top of page

คู่มือศึกษาการก่อการร้ายแบบไม่งี่เง่า (The No-Nonsense Guide to Terrorism)


คู่มือศึกษาการก่อการร้ายแบบไม่งี่เง่า

แปลจาก The No-Nonsense Guide to Terrorism (2003) เขียนโดย Jonathan Barker แปลโดย ดร.เกษียร เตชะพีระ โครงการจัดพิมพ์คบไฟ พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พฤศจิกายน 2548 จำนวน 208 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789747799712

คำนำ โดยพอล โรเจอส์ (Paul Rogers) ศาสตราจารย์ด้านสันติภาพศึกษา มหาวิทยาลัยแบรดฟอร์ด (Bradford University) สหราชอาณาจักร

ในโลกที่เต็มไปด้วยวิกฤตการณ์และที่ซึ่งการแบ่งแยกข้ามชาติทางวัฒนธรรมกำลังแข็งตัวยิ่งขึ้นนั้น หนังสือซึ่งมีเนื้อหากว้างขวางครอบคลุมแต่กระชับชัดโดดเด่นเรื่อง 'คู่มือศึกษาการก่อการร้ายแบบไม่งี่เง่า (The No-Nonsense Guide to Terrorism)' ของโจนาธาน บาร์เกอร์ (Jonathan Barker) เล่มนี้นับเป็นตัวช่วยที่ทันกาลเป็นพิเศษให้เข้าใจปฏิกิริยาตอบโต้ที่สลับซับซ้อนและบ่อยครั้งเป็นไปอย่างรุนแรงต่อการโจมตีเมืองนิวยอร์กและวอชิงตัน

นับแต่มหกรรมอำมหิตเมื่อ 11 กันยายนเป็นต้นมา สงครามต่อต้านการก่อการร้ายได้คลี่คลายขยายตัวไปทั่วโลก ปฏิบัติการโดยตรงของสหรัฐอเมริกาหรือมิตรประเทศครอบคลุมทั้งการก่อสงครามเต็มรูปแบบในอัฟกานิสถาน (Afghanistan) ปฏิบัติการในเยเมน (Yemen) ปากีสถาน (Pakistan) จอร์เจีย (Georgia) และฟิลิปปินส์ (Philippines) การสนับสนุนกองกำลังปราบปรามพวกต่อต้านรัฐด้วยอาวุธในหลายประเทศ และการปรับแก้กลไกควบคุมทางกฎหมายให้แข็งกร้าวขึ้นในขอบเขตที่แทบจะเรียกได้ว่าทั่วโลก

มีหลักฐานเพียงน้อยนิดว่ามาตรการข้างต้นเหล่านี้ได้ผล แต่ก็ดูเหมือนมันจะไม่ได้ทำให้ความมุมานะพยายามยืนกรานในทิศทางดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป เครือข่ายอัลเคด้า (Al-Qaeda) และสมัครพรรคพวกมากหลายยังคงเคลื่อนไหวอย่างเอาการเอางานอยู่ และแรงสนับสนุนที่มวลชนรากหญ้าให้กับพวกเขาอาจกระทั่งเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ สหรัฐอเมริกากำลังเพิ่มค่าใช้จ่ายทางทหารกลับสู่ระดับสูงสุดเมื่อครั้งสงครามเย็นและยังยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานอีกว่าได้นำนโยบายโจมตีตัดหน้าด้วยกำลังรุนแรงมาใช้ต่อบรรดาขบวนการหรือรัฐที่เห็นว่าเป็นศัตรู รัฐบางรัฐอาทิ อิหร่าน (Iran) อิรัก (Iraq) เกาหลีเหนือ (North Korea) ซีเรีย (Syria) ลิเบีย (Libya) และคิวบา (Cuba) ถึงกับถูกมองว่าเป็นพลพรรคใหญ่น้อยสังกัดสิ่งที่เปรียบประดุจอักษะแห่งมารซักปักใจสู้รบกับฝ่ายสหรัฐอเมริกาผู้แน่ใจในธรรมะแห่งตนและพร้อมจะสวมบทบาทนำขบวนการที่มุ่งสู่การรังสรรค์อารยธรรมบนรากฐานตลาดเสรีขึ้นทั่วโลก

