เผชิญภัยคุกคามโลก: ศตวรรษที่ 21 กับความมั่นคงที่ยั่งยืน (Global Responses to Global Threats: Sustain
เผชิญภัยคุกคามโลก: ศตวรรษที่ 21 กับความมั่นคงที่ยั่งยืน
แปลจาก Global Responses to Global Threats: Sustainable Security for the 21th Century (2006)
เขียนโดย Chris Abbott, Paul Rogers และ John Sloboda แปลโดยสุนทรี เกียรติประจักษ์ บรรณาธิการโดยชนิดา จรรยาเพศ โครงการจัดพิมพ์คบไฟและคณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ครั้งทีสอง กันยายน 2551 (พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง มิถุนายน 2550) จำนวน 120 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789747669961
คำนำนิยม
"เป็นรายงานที่สร้างแรงบันดาลใจได้อย่างแท้จริง บทวิเคราะห์อันสุขุมและอุดมด้วยเหตุผลนี้เป็นกระแสลมกระโชกแรงที่ทุกคนรอคอยให้พัดโต้กลับปฏิกิริยาของสหรัฐอเมริกาต่อความไร้ระเบียบของโลกปัจจุบันซึ่งมีลักษณะรับใช้ตนเองและก่อผลในทางตรงกันข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่กำลังต้องการแนวคิดที่กอปรด้วยจินตนาการและความหวังของรายงานนี้ในรูปของยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางเลือกที่ยั่งยืน" - โรเบิร์ต กรีน (Robert Green) ศูนย์ความมั่นคงและการปลดอาวุธ มูลนิธิสันติภาพนิวซีแลนด์ (Disarmament and Security Centre, New Zealand Peace Foundation)
"รายงานฉบับใหม่นี้โต้แย้งอย่างสมเหตุสมผลชวนให้เชื่อว่าสงครามต่อต้านการก่อการร้ายเป็นการเบนความสนใจเฉพาะหน้าไปจากประเด็นปัญหาระดับพื้นฐานในระยะยาวที่คุกคามความอยู่ดีมีสุขของโลกในอนาคตอย่างร้ายแรง หากรายงานนี้สามารถจะกระตุ้นให้ผู้วางนโยบายแม้จะไม่กี่คนเปลี่ยนจุดเน้นจากกลยุทธ์ที่ช่วยให้ชนะเลือกตั้งไปเป็นการหาทางออกที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ รายงานนี้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง" - แจ๊ค เมนเดลโซห์น (Jack Mendelsohn) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (US Department of State, 1963-1985) และศาสตราจารย์ด้านกิจการความมั่นคงแห่งชาติ โรงเรียนนายเรือสหรัฐฯ (US Naval Academy, 1998-1999)
"เป็นรายงานที่จริงจัง ลุ่มลึก ชวนให้คิด ผลการศึกษาที่ทรงค่าชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อความพยายามร่วมกันที่จะสร้างโลกที่ดีกว่านี้" - นิว เชียง (Niu Qiang) เลขาธิการสมาคมประชาชนจีนเพื่อสันติภาพและการปลดอาวุธ (Chinese People’s Association for Peace and Disarmament)
"เป็นเอกสารอ้างอิงและงานเขียนที่จำเป็นต้องอ่านอย่างยิ่งสำหรับใครก็ตามที่ต้องการเปลี่ยนทิศทางของโลกไปจากเส้นทางหายนะที่เป็นอยู่ นอกจากจะแสดงให้เห็นภาพเต็มๆ ของความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันของปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่อย่างชัดเจนแล้ว รายงานนี้ยังมีข้อเสนอแนะที่ทรงพลังว่าเราจะสามารถเปลี่ยนแนวทางเดินไปสู่อนาคตที่มั่นคงกว่านี้ได้อย่างไร" - เจเน็ต บลูมฟิลด์ (Janet Bloomfield) ผู้ประสานงานอังกฤษของกลุ่มอะตอมิคมิเรอร์ (Atomic Mirror) และประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปลดอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Disarmament, 1993-1996)
