top of page

ความทรงจำ ความฝัน ความคิดคำนึง (Memories, Dreams, Reflections)


ความทรงจำ ความฝัน ความคิดคำนึง

แปลจาก Memories, Dreams, Reflections (1961, 1962, 1963)

อัตชีวประวัติเขียนโดย Carl Gustav Jung บันทึกและบรรณาธิการโดย Aniela Jaffé แปลจากต้นฉบับภาษาเยอรมันโดย Richard Winston และ Clara Brussel Winston แปลโดยพจนา จันทรสันติ โครงการจัดพิมพ์คบไฟ พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง มิถุนายน 2551 จำนวน 520 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740985273

จิตเป็นสิ่งที่ละเอียดซับซ้อนและเข้าถึงได้ยากยิ่งกว่าร่างกายมากนัก อาจกล่าวได้ว่ากว่าครึ่งของโลกเกิดมีขึ้นและดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อเราตระหนักรู้ถึงมัน ดังนั้นจิตใจจึงมิใช่เป็นเพียงแค่ปัญหาส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาของโลกด้วย จึงเท่ากับว่าจิตแพทย์ต้องเข้าสัมพันธ์กับโลกทั้งโลก ในทุกวันนี้เราอาจแลเห็นได้ว่าหายนภัยซึ่งคุกคามเราอยู่นั้นหาได้มาจากธรรมชาติไม่ ทว่าเกิดขึ้นมาจากน้ำมือของมนุษย์ จากดวงจิตของปัจเจกบุคคลและของมหาชน จิตใจอันพร่ามัวและวิปลาสสับสนของมนุษย์คือภยันตรายประการนั้น ทุกสิ่งจึงขึ้นอยู่กับจิตใจของเราว่ามีสมดุลเพียงใด ถ้าหากว่ามีใครบางคนเกิดโมโหฉุนเฉียวขึ้นมา ระเบิดไฮโดรเจนก็จะถูกปล่อยออกไป

คำนำ (Introduction) โดยอนีลา จาฟเฟ่ (Aniela Jaffé: 1903-1991)

"เขาส่องดูดวงวิญญาณของตน ด้วยกล้องโทรทรรศน์ ที่ดูเหมือนไร้รูปลักษณ์ เขากลับแลเห็น ชี้ชวนว่าเป็นดาวฤกษ์อันงดงาม และแต่งแต้มให้แก่จิตใจ ด้วยโลกอันซับซ้อนซ่อนเร้น (He looked at his own Soul with a Telescope. What seemed all irregular, he saw and shewed to be beautiful Constellations; and he added to the Consciousness hidden worlds within worlds.)" - จากสมุดบันทึกของโคลริดช์ (Coleridge's Notebooks, Samuel Taylor Coleridge: 1772-1834)

หนังสือเล่มนี้มีจุดกำเนิดมาจากการประชุมอีรามนอส (Eranos Conference) ซึ่งจัดขึ้นในเมืองอัสโคนา (Ascona, Switzerland) เมื่อฤดูร้อนปี 1956 ซึ่งควอร์ท วูลฟ์ (Oberleutnant Kurt Wolff: 1895-1917) บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาได้สนทนากับเพื่อนๆ จากซูริก (Zürich, Switzerland) กล่าวถึงความตั้งใจว่าอยากจะให้สำนักพิมพ์แพนธีออนบุ๊คแห่งนิวยอร์ก (Pantheon Books of New York) ได้มีโอกาสจัดพิมพ์หนังสืออัตชีวประวัติของคาร์ล กุสตาฟ ยุง (Carl Gustav Jung: 1875-1961) ดร.โยลันเด ยาโคปี (Jolande Jacobi: 1890-1973) ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่สนิทสนมคุ้นเคยกับยุงได้เสนอให้หน้าที่การจัดทำอัตชีวประวัตินี้ตกเป็นภาระของฉัน พวกเราทุกคนตระหนักดีว่างานนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรู้กันดีว่ายุงไม่ชอบเปิดเผยชีวิตส่วนตัวต่อสาธารณชน อย่างไรก็ดีเขาตอบตกลงหลังจากครุ่นคิดลังเลอยู่นาน ทว่าเมื่อได้รับปากแล้ว เขาก็อุทิศตลอดทั้งยามบ่ายให้ฉันสัปดาห์ละครั้งเพื่อจะได้ร่วมงานกัน ซึ่งเมื่อพิจารณาดูจากการงานและภารกิจอันท่วมท้นของเขาแล้วก็นับว่าเป็นเวลาค่อนข้างมากและเขาก็เหนื่อยง่ายด้วยในขณะนั้นมีอายุสูงวัยกว่า 80 ปีแล้ว