บางคนมองว่าสงครามต่อต้านการก่อการร้ายเป็นการกระเสืือกกระสนดิ้นรนในมุมอับแบบเลือดเข้าตา ส่วนคนอื่นก็ถกเถียงอย่างน่าเชื่อถือว่ามันเชื่อมโยงกับความปักใจเด็ดเดี่ยวจะช่วงชิงอำนาจควบคุมระบบโลกที่แตกร้าวปริแยกกลับคืนมาให้จงได้ในสภาพซึ่งธาตุแท้ที่เปราะบางของรัฐที่ก้าวหน้าถูกสาธิตสำแดงให้เห็นประจักษ์ด้วยการโจมตีในเมืองนิวยอร์กและวอชิงตัน

ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไร แกนเรื่องที่มีร่วมกันก็คือความฝังใจว่าจะต้องพิชิตกลุ่มก่อการร้ายให้ได้ บวกกับความไม่ใส่ใจไยดีเอาเลยกับแรงจูงใจเบื้องลึกของกลุ่มเหล่านี้และกับบริบทเงื่อนไขที่กลุ่มดังกล่าวได้พึ่งพาอาศัยเป็นแหล่งที่มาของแรงสนับสนุนอันหนาแน่นพอสมควร นอกจากนี้ปัญหาการก่อการร้ายโดยรัฐซึ่งใหญ่หลวงกว่าและเกิดซ้ำซากยืนยาวกว่าก็หาได้รับการใส่ใจมากมายไม่ ทั้งที่มันเป็นรูปแบบความรุนแรงสุดขั้วทางการเมืองที่ฆ่าฟันชีวิตผู้คนไปนับล้านๆ แทนที่จะเป็นแค่หลักพันในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

บทวิเคราะห์ของบาร์เกอร์ในหนังสือเล่มนี้โดดเด่นในหลายแง่ กล่าวคือมันจัดวางเหตุการณ์ในรอบสองปีที่ผ่านมาไว้ในบริบทที่กว้างออกไปกว่านั้นมาก โดยครอบคลุมบรรดาปัญหาการก่อการร้ายในหลายทศวรรษหลังนี้อย่างกว้างขวาง มันทั้งบรรยายอย่างกระชับและวิเคราะห์อย่างคมชัด ซึ่งตัวอย่างการก่อการร้ายโดยรัฐหลายกรณีโดยชี้ให้เห็นอย่างถูกต้องว่าบรรดารัฐตะวันตกมักจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวพันบ่อยครั้ง ยิ่งไปกว่านั้นมันยังแสดงให้เห็นว่าการก่อการร้ายและปฏิบัติการตอบโต้เหนี่ยวรั้งยับยั้งการอภิปรายและกิจกรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยอย่างไร จะเห็นได้ว่าสิทธิเสรีภาพต่างๆ ทางการเมืองถูกจำกัด อีกทั้งผู้คนยังหันไปใช้ภาษาศีลธรรมพูดจาเรื่องนี้ซึ่งอาจกระทั่งสะท้อนเอาอย่างภาษาของผู้ก่อการร้ายด้วยซ้ำ

สำคัญเหนืออื่นใด หนังสือเล่มนี้เอามหกรรมอำมหิตของเหตุการณ์ 11 กันยายนกับปฏิบัติการตอบโต้ทางทหารที่ตามมาไปวางไว้ในบริบทของโลกที่แตกแยกกัน ที่ซึ่งการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจสังคมที่เพิ่มทวีขึ้นกำลังนำไปสู่ความขมขื่นแปลกแยกในระดับที่น้อยนักจะเป็นที่ตระหนักกันในบรรดารัฐตะวันตก หนังสือเล่มนี้นับเป็นคุณูปการอันดีเลิศให้เราเข้าใจประเด็นดังกล่าวและควรจะได้อ่านกันกว้างไพศาลออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันควรเป็นหนังสือต้องอ่านสำหรับนักวิเคราะห์ความมั่นคง ที่ปรึกษานโยบายหรือนักการเมืองชาวตะวันตกคนไหนก็แล้วแต่ที่เข้าไปเกี่ยวข้องทางใดทางหนึ่งกับการหามาตรการตอบโต้เหตุการณ์ 11 กันยายน 2001