"วาทกรรมกระแสหลักเรื่องความมั่นคงในช่วงหลังเหตุการณ์ 9/11 ดำรงอยู่ด้วยมายาคติ 3 อย่างคือ การก่อการร้ายไม่มีสาเหตุอะไรที่ควรค่าแก่การอภิปราย การก่อการร้ายเป็นกิจกรรมนอกภาครัฐเท่านั้น และควรให้ความสำคัญแก่สงครามต่อต้านการก่อการร้ายเหนือกว่าปัญหาท้าทายโลกอื่นๆ ทั้งหมด รายงานฉบับนี้เพียบพร้อมด้วยข้อเท็จจริงและข้อโต้แย้งหนักแน่นที่หักล้างมายาคติทั้ง 3 ประการ ทั้งยังบอกให้รู้ว่าภาครัฐบาลและภาคประชาสังคมมีภาระเร่งด่วนเพียงใดที่จะต้องคิดใหม่และขยายกรอบคิดและนโยบายด้านความมั่นคงให้กว้างขวางกว่าเดิม" - ดร.ยาน โอเบิร์ก (Jan Øberg: 1951-) ผู้อำนวยการมูลนิธิข้ามชาติเพื่อการวิจัยอนาคตและสันติภาพ (Transnational Foundation for Peace and Future Research: TFF)
"ในรายงานฉบับนี้ ผู้เขียนวิเคราะห์ภัยคุกคามสันติภาพและความมั่นคงจากมุมมองที่พยายามหาทางขจัดภัยดังกล่าวออกไป แล้วสร้างโลกแห่งความมั่นคงที่ยั่งยืนสำหรับทุกคนขึ้นมา ประเด็นหลักทั้งหลายที่ยกมาอภิปรายและความเชื่อมโยงกันของประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณาและต้องพิจารณา ณ บัดนี้ ในขณะที่ยังพอมีเวลาและโอกาสที่จะแก้ไขอะไรได้ ข้อเสนอแนะในรายงานนี้จะต้องรับฟังกันอย่างจริงจัง" - ซูซี่ ซไนเดอร์ (Susi Snyder) เลขาธิการสันนิบาตสตรีระหว่างประเทศเพื่อสันติภาพและเสรีภาพ (Women's International League for Peace and Freedom: WILPF)
คำนำ การจัดพิมพ์ครั้งที่สอง โดยศาสตราจารย์ ดร.สุริชัย หวันแก้ว
หนังสือ 'เผชิญภัยคุกคามโลก: ศตวรรษที่ 21 กับความมั่นคงที่ยั่งยืน' แปลมาจากรายงานเรื่อง 'Global Responses to Global Threats: Sustainable Security for the 21th Century' งานชิ้นนี้เป็นดอกผลมาจากการดำเนินงานวิจัยเกือบ 2 ปี ภายใต้โครงการเคลื่อนไหวสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืน (Moving Towards Sustainable Security) ของกลุ่มวิจัยอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford Research Group: ORG) ได้เผยแพร่เป็นเอกสารครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2006 เป็นที่ฮือฮากันมากในหมู่นักนโยบายความมั่นคงและนักกิจกรรมเพื่อสันติภาพ