เราเริ่มงานกันในฤดูใบไม้ผลิปี 1957 โดยมีแนวทางว่าให้เขียนหนังสือเล่มนี้ออกมาในรูปของอัตชีวประวัติ มิใช่ในเชิงชีวประวัติ โดยมีตัวยุงเองเป็นผู้บรรยาย แนวทางนี้เป็นตัวกำหนดรูปแบบของหนังสือ ฉันจึงมีหน้าที่คอยซักถามและจดตามคำบอกเล่าของเขา ถึงแม้เขาจะดูค่อนข้างเงียบขรึมในตอนแรก แต่ก็ค่อยๆ อบอุ่นเป็นกันเองมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เขาเริ่มเล่าเรื่องราวของตนเอง เล่าถึงพัฒนาการ ความฝัน และความคิดคำนึงต่างๆ ด้วยอาการอันกระตือรือร้นยิ่ง พอถึงปลายปี ความร่วมมือกันอย่างกลมกลืนนี้ก็ได้นำไปสู่การตัดสินใจอีกก้าวหนึ่ง หลังจากความเลอะเลือนสับสนภายใน ภาพของวัยเด็กซึ่งได้เก็บงำไว้เป็นเวลาเนิ่นนานก็ได้ผุดขึ้นมาอย่างแจ่มชัดในดวงจิต เขารู้สึกว่าประสบการณ์ในอดีตเหล่านี้มีความเกี่ยวพันกับแนวคิดต่างๆ ในผลงานที่เขาได้เขียนขึ้นมาในวัยชรา แต่ทว่าไม่อาจนึกถึงที่มาของมันได้แจ่มชัดนัก อยู่มาเช้าวันหนึ่งเขาจึงบอกกับฉันว่าอยากจะเขียนถึงความทรงจำในช่วงวัยเยาว์ด้วยตนเอง มาถึงตอนนี้เขาก็ได้บอกเล่าถึงความทรงจำช่วงปฐมวัยของชีวิตให้ฉันรับฟังเป็นอันมาก ทว่าก็ยังมีความไม่ต่อเนื่องอยู่ในเรื่องราวเหล่านั้น

การตัดสินใจนี้เป็นเรื่องคาดไม่ถึงและน่ายินดีอย่างเหลือล้น เพราะฉันรู้ดีว่าการเขียนหนังสือเป็นเรื่องยากลำบากเพียงใดสำหรับยุงในเวลานี้ ความชราภาพของเขาทำให้ไม่อาจรับปากเขียนงานให่ใคร ยกเว้นแต่เขาจะรู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่เขาอยากจะกระทำ นี่เป็นเครื่องยืนยันถึงการใช้คำว่าอัตชีวประวัตินั้นเหมาะสมและถูกต้องจากแง่มุมแห่งชีวิตภายในของเขาเอง

หลังจากได้เกิดทิศทางใหม่ขึ้นสำหรับหนังสือเล่มนี้ ฉันจึงได้บันทึกความเห็นของเขาไว้ "หนังสือเล่มนี้ของฉันดูเหมือนจะขึ้นอยู่กับชะตากรรม มีสิ่งอันไม่อาจคาดเดาได้เกิดขึ้นกับวิธีการนำเสนอ และฉันเองก็ไม่อาจบอกตัวเองได้ว่ามันจะดำเนินไปเยี่ยงไร อัตชีวประวัติเล่มนี้ได้ดำเนินไปในทิศทางแตกต่างจากที่ฉันนึกภาพไว้ในตอนแรก มันกลับกลายเป็นความจำเป็นที่ฉันจะต้องลงมือเขียนเรื่องราวชีวิตวัยเยาว์ขึ้นด้วยตนเอง ซึ่งถ้าหากฉันละเลยไม่เขียนแม้เพียงวันหนึ่งก็จะเกิดอาการครั่นเนื้อครั่นตัวไม่สบายขึ้นมา แต่ครั้นพอนั่งลงทำงานมันก็หายเป็นปลิดทิ้ง และดวงความคิดก็กลับแจ่มใสขึ้นอย่างฉับพลัน"

ล่วงถึงเดือนเมษายน 1958 ยุงก็เขียนงานเสร็จ 3 บทคือ ช่วงปฐมวัย วัยเรียน และชีวิตนักศึกษา ในตอนแรกนั้นเขาตั้งชื่องาน 3 บทนี้ว่า 'ว่าด้วยความเป็นไปในช่วงต้นๆ ของชีวิต (On the Early Events of My Life)' ซึ่งไปจบลงตรงการสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแพทย์ในปี 1900 นี่ไม่ใช่ความเอื้อเฟื้อเพียงอย่างเดียวที่ยุงมอบให้กับหนังสือเล่มนี้ ในเดือนมกราคม 1959 ขณะที่เขาพำนักอยู่ ณ บ้านพักชนบทที่โบลลิงเงน (Bollingen, Switzerland) เขายังสละเวลาในยามเช้าช่วยอ่านทวนเนื้อความในบทต่างๆ ซึ่งเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ครั้นพอมาถึงบท 'ว่าด้วยชีวิตหลังความตาย (On Life after Death)' เขาก็กล่าวกับฉันว่า "มีบางสิ่งในตัวฉันได้ถูกปลุกเร้าขึ้นมา ก่อเกิดเป็นกระแสความคิด ซึ่งฉันจะต้องเขียน" นี่เองคือจุดกำเนิดของ 'ปัจฉิมพินิจ (Late Thoughts)' อันเป็นบทที่เขาได้แสดงทัศนะและความเชื่ออันลุ่มลึก และอาจถือได้ว่าส่งผลกระทบอันไพศาล