บทนำ (Introduction)

จะว่ากันไป การก่อการร้ายต่างหากเป็นฝ่ายมาหา เจอผมเข้า และบังคับผมให้เขียนเรื่องมัน งานเขียนของผมส่วนใหญ่รวมศูนย์ที่เรื่องกิจกรรมการเมืองท้องถิ่น เช่น มีอะไรขัดขวางมันบ้าง? อะไรทำให้มันได้ผล? แต่หลังจากเครื่องบินพวกนั้นพุ่งทะลวงเข้าไปในตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (World Trade Center) และเพนตากอน (Pentagon) ผมก็พบว่าแต่ละวันตัวเองเอาแต่หมกมุ่นอ่านเรื่องการก่อการร้ายนานหลายชั่วโมง ลูกสาวของผมคนหนึ่งอยู่แถวบรู๊คลิน (Brooklyn) ในเมืองนิวยอร์ก (New York) ฉะนั้นส่วนหนึ่งปฏิกิริยาของผมก็มาจากห่วงใยครอบครัว พักหนึ่งทีเดียวกว่าความรู้สึกเหลือเชื่อตื่นกลัวจะค่อยถดถอยเปิดทางให้คำถามเกิดขึ้นแทน แต่แล้วคำถามก็เข้ามา เช่น เจตจำนงที่จะก่อการร้ายมาจากไหน? ที่ผ่านมาผมมัวแต่เมินเฉยอันตรายแท้จริงที่เพิ่มทวีขึ้นใช่ไหม? สงครามต่อต้านการก่อการร้ายของประธานาธิบดีบุช (George Walker Bush: 1946-) กำลังแพร่เชื้อไวรัสแห่งการแบ่งข้างเป็นดีกับชั่วไปติดการเมืองทุกหนแห่งอยู่หรือเปล่า? เป็นชะตาฟ้าลิขิตแล้วหรือว่าฝ่ายขวาในวงการเมืองมีแต่จะเป็นเอกภาพและเข้มแข็งขึ้นจากการต่อสู้การก่อการร้าย? แล้วฝ่ายซ้ายกับฝ่ายกลางเอียงซ้ายเล่า พวกเขารังแต่จะถูกขับไสให้ง่อยเปลี้ยแตกแยกหรือไร?