เมื่อปลายปี 2006 คุณราณี หัสสรังสี ผู้ประสานคณะทำงานวาระทางสังคมมีโอกาสไปเยี่ยมเยือนมิตรเก่าที่สหราชอาณาจักรซึ่งทำงานในองค์กรสันติภาพ Quaker ได้ขอให้แนะนำหนังสือเกี่ยวกับสันติภาพที่น่าสนใจ ก็ได้รับการแนะนำให้อ่านรายงานฉบับนี้ ต่อมาคณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดแปลรายงานฉบับนี้เป็นภาษาไทยและเผยแพร่ในหมู่นักกิจกรรมทางสังคมและนักวิชาการซึ่งรวม ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กรรมการโครงการจัดพิมพ์คบไฟด้วย หนังสือ 'เผชิญภัยคุกคามโลก: ศตวรรษที่ 21 กับความมั่นคงที่ยั่งยืน' จึงได้ปรากฏสู่บรรณพิภพของสังคมไทยเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2007 รายงานนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือภาษาอังกฤษชื่อ Beyond Terror: The Truth About the Real Threats to Our World โดยสำนักพิมพ์แรนดอม (Random House) ในเดือนเมษายน 2007 ซึ่งมีการแปลเป็นภาษาโปรตุเกส ภาษาดัทช์ ภาษาเยอรมัน และภาษาสเปนอีกด้วย
สารัตถะของหนังสือเล่มนี้เป็นสหวิชาการที่สอดรับกับความสลับซับซ้อนของโลกปัจจุบันเป็นอย่างดียิ่งเมื่อพูดถึงภัยคุกคามโลก ผู้นำชาติมหาอำนาจจะเอ่ยขึ้นทันทีว่าภัยคุกคามใหญ่คือลัทธิก่อการร้าย แต่รายงานฉบับนี้กลับชี้ให้เห็นว่าลัทธิก่อการร้ายเป็นเพียงภัยคุกคามย่อยเมื่อเปรียบเทียบกับภัยคุกคามมนุษยชาติที่ใหญ่หลวงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยที่เกิดจากการพังทลายของระบบนิเวศวิทยาของโลกและการแย่งชิงทรัพยากรที่ส่งผลกระทบต่อคนในโลกนับจำนวนหลายล้านคน หวังว่าการพิมพ์หนังสือเล่มนี้จะเปิดโอกาสให้สังคมไทยได้หันมาพินิจพิจารณาถึงภัยคุกคามต่างๆ ในสังคมของเราอย่างละเอียดถี่ถ้วนด้วยสติสัมปชัญญะ ตลอดจนการระดมความรู้ความคิดร่วมกันในการเผชิญภัยคุกคามโลกและประเทศของเราในอนาคต ทั้งนี้ก็เพื่ออนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนของประชาชนร่วมกันอย่างแท้จริง
บทสรุปย่อสำหรับผู้บริหาร (Executive Summary)
นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 9/11 และพัฒนาการของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายขึ้น มีการประโคมกันในกรุงวอชิงตัน ลอนดอน และในเมืองหลวงต่างๆ ของประเทศตะวันตกว่าการก่อการร้ายสากลเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงที่สุดที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อปัจจุบัน แต่ทว่ารายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นว่าการก่อการร้ายสากลเป็นเพียงภัยคุกคามย่อยเมื่อเปรียบเทียบกับแนวโน้มความเป็นไปอื่นๆ ในโลกซึ่งร้ายแรงกว่า และการตอบโต้กับแนวโน้มเหล่านี้ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันมีแต่จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการโจมตีของผู้ก่อการร้ายให้มีมากยิ่งขึ้นแทนที่จะลดลง
ในการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาเหล่านี้ รายงานฉบับนี้จะเสนอภาพรวมของปัจจัย 4 กลุ่ม ซึ่งผู้เขียนชี้ว่าเป็นสาเหตุรากเหง้าของความขัดแย้งและความไม่มั่นคงในโลกทุกวันนี้ ขณะเดียวกันก็น่าที่จะเป็นตัวกำหนดความขัดแย้งในอนาคตด้วย ได้แก่ ความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก การแย่งชิงทรัพยากร การเบียดขับโลกส่วนใหญ่ให้อยู่ชายขอบ และการแผ่ขยายการทหารทั่วโลก ปัจจัยเหล่านี้คือแนวโน้มที่น่าจะนำไปสู่ความไม่มั่นคงอย่างมีแก่นสารทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค รวมถึงการสูญเสียชีวิตในวงกว้าง ในปริมาณที่ภัยคุกคามอื่นใดอันอาจมีไม่สามารถเทียบได้เลย