ในฤดูร้อนปีเดียวกันนั้นที่โบลลิงเงน ยุงได้เขียนงานเพิ่มเติมขึ้นอีกหนึ่งบทคือ 'เคนยาและอูกันดา (Kenya and Uganda)' ส่วนบทที่ว่าด้วยชนพื้นเมืองอเมริกันเผ่าพวยโพล (America: The Pueblo Indians) นั้นนำมาจากต้นฉบับที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ซึ่งยังไม่ได้ตีพิมพ์ งานชิ้นนี้กล่าวถึงสภาวะทางจิตวิทยาของชนเผ่าบุพกาล และเพื่อที่จะทำให้บท 'ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)' กับบท 'เผชิญจิตไร้สำนึก (Confrontation with the Unconscious)' มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ฉันได้คัดข้อความบางตอนจากการสัมมนาซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี 1925 มาลงไว้ ซึ่งยุงได้กล่าวถึงพัฒนาการภายในของตนไว้เป็นครั้งแรก

บทที่ว่าด้วย 'งานด้านจิตเวช (Psychiatric Activities)' ยืนพื้นอยู่บนบทสนทนาระหว่างยุงกับบรรดาแพทย์ผู้ช่วยหนุ่มแห่งโรงพยาบาลโรคจิตซูริกในบูร์กเฮิลซลี (Zurich Mental Hospital of Burghölzli) เมื่อปี 1956 ซึ่งในตอนนั้นหลานปู่คนหนึ่งของเขาได้ทำงานเป็นจิตแพทย์อยู่ในโรงพยาบาลแห่งนั้นด้วย บทสนทนาเหล่านั้นดำเนินไปภายในบ้านของยุงที่คึซนาคท์ (Küsnacht)

ยังได้ตรวจต้นฉบับทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้และอนุมัติ บางครั้งบางคราวเขาก็แก้ไขและเพิ่มเติมเนื้อความบางตอน ในทำนองเดียวกัน ฉันก็ใช้บันทึกจากการสนทนาเพื่อเพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนในบทที่เขาเขียน และขยายความส่วนที่กล่าวอย่างย่นย่อและตัดทอนเนื้อความที่ซ้ำซ้อนออกไป ยิ่งหนังสือนี้รุดหน้าไป งานเขียนของฉันกับของยุงก็แทบจะกลมกลืนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน กำเนิดของหนังสือคือตัวกำหนดเนื้อหา บทสนทนาและการบรรยายเรื่องราวต่างๆ อย่างเป็นธรรมชาติล้วนดำเนินไปด้วยอาการเป็นกันเอง ด้วยลีลาเยี่ยงนี้เองที่กอปรขึ้นเป็นอัตชีวประวัติทั้งหมด แต่ละบทแต่ละตอนเปรียบเหมือนลำแสงที่วูบไหวสาดส่องให้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ และการงานในชีวิตของยุงชั่วแวบ ทว่าผลที่ได้รับก็คือ มันได้ถ่ายทอดบรรยากาศของโลกแห่งสติปัญญาและประสบการณ์ของคนผู้ซึ่งถือว่าจิตคือความจริงอันล้ำลึก ฉันมักจะถามเขาอยู่บ่อยครั้งถึงอุบัติการณ์ต่างๆ ในชีวิต ทว่าคำถามเหล่านั้นหาได้รับคำตอบไม่ มีเพียงแก่นแท้แห่งจิตวิญญาณจากประสบการณ์ชีวิตของเขาเท่านั้นที่ยังคงเรืองรองอยู่ในความทรงจำ และสำหรับเขาแล้วดูเหมือนว่าสิ่งนี้เท่านั้นที่มีค่าควรแก่การบอกเล่า

และที่สำคัญยิ่งกว่าความยากลำบากในการเรียบเรียงเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ก็คืออุปสรรคในอดีตอันเป็นทัศนะส่วนตัวของเขา ซึ่งยุงได้กล่าวไว้ในจดหมายถึงเพื่อนสมัยนักศึกษา แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำขอเพื่อให้เขียนความทรงจำในวัยหนุ่ม ในช่วงปลายปี 1957 เขาได้เขียนไว้ว่า