พวกก่อการร้ายบังคับผมให้หันไปใส่ใจแง่มุมหนึ่งของการเมืองซึ่งที่ผ่านมาผมทำเป็นเมินเสีย ผมเข้าใจอยู่ว่าความรุนแรงกับการข่มขู่เป็นสิ่งอัปลักษณ์ที่ดำรงอยู่อย่างนั้นเสมอไปเป็นธรรมดา แต่ความที่มันดำรงอยู่ทุกหนแห่งจึงไม่เห็นอันตรายเสียหายตรงไหนที่จะเก็บมันขึ้นหิ้งไว้ก่อน มาบัดนี้ดูเหมือนว่ามันนั่นแหละที่กำลังเป็นสารถีนำขบวน จึงถึงเวลาที่จะต้องมาเพิ่งพินิจด้านอัปลักษณ์นี้แล้ว แต่ปัญหาเฉพาะหน้าทันทีเลยคือจะเอาไงดีกับทรรศนะแบบซีนิกที่ไม่ค่อยเชื่อความดีความจริงใจของคนอื่น เพราะถือว่ามันก็มนุษย์ขี้เหม็นเห็นแก่ตัวเหมือนกันทั้งนั้นแหละวะ ในแง่นี้จะมีคำแถลงของทางราชการหรือรายงานข่าวในสื่อกระแสหลักชิ้นไหนไหมที่จะให้เราปลงใจเชื่ออย่างสนิทใจได้? ในทำนองเดียวกัน ไอ้ครั้นจะไม่ใส่ใจบรรดาทฤษฎีที่ว่าเหตุร้ายต่างๆ ล้วนเกิดจากมือที่สามแอบคบคิดกันอยู่เบื้องหลังเสียเลยก็เห็นจะยาก เนื่องจากการก่อการร้ายทั้งหลาย รวมทั้งการก่อการร้ายโดยรัฐด้วยนั้นมักมีเล่ห์เพทุบายและสปายสายลับเข้ามาเกี่ยวพันด้วยเสมอ ผมก็เลยตัดสินใจว่าจะต้องรอบคอบและขี้สงสัยไว้ก่อนเป็นดี แต่ส่วนการตามล่าหาแผนคบคิดของมือที่สามนั้นปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญไปก็แล้วกัน แม้เพียงเท่านี้ผมก็พอเห็นผลลัพธ์บางอย่างของการก่อการร้ายได้แล้ว นั่นคือการสนทนาประสาแผนคบคิดของมือที่สามนั้นมันดึงความสนใจของนักวิเคราะห์มือฉกาจไปจากประเด็นการเมืองสำคัญอื่นๆ แถมยังตั้งข้อสงสัยเอากับความน่าเชื่อถือของถ้อยแถลงทางการเมืองทั้งปวงด้วย จะเห็นได้ว่าการก่อการร้ายและปฏิบัติการตอบโต้มันนั้นทั้งหันเหความสนใจและลดคุณค่าความสำคัญของการเมืองลงแต่ต้นทีเดียว

หัวเรื่องนี้ยังนำมาซึ่งความยุ่งยากอื่นๆ อีก รายงานข่าวที่ดีที่สุดจะขุดค้นชีวิตและกิจกรรมของพวกก่อการร้าย รวมทั้งการดำเนินงานของเครือข่ายกับหน่วยสังกัดของพวกเขา บ่อยครั้งการรายงานข่าวดังกล่าวทั้งกล้าหาญและเป็นประโยชน์ แต่อารามที่ความขี้ระแวงสงสัยของผมถูกปลุกให้ตื่นตัวขึ้นมาแล้ว ผมจึงต้องเตือนใจตัวเองว่ารัฐบาลนั้นทั้งออกแบบและกระทั่งผลิตข่าวเกี่ยวกับการก่อการร้ายออกมาเอง ข้างองค์การก่อการร้ายนั้นเล่าก็สร้างรายงานข่าวที่หนุนเสริมเป้าหมายของตนขึ้นมาด้วยเหมือนกัน ครั้นผมหันไปดูบรรดานิตยสารฉบับต่างๆ ที่ผมอาศัยมาช่วยทำความเข้าใจประเด็นปัญหาอันสลับซับซ้อน ผมก็อดประหลาดใจไม่ได้ว่านักวิเคราะห์วิจารณ์ข่าวทั้งหลายช่างรู้จักขุดพบข้อสนับสนุนค้ำจุนจุดยืนที่มีมานมนานกาเลของตนจากกองซากปรักหักพังของตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ได้รวดเร็วทันใจเสียนี่กระไร น้อยครั้งนักจะปรากฏทรรศนะหยั่งลึกแปลกใหม่ใดๆ ออกมา การณ์จึงกลับกลายเป็นว่าภาระหน้าที่ของผมส่วนหนึ่งคือการทำความเข้าใจว่าบรรดาอุดมการณ์และผลประโยชน์ทั้งหลายแหล่นั้นพากันใช้การก่อการร้ายมากำหนดวิธีคิดของสาธารณชนอย่างไร