การตอบโต้กับภัยคุกคามเหล่านี้ในปัจจุบันมีลักษณะที่สามารถเรียกได้ว่ากระบวนทัศน์ควบคุม อันเป็นความพยายามที่จะธำรงรักษาสถานภาพเดิมเอาไว้ด้วยวิธีทางการทหารและการควบคุมความไม่มั่นคงไว้โดยไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ผู้เขียนโต้แย้งว่านโยบายด้านความมั่นคงที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้มีแต่จะแพ้ภัยตัวเองในระยะยาวจึงจำเป็นจะต้องมีแนววิธีการใหม่ แนววิธีจัดการความมั่นคงของโลกแบบใหม่จะมีลักษณะที่เรียกว่ากระบวนทัศน์ความมั่นคงที่ยั่งยืน ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างแนววิธีใหม่กับกระบวนทัศน์ควบคุมอยู่ตรงที่แนวใหม่นี้ไม่พยายามที่จะควบคุมภัยคุกคามแต่ฝ่ายเดียวด้วยการใช้กำลัง (กำจัดอาการ) แต่มุ่งหมายที่จะร่วมมือกันแก้ไขสาเหตุรากเหง้าของภัยคุกคามเหล่านั้นโดยใช้เครื่องมือที่ใช้ได้ผลที่สุดเท่าที่จะหาได้ (รักษาโรค) ยกตัวอย่างเช่น แนววิธีการของความมั่นคงที่ยั่งยืนจะให้ความสำคัญแก่พลังงานทดแทนในฐานะที่เป็นทางออกหลักของปัญหาความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในฐานะเป็นการตอบโต้กับการแย่งชิงทรัพยากร การลดความยากจนในฐานะที่เป็นวิธีการแก้ไขการเบียดขับให้อยู่ชายขอบ และการยุติและถอยหลังจากการพัฒนาและแพร่กระจายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงในฐานะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสกัดกั้นการแผ่ขยายอำนาจทางการทหารทั่วโลก วิธีการเหล่านี้จะเปิดโอกาสที่ดีที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงหายนะภัยระดับโลก ทั้งยังจะแก้ไขสาเหตุรากเหง้าบางประการของการก่อการร้ายได้ด้วย
รัฐบาลทั้งหลายคงจะไม่ยินดีน้อมรับแนวความคิดเหล่านี้หากปราศจากแรงกดดันจากเบื้องล่าง ผู้เขียนโต้แย้งว่านี่เป็นโอกาสที่หาไม่ได้อีกแล้วที่องค์กรพัฒนาเอกชนกับภาคประชาสังคมโดยรวมจะประสานความพยายามเข้าด้วยกันเพื่อโน้มน้าวรัฐบาลให้เชื่อว่าแนววิธีการใหม่นี้ปฏิบัติได้และจะประสบผลดี นี่จะหมายถึงการเชื่อมร้อยกันระหว่างประเด็นสันติภาพ การพัฒนา และสิ่งแวดล้อมอย่างแนบแน่นขึ้นกว่าที่เคยพยายามทำกันในปีต่อๆ ไปข้างหน้า การมีผู้นำชุดใหม่ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรอาจจะเป็นโอกาสอันดียิ่งสำหรับการสร้างความก้าวหน้าในเรื่องนี้ก็ได้ แต่ถ้าหากไม่มีการปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ก็คงจะยากมากหรือเป็นไปไม่ได้เลยที่ระบบโลกจะหลีกเลี่ยงภาวะไร้เสถียรภาพอย่างรุนแรงเมื่อถึงกลางศตวรรษนี้ได้
[con·tin·ue]
บทนำ: ภยันตรายที่โจ่งแจ้งและปัจจุบัน ใช่ละหรือ? (Introduction: A Clear and Present Danger?)
