาสตร์ไม่มีอะไรแน่นอนชัดเจนนี้ต่างหากที่เป็นข้อดีเสีย่อีก เพราะถ้ามี วิทยาศาสตร์ก็คงจะหยุดชะงักไปเป็นเวลานานแล้ว เหมือนกับที่ความรู้ในหลายจารีตต้องหยุดชะงักหรือเสื่อมสลายไปเพราะติดอยู่กับพิธีกรรมที่ถูกต้อง ฟายเออราเบนด์จึงประกาศเป็นคำขวัญว่าอะไรก็ได้ (Anything Goes) ซึ่งเป็นการต่อต้านวิธี (Against Method) หรือแนวโน้มที่อ้างกันว่าเป็นวิทยาศาสตร์และยังไม่มีใครประสบความสำเร็จในการแสวงหาวิธีการที่ว่านั้น การยึดติดในวิธีวิทยา (Methodology) แบบใดแบบหนึ่ง นอกจากจะเป็นมายาภาพแล้ว ยังเป็นตัวขัดขวางความก้าวหน้า ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือการเปิดโอกาสให้ใช้วิธีการต่างๆ ได้อย่างเป็นอิสระ ถึงแม้ว่าวิธีการนั้นจะดูนอกคอกก็ตาม การแหกคอกวิธีการที่ยึดติดเป็นมายานี้เป็นไปได้ทั้งในแวดวงจารีตวิทยาศาสตร์และเหตุผลนิยมเอง รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้จารีตอื่นซึ่งอาศัยวิธีหรือพิธีกรรมอื่นๆ ได้กระทำการอย่างเป็นตัวของตัวเองและไม่ถูกครอบงำโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์

ฟายเออราเบนด์จึงถือตัวว่าเป็นอนาธิปัตย์ในทางญาณวิทยา (Epistemological Anarchist) กล่าวคือในการแสวงหาความรู้ เราจะต้องปฏิเสธจารีตหรือสำนักวิธีวิทยาที่ต้องการสถาปนาตนเป็นองค์อธิปัตย์ มีสิทธิอำนาจผูกขาดการแสวงหาความรู้ (ความรู้ที่ไม่เป็นไปตามวิธีวิทยานี้ถือว่าผิด) และผูกขาดการจัดสรรทรัพยากรทางสังคมเพื่อสถาปนาและขยายพรมแดนแห่งความรู้ (ความรู้ที่อยู่นอกจารีตนี้ไม่ควรได้รับการสนับสนุนโดยรัฐหรือสังคม) และในอันที่จะทำเช่นนั้นได้ก็จะต้องมีการโยงแบบแผนของความรู้ให้เข้ากับประเด็นทางการเมืองในเรื่องประชาธิปไตยและเสรีภาพ กล่าวคือจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นปัญหาต่างๆ ในสังคมมีสิทธิ์เข้าร่วมในการตัดสินใจได้ ไม่ว่าข้อโต้แย้งของเขาผู้นั้นจะอยู่บนรากฐานของจารีตหรือวิธีวิทยาในแบบใด

ข้อเขียนของฟายเออราเบนด์สั่นคลอนความเชื่อของคนเป็นจำนวนไม่น้อย นับแต่นักวิชาการทั่วไปที่ยึดมั่นในวิธีวิทยาศาสตร์แบบใดแบบหนึ่งไปจนถึงนักปรัชญาและมาร์กซิสต์ (Marxists) ที่เชื่อว่าวิทยาศาสตร์เป็นความก้าวหน้าล่าสุดในด้านความรู้ของมนุษยชาติ ทั้งข้อวิจารณ์ที่คมคายและนำเสนอแบบสงครามกองโจร และข้อเสนอที่คลุมเครือแต่ก็น่าคิดของเขา เป็นการรุกตั้งคำถามท้าทายโครงสร้างอำนาจในปัจจุบันในอีกแง่มุมหนึ่ง โลกที่ฟายเออราเบนด์นำเสนอเป็นโลกของความสับสน แต่เขาก็ยืนยันว่านั่นเป็นเรื่องปกติที่ไม่ต้องทำให้เรียบร้อยเป็นระบบราบคาบ ความคิดในแง่นี้ของฟายเออราเบนด์แม้จะเกี่ยวข้องกับวิชาเฉพาะวิชาหนึ่ง แต่ก็มีนัยกระทบถึงรากฐานความเข้าใจของเราที่มีต่อตัวเองและสังคมที่แวดล้อมเราอยู่