การตระเวนด้านที่อัปลักษณ์ย่อมพลุ่งพล่านไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก การแสดงความจงเกลียดจงชังในวงการเมืองได้ดิ่งลึกลงถึงระดับที่ไม่เคยพบเห็นกันมานับแต่สมัยปลุกผีคอมมิวนิสต์หรือกระทั่งสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยซ้ำ ความเกลียดชังที่ผูกติดกับการก่อการร้ายกับการต่อต้านการก่อการร้ายปรากฏอยู่ในระดับท้องถิ่นและมหาชนในรูปศรัทธายึดมั่นทางศาสนาและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมทั่วโลก การแสดงความเกลียดชังดกดื่นเสียจนกระทั่งถ้อยแถลงทางการเมืองทั้งหลายต้องอุทิศเนื้อความท่อนใหญ่ให้แก่การอรรถาธิบายอย่างกระจะกระจ่างว่าใครบ้างที่เราเกลียด ก็แลการส่งสัญญาณเกลียดต่อกันนั้นก็เปรียบประดุจยาพิษที่หย่อนลงในบ่อแห่งน้ำใจยอมรับซึ่งกันและกันซึ่งเราอาศัยมาราดรดหล่อเลี้ยงการเสวนาและปรองดองกันทางการเมืองนั่นเอง

ในประดาความคิดความเห็นต่างๆ นานาเกี่ยวกับการก่อการร้าย ผมพยายามจะไม่ปัดของใครทิ้งไปง่ายๆ หากแต่ประเมินมันตามน้ำหนักคุณค่าที่มี เราจำต้องเข้าใจให้ชัดถึงภยันตรายของการก่อการร้ายและการต่อต้านการก่อการร้ายเพื่อประกันความมั่นคงและเสรีภาพ อีกทั้งเพื่อปกป้องและขยายความสามารถของผู้คนทุกหนแห่งในอันที่จะทำงานร่วมกันอย่างเป็นประชาธิปไตยในการแก้ไขปัญหาคุกคามที่ดูใหญ่โตมโหฬารที่สุดในชีวิตของพวกเขา

[con·tin·ue]

บทที่ 1 ตั้งคำถามกับการก่อการร้าย (Questioning Terrorism)

การโจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และเพนตากอนเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 พร้อมภาพผู้คนร่วงหล่น ตึกระฟ้าถล่มทลายซึ่งติดตาหลอนใจไม่รู้วายนั้นปลุกอารมณ์พลุ่งพล่านรุนแรงและนำไปสู่คำถามใหญ่ๆ มากมาย ทว่าการจะวิเคราะห์เรื่องนี้อย่างรอบคอบรัดกุมยังต้องพินิจพิจารณาให้แจ่มชัดถึงมูลเหตุและผลลัพธ์ของปฏิบัติการก่อการร้าย รวมทั้งมาตรฐานที่จะใช้ตอบโต้รับมือมัน

บทที่ 2 ประเมินภยันตราย (Assessing the Danger)

บทที่ 3 การก่อการร้ายโดยรัฐ (State Terrorism)

บทที่ 4 ศีลธรรมกับประวัติศาสตร์ (Morality and History)

บทที่ 5 ระหว่างสงครามกับการเมือง (Between War and Politics)

บรรณานุกรม (Bibliography)

ดรรชนี (Index)

เกี่ยวกับผู้เขียน

โจนาธาน บาร์เกอร์ (Jonathan Barker) เป็นนักเขียนและนักวิจัยอยู่ที่กรุงโตรอนโต (Toronto) ประเทศแคนาดา เขาเคยสอนรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโตรอนโต (University of Toronto) นานหลายปี นอกจากนี้ยังเคยสอนที่มหาวิทยาลัยดาร์เอสซาลาม (University of Dar es Salaam) ประเทศแทนซาเนียและมหาวิทยาลัยแอริโซนา (University of Arizona) สหรัฐอเมริกา เขาทำวิจัยเรื่องการเมืองท้องถิ่นทั้งในเซเนกัล (Senegal) แทนซาเนีย (Tanzania) อินเดีย (India) และยูกันดา (Uganda) หนังสือของเขาที่ตีพิมพ์แล้วมีอาทิ 'Street-Level Democracy: Political Settings at the Margins of Global Power (1999)' และ 'Rural Communities under Stress: Peasant Farmers and the State in Africa (1989)'

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page