บทที่ 1 ความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change)
ผลกระทบทางสังคมจากความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (The Social Impacts of Climate Change) พลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่คำตอบ (Nuclear is not the Answer) และพลังงานทดแทน (Renewable Energy)
บทที่ 2 การแย่งชิงทรัพยากร (Competition Over Resources)
การย้ายฐานทรัพยากร (The Resource Shift) น้ำมันกับความมั่นคงของสหรัฐฯ (Oil and US Security) และการเมืองเรื่องน้ำ (Water Politics)
บทที่ 3 การเบียดขับโลกส่วนใหญ่ให้อยู่ชายขอบ (Marginalisation of the Majority World)
ผลสืบเนื่องด้านความมั่นคงของโรคเอชไอวี/เอดส์ (The Security Implications of HIV/AIDS) การแบ่งแยกทางสังคมเศรษฐกิจ (Socio-Economic Divisions) และสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (The War on Terror)
บทที่ 4 การแผ่ขยายการทหารทั่วโลก (Global Militarisation)
กองทัพในระยะเปลี่ยนผ่าน (Forces in Transition) การโจมตี 9/11 และเหตุการณ์ที่ตามมา (The 9/11 Attacks and After) และอาวุธท่ีมีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction)
บทที่ 5 บทอภิปราย: หนทางข้างหน้า (Discussion: The Way Forward)
บทสรุป
อภิธานศัพท์ (Glossary)
เกี่ยวกับผู้เขียน
คริส แอ็บบอต (Chris Abbott) เป็นเจ้าหน้าที่วิจัยของกลุ่มวิจัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford Research Group: ORG) มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานความมั่นคงของโลก เขาเป็นผู้ประสานงานโครงการภัยคุกคามโลกของกลุ่มฯ และเป็นผู้เขียนหลักของรายงานฉบับนี้ ก่อนหน้านี้เขาเคยทำงานรณรงค์และวิจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมหลายเรื่อง นอกเหนือจากรายงานวิจัยของกลุ่มฯ เขายังได้เขียนบทความเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงของโลกลงตีพิมพ์ในสิ่งพิมพ์หลากหลายฉบับทั้งในสหราชอาณาจักรและในต่างประเทศ
ดร.พอล โรเจอร์ส (Paul Rogers: 1943-) เป็นศาสตราจารย์ด้านสันติศึกษาที่มหาวิทยาลัยแบรดฟอร์ด (University of Bradford) และเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของโลกของกลุ่มวิจัยออกซ์ฟอร์ด เขาทำงานในสาขาความมั่นคงระหว่างประเทศ การควบคุมอาวุธ และความรุนแรงทางการเมืองมากว่า 30 ปี เป็นผู้บรรยายในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยกลาโหมของหลายๆ ประเทศ และเขียนหนังสือมาแล้ว 20 เล่ม เขายังเป็นนักวิจารณ์ประเด็นความมั่นคงของโลกที่มีผลงานประจำในสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ
ดร.จอห์น สโลโบดา (John Anthony Sloboda: 1950-) เป็นกรรมการบริหารของกลุ่มวิจัยออกซ์ฟอร์ด เขาเป็นศาตราจารย์ด้านจิตวิทยาและนักวิจัยกิตติมศักดิ์ที่สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเมือง และสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยคีล (Keele University) เขาได้ร่วมก่อตั้งและบริหารโครงการนับศพในอิรัก (Iraq Body Count Project) ซึ่งกลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการเสียชีวิตของพลเรือนอิรักในระหว่างสงครามและหลังจากนั้นอย่างรวดเร็ว ในเดือนกรกฎาคม 2004 เขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกบัณฑิตยสภาของอังกฤษ
กลุ่มวิจัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford Research Group: ORG) เป็นกลุ่มนักวิชาการอิสระที่ดำเนินงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางบวกในประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงในระดับชาติและระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1982 เป็นองค์กรการกุศลและบริษัทจำกัดมหาชนขนาดเล็ก มีบุคลากรประจำและที่ปรึกษาที่เป็นกลุ่มแกนจำนวนไม่มาก กำกับดูแลโดยคณะกรรมการบริหาร และได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายผู้อุปถัมภ์และผู้ร่วมงานอีกจำนวนหนึ่ง ในปี 2003 กลุ่มวิจัยออกซ์ฟอร์ดได้รับรางวัลสันติภาพนิวาโน (Niwano Peace Price) และในเดือนเมษายน 2005 ได้รับการยกย่องจากหนังสือพิมพ์เดอะอินดิเพนเด้นต์ (The Independent) ให้เป็น 1 ใน 20 กลุ่มทิงก์แทงก์ (Think Tank) ชั้นแนวหน้าของสหราชอาณาจักร
"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)
Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com