ฟายเออราเบนด์ถึงแก่กรรมด้วยโรคเนื้องอกในสมองเมื่อปี 1994 ก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี หนังสือ Who's Who in America ใส่ชื่อเขาลงในทำเนียบของหนังสือ โดยเขาได้เขียนบรรยายตัวเองตอนท้ายไว้ว่า

"ชีวิตของผมเป็นผลมาจากอุบัติการณ์ มิได้เป็นผลมาจากเป้าหมายหรือหลักการ และงานทางพุทธิปัญญาของผมนั้นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งอันน้อยนิดของชีวิต ความรักและความเข้าใจส่วนบุคคลต่างหากที่สำคัญกว่ายิ่งนัก แต่ปัญญาชนชั้นนำทั้งหลายที่คลั่งไคล้ในภววิสัยกลับฆ่าพื้นฐานที่เป็นส่วนบุคคลเหล่านี้ทิ้งไป คนพวกนี้คืออาชญกร หาใช่ผู้ปลดปล่อยมนุษยชาติไม่"

ฟายเออราเบนด์ย้ำเสมอว่าเขาไม่ใช่คนที่ต่อต้านวิทยาศาสตร์หรือความรู้เชิงเหตุผล สิ่งที่เขาต่อต้านคืออำนาจและการทำลายล้างที่มาพร้อมกับความหลงใหลในองค์ความรู้แบบใดแบบหนึ่งอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้เพราะการทำลายล้างและการทำให้ความเป็นมนุษย์ยากจนลงนั้น ไม่ว่าจะมาในนามของอะไรก็ล้วนไม่แตกต่างจากกัน

[con·tin·ue]

Part Two: Science in a Free Society

บทที่ 1 คำถามสองข้อ (Two Questions)

บทที่ 2 บัลลังก์ของวิทยาศาสตร์คือสิ่งคุกคามประชาธิปไตย (The Prevalence of Science a Threat to Democracy)

บทที่ 3 ปีศาจสัมพัทธคติ (The Spectre of Relativism)

บทที่ 4 การตัดสินโดยประชาธิปไตยย่อมอยู่เหนือสัจจะและความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ (Democratic Judgement overrules Truth and Expert Opinion)

บทที่ 5 ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญมักลำเอียง เชื่อไม่ได้ และต้องมีการตรวจสอบ (Expert Opinions often Prejudiced, Untrustworthy, and in Need of Outside Control)

บทที่ 6 เรื่องแปลกๆ เกี่ยวกับโหราศาสตร์ (The Strange Case of Astrology)

บทที่ 7 สามัญชนสามารถและต้องควบคุมแนะนำวิทยาศาสตร์ (Laymen can and must Supervise Science)

บทที่ 8 ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเลิศ (Arguments from Methodology do not Establish the Excellence of Science)

บทที่ 9 วิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้น่าพิสมัยเพราะผลงาน (Nor is Science Preferable because of its Results)

บทที่ 10 วิทยาศาสตร์เป็นเพียงอุดมการณ์แบบหนึ่งในหลายๆ แบบจึงควรแยกขาดจากรัฐดังที่ได้มีการแยกศาสนาออกจากการเมือง (Science is One Ideology among many ans should be separated from the State just as Religion is now separated from the State)

บทที่ 11 ที่มาของความคิดในข้อเขียนชิ้นนี้ (Origin of the Ideas of this Essay)

เกี่ยวกับผู้เขียน

ดร.พอล ฟายเออราเบนด์ (Paul Karl Feyerabend: 1924-1994) อดีตศาสตราจารย์ทางด้านปรัชญาวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) หนังสือ 'Against Method: Outline of an Anarchist Theory of Knowledge (1975)' ของเขาซึ่งตีพิมพ์เมื่อสามทศวรรษที่แล้วมีผู้กล่าวขวัญและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งในหมู่นักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ และนักสังคมศาสตร์ ในหนังสือเล่มนั้น เขาโจมตีสิ่งที่เรียกว่าวิธีทางวิทยาศาสตร์และระบบเหตุผลอย่างถึงพริกถึงขิง และเรียกร้องให้วิธีวิทยาศาสตร์และระบบเหตุผลทั้งหลายเลิกทำตัวเป็นรัฐในทางความรู้ ส่วน 'วิทยาศาสตร์ในสังคมเสรี (Science in a Free Society, 1978)' นี้ฟายเออราเบนด์ได้สรุปสาระของข้อโจมตีและเรียกร้องดังกล่าว พร้อมทั้งเสนอภาพสังคมที่จารีตทางความรู้อื่นๆ นอกเหนือจากวิทยาศาสตร์และเหตุผลนิยมจะมีโอกาสแสดงศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่และเป็นอิสระ

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 

bottom of page