"...คุณกล่าวได้ถูกต้องที่ว่าเมื่อแก่ตัวลง เราก็จะหวนกลับไปสู่ความทรงจำในวัยหนุ่มทั้งจากภายในและจากภายนอก มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อสามสิบปีก่อน มีลูกศิษย์ของผมขอให้ช่วยเล่าถึงประสบการณ์ว่าได้บรรลุถึงแนวคิดเรื่องจิตไร้สำนึกอย่างไร ซึ่งผมก็ตอบสนองด้วยการจัดสัมมนาในหัวข้อดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมานี้ มีผู้เสนอมาจากที่ต่างๆ ว่าผมควรจะเขียนสิ่งที่คล้ายๆ กับอัตชีวประวัติ แต่ผมมองไม่เห็นว่าจะทำอย่างนั้นไปทำไม ผมได้อ่านอัตชีวประวัติมานับไม่ถ้วน แล้วแต่เป็นเรื่องหลอกตัวเองและโกหกพกลม และผมยังรู้ดีว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะสะท้อนภาพตนเองออกมา รู้ดีเกินกว่าที่จะพยายามทำดังนั้น

ไม่นานมานี้ผมได้รับคำขอเรื่องข้อมูลในการจัดทำอัตชีวประวัติ และในระหว่างการตอบคำถามเหล่านั้น ผมได้ค้นพบปัญหาเชิงภววิสัยบางประการที่ซ่อนเร้นอยู่ในความทรงจำซึ่งสมควรที่จะนำมาตรวจสอบอย่างพินิจพิเคราะห์ ผมจึงต้องชั่งใจใหม่และได้ข้อสรุปว่าผมควรจะงดภารกิจต่างๆ สักชั่วระยะหนึ่งเพื่อนำเอาเรื่องราวของปฐมวัยแห่งชีวิตมาครุ่นคิดพิจารณาอย่างเป็นภววิสัย ภารกิจนี้ออกจะยากลำบากไม่น้อย ทั้งยังเป็นเรื่องเฉพาะตัว ถึงขนาดที่ว่าการจะทำสืบต่อไปได้ ผมต้องให้คำมั่นกับตัวเองว่าผลงานนี้จะต้องไม่ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในช่วงที่ผมยังมีชีวิตอยู่ คำมั่นสัญญานี้จำเป็นอย่างยิ่งต่อตัวผมเพื่อเป็นหลักประกันถึงความเป็นกลางและความสงบ เห็นได้ชัดว่าความทรงจำทั้งมวลซึ่งยังคงแจ่มชัดอยู่นั้นเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดความกระสับกระส่ายและความโหยหาขึ้นมาในจิตใจซึ่งไม่ใช่เงื่อนไขที่ดีเลยสำหรับการวินิจฉัยอย่างเป็นภววิสัย จดหมายของคุณมาถึงพอดีกับที่ผมตัดสินใจจะลองเสี่ยงดู

ชะตากรรมจะเป็นผู้กำหนด กรณีของผมย่อมไม่พ้นไปจากนี้ นั่นคือเหตุการณ์ภายนอกทั้งมวลของชีวิตก็เป็นเพียงแค่อุบัติการณ์เท่านั้น มีเพียงสิ่งที่อยู่ภายในเท่านั้นที่ถือได้ว่าเป็นเนื้อหาสาระและเป็นคุณค่าแท้จริงอันส่งผลให้ความทรงจำทั้งมวลถึงเหตุการณ์ภายนอกได้จางหายไปสิ้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าประสบการณ์ภายนอกเหล่านี้หาได้มีสาระใดไม่ หรือไม่ก็เป็นเพียงแค่ความบังเอิญซึ่งมาประจวบเหมาะกับพัฒนาการด้านในของผมเท่านั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าว ปรากฏการณ์ภายนอกส่วนใหญ่ในชีวิตของผมจึงสูญหายไปจากความทรงจำซึ่งทำให้ต้องทุ่มเทพลังทั้งหมดเพื่อรื้อฟื้นมัน เพราะสิ่งเหล่านี้เองที่สมควรจะประมวลเข้าด้วยกันเป็นชีวประวัติ คือบรรดาผู้คนที่เราได้พบพาน การเดินทาง การผจญภัย อุปสรรคความยากลำบากต่างๆ เคราะห์กรรม และเรื่องราวอื่นๆ ยกเว้นเพียงบางเรื่องแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนรูปเงามายาซึ่งยากที่จะจดจำและดวงจิตของผมก็ไม่ปรารถนาที่จะปะติดปะต่อมันขึ้นมาใหม่ ด้วยเหตุที่มันหาได้มีอำนาจปลุกเร้าจินตนาการและความฝันไม่

ทว่าในอีกมุมหนึ่ง ความทรงจำถึงประสบการณ์ภายในของผมกลับยิ่งแจ่มชัดเต็มไปด้วยสีสัน นี่ก่อให้เกิดปัญหาของการบรรยายออกมาเป็นถ้อยคำ ซึ่งผมไม่คิดว่าจะสามารถทำได้ อย่างน้อยก็ในขณะนี้ โชคร้ายที่ผมไม่สามารถตอบสนองคำขอของคุณได้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมา และรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งที่ตนไม่มีความสามารถพอจะกระทำดังนั้น..."

จดหมายฉบับนี้แสดงให้เห็นทัศนคติของยุง ถึงแม้เขาตัดสินใจจะลองเสี่ยงดู ทว่าในจดหมายก็จบลงด้วยคำปฏิเสธ ตราบกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ความรู้สึกขัดแย้งระหว่างการยอมรับและการปฏิเสธนี้ก็หาได้คลี่คลายลงไม่ ยังมีความสงสัยตกค้างอยู่เสมอ เป็นอาการอันหลบเร้นจากผู้อ่านในอนาคต ยุงไม่ถือว่าความทรงจำเหล่านี้เป็นผลงานทางวิทยาศาสตร์ ทั้งไม่ยอมรับว่าเป็นผลงานของตน ทว่ามักจะพูดหรือเขียนถึงงานชิ้นนี้ว่าเป็นโครงการของอนีลา จาฟเฟ่ (Aniela Jaffé) ซึ่งเขาให้ความร่วมมือด้วย ทั้งยังขอร้องไม่ให้นำไปรวมอยู่ในรายชื่อหนังสืออันเป็นผลงานของเขา

ยุงมักไม่ค่อยอยากพูดถึงการได้พบปะสนทนากับผู้คน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลสำคัญ เพื่อนสนิท หรือแม้แต่ญาติพี่น้อง "ฉันได้พบปะสนทนากับบุุคคลผู้มีชื่อเสียงร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักการเมืองผู้โด่งดัง นักสำรวจ ศิลปิน นักเขียน ราชนิกูล และนักธุรกิจ ทว่าหากจะกล่าวอย่างซื่อสัตย์แล้วคงต้องบอกว่ามีการพบปะเพียงน้อยครั้งที่อาจนับเป็นประสบการณ์อันทรงคุณค่าสำหรับฉัน การพบพานเหล่านั้นเหมือนกับกองเรือที่แล่นฝ่าคลื่นลมแรง มันอาจจะเอียงวูบจนใบเรือมาแตะสัมผัสกัน ปรกติแล้วผู้คนเหล่านี้มักจะมีบางสิ่งมาไต่ถาม ซึ่งฉันไม่สามารถที่จะเปิดเผยได้ ดังนั้นฉันจึงหาได้มีความทรงจำถึงพวกเขาไม่ แม้ว่าบุคคลเหล่านี้จะดูสลักสำคัญเพียงใดในสายตาของชาวโลก การพบปะของเราหามีความพิเศษใดไม่ ในไม่ช้ามันก็เลือนรางจางหายไปและหาได้ส่งผลอันลึกซึ้งใดๆ แต่สำหรับความสัมพันธ์ซึ่งมีความหมายต่อฉันอันส่งผ่านมาถึงดุจความทรงจำจากอดีตอันแสนไกล ฉันก็ไม่อาจเล่าขานได้ ด้วยเหตุที่มันมิใช่แค่สมบัติแห่งชีวิตภายในของฉันเท่านั้น หากยังเป็นของผู้อื่นด้วย ไม่สมควรที่ฉันจะเปิดให้สาธารณชนได้ยลในสิ่งซึ่งได้ปิดสนิทไปชั่วกาลนาน"

ความเลือนรางของเหตุการณ์ภายนอกกลับช่วยเพิ่มพูนความทรงจำของยุงถึงประสบการณ์ภายใน รวมถึงความคิดอันมั่งคั่งเปี่ยมล้น ซึ่งเขากล่าวว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งในประวัติชีวิตของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดทางศาสนา ด้วยเหตุที่หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมไว้ซึ่งบทบัญญัติทางศาสนาของยุง ยุงได้ถูกนำไปเผชิญหน้ากับคำถามทางศาสนาด้วยวิถีทางอันแตกต่างหลากหลาย มีทั้งนิมิตในวัยเด็กซึ่งชักนำเขาให้ต้องเผชิญกับประสบการณ์ทางศาสนาซึ่งดำรงอยู่กับเขาจนตราบชั่วชีวิต มีทั้งความกระหายใคร่รู้ในทุกสิ่งที่เกี่ยวพันกับจิตและอาการอันสำแดงออกของมัน ความกระหายใคร่รู้นี้เองซึ่งเป็นแรงผลักดันต่อการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของเขา และท้ายที่สุดก็คือจรรยาบรรณในฐานะแพทย์และจิตแพทย์ เขาทราบดีว่าความเชื่อทางศาสนาของคนไข้มีส่วนสำคัญยิ่งในการเยียวยาบำบัดอาการเจ็บป่วยทางจิต ข้อสังเกตประการนี้สอดคล้องกับการค้นพบที่ว่าจิตใจจะสร้างภาพลักษณ์ทางศาสนาขึ้นมาซึ่งมีความเป็นศาสนาอยู่โดยธรรมชาติ เขายังตระหนักว่ามีอาการป่วยทางจิตเป็นอันมากที่มีสาเหตุมาจากการไม่ใส่ใจต่อธรรมชาติพื้นฐานดังกล่าวของจิต โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของชีวิต

แนวคิดทางศาสนาของยุงมีความแตกต่างอยู่หลายประการกับคริสต์ศาสนาสายประเพณี เหนืออื่นใดก็คือคำตอบของเขาต่อปัญหาเรื่องความชั่ว และทัศนะที่มองพระเจ้าว่ามิได้ดีและเมตตาไปเสียหมดซึ่งจากมุมมองของพวกคริสต์คาบคัมภีร์ ยุงถูกจัดเป็นพวกนอกรีต และด้วยเหตุที่เขามีชื่อเสียงก้องโลก คำพิพากษาเยี่ยงนี้จึงถูกยัดเยียดให้จากปฏิกิริยาที่มีต่องานเขียนของเขา เรื่องนี้ทำให้ยุงรู้สึกเศร้าเสียใจมาก ซึ่งเขามักจะแสดงความรู้สึกผิดหวังออกมาเป็นครั้งคราวในหนังสือเล่มนี้ โดยบ่นถึงผู้ที่ตั้งตัวเป็นตุลาการโดยไม่เข้าใจถึงความคิดทางศาสนาของเขาอย่างถ่องแท้ มีอยู่หลายครั้งที่เขาพูดอย่างจริงจังว่า "เขาคงจะเผาฉันทั้งเป็นแน่ในฐานะพวกนอกรีต ถ้าอยู่ในยุคกลาง" ภายหลังมรณกรรมของเขาก็เริ่มมีนักเทววิทยาพากันกล่าวว่ายุงเป็นบุุคคลผู้โดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์ทางศาสนาแห่งศตวรรษ

ยุงได้ประกาศอย่างชัดเจนถึงความภักดีของเขาต่อคริสต์ศาสนา และในงานชิ้นสำคัญๆ ก็มักจะกล่าวถึงปัญหาต่างๆ ในศาสนาคริสต์ เขาพิจารณาดูปัญหาเหล่านี้จากจุดยืนทางจิตวิทยา สร้างจุดเชื่อมโยงขึ้นอย่างระมัดระวังระหว่างจิตวิทยาและเทววิทยา เขายืนยันว่าการทำดังนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่จะทำความเข้าใจและตรวจสอบซึ่งดูเหมือนจะเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักศรัทธาของคริสต์ศาสนา เขาถือว่าการทำดังนี้เป็นความชอบธรรม นับเป็นหนึ่งในสาระสำคัญของชีวิต "ฉันพบว่าความคิดทั้งมวลของฉันโคจรอยู่รอบๆ องค์พระผู้เป็นเจ้าดุจดังดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์ และได้รับแรงดึงดูดจากพระองค์อย่างไม่อาจต้านทานได้ ฉันคงจะรู้สึกเป็นบาปอย่างใหญ่หลวงถ้าได้ต่อต้านขัดขืนต่อพลังอำนาจประการนี้" นี่คือข้อความที่เขาได้เขียนถึงนักบวชหนุ่มในปี 1952

ในบรรดาผลงานมากมายของเขา มีเพียงหนังสือเล่มนี้เท่านั้นที่ยุงไ่ด้บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่เขามีกับพระเจ้า ขณะที่เขาเขียนถึงการขบถในวัยหนุ่มต่อพระศาสนา มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขากล่าวว่า "ในตอนนั้นฉันได้ประจักษ์ว่าสำหรับฉันแล้ว พระเจ้าเป็นหนึ่งในประสบการณ์ตรงที่สุด" ทว่าในผลงานทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ ยุงแทบจะไม่พูดถึงพระเจ้าเลย เขาต้องเลี่ยงไปใช้คำว่าฉายาของพระเจ้าในดวงจิตมนุษย์ซึ่งก็หาได้ขัดแย้งกันไม่ ในกรณีแรกเขาใช้ภาษาในเชิงอัตวิสัยจากประสบการณ์ภายในของตน ส่วนกรณีหลังเป็นภาษาเชิงภววิสัย เพื่อใช้ในการสืบค้นทางวิทยาศาสตร์ ในกรณีแรกเขาพูดในฐานะปักเจกซึ่งได้รับอิทธิพลความคิดมาจากแรงบันดาลใจและอารมณ์ความรู้สึกอันแรงกล้า รวมถึงประสบการณ์ชีวิตอันยาวนานและเต็มเปี่ยมมั่งคั่ง ส่วนในกรณีหลัง เขาพูดในฐานะนักวิทยาศาสตร์ซึ่งจะจำกัดตัวเองอยู่เพียงสิ่งที่อาจแสดงให้ประจักษ์ได้และมีหลักฐานรองรับ จึงถือได้ว่ายุงเป็นนักประสบการณ์นิยม เมื่อยุงพูดถึงประสบการณ์ทางศาสนาของตนในหนังสือเล่มนี้ เขาจึงอนุมานเอาว่าผู้อ่านจะใช้ทัศนะเยี่ยงเดียวกัน คำกล่าวในเชิงอัตวิสัยของเขาอาจยอมรับได้โดยผู้ที่มีประสบการณ์เยี่ยงเดียวกัน หรืออาจกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือผู้ที่มีฉายาของพระเจ้าอยู่ในดวงจิตเช่นเดียวกัน

ถึงแม้ว่ายุงจะยอมรับและให้ความร่วมมือในการจัดทำอัตชีวประวัตินี้ ทว่านานทีเดียวที่เขาได้คาดการณ์ไปในทางลบต่อการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ซึ่งอาจเข้าใจได้ เขาคงจะหวั่นเกรงปฏิกิริยาของสาธารณชน เหตุผลหนึ่งก็คือเขาได้เปิดเผยแนวคิดและประสบการณ์ทางศาสนาออกมาอย่างจริงใจ และอีกเหตุหนึ่งก็คือความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์อันเกิดจากหนังสือ 'Answer to Job (1952)' ก็ยังระอุคุกรุ่นอยู่ มิจฉาทิฐิและความเข้าใจผิดของผู้คนในโลกนั้นก่อให้เกิดความเจ็บปวดยิ่ง "ฉันได้สงวนเรื่องเหล่านี้มาเกือบตลอดชีวิตและไม่เคยคิดที่จะเปิดเผยต่อโลก เพราะหากมันถูกโจมตีวิพากษ์วิจารณ์ก็คงต้องสะเทือนใจยิ่งกว่าที่เคยเป็นมากับหนังสือเล่มอื่น ฉันไม่รู้ว่าเมื่อใดจึงจะจากโลกนี้ไป ที่ซึ่งลูกศรแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ไม่สามารถยิงไปถึงได้ ที่ซึ่งจะสามารถแบกรับปฏิกิริยาอันไม่เป็นมิตรเหล่านั้น ฉันได้ทนทุกข์มามากพอแล้วกับความเข้าใจผิดและความโดดเดี่ยว เมื่อเราได้พูดในสิ่งที่ผู้คนไม่สามารถเข้าใจได้ ถ้าหากว่าหนังสือ 'Answer to Job' ต้องพบกับมายาคติมากมายเพียงนั้น หนังสือ 'ความทรงจำ' นี้ก็คงต้องเผชิญชะตากรรมอันโหดร้ายยิ่งกว่า อัตชีวประวัติคือชีวิตของฉัน เมื่อมองด้วยแสงสว่างแห่งความรู้ซึ่งฉันได้รับมาผ่านการศึกษาค้นคว้าอย่างพากเพียรทางวิทยาศาสตร์ ทั้งสองคือสิ่งเดียวกัน ดังนั้นเอง หนังสือเล่มนี้จึงเป็นสิ่งท้าทายสำหรับผู้คนซึ่งไม่รู้และไม่อาจเข้าใจแนวความคิดทางวิทยาศาสตร์ของฉัน ชีวิตของฉันคือแก่นแท้ของสิ่งที่ฉันได้เขียนขึ้น มิใช่โดยนัย กลับกัน สิ่งที่ฉันเป็นกับสิ่งที่ฉันเขียนคือเอกภาพ ความคิดและความพยายามทั้งมวลคือตัวตนของฉัน ดังนี้เอง อัตชีวประวัติจึงเป็นแค่จุดจุดหนึ่งบนฉันเท่านั้น"

ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่หนังสือเล่มนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นได้เกิดกระบวนการแปรเปลี่ยนและความเป็นภววิสัยขึ้นในตัวยุง และเช่นเคย เมื่อแต่ละบทเสร็จสิ้นลง เขาก็ยิ่งถอยห่างออกไปจากตนเอง กระทั่งในที่สุดเขาก็สามารถมองเห็นตนเอง รวมถึงความหมายของชีวิตและการงานเหมือนมองมาจากที่อื่น "ถ้าฉันถามตนเองถึงเรื่องคุณค่าของชีวิต ก็อาจประเมินมันจากศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งก็อาจตอบว่าใช่ มันมีความหมาย แต่เมื่อนำมาหยั่งวัดด้วยความคิดในปัจจุบัน มันก็หาได้มีความหมายใดๆ ไม่" ความปราศจากตัวตนและความรู้สึกถึงสายธารแห่งประวัติศาสตร์ซึ่งแสดงออกมาในถ้อยคำเหล่านี้ได้ผุดขึ้นมาอย่างเข้มข้นยิ่งตลอดช่วงการจัดทำหนังสือ ดังที่ผู้อ่านจะได้เห็นต่อไป

บทที่ว่าด้วย 'การงาน (The Work)' พร้อมด้วยการสำรวจอย่างย่นย่อถึงที่มาแห่งผลงานชิ้นสำคัญๆ ของยุง นี้นับเป็นเพียงเศษเสี้ยวเมื่อพิจารณาถึงผลงานทั้งหมด เราจะทำอะไรได้มากไปกว่านี้เล่าในเมื่องานเขียนทั้งหมดของเขามีเกือบยี่สิบเล่ม ยิ่งไปกว่านั้น ยุงยังไม่เคยรู้สึกอยากจะสรุปรวบยอดความคิดของเขาเลย ไม่ว่าในการสนทนาหรือในงานเขียน เวลาที่มีผู้ขอให้เขาทำดังนั้น เขาจะตอบอย่างดุดันว่า "การทำเยี่ยงนั้นอยู่พ้นวิสัยของผม ผมไม่เห็นประโยชน์ของการตีพิมพ์ข้อสรุปทางความคิดซึ่งตัวเองอุตส่าห์เหนื่อยยากแจกแจงรายละเอียดต่างๆ ถ้าทำอย่างนั้น ผมคงต้องละเลยหลักฐานทั้งหมดและหันมาพึ่งเพียงข้อความจริงสูงสุดซึ่งคงไม่ช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้นแม้แต่น้อย อาการเคี้ยวเอื้องของสัตว์กีบซึ่งจะขย้อนอาหารขึ้นมาเคี้ยวอีกครั้งหนึ่งนับเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นความอยากอาหารของผม..."

ผู้อ่านพึงถือว่าบทนี้เป็นเพียงการมองย้อนอดีตเพียงสังเขปเพื่อตอบสนองความเป็นไปเฉพาะหน้า โดยมิได้มุ่งหวังความเข้าใจอย่างลุ่มลึกแต่อย่างใด ส่วนอภิธานศัพท์อย่างย่นย่อซึ่งฉันผนวกเข้าไว้ท้ายหนังสือเป็นไปตามคำขอของผู้จัดพิมพ์ ซึ่งฉันหวังว่าคงจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านซึ่งไม่คุ้นกับศัพท์แสงและผลงานของยุง ซึ่งคำจำกัดความส่วนหนึ่งได้นำมาจาก 'Wörterbuch der Psychologie und ihrer Grenzgebiete' ด้วยความเอื้อเฟื้อของบรรณาธิการคือ นายแพทย์ควอร์ท ฟอน ซูรี (Kurt von Sury) และทุกครั้งที่สามารถ ฉันจะอธิบายแนวคิดทางจิตวิทยาสายยุง โดยคัดข้อความมาจากผลงานของยุงเอง และได้นำคำจำกัดความในพจนานุกรมมาลงไว้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ข้อความที่คัดมาลงนี้พึงถือว่าไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าเพื่อเป็นแนวทางเท่านั้น ด้วยเหตุที่ยุงมักจะให้นิยามใหม่ๆ แก่มโนทัศน์ของตนเสมอ ด้วยเหตุที่เขารู้สึกว่านิยามอันสูงสุดนั้นหาเป็นไปได้ไม่ เขาคิดว่าน่าจะเป็นการดีกว่าหากจะปล่อยให้ธาตุมูลอันไม่อาจอธิบายได้ซึ่งดำรงอยู่ในความจริงของดวงจิตคงเป็นปริศนาหรือความลี้ลับอยู่สืบไป

[con·tin·ue]

คำขอบคุณ จากผู้แปลภาษาไทย

กถามุข (Prologue)

บทที่ 1 ปฐมวัย (First Years)

บทที่ 2 วัยเรียน (School Years)

บทที่ 3 ชีวิตนักศึกษา (Student Years)

บทที่ 4 งานด้านจิตเวช (Psychiatric Activities)

บทที่ 5 ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)

บทที่ 6 เผชิญจิตไร้สำนึก (Confrontation with the Unconscious)

บทที่ 7 การงาน (The Work)

บทที่ 8 หอคอย (The Tower)

บทที่ 9 การเดินทาง (Travels)

แอฟริกาเหนือ (North Africa) อเมริกา: ชนพื้นเมืองอเมริกันเผ่าพวยโพล (America: The Pueblo Indians) เคนยาและอูกันดา (Kenya and Uganda) อินเดีย (India) และราเวนนาและโรม (Ravenna and Rome)

บทที่ 10 นิมิต (Visions)

บทที่ 11 ว่าด้วยชีวิตหลังความตาย (On Life after Death)

บทที่ 12 ปัจฉิมพินิจ (Late Thoughts)

หวนคำนึง (Retrospect)

ภาคผนวก (Appendix)

จดหมายจากฟรอยด์ถึงยุง (Letters from Freud to Jung) จดหมายจากอเมริกาถึงเอ็มมา ยุง (Letters to Emma Jung from America) จดหมายจากแอฟริกาเหนือถึงเอ็มมา ยุง (Letters to Emma Jung from North Africa) ริชาร์ด วิลเฮล์ม (Richard Wilhelm) และ Septem Sermones ad Mortuos

อภิธานศัพท์ (Glossary)

ผลงานของคาร์ล กุสตาฟ ยัง (The Collected Works of C.G. Jung)